HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Building on the Past

กระแสการนำตึกเก่ามาปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของเหล่า 'ครีเอทีฟสเปซ' และนิยามความสร้างสรรค์ที่ลงลึกกว่าเพียงความงามทางศิลปะหรือไอเดียแหวกแนว

ก่อนที่โรงเรียนอาทรศึกษา ในซอยเจริญกรุง 30 จะปิดตัวลง อดีตครูใหญ่แห่งโรงเรียนประถมหลักสูตรไทย-จีนอายุกว่า 120 ปีนี้ ต้องการรักษาความทรงจำที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างเธอและศิษย์เก่าหลายรุ่นไว้ ซึ่งหลายต่อหลายเรื่องเกิดขึ้นในอาคารไม้สักโบราณที่เธอไม่อยากให้ถูกทุบทำลายหรือเปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียม ด้วยเหตุนี้เมื่อเธอเกษียณเธอจึงตัดสินใจขายอาคารดังกล่าวให้กับครอบครัวอรรถการวงศ์ เพื่อนบ้านผู้เป็นเจ้าของธุรกิจค้าของเก่าและแกลเลอรี่ศิลปะ ซึ่งต่อมาคือผู้เปลี่ยนโรงเรียนอาทรศึกษาให้เป็นครีเอทีฟสเปซ ATT 19 ที่ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงศิลปะ ร้านอาหารสไตล์ไคเซกิ และค็อกเทลบาร์กลิ่นอายตะวันออก “เหล่าซือห่วงอนาคตโรงเรียน แต่แกไม่มีแรงจะสอนแล้ว ก่อนที่นี่จะเปิด แกก็แวะมาดูอยู่บ่อยๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น” พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ทายาทรุ่นที่สองผู้ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Creative Director แห่งโครงการ ATT 19 เล่า

ปัจจุบัน ATT 19 ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รักศิลปะและคนรุ่นใหม่ เมื่อผลักประตูจีนสีแดงบานคู่เข้าไป เราจะพบกับพื้นที่โปร่งโล่ง โต๊ะไม้ยาวสีเข้มตรงมุมห้องดูโดดเด่นยามแสงธรรมชาติตกกระทบ บนผนังสีขาวมีพรมเปอร์เซียผืนใหญ่แขวนประดับเคียงคู่กับชั้นวางแจกันแก้วสไตล์อิตาเลียนหลากสีสัน อีกฟากของห้องเป็นพื้นที่จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้เก่า นับตั้งแต่เสาไม้จากอินโดนีเซีย ตู้สมัยราชวงศ์ชิง เสื้อผ้าวินเทจ ไปจนถึงเครื่องเคลือบจากศตวรรษที่ 19 หากไม่บอกว่านี่คือแกลเลอรี่ศิลปะ ผู้มาเยือนอาจนึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ในห้องนั่งเล่นโอ่โถงของนักสะสมของเก่าสักคน “เราอยากให้คนแยกแยะระหว่างศิลปะในพิพิธภัณฑ์กับศิลปะในไลฟ์สไตล์ ศิลปะในไลฟ์สไตล์จะเหมือนบ้านหลังนี้ มีตู้เสื้อผ้า โต๊ะกินข้าว เราจินตนาการได้ว่าถ้าซื้อโต๊ะตัวนี้ไป เราจะนั่งกินข้าวแบบไหน เราอยากให้คนเห็นสิ่งของโดนใช้จริงๆ ไม่ใช่สเปซขาวโพลน แล้วถ้าคุณอยากเห็นอะไรใหม่ๆ ก็ขึ้นไปดูนิทรรศการบนชั้นสอง” พรทิพย์กล่าว

อดีตครูใหญ่แห่งโรงเรียนอาทรศึกษานั้นเสียชีวิตไปเพียง 2 เดือนก่อนที่ ATT 19 จะเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนในวันแรกของเทศกาล Bangkok Design Week เมื่อปีที่ผ่านมากระนั้น ความทรงจำที่เธอหวงแหนก็ดูจะได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในร่องรอยของกาลเวลาที่ปรากฏอยู่ตลอดพื้นที่ ผนังห้องด้านในสีหลุดล่อน และปรากฏคราบดำยาวซึ่งเกิดจากการย้ายบันไดไปยังอีกฟากของอาคาร โครงสร้างเพดานไม้สักซึ่งมากับอาคารเรียนเดิมนั้นยังคงสภาพสวยงาม และช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้กับตัวพื้นที่ ขณะที่ลานเปิดโล่งของโรงเรียนที่เคยทำให้ภารโรงต้องคอยเก็บกวาดใบไม้ที่ร่วงเกลื่อนพื้น ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนหย่อมเล็กๆ ครอบด้วยหลังคากระจกใสเพื่อป้องกันไม่ให้งานศิลปะโดนความชื้น พรเทพ อรรถการวงศ์ พ่อของพรทิพย์ผู้ซึ่งเป็นนักค้าของเก่าและสถาปนิก นำทีมช่างเล็กๆ ลงมือปรับปรุงอาคารไปทีละจุด โดยพวกเขาพยายามเน้นใช้วัสดุอย่างไม้ อิฐ และเหล็กเก่าในการบูรณะ และนอกเหนือจากการต่อเติมส่วนหน้าของอาคารซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่กลางแจ้ง และการทุบผนังลงบางส่วนลงและเพิ่มกระจกบานสูงเข้าไปเพื่อให้พื้นที่ด้านในดูโปร่งและโมเดิร์นขึ้นแล้ว ทางทีมแทบไม่ได้แตะต้องโครงสร้างหลักเลย ในระหว่างขั้นตอนการบูรณะซึ่งกินระยะเวลาราวหนึ่งปีครึ่ง พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องปลวก ระบบท่อเก่า และความท้าทายเชิงโครงสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปของตึกเก่าอายุนับร้อยปี กระนั้น ด้วยทักษะอันเชี่ยวชาญในการบูรณะของเก่าของพรเทพและทีม จึงทำให้อาคารหลังนี้ยังคงมนต์ขลังไว้ไม่เสื่อมคลาย

“ศิษย์เก่าที่เดินเข้ามาที่นี่น้ำตาคลอเกือบทุกคน เขาจำได้ว่าตัวเองเคยนั่งเรียนที่พื้นตรงนี้ เคยวิ่งเล่นกับเพื่อนตรงชั้นระเบียงชั้นสอง และขอบคุณที่เราไม่ได้ทำลายส่วนหนึ่งของความทรงจำเขา ขณะเดียวกันเขาก็ชื่นชมกับสิ่งที่มันเป็นในปัจจุบัน” พรทิพย์เล่า เธอยอมรับว่ากระแสการนำอาคารเก่ามาปรับปรุงใหม่เป็นพื้นที่ศิลปะในลักษณะนี้ เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา แต่แนวคิดการนำของเก่ามาปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ “การนำอาคารเก่ามาปรับปรุงอาจจะเป็นอะไรที่ทันสมัยในตอนนี้ แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ แล้ว ช่างฝีมือไทยเขาทำงานโดยยึดปรัชญานี้ตั้งแต่ต้น เราไม่ควรจะลบล้างประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่มันเคยเป็น แล้วเราเชื่อว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกัน”

แนวคิดการนำตึกเก่ามาปรับปรุงเป็นพื้นที่ทางศิลปะนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในยุโรป ในบทความ Creative Conversion ของ BBC Arts โดยวิลเลียม คุก นั้นบอกเล่าถึงกระแสนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่บรรดาอาคารอุตสาหกรรมเก่าถูกนำมาฟื้นฟูและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะหรือแกลเลอรี่ ซึ่งนับเป็น “การรีไซเคิลทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบหนึ่ง” โดยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิมเพรสชันนิสต์ Musée d’Orsay ในปารีส ซึ่งดัดแปลงมาจากสถานีรถไฟเก่า พิพิธภัณฑ์ La Piscine ในเมืองรูเบ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในอดีตนั้นเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะ และ WIELS โรงบ่มเบียร์เก่าในบรัสเซลล์ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ คาเฟ่ และร้านหนังสือ

สถานที่เหล่านี้ล้วนใช้ ‘ความเก่า’ ของสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในจุดขาย และในขั้นตอนการบูรณะนั้นมุ่งรักษาความงามของโครงสร้างเดิมไว้

กระทั่งในกรุงเทพฯ เอง หลายปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นศิลปินนำอาคารเก่ามาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ATT 19, Woofpack, Warehouse 30 หรือ Jam Factory สถานที่เหล่านี้ล้วนใช้‘ความเก่า’ ของสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในจุดขาย และในขั้นตอนการบูรณะนั้นมุ่งรักษาความงามของโครงสร้างเดิมไว้ พื้นที่เหล่านี้อาจมีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น อาร์ตสเปซ ครีเอทีฟสเปซ และมัลติสเปซ ขึ้นอยู่กับจุดเด่นที่แต่ละโครงการต้องการนำเสนอ ยังไม่นับรวมบรรดาคาเฟ่และโรงแรมเล็กๆ อีกจำนวนมากที่ใช้ประโยชน์จากความสวยของอาคารเก่าในลักษณะคล้ายคลึงกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรยา บุญประสงค์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับเดเรก เลแธม สถาปนิกชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในการอนุรักษ์อาคารเก่า และวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับตึกเก่าในย่านท่าเตียนของเธอเพิ่งคว้ารางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ มีความเห็นในทำนองเดียวกับพรทิพย์แห่ง ATT 19 “จริงๆ แล้ว คนเรามีพื้นฐานของการเอาของที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับปรุงอยู่แล้ว พื้นที่ไหนว่างเราก็เข้าไปครอบครองแล้วปรับใช้ไปตามธรรมชาติ จนกระทั่งทฤษฎีการอนุรักษ์นั้นเริ่มมีความเข้มงวดขึ้น และมีแนวคิดแตกแขนงออกไปมากมาย เช่น การซ่อมแซม ฟื้นฟู ต่อเติม การปรับเอาบางส่วนออก หรือกระทั่งการอัพเกรด ซึ่งหมายถึงการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำและระบบปรับอากาศเข้าไป”

จากคำบอกเล่าของดร.พีรยา การอนุรักษ์อาคารในบ้านเรามักกระทำอยู่บนพื้นฐานของการปฏิสังขรณ์ ซึ่งเน้นคุณค่าในเชิงสุนทรียภาพและหลักวิชาการมากกว่า จนกระทั่งภาครัฐได้เกิดแนวคิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และในช่วงปี 2540 กว่าๆ ได้เริ่มมีการโยกย้ายหน่วยงานราชการออกนอกพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้อาคารหลายแห่งว่างลง จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอาคารเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย อาทิ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า มิวเซียมสยามนิทรรศรัตนโกสินทร์ และหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน “จริงๆ แล้วแนวคิดการนำอาคารเก่ากลับมาใช้งาน เราน่าจะรับอิทธิพลมาจากกระแสฟื้นฟูย่านเก่าในสิงคโปร์ในช่วงยุค ’90s พอสมควร เพราะสมัยนั้นมีคนไทยเดินทางไปดูงานเยอะ ส่วนภาคเอกชน เราว่าน่าจะมาจากกลุ่มศิลปินที่ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศและไปรับเอาอีกวัฒนธรรมหนึ่งมา เพราะในต่างประเทศ ศิลปินมักเป็นกลุ่มที่เห็นความงามของตึกเก่าก่อนคนอื่น อย่างพวกโกดังหรือคลังสินค้าเก่า บางพื้นที่มันเสื่อมโทรมมากจนไม่มีใครกล้าเข้าไป แต่กลุ่มศิลปินเล็งเห็นว่านี่คือโอกาส” เธอกล่าว

กระนั้น สำหรับเจ้าของครีเอทีฟสเปซน้อยใหญ่เหล่านี้ การชูจุดเด่นทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำให้หลายครั้งพวกเขาต้องสอดแทรกฟังก์ชันอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพื้นที่จัดแสดงศิลปะเข้าไปด้วย อาทิ คาเฟ่ ร้านอาหารคอนเซปต์แปลกใหม่ หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ เพื่อให้ตัวโครงการนั้นสามารถสร้างรายได้กลับมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ “การนำเอาอาคารเก่ามาใช้ ส่วนหนึ่งมันก็มีเรื่องการลงทุนเข้ามาเกี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าง Jam Factory หรือ Warehouse 30 จริงๆ มันก็คือโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ในรูปแบบหนึ่ง เพราะแกลเลอรี่บางช่วงอาจจะไม่มีคนมาเช่าเลย ถ้าอยู่เดี่ยวๆ มันอาจจะตายรายได้จากส่วนอื่นก็จะช่วยเสริมกันไป มันก็เป็นแผนธุรกิจของแต่ละเจ้า” ดร.พีรยากล่าว

หนึ่งในครีเอทีฟสเปซที่มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ คือ Bangkok 1899 คฤหาสน์ขนาด 2 ชั้นครึ่งบนถนนนครสวรรค์ ซึ่งในอดีตนั้นเป็นที่พำนักของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) บางกอก 1899 นั้นอยู่ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิ Creative Migration ซึ่งมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะ การมีส่วนร่วมของประชาชน และความยั่งยืนในขั้นตอนการบูรณะนั้น ทางมูลนิธิได้รับแรงสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ กองทุนฟอร์ดมอเตอร์ คัมปะนี และภาคส่วนต่างๆ โดยนอกจากการปรับปรุงห้องน้ำ และการรื้อถอนส่วนที่ถูกต่อเติมในช่วงยุค ’90s แล้ว หน้าที่ของทางครีเอทีฟ ไมเกรชั่นและครอบครัวเทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็คือการซ่อมแซมคฤหาสน์อายุร้อยกว่าปีนี้ให้กลับไปมีสภาพงดงามใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

ซูซานนา ตันเต็มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการแห่งครีเอทีฟ ไมเกรชั่น เล่าว่าเธอเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทยมากขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของครอบครัวฝั่งพ่อ หญิงสาวรายนี้ตกหลุมรักในความงามของคฤหาสน์ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งได้ฝากผลงานอย่างพระที่นั่งอนันตสมาคม ห้องสมุดเนลสันเฮยส์ และอาคารสำคัญในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่ง จนนำมาสู่การก่อตั้งบางกอก 1899 ขึ้นในที่สุด “เรามองว่ากระแสการเปลี่ยนอาคารเก่าแก่ให้กลายเป็นครีเอทีฟสเปซนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความต้องการอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ แต่เพื่อให้ฟังก์ชันของมันตอบกับโลกสมัยใหม่ เราจึงต้องคิดหาวิธีการที่สร้างสรรค์ พื้นที่ของเราเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับตัวอาคารและสวนโดยรอบ ซึ่งมันดูมีชีวิตชีวากว่าตามพิพิธภัณฑ์ทั่วๆ ไป” เธอกล่าว

ผู้ที่นำอาคารเก่ากลับมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางศิลปะ ยังต้องหาวิธีการใช้งานที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในแง่การบำรุงรักษาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตัวอาคาร

โครงการบางกอก1899 นั้นเป็นที่ตั้งสำนักงานของครีเอทีฟ ไมเกรชั่น และกิจการเพื่อสังคมต่างๆ รวมทั้งเป็นที่พักให้กับศิลปินต่างชาติที่หมุนเวียนมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านการจัดการแสดงดนตรี ศิลปะ เวิร์กช็อป และงานเสวนา พื้นที่แห่งนี้ยังมีรายได้จากการให้เช่าสถานที่และการจัดอีเวนต์ ตรงชั้นล่างของอาคารนั้นเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟเพื่อสังคม Na Cafe ที่บริหารจัดการบนแนวคิด zero waste และเน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งผู้มาเยือนสามารถแวะไปนั่งจิบกาแฟหอมๆ และเครื่องดื่มรสชาติสดชื่นในบรรยากาศย้อนยุคได้

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลให้คนเริ่มนำอาคารเก่ากลับมาใช้งานมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ นักวิชาการด้านการออกแบบเมืองชื่อดัง ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะคนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของอาคารเก่า และกระแสความนิยมตึกสไตล์ลอฟต์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ อาคารที่ถูกทิ้งร้างส่วนใหญ่ยังซ่อนตัวอยู่ตามทำเลสำคัญ ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ กระนั้น การเข้ามาของผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์ให้กับตัวย่านและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับหลายย่านของกรุงเทพฯ “คำว่า gentrification หรือ ‘ชนชั้นกลางภิวัฒน์’ นั้นเป็นกระบวนการหนึ่งในการวิวัฒนาการของเมือง ซึ่งมันก็มีทั้งรูปแบบที่ดีและไม่ดี การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ดีต้องมีความสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้คนในย่านเข้าไปมีส่วนร่วม” เธออธิบาย

โครงการ YELO House ในย่านราชเทวีน่าจะเป็นหนึ่งในครีเอทีฟสเปซที่พยายามสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนใกล้เคียง ที่นี่ได้ช่วยเปลี่ยนซอยเกษมสันต์ 1 ซึ่งในอดีตเป็นซอยตัน ให้เป็นทางลัดเชื่อมไปยังพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันและท่าเรือสะพานหัวช้าง นักท่องเที่ยวและคนในย่านจึงสามารถสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น

ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ แห่งบริษัท Atelier Of Architects และหนึ่งในหุ้นส่วนของเยโล เฮาส์ เคยผ่านและชื่นชมโกดังสีเหลืองริมคลองแสนแสบหลังนี้อยู่นับสิบปี จนกระทั่งเมื่อโอกาสมาถึง เขากับหุ้นส่วนจึงร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นครีเอทีฟสเปซ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการ ร้านล้างฟิล์ม โรงเรียนสอนดำน้ำ และโคเวิร์กกิ้งสเปซซึ่งเป็นสถานที่พบปะของกลุ่มคนผู้หลงใหลในงานศิลปะ “สิ่งที่ผมรู้สึกชอบมากเหลือเกินเกี่ยวกับโกดังแห่งนี้ คือหลังคาฟันเลื่อยของมัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าตอนสร้างเขาคิดอะไรกันอยู่เพราะถ้าสร้างไว้เก็บของ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่น่าทำเป็นหลังคาสกายไลท์ให้แสงมันเข้าได้ มันทำให้แสงที่นี่สวยเหมือนแกลเลอรี่ในนิวยอร์ก” เขาเล่า

ขั้นตอนการบูรณะโกดังขนาด 480 ตารางเมตรนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะโครงสร้างเดิมนั้นเป็นเหล็กเปลือยเปิดโล่ง ทางทีมเพียงต้องติดตั้งงานระบบ เพิ่มราวกั้นและห้องกระจก และยกระดับโครงสร้างบางส่วนที่เตี้ยจนเกินไปให้เหมาะกับการอยู่อาศัยมากขึ้น แม้ครีเอทีฟสเปซแห่งนี้จะดัดแปลงมาจากโกดังเก่าซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทอง แต่ศัลยเวทย์กล่าวว่าอาคารเก่าที่น่าอนุรักษ์อีกหลายแห่งอาจไม่โชคดีอย่างนี้ “ผมมองว่าการที่คนจะนำอาคารเก่ามาทำโปรเจกต์ในลักษณะนี้ได้ มูลค่าที่ดินต้องเหมาะสม โครงสร้างเก่าต้องมีเสน่ห์และเรื่องราว และต้องอยู่ในที่ที่คนสัญจรไปมาได้โดยสะดวก แต่หลายครั้ง การทุบตึกเก่าทิ้งแล้วสร้างใหม่นั้นสร้างรายได้ให้เจ้าของที่ดินมากกว่า บังเอิญเยโล เฮาส์ เราเป็นโกดังหน้ากว้างแค่ 12 เมตร ถ้าสร้างตึกใหม่ตามกฎหมายมันต้องเว้นระยะห่างข้างละไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ทำให้พื้นที่ที่เหลือไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถ้าที่ดินมันใหญ่กว่านี้ ไม่แน่ว่าทางเจ้าของอาจจะเอาไปทำเป็นอย่างอื่นแล้วก็ได้” สถาปนิกมาดเนี้ยบกล่าว

อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้าง ซึ่งหลายครั้งจะไปขัดกับเรื่องประโยชน์ใช้สอย เช่น อาคารเก่าหลายแห่งไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าอาคารสร้างใหม่ ทำให้อาจต้องจำกัดประเภทกิจกรรมหรือจำนวนผู้เข้าชม นอกจากนี้ ผู้ที่นำอาคารเก่ากลับมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางศิลปะ ยังต้องหาวิธีการใช้งานที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในแง่การบำรุงรักษาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตัวอาคาร “พอเอามาใช้ในเชิงวัฒนธรรมจัดๆ มันมีข้อจำกัดคือจะทำอย่างไรให้อาคารนั้นมีกิจกรรมการใช้งานในระยะยาวได้ แม้ว่ากระแสจะจบไปแล้ว และสามารถสร้างรายได้กลับมาดูแลตัวอาคาร หรือก่อให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนต่อชุมชนหรือตัวย่าน แบบนั้นถึงจะเป็นการใช้งานอย่างสร้างสรรค์จริงๆ” ดร.พีรยาทิ้งท้าย

ในที่สุดแล้วเรื่องเงินทองยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของบรรดาครีเอทีฟสเปซในกรุงเทพฯ และผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีวิธีการรับมือในแบบของตนเอง อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความ ‘สร้างสรรค์’ และความอยู่รอดในระยะยาวของพื้นที่เหล่านี้จริงๆ อาจไม่ใช่ความฮิปของตัวตึกหรือกระแสตอบรับหวือหวา มากเท่ากับการสร้างวัฒนธรรมบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาใช้พื้นที่เหล่านี้ซ้ำเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน รวมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้กับตัวย่านและคนในชุมชน

ถ้าทำสำเร็จ อาคารเก่าซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ส่วนเล็กๆ ของเมืองหลวงแห่งนี้ น่าจะยังหายใจอย่างมีชีวิตชีวาไปได้อีกพอสมควรเลยทีเดียว

Essentials


ATT 19

19 ซอยเจริญกรุง 30 (ตรอกกัปตันบุช) กรุงเทพฯ

02-639-5871

fb.com/ATT19.BKK

Bangkok 1899

134 ถนนนครสวรรค์ กรุงเทพฯ

096-925-7828

fb.com/Bangkok1899

Warehouse 30

52-60 ซอยเจริญกรุง 30 (ตรอกกัปตันบุช) กรุงเทพฯ

02-237-5087

warehouse30.com

Woofpack

1/3-9 ซอยศาลาแดง 1 กรุงเทพฯ

089-826-2299

woofpackbangkok.com

YELO House

20/2 ซอยเกษมสันต์ 1 ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ

098-469-5924

fb.com/yelohouse