HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Housing Nothingness

หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ หรือ 'สวนโมกข์' ในสวนวชิรเบญจทัศอันร่มรื่น คือสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเหนือผิวน้ำที่สะท้อนแนวคิดและชีวิตสมถะของท่านพุทธทาสภิกขุ ความ 'น้อยแต่มาก' ดูจะเป็นคติธรรมที่แฝงอยู่ในทุกมุมตึกและทางเดินของสถานปฏิบัติธรรมแห่งยุคสมัยแห่งนี้

ลึกเข้าไปในวิเวกของชายป่าในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ยังมีกระท่อมไม้หลังน้อยยกพื้นสูงเพียงเสมอไหล่ที่กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตรซ่อนตัวอยู่ ฝาด้านหนึ่งของกระท่อมนี้ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างบานพับเปิดกว้างเพื่อถ่ายเทความร้อนและรับลม ตลอดกระท่อมที่เปิดโล่งปราศจากมุ้งลวด กลิ่นควันจากการสุมไฟดูจะเป็นปราการหนึ่งเดียวสำหรับรับมือกับยุง สิ่งเดียวที่พอเรียกได้ว่าเครื่องอำนวยความสะดวกในกระท่อมน้อยหลังนี้ก็คือเก้าอี้ไม้เล็กๆ ที่วางอยู่เหนือส้วมหลุมบริเวณใต้ถุน

นี่เองคือสถานที่ที่ภิกษุนาม ‘พุทธทาสภิกขุ’ ใช้เป็นที่พำนักและศึกษาค้นคว้าในช่วง 10 พรรษาแรกของการบวช ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘กุฏิเล้าหมู’

“อาจารย์พุทธทาสเน้นย้ำว่านี่คือแนวทางปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ดำรงตนอยู่ในบรรทัดฐานดังกล่าวตลอดทั้งชีวิต” นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ ในกรุงเทพฯ​ เล่า

กุฏิเล้าหมู อันเป็นกุฏิถาวรหลังแรกของท่านพุทธทาสนั้นตั้งอยู่ในบริเวณวัดตระพังจิกวัดร้างซึ่งรอบๆ มีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วท่านพุทธทาสจึงตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่าสวนโมกขพลาราม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สวนโมกข์ (แห่งแรก)’ อันหมายถึง ‘สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์’ ก่อนจะย้ายที่ตั้งมายังตำบลเลม็ด ซึ่งอยู่รอบนอกอำเภอไชยาอย่างในปัจจุบัน ในเวลาต่อมา สวนโมกข์ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญทางพุทธศาสนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิ่งที่เป็นจุดเด่นของสถานที่นี้ดูเหมือนจะเป็น ‘ความไม่มีอะไร’

อุโบสถของสวนโมกข์ในครั้งนั้นไม่ใช่อะไรเลยนอกจากเนินดิน ซึ่ง “มีแมกไม้เป็นเสาค้ำและกำแพง และมีท้องฟ้าเป็นเพดาน” ตามที่อดีตสันติกโรภิกขุ พระภิกษุชาวอเมริกันผู้จำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ตั้งแต่ปี 2528 เป็นเวลากว่า 14 พรรษา ได้เขียนบันทึกไว้ ขณะที่โรงธรรมของสถานที่แห่งนี้ก็คือพื้นที่จากเนินไปถึงประตูทางเข้า ณ สวนโมกข์ การแสดงธรรมเทศนาจัดขึ้นกลางแจ้ง การฝึกกรรมฐานจะกระทำในป่า ส่วนพิธีกรรม ขบวนแห่ต่างๆ และงานสมโภชจะจัดขึ้นที่ใดก็ได้ แล้วแต่ขนาดพื้นที่และสภาพอากาศจะเอื้ออำนวย

จนกระทั่งเมื่อปี 2495 การเดินทางไปธุดงค์ในประเทศอินเดียส่งผลให้มุมมองของท่านพุทธทาสเปลี่ยนไป และในปี 2505 ขณะมีอายุ 56 ปี ท่านได้สร้างสถาปัตยกรรมถาวรขึ้นเป็นครั้งแรกในสวนโมกข์ คืออาคารรูปทรงเรือ 2 หลัง เรือจำลองซึ่งหยุดนิ่งบนพื้นดินนั้นเปรียบเสมือน “เรือธรรมที่นำสรรพสัตว์ข้ามห้วงแห่งทุกข์” โดยอาคารนี้ถูกใช้เป็นที่กักเก็บน้ำฝนและห้องสมุด ดูเหมือนหลังเวลาผ่านพ้นไป 30 ปี สองสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเล็งเห็นแล้วว่าควรแก่การเก็บรักษาก็คือน้ำและความรู้เท่านั้น

สถาปัตยกรรมแห่งที่ 3 ที่ถูกสร้างขึ้นคือ ‘โรงมหรสพทางวิญญาณ’ ซึ่งสื่อนัยถึงความบันเทิงคล้ายโรงภาพยนตร์หรือหอแสดงดนตรี ดังที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า “อะไรที่สนุกและไม่น่าเบื่อ เราเรียกว่ามหรสพ การนั่งเทศน์ในธรรมาสน์นั้นแสนน่าเบื่อ สำหรับทั้งผู้ฟังและผู้เทศน์ แต่การใช้ศิลปะเพื่อแสดงและเล่าธรรมะนั้นไม่น่าเบื่อ”

ในที่สุด กุฏิพระก็ได้รับการสร้างขึ้น หลังจากที่ท่านพุทธทาสประวิงเวลาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เพราะต้องการให้เหล่าพระภิกษุฝึกอยู่กับธรรมชาติ “สุดท้ายท่านก็ตกลง แต่กำชับว่ากุฏิต้องเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะ เต็มไปด้วยหนังสือ ซึ่งสิ่งที่ท่านเก็บสะสมไว้ส่วนใหญ่ ในภายหลังก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุของเรา” นพ.บัญชากล่าว

อย่างไรก็ตาม สวนโมกข์ที่ไชยามองว่าการบำรุงรักษาหอจดหมายเหตุนั้นไม่ใช่กิจของสงฆ์ เหล่าพระภิกษุต้องมุ่งมั่นกับการศึกษา ฝึกตน และเผยแผ่ธรรมะ และไม่อยากใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อถนอมกระดาษและเอกสารต่างๆ และกล่าวปฏิเสธการสร้างหอจดหมายเหตุที่ไชยา ด้วยเหตุนี้ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือที่คนนิยมเรียกว่าสวนโมกข์กรุงเทพฯ​ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยปัจจุบันมีนพ.บัญชา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เขาเคยบวชเป็นพระอยู่หลายปี และเป็นศิษย์ใกล้ชิดของท่านพุทธทาสภิกขุจนท่านถึงแก่มรณภาพในปี 2536 “อาจารย์จะย้ำอยู่เสมอว่าไม่ต้องการให้สร้างเจดีย์หรือรูปเคารพใดๆ ให้ โดยบอกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราเลยสร้างหอจดหมายเหตุแทน” เขากล่าว ก่อนจะเสริมว่า “ท่านพุทธทาสคือปรมาจารย์ชั้นครู พุทธศาสนามีส่วนที่ยากแก่การเข้าใจ ทั้งเรื่องภาษา หลักคำสอนและบริบทต่างๆ ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจของสงฆ์ อาจารย์จึงได้เรียบเรียงคำสอนบางส่วนเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับฆราวาส และหอจดหมายเหตุฯ ก็มาช่วยสานต่อในจุดนี้”

แม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะเป็นนักธรรมชาตินิยมและเชื่อในสุญญตา แต่ท่านก็เป็นผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่และทำหน้าที่ครูได้ไม่บกพร่องตลอดชีวิตของตน นพ.บัญชาเล่าว่าท่านพุทธทาสเริ่มเขียนหนังสือ แต่พบว่าหนังสือนั้นมีกระบวนการผลิตและเก็บรักษาที่ยุ่งยาก จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีบันทึกเทปคำสอนเป็นบทๆ แทน จนนำไปสู่ธรรมเทศนา 5,000 เรื่อง ซึ่งได้รับการเรียบเรียงเป็นหนังสือ​เล่มน้อยใหญ่กว่า 2,000 เล่ม และในจำนวนนั้นได้รับการแปลกว่า 200 เรื่องใน 22 ภาษา “แต่พอเราเห็นว่าพระในสุราษฎร์ฯ อาจลำบากที่จะดูแลรักษาผลงานที่เก็บรวบรวมไว้ได้ เราจึงมองหาสถานที่อื่นแทน กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดใหญ่ก็จริง แต่ที่ดินก็มีราคาสูงตามไปด้วย เราเลยก่อตั้งมูลนิธิขึ้น”

อาคารหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นเป็นปูนเปลือยไม่ทาสี จึงถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกบรูทัลลิสต์ แต่เส้นแนวนอนหนักแน่นที่ขนานไปกับผิวน้ำ และสวนหินภายในอาคาร นั้นสะท้อนอิทธิพลของนิกายเซนชัดเจน

นพ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ ได้รวบรวมทีมนักออกแบบเพื่อสร้างหอจดหมายเหตุฯ ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทแปลน อาคิเต็ค สถาบันอาศรมศิลป์ บริษัทออกัสท์ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ (ตกแต่งภายใน) บริษัทเอคซ์ไซท์ดีไซน์ สตูดิโอ (ออกแบบภูมิทัศน์) บริษัทอรุณชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส และบริษัท เอส เอส เค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ โดยทีมนักออกแบบได้นำเสนอและทดลองแนวคิดการออกแบบต่างๆ ในเวิร์กช็อปซึ่งนำโดยครองศักดิ์ จุฬามรกต หนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มบริษัทแปลน อาคิเต็ค ปรีชา รุ่งรุจิไพศาล ผู้จัดการโครงการ และธีรพล นิยม ผู้อำนวยการสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิยังได้รับความช่วยเหลือจากทางกรุงเทพมหานคร (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) อีกด้วย

“ผู้ว่าฯ กทม. อยากให้มีพื้นที่ฝึกฝนจิตใจและสมาธิในสวนจตุจักรมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะตรงนี้มีแต่พื้นที่ออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ท่านเลยมาชวนพวกเรา” นพ.บัญชากล่าว พลางเสริมว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีกระแสรับสั่งหลายครั้งว่า พื้นที่สีเขียวแห่งนี้มีไว้สำหรับคนกรุงเทพฯ และทรงมีพระราชประสงค์เป็นเช่นนั้นต่อไป แต่พระองค์ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างสวนโมกข์กรุงเทพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยครองราชย์ครบ 60 ปีและเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ อย่างเป็นทางการ

ธีรพลเล่าว่าในทีแรก ทางกรุงเทพมหานครและหอจดหมายเหตุ พุทธทาสฯ ตกลงกันว่าจะก่อสร้างอาคารดังกล่าวตรงที่ดินกลางสวน “แต่พอไปดูสถานที่จริง ผมเห็นคนใช้สวนสาธารณะกันจริงจัง เลยรู้สึกว่าถ้าจะสร้างอะไรทับพื้นที่สีเขียวนี้คงไม่ดี จึงพยายามโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่กทม. เปลี่ยนสถานที่ ทางกทม.ไม่เห็นด้วยในตอนแรก แต่ขณะที่เรากำลังกางแผนที่คุยกันอยู่ ก็มีกลุ่มคนที่มาออกกำลังกายแถวนั้นประมาณ 40 คน กรูเข้ามาถามเราว่าจะทำอะไรกับสวนของพวกเขา เหมือนเป็นม็อบต่อต้านโครงการขนาดย่อมๆ”

“ช่วงนั้นมีคนวิจารณ์เยอะมาก พวกเขาพูดทำนองว่า โครงการนี้สร้างในนามท่านพุทธทาส อย่าบังอาจตัดต้นไม้ในสวนสักต้นเชียว เราเลยตัดสินใจสร้างอาคารกลางสระน้ำทางทิศเหนือของสวนรถไฟแทน สุดท้ายเราก็ไม่ได้ตัดต้นไม้สักต้นจริงๆ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดเป็นไม้เทียมรีไซเคิล ซึ่งราคาก็ถูกกว่าด้วย” นพ.บัญชากล่าวเสริม นอกจากนี้ ยังมีการใช้ไม้อัดซีเมนต์ในส่วนที่เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพื่อลดต้นทุนค่าบำรุงรักษา ขณะที่ตัวอาคารนั้นได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวัสดุหลักที่ใช้นั้นสามัญเรียบง่าย “ไม่ได้หวือหวาหรือราคาแพง” ธีรพลกล่าว

อาคารหอจดหมายเหตุ​พุทธทาสฯ นั้นเป็นปูนเปลือยไม่ทาสี จึงถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกบรูทัลลิสต์ แต่เส้นแนวนอนหนักแน่นที่ขนานไปกับผิวน้ำ และสวนหินภายในอาคารนั้นสะท้อนอิทธิพลของนิกายเซนชัดเจน ในภาพรวม ทีมนักออกแบบได้ดึงเอาแรงบันดาลใจมาจากโรงมหรสพทางวิญญาณในสวนโมกข์ฯ ที่ไชยา ซึ่งตัวอาคารเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียบ แต่แฝงไว้ด้วยองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น ธีรพลกล่าวว่าในกระบวนการออกแบบยังได้นำเอาดีไซน์ของ ‘ลานหินโค้ง’ และผนังคอนกรีตชั้นนอกของโรงมหรสพฯ ซึ่งเป็นแถวบล็อกช่องลมสี่เหลี่ยมมาประกอบด้วย บล็อกช่องลมนี้ “ทำหน้าที่เสมือนผิวหนังที่หายใจได้ มันช่วยปกป้องผลงานของอาจารย์จากแสงแดดกับความร้อน และช่วยให้อากาศถ่ายเทและลดความชื้น” เขาอธิบาย

การออกแบบนี้ยังมีความหมายแฝงอีกประการ คือการสื่อว่าหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เป็นดั่งหอเก็บคัมภีร์พระธรรมหรือหอไตร ซึ่งแต่เดิมนิยมสร้างกันกลางสระน้ำ โดยธีรพลเล่าว่าน้ำไม่ใช่ความท้าทายหลักสำหรับโครงการนี้ในเชิงสถาปัตยกรรม หากเป็นการป้องกันความชื้นและการคงไว้ซึ่งความสมถะเรียบง่ายของตัวอาคาร นอกจากนั้น การออกแบบยังมุ่งเน้นไปที่การหาวิธีใช้ประโยชน์จากน้ำให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การใช้น้ำเป็นมวลสารสะสมความร้อนที่ช่วยให้อาคารเย็นลงทุกครั้งที่ลมพัดผ่านและลดการใช้พลังงานไปพร้อมๆ กัน หรือลานใต้ถุนกว้างริมสระน้ำที่ “ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความร่มเย็นขณะทำกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมะ” ตามคำกล่าวของธีรพล เส้นแนวนอนเรียบง่ายของตัวตึกถือเป็นองค์ประกอบเด่น เพราะทำให้อาคารดูสุขุม สงบ โดยเฉพาะยามเมื่อมองจากระยะที่เห็นตัวอาคารสะท้อนกับผิวน้ำ

หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เกือบ 200 ล้านบาท และครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ขณะที่ตัวอาคารอย่างเดียวนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านบาท และกินพื้นที่ 9,500 ตารางเมตร ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าก่อสร้างอาคารนั้นอยู่ที่ราว 13,700 บาทต่อตารางเมตร “ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างนั้นไม่สูงมาก เพราะเราใช้ดีไซน์เรียบง่ายและวัสดุทั่วไป” ธีรพลกล่าว

นอกจากนี้ งานออกแบบและก่อสร้างทั้งหมดยังเป็นงานจิตอาสา ไม่มีค่าจ้างใดๆ แต่บริษัทที่เข้าร่วมก็เต็มใจจัดสรรบุคลากรเพิ่มให้กับโครงการดังกล่าวจนกระทั่งงานก่อสร้างเสร็จสิ้น “ที่เราสมัครใจทำก็เพราะเราศรัทธาในพุทธศาสนา สถาบันอาศรมศิลป์เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งขึ้นบนหลักศาสนาพุทธ อีกทั้งเราเล็งเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชน ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น” ธีรพลเสริม

การก่อตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นมีเป้าหมาย 3 ประการคือ เพื่อเก็บรักษาผลงานและของใช้ส่วนตัวของท่านพุทธทาสภิกขุ เผยแพร่ธรรมะ และเป็นพื้นที่เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งแต่ละชั้นนั้นถูกแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของห้องจดหมายเหตุ ชั้น 2 เป็นพื้นที่ฝึกกรรมฐาน เช่น การฝึกอานาปานสติและการนั่งสมาธิ ส่วนชั้นล่างสุด อันเป็นลานใต้ถุนกว้างนั้นเป็นพื้นที่ไว้ต้อนรับผู้มาเยือนและมีที่นั่งสไตล์คาเฟ่ตั้งอยู่ริมทางเดิน นอกจากนี้ ยังมีระเบียงกว้างยื่นออกไปเหนือผิวน้ำ และลานหินโค้งอันเต็มไปด้วยประติมากรรมต่างๆ อยู่อีกมุมหนึ่ง รวมทั้งแกเลอรี่ศิลปะซึ่งปัจจุบันจัดแสดงงานของคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินชาวเชียงใหม่ผู้มีผลงานจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Guggenheim ในนครนิวยอร์ก ศิลปะนี้เองทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมพื้นที่แต่ละชั้นเข้าด้วยกัน โดยผลงานส่วนมากได้รับบริจาคจากศิลปินแห่งชาติ อาทิ สมภพ บุตราช อลงกรณ์ หล่อวัฒนา และบํารุงศักดิ์ กองสุข ส่วนประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานของ ‘เขมานันทะ’ หรือโกวิท อเนกชัย ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2550 ขณะบวชเป็นพระในสวนโมกข์นั้น ทุกวันนี้ยังคงตั้งประดิษฐานอยู่กลางลานหินโค้ง

อีกหนึ่งผลงานศิลปะที่ยกมาจากสวนโมกข์ในอำเภอไชยา คือเสา 5 ที่ท่านพุทธทาสภิกขุออกแบบด้วยตนเอง เสาทั้ง 5 ต้นเป็นตัวแทนของขันธ์ 5 อันหมายถึงกองแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่ทำให้เกิดเป็นตัวตนหรือชีวิต เนื่องจากขันธ์ 5 นั้นเป็นตัวนำไปสู่ความทุกข์ ท่านจึงออกแบบให้เสาไม่มีส่วนหัว เป็นเพียงฐานเชิงสัญลักษณ์ที่พยุงไว้ซึ่งความว่างเปล่า

หอจดหมายเหตุยังนำของใช้ส่วนตัวของท่านพุทธทาสภิกขุมาจัดแสดงในนิทรรศการหมุนเวียน เช่น เครื่องพิมพ์ดีดและกล้องถ่ายรูป และเนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ ทางหอจดหมายเหตุจึงจัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้สำหรับจัดงานบรรยายและเสวนา ฉายภาพยนตร์ธรรมะ ทั้งยังรองรับกิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ และเป็นที่ตั้งของร้านหนังสือ พื้นที่จัดแสดงเนื้อหาธรรมะ และส่วนบริการอาหาร (ซึ่งนพ.บัญชากล่าวว่าเป็น “ส่วนสำคัญของการต้อนรับ”) นอกจากนี้ ตรงบริเวณใต้ถุนชั้นล่างยังมีโต๊ะนั่งทำงานและ wifi ให้ใช้ฟรี คล้ายกับในโคเวิร์คกิ้งสเปซ แต่เรียกว่า ‘โคธรรมะสเปซ’ ​แทน

“ตัวอาคารถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด” นพ.บัญชาเล่า ซึ่งธีรพลเห็นด้วย โดยตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือพื้นที่ใต้ถุน อันเป็นลานอเนกประสงค์มองเห็นวิวสระน้ำและทัศนียภาพโดยรอบ “พื้นที่ดังกล่าวต้องมีความยืดหยุ่น เพราะตอนเราออกแบบ ทางหอจดหมายเหตุยังไม่มีการกำหนดแผนหรือกิจกรรมที่ชัดเจน”

นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่ต่างๆ ภายในอาคารยังถูกออกแบบให้เป็นเส้นทางธรรมะในตัว บริเวณลานจอดรถมีชื่อเรียกว่า ‘ลานแห่งความไม่รู้ (Ignorance Court)’ เพราะหลายคนที่มาถึงนั้นยังไม่มีความรู้แจ้งทางธรรม เมื่อเดินพ้นประตูทางเข้าหลักมา จะพบกับเสาขันธ์ 5 และทางเดินเลียบสระน้ำซึ่งเชื่อมไปสู่สวนหย่อมต่างๆ เพื่อสงบอารมณ์วุ่นวายของชีวิตประจำวัน ตามคำกล่าวของธีรพล ขณะที่ลานหินโค้งและสวนพุทธธรรมนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ และมีขั้นบันไดพาลงไปสู่สวนสีเขียวด้านหลัง

หากถามถึงแผนการใช้สอยพื้นที่ส่วนที่เหลือ นพ.บัญชานั้นยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ท่านพุทธทาสมักกล่าวว่าอนาคตเป็นเรื่องของเหตุ ด้วยเหตุนี้ ทีมงานหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงปล่อยให้อนาคตของสถานที่เป็นเรื่องของกำลังแห่งเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น “ผู้ใช้นับเป็นหนึ่งเหตุ ถ้ายังมีคนใช้ ที่นี่ก็จะดำรงต่อไป ผู้จัดหาก็เช่นกัน สิ่งที่เราจัดหามานั้นมีประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ที่นี่ก็จะดำรงต่อไป คณะกรรมการและผู้ให้การสนับสนุนก็เป็นเหตุอีกข้อ ทั้งหมดนี้รวมกันจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเรา” เขาอธิบาย

เนื่องจากการก่อสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นแล้วเสร็จหลังท่านพุทธทาสภิกขุถึงแก่มรณภาพหลายปี สมาชิกทีมออกแบบและก่อสร้างหลายคนจึงต่างสงสัยว่าตัวท่านเองจะคิดอย่างไรกับสถานที่แห่งนี้ “ท่านคงจะถามว่า ค่าใช้จ่ายสูงไหม งบต่างๆ มาจากไหน ขอรับบริจาคมาหรือเปล่า ตัวอาคารนั้นทนทานไหม คุ้มค่ากับการใช้งานหรือเปล่า” ธีรพลหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อว่า “เราพยายามออกแบบสถาปัตยกรรมของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ให้เป็นอาวาสสัปปายะ คือเป็นเหตุในตัวมันเองที่จะช่วยให้คนหันมาศึกษาธรรมะ”

ความพยายามนั้นไม่ได้สูญเปล่า เพราะหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นับเป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียด สมกับความเป็นอนุสรณ์แด่บุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เป็นทั้งครู ผู้สร้าง นักเขียน และนักธรรมชาตินิยมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเอื้อต่อการสานต่อภารกิจของภิกษุรูปนี้ ในการเผยแพร่ธรรมะไปสู่ศตวรรษที่ 21 และภายภาคหน้าอีกด้วย

พิจารณาดูแล้ว ความเห็นของท่านพุทธทาสภิกขุเกี่ยวกับอาคารนี้อาจเป็นได้ทั้งคำว่า ‘สัปปายะ’ หรือเหมาะสม เกื้อกูลอำนวยดี

หรือแม้กระทั่ง ‘อนุโมทนา’ ซึ่งหมายถึงการยินดีและแสดงความขอบคุณ

Essentials


สวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล)

ริมทางหลวงหมายเลข 41 ต.เลม็ด อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี

fb.com/suanmokkha

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสายสอง กรุงเทพฯ

02-936-2800

bia.or.th