HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Coming up Roses

รู้จัก SARRAN นักออกแบบชาวไทยผู้ซึ่งหยิบยกความเจ็บปวดในอดีต และการต่อสู้ของผู้เป็นแม่ มาบอกเล่าผ่านเครื่องประดับดอกไม้วิจิตรซึ่งนำไปสู่การร่วมงานกับแฟชั่นไอคอนระดับตำนาน

เมื่อศรัณญ อยู่คงดี หรือ 'เอก' นักออกแบบจิวเวลรี่ชาวไทยได้มีโอกาสแจ้งเกิดบนเวทีโลก เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังจะโด่งดัง แม้กระทั่งแฟชั่นดีไซน์เนอร์หญิงผู้ค้นพบผลงานของเขาเองก็คงคาดไม่ถึง

ศรัณญเป็นแฟนตัวยงของไดแอน วอน เฟอร์สเทนเบิร์ก นักออกแบบแฟชั่นชาวเบลเยียมผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า DVF ซึ่งมาจากตัวย่อของชื่อเธอเอง ปัจจุบัน ผลงานของไดแอนในวัย 73 ปี มีจำหน่ายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และปรากฏอยู่บนเรือนร่างของคนดังนับไม่ถ้วน อาทิ มิเชลล์ โอบาม่า ดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ และมาดอนนา ในปี2014 เธอมีรายชื่ออยู่ในลำดับที่ 68 จากการจัดอันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกโดยนิตยสารฟอร์บส์ ก่อนที่ในปีถัดมา นิตยสารไทม์จะยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี

ศรัณญก่อตั้งแบรนด์ SARRAN by Sarran Youkongdee ขึ้นในปี 2008 เดิมทีแบรนด์ของเขานั้นรับออกแบบเฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งภายใน ก่อนที่ในปี 2013 เขาจะหันมาจับงานออกแบบจิวเวลรี่เต็มตัว เขายังจำได้ดีถึงตอนที่ได้รับชมสารคดีแฟชั่นเกี่ยวกับไดแอนในสมัยแรกๆ ที่เขาก่อตั้งแบรนด์ขึ้น มีอยู่ฉากหนึ่งที่กล้องแพนไปรอบๆ ห้องทำงานของเธอในนิวยอร์ก จังหวะนั้นเองเขาสะดุดตากับกล่องใส่เครื่องประดับกล่องหนึ่งบนโต๊ะทำงานของเธอ “เราไม่รู้เลยว่านั่นเป็นกล่องจิวเวลรี่ของเรา จนกระทั่งได้เจอกับไดแอน” เขาเล่า

ในทีแรก ไดแอนไม่รู้ที่มาของกล่องจิวเวลรี่ดังกล่าว เธอได้รับต่างหูรูปดอกไม้ฝีมือการออกแบบของศรัณญ เป็นของขวัญจากเพื่อนร่วมงาน บนกล่องไม่ปรากฏชื่อแบรนด์หรือดีไซเนอร์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับแบรนด์จิวเวลรี่ส่วนใหญ่ ไดแอนเฝ้าถามไถ่คนในแวดวงจิวเวลรี่อยู่เกือบ 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเรื่องที่มา จนกระทั่งวันหนึ่ง คู่ค้าจิลเวลรี่ชาวไทยของเธอมาเห็นเข้าและเปรยขึ้นว่าต่างหูคู่นี้ต้องมาจากประเทศไทยแน่นอน หลังการสืบถามผ่านทางคนรู้จักอยู่หลายครั้ง ในที่สุดไดแอนก็ได้รู้จักกับศรัณญ และสัปดาห์ถัดมาศรัณญก็อยู่บนเครื่องบินเพื่อเดินทางไปพบแฟชั่นไอคอนระดับโลกที่นิวยอร์ก นับเป็นการเปิดฉากการทำงานร่วมกันของทั้งคู่ ซึ่งส่งผลให้ศรัณญมีชื่อเสียงไปในระดับโลก

“การทำงานกับดีวีเอฟ มีกรอบอย่างเดียวคือทำอะไรก็ได้ที่เป็นตัวเรา ไดแอนอยากให้ผมใช้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องเล่าและอัตลักษณ์ของตัวผมเองในคอลเลกชัน เขาอยากได้อะไรที่แปลกใหม่จากที่เคยทำ เราจะไม่พยายามเป็นดีวีเอฟ เราอยากให้ดีวีเอฟ ซึมซับตัวตนของเราเข้าไป เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน” ศรัณญอธิบาย ปัจจุบัน ผลงานการออกแบบที่เขาทำร่วมกับแบรนด์ดีวีเอฟนั้น เปิดตัวมาแล้ว 3 คอลเลกชัน และมีวางขายเฉพาะที่แฟลกชิปสโตร์ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของดีวีเอฟ ในกรุงนิวยอร์ก

ศรัณญจบการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะคนทำภาพยนตร์ ก่อนจะหันมาจับงานออกแบบภายใน ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์จากการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ จนในที่สุด ศรัณญได้ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์จิวเวลรี่ของตัวเองและกลายเป็นที่รู้จักไม่นานหลังจากนั้น ด้วยแนวทางการออกแบบที่แหวกขนบทั้งในเชิงวัสดุที่เลือกใช้และวิธีการบอกเล่าเรื่องราว ซึ่งอาจเป็นเพราะปูมหลังของเขาในฐานะคนทำภาพยนตร์ ตลอดเส้นทางนักออกแบบ ศรัณญได้คว้ารางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Vogue’s Who’s on Next ในปี 2016 รางวัล Good Design Awards ปี 2013 จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัล Design Excellence Award ในปี 2009-2011 และปี2013 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นที่รู้กันว่างานออกแบบของเขานั้นแฝงไปด้วยนัยที่ลึกซึ้งและเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องประโยชน์ใช้สอย อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นนักแม้ในแวดวงแฟชั่นชั้นสูง ศรัณญยังเล่นกับวัสดุหลากชนิด นับตั้งแต่โลหะ หิน ไปจนถึงผ้าและกระดาษ และกระทั่งนำเครื่องประดับไปอบร่ำแบบโบราณเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมอีกด้วย

งานออกแบบของเขานั้นแฝงไปด้วยนัยที่ลึกซึ้งและเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องประโยชน์ใช้สอย อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นนักแม้ในแวดวงแฟชั่นชั้นสูง

แต่สิ่งที่สร้างความโดดเด่นชัดเจนให้กับงานออกแบบของศรัณญ อาจเป็นจุดประสงค์ในการทำงานออกแบบของเขาเอง ดีไซน์เนอร์หนุ่มรายนี้นำความยากลำบากและอารมณ์ความรู้สึกในวัยเด็กมาถ่ายทอดลงบนชิ้นงาน ไม่ต่างไปจากศิลปิน ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยหล่อหลอมให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก “เราเห็นคุณแม่ต้องฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และการส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น สุดท้ายคุณแม่ไม่สามารถประคับประคองอะไรไว้ได้ นอกจากเรื่องเลี้ยงลูก โจทย์ข้อเดียวของผมในการสร้างสรรค์จิวเวลรี่ คืออยากให้ผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกดีขึ้นหลังจากผ่านความเหนื่อยยากมาทั้งชีวิต” เขากล่าว

เรื่องราวทั้งหมดนี้ออกจะดูเป็นหัวข้อที่หนักหน่วงไปสักหน่อยสำหรับแวดวงจิวเวลรี่ แต่นี่เองทำให้ผลงานของศรัณญมีคุณค่าในฐานะงานศิลป์ และนักสะสมหลายคนต่างก็ชื่นชอบผลงานของเขา ด้วยเหตุผลนี้ ทุกคอลเลกชันของศรัณญนั้นแฝงด้วยเรื่องราวสะท้อนสังคม โดยเน้นหนักไปที่เรื่องการเมืองกับเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัว “เรามองเห็นผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ผมอยากสร้างเครื่องประดับสักชิ้นที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเขาเป็น หรือที่เขาพยายามแสดงออก เราอยากเป็นผู้ชายที่เป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง ทุกวันนี้เราเห็นความสุขในแววตาของแม่ และอยากให้ผู้หญิงทุกคนรู้สึกอย่างเดียวกัน” ศรัณญอธิบาย

ในคอลเลกชัน Rattanakosin Shadow ปี 2016 นั้น ศรัณญเลือกใช้รูปทรงอ่อนช้อยของดอกไม้และลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมวัดวาอาราม มาเป็นหัวใจหลักในงานออกแบบ คอลเลกชันดังกล่าวสะท้อนเรื่องราวของอุบาสิกาผู้เดินทางไปวัดแต่เช้าตรู่ แต่กลับถูกห้ามไม่ให้เข้าไปสักการะในบางพื้นที่เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ขณะที่ยืนอยู่ด้านนอกเขตหวงห้ามสำหรับสตรี เงาของอุโบสถก็ทอดผ่านลงบนเรือนร่างของเธอ เส้นสายเหล่านี้ปรากฏให้เห็นบนเครื่องประดับแต่ละชิ้นในคอลเลกชัน เช่น ต่างหูยาวหนึ่งฟุตจากดอกรักกระดาษที่ร้อยเรียงต่อกันด้วยโซ่ทองเส้นบาง

แม้ประเด็นเรื่องเพศสภาพจะไม่ใช่สิ่งใหม่เสียทีเดียวในหมู่นักออกแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วการแสดงออกในประเด็นนี้มักทำผ่านการเชิดชูดีไซน์เนอร์เพศหญิงมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านคอลเลกชัน Rattanakosin Shadow สะท้อนนัยลึกซึ้งกว่านั้นศรัณญนำเอารูปทรงต่างๆ มาสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ผู้สวมใส่ตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ สังคม ซึ่งผู้หญิงมักถูกกีดกันจากการทำในสิ่งที่สงวนไว้สำหรับเพศชาย และการจะเข้าถึงผลงานแต่ละชิ้นได้ ต้องอาศัยความเข้าใจในเชิงลึก

ส่วนประกอบทุกชิ้นบนเครื่องประดับของแบรนด์ ศรัณญ บาย ศรัณญ อยู่คงดี (ไม่ว่าจะวัสดุผ้า โลหะ หรืออัญมณีประเภทต่างๆ) นั้นถูกผลิตขึ้นโดยทีมช่างฝีมือเล็กๆ ภายในร้านของศรัณญเอง และไม่มีชิ้นใดถูกผลิตในโรงงานเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องหาได้ยากสำหรับแบรนด์จิวเวลรี่ในสเกลใกล้เคียงกัน แบรนด์แฟชั่นจำนวนมากอ้างว่าสินค้าของตนนั้นเป็นงานผลิตด้วยมือ ทั้งที่ความจริงแล้วน่าจะเป็นงาน ‘ประกอบด้วยมือ’ มากกว่า แบรนด์เครื่องประดับหรูอย่าง Chanel, Versace และ Bulgari มักใช้ช่างฝีมือประกอบชิ้นงานจากชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตขึ้นในโรงงาน เว้นแต่เพียงคอลเลกชันพิเศษที่ผลิตขึ้นในบางโอกาสและสนนราคาอย่างต่ำหกหรือเจ็ดหลักเท่านั้น “ผมเคยคิดอยากจะใช้เครื่องจักรหรือจ้างคนนอกทำเหมือนกัน แต่ผมทำใจไม่ได้ เพราะถ้าต้องให้คนอื่นทำแล้วเราจะเล่าเรื่องราวของเราได้ยังไง” ศรัณญกล่าว

ตลาดจิวเวลรี่ของไทยมีเงินหมุนเวียนอยู่ราวหนึ่งล้านล้านบาท และเราเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ส่วนใหญ่นั้นเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นี่เองคืออีกเหตุผลที่ทำให้ศรัณญได้รับการยอมรับจากแบรนด์ดีวีเอฟ ในปี2018 เขายังเป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล LOOT Acquisition Prize ประจำปีครั้งที่ 3 อันเป็นรางวัลระดับโลกที่ได้รับการสนับสนุนจากทางพิพิธภัณฑ์ Museum of Arts and Design (MAD) แห่งกรุงนิวยอร์กและ Tiffany & Co. Foundation เพื่อมอบให้แก่ “ศิลปินหรือนักออกแบบเจ้าของผลงานซึ่งมีแนวคิดและทักษะการสร้างสรรค์อันลุ่มลึก แสดงถึงชั้นเชิงและวิธีการแปลกใหม่ในการเล่นกับรูปทรงและวัสดุ และเผยให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและฝีไม้ลายมือ” โดยผลงานของศรัณญและศิลปินชาวฝรั่งเศสอีกรายที่ชนะรางวัลนั้นถูกนำไปจัดแสดงถาวรในพิพิธภัณฑ์ MAD ซึ่งศรัณญนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้มีผลงานจัดแสดงถาวรในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว “เรายินดีมากตอนรู้ว่าได้รับเลือก เรารู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้จิวเวลรี่ไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก” เขากล่าว

ในปี 2017 ศรัณญได้รังสรรค์คอลเลกชัน Siam Rattikarn ขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงประเพณีของหญิงไทยโบราณที่นิยมนำดอกไม้มาประดับผม ใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้เป็นน้ำปรุง และร่ำผ้าด้วยเทียนอบกับบุหงาเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมรัญจวน คอลเลกชันดังกล่าวยังแฝงไว้ด้วยความรู้สึกอาลัยโศกเศร้าของเหล่าพสกนิกรไทยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รายละเอียดบนเครื่องประดับแต่ละชิ้นเผยให้เห็นถึงฝีมืออันประณีตของช่าง ผู้ซึ่งนำผ้ามาจับคู่กับวัสดุแข็งแกร่งอย่างโลหะ ความต่างสุดขั้วนี้เองทำให้จิวเวลรี่ของศรัณญดูพลิ้วไหวไปกับร่างกายยามถูกสวมใส่ อีกทั้งมีความแข็งแรงพอสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจถึงแนวคิดงานออกแบบของศรัณญ ยังไม่ยากเท่าการเข้าใจวิธีการผลิตงานของดีไซน์เนอร์หนุ่มรายนี้เพราะเป็นที่รู้กันว่า ในการออกแบบแต่ละครั้ง ศรัณญจะเก็บตัวอยู่ในห้องทำงานส่วนตัว เพื่อรื้อความทรงจำในอดีตมากลั่นเป็นแนวคิดสำหรับการออกแบบ ในช่วงเวลานั้น นอกจากตัวศรัณญแล้ว ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้ แม้กระทั่งช่างฝีมือที่ทำงานใกล้ชิดกับเขาก็ตาม

หากต้องการส่องเข้าไปในความคิดของเขา ขอให้สังเกตที่ดอกไม้ ซึ่งมักปรากฏเป็นองค์ประกอบหลักบนผลงาน ดอกไม้เหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความทรงจำในวัยเยาว์ ยามที่เขาเฝ้าดูผู้เป็นแม่บรรจงเลือกกลีบดอกรักขนาดเล็กไปหาใหญ่ เพื่อร้อยพวงมาลัยให้ได้รูปทรงที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ เครื่องประดับชิ้นแรกที่ศรัณญลงมือออกแบบ จึงเป็นต่างหูรูปดอกรักดีไซน์เรียบง่าย “เราอยากลองทำอะไรที่มาจากไอเดียของคุณแม่ จะได้แสดงให้คุณแม่เห็นว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นสนุก” ศรัณญกล่าว ทุกวันนี้เขายังติดเข็มกลัดรูปดอกรักบนอกด้านซ้ายอยู่เสมอ

สำหรับนักสะสมกลุ่มเล็กๆ ผู้ชื่นชอบผลงานของศรัณญ วิธีการเล่าเรื่องอันแยบคายนี้เองที่ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หนึ่งในแฟนตัวยงของเขาคือ ริก้า ดีล่า ที่ปรึกษาอาวุโสชาวไทยที่ทำงานให้กับบริษัทฟิลลิปส์ แพลตฟอร์มซื้อขายผลงานศิลปะทั่วโลก “งานของเขามีทั้งความเป็นไทยและสากล” ริกากล่าว เธอเล่าว่ามักจะถูกซักถามเสมอ ยามสวมใส่เครื่องประดับของศรัณญไปต่างประเทศ “เขาทำให้ของที่เป็นไทยดูหรูหราแบบอินเตอร์ได้ ซึ่งเราว่าทำได้ยาก เขาหยิบสิ่งของสามัญที่สุดอย่างดอกมะลิ หรือดอกรัก มาทำให้เกิดคุณค่าขึ้นกว่าเดิม เราไม่ได้ซื้อแค่เครื่องประดับ สิ่งที่เราได้มาด้วยคือจิตวิญญาณเสี้ยวหนึ่งของศรัณญ เวลาได้ฟังเขาเล่าเรื่องราว เราจะหลงเสน่ห์ไปกับของชิ้นนั้นๆ ด้วย”

การขายจิวเวลรี่ภายใต้แบรนด์ไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะเป็นนักออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่างศรัณญก็ตาม ตลาดจิวเวลรี่ของไทยมีเงินหมุนเวียนอยู่ราวหนึ่งล้านล้านบาท และเราเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ส่วนใหญ่นั้นเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การเจียระไนตัดแต่งอัญมณี หรือการประกอบชิ้นงานที่ได้ส่วนประกอบมาจากโรงงานอีกทอด พูดอีกอย่างคือบ้านเรามีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิต แต่ไม่ใช่ในฐานะแหล่งออกแบบสร้างสรรค์ “ธุรกิจเครื่องประดับในไทยนั้นอยู่ยาก ผมมีแผนธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่ผมก็ยังไม่กล้ามองว่ามันเป็นงานหลัก ผมทำเพราะความรักและความหลงใหลในเครื่องประดับเท่านั้น ผมจะไม่เปลี่ยนมันให้เป็นธุรกิจมูลค่า 10 หรือ 20 ล้านบาท ผมว่ามันไม่ใช่ความจำเป็นสำหรับเราในปัจจุบัน” ศรัณญกล่าว

เขายังเสริมอีกด้วยว่า ความท้าทายอีกประการคือการสร้างชื่อเสียงภายในประเทศ ปัจจุบันมีนักออกแบบจิวเวลรี่ชาวไทยอยู่เพียงไม่กี่รายที่เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมองว่าเครื่องประดับนั้นต้องทำจากเพชรหรือทอง และต้องเป็นของที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา “ตอนแรกคุณแม่ไม่ยอมใส่จิวเวลรี่ของผมเลย เพราะคิดว่าของพวกนี้ต้องทำจากเพชรหรือทอง ผมต้องแสดงให้คุณแม่เห็นว่าสิ่งที่ผมทำเป็นการแสดงออกถึงคุณค่าในตัวท่านเอง” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี ศรัณญยอมรับว่าสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีนักออกแบบหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น บุคคลเหล่านี้มีส่วนช่วยตีความและยกระดับจิวเวลรี่ไทยผ่านวิธีการและสไตล์เฉพาะตัว หนึ่งในนั้นคือ จรรยาพร ทองไทย หรือ ‘โอ๋’ ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูมาเป็นนักออกแบบจิวเวลรี่โดยบังเอิญ และได้มีโอกาสสร้างสรรค์แหวนและสร้อยทองแฮนด์เมดให้ศิลปินดังระดับโลกอย่างฟาเรลล์ วิลเลียมส์, เอแซพ ร็อคกี้ และลอร์ด แม้สไตล์การออกแบบของเธอจะมีความเป็นสากลสูง และปราศจากลวดลายไทย แต่เธอกล่าวว่าการเป็นคนไทยนั้นถือเป็นข้อได้เปรียบ “ประเทศไทยคือที่ๆ ดีที่สุดแล้วสำหรับคนทำจิวเวลรี่ บ้านเราเป็นแหล่งอัญมณีชั้นยอด และมีช่างฝีมือที่เก่งที่สุด เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เราสามารถทดลองอะไรหลายๆ อย่าง และหาวัสดุที่คนอื่นหาไม่ได้ หรือมีโอกาสได้เลือกก่อน” จรรยาพรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์จิวเวลรี่ไทยอย่าง La Orr ซึ่งได้รับรางวัล Thailand Design Excellence Award และ Good Design จากประเทศญี่ปุ่น และเน้นชูจุดเด่นของลวดลายดอกไม้ไทยเช่นเดียวกับศรัณญ แตกต่างกันตรงที่ผลงานของเธอนั้นแฝงด้วยกลิ่นอายโบฮีเมียน ซึ่งน่าจะถูกจริตเหล่าฮิปสเตอร์สายแฟชั่นตามเทศกาลดนตรีอย่าง Coachella หรือ Wonderfruit ดีไซน์เนอร์เลือดใหม่เหล่านี้เลือกจะนำขนบธรรมเนียมมาตีความใหม่ หรือกระทั่งก้าวพ้นกรอบเดิมๆ ไปทำในสิ่งที่ต่างออกไปสิ้นเชิง “ทิศทางของคนไทยเปลี่ยนไปเยอะ มีกลุ่มคนเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย พวกเขาเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นกบฎในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้มีความหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งผมว่าน่าสนุกมาก” ศรัณญทิ้งท้าย

ในแวดวงจิวเวลรี่ ดูเหมือนจะไม่มีดีไซน์เนอร์คนใดหยิบยกความเจ็บปวดในอดีตมาร้อยเรียงและบอกเล่าผ่านงานออกแบบดังเช่นศรัณญ ยามได้สนทนากับเขาจะพบว่าการเป็นนักออกแบบนั้นไม่ใช่งานสนุกเสมอไป หลายครั้งการสร้างสรรค์ชิ้นงานอันวิจิตรประณีตนั้นทำให้เขาต้องหวนนึกถึงบาดแผลวัยเยาว์และประสบการณ์อันไม่น่าอภิรมย์นัก แต่สิ่งเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนความสร้างสรรค์ จนส่งผลให้เขาได้ร่วมงานกับดีไซน์เนอร์ชื่อก้องโลก

คงไม่ต่างไปจากงานศิลป์ชั้นเอกหลายต่อหลายชิ้น ที่ความงดงามวิจิตรเป็นเพียงเปลือกเคลือบความขมที่ไม่มีใครอาจล่วงรู้ นอกจากตัวศิลปินเอง

Essentials


OThongthai

othongthai.com

SARRAN by Sarran Youkongdee

14/3 ถนนพระรามที่ 1 กรุงเทพฯ

fb.com/sarran1982