SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
The Lens of Truth
แม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะเป็นที่เลื่อมใสเพราะคำสอนเชิงพุทธศาสนาที่นำมาปฏิบัติได้จริง แต่น้อยคนจะรู้ว่าท่านคือช่างภาพชั้นครู ผู้นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับเทคนิคล้ำสมัย จนเกิดเป็นวิธีการเผยแผ่คำสอนในสไตล์เฉพาะตัว
การเดินทางมายังหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น จะต้องผ่านเส้นทางสัญจรที่เป็นดั่งรอยต่อระหว่างป่า 2 แห่ง คือป่าธรรมชาติและป่าคอนกรีต โดยเมื่อเดินออกจากสถานีพหลโยธิน ผ่านสวนสมเด็จย่าที่ตั้งอยู่ติดกันแล้ว ผู้มาเยือนจะต้องข้ามสะพานลอยที่ตัดผ่านถนนหลัก 2 เส้นมายังอีกฟาก ก่อนจะพบกับอาคารองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และสำนักงานใหญ่ของบริษัทปตท. กลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน ขุดเจาะเชื้อเพลิง และเคมีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ภาพอาคารกระจกและตึกสูงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความต้องการของมนุษย์ในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต
ทว่าทันทีที่มุ่งหน้าเข้าไปในซอยนิคมรถไฟสาย 1 ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับอาคารสำนักงานทั้งสอง ผู้มาเยือนจะพบกับบรรยากาศเงียบสงบ ผิดกับการจราจรอื้ออึงตรงถนนใหญ่ ภายในซอยดังกล่าวเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ซึ่งมีทัศนียภาพเป็นสระน้ำของสวนวชิรเบญจทัศหรือ ‘สวนรถไฟ’ พื้นที่สีเขียว 375 ไร่ที่สร้างขึ้นในปี 2518 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โครงสร้างเรียบง่ายและพื้นที่เปิดโล่งของตัวอาคารนั้นเปิดรับเอาแสงธรรมชาติและลมเย็นๆ เข้ามาทั่วถึง อีกทั้งยังกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์ของสวนสีเขียวโดยรอบ จนอาจเรียกว่าเป็นจุดหมายปลายทางในอุดมคติสำหรับผู้ต้องการแสวงหาความรู้และแรงบันดาลใจจากคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ
ในสมุดบันทึก ท่านพุทธทาสจะแนบภาพถ่ายที่ได้จากการทดลอง พร้อมแนบรายละเอียดการตั้งค่ากล้องแบบต่างๆ และความเร็วชัตเตอร์ไว้จนเต็มเล่ม
หอจดหมายเหตุแห่งนี้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงท่านพุทธทาสภิกขุ หนึ่งในบุคคลสำคัญระดับโลกทางพุทธศาสนา เพราะผู้มาเยือนจะมีโอกาสได้ชมของใช้ส่วนตัวของท่าน ตลอดจนสมุดบันทึกและหนังสืออีกนับไม่ถ้วน ซึ่งหลายชิ้นผ่านการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าโดยนักเรียนธรรมะที่มุ่งมั่นจะเดินตามรอยภิกษุรูปนี้ แต่อาคารปูนเปลือยหลังนี้ยังเป็นสถานที่เก็บรักษามรดกสำคัญอีกชิ้นของท่านพุทธทาส กล่าวคือภาพถ่ายจำนวนมาก หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในยุคที่ 'แอคทีฟ' ที่สุดของท่านระหว่างปี 2473 ถึง 2500 ท่านพุทธทาสเป็นที่รู้จักในฐานะครูหัวก้าวหน้า ผู้อ้าแขนรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่คำสอน
เดิมที ภาพถ่ายเหล่านี้มีจุดประสงค์ไว้เพื่อเป็นสื่อทางธรรม แต่ทักษะการถ่ายภาพของท่านพุทธทาสภิกขุได้เริ่มเป็นที่ยอมรับและชื่นชมเป็นวงกว้างขึ้นในปี 2549 เมื่อหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ได้เผยแพร่ชุดภาพถ่ายและบทกวีทั้ง 423 ชิ้นของท่าน รวมทั้งบันทึกที่ท่านพุทธทาสจดไว้โดยละเอียดขณะทำการทดลองเทคนิคการถ่ายภาพแบบต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษ เอกสารและภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนภาพมนุษย์ผู้คิดแบบวิทยาศาสตร์และมีนิสัยชอบทดลองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในสมุดบันทึก ท่านพุทธทาสจะแนบภาพถ่ายที่ได้จากการทดลอง พร้อมแนบรายละเอียดการตั้งค่ากล้องแบบต่างๆ และความเร็วชัตเตอร์ของแต่ละภาพไว้จนเต็มเล่ม ท่านจะขีดกากบาทและเครื่องหมายถูกขณะทำการทดลองเพื่อประเมินและติดตามผลทุกครั้ง สมุดเล่มนี้จึงเป็นเสมือนคัมภีร์ถ่ายภาพที่เขียนขึ้นจากการลองผิดลองถูก และเผยให้เห็นถึงสไตล์และความรู้ความชำนาญของช่างภาพ
แม้จะรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ท่านพุทธทาสภิกขุก็ต่อต้านวัตถุนิยมอย่างเคร่งครัด ท่านเชื่อว่าภาพถ่ายเป็นสื่อการสอนที่มีประโยชน์ และมนุษย์จำเป็นต้องหัดใช้เทคโนโลยีแทนที่จะตกเป็นทาสมัน
ในภายหลัง ผลงานเหล่านี้ได้ไปเข้าตามานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพและศิลปินร่วมสมัยชื่อดัง ผู้นำผลงานของท่านพุทธทาสไปจัดแสดงในนิทรรศการ Photo Bangkok 2015 ภายใต้ชื่อ ‘ช่างภาพไทยที่โลกลืม’ “ตอนผมเห็นว่าภาพถ่ายบางชิ้นใช้เทคนิคภาพซ้อน ผมก็รู้เลยว่าฝีมือท่านต้องไม่ธรรมดา” มานิต ศรีวานิชภูมิ กล่าวในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในปี 2556 “เราทุกคนเคยเห็นภาพวัดสวยๆ ซึ่งปกติจะถูกใช้เพื่อดึงดูดให้คนหันมาสนใจพุทธศาสนา แต่ภาพถ่ายของท่านพุทธทาสนั้นต่างออกไปสิ้นเชิง มันเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์และปรัชญา แฝงไว้ด้วยความหมาย”
หนึ่งในผลงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดของท่านพุทธทาสภิกขุ (ซึ่งถูกนำไปใช้ในนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดแสดงผลงานของท่านเกือบทุกงาน) นั้นใช้เทคนิคการซ้อนภาพ (double exposure และ triple exposure) จนเกิดเป็นภาพแฝดสองของท่านพุทธทาสภิกขุขณะนั่งสนทนาธรรมจากคนละฟากของหินก้อนเดียวกันในสวน โดยมีคำบรรยายภาพเป็นการถามตอบระหว่างพระภิกษุทั้ง 2 รูปเกี่ยวกับชีวิตและความตาย เทคนิคดังกล่าวกลายเป็นเอกลักษณ์ในภาพถ่ายของท่านพุทธทาสภิกขุ โดยท่านมักนำภาพบุคคลหรือองค์ประกอบธรรมชาติมาซ้อนเข้าไปในภาพเพื่อให้ดูเหนือจริง ลงตัวกับคำบรรยายภาพที่มักเป็นปริศนาธรรมชวนขบคิด
ในอดีต สวนโมกขพลารามในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่ท่านพุทธทาสใช้ฝึกฝนและทดลองเทคนิคการถ่ายภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ โดยท่านพุทธทาสเริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกตั้งแต่สมัยที่ยังพำนักอยู่ที่สวนโมกข์เก่าในตำบลพุมเรียง และค่อยๆ เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้ภาพถ่ายในฐานะสื่อการสอน ท่านพุทธทาสภิกขุยังฝึกให้ภิกษุรูปอื่นๆ รู้จักวิธีถ่ายภาพและล้างฟิล์ม เพื่อเป็นผู้ช่วยในงานของท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือพระมหาบุญชู จิตปุญโญ ผู้ได้รับการบวชเป็นสามเณรที่สวนโมกข์ ในอำเภอไชยา เมื่อปี 2513 ท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนพระมหาบุญชูเกี่ยวกับการถ่ายภาพ และมอบหมายให้ภิกษุรูปนี้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยหลังเลนส์อยู่หลายปี
“ท่านอาจารย์มีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น นาฬิกา เครื่องเสียง และกล้องถ่ายรูป ตั้งแต่ก่อนจะบวชเป็นพระเสียอีก พอบวชแล้ว ท่านก็นำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาประกอบการสอน ท่านยกระบบเครื่องเสียงชุดแรกมายังสุราษฎร์ธานี และสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นเพื่อฉายภาพยนตร์และถ่ายทอดธรรมเทศนา ฉันคิดว่ามันเป็นรุ่นที่ผลิตออกมาแรกๆ และทุกวันนี้ก็ยังใช้งานอยู่ เราทำทุกอย่างในวัด ที่นั่นมีห้องมืดไว้สำหรับล้างฟิล์ม เวลาท่านสอนคนแก่หรือเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ท่านก็จะใช้ภาพในการอธิบายแง่คิดและมุมมองต่างๆ ถือเป็นการจุดประกายให้ท่านหันมาใช้ภาพถ่ายเป็นวิธีหลักในการสื่อสาร” พระมหาบุญชูเล่า
ในการถ่ายภาพ ท่านพุทธทาสภิกขุจะใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่รับถวายจากศิษย์และผู้ศรัทธา โดยจะวางคอนเซ็ปต์ภาพให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่ท่านต้องการจะสอน จนในที่สุดจึงเริ่มใช้ตัวท่านเองเป็นแบบ โดยขอให้ภิกษุรูปอื่นๆ ช่วยถ่ายภาพให้ “ฉันมีหน้าที่กดชัตเตอร์ให้ท่านอยู่หลายปี ท่านจะสั่งทุกอย่างชัดเจน วางกล้องตรงไหน ท่านจะนั่งตรงไหน ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงของกล้องเท่าไร หลังจากถ่ายภาพแล้ว ก็ต้องใช้เทคนิคต่างๆ ในห้องมืด เช่น การทำภาพซ้อนเพื่อให้ตัวท่านปรากฎในรูปเดียวกัน เหมือนกำลังถามตอบกับตัวเอง ภาพถ่ายพวกนี้ช่วยให้คนเข้าใจแนวคิดต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลาเป็นเรื่องยากๆ”
แม้จะรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ท่านพุทธทาสภิกขุก็ต่อต้านวัตถุนิยมอย่างเคร่งครัด ท่านเชื่อว่าภาพถ่ายเป็นสื่อการสอนที่มีประโยชน์ และมนุษย์จำเป็นต้องหัดใช้เทคโนโลยีแทนที่จะตกเป็นทาสมัน นี่เป็นสาเหตุที่ท่านไม่ยอมให้มีร่องรอยของความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สายไฟ หรือโทรศัพท์ ปรากฎอยู่ในภาพของท่านโดยเด็ดขาด และแม้ท่านจะยินยอมให้ใช้เทคนิคการล้างรูปในห้องมืด ในชีวิตประจำวันท่านกลับปฏิเสธที่จะพึ่งพาแสงจากหลอดไฟ และอาศัยเพียงแสงธรรมชาติเท่านั้น ท่านยังห้ามไม่ให้พระภิกษุนำกล้องถ่ายรูปออกนอกบริเวณสวนโมกข์ โดยกล่าวว่าทุกอย่างที่จำเป็นต้องถ่ายนั้นมีอยู่ในธรรมชาติที่โอบล้อมสวนโมกข์แล้ว
ในขณะที่ผู้สนใจศึกษาธรรมะจากทั่วประเทศต่างเดินทางไปเยือนสวนโมกข์ในอำเภอไชยา เพื่อศึกษาผลงานและดำเนินตามรอยท่านพุทธทาสภิกขุ หอจดหมายเหตุ พุทธทาสฯในกรุงเทพฯ ก็พยายามทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำสอนของท่านได้ง่ายยิ่งขึ้น สถานที่แห่งนี้เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญเกี่ยวกับท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งรวมไปถึงภาพสแกนจากหนังสือคู่มือการถ่ายภาพ และรายละเอียดการฉายภาพยนตร์ในโรงมหรสพทางวิญญาณ ในบรรดาคอลเลกชันที่น่าสนใจ คืองานเขียนระหว่างปี 2490 ถึง 2494 ซึ่งนอกจากบันทึกการถ่ายภาพที่ท่านจดไว้ขณะทำการทดลองแล้ว ยังมีหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นในชื่อ ‘แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน’ ซึ่งปรากฏภาพต้นฉบับที่ท่านและพระลูกศิษย์ได้ถ่ายไว้ด้วย “หนังสือเล่มนี้ไม่มีภาพไหนถ่ายด้วยฟิล์มเลย สมัยนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิล์มถ่ายรูปม้วนหนึ่งราคาแพงมาก ท่านอาจารย์เลยใช้กระดาษอัดรูปที่ราคาถูกกว่าแทน ซึ่งใช้แทนฟิล์มได้ก็จริง แต่กินเวลามาก เพราะต้องเปิดชัตเตอร์ทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน แต่ท่านอาจารย์ก็ทำออกมาเป็นหนังสือได้ทั้งเล่ม” พระมหาบุญชูกล่าว
กระดาษอัดภาพนั้นถูกออกแบบมาเพื่ออัดรูปจากฟิล์มที่มีรูปถ่ายแล้ว และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมความสว่างของแสงได้ การใช้กระดาษอัดภาพแทนฟิล์มจึงต้องอาศัยความอดทนและความใส่ใจรายละเอียดยิ่งยวด ไม่เพียงผู้ถ่ายต้องสามารถปรับการตั้งค่ากล้อง (Calibrate) อย่างชำนาญ ผู้ที่อยู่ในเฟรมภาพก็ต้องอยู่นิ่งมากพอให้ภาพไม่หลุดโฟกัสด้วย
แน่นอนว่าท่านพุทธทาสภิกขุได้บันทึกกระบวนการอันซับซ้อนทั้งหมดนี้ไว้ในสมุดของท่าน พร้อมรายละเอียดทางเทคนิคของผลลัพธ์ต่างๆ รวมทั้งคุณภาพของฟิล์มและภาพที่อัดได้ก่อนจะสรุปผลว่าฟิล์มรุ่นใดใช้ดีที่สุด การเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ยังครอบคลุมไปถึงการใช้งานกล้องโดยทั่วไป มีบันทึกจำนวนหลายหน้าที่อธิบายว่าท่านใช้กล้องตัวไหนกับเลนส์และชัตเตอร์แบบใด ท่านยังบันทึกเวลาถ่ายภาพและการตั้งค่าของกล้องที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดด้วย เช่น “ฉะเพาะ ง. เข้าใจว่าเพิ่มอีก 10 เท่า คือเป็น 30 sec คงจะพอดีก็ได้ คือราวๆ 100 เท่าของกะจก A-I-4400” ท่านพุทธทาสจดข้อความดังกล่าวไว้ในสมุดหน้าหนึ่งของท่าน รวมทั้งแนะนำการตั้งค่าที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใช้กล้อง Zeiss Ikon ด้วยเลนส์ Novar 4.5 และชัตเตอร์ Cronos-B ถ่ายเฉลียงในช่วงเช้า อาจต้องตั้งค่าชัตเตอร์ให้เร็วขึ้นกว่าถ่ายสวนมะพร้าว
จริงอยู่ที่สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ การถ่ายภาพนั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อเผยแผ่คำสอนแต่เอกสารต่างๆ ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เก็บรักษาไว้ ก็เผยให้เห็นถึงสติปัญญาอันปราดเปรื่องของพระภิกษุผู้เคร่งครัดในศาสนา และรู้จักนำกระบวนการคิดอย่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ จนก้าวผ่านข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วความสนใจในการถ่ายภาพของท่านพุทธทาสภิกขุดูจะแสดงถึง ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ หรือการเลือกเดินทางสายกลาง กล่าวคือ ท่านไม่เคยปิดกั้นเทคโนโลยี และมองว่ามันเป็นเครื่องมือล้ำค่าในการสอนคติธรรมและบทเรียนชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ดูจะบอกปัดความคิดที่ว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของโลกใบนี้ สังเกตจากเนื้อหาในภาพถ่ายของท่าน ที่มักเป็นกลอนธรรมะเกี่ยวกับธรรมชาติและความเป็นไปของชีวิต
จะอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายแบบ ‘คอนเซ็ปชวล อาร์ต’ นี้ ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคและการตั้งค่ากล้องอันสลับซับซ้อน กว่าจะสามารถผลิตผลงานแต่ละภาพออกมาได้
ท่านพุทธทาสภิกขุคงไม่สามารถเป็น “ช่างภาพชั้นครูที่โลกลืม” ไปได้อีกนานนัก ■
Essentials
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสายสอง กรุงเทพฯ