SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Paradise Found
สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาของศรีลังกา อดีตประเทศอาณานิคมเล็กๆ ที่กําลังเผยตัวเองในฐานะ ‘สวรรค์บนดิน’ หลังไฟสงครามกลางเมืองมอดลงไม่ถึงทศวรรษ
เป็นเวลาตีสองครึ่ง ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังหลับไหล ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหลายร้อยชีวิตก็กำลังมุ่งหน้าสู่ยอดเขาอดัมส์พีคในศรีลังกาตอนกลาง หนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ เส้นทางดังกล่าวประกอบด้วยขั้นบันไดคอนกรีตที่ผุกร่อนจากการใช้งานอย่างยาวนาน และมีเพียงราวเหล็กง่อนแง่นให้จับเป็นระยะๆ นอกจากเสียงฝีเท้าที่ไต่ขึ้นไปตามขั้นบันไดแล้ว ตลอดระยะทางกว่า 2,242 เมตรนั้นเงียบสงัด นานๆ ทีถึงจะมีนักท่องเที่ยวหืดขึ้นคอส่งเสียงพูดคุยห้วนๆ แทรกขึ้นมา ถ้าไม่นับชาวฮินดูและชาวพุทธที่ขึ้นไปแสวงบุญบนยอดเป็นประจำด้วยท่าทีกระตือรือร้น รับรองว่าประสบการณ์ขึ้นเขาที่ลาดชันและต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงนี้คือสิ่งที่จะทำให้บรรดานักเดินทางเหงื่อท่วมรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กลงไปถนัดตา
นักท่องเที่ยวส่วนมากเดินเท้าขึ้นไปยังยอดเขาลูกนี้ตั้งแต่เช้ามืดด้วยเหตุผลเดียวกัน คือเพื่อชมอาทิตย์อุทัยที่ร่ำลือกันว่าสวยติดอันดับโลก ในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงพฤษภาคมซึ่งอากาศเย็นลง กลุ่มเมฆนั้นจะลอยต่ำปกคลุมยอดเขาอดัมส์พีค ทำให้ผู้มาเยือนมีโอกาสชมความงามของทะเลหมอกเบื้องล่างที่ทาบทอด้วยสีส้มจากแสงแรกของวัน ในขณะที่ก่อนฟ้าสาง แสงไฟส่องสว่างไปตามทางเดินคดเคี้ยวสู่ยอดเขามองราวกับสายฟ้าฟาดจากกลุ่มเมฆเบื้องล่าง
อย่างไรก็ดี การมาชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้นไม่ใช่จุดประสงค์หลักของคนท้องถิ่น ชาวมุสลิม ฮินดู คริสต์ และพุทธ เดินทางมายังยอดเขาแห่งนี้เพื่อสักการะและขอพรหิน ‘ศรีบาทา’ โดยชาวพุทธจำนวนมากเชื่อว่าหินก้อนดังกล่าวคือรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมาศรีลังกา หรือรอยเท้าพระศิวะสำหรับชาวฮินดู ขณะที่ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์และอิสลาม หินดังกล่าวคือรอยเท้าของอดัมที่สัมผัสโลกเป็นครั้งแรก หลังถูกพระเจ้าเนรเทศจากสวนอีเดน โดยพระองค์ได้ส่งอดัมมายังศรีลังกาเพราะจุดหมายแห่งนี้เปรียบเสมือนสวรรค์ย่อมๆ บนโลกมนุษย์
ทุกวันนี้โลกเริ่มรู้จักศรีลังกามากขึ้นในฐานะ ‘สวรรค์บนดิน’ อย่างที่ว่าจริงๆ โดยเฉพาะหลังสงครามกลางเมืองนั้นสิ้นสุดลงในปี 2009 ทั้งนี้ แม้ศรีลังกาจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางยอดนิยมเท่ากับอินเดียหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบัน ประเทศแห่งนี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่นักผจญภัยผู้หลงเสน่ห์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติอันตื่นตา กิจกรรมการปีนเขา และรสชาติจัดจ้านของอาหารพื้นเมือง จนกระทั่งนิตยสาร Lonely Planet นั้นยกให้ศรีลังกาเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งแห่งปี 2019
ประเทศแห่งนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักผจญภัยผู้หลงเสน่ห์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติอันตื่นตา กิจกรรมการปีนเขา และรสชาติจัดจ้านของอาหารพื้นเมือง
ภูมิประเทศรอบนอกของเกาะศรีลังกาส่วนใหญ่เป็นแนวชายฝั่ง ต่างจากบริเวณตอนกลางของประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มากกว่า ด้วยเหตุนี้เอง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงมุ่งหน้าออกจากเมืองหลวงโคลัมโบทันทีที่เดินทางถึงศรีลังกา กระนั้น เมืองหลวงแห่งนี้ก็เริ่มยกสถานะไปเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อ เมืองที่มีประชากรราว 550,000 คนนี้ก็เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบอันเคร่งครัด สังเกตได้จากจุดตรวจของทหารที่ลดจำนวนลง สวนทางกับบรรดาร้านอาหารและบาร์รูปลักษณ์ทันสมัยที่ทยอยผุดขึ้นตามย่านต่างๆ ขณะที่ตลอดถนนสายอึกทึกอันเป็นที่ตั้งของเปตตา บาซาร์ ตลาดหลักประจำเมืองโคลัมโบนั้น ปรากฏร่องรอยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวสิงหล ทมิฬ และมุสลิม ตลาดแห่งนี้คึกคักไปด้วยรถเข็นจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น อาทิ พริก กล้วย และมะขวิด รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสารพัดร้านรวง ใกล้ๆ กันคือถนนฟิฟท์ ครอส สตรีท ย่านธุรกิจการค้าที่เรียงรายด้วยตึกรามบ้านช่องสไตล์โคโลเนียล อันเป็นที่ตั้งของห้องเสื้อระดับไฮเอนด์และร้านจิวเวอรี่จำหน่ายเครื่องประดับจากแซฟไฟร์และทับทิม อัญมณีน้ำงามที่ทำให้ศรีลังกาถูกขนานนามว่าเป็น ‘เกาะแห่งอัญมณี’ มาร์โค โปโล นักสำรวจชาวอิตาเลียน เคยเขียนไว้ว่าศรีลังกาคือแหล่งแซฟไฟร์ โทปาซ อเมทิสต์ และอัญมณีอื่นๆ ที่ดีที่สุดของโลก และจนกระทั่งทุกวันนี้ นักค้าอัญมณีจากทั่วโลกยังคงเดินทางมาที่ศรีลังกาในแต่ละปี เพื่อซื้อขายอัญมณีที่ขุดได้จากเหมืองพลอยที่ห่างจากตัวเมืองไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
“นักค้าพลอยอาชีพจะเดินทางไปที่รัตนะปุระ เมืองเล็กๆ ใกล้กับตีนเขาอดัมส์พีคที่มีชื่อเล่นว่าเมืองอัญมณี แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องไปที่นั่น” ไบรอัน สมิธ นักค้าอัญมณีที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อซื้อขายอัญมณีมากว่า 20 ปี กล่าว เขาเคยมาเยือนศรีลังกาไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง และบางครั้งใช้เวลาพักอยู่ในแถบชนบทแรมเดือน “ใครที่อยากช้อปปิ้ง กินของอร่อยๆ และพักผ่อนหย่อนใจ โคลัมโบเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่าเยอะ ใครที่ไปถึงแล้วไม่ได้แวะชิมปูร้าน Ministry of Crab บอกเลยว่าเหมือนมาไม่ถึง”
เป็นที่รู้กันว่าแกงกะหรี่ปูเป็นหนึ่งในเมนูชูโรงของศรีลังกา และว่ากันว่ามินิสทรี ออฟ แครบนั้นปรุงแกงกะหรี่ปู ซึ่งหอมมันด้วยรสชาติของกระเทียม พริก เนย และพริกไทย ได้เลิศรสที่สุด
แม้ในอนาคตอันใกล้นั้นยังไม่มีแนวโน้มที่ศรีลังกาจะมีมีมิชลินไกด์เป็นของตัวเอง แต่ Ministry of Crab (ซึ่งได้เปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา) ก็เป็นหนึ่งในร้านขึ้นชื่อในแวดวงอาหารของภูมิภาคเอเชีย โดยเป็นร้านอาหารจากศรีลังกาแห่งแรกที่ติดอันดับรายชื่อ Asia’s 50 Best Restaurants ร้านอาหารแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของนักกีฬาคริกเก็ตท้องถิ่นชื่อดัง 2 ราย และเซเลบริตี้ เชฟ ดาร์ชัน มูนิดาซา ผู้ได้หยิบเอาวัฒนธรรมหลัก 2 อย่างของศรีลังกา คือกีฬาคริกเก็ตและเมนูประจำชาติอย่างปู มาผสมผสานกัน เป็นที่รู้กันว่าแกงกะหรี่ปูเป็นหนึ่งในเมนูชูโรงของศรีลังกา และว่ากันว่ามินิสทรี ออฟ แครบนั้นปรุงแกงกะหรี่ปู ซึ่งหอมมันด้วยรสชาติของกระเทียม พริก เนย และพริกไทย ได้เลิศรสที่สุด ร้านแห่งนี้ตั้งอยู่เคียงคู่กับร้านรวงที่จำหน่ายผ้าและเครื่องประดับในตึกโรงพยาบาลเก่า Old Dutch Hospital ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 และมีเอกลักษณ์ตรงกำแพงสูงสีขาวคล้ายป้อมปราการและกระเบื้องหลังคาสีแดง
กลิ่นอายจากยุคอาณานิคมนั้นยังหลงเหลืออยู่ในแทบทุกพื้นที่ โปรตุเกสและอังกฤษเข้าปกครองศรีลังการะหว่างปี 1505 จนถึง 1948 ก่อนที่สงครามกลางเมืองจะปะทุขึ้นอีกเพียง 35 ปีให้หลัง ทำให้ศรีลังกามีเวลาสั้นเกินกว่าจะพัฒนาอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตนเองได้เต็มที่ นอกเหนือไปจากศาสนสถานต่างๆ อาคารสำคัญๆ ส่วนใหญ่จึงอยู่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปหรือตึกสไตล์โมเดิร์นทั่วไป ใครที่อยากสัมผัสกลิ่นอายอันเป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมศรีลังกาและอิทธิพลยุคอาณานิคม การเข้าพักโรงแรมอิงประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามย่านต่างๆ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
หนึ่งในนั้นคือโรงแรม Paradise Road Tintagel ในย่านพาราไดส์ โรด อันทันสมัยของเมืองโคลัมโบ ที่ตั้งอยู่ในคฤหาสน์ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงอาณานิคม และเคยเป็นที่พำนักของบุคคลสำคัญชาวศรีลังกาหลายราย ที่นี่เคยถูกยึดครองโดยกองทัพอังกฤษ ก่อนที่ในช่วงยุค ’40s เมื่อการปฏิวัติเพื่อเรียกร้องอิสรภาพนั้นเริ่มต้นขึ้น คฤหาสน์หลังนี้จะถูกขายให้กับครอบครัวบันดาราไนยเก ตระกูลใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของศรีลังกาหลังได้รับเอกราช โดยในปี 1960 สิริมาโว บันดาราไนยเก นั้นได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก และในปี 2005 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามกลางเมืองยังคงยืดเยื้อ ครอบครัวบันดาราไนยเกตัดสินใจปล่อยเช่าคฤหาสน์หลังนี้ให้กับชายชื่ออุเดชันธ์ เฟอร์นันโด ผู้ซึ่งเปลี่ยนบ้านหลังดังกล่าวเป็นโรงแรมอย่างในปัจจุบัน
ตัวอาคารของโรงแรมสไตล์บูทีคแห่งนี้โอ่อ่า ภายในล็อบบี้มีเสาหินอ่อนเงาวับอยู่เรียงราย เข้ากันกับโซฟาบุนวมตัวยาวและชั้นไม้สีเข้มที่ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไม้ที่ได้รับการดูแลอย่างดี พื้นที่โดยรอบตกแต่งด้วยงานศิลปะร่วมสมัยและของประดับสไตล์โคโลเนียล ในตอนเช้า ผู้มาเยือนจะได้กลิ่นหอมจางๆ จากสวนอบเชยที่อยู่รอบคฤหาสน์ ขณะนั่งจิบชาร้อนๆ ตรงสวนหย่อมด้านหลัง ซึ่งแน่นอนว่าใบชาที่ใช้ชงนั้นเป็นใบชาเขียวแท้ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวจากไร่ท้องถิ่น
อีกจุดหมายปลายทางที่ต้องไปเยือนในศรีลังกาตอนกลาง คือเมืองแคนดี้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงทางวัฒนธรรม’ และราชธานีแห่งสุดท้าย
ชายังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของศรีลังกา การมาเยือนประเทศแห่งนี้โดยไม่ได้ซื้อชาติดมือกลับไปด้วยสักถุงจึงถือเป็นความผิดพลาดมหันต์ สำหรับคนรักการดื่มชา การสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ tea tourism นั้นสามารถทำได้หลายวิธี นับตั้งแต่การซื้อโปรแกรมทัวร์และการเข้าพักรีสอร์ทในไร่ชา ไปจนถึงการแวะไปจิบชาที่ร้าน t-Lounge by Dilmah อันเลื่องชื่อในย่านฟอร์ตของเมืองโคลัมโบ ส่วนใครที่อยากลงลึกวัฒนธรรมการปลูกชาให้มากขึ้น เทือกเขาสูงทางตอนกลางประเทศหรือ Hill Country นั้นเป็นจุดหมายที่ควรไปเยือน ที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาชั้นยอดเพราะมีสภาพอากาศเย็นตลอดปี รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ Ceylon Tea Trails รีสอร์ทซึ่งได้รับการรีโนเวตจากที่พำนักในไร่ชาหลังแรกๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในศรีลังกาเมื่อปี 1888 โดยนักล่าอาณานิคม ผู้มาเยือนจะดื่มด่ำกับทัศนียภาพของสวนหย่อมสไตล์อังกฤษที่อยู่ล้อมรอบและไร่ชาที่ทอดยาวไปตามทิวเขาสุดลูกหูลูกตา รวมทั้งสามารถซื้อบริการทัวร์เพื่อแวะชมไร่ชาที่อยู่ใกล้เคียง แต่ถ้าอยากได้อรรถรสจริงๆ ควรลองฝึกเก็บใบชาในไร่ด้วยตัวเองสักครั้ง
อีกจุดหมายปลายทางที่ต้องไปเยือนในศรีลังกาตอนกลาง คือเมืองแคนดี้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงทางวัฒนธรรม’ และราชธานีแห่งสุดท้ายในสมัยที่ศรีลังกายังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์นี้เองก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานของอิทธิพลจากยุคอาณานิคมและศิลปะแบบแคนดี้ หนึ่งในสถาปัตยกรรมสำคัญคือ ‘วัดพระเขี้ยวแก้ว’ หรือ ‘ศรี ดาลาดา มาลิกาวะ’ พุทธสถานสำคัญของโลกที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระทนต์ของพระพุทธเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองศรีลังกาที่ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ทอง 7 ชั้น และปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก ชาวศรีลังกาเชื่อว่าใครที่ได้ครอบครองพระเขี้ยวแก้ว จะถือเป็นผู้มีศักดิ์และสิทธิ์ในการปกครองบ้านเมือง
นอกจากนั้นแล้ว แคนดี้ยังเป็นเมืองที่ภูมิประเทศตื่นตา ด้วยถนนหนทางที่ลดเลี้ยวไปตามเทือกเขาเขียวขจี และอาคารบ้านเรือนสีพาสเทลที่กระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในศรีลังกาที่ไม่ใช่โคลัมโบ แวดวงอาหารที่นี่ยังค่อนข้างขาดสีสัน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้นช้าๆ ด้วยบรรดาเพิงขายอาหารริมทางและร้านอาหารขนาดเล็กที่ทยอยผุดขึ้น เป็นโอกาสอันดีให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มรสเมนูท้องถิ่นของศรีลังกา โดยที่พลาดไม่ได้เลยคือเส้นหมี่ขาวราดด้วยโปล ซัมโบล (หรือน้ำพริกแบบศรีลังกาที่ทำจากมะพร้าวขูด) ซึ่งเป็นเมนูที่ต้องรับประทานด้วยมือและหาได้ทั่วไปในเมืองแคนดี้
การนั่งรถไฟนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการออกสำรวจไปตามเมืองต่างๆ และดื่มด่ำทัศนียภาพงดงามของภูมิประเทศศรีลังกา จนหลายคนอาจคุ้นตากับภาพบนโซเชียลมีเดีย ที่คู่รักชาวต่างชาติยื่นศีรษะและร่างกายออกมาจากขบวนรถไฟขณะกำลังแล่นไปตามแถบชนบทช้าๆ (ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสายตาคนท้องถิ่น) รถไฟซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐบาลนี้วิ่งตัดผ่านเมืองต่างๆ ของศรีลังกาตั้งแต่เหนือจรดใต้ และมีราคาพอๆ กับรสบัส โดยรวมจึงถือว่าเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด แม้รถไฟศรีลังกาจะวิ่งช้า แต่ด้วยความที่ศรีลังกานั้นเป็นประเทศเล็กๆ โอกาสที่ต้องนั่งรถไฟเต็มวันหรือข้ามคืนจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ดี ตั๋วรถไฟจะถูกจับจองจนเต็มล่วงหน้าหลายสัปดาห์ ทำให้การวางแผนซื้อตั๋วผ่านบริษัทท่องเที่ยวไว้ก่อนเป็นสิ่งจำเป็น ใครที่มองหาทางเลือกการเดินทางที่หรูหราและสะดวกสบายขึ้น ก็สามารถเลือกใช้บริการเช่าเหมาลำเครื่องบินน้ำจากสายการบินอย่าง Cinnamon Air ที่มาพร้อมเก้าอี้หนังนุ่มสบายและพื้นที่กว้างขวางได้
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินนานาชาติ ทางชายฝั่งตะวันตกของศรีลังกา ซึ่งอยู่ห่างจากโคลัมโบไปราว 30 กิโลเมตร แล้วจึงลัดเลาะไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศาสนสถานตรงช่วงตอนกลางของประเทศ ใกล้ๆ กับเมืองแคนดี้ ก่อนจะวกกลับมาทางเมืองชายฝั่งเพื่อพักผ่อนริมทะเล ศรีลังกานั้นเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทริมทะเลหลายแห่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยในปี 2017 รีสอร์ทหรู Wild Coast Tented Lodge ได้สร้างกระแสไปทั่วโลกในฐานะแคมป์ซาฟารีที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ วิลล่ารูปทรงรังไหม 28 หลังนี้ ตั้งอยู่ระหว่างหาดทรายสีขาวของแนวชายฝั่งพาลาตูปานาและอุทยานแห่งชาติยาลา รายล้อมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งเสือดาวที่ออกล่าเหยื่อในยามค่ำคืน และฝูงช้างที่หากินในเวลากลางวัน เมื่อเสร็จจากกิจกรรมส่องสัตว์ในซาฟารี ผู้มาเยือนสามารถกลับมานอนอาบแดดริมหาดและผ่อนคลายด้วยการจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ส่งท้ายการผจญภัย
ใครที่ได้ไปเยือนศรีลังกาจะตกหลุมรักบรรยากาศสบายๆ และเป็นกันเองของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ นักเขียนคอลัมน์ท่องเที่ยวหลายคนตั้งสมญาให้ศรีลังกาว่าเป็น ‘อินเดีย ไลท์’ เพราะแม้ดูเผินๆ จะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประสบการณ์การท่องเที่ยวในศรีลังกานั้นอาจเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวกว่ามาก รถไฟที่นี่ออกตรงเวลา ขณะที่ผู้คนนั้นยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตร และนักท่องเที่ยวสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างราบรื่น นอกจากชายหาดเงียบสงบและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ศรีลังกายังมีตัวเลือกด้านโรงแรมที่มากพอสำหรับประเทศเล็กๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองมาได้ไม่ถึงทศวรรษ แน่นอนว่าร่องรอยจากสงครามนั้นยังปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะยากจน แต่ในทำนองเดียวกับที่จอห์น กริมเล็ตต์ นักเขียนวรรณกรรมและนักเดินทางชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ แม้ประวัติศาสตร์อันขมขื่นจะฝากรอยแผลไว้หลายแห่ง แต่ศรีลังกาก็ยังคงเป็น ‘สวรรค์บนดิน’ สำหรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ ■
Essentials