HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


A Home from Home

ความหมายของ ‘บ้าน’ เปลี่ยนแปลงไปหลังผู้คนนับล้านจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงปิดเมือง

เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล๊อกดาวน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มแรกของการถูกสั่งปิดจำเป็นต้องหาวิธีเพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินได้ต่อไป ดร. พนิตา เสือวรรณศรี แพทย์จิตบำบัดและอาจารย์ที่ปรึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องหันมาสอนผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยพบกับผู้เรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และพยายามดำเนินกิจวัตรการสอนประจำสัปดาห์ตามปกติ การสอนหนังสือผ่านซูมนั้นคล้ายกับการสอนในห้องประชุมที่มหาวิทยาลัย ที่สอนไปตามบทเรียนแล้วให้ผู้เรียนถามคำถาม ทบทวน และแสดงความคิดเห็น แต่ดร.พนิตา ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับอัตลักษณ์บุคคลด้วย กลับสังเกตเห็นประเด็นบางอย่าง

“เราเห็นสมาชิกครอบครัวของนิสิตเดินผ่านไปมาอยู่ข้างหลังตอนที่เราเรียนกันอยู่ ซึ่งแปลว่า ณ ตอนนั้น โลกของพวกเขามาปะทะกัน มันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการเรียนแล้ว” เธอกล่าว

การระบาดของโคโรน่าไวรัส นำมาสู่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ทั่วโลกจำต้องปฏิบัติตามเพื่อควบคุมสถานการณ์และผลักดันให้เกือบทุกคนต้องอยู่ติดบ้าน ในขณะที่บ้านอาจเป็นสถานที่ที่ผู้คนรู้สึกผูกพันด้วยมากที่สุด แต่ลักษณะของการกักตัวที่ทำให้ผู้คนต้องนำเอาโลกภายนอกเข้ามาอยู่ในบ้านด้วยกลับทำให้ปัญหาบางอย่างก่อตัวขึ้น เพราะเมื่อต้องทำงานที่บ้าน รับประทานอาหารที่บ้าน พูดคุยกับคนข้างนอกจากในบ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของคนในบ้านมีหรือไม่ แค่ไหน หลายคนกระทั่งจำลองการออกไปข้างนอกด้วยการนัดกินดื่มกับเพื่อนเป็นหมู่คณะผ่านซูม ยืนยันข้อสังเกตว่าบ้านจะให้ความรู้สึกเป็นบ้านก็ต่อเมื่อเราไม่ต้องอยู่ที่นั่นตลอดเวลา

นี่คือปัญหาที่ดร.พนิตาได้สัมผัสมาก่อนที่เหตุการณ์โรคระบาดจะบีบบังคับให้ผู้คนต้องอยู่บ้าน เพราะนอกจากการสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังให้บริการปรึกษาปัญหาแบบส่วนตัว เธอได้พูดคุยกับคนไข้เกี่ยวกับเส้นแบ่งของตัวตนที่เราสร้างขึ้นมากั้นระหว่างบ้านและโลกภายนอกอยู่บ่อยครั้ง

“เวลาเรานึกถึงบ้าน เรานึกถึงสิ่งที่เป็นของเรา เป็นส่วนตัว เป็นสิ่งที่มีเพียงไม่กี่คนรับรู้หรือเข้าถึง ความท้าทายครั้งใหญ่ในช่วงนี้คือ คนเรามีพื้นที่กั้นระหว่างโลกส่วนตัวและโลกของงานหรือเปล่า ‘พื้นที่’ ไม่ได้หมายถึงแค่มีห้อง แต่หมายถึงพื้นที่ที่ชีวิตส่วนตัวจะถูกกันออกไป โดยปกติการทำงานที่ออฟฟิศจะแยกเราออกจากชีวิตส่วนตัวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ สำหรับหลายๆ คน พื้นที่สองส่วนมันปะทะกันอยู่ โดยเฉพาะคนที่ต้องกักตัวอยู่กับครอบครัว เพราะคุณบอกให้คุณย่าออกไปจากห้องกินข้าวเพราะมันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราไม่ได้หรอก” ดร.พนิตากล่าว “คนไทยมักจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การปิดเมืองทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับความใส่ใจจากคนในบ้านมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง เราก็หมดทางหนีจากเรื่องในครอบครัวซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดได้ คนในครอบครัวของเราอาจบอกว่าอยู่บ้านแล้วทำไมไม่ช่วยทำนั่น ทำนี่ล่ะ และเขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมบางทีเราจึงขังตัวเองอยู่ในห้อง”

ลักษณะของการกักตัวที่ทำให้ผู้คนต้องนำเอาโลกภายนอกเข้ามาอยู่ในบ้านด้วยกลับทำให้ปัญหาบางอย่างก่อตัวขึ้น เกิดคำถามว่า ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของคนในบ้านมีหรือไม่ แค่ไหน

ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่อยู่บ้าน แม้กระทั่งคนที่ใช้ชีวิตคนเดียว แต่ไม่มีพื้นที่ในคอนโดมากพอที่จะจัดเป็นบริเวณสำหรับทำงานต่างหากจากบริเวณส่วนตัวของชีวิตอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเดียวกัน สถานการณ์นี้อาจส่งผลได้ทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบ และทำให้หลายคนต้องกลับมาทบทวนว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างไร

“มันบังคับให้เราถามตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน” เธอกล่าว “เส้นแบ่งของเราคืออะไร และเราต้องการพื้นที่มากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ลงตัว”

ดร.พนิตาเล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งของเธอตัดสินใจย้ายออกไปเช่าคอนโดในเมืองเพราะว่าไม่สามารถทำงานในบ้านที่มีครอบครัวใหญ่รายล้อมอยู่ตลอดเวลาได้ แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีความสันโดษและมีอิสระมากขึ้นก็เริ่มมีความคิดที่จะซื้อคอนโดอยู่ถาวร ในทางกลับกัน บางคนที่ต้องอยู่บ้านโดยลำพังอาจเบื่อภาวะที่ห่างเหินจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในเดือนพฤษภาคม หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเตือนว่าปัญหาสุขภาพจิตกำลังรอเราอยู่หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ทั้งโรคซึมเศร้า การใช้สารเสพติด และโรคเครียด

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีเส้นแบ่งที่จับต้องได้มาแบ่งระหว่างชีวิต ‘ในบ้าน’ และ ‘นอกบ้าน’ หรือยังไม่สามารถรับมือกับการที่ชีวิตทั้งสองส่วนมาปะทะกันได้ เป็นไปได้ว่าบางคนอาจจะสร้าง ‘เส้นแบ่งในใจ’ ขึ้นมา เหมือนคนบางกลุ่มที่ไม่อยากเป็นเพื่อนกับคนที่ทำงาน เพราะอยากจะแยกชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานออกจากกัน ซึ่งดร. พนิตามองว่าเส้นแบ่งที่มองไม่เห็นนั้นอาจทำให้เราพยายามที่จะแบ่งชีวิตนอกบ้านกับในบ้านอยู่ตลอดเวลา จนเกิดการยึดติดกับ ’ขอบเขต’ เกินไป และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตใจ

นอกจากนี้การปะทะกันของตัวตน ซึ่งเกิดจากการรักษาระยะห่างทางสังคมและการปิดเมืองทำให้หลายคนต้องมาทบทวนเรื่องพื้นที่ในบ้าน วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการของ Norse Republics ผู้นำเข้าของตกแต่งบ้านชั้นนำ มองว่าสถานการณ์นี้ทำให้ผู้คนคิดทบทวนเกี่ยวกับพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง

“สถานการณ์นี้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยไปอย่างถาวร” เขากล่าว “แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะทำให้เราตระหนักว่าพื้นที่ตรงนี้สำคัญกว่าที่เราเคยคิด ผู้คนให้ความสำคัญกับบ้านมากกว่าที่เคย และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังขึ้น มันไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของเรากับพื้นที่ แต่รวมถึงคนที่มาใช้พื้นที่ร่วมกับเราด้วย”

นอร์ส รีพับลิก ผู้นำเข้าแบรนด์ต่างๆ เช่น Massimo, Fritz Hansen และ Artek มียอดขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะของตกแต่งขนาดเล็กอย่างจานชามและแจกัน แม้ว่าลูกค้าจะไม่สามารถไปดูสินค้าจริงที่ร้านได้ก็ตาม โดยวีกฤษฏิ์บอกว่า เป็นเพราะผู้คนเข้าใจบ้านของตัวเองมากขึ้น “มุมมองเดิมที่เรามีต่อบ้านก็เหมือนกับคู่แต่งงานใหม่ ทุกอย่างดีหมด แต่เรายังไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันมากนัก การปิดเมืองทำให้เราเหมือนถูกจับแต่งงานกับบ้านของเรา เริ่มเรียนรู้สิ่งที่เราอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน เราเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของเรามากขึ้น และทำให้สิ่งเหล่านั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นด้วย” เขากล่าว

ขั้นแรกของการรับมือกับชีวิตที่อยู่ติดบ้าน คือการกำหนดเส้นแบ่งที่จับต้องได้ และมาพิจารณาขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของเราอย่างละเอียด

ทั้งดร.พนิตาและวีกฤษฎิ์เห็นตรงกันว่าขั้นแรกของการรับมือกับชีวิตที่อยู่ติดบ้าน คือการกำหนดเส้นแบ่งที่จับต้องได้ และมาพิจารณาขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของเราอย่างละเอียด กำหนดพื้นที่นั่งทำงานขึ้นมาและใช้เพื่อการทำงาน กำหนดพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาและใช้เพื่อการผ่อนคลาย สำรวจว่าข้างในตัวเรารู้สึกอย่างไรกับแต่ละพื้นที่ การนำเอาพื้นที่ต่างๆ มาผสมปนเปกันอย่างไม่มีระเบียบจะนำไปสู่ความเครียดและความยุ่งเหยิง

แต่ขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องซับซ้อน แอสบี้ บราวน์ ผู้ก่อตั้ง KIT Future Design Institute ในโตเกียวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเทคนิคการแต่งบ้านในช่วงกักตัวลงบทความ More with less: How to adapt small homes for lockdown ของซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือนเมษายน “ไอเดียแต่งบ้านแบบเดิมๆ จะเวิร์กก็ต่อเมื่อเราสามารถเข้าถึงเมืองได้เมื่อเบื่อบ้าน แต่ตอนนี้คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนสามารถอยู่บ้านหลังเล็กได้อย่างสบายเมื่อไม่สามารถออกไปเที่ยวในเมือง”

เคล็ดลับที่แอสบี้แนะนำคือการลองตกแต่งหน้าต่างด้วยของเล็กๆ น้อยๆ และจัดฟอร์นิเจอร์ใหม่ในพื้นที่ทำงานและที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยสร้าง ‘ความใหม่ทางอารมณ์’ นอกจากนี้ แอสบี้ยังแนะนำให้ลองสร้างพื้นที่สำหรับการประชุมทางไกล แม้ว่าในชีวิตจริงจะหมายถึงการต้องหิ้วแล็ปท็อปไปนั่งตรงมุมแคบๆ ทุกครั้งที่ประชุมก็ตาม “มันจะเป็นเหมือนหน้าต่างสำหรับเปิดรับแขกของคุณ” เขาบอก และเปรียบเทียบเคล็ดลับข้อนี้ว่าเหมือนกับบ้านสไตล์อเมริกันในยุค 60-80s ซึ่งมีโทรศัพท์บ้านติดตั้งอยู่บนผนังและมีเก้าอี้วางอยู่ข้างๆ เพื่อเป็นดั่งสัญญาณกรายๆ ว่า ‘กำลังโทรศัพท์อยู่ อย่ารบกวน’ นอกจากนี้กระจกคือเพื่อนที่ดีที่สุดของที่แคบ เพราะช่วยสร้างภาพลวงตาว่ามีพื้นที่มากขึ้น และช่วยเพิ่มแสงธรรมชาติด้วย

จากคำกล่าวของแอสบี้ การรับมือกับชีวิตติดบ้านนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็คือการสร้างพื้นที่จำลองสำหรับโลกส่วนต่างๆ ในชีวิต มีที่สำหรับทำงาน และมีที่สำหรับผ่อนคลายเพื่อลืมการประชุม มีที่สำหรับทำกิจกรรมในครอบครัว และก็มีพื้นที่สำหรับความเป็นส่วนตัว โดยอาจแบ่งแยกพื้นที่เหล่านี้ด้วยเส้นแบ่งที่จับต้องได้ โดยวิธีหนึ่งที่เขาชอบมากคือฉากกั้นทำจากกระดาษของชาวญี่ปุ่น นอกจากนั้น การโละก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำไปพร้อมมัน “เราต้องกำจัดของที่เราไม่ต้องการออกไป แต่ต้องตระหนักด้วยว่าเรามักจะเก็บข้าวของไว้ก็เพราะว่ามันมีความทรงจำที่ประกอบเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของเราอยู่ ผมรู้จักหลายคน โดยเฉพาะพวกนักวิชาการที่มีชั้นหนังสือเต็มไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสำหรับปัญญาชน บางทีหนังสือก็ทำหน้าที่เหมือนหน้าต่างนั่นแหละ”

ในขณะที่เราอาจคิดว่าจิตใจมนุษย์ไม่เคยถูกจำกัดโดยพื้นที่ มาตรการปิดเมืองและการอยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้เราได้เห็นความแตกต่างหรือความขัดแย้งระหว่างโลกภายนอกและโลกส่วนตัว รวมทั้งผลเสียของการไม่สามารถจัดสรรพื้นที่สำหรับทั้งสองโลกได้อย่าง ‘เข้าที่’ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดได้อย่างนึกไม่ถึง ในทางตรงกันข้ามสำหรับผู้ที่ได้ใช้วิกฤตนี้ในการจัดบ้านเพื่อให้ทำงานได้อย่างสมดุลก็จะพบกับ ‘บ้าน’ ในความหมายใหม่ที่พร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแทบไม่ต้องรีโนเวทเลยทีเดียว