HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Into the Woods

สัมผัสวิถีชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และเข้าร่วมเวิร์กช็อปงานไม้กับศิลปินท้องถิ่นชาวฟินแลนด์ เพื่อเรียนรู้ทักษะงานฝีมือซึ่งเป็นหัวใจในการเอาตัวรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมสุดขั้วของแคว้นแลปแลนด์

สิ่งแรกที่อีเรเน กานงาสเนียมี ลงมือทำยามตื่นขึ้นในตอนเช้า คือการติดเตาฟืน ซึ่งกินระยะเวลาอยู่พอสมควร แต่เมื่อไฟในเตาเริ่มคุโชนแล้ว บ้านของเธอซึ่งสร้างจากไม้ซุงจะอบอุ่นและกรุ่นด้วยกลิ่นฟืนไม้เบิร์ช ระคนกับกลิ่นหอมละเมียดของขนมปังแฟลตเบรดข้าวบาร์ลีย์อบสดใหม่

เกือบทุกวัน อีเรเนจะคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ณ บ้านกลางป่าของเธอนอกเมืองโรวาเนียมี เมืองหลวงของแคว้นแลปแลนด์ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) วงกลมละติจูดที่ตั้งอยู่เหนือสุดของโลก นักท่องเที่ยวจากทั่วทั้งยุโรป และกระทั่งภูมิภาคเอเชียนั้นเดินทางมายังบ้านของอีเรเนในแลปแลนด์ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของผู้คนในแถบสแกนดิเนเวียตอนเหนือ

เหล่าผู้มาเยือนนั้นห่อหุ้มตัวด้วยผ้าห่มขนสัตว์หนานุ่มและหนังกวางเรนเดียร์ พลางจิบชาจากสมุนไพรป่าเพื่อคลายความหนาว ขณะที่ฟังอีเรเนบอกเล่าถึงการใช้ชีวิตในดินแดนห่างไกล เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดของเธอนั้นอยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร “คำถามแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักถามคือ รู้สึกกลัวบ้างไหมที่ออกมาอยู่ไกลขนาดนี้ แต่เราไม่กลัว ถ้าคุณอยากใช้ชีวิตในแลปแลนด์ ก็ต้องทำตัวให้ชินกับความเงียบสงัด” เธอกล่าว

ผู้คนส่วนใหญ่ในแลปแลนด์ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ภูมิภาคซึ่งกินพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของประเทศนี้ มีประชากรอาศัยอยู่เพียงราว 4% และช่วงเวลากลางวันนั้นสั้นมากในฤดูหนาว แต่ก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับนักท่องเที่ยวในการชมความงามของแสงเหนือหรือแสงออโรรา ในยามที่ท้องฟ้าทาบทอไปด้วยลำแสงสีเขียว ฟ้า ชมพู และเหลือง ขณะที่ในช่วงฤดูร้อนราวเดือนมิถุนายนนั้น พระอาทิตย์จะไม่ตกเลยเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน อันเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวเมืองเรียกกันว่า ‘พระอาทิตย์เที่ยงคืน’

อีเรเนและสามีของเธอเติบโตขึ้นในแคว้นแลปแลนด์ และย้ายไปอยู่ที่เฮลซิงกิเมืองหลวงของฟินแลนด์ตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มสาว ก่อนที่อีก 6 ปีถัดมา อีเรเนจะตัดสินใจทิ้งอาชีพครูสอนศิลปะและเดินทางกลับมายังแลปแลนด์ ทั้งคู่เริ่มสร้างบ้านกลางป่าเมื่อปี 2001 และอาศัยอยู่ที่นั่นเรื่อยมา “เราอยากอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด ที่เฮลซิงกิมีสวนสาธารณะหลายแห่งก็จริง แต่มันแทนกันไม่ได้” เธอเล่า

ทุกๆ เช้า อีเรเนจะเข้าครัวเพื่อปรุงเมนูท้องถิ่นของแลปแลนด์เสิร์ฟให้กับแขกของเธอด้วยตนเอง โดยไล่เรียงตั้งแต่สลัดเนื้อกวางเรนเดียร์ใส่ ‘ยูชโตเลปะ (Juustoleipä)’ หรือขนมปังชีส ซึ่งเมื่อย่างกับไฟอ่อนแล้วจะให้รสชาติหวานละมุน มะเขือเทศจากสวนที่หั่นเป็นรูปทรงสวยงาม ขนมเพสตรี้ทั้งคาวหวาน ซุปแซลมอนใส่มันฝรั่งและผักชีลาว ไปจนถึงน้ำบลูเบอร์รี่คั้นเอง ราว 70% ของอาหารที่เธอปรุงไว้รับประทานและเสิร์ฟให้กับแขกนั้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัว โดยอีเรเนรับหน้าที่เก็บลูกเบอร์รี่และเห็ดป่า ขณะที่สามีของเธอเป็นคนจับปลาและล่าสัตว์

ภูมิภาคซึ่งกินพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของประเทศนี้ มีประชากรอาศัยอยู่เพียงราว 4% และช่วงเวลากลางวันนั้นสั้นมากในฤดูหนาว แต่ก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับนักท่องเที่ยวในการชมความงามของแสงเหนือ

“ป่าคือซูเปอร์มาร์เก็ตของเรา มันเป็นทั้งโบสถ์ ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน ไม่ว่าจะยามสุขหรือทุกข์เราก็ชอบเข้าป่า ป่าถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตชาวฟินแลนด์ทุกคน ไม่ใช่แค่ชาวแลปแลนด์เท่านั้น เราอยู่โดยไม่มีป่าไม่ได้” อีเรเนกล่าว

พื้นที่กว่า 75% ของฟินแลนด์นั้นประกอบด้วยผืนป่า และตามหลักสิทธิแห่งการเข้าถึงธรรมชาติ (the right to roam) ทุกคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่กลางแจ้ง และสามารถเข้าไปเดินเล่น จับปลา หาของป่า หรือตั้งแคมป์พักแรมที่ใดก็ได้ตามต้องการ แม้กระทั่งบนพื้นที่ส่วนบุคคล

ด้วยเหตุนี้ ชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่จึงเติบโตมากับธรรมชาติ กิจกรรมยามว่างอย่างการเล่นสกี ว่ายน้ำ และการตกปลาในน้ำแข็ง เป็นสิ่งที่ผู้คนที่นี่ล้วนโปรดปราน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักนำฟืนมากองไว้ใกล้กับหลุมก่อกองไฟเพื่อให้ประชาชนใช้ฟรี และไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบเปลญวนผูกอยู่ตามต้นไม้ยามเข้าไปเดินเล่นในป่า “เดี๋ยวนี้ชาวฟินแลนด์มีวิถีชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้นก็จริง แต่การใช้เวลากับธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนมีกระท่อมไว้ตากอากาศในช่วงฤดูร้อน” มาร์ยา ยาลคาเนน ไกด์นำเที่ยวในโรวาเนียมี อธิบาย

ขณะที่ชาวเมืองเฮลซิงกิได้แต่ปลีกตัวมาพักผ่อนท่ามกลางความเงียบสงบของผืนป่าในช่วงวันหยุด ชีวิตประจำวันของชาวแลปแลนด์นั้นโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอยู่ตลอด เด็กๆ ในแลปแลนด์นั้นเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดและลูกเบอร์รี่กับครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก และการหัดก่อกองไฟนั้นเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นพิธีกรรมสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาประชากรทางตอนเหนือของฟินแลนด์ต้องเรียนรู้วิธีพึ่งพาธรรมชาติเพื่อการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว ฟินแลนด์เคยถูกยึดครองโดยสวีเดนและรัสเซีย และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องทำสงครามเพื่อปกป้องอิสรภาพจากทั้งโซเวียตและนาซีเยอรมนี ผลพวงจากสงครามทำให้พื้นที่ในแลปแลนด์ถูกเผาทำลายจนแทบสิ้นซาก “ความกล้าหาญและไหวพริบนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการเอาตัวรอด การจะสร้างบ้านหรือกักตุนอาหารในที่ที่มีอุณหภูมิติดลบ 35 องศาเซลเซียส คุณต้องรู้ว่าอะไรทำได้บ้าง และต้องใช้วิธีการใดจึงจะสำเร็จ” มาร์ยากล่าวเสริม

ความมุมานะดังกล่าวมีคำเรียกเฉพาะในภาษาฟินนิชว่า ‘sisu (ซิซู)’ ซึ่งไม่มีคำแปลตรงตัวในภาษาอื่น แต่หัวใจหลักๆ นั้นหมายถึงการใช้ความเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ และการต่อสู้แบบยิบตา เพื่อเอาชนะความทุกข์ยาก ซิซูนี้เองคือแนวคิดที่ชาวฟินแลนด์ใช้เอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมอันยากลำบาก “ซิซูเป็นคำที่แสดงถึงตัวตนของชนชาติเรา ถ้าต้องทำอะไรสักอย่าง เราจะทำมันจนสำเร็จ” มาร์ยาอธิบาย

ชีวิตประจำวันของชาวแลปแลนด์นั้นโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอยู่ตลอด เด็กๆ ในแลปแลนด์นั้นเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดและลูกเบอร์รี่กับครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก

มาร์ยา ผู้ซึ่งพาเราชม ‘อาร์กติคุม’ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ในโรวาเนียมียังบอกด้วยว่าสวัสดิการรัฐของฟินแลนด์นั้นเป็นที่กล่าวขวัญในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัย หลักประกันสุขภาพ และอาหารกลางวันในโรงเรียนสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากการปฏิรูปหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสวัสดิการรัฐเหล่านี้เองเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่แปลกที่ฟินแลนด์จะครองตำแหน่งประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกถึง 2 ปีซ้อนในปี 2018 และ 2019 ตามรายงานความสุขโลกขององค์การสหประชาชาติ

ฟินแลนด์ยังขึ้นชื่อในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นประเทศที่สองของโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้งและลงสมัครชิงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อไม่นานมานี้ ซานนา มาริน ในวัย34 ปี เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศฟินแลนด์ ทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก รัฐบาลผสมของเธอยังก่อตั้งขึ้นจากพรรคการเมือง 5 พรรคซึ่ง 4 ใน 5 นั้นมีหัวหน้าเป็นผู้หญิงอีกด้วย“เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาตั้งแต่ครั้งอดีต ผู้หญิงเลยต้องทำงานหนัก เวลาสามีจากบ้านไปทำงานหรือไปรบ ผู้หญิงต้องรับหน้าที่จัดการธุระต่างๆ ในบ้าน” มาร์ยากล่าว

ขณะที่ตัวอีเรเนเองนั้นเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของแคว้นแลปแลนด์ หลังเสร็จสิ้นมื้อกลางวัน เธอและอารี สามีของเธอ มักพาแขกผู้มาเยือนไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปงานฝีมือเล็กๆ ที่ทั้งคู่จัดขึ้น เพื่อสอนเกี่ยวกับการทำเครื่องประดับและงานไม้

อารีมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ เขาฝึกฝนทักษะด้วยตนเองจนเกิดความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ชามและเครื่องใช้ต่างๆ จากไม้และเขากวางเรนเดียร์ บรรดาผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขานั้นรวมถึงมีดพื้นเมือง อุปกรณ์คู่กายของชาวแลปแลนด์ที่ใช้ในการก่อกองไฟและแล่ปลา ซึ่งเด็กๆ มักได้รับเป็นของขวัญในวันจบการศึกษา และ ‘คุกซา (kuksa)’ ถ้วยไม้ขนาดเล็กที่ชาวฟินแลนด์ถือเป็นของใช้ส่วนตัวและมักพกติดตัวยามไปเดินป่า คุกซานั้นทำจากไม้ที่เชื่อกันว่าสะอาด ชาวท้องถิ่นนิยมมอบถ้วยไม้นี้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ เช่น เมื่อมีเด็กแรกเกิด

นอกจากประโยชน์ใช้สอยของเครื่องใช้ต่างๆ แล้ว ชาวฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องรูปลักษณ์ความงามไม่แพ้กัน ดังจะเห็นจากผลงานเลื่องชื่อของอีเรเนและอารีอย่างโคมไฟแชนเดอร์เลียและเก้าอี้โยก ซึ่งทำจากเขากวางเรนเดียร์ และบรรดาผลงานเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งซึ่งปรากฏอยู่ตามร้านอาหารทั่วเมืองโรวาเนียมีนี้ ได้ช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติยิ่งขึ้น

การทำงานฝีมือถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานในแคว้นแลปแลนด์ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวซามี ชนพื้นเมืองของยุโรปที่กระจายตัวอยู่ในประเทศสวีเดน นอร์เวย์ รัสเซีย และฟินแลนด์ แม้ปัจจุบันงานฝีมือจะลดบทบาทลงเป็นเพียงงานอดิเรกหรือเครื่องมือสร้างรายได้สำหรับชาวแลปแลนด์ แต่ในอดีตนั้น งานฝีมือคือหัวใจสำคัญในการดำรงชีพ และสำหรับอีเรเน ผู้ซึ่งเรียนรู้ทักษะการแกะสลักและตกแต่งเขากวางเรนเดียร์มาจากยอดนักแกะสลักกระดูกในท้องถิ่น งานฝีมือถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในครอบครัวของเธอ บรรพบุรุษทางฝั่งพ่อและแม่ของเธอนั้นเลี้ยงกวางเรนเดียร์ พวกเขาใช้หนังและเขาของกวางเรนเดียร์ทำงานฝีมือ และปู่ของเธอยังมีชื่อเสียงจากการทำหมันกวางเรนเดียร์ด้วยวิธีการแบบโบราณ คือการใช้ปากกัดส่วนบนของอัณฑะกวางให้ขาดจากท่อนำอสุจิอีกด้วย

พื้นที่กว่า 75% ของฟินแลนด์นั้นประกอบด้วยผืนป่า และตามหลักสิทธิแห่งการเข้าถึงธรรมชาติ (the right to roam) ทุกคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่กลางแจ้ง และสามารถเข้าไปเดินเล่น จับปลา หาของป่า หรือ ตั้งแคมป์พักแรมที่ใดก็ได้ตามต้องการ แม้กระทั่งบนพื้นที่ส่วนบุคคล

สำหรับวันที่ไร้ผู้มาเยือน อีเรเนจะใช้เวลาไปกับการทำโปรเจกต์ออกแบบภายในให้ลูกค้าหลายราย “ความเงียบเป็นสิ่งสำคัญในการวาดและสเก็ตช์ภาพ” เธอกล่าว

ผืนป่านั้นมอบวัสดุจากธรรมชาติที่หลากหลายให้อีเรเนและอารีใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ทั้งคู่ได้ไม้เบิร์ชมาจากคนตัดไม้ ขณะที่หนังปลานั้นสามารถนำมาย้อมสีและพับเพื่อทำกล่องใส่เครื่องมือหรือแผ่นรองจานได้ แต่ทั้งคู่ยังคงเลือกใช้เขากวางเรนเดียร์เป็นวัสดุหลัก โดยซื้อมาจากคนเลี้ยงกวางเรนเดียร์ในท้องถิ่น ในแต่ละปี เหล่ากวางเรนเดียร์จะสลัดเขาเก่าทิ้งเพื่อสร้างเขาใหม่ และด้วยสัดส่วนของกวางเรนเดียร์ที่มีจำนวนมากกว่าประชากรในแลปแลนด์ จึงมีเขากวางมากมายซึ่งอาจถูกทิ้งเปล่าหากไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ “เป้าหมายของเราคือการใช้ชีวิตอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราจะตักตวงจากธรรมชาติโดยไม่ให้อะไรคืนเลยไม่ได้ เราจึงเลือกใช้ทรัพยากรอย่างพอดี เพื่อไม่เป็นการทำร้ายธรรมชาติ” อีเรเนกล่าว

สำหรับอีเรเนแล้ว การเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวถือเป็นกิจวัตรสำคัญที่ทำให้เธอหวนระลึกถึงชีวิตวัยเยาว์  สมัยที่ยังอาศัยอยู่กับคุณยาย บรรดาป้าผู้รักการเดินทางของเธอมักจะพาแขกจากทั่วยุโรปมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน ซึ่งบางคนนั้นสร้างความประทับใจให้เธอไม่รู้ลืม เช่น ชาวเยอรมันชื่อเฮลมุทที่เคยเล่นกับเธอเมื่อสมัยยังเด็ก เขาเป็นสาเหตุที่ทำให้อีเรเนตัดสินใจเรียนภาษาเยอรมันในเวลาต่อมา “บางครั้ง คุณไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในรูปแบบไหนบ้าง” อีเรเนกล่าว

ครั้งหนึ่ง อีเรเนเคยเสิร์ฟน้ำบลูเบอร์รี่ทำเองให้กับหญิงชาวแคนาดา หญิงคนดังกล่าวร้องไห้ออกมาหลังจิบน้ำบลูเบอร์รี่เข้าไป เธอบอกว่าเพราะมันทำให้นึกถึงวัยเด็ก และเมื่อปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวครอบครัวหนึ่งมาพักที่บ้านของเธอ และนั่งลงรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน “นั่นเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีโอกาสนั่งพร้อมหน้ากันบนโต๊ะอาหาร เพราะคนเป็นพ่อต้องออกเดินทางปีละ 350 วัน” เธอเล่า

ผู้มาเยือนอีกรายที่อีเรเนไม่มีวันลืม คือเศรษฐีจากเซี่ยงไฮ้ที่บอกเธอว่าอยากกลับบ้านแล้วเขวี้ยงนาฬิกาโรเล็กซ์ทิ้งให้รู้แล้วรู้รอด เพราะระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ที่บ้านของอีเรเน เขาก็ตระหนักได้ว่าชีวิตของตนนั้นสับสนวุ่นวายเพียงใด “ฉันบอกเขาว่าให้โยนทิ้งไปเลย” อีเรเนกล่าวพร้อมหัวเราะ

ความสุขสงบที่อีเรเนได้รับนั้น มาจากการแบ่งปันค่านิยมและประเพณีของชาวแลปแลนด์ให้กับผู้มาเยือนต่างถิ่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผู้มาเยือนแต่ละรายได้ติดตัวกลับไปด้วยอาจเป็นเพียงข้อคิดสั้นๆ แต่จับใจที่ว่า ชีวิตที่เรียบง่าย คือชีวิตที่เป็นสุขที่สุดแล้ว

Essentials


Arktikum Science Centre and Museum

Pohjoisranta 4, 96200 Rovaniemi, Finland

358-16-322-3260

arktikum.fi

Hornwork Handicrafts A. Kangasniemi

Ounasjoen itäpuolentie 925, 96900 Rovaniemi, Finland

358-400-857-672

hornwork.fi