HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Alone in a Crowd

อุตสาหกรรมที่สร้างความบันเทิงจากการระดมฝูงชนให้มาเจอกัน ปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ทุกคนอยู่แต่ในบ้านอย่างไร

โลกของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่รัฐบาลไทยได้สั่งปิดประเทศในเดือนเมษายน เพื่อรับมือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ร้านอาหารและบาร์ต่างแขวนป้ายปิดร้าน การชุมนุมสาธารณะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลังกำหนดเคอร์ฟิว ท้องถนนในกรุงเทพฯ ว่างเปล่าเหมือนเมืองร้าง ท้องถนนที่เคยมีชีวิตชีวากลับเงียบงัน ธุรกิจหลายแห่งให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ผ่านหน้าจอและอีเมล์

สถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ ‘มอย’ สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการของ What the Duck (วอท เดอะ ดัก) ค่ายเพลงจากกรุงเทพฯ ที่เป็นที่รู้จักว่ารวมศิลปินมากฝีมือที่สุดในประเทศไทยอยู่ในสังกัด เช่น สิงโต นำโชค The Toys และฟักกลิ้งฮีโร่ พวกเขาผลิตมิวสิควีดิโอที่สร้างกระแสไวรัล และที่สำคัญ พวกเขามีรายได้ก้อนใหญ่จากการแสดงสด เมื่อบาร์และสถานที่แสดงคอนเสิร์ตทั่วโลกต้องปิดลงเนื่องจากการแพร่ของโรคระบาด และทำให้ศิลปินต้องเลื่อนวันเปิดตัวผลงานหรืองานแสดง มอยและทีมงานตัดสินใจสู้กับสถานการณ์นี้

ในเดือนเมษายน ในช่วงที่ความกลัวโคโรน่าไวรัสมาถึงจุดสูงสุด วอท เดอะ ดักได้จัด ‘คอนเสิร์ตเสมือนจริง’ แบบที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีการจัดสตูดิโอเต็มรูปแบบและเก็บค่าตั๋วด้วย แม้ว่าจะเป็นของใหม่ แต่กิจกรรมครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย มอยเล่าว่า “ตั๋วขายหมดภายใน 10 นาที ผมช็อคไปเลย” เขาไม่สนใจ new normal ที่มาชั่วครั้งชั่วคราว และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ไปได้อีกนาน

“คอนเสิร์ตจริงๆ และคอนเสิร์ตออนไลน์แบบนี้มันต่างกันโดยสิ้นเชิง มันแทนกันไม่ได้” เขากล่าว

เดิมที ‘คอนเสิร์ตออนไลน์’ ของวอท เดอะ ดัก นั้นมีขึ้นเพียงเผื่อช่วยเหลือคนที่ทำงานเบื้องหลังในวงการเพลงเท่านั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นจริง มันได้เปิดโลกให้คนทำงานเบื้องหลังอย่างมอยได้พบความเข้าใจอะไรใหม่ๆ ในจำนวนผู้ชม 1,000 คน มีเพียงครึ่งหนึ่งที่เคยชมคอนเสิร์ตของวงป๊อป Whal & Dolph แบบสดๆ มาก่อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ตเสมือนจริง มอยให้ความเห็นว่า “อาจเป็นเพราะพวกเขายังอายุน้อยเกินไป เพราะที่ไทย คอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เด็กจำนวนมากจึงไปไม่ได้ หรือพวกเขาอาจไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่จะมาคอนเสิร์ตได้ง่ายๆ ก็ได้” เขามองเห็นความเป็นไปได้ในการจัดอีเวนต์ออนไลน์ในอนาคตให้กับผู้ชมจากทั่วโลก “แม้หลังจากสถานการณ์โควิดหายไป และเรามีวัคซีนใช้แล้ว ผมก็ยังเชื่อว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ในลักษณะที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้นั้นจะยังคงมีอยู่” อีเวนต์เสมือนครั้งนี้มีจุดแข็งเหนือพื้นที่แสดงคอนเสิร์ตฟรีในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะมีจอแอลซีดีขนาดใหญ่ที่ฉายภาพจากเว็บแคมของผู้ชมแบบสดๆ ด้านหน้าวง ทำให้วงสามารถเข้าใกล้แฟนๆ ได้มากขึ้น ทั้งที่อยู่ห่างกันกว่าครั้งใด มอยเล่าว่า “พวกเขาไม่สามารถสัมผัสตัวผู้ชมได้ แต่มองเห็นหน้าได้ และในบางเพลง แฟนๆ ถึงกับน้ำตาไหล”

มอยไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่มองเห็นความเป็นไปได้ของคอนเสิร์ตเสมือนจริง ในเดือนเมษายน วง SuperM บอยแบนด์ที่ได้รับความนิยมมากจากเกาหลีใต้ได้จัดคอนเสิร์ตในลักษณะคล้ายกันที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ ในชื่อว่า Beyond Live ซึ่งถ่ายทอดให้กับผู้ชมถึง 75,000 คนจาก 109 ประเทศ ประโยคเปิดคอนเสิร์ตนี้บอกว่า “ยุคสมัยใหม่ของไลฟ์คอนเสิร์ตได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” ซึ่งหากดูจากยอดขายตั๋ว ก็จะพบว่าคำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงเลย ข้อมูลของ IQ บอกว่ายอดขายตั๋วเสมือนนั้นสูงถึง 2 ล้านเหรียญ หรือเกือบสองเท่าของยอดจากการแสดงสดที่จัดขึ้นในแอลเอเมื่อไม่นานมานี้ SM Entertainment ผู้จัดคอนเสิร์ต กล่าวว่า “ด้วยกลุ่มผู้ชมที่มากกว่าคอนเสิร์ต‘ออฟไลน์’ ถึง 7.5 เท่า เราคาดว่าจะสามารถพัฒนาธุรกิจคอนเสิร์ตแบบใหม่ได้เลย” ผลลัพธ์เหล่านี้ตอกย้ำความตั้งใจของมอยให้หนักแน่นเข้าไปอีก

แต่ยอดขายตั๋วไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ดึงดูดให้มีการจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริง จากรายงานของ Billboard หลังจากจบคอนเสิร์ตระดมทุน One World: Together at Home ของ Lady Gaga ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเมษายน นอกจากจะสามารถระดมทุนสนับสนุนบุคลากรด้านสุขภาพได้เกือบ 128 ล้านเหรียญแล้ว เพลงที่นำมาแสดงในคอนเสิร์ตยังมียอดดาวน์โหลดถึง 12,000 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าวันก่อนหน้าถึง 735 เปอร์เซ็นต์“นี่ยังเป็นจังหวะที่ดีที่จะสร้างสังคมสำหรับศิลปิน เนื่องจากทุกคนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้การสื่อสารกับแฟนๆ ง่ายขึ้น” มอยกล่าว

บริการวีดิโอตามสั่งกำลังเฟื่องฟูไปทั่วทุกแห่ง บริษัท Netflix ซึ่งดำเนินงานในแคลิฟอร์เนียนั้นผ่านไตรมาสที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยมีมา โดยมียอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบถึง 16 ล้านราย

มองในภาพใหญ่กว่านั้น ธุรกิจเพลงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงที่ถูกบีบให้ปรับตัวเข้ากับโลกที่ผู้คนไม่ออกไปไหน เมื่อโรงหนังปิด งานแสดงละครต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไป และการผลิตก็ถูกระงับ วงการโทรทัศน์และภาพยนตร์แบบเดิมจึงตกอยู่ในความสับสน BBC ต้องจำกัดการถ่ายทอดละครเรื่อง Eastenders ซึ่งออกอากาศในช่วงที่มีผู้ชมมากที่สุด ช่อง ITV ของอังกฤษนำละครเก่าเรื่อง Coronation Street มาฉาย และสถานี NHK ของญี่ปุ่นต้องถ่ายทำละครทางไกลที่มีคอนเทนต์เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จากบ้านของนักแสดง ส่วนในประเทศไทย ผู้สร้างภาพยนตร์ถูกห้ามไม่ให้ถ่ายทำฉากที่ต้องใกล้ชิดกัน

กฎเกณฑ์เช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อละครที่มีบทล่วงหน้า เลส นอร์ดเฮาเซอร์ กรรมการผู้จัดการของ Greenlight Films โปรดักชั่นเฮาส์ที่ดำเนินงานในกรุงเทพฯ (ผู้ซึ่งยังติดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาบ้านเกิดมาตั้งแต่เดือนมีนาคมเนื่องจากการแพร่ระบาด) ตั้งคำถามว่า “แล้วจะทำอย่างไรถ้าเกิดคุณมีฉากที่ต้องใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นฉากจูบตัวละครอื่นหรือฉากต่อสู้กับผู้ร้าย” เขาเชื่อว่ารายการเล็กๆ ที่ไม่ต้องมีบทจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากสถานการณ์นี้ และจะมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสตรีมมิ่งเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในการถ่ายทำ โดยผู้กำกับอาจสามารถทำงานจากที่บ้านได้

แม้ประเทศไทยจะค่อยๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับการถ่ายทำแล้ว แต่บริษัทที่มีความเป็นสากลอย่างกรีนไลท์ ฟิล์ม ซึ่งผลิตรายการอย่าง The Bachelor และ The Amazing Race Australia ก็ยังไม่วางใจนัก โดยเลสตั้งข้อสังเกตว่า “ไทยบอกว่าดำเนินธุรกิจตามปกติแล้ว สามารถมีคนมาร่วมรายการได้ถึง 50 คน โดยมีคนอยู่ในกองพร้อมกันไม่เกิน 10 คน แต่หากคุณทำงานบริการผลิตรายการในระดับสากล ซึ่งมีบริษัทมากมายที่ทำอยู่ รวมทั้งบริษัทของผมด้วย มันท้าทายมาก ไหนจะต้องรอกว่าที่นักแสดงและทีมงานต่างชาติจะสามารถเข้ามาได้ และเมื่อเข้ามาได้แล้ว ไม่รู้จะต้องผ่านขั้นตอนอีกเท่าไหร่กว่าจะมาทำงานได้” เขายังชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องประกันสำหรับการผลิตรายการด้วย ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้ครอบคลุมโควิด-19 ผู้ผลิตจึงต้องหาวิธีปกป้องทีมงานและธุรกิจของพวกเขา “จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณกำลังมีการถ่ายทำยาว 6 สัปดาห์ และผ่านไปสองสัปดาห์ก็มีคนในกองป่วย คุณจะหยุดถ่ายหรือเปล่า ถ้านักแสดงป่วย ทุกอย่างจะจบลงทันที คุณลงทุนทั้งเวลาและเงินไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำงานได้”

ในขณะเดียวกัน มีการโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางว่าจะปล่อยคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคผ่านช่องทางไหน ในเดือนเมษายน DreamWorks Animation ตัดสินใจนำ Trolls World Tour เข้าฉายในรูปแบบ ‘PVoD’ หรือ premium video-on-demand (บริการวีดิโอตามสั่ง) ซึ่งทำให้ได้รับการต่อต้านจากโรงภาพยนตร์หลายเจ้า รวมทั้ง AMC Theaters ซึ่งขู่ว่าจะคว่ำบาตรภาพยนตร์ของทางสตูดิโอทั้งหมด แต่ในที่สุด Universal บริษัทแม่ของดรีมเวิร์กสก็ออกมาประกาศว่าการเปิดตัวแบบ 'เสมือนจริง' ครั้งนี้ประสบความสำเร็จถล่มทลายกว่าการเปิดตัวภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มดิจิตัลใดๆ ในประวัติศาสตร์ ทำให้ เจฟฟ์ เชล ประธาน NBCUniversal เชื่อมั่นว่าการเปิดตัวภาพยนตร์ในรูปแบบดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เขากล่าวว่า “มันไม่ได้จะมาแทนที่โรงภาพยนตร์ แต่จะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา” ดังในรายงานของแอลเอ ไทม์ส

บริการวีดิโอตามสั่งกำลังเฟื่องฟูไปทั่วทุกแห่ง บริษัท Netflix ซึ่งดำเนินงานในแคลิฟอร์เนียนั้นผ่านไตรมาสที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยมีมา โดยมียอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบถึง 16 ล้านราย ขณะเดียวกัน WeTV Thailand ซึ่งเป็นของ Tencent และดำเนินงานโดย Tencent Video แพลตฟอร์มดูวีดิโออันดับต้นๆ ในประเทศจีน เติบโตกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด แพลตฟอร์มนี้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา และยังคงค่อนข้างใหม่สำหรับที่นี่ “เมื่อคนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราในการนำเสนอแพลตฟอร์มของเราให้กับผู้ที่กำลังมองหากิจกรรมทำในช่วงนี้” เจี๊ยบ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการวีทีวีประจำประเทศไทยกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าแพลตฟอร์มมีผู้ชมที่กลับมาใช้แอปซ้ำมากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในระหว่างวัน และช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุดนั้นยาวนานขึ้นถึง 2 ชั่วโมงในระหว่างสถานการณ์วิกฤตนี้

แม้ว่า WeTV Thailand จะต้องเผชิญกับอุปสรรคเล็กน้อยในเรื่องของคอนเทนต์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากบริษัทอื่น “สถานีโทรทัศน์ใหญ่ๆ เริ่มนำรายการเก่ามาฉายซ้ำ เราจึงมีตัวเลือกจำกัด” เจี๊ยบกล่าว ทั้งนี้ทางแพลตฟอร์มมีแผนคอนเทนต์สำหรับช่วงต้นปี 2020 เรียบร้อยแล้ว และยังมีข้อได้เปรียบจากคลังคอนเทนต์ขนาดใหญ่จากจีน ไทย และเกาหลี ซึ่งเจี๊ยบกล่าวว่าผู้ใช้เปิดดูมากขึ้นในช่วงการระบาดนี้ เช่นภาพยนตร์จีนเรื่อง 'สามชาติสามภพลิขิตเหนือเขนย'

ข้อจำกัดเกี่ยวกับอีเวนต์และการแพร่ภาพนั้นยังสะเทือนไปถึงวงการกีฬา โควิดทำให้รายการกีฬาที่มีผู้ชมต้องถูกระงับ ตั้งแต่โอลิมปิกไปจนถึงวิมเบิลดัน รายการ Grand Prix เสมือนจริงของ Formula One และการจำลองรายการแข่งม้า Grand National ในรูปแบบดิจิทัลสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้บ้าง แต่เมื่อไม่มีรายการแข่งขันใหญ่ๆ แฟนกีฬาจึงหันไปหาเกมและอีสปอร์ตเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณของการแข่งขันในช่วงปิดเมือง ในเดือนมีนาคมจำนวนผู้เล่นทั่วโลกของเกม Call of Duty: Warzone เพิ่มสูงขึ้นอย่างถล่มทลายจาก 6 ล้านคนเป็น 50 ล้านคน ขณะที่ยอดขายคอนโซลออนไลน์สูงขึ้นถึง 155 เปอร์เซ็นต์ภายในสัปดาห์เดียว และในเดือนมีนาคมอีกเช่นกัน Twitch ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งสำหรับอีสปอร์ตก็ได้สถิติใหม่ โดยมีผู้ใช้จริงถึงวันละ 22.7 ล้านราย จากข้อมูลของ Statistica

ไม่ใช่แต่เพียงผู้เล่นเกมเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่นักเตะพรีเมียร์ลีกอย่างราฮีม สเตอร์ลิ่ง จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ จากลิเวอร์พูล ซึ่งต้องอยู่แต่บ้านเหมือนกับคนอื่นทั่วโลก ก็ได้เข้าร่วม ePremier League Invitational ในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน โดยมีการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศบน Sky Sports Main Event ซึ่งทำให้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทีมไทยอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และสโมสรฟุตบอลชลบุรี ก็ได้ก่อตั้งทีมอีสปอร์ตขึ้นเพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับและเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อาจกลายเป็นเรื่องปกติในวงการฟุตบอลเมื่ออีสปอร์ตเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และแม้ว่าข่าวลือที่ว่าอีสปอร์ตจะได้เป็นกีฬาชิงเหรียญแบบเต็มตัวในเอเชียนเกมส์ 2022 จะถูกปัดตกไปเนื่องจากไม่มีสมาพันธ์สากลสำหรับกีฬาประเภทนี้ แต่การที่มีการรวมอีสปอร์ตไว้ในการแข่งขันกีฬาระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีเกมส์) ประกอบกับความคืบหน้าในครั้งนี้ ก็อาจทำให้มีการอนุมัติอีสปอร์ตเร็วขึ้น

ในขณะที่วงการกีฬาแบบดั้งเดิมก้าวสู่อุตสาหกรรมอีสปอร์ตมูลค่าหลายพันล้านเหรียญเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมและเพื่อการตลาดนั้น วงการเกมเองก็กำลังปรับตัวเช่นกัน แม้ว่าการแข่งขันอีสปอร์ตจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แต่การแข่งขันระดับสากลส่วนมากจะจัดในสนามกีฬาหรือในสตูดิโอที่มีผู้ชมด้วย เมื่อสนามกีฬาต้องปิด การแข่งขันต่างๆ จึงจำต้องเปลี่ยนไปใช้รูปแบบออนไลน์ ทำให้เกิดความสูญเสียแบบเดียวกันกับอุตสาหกรรมกีฬาชนิดอื่นในเรื่องของรายได้จากบัตรผ่านประตู และเงินจากสปอนเซอร์และการโฆษณา Infofed บริษัทอีสปอร์ตที่ดำเนินงานในกรุงเทพฯ และเป็นเจ้าของสนามแข่งอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นได้จัดการแข่งขันออนไลน์ขึ้น โดยพัฒนาเว็บไซต์ eArena.com ขึ้นมา “เราเห็นว่าสังคมอีสปอร์ตปรับตัวเข้าสู่ new normal ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพวกเขาคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว” จิรยศ เทพพิพิธ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งกล่าว เขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอีสปอร์ตจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากช่วงการแพร่ระบาดนี้ เขากล่าวว่า “เพราะว่าคนจะมีเวลาว่างสำหรับผ่อนคลายและเล่นเกมกับเพื่อนมากขึ้น อีสปอร์ตจึงมีผู้คนเข้าร่วมมากขึ้น เพราะมีการแข่งขันออนไลน์ที่พวกเขาสามารถเข้าร่วมได้” จิรยศยังบอกอีกด้วยว่าการเติบโตครั้งนี้จะนำไปสู่งบประมาณการตลาดสำหรับอีสปอร์ตที่เพิ่มขึ้นหลังจากช่วงโควิด-19

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเร่งปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาด อุตสาหกรรมบันเทิงแบบดั้งเดิมเห็นความเป็นไปได้ในโลกออนไลน์ นวัตกรรมของเทคโนโลยีเสมือนจริงนั้นจะมาปฏิวัติการสร้างและเสพคอนเทนต์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ หรือกีฬา ในระยะยาว มีความเป็นไปได้ว่างบประมาณจะลดลง การเข้าถึงผู้ชมจะเพิ่มขึ้น และจะมีการส่งเสริมช่องทางรายได้ใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งคงทำให้ธุรกิจต่างๆ อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งกว่าเดิมเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติในครั้งต่อไป

Essentials


Greenlight Films

47/4 ถ.ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

02-511-2003

greenlight.co.th

InfoFed

อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

088-018-8888

fb.com/infofedTH

WeTV Thailand

fb.com/wetvthailand

What The Duck

25/4 ซอยพหลโยธิน 9 กรุงเทพฯ

02-6196099

whattheduckmusic.com