SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Staying in Style
สลิลลา อติการบดี อดีตผู้จัดการกองทุนเจ้าของเครือโรงแรมบูทีคใจกลางย่านธุรกิจ ‘สลิล โฮเทล’ ผู้ชูจุดเด่นด้านทำเล ดีไซน์ และคุณภาพการบริการที่ดีไม่แพ้โรงแรม 5 ดาว จนกลายเป็นที่นิยมต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโรงแรมอาจจะคุ้นกับชื่อ ‘สลิล โฮเทล’ อยู่บ้าง ในฐานะเครือโรงแรมบูทีคกลิ่นอายยุโรป ซึ่งเปิดทำการมาเกินกว่าหนึ่งทศวรรษ
เครือโรงแรมสลิล โฮเทลอยู่ภายใต้การบริหารงานของสลิลลา อติการบดี และวรพงษ์ อติการบดี สามีของเธอ ปัจจุบัน ทั้งคู่เป็นเจ้าของโรงแรมใจกลางย่านสยามและสุขุมวิทจำนวน 5 แห่ง ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นมีแขกต่างชาติแวะเวียนมาพักไม่ขาดสาย
เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์ สลิลลาออกมาต้อนรับตรงล็อบบี้ด้วยท่าทียิ้มแย้มเป็นกันเอง เธอสวมชุดกระโปรงสีขาวดำเนี้ยบ ทว่าสอดแทรกไว้ด้วยลวดลายหวานละมุน อันเป็นคาแรกเตอร์ที่สะท้อนอยู่ในการตกแต่งแทบทุกกระเบียดของโรงแรมในเครือสลิล ทุกวันนี้ เธอรับผิดชอบดูแลพนักงานกว่า 300 ชีวิต และนอกเวลางานยังทำหน้าที่ในฐานะแม่ของลูกสาวกับลูกชายวัย 13 และ 11 ขวบอีกด้วย
เราขอชวนไปฟังเรื่องราวชีวิตและแนวคิดของหญิงเก่ง ผู้ซึ่งปั้นให้ ‘สลิล’ กลายเป็นแบรนด์โรงแรมบูทีคยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่นภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นโรงแรมอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ บนเว็บไซต์รีวิวที่พักยอดนิยม Tripadvisor ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 จนถึงปัจจุบัน
นักเรียนบัญชี
เราเกิดที่จังหวัดขอนแก่นในครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อกับแม่เป็นอาจารย์ทั้งคู่ ตอนสมัย ม.3 เราย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย ก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมได้ อยู่ที่ขอนแก่นเราสอบได้เกรด 4 มาตลอด แต่พอมาเรียนที่กรุงเทพฯ ต้องขยันขึ้นเยอะมาก ตอนนั้นเราชอบตัวเลข ฝันอยากทำงานธนาคาร เพราะคิดว่าสายการเงินเส้นทางอาชีพมันไปได้ไกล พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยเลือกคณะบัญชีหมดเลยทั้ง 3 อันดับ เราสอบติดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอันดับแรกที่เลือก พอเรียนจบ เราก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ที่สหรัฐฯ ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ บลจ.บัวหลวง
อดีตผู้จัดการกองทุน
เราเริ่มงานที่ บลจ.บัวหลวงในฐานะนักวิเคราะห์ ก่อนจะได้ขึ้นเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งกองทุนที่เราดูนั้นเป็นหุ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 4 ปี เราก็ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดการกองทุน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของแผนกนั้น เมื่อสมัยสิบกว่าปีที่แล้ว บลจ.บัวหลวงยังไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่อย่างทุกวันนี้ เราดูกองทุนหุ้นแค่ 14-15 กอง ลูกน้องยังไม่เยอะ ก็เลยโตได้ไว แต่พอได้มาทำตามความฝันจริงๆ กลับกลายเป็นว่าเราเครียดทุกวัน เพราะงานหนักมากจนไม่มีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ตอนนั้นเราอายุประมาณ 30 ปีเศษๆ ก็เลยคุยกับสามี (คุณวรพงษ์ อติการบดี ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมเครือสลิล โฮเทล) ซึ่งที่บ้านเขาทำธุรกิจด้านโรงแรมอยู่แล้ว เราเคยคิดมานานแล้วว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง สุดท้ายเลยตัดสินใจออกมาเปิดโรงแรมเล็กๆ ของเราสองคน
คนสายการเงินกับสายงานบริการนั้นมีวัฒนธรรมคนละแบบ สมัยเป็นผู้จัดการกองทุน เราทำงานถึงสามทุ่ม เสาร์อาทิตย์ขนงานกลับไปทำที่บ้านเป็นเรื่องปกติ คนโรงแรมเขาทำงานกันเป็นรอบๆ เสร็จแล้วก็จบ ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าบางอย่างต้องรู้จักยืดหยุ่น
จุดเริ่มต้น ‘สลิล โฮเทล’
เรามาเริ่มต้นทำโรงแรมแห่งแรก ตรงสุขุมวิทซอย 8 พอดีตอนนั้นมีนายหน้ามานำเสนอทาวน์เฮาส์ขนาด 2 หลังให้ เราก็เอาตัวตึกมารีโนเวท ทุบออกไปเยอะมาก เหลือแค่เสากับคาน แล้วตกแต่งใหม่ทั้งหมด ด้วยความที่มันเป็นทาวน์เฮาส์หลังค่อนข้างใหญ่ ก็เลยปรับปรุงออกมาได้เป็นโรงแรมขนาด 30 ห้อง เราดูตั้งแต่กระบวนการคิดคอนเซ็ปต์ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ ส่วนสามีเขาถนัดงานด้านก่อสร้าง เขาก็เป็นคนคุมงาน ซื้อของ จ้างคนงานเองทั้งหมด เราไม่ได้จ้างผู้รับเหมา เลยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ ใช้เวลาประมาณ 9 เดือนก็แล้วเสร็จเป็นโรงแรมแห่งแรกของเครือสลิล โฮเทล เราชอบที่ตรงนั้น เพราะทำเลห่างจากรถไฟฟ้าแค่ 500 เมตร แล้วภายในซอยบรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน แต่พอเดินออกมานิดเดียวก็เจอแสงสีแล้ว
ต่อยอดแบรนด์บูทีค
พอเปิดโรงแรมตรงสุขุมวิทซอย 8 ไปสักพัก ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เพราะสมัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แถวนี้ยังมีคู่แข่งน้อย ก็เลยเหลือเงินทุนมาสร้างโรงแรมใหม่ เรามาเปิดตรงทองหล่อซอย 1 กับสุขุมวิท 11 ตามลำดับ เอาตึกเก่ามาปรับปรุงอีกเหมือนกัน แต่คราวนี้ใหญ่ขึ้น เป็นโรงแรมขนาดร้อยกว่าห้อง แล้วแต่ละแห่งเราพยายามพัฒนาคอนเซ็ปต์ เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นเรื่อยๆ จากตรงซอย 8 มีเท่านี้ ตรงทองหล่อเราก็เพิ่มสระว่ายน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เข้าไป และเน้นเรื่องราวที่ต่างกันเพื่อสร้างจุดขายในแต่ละตึก พอเรามาเปิดโรงแรมแห่งที่ 4 ตรงสุขุมวิท 57 เราก็ยกระดับแบรนด์ขึ้นมาเป็น ‘เดอะ สลิล’ ให้มันลักชัวรีและพิเศษยิ่งกว่าเดิมอีก ถือเป็นต้นแบบโรงแรม 5 ดาวของเรา ซึ่งผลตอบรับก็ดีกว่าที่เราคาดไว้เช่นเดียวกัน ตอนนี้เรามีโรงแรมในเครือสลิลทั้งหมด 4 แห่ง และอีกแห่งเป็นโรงแรมชื่อ ‘วินซ์’ ตรงประตูน้ำ ซึ่งจะเป็นแนวเท่ๆ ดูโมเดิร์นกว่า เราเลือกเปิดตรงนั้นเพราะทำเลใกล้แหล่งช้อปปิ้ง เดินทางสะดวก และแถวนั้นก็มีโรงแรมดีๆ อยู่ไม่มาก
สร้างตัวตนความเป็น ‘สลิล’
ตั้งแต่เริ่มทำโรงแรมสลิลแห่งแรก เราก็ทำ brand book ของเราเลย เพราะมองแล้วว่ามันจะไม่ได้มีแค่ที่เดียว เราวางให้สลิล โฮเทลเป็นโรงแรมระดับประมาณ 4 ดาว มีความเป็นผู้หญิง การตกแต่งจะเป็นสไตล์ลักชัวรี มีกลิ่นอายความเป็นยุโรป คือโรงแรมเราคนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เพราะมีลูกค้าคนไทยไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เราได้รับความนิยมมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่น แล้วธรรมชาติของคนเอเชียนั้นชอบไปเที่ยวยุโรป อย่างที่โรงแรมเดอะสลิล เราสร้างเป็นสไตล์อังกฤษ ผสมผสานความโมเดิร์นเข้าไปด้วย ส่วนที่ทองหล่อเป็นกลิ่นอายสเปน เราจ้างศิลปินมาวาดรูปบนผนังทุกชั้น ตรงสุขุมวิท 11 เป็นปราสาทในฝรั่งเศส โรงแรมเราเน้นความเป็นไลฟ์สไตล์ เหมือนเป็น living space ไม่ว่าจะนั่งดื่มกาแฟตรงไหนก็เก๋ไปหมด ถ้าดูจากรูปที่ลูกค้าโพสต์ตามโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าแทบทุกจุดในโรงแรมนั้นถ่ายรูปสวย เลยทำให้โรงแรมสามารถขายตัวมันเองได้โดยที่เราไม่ต้องไปเสียเงินโฆษณาเลย ลูกค้าเป็นคนทำให้เกิดการบอกต่อ
เรียนรู้จากคนใกล้ชิด
สมัยแรกๆ โรงแรมเรามีพนักงาน 10 กว่าคน เราเป็นคนคุมเรื่อง operations ทั้งหมด ดูทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการตลาด ประชุมฝ่ายขาย ไปจนถึงเรื่องการจองห้องพักออนไลน์ เลยทำให้เราเข้าใจภาพรวม แล้วเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากสามี เขาเคยทำโรงแรมในเครือของเขามาหลายสิบแห่งแล้ว ขณะที่เรามาจากสายการเงิน ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโรงแรมเลย พอมาดูเขาทำงาน มันก็เปิดวิสัยทัศน์อีกด้านหนึ่งของเรา ทำให้เราได้แนวความคิดใหม่ๆ เขาคอยสอนเราเหมือนครูคนหนึ่ง ทักษะสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากเขาคือเรื่องการบริหารคน เขาเป็นคนเด็ดขาด ส่วนเราลูกน้องจะมองว่าใจดี แต่ก็มีเหมือนกันที่ต้องใช้ไม้แข็ง เราก็เอาความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นตัวเรา นอกจากนี้ ชื่อโรงแรมสามีก็เป็นคนคิด เขามองว่าอยากหาชื่อที่สั้นๆ แต่มีความหมาย ก็เลยมาลงเอยที่ชื่อ ‘สลิล’ ซึ่งมาจากชื่อจริงของเรา
เราวางให้สลิล โฮเทลเป็นโรงแรมระดับประมาณ 4 ดาว มีความเป็นผู้หญิง การตกแต่งจะเป็นสไตล์ลักชัวรี มีกลิ่นอายความเป็นยุโรป
จากผู้จัดการกองทุนสู่งานโรงแรม
พอเปลี่ยนจากสายการเงินมาทำโรงแรม เราต้องเรียนรู้ที่จะมี service mind มากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะคนสายการเงินกับสายงานบริการนั้นมีวัฒนธรรมคนละแบบ สมัยเป็นผู้จัดการกองทุน เราทำงานถึงสามทุ่ม เสาร์อาทิตย์ขนงานกลับไปทำที่บ้านเป็นเรื่องปกติ คนโรงแรมเขาทำงานกันเป็นรอบๆ เสร็จแล้วก็จบ ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าบางอย่างต้องรู้จักยืดหยุ่น แต่ทักษะจากการเป็นผู้จัดการกองทุนก็ช่วยเราไว้เยอะเหมือนกัน เพราะเรามีความเข้าใจเรื่องงบการเงินมาก่อน ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ว่าตรงไหนต้องปรับ และให้พนักงานลงรายละเอียดได้ลึกและชัดเจน พอเรานำส่งให้สถาบันการเงิน เขาก็มองว่าโรงแรมเราเป็นมาตรฐานและให้การสนับสนุนเงินทุนในจำนวนที่เราต้องการ ทำให้ทุกอย่างไม่สะดุด
มุ่งเน้นที่ผลงาน
การเป็นเจ้าของกิจการนั้น เราต้องรู้วิธีสื่อสารให้เข้าถึงทั้งองค์กร และให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ เราบริหารงานในลักษณะมุ่งเน้นที่ผลงาน ฉะนั้นเราต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนุกและมีความสุข และให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน อย่างที่บอก สมัยแรกๆ เราจะลงไปดูทุกอย่างเอง แต่ตอนนี้เรามุ่งดูภาพรวมเพราะเราวางระบบต่างๆ ไว้หมดแล้ว โดยจะเน้นฝึกหัวหน้าแผนกให้แข็งแกร่งและสามารถบริหารลูกน้องได้ดีขึ้น แล้วระหว่างนั้นเขาจะใช้วิธีการอะไรเราไม่รู้ แต่ผลลัพธ์ออกมาต้องได้ตามที่วางไว้ แต่ละส่วนงานจะรู้ว่าสิ่งไหนต้องพัฒนาหรือปรับปรุง ทำให้เราไม่ต้องลงไปจ้ำจี้จ้ำไช ถ้าเกิดทำไม่ถึงตามเป้า หัวหน้าก็ต้องไปหาวิธีทำให้มันถึง หรือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ถึงแม้การบริหารของเราจะเป็นแบบบนลงล่าง แต่ที่นี่ก็มีโครงสร้างองค์กรที่ค่อนข้างแบน และให้อำนาจพนักงานในการตัดสินใจด้วย
เฝ้าดูพนักงานเติบโต
สมัยที่มีโรงแรมแค่ 1-2 แห่ง เราใช้คนค่อนข้างจำกัดและมีโครงสร้างที่แน่นเมื่อเทียบกับโรงแรมอื่นๆ แต่พอมีโรงแรมหลายแห่งขึ้น เราสามารถหมุนเวียนพนักงานได้ การบริหารจัดการก็ง่ายขึ้น เหมือนเป็น economy of scale แล้วพนักงานส่วนใหญ่พอทำงานไปสักพัก เขาก็คาดหวังเรื่องการเติบโต การมีโรงแรมหลายแห่งทำให้เราสามารถโปรโมตเขาไปอยู่ในโรงแรมที่ใหญ่ขึ้น และมีโอกาสเติบโตในสายงานที่หลากหลายกว่าเดิม ด้วยความที่โรงแรมแต่ละที่ของเรานั้นแข่งขันกันเองอยู่แล้ว อีกอย่างคือคนทำงานโรงแรม โดยเฉพาะในย่านสุขุมวิท เขาย้ายงานกันอยู่ตลอด เราเป็นแบรนด์ไทย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากพนักงานอยากจะไปร่วมงานกับแบรนด์นอก เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราต้องเติบโต และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเหมือนโรงเรียนคอยสอนให้เขาได้มีเส้นทางอาชีพที่ดี ในทางกลับกัน เราก็ดึงคนจากโรงแรมใหญ่ๆ มาช่วยพัฒนาระบบของเราเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในระดับผู้บริหาร เรามองว่าถ้าหัวหน้างานมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังลูกน้อง และทำให้เรามีประสิทธิภาพเทียบเท่าโรงแรมเครือใหญ่ๆ ได้
มอบบริการเหนือความคาดหมาย
เวลาเดินทางท่องเที่ยว เราจะพยายามเลือกพักที่โรงแรมสร้างใหม่ เพื่อดูว่าการตกแต่งและเทคโนโลยีของแต่ละที่เป็นอย่างไรบ้าง เรามองว่าโรงแรมจะสวยอย่างเดียวไม่ได้ บริการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แล้วในงานบริการ ลูกค้าต้องมาที่หนึ่ง เราต้องทำสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าความคาดหมายของลูกค้า อย่างที่นี่เราจะมีพนักงานบริการคล้ายๆ บัตเลอร์ไว้คอยดูแลลูกค้า มีพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้ลูกค้าแต่งชุดไทยถ่ายรูปฟรี นำเค้กขึ้นไปเซอร์ไพรส์วันเกิดถึงห้อง หรือจัดห้องให้ลูกค้าขอแต่งงานหรือฉลองวันครบรอบต่างๆ เป็นเหมือนบริการที่ออกแบบมาสำหรับลูกค้าแต่ละคน โดยเราจะแต่งตั้งทีมงานเฉพาะไว้คอยดูเลยว่าลูกค้าคาดหวังอะไรบ้าง แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นไป
เรามองว่าโรงแรมจะสวยอย่างเดียวไม่ได้ บริการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แล้วในงานบริการ ลูกค้าต้องมาที่หนึ่ง เราต้องทำสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าความคาดหมายของลูกค้า
อย่าหยุดนิ่ง
โรงแรมแต่ละแห่งนั้นมีวัฏจักรของตัวเอง ตอนเปิดแรกๆ จะดี แต่สักพักก็จะซาลง พอมันกลายเป็นโรงแรมเก่าคนก็ไม่ค่อยอยากจะมาพักแล้ว เราก็ต้องคิดว่าจะรักษาตำแหน่งไว้ได้ยังไง อย่างใน Tripadvisor เราพยายามทำให้โรงแรมเราอยู่ในอันดับที่ดี หรือโรงแรมตรงสุขุมวิท 11 เราได้รีวิวค่อนข้างดี ทั้งๆ ที่เป็นโรงแรมไม่ใหญ่และอายุเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็สะท้อนมาจากคุณภาพการบริการ แล้วหัวใจสำคัญคือเราต้องไม่หยุดนิ่ง และคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้วิ่งทันหรือนำคนอื่นๆ สมัยนี้การแข่งขันสูงมาก เทคนิคการขายห้องเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับตอนนี้ก็ต่างกันลิบ เพราะความสำคัญของแต่ละช่องทางเปลี่ยนไป ทุกอย่างต้องมีแบรนด์และเรื่องราว ต้องหา wow factor ให้เจอ จากที่ตอนแรกเราไม่มีตรงจุดนั้น เราก็สั่งสมมาเรื่อยๆ ส่งผลให้ยอดขายเรายั่งยืนขึ้นด้วย ยิ่งพอมาเปิดเดอะ สลิล ที่สุขุมวิท 57 เราได้เรตติ้งดีมาก เราก็ค่อนข้างภูมิใจว่าขนาดคู่แข่งแถวนี้ยังต้องมาดูงานที่โรงแรมเรา
เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ
สมัยเด็กๆ เราเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อกับแม่เลี้ยงเราสบายๆ ไม่ได้เข้มงวดอะไร แต่ท่านจะสอนให้เราสวดมนต์และนั่งสมาธิ ทุกสัปดาห์ท่านจะพาเราไปวัด และจะคอยปลูกฝังให้เรามีสติ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พอเรามีลูก เราก็เลยฝึกให้เขาสวดมนต์บ้าง พยายามค่อยๆ สอนแนวความคิด ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ได้มุ่งแต่หลักธรรมล้วนๆ แต่นอกจากนั้นแล้ว ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราเรียนสมัยเด็กๆ นั้นต่างจากที่ลูกเราเรียนมาก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถึงเวลาทำงานจริง เขาจะได้เอาความรู้ตรงนั้นมาใช้หรือเปล่า เว้นแต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างกันยาก เราก็เลยไม่เข้มงวดเท่าไร ปล่อยให้เขาเล่นของเขาไป เพราะหลายอย่างที่เขาเล่นก็สร้างสรรค์กว่าสิ่งที่เราดูบนโทรทัศน์ตอนเด็กๆ ด้วยซ้ำ เราจะเอากรอบของเราไปใส่ให้เขาไม่ได้ เพราะทักษะบางอย่างที่เขามี เรายังไม่มีเลย
ฝึกลูกให้คิดเป็นทำเป็น
เพื่อนๆ มักจะบอกว่าเราเป็นแม่ที่ใจดีมาก ไม่ดุลูก คือเราพยายามควบคุมตัวเองไม่ให้พูดจาไม่ดีกับเขาหรือทำให้เขาเสียใจ เราไม่เคยตีลูกตั้งแต่เขาเกิดมา เราพยายามให้อิสระและเข้าใจธรรมชาติของลูกทั้งสองคน ไม่ใช่ว่าเราตามใจลูก แต่เราพยายามสอนให้เขามีความคิด และฝึกให้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน แล้วเราจะบอกเขาเสมอว่าอย่าหวังแต่จะพึ่งพ่อกับแม่ ถึงเราจะสร้างอะไรไว้ให้ แต่ไม่ใช่ว่าจบจากตรงนี้แล้วจะไปที่เขาเลย เพราะถ้าเขาไม่เก่งและไม่ตั้งใจเรียน เราก็จะให้มืออาชีพดูแลต่อไป เราจะบอกเขาว่า “หนูต้องเก่งกว่าผู้บริหารที่แม่จ้างมา หนูถึงจะได้บริหาร” และสอนเขาว่าเราเองก็เริ่มต้นจากศูนย์ เขาจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในอนาคตทำโรงแรมอาจจะไม่เวิร์คแล้ว ฉะนั้นก่อนที่จะก้าวเข้ามารับช่วงต่อที่นี่ เขาต้องฝึกสร้างอะไรด้วยตัวเองก่อน
ปรับตัวท่ามกลางวิกฤต
วิกฤตเรื่องไวรัสนั้นส่งผลกับโรงแรมทั่วโลก เราก็ต้องพยายามปฏิวัติองค์กร ลดขนาดและค่าใช้จ่ายลง เจรจากับพาร์ทเนอร์เพื่อขอความช่วยเหลือ และต้องไม่ลืมเรื่องการดูแลพนักงานด้วย เพราะรายได้เขาลดลง แต่ทั้งนี้ เราไม่สามารถทำตามความต้องการของทุกคนได้ ดังนั้นในยามวิกฤต เราจะเห็นเลยว่าใครทุ่มเทให้องค์กรหรือใครเห็นแก่ตัว ที่สำคัญคือเราต้องปรับตัวให้เร็วและพยายามยืดเวลาให้ได้นานที่สุด ข้อดีคือโรงแรมเราไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่าเชน 5 ดาวซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เลยมีความยืดหยุ่นกว่า พอสถานการณ์ดีขึ้น เราต้องพยายามระดมทุกอย่างกลับมาให้เร็วกว่าคู่แข่ง เพื่อเรียกส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา ในปลายปีหน้า เรามีแผนจะเปิด The Salil Riverside ซึ่งเป็นโรงแรมติดแม่น้ำเจ้าพระยา ผลกระทบจากสถานการณ์ตรงนี้ก็อาจจะมีบ้าง แต่เราพยายามจัดสรรเงินทุนของแต่ละโปรเจกต์ออกจากกันชัดเจน และรักษาวินัยทางการเงินในระยะยาว แล้วเราก็มีพาร์ทเนอร์ที่ดีคือเกียรตินาคิน ■
รู้จักกับ สลิลลา อติการบดี
สลิลลา อติการบดี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จาก Saint Louis University ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลุ่ม Salil Hotel