HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


Beating COVID-19 เอาชนะโรคร้ายด้วยความเข้าใจ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


COVID-19 ย่อมาจาก Corona Virus Disease 19 คือโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งพบเป็นครั้งแรกที่จีนในปลายปี 2019 และถูกตั้งชื่อว่า SARS-CoV-2 หมายความว่าพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับ SARS-CoV ที่ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศจีนเมื่อปลายปี 2002 (แต่จีนเปิดเผยให้โลกรู้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2003) ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อโรคซาร์ส นอกจากนั้นยังมี MER-CoV ที่ทำให้เกิดโรค Middle East Respiratory Syndrome หรือโรคเมอร์ส (MERS) ที่ค้นพบเมื่อปี2012 ในตะวันออกกลางอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นไวรัสโคโรนาที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อมนุษย์ เพราะทำลายระบบหายใจอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน จึงได้ถูกให้ชื่อว่า Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS

โดยทั่วไป ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียมาก แต่ไวรัสโคโรนานั้นถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีหัวหยักจึงเรียกว่า 'โคโรนา' มาจากภาษาละติน corona แปลว่า ‘มงกุฎ’ โดยเข้าใจว่ามีอยู่ทั้งหมด 7 ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ โดย 4 ใน 7 ชนิดทำให้เป็นไข้หวัด แต่อีก 3 ชนิดนำมาสู่โรคซาร์ส เมอร์ส และ COVID-19 ที่กล่าวถึงข้างต้น

ดังนั้น ด้วยธรรมชาติพื้นฐานเช่นนี้ แม้มนุษย์จะสามารถควบคุม COVID-19 ได้ในปี 2020 แต่ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่า

1. COVID-19 จะยังอยู่รอดต่อไปได้ แล้วหวนกลับมาระบาดใหม่อีกเป็นประจำทุกปีเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ปัจจุบันทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 500,000-600,000 คน มนุษย์เป็นไข้หวัดใหญ่ปีละ 500-600 ล้านคน ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่จึงอยู่ที่เพียงประมาณ 0.1% ซึ่งทำให้มนุษย์ 'ยอมทนอยู่กับไข้หวัดใหญ่' ได้ แต่กรณีของ COVID-19 นั้นอาจทำใจได้ยากกว่า เพราะอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 2% (และเกือบ 10% ในกรณีของซาร์ส)

2. ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า มนุษย์อาจจะต้องเผชิญกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดโรคชนิดใหม่ขึ้นมาอีก เช่น COVID-35 เป็นต้น เพราะธรรมชาติของไวรัสนั้นกลายพันธุ์และปรับตัวได้ตลอดเวลา

ในขณะนี้ ยังไม่มียาขนานใดที่รักษาโรคจากไวรัสได้ มีแต่ หนึ่ง ยาบำบัดหรือยาบรรเทาอาการ และ สอง ยาที่สร้างภูมิต้านทานไวรัส หรือที่เรียกว่า‘วัคซีน’ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดของ Genetic Engineering & Biotechnology News เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2020 ความพยายามของมนุษย์ในการพัฒนายาบำบัดหรือวัคซีนเพื่อใช้กับ COVID-19 นั้น ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 60 ตำรับ ในจำนวนนี้มี 4 ตำรับยาบำบัดที่น่าติดตามความคืบหน้า และมีอีก 5 บริษัทกำลังค้นคว้าทดลองวัคซีน เฉพาะในส่วนของวัคซีนนั้น หากทำสำเร็จและนำมาใช้ป้องกัน COVID-19 ได้ อย่างเร็วก็คงจะต้องรอจนถึงต้นปี 2021 หรือนานกว่านั้นแต่ในกรณีของยาบรรเทาอาการ COVID-19 ตอนนี้ความหวังน่าจะอยู่ที่ยา 'เรมเดสิเวียร์ (Remdesivir)' ของบริษัทกิเลียด(Gilead) ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นทำการทดลองกับมนุษย์ในขั้นสุดท้าย (Phase III Clinical trials) และจะสามารถแจ้งผลให้ทราบได้ในเดือนพฤษภาคม 2020 นี้

เนื่องจากในปัจจุบันแนวทางในการจัดการกับ COVID-19 นั้น ปัจจุบันมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ การคิดค้นวัคซีน (Vaccine) และยาบำบัด (Treatment) จึงควรทำความเข้าใจกับลักษณะพื้นฐานของ 2 แนวทางนี้ด้วย

ในขณะนี้ ยังไม่มียาขนานใดที่รักษาโรคจากไวรัสได้ มีแต่ หนึ่ง ยาบำบัดหรือยาบรรเทาอาการ และ สอง ยาที่สร้างภูมิต้านทานไวรัส หรือที่เรียกว่า‘วัคซีน’

การคิดค้นวัคซีน (Vaccine)

การฉีดวัคซีน คือการที่เราสามารถเพาะไวรัส SARS-CoV-2 ได้และดัดแปลงให้เป็นเชื้อที่อ่อนแอ เพื่อฉีดเข้าไปในร่างกายให้เกิดการติดเชื้อแบบอ่อนๆ ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะได้ ‘รู้จัก’ ข้าศึกตัวนี้แล้วปราบให้ราบคาบ โดยในอนาคตหากมีไวรัส SARS-CoV-2 เข้ามาบุกรุกร่างกายของเราอีก ระบบภูมิคุ้มกันก็จะรู้วิธีปราบให้ราบคาบได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม การค้นพบวัคซีนที่ดีเลิศเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่นั้นเรามีวัคซีนสำหรับเฉพาะบางสายพันธุ์และต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นระยะๆ ในบางกรณีเช่นไวรัส HIV (human immunodeficiency virus) นั้นมนุษย์ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนเพื่อจัดการกับ HIV ได้ ดังนั้นแนวทางในการดูแลผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบันจึงทำได้เพียงการให้กินยาต้านทาน HIV ทุกวันไปตลอดชีวิต เพื่อ ‘กด’ จำนวนไวรัส HIV ไม่ให้เพิ่มขึ้นจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถึงขนาดทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่การเป็นโรคเอดส์ (AIDS­­­­­­ — Acquired Immune Deficiency Syndrome) อย่างเต็มรูปแบบ

ยาบำบัด (Treatment)

หากสังเกตคำอธิบายของตัวยา เช่น Remdesivir ของบริษัทกิเลียดที่อยู่ในระหว่างการทดลองกับมนุษย์ในขั้นตอนสุดท้าย หรือ Phase III human clinical trials นั้น จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า Treatment หรือที่แปลในที่นี้ว่า ‘ยาบำบัด’ ไม่ใช่ยาเพื่อ ‘รักษา’ (cure)  โดย Remdesivir มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า RNA polymerase ที่ไวรัสหลายประเภทต้องใช้ในการแบ่งตัวและขยายพันธุ์ออกไป พูดง่ายๆ คือยานี้ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณไวรัสในเซลล์ เพื่อซื้อเวลาให้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการออกมาปราบปรามไวรัสนั่นเอง แต่ผลสำเร็จดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในห้องทดลองและในหนูที่ติดเชื้อSARS-CoV (โรคซาร์สเมื่อปี 2003) และ MERS-CoV (โรคเมอร์ส) อย่างไรก็ดีองค์การอนามัยโลกและหลายประเทศตั้งความหวังเอาไว้กับ Remdesivir อย่างมาก นอกจากนั้นยังมียาตำรับอื่น เช่น Favipiravir ที่มีสรรพคุณเหมือนกับRemdesivir ในอีกด้านหนึ่งได้มีการทดลองใช้ยาต้านHIV เช่น Kaletra (เป็นการผสมกันของตัวยาLopinavir และ Ritonavir) โดยยากลุ่มนี้จะสกัดกั้นการทำงานของ 3-chymotrysin-like protease (3CLpro) เอนไซม์สำคัญที่ช่วยให้ไวรัสโคโรนาสามารถแบ่งตัวและขยายพันธุ์ได้

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือ Avigan ที่พัฒนาโดย Fujifilm

ยา Favipiravir หรือ Avigan ที่พัฒนาโดยบริษัทFujifilm นั้น มีสรรพคุณคล้ายคลึงกับ Remdesivir ที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ RNA polymerase ที่ใช้ในการแบ่งตัวและขยายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งนิตยสาร Nikkei Asian Review รายงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2020 ว่าทางการจีนแนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวในการบำบัด COVID-19 โดยอ้างการแถลงข่าวของนายจาง ซินหมิน (Zhang Xinmin) ผู้อำนวยการ China National Center for Biotechnology Development ว่า Favipiravir ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทFujifilm ของญี่ปุ่น และมีชื่อทางพาณิชย์ว่า Avigan นั้น “very safe and effective” (มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลอย่างมาก) ในการบำบัด COVID-19

มีความเป็นไปได้สูงว่าไวรัสโคโรนาจะยังอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน ซ้ำยังอาจกลายพันธุ์เป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สูงสุดทั้งในวันนี้และในวันข้างหน้า

Favipiravir ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นและได้ถูกใช้กับผู้ป่วยที่ญี่ปุ่นบ้างแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทางการญี่ปุ่นยังระมัดระวังไม่ใช้ยาดังกล่าวอย่างแพร่หลาย โดยรายงานข่าวระบุว่า “Studies have shown that the drug can cause fetal deformities and deaths, and can be transferred in semen” (งานวิจัยพบว่ายานี้อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดหรือเสียชีวิต และสามารถส่งผ่านทางน้ำอสุจิได้) นอกจากนี้ สำนักงานอาหารและยาของเกาหลีใต้ยังไม่อนุมัติให้ใช้ยา Favipiravir โดยอ้างว่ายังไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่ายานี้มีประสิทธิภาพในการรักษา COVID-19

อย่างไรก็ตาม จีนเองได้ประกาศผลการทดลองที่ทำกับผู้ป่วย 200 รายที่เมืองอู่ฮั่นและเสิ่นเจิ้น สรุปได้ว่า

ผู้ที่ใช้ Favipiravir ปลอดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในเวลา 4 วัน เทียบกับผู้ไม่ใช้ยาที่โดยเฉลี่ยต้องรอถึง 11 วันกว่าจะปลอดเชื้อ

อาการไอลดลงภายใน 4.6 วัน เร็วกว่าคนที่ไม่ได้รับยา 1.4 วัน และอาการไข้ลดลงภายใน 2.5 วัน เร็วกว่าคนที่ไม่ได้รับยาที่ต้องรอถึง 4.2 วัน

ผู้ป่วยที่ใช้ยา Favipiravir นั้นมีเพียง 8.2% ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เปรียบเทียบกับ 17.1% ในกรณีของผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมียาที่ประเทศจีนและประเทศไทยทดลองใช้ในการบำบัดอาการของ COVID-19 คือส่วนผสมระหว่างยาKaletra ซึ่งใช้ในการบำบัดเชื้อ HIV และยา Interferon ซึ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง โดย Interferon นั้นเป็น cytokines หรือโปรตีนที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยและเกณฑ์ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของเรารีบมาจัดการกับไวรัสที่บุกรุก แต่อาจมีกรณีที่ cytokines ทำงานมากเกินไป (อย่างเสียสติ) จนเป็นสาเหตุทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันฆ่าเซลล์ไม่เลือกหน้า ทั้งเซลล์ปกติและเซลล์ที่ถูกไวรัส ‘เข้าสิง’ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

ยาอีกตำรับหนึ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โฆษณาว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ (game changer) ในการรักษา COVID-19 คือ Hydroxychloroquine (ชื่อยา Plaquenil ผลิตโดยบริษัท Sanofi) ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่นายแพทย์ในฝรั่งเศสนำไปใช้ทดลองกับคนไข้ 25 คนแล้วพบว่าได้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้พร้อมกับยา Azithromycin (ชื่อยา Zithromax) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่ปอด โดยพบว่าคนไข้ที่ได้รับยาทั้ง 2 ขนานปลอดเชื้อ COVID-19 ภายใน 6 วัน ถือเป็นอัตราส่วน 100% เมื่อเปรียบเทียบกับคนไข้ที่ไม่ได้รับยาดังกล่าวซึ่งมีเพียง 12.5% ที่ปลอดเชื้อ แต่เนื่องจากเป็นการทดลองที่มีขอบเขตจำกัด สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ จึงยังไม่ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการรักษาดังกล่าวในขณะนี้

สรุปอีกทีได้ว่าความพยายามบรรเทาอาการ และ/หรือหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 นั้นยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน และมีความเป็นไปได้สูงว่าไวรัสโคโรนาจะยังอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน ซ้ำยังอาจกลายพันธุ์เป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้และรู้จักวิธีดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สูงสุดทั้งในวันนี้และในวันข้างหน้า



บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 'Beating COVID-19 เอาชนะโรคร้ายด้วยความเข้าใจ' โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งเป็นคู่มือความเข้าใจพื้นฐานสำหรับประชาชนเกี่ยวกับ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของโรค ปัจจัยเสี่ยง ความเป็นไปได้ของการรักษา ตลอดจนบทเรียนเชิงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการรับมือของประเทศต่างๆ ผู้ที่สนใจ อ่านฉบับเต็มได้ที่ PDF Beating COVID-19