HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

SERVING YOU


The Next Episode

KK NeXtGen: From Study to Success โครงการบ่มเพาะทายาทธุรกิจระยะสั้นที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21

ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นในยุคดิจิทัล ธุรกิจจำนวนมากต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่การปรับตัวเพื่อเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและนอกองค์กร ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ยิ่งเป็นในกรณีของธุรกิจครอบครัวแล้ว โจทย์ที่ว่ายังครอบคลุมถึงความท้าทายในการรักษาอัตลักษณ์ของครอบครัว การสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างสมาชิกแต่ละรุ่น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมทายาทในการสืบทอดธุรกิจ ซึ่งอย่างหลังนั้นเป็นบันไดขั้นพื้นฐานไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว

จากผลสำรวจเมื่อปี 2019 ของ Deloitte Insights พบว่าในบรรดาธุรกิจครอบครัวจำนวน 791 แห่งจาก 58 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 41% ที่มีการวางแผนเรื่องการสืบทอดกิจการไว้แล้ว อย่างไรก็ดี การวางแผนในเรื่องดังกล่าวควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้ทายาทธุรกิจนั้น เป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการรักษาความมั่งคั่งของครอบครัวในระยะยาว ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรจึงได้จัดโครงการบ่มเพาะทายาทธุรกิจ KK NeXtGen: From Study to Success อันเป็นหลักสูตรอบรมระยะเวลา 1 เดือน เพื่อถ่ายทอดทักษะการบริหารธุรกิจและประสบการณ์ตรง พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทายาทของลูกค้ากลุ่ม PRIORITY ของทางธนาคาร ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวกำลังก้าวเข้าสู่รุ่นที่ 7 และได้ผลตอบรับน่าพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมต่อเนื่อง

จากน้องสู่พี่

โดยปกติแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการ KK NeXtGen จะได้รับการชักชวนจากพ่อ แม่ หรือทายาทธุรกิจรุ่นก่อนหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับช่วงธุรกิจครอบครัวในอนาคต แต่ปัจจุบัน มีทายาทธุรกิจรุ่นใหม่หลายคนที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ แล้วเกิดความประทับใจในตัวหลักสูตร จนเกิดการชักชวนให้พี่หรือน้องของตนเข้าร่วมในรุ่นถัดไป

อย่างในกรณีของนีน่า และไนน จารุเธียร ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งโรงหมึกพิมพ์ทองกูลไทยนั้น ไนน ผู้เป็นน้องชาย ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 5 ภายหลังจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีภาพและการพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านเต็มตัว บริษัททองกูลไทยเป็นผู้ผลิตหมึกพิมพ์ชั้นนำของประเทศ โดยจำหน่ายหมึกพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภท soft packaging อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ขวดน้ำดื่ม สินค้าอุปโภค และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้วยความที่ไม่ได้เรียนสายบริหารมา ประกอบกับต้องการก้าวทันต่อกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและตลาดแรงงานที่หดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจหมึกพิมพ์โดยตรง ไนนจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวตามคำแนะนำของคุณพ่อและเพื่อนที่เคยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเขารู้สึกประทับใจตลอดทั้งหลักสูตร “ใครที่ไม่มีเวลาไปเรียน MBA ผมว่าคอร์สนี้เป็นเหมือนทางลัด หนึ่งเดือนตรงนี้เป็นโอกาสให้เราได้ค้นหาตัวตน ใครที่วางแผนจะกลับไปช่วยธุรกิจครอบครัว ก็สามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้จริง หรือกระทั่งคนที่ทำงานประจำข้างนอกก็เข้าร่วมได้ เพราะหลักสูตรมีความกระชับและกินเวลาแค่ 1 เดือน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานนัก” เขากล่าว

นี่เองเป็นสาเหตุที่ไนนตัดสินใจชวนนีน่า พี่สาวของเขาผู้ซึ่งเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชี ก่อนจะต่อยอดมาทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับ Big 4 ในด้านการซื้อขายกิจการ (merger and acquisition) แม้จะยังไม่ได้กลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวเต็มตัว เพราะยอมรับว่ายัง ‘อิน’ กับงานสายบัญชีอยู่มาก นีน่าก็ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในรุ่นที่ 6 เธอรู้สึกว่าความรู้ที่ได้รับจากโครงการ KK NeXtGen นั้น ช่วยให้เธอเข้าใจภาพของธุรกิจและสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม “ถึงเราจะเติบโตมาจากสายธุรกิจ แต่พอเข้าไปเรียนจริง เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือได้รู้ในสิ่งที่รู้แล้วแต่ลึกกว่าเดิม เราได้เจอเพื่อนจากหลายแบคกราวน์ธุรกิจ ทำให้เวลาพรีเซนต์งานเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีจุดที่เรารู้สึกว่าตัวเองคิดไม่ถึง หรือคิดต่าง” นีน่าเล่า “เขาตั้งใจจัดให้แต่ละกลุ่มในชั้นเรียนมีคนจากทุกสายธุรกิจ แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พอได้มาทำงานกลุ่มด้วยกัน เลยได้แบ่งปันความรู้และสนุกด้วย” ไนนกล่าวเสริม

จากพี่สู่น้อง

นีน่าและไนน ไม่ใช่พี่น้องคู่เดียวที่ประทับใจกับโครงการ KK NeXtGen จิราภรณ์ แพทยานันท์ คืออีกหนึ่งคนที่ถูกชักชวนเข้าโครงการจากคนในครอบครัว จิราภรณ์ ซึ่งเป็นทายาทของบริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือซีเอ็มซี กรุ๊ป หลังจบการศึกษาในสาขาการตลาด จากประเทศออสเตรเลีย เธอตัดสินใจเข้าทำงานที่โรงแรมที่นั่น จากนั้นจึงย้ายไปทำงานในฐานะลูกเรือของสายการบิน Qatar Airways เธอวนเวียนอยู่ในสายงาน hospitality หลายปี ก่อนจะกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวเต็มตัวเมื่อปลายปี 2018 โดยธนิกุล แพทยานันท์ พี่ชายแท้ๆ ของเธอผู้ซึ่งเข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวหลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นเคยมีโอกาสเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะทายาทธุรกิจ รุ่นที่ 3 แล้วเกิดความประทับใจอย่างมาก จึงอยากให้น้องสาวสัมผัสประสบการณ์นี้บ้าง “เรามาเข้าร่วมโครงการนี้ในรุ่นที่ 5 ความคาดหวังของเราในตอนนั้น คือการปูพื้นฐานความรู้เรื่องธุรกิจที่เป็นศูนย์ รวมทั้งอยากค้นหา passion ในการกลับมาต่อยอดธุรกิจที่บ้าน” จิราภรณ์เล่า

ใครที่ไม่มีเวลาไปเรียน MBA ผมว่าคอร์สนี้เป็นเหมือนทางลัด ใครที่วางแผนจะกลับไปช่วยธุรกิจครอบครัว ก็สามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้จริง หรือกระทั่งคนที่ทำงานประจำข้างนอกก็เข้าร่วมได้

โครงการ KK NeXtGen นั้นเป็นหลักสูตรอบรมธุรกิจแห่งแรกที่จิราภรณ์เข้าร่วม โดยในขณะนั้น เธอยังสนุกกับชีวิตลูกเรือ แต่ก็ตัดสินใจใช้วันลาพักร้อนทั้งหมดเพื่อบินกลับมาประเทศไทยเกือบหนึ่งเดือนเต็ม หลังโครงการสิ้นสุดลง เธอก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว และยอมละทิ้งความฝันของตัวเองไว้เบื้องหลัง เธอยอมรับว่ายังใหม่กับธุรกิจอสังหาฯ และต้องต่อยอดไปเรียนรู้ในส่วนงานอื่นๆ อีกมาก “จริงๆ ตอนนี้รุ่นคุณพ่อก็ยังดูธุรกิจอยู่ รุ่นท่านแข็งแกร่งมาก จนสามารถเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสได้ในปี 2018 เราเลยต้องมานั่งคิดเลยว่า พอถึงยุคเรา จะเปิดตัวธุรกิจรูปแบบไหน เทรนด์โลกในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ยิ่งหลังทำ IPO แล้ว เราต้องถีบตัวเองมากกว่าเดิม ต้องทำ ต้องคิดให้คม จะลองผิดลองถูกไม่ได้ โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับการเข้ามาของ Digital Disruption ซึ่งจะมีผลอย่างมากกับรูปแบบธุรกิจอสังหาฯ ในอนาคต” ปัจจุบัน จิราภรณ์ดำรงตำแหน่งนักการตลาดในฝ่ายพัฒนาที่ดินและโครงการของบริษัท โดยล่าสุดเธอได้รับมอบหมายให้ดูแล The Cuvee โครงการมิกซ์ยูสในย่านติวานนท์ ซึ่งถือเป็นโครงการระดับบนของซีเอ็มซี กรุ๊ป

จากผลสำรวจของบริษัท PwC ในชื่อ Thailand Family Business Survey ในปี 2019 พบว่า 57% ของธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยมีการวางแผนการสืบทอดกิจการ และราว 1 ใน 3 นั้นมีการร่างและบังคับใช้ธรรมนูญครอบครัว แต่การวางแผนส่งต่อธุรกิจก็ต้องกระทำอย่างเป็นระบบและมีโครงสร้างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภายหลังเมื่อทายาทธุรกิจเข้ามารับช่วงเต็มตัว โดยเฉพาะในกรณีที่ธุรกิจนั้นถูกบริหารโดยตระกูลใหญ่ ในทำนองเดียวกัน จิราภรณ์เล็งเห็นว่าความเป็นตระกูลใหญ่ของซีเอ็มซี กรุ๊ป ซึ่งแตกแขนงออกเป็น 12 ครอบครัวย่อย นั้นเป็นความท้าทายสำคัญ ทำให้นอกจากเรื่องการตลาดแล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance structure) และธรรมนูญครอบครัว เป็นอีก 2 ประเด็นที่เธอรู้สึกว่าได้ประโยชน์มากจากโครงการ “ในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ๆ อาจไม่รู้จักรุ่นพ่อรุ่นแม่เราแล้ว เราเลยอยากเพิ่มเติมในจุดนี้ลงไปในธรรมนูญครอบครัวเมื่อถึงเวลาอันสมควร แน่นอนว่าเราต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย แต่ของเดิมก็ต้องยังคงอยู่ด้วย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจว่ารากเหง้าเรามาจากไหน ก่อนจะมีวันนี้เราเป็นอย่างไร ซึ่งเราชอบที่โครงการ KK NeXtGen เขามีสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้”

มิตรภาพและมุมมองใหม่

เนื้อหาการอบรมของโครงการ KK NeXtGen นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง และกินระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์แรก จะมีการเชื้อเชิญวิทยากรมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองสนุกๆ ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งในรุ่นก่อนๆ นั้นมีทั้งกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดัง กวิน ว่องกุศลกิจ นักธุรกิจรุ่นใหม่เจ้าของโคเวิร์กกิ้งสเปซ Glowfish และผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงต่างๆ อีกหลายคน ก่อนที่ในสัปดาห์ที่ 2-4 ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับมิติทางธุรกิจอื่นๆ เช่น การวางแผนทางการเงิน กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ธรรมนูญครอบครัว และการสร้างจริยธรรมที่ดีต่อองค์กรและสังคม (Corporate Social Responsibilities) เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นแล้ว อีกสิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการในลักษณะเดียวกับ KK NeXtGen จะได้รับ ก็คือโอกาสในการสร้างเน็ตเวิร์กกิ้ง ซึ่งในหลายกรณีได้เบ่งบานไปเป็นมิตรภาพในระยะยาว “ทุกวันนี้ เพื่อนที่รู้จักจาก KK NeXtGen ก็ยังคบกันอยู่ ยังไปงานแต่ง ในคลาสหนึ่งมี 50 คนโอบล้อม มันต้องได้เพื่อนกลับมาบ้าง เรายังมีเพื่อนอย่างน้อยคนสองคนที่โทรหาได้ทุกวัน พี่ชายก็เหมือนกัน” จิราภรณ์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม ซึ่งไนนและนีน่าเองได้รับมิตรภาพในลักษณะคล้ายๆ กันกลับไปหลังจบโครงการ “เราได้ทั้งคอนเนกชัน ได้เพื่อน ถึงเรียนจบมาแล้ว แต่ก็ยังช่วยเหลือและคอยให้คำปรึกษากัน ถือเป็นหนึ่งเดือนที่คุ้มค่ามาก” นีน่ากล่าว

ทั้งสองพี่น้องยังบอกเล่าความประทับใจอีกประการเกี่ยวกับโครงการ KK NeXtGen ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายของทั้งคู่ กล่าวคือ ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนทางเลือกอย่างการสะสมงานศิลปะและไวน์ อันเป็นงานอดิเรกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้สะสม “วิทยากรเขาสอนว่างานศิลปะและไวน์เป็นของสะสมที่มีมูลค่า และเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ เขาสอนกระทั่งพื้นฐานการเข้าสังคมอย่างวิธีการถือแก้วไวน์” เธอเล่า

ทางสายกลาง

การเตรียมความพร้อมทายาทให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้กับทายาทในฐานะอนาคตผู้นำทางธุรกิจ รวมทั้งช่วยลดประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกครอบครัว เพราะต้องไม่ลืมว่า นิยามความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัวนั้นมีมิติหลากหลายกว่าเพียงในเชิงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การกำหนดโครงสร้างที่เป็นระบบ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัว และความสามารถในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกจังหวะนั้น อาจเป็นวิธีปกป้อง ‘ความมั่งคั่ง’ ของธุรกิจครอบครัวได้ครอบคลุมที่สุด นีน่ามองว่าสมาชิกครอบครัวต้องรู้จักการประนีประนอมและการเดินทางสายกลาง “เราเข้าไปวันแรก เขาอาจจะยังไม่ไว้ใจเรา แต่ระยะเวลาจะพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ พอเขาไว้ใจเรา เวลาเราเสนอไอเดียอะไร เขาจะเริ่มเชื่อใจและให้โอกาสเราบริหารงานเองมากขึ้น” เธอกล่าว ในขณะเดียวกัน ทายาทธุรกิจหลายคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นจะค้นหาตัวเองและทำงานในสายอาชีพที่รัก มากกว่าเพียงเดินตามเส้นทางที่ครอบครัวกำหนด อาจยังลังเลหรือไม่อยากเข้ารับช่วงต่อธุรกิจ การเข้าร่วมโครงการ KK NeXtGen อาจช่วยจุดประกายมุมมองบางอย่างได้ “มีหลายคนคิดว่าจะไม่รับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน แต่ธุรกิจนั้นไม่ได้เริ่มมาง่ายๆ เลยอยากแนะนำว่าอย่าเพิ่งไปมองว่าฉันชอบด้านนี้ แล้วจะทิ้งสิ่งที่รุ่นก่อนสร้างมาเลยทันที อยากให้ลองเปิดใจก่อน” ไนนทิ้งท้าย

ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเร็ว และการแข่งขันทางธุรกิจกำลังถูกถาโถมด้วยข้อมูลมหาศาลและพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ การนำพาธุรกิจครอบครัวไปสู่ความยั่งยืนยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทายาทแต่ละรุ่น เพื่อนำพาธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและรุ่งเรืองต่อไปได้

ดูเหมือนว่า การเตรียมความพร้อมให้กับทายาทธุรกิจกำลังเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับบรรดาธุรกิจครอบครัวยิ่งกว่าในยุคสมัยใด