SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Kind of Blue
จากตึกร้าง สู่ ‘เดอะ มัสแตง บลู’ โรงแรมหน้าตาคลาสสิกที่แต่งเติมสีสันให้ย่านเจริญกรุง ด้วยฝีมือของนักออกแบบผู้สร้างสรรค์
The Mustang Blu ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับย่านไชน่าทาวน์ คือข้อพิสูจน์ว่าหลากหลายตึกเก่าที่ถูกทิ้งร้างในกรุงเทพฯ คือเพชรที่รอเพียงการเจียระไน เพราะทันทีที่ปรับปรุงเสร็จ โรงแรมสุดฮิปแห่งใหม่ล่าสุดของย่านเมืองเก่าบนถนนไมตรีจิต ไม่ไกลจากซอยนานาแห่งนี้ได้แต่งเติมสีสันให้กับย่านที่อยู่อาศัยซึ่งเคยเงียบเหงาให้ ‘ชิค’ ขึ้นแบบแทบจะชั่วข้ามคืน
“หลังเปิดตัว The Mustang Nero ซึ่งเป็นโปรเจคต์โรงแรมแห่งแรก ลูกค้าต่างชาติที่ประทับใจในการตกแต่ง อาหาร และบริการของเราก็ได้รับการตอบรับดีมาก แต่เดอะ มัสแตง เนโรมีแค่ 10 ห้อง พวกเขาเลยแนะนำให้เราขยายโรงแรม” ‘จอย’ อนันดา ฉลาดเจริญ ผู้เเป็นทั้งสไตลิสต์ โชว์ไดเร็กเตอร์ และผู้ก่อตั้งเครือโรงแรมเดอะ มัสแตง เล่าให้ฟัง
เช่นเดียวกับผู้สร้างสรรค์งานคนอื่นๆ ที่อยากจะหลุดจากกรอบของย่านสุขุมวิทและสีลม เจ้าของโรงแรมที่กำลังมาแรงคนนี้กล่าวว่าเธอรู้สึกถูกดึงดูดด้วยความงามแบบดิบเก่าของย่านเจริญกรุง และใช้เวลาหาอยู่ถึงสองปีจึงได้พบตึกนี้
ตึกเก่าขนาด 900 ตารางเมตรแห่งนี้ทำให้นึกถึงตึก Flatiron อันเป็นเอกลักษณ์ของนครนิวยอร์กด้วยดีไซน์ทรงสามเหลี่ยมแคบ ในช่วงปี 1800s ตึกนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทำการธนาคาร ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นสถานอาบอบนวดในอีกหกทศวรรษถัดมา เช่นเดียวกัน สิ่งที่เตะตาจอยคือเสน่ห์ของอดีตที่ปรากฏอยู่ในรูปของเปลือกอาคารสไตล์โคโลเนียลและระเบียงทรงกลมครึ่งซีก ซึ่งตั้งอยู่พอดิบพอดีตรงทางสามแพร่ง
การรีโนเวททั้งหมดใช้เวลาเพียงห้าเดือนเท่านั้น โดยในภายหลังจอยเรียกโปรเจคต์นี้ว่า “ความเจ็บปวดอันงดงาม”
หลังจากจอยได้เห็นพื้นที่ภายในที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เธอก็รู้ทันทีว่างานนี้ท้าทายมาก ผนังกั้นห้องถูกสร้างขึ้นอย่างไม่คำนึงถึงโครงสร้างสวยงามของตัวอาคาร ส่วนหน้าต่างและช่องแสงก็ถูกคอนกรีตอุด จึงไม่มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาถึงด้านใน
จอยตั้งใจว่าจะต้องฟื้นฟูโครงสร้างตึกกลับมาให้อยู่ในสภาพเดิมให้ได้ เธอเริ่มจากขั้นตอนการรื้อถอนที่นานถึงสองเดือน โดยรื้อส่วนที่ไม่น่าดูต่างๆ ซึ่งถูกสร้างต่อเติมไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งฉากกั้น ท่อน้ำ อ่างอาบน้ำ ฝ้าเพดานต่ำ และคอนกรีตหนา “ในฐานะโชว์ไดเร็คเตอร์ เรามีหน้าที่ดึงดูดความสนใจของคนดูและทำให้พวกเขาอยากถ่ายรูปเก็บไว้ให้ได้ เราอยากทำแบบเดียวกันในการรีโนเวทตึกนี้ด้วย ไม่ว่ามันจะเคยอยู่ในสภาพแย่แค่ไหน หน้าที่ของเราคือทำให้มันกลับมาสวยอีกครั้ง” จอยกล่าว
หลังจากถอดส่วนที่แปลกปลอมออก ความงามของตึกเดิมก็ค่อยๆ เผยออกมาให้เห็น ในระหว่างการทำงาน จอยพบว่ามีโดมที่เชื่อมต่อกับช่องรับแสง และยังมีรายละเอียดที่มีลักษณะเป็นวงกลมส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางในการออกแบบใหม่ให้กับพื้นที่ของเธอ การรีโนเวททั้งหมดใช้เวลาเพียงห้าเดือนเท่านั้น โดยในภายหลังเธอเรียกโปรเจคต์นี้ว่า “ความเจ็บปวดอันงดงาม” ซึ่งบอกใบ้ถึงความพยายามที่ต้องทุ่มเทใส่แก่โปรเจคต์นี้ก่อนมันจะผลิดอกออกผลในที่สุด
เมื่อเธอเริ่มขั้นตอนการออกแบบภายใน จอยเลือกใช้แนวทางที่ยังคงอนุรักษ์ตึกดั้งเดิมไว้ ตอนแรกเธอมีสีที่คิดไว้ในใจหลากหลาย แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกชุดสีที่มาจากสีของตัวตึกเอง เธอให้ทีมงานทาสีดูภาพส่วนต่างๆ ของตึกที่เธอชอบ จากนั้นทางทีมจะเลือกสีและลายที่ล้อไปกับของเดิม ห้องแต่ละห้องจะมีโทนสีที่แตกต่างกันไปตามแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามา ส่วนสีน้ำเงินเข้มที่เป็นสีเดิมของกำแพงล็อบบี้นั้นก็ถูกทาซ้ำอีกครั้งเพื่อเสริมความงามแบบดิบๆ ของโรงแรมแห่งนี้
“เสาเคยเป็นสีเขียวและสีส้มมาก่อน เหมือนไนต์คลับยุค 80s ซึ่งเราต้องทาสีใหม่เพื่อให้มันเข้ากับวัสดุคอนกรีต” เธอเล่า “ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์นั้นเราใช้ของวินเทจ หรือไม่ก็สั่งทำใหม่เลย อย่างเช่นตัวเคาน์เตอร์ต้อนรับกับโต๊ะไม้ยาวในล็อบบี้”
ส่วนอื่นก็มีความท้าทายเช่นกัน จอยเล่าว่า “เราต้องขนกรอบหน้าต่าง 100 กว่าอันที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมมากไปถึงอยุธยาเพื่อตกแต่งใหม่”
เดอะ มัสแตง บลู กลายเป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยม และเป็นเสมือนหน้าต่างที่ส่องไปยังประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยและหลากหลายของย่านนี้ ผ่านทางห้องขนาด 60 และ 30 ตารางเมตรที่มีสไตล์ดิบและสง่างามด้วยคอนกรีตและอิฐเปลือย พื้นไม้สีเข้ม รวมไปถึงของประดับประดาอย่างพรรณไม้เมืองร้อน หุ่นสัตว์แปลก ภาพเขียนสีน้ำมัน และหนังสือเก่า เสียงเพลงบรรเลงไวโอลินที่เปิดคลอไว้ทั่วบริเวณยิ่งช่วยพาให้ผู้มาเยือนเข้าสู่ภวังค์ของอดีตได้อย่างง่ายๆ
“คนมักจะถามว่าเพราะอะไรถึงเลือกสถานที่ตรงทางสามแพร่ง ซึ่งผิดหลักฮวงจุ้ย แถมยังเคยเป็นสถานอาบอบนวดมาก่อนด้วย แต่หลังจากรีโนเวทเสร็จ มันก็เปลี่ยนไปเลย ตอนนี้มันเป็นที่ที่คนนิยมมาถ่ายภาพรับปริญญาและภาพแต่งงาน มันคือสถานที่ที่เป็นมงคล” เธอเล่าอย่างภูมิใจ
จอยเชื่อว่าความพยายามของเธอในการเปลี่ยนสถานที่ที่ถูกลืมให้กลายเป็นมรดกที่มีชีวิตนั้นจะกลายเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นด้วย เธอเน้นว่า “ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ทิ้งร้างหลายแห่งที่มีศักยภาพและน่าจะได้รับการอนุรักษ์ไว้แทนที่จะถูกรื้อทิ้งไป เราควรสร้างตึกใหม่ให้น้อยลง และหันมาชุบชีวิตตึกเก่าพวกนี้แทน” ■