SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย...ดอกเบี้ยอะไร แล้วลดไปทำไม?
ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายนเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ครั้งสุดท้ายที่เราเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับนี้คือเมื่อ 10 ปีก่อน หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มจากสหรัฐอเมริกาและส่งผลออกไปทั่วโลก
หลังจากนั้น หลายท่านคงได้ยินข่าวธนาคารพาณิชย์หลายแห่งออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหลายระยะ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ บางแห่งก็ลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Lending Rate—MLR) บางแห่งก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate—MRR) หรือบางแห่งก็ลดอัตราลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate—MOR) ซึ่งนี่คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดกับลูกค้าชั้นดี ที่อาจนำไปอ้างอิงเพื่อคิดดอกเบี้ยที่ลูกค้ารายย่อยใช้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กกู้จากธนาคาร ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้อยู่ที่ราวร้อยละ 6-7 ต่อปี
และหลายท่านคงเห็นว่าหลังจาก กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุยาวๆ กลับปรับสูงขึ้น พร้อมๆ กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.6-1.8 ต่อปี
อาจจะทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่า อัตราดอกเบี้ยมีหลายประเภท แล้วที่หลายคนบอกว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนั้น ลดดอกเบี้ยอันไหน
อัตราดอกเบี้ยที่ กนง. ประกาศปรับในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถือเป็น 'อัตราดอกเบี้ยนโยบาย' ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คืออัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรประเภทข้ามคืน หรือ overnight repo rate ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่มีอายุเพียงหนึ่งวันที่ธนาคารกู้ยืมระหว่างกันหรือกู้ยืมจาก ธปท. โดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยธุรกรรมเงินกู้ระหว่างธนาคารที่แทบไม่มีความเสี่ยงเลย (เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) และมีอายุการกู้เพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น และธนาคารกลางอย่าง ธปท. จะเข้าแทรกแซงในตลาดโดยการอัดฉีดหรือดูดสภาพคล่องจากระบบเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงหรือใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศไว้
อัตราดอกเบี้ยที่ กนง. ประกาศปรับในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถือเป็น 'อัตราดอกเบี้ยนโยบาย' ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คืออัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรประเภทข้ามคืน หรือ overnight repo rate
ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ fed funds rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน ปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารที่ต้องการสภาพคล่อง ในระยะเวลาหนึ่งวันเช่นกัน
จนบางคนอาจสงสัยว่า แล้วธนาคารกลางเหล่านี้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยทำไม และถ้าธนาคารกลางกำหนดอัตราดอกเบี้ยแค่ระยะสั้นมากเช่นนี้ จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่นๆ และเศรษฐกิจได้อย่างไร
ช่องทางที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากไป มีผลต่อเศรษฐกิจ อาจจะบอกได้ว่ามีอยู่ 3 ช่องทางใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง คือช่องทางอัตราดอกเบี้ยและช่องทางสินเชื่อ เพราะเมื่อธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ต้นทุนทางการเงินของธนาคารและผู้เล่นในตลาดก็จะปรับลดลง เพราะธนาคารสามารถกู้ยืมระหว่างธนาคารได้ในอัตราที่ถูกลง
ถ้าตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำนี้ไปอีกสักระยะ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินระยะสั้นที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะปรับลดลงมาใกล้เคียงกับระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย (แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว อาจปรับตัวตามหรือตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต และปัจจัยอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน) ทำให้ผู้ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้เอกชน สามารถกู้เงินได้ในอัตราที่ถูกลง และอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนก็ปรับลดลงด้วย และอย่างที่เห็นว่าเกือบทุกครั้งที่ธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารส่วนใหญ่มักจะใช้การขยับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวอ้างอิง (benchmark) ในการปรับอัตราดอกเบี้ย ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ตามไปด้วยตามต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และการแข่งขันในตลาด
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้ต้นทุนการบริโภค (เช่น ต้นทุนการกู้เพื่อซื้อรถและบ้าน หรือสินเชื่อเพื่อการบริโภค) และต้นทุนการลงทุน (เช่น สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อการลงทุน) ลดลง ส่งผลกระตุ้นให้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้ต้นทุนการบริโภค (เช่น ต้นทุนการกู้เพื่อซื้อรถและบ้าน หรือสินเชื่อเพื่อการบริโภค) และต้นทุนการลงทุน (เช่น สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อการลงทุน) ลดลง ส่งผลกระตุ้นให้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อภาระทางการเงินของผู้กู้ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อาจทำให้สถาบันการเงินยินดีปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับระบบเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย
สอง เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง อาจทำให้ราคาสินทรัพย์เช่นหุ้นหรือพันธบัตรมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนทั้งบริษัทและนักลงทุนรายย่อยปรับสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นให้มีการบริโภคและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
สาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสทำให้ค่าเงินปรับลดลง (โดยเปรียบเทียบ) เพราะความน่าสนใจของเงินมีลดลง ค่าเงินที่อ่อนค่าลง อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้น ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น การนำเข้าลดลง และส่งผลเป็นการกระตุ้นให้กับภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลต่อการคาดการณ์และความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภค เช่น ถ้านักลงทุนเห็นธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ในภาวะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ชัดเจน น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจที่จะบริโภคและลงทุนเพิ่มมากขึ้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคเร่งใช้จ่ายในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงแม้เป็นดอกเบี้ยระยะสั้นมากๆ แต่ก็สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ในหลายช่องทาง นอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเองแล้ว การสื่อสารของธนาคารกลางเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคต และทิศทางของนโยบายการเงินเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ก็เป็นประเด็นที่มีผลต่อแนวโน้มภาพเศรษฐกิจและการลงทุน
นักลงทุนจึงควรติดตามการสื่อสารของธนาคารกลางอย่างใกล้ชิด ■