HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


ไวรัสโคโรนากับชีวิตและการลงทุน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล
สายงานลูกค้าบุคคล
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ในอนาคต หลายคนอาจมองย้อนกลับมาที่วิกฤตไวรัสโคโรนาว่าเป็นจุดหักเหสำคัญจุดหนึ่งของมนุษยชาติ เป็นวิกฤตที่หลายคนไม่เคยเจอมาก่อน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

มีคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่เราทำซ้ำจนเกิดเป็นความเคยชิน (habit) เป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเรา” ดังนั้น วิกฤต COVID-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเราอย่างมีนัยสำคัญก็อาจกระทบแนวทางการใช้ชีวิตในอนาคตได้หาก “ความเคยชิน” ของเราเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบันประชากรทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญกับจังหวะชีวิตที่ต่างจากเดิม หลายคนต้องหันมาทำงานที่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ขณะที่หลายคนจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน การเรียนการสอนก็เปลี่ยนแปลงไปสู่สื่อวิดีโอ ส่วนการสังสรรค์และกิจกรรมในยามว่างก็ต้องย้ายไปผ่านสื่อออนไลน์

ในภาวะปกติ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ วิถีชีวิตของคนนับล้านถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนหมู่มาก ทำให้ธุรกิจหลายประเภทประสบปัญหาอย่างหนักจนอาจต้องปิดตัวลงไป แต่ก็มีธุรกิจในโลกดิจิทัล และธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราอยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้ได้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามาเป็นหน้าต่างสู่โลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมทางไกล ไปจนถึงการเข้าถึงสื่อบันเทิงต่างๆ ล้วนแต่ต้องพึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทไอทีทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจไม่คุ้นชิน หรือแอบต่อต้านการใช้เทคโนโลยี แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้แทบทุกคนต้องหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์เช่นนี้น่าจะเป็นตัวเร่งให้นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบ 5G หรือ virtual reality (VR) พัฒนาและแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 ตั้งแต่การปิดโรงงาน การหยุดสายการบิน ไปจนถึงการปิดห้างสรรพสินค้า จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ (globalisation) เปลี่ยนกลับมาเป็นการพึ่งพิงกันเองภายในประเทศมากขึ้นอีกด้วย

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มีผลต่อระบบต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากทั้งลูกจ้างและนายจ้างค้นพบว่าการทำงานอยู่ที่บ้านไม่ได้ลดคุณภาพของงานลง นั้นก็หมายความว่า ระยะทางไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป การเข้าไปอยู่อาศัยในเมืองใหญ่เพื่อให้ใกล้กับที่ทำงานก็อาจไม่จำเป็นแล้ว หรืออย่างร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ คงเห็นความสำคัญที่มากขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กลายเป็นตลาดหลักแทนที่การเดินช้อปปิ้งไปแล้ว

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 ตั้งแต่การปิดโรงงาน การหยุดสายการบิน ไปจนถึงการปิดห้างสรรพสินค้า จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ (globalisation) เปลี่ยนกลับมาเป็นการพึ่งพิงกันเองภายในประเทศมากขึ้นอีกด้วย

วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้กระทบแนวทางการใช้ชีวิตของเราอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งสร้างความไม่แน่นอนและความผันผวนในโลกการเงินการลงทุนอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาดอย่างหนักก็มีเหตุการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์การลงทุนยุคใหม่หลายต่อหลายครั้ง เช่น ความผันผวนของตลาดหุ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตลาดหุ้นร่วงลงกว่า 20% และเข้าสู่ภาวะ 'ตลาดหมี (Bear Market)' อย่างรวดเร็วที่สุด ขณะที่การรีบาวด์ก็ทำให้ตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะ 'ตลาดกระทิง (Bull Market)' ไวที่สุด โดยทั้งหมดนี้ใช้เวลาแค่ไม่กี่สิบวัน นอกจากนี้ เรายังเห็นการออกนโยบายอุ้มเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างการทำ QE ไม่จำกัดปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือนโยบายการคลังของสหรัฐฯ กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นกว่า 10% ของ GDP

ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เรายังเชื่อมั่นในการจัดสรรเงินลงทุนเป็นพอร์ตฟอลิโอ (asset allocation) ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ และมองว่าความผันผวนเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะทยอยสะสมสินทรัพย์ต่างๆ

นักลงทุนอาจใช้จังหวะนี้ในการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์พื้นฐานดี พร้อมทั้งลดหรือเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีโอกาสทำให้เผชิญโอกาสขาดทุนถาวร (permanent loss) เช่น หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทที่มีความเสี่ยงจะล้มหายตายจาก

นอกจากนี้ การเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเทขายที่ 'ไม่เลือกหน้า' โดยสินทรัพย์ทั้งที่พื้นฐานดีและแย่ต่างปรับตัวลงอย่างรุนแรงแทบทั้งสิ้น ดังนั้น นักลงทุนอาจใช้จังหวะนี้ในการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์พื้นฐานดี พร้อมทั้งลดหรือเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีโอกาสทำให้เผชิญโอกาสขาดทุนถาวร (permanent loss) เช่น หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทที่มีความเสี่ยงจะล้มหายตายจาก หรือลดความสำคัญลงไปอย่างมากจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

เข้าใจได้ว่านักลงทุนหลายท่านอาจมีความกังวลที่จะลงทุนในภาวะที่ตลาดย่ำแย่ เพราะคิดว่าอาจแย่ได้อีก แต่ความเป็นจริงก็คือ “ไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำที่สุดอยู่ตรงไหน”

แม้ความผันผวนและข่าวร้ายต่างๆ ที่ออกมาอย่างไม่หยุดหย่อนจะสร้างความสับสนและหวาดกลัวให้กับนักลงทุน จนทำให้เกิดแรงขายอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนที่ประสบผลสำเร็จหลายต่อหลายคนเลือกที่จะมองสถานการณ์ที่มีความผันผวนนี้ว่า 'เป็นเรื่องปกติ' ที่จะผ่านไปในที่สุด

ในภาวะที่ตลาดเต็มไปด้วยความกลัว ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์แล้วมั่นใจว่าวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย เราไม่ควรลืมว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนระดับตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ จอห์น เนฟ เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน หรือโฮเวิร์ด มาร์ก ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นได้คือ 'ความกล้าเมื่อคนอื่นกลัว'

การตรวจสอบพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีสติและวินัยไม่ตื่นตระหนกจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนทุกคนควรให้ความสำคัญ

วิกฤตครั้งนี้เป็นเหมือนการเตือนให้มนุษย์รู้ว่า เรานั้นเล็กนักเมื่อเทียบกับพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความแน่นอนคือความไม่แน่นอนจริงๆ