HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ดื่มชาเพื่อสุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


มนุษย์เริ่มดื่มชามานานกว่า 4,700 ปีแล้ว ในขณะที่ชาวตะวันตกเริ่มดื่มชาเมื่อ 400 ปีที่แล้ว แต่ที่สำคัญคือในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจและทำงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของชาอย่างแพร่หลายเพื่อพิสูจน์ว่าการดื่มชานั้นมีประโยชน์จริงอย่างที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่

ผมหันมาสนใจเรื่องชาเพราะมีงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากและหลายท่านที่ผมได้มีโอกาสคุยด้วยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมักจะถามว่า “กินอะไรดี” ซึ่งในช่วงแรกผมมักจะตอบว่า “ไม่กิน” จะดีกว่า (เพราะคนส่วนใหญ่จะอยากลดความอ้วนมากกว่าเพิ่มน้ำหนักตัวเอง) แต่ก็รู้สึกว่าควรตอบคำถามที่แท้จริงว่า “กินอะไรจะเป็นประโยชน์ในการรักษาสุขภาพ” ซึ่งดูเสมือนว่าชาคือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์กับร่างกายและไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มเพราะไม่มีแคลอรี่ ทั้งนี้ไม่ควรเหมารวมว่าชานมหรือชาไข่มุกมีประโยชน์ เพราะงานวิจัยชี้ชัดว่าการดื่มชาที่ผสมนมสดในปริมาณที่สูงนั้นจะสูญเสียประโยชน์ของสารสำคัญ เช่น Catechin และ EGCG เนื่องจากนมจะไปเคลือบสารดังกล่าวไม่ให้ออกฤทธิ์ได้ ผมเองก็เพิ่งอ่านพบเรื่องนี้ ดังนั้นจึงได้ 'หลงผิด' ดื่มชาแบบฝรั่งคือดื่มชาดำผสมนมสดมากว่า 50 ปีแล้ว และหวังว่าท่านผู้อ่านจะหลีกเลี่ยงดื่มชาแบบผิดพลาดเช่นที่ผมได้เคยทำมาโดยตลอด

หากดื่มชาแล้วจะได้ประโยชน์อะไร งานวิจัยประเภทหนึ่งคือการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนหลายหมื่นคนที่ดื่มและไม่ดื่มชา และติดตามการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าวเป็นเวลาหลายปีเพื่อดูผลว่าคนที่ดื่มกับไม่ดื่มชานั้นมีพัฒนาการทางสุขภาพแตกต่างกันหรือไม่และอย่างไร ซึ่งในส่วนของงานวิจัยประเภทนี้ผมจะเสนองานวิจัย 2 ชิ้นคือ

1. ดื่มชาอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์อายุยืนขึ้นอีก 1.26 ปี

งานวิจัยนี้จัดทำโดยนักวิจัยของจีน อาศัยข้อมูลประชาชน 100,902 คน โดยติดตามเก็บข้อมูล 7.3 ปีและตีพิมพ์ในวารสาร European Society of Cardiology เมื่อ 9 มกราคม 2020

ข้อสรุปสำคัญอื่นๆ คือ

คนที่ดื่มชาเป็นประจำ (3 ครั้งหรือมากกว่าต่อสัปดาห์) ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ดื่มชาเป็นครั้งคราว (น้อยกว่า 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์) หรือไม่ดื่มชาเลย

คนที่ดื่มชามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพราะโรคดังกล่าวลดลง 22% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ดื่มชาเป็นครั้งคราวหรือไม่ดื่มเลย

คนที่ดื่มชาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอลงไป 39% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 56%

นอกจากนั้นยังได้มีการแบ่งกลุ่มคนเป็นกลุ่มย่อยที่ติดตามพฤติกรรมยาวนานต่อไปอีกและพบว่า คนที่ดื่มชาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอลงไป 39% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 56% (นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่มีอยู่ในชาคือ โพลีฟีนอล และคาเทชินนั้น ร่างกายไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้จึงต้องบริโภคชาเป็นเวลาหลายปีอย่างสม่ำเสมอ)

ชาเขียวให้ประโยชน์มากกว่าชาดำ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ 49% ดื่มชาเขียว แต่มีเพียง 8% เท่านั้นที่ดื่มชาดำ นอกจากนั้นชาดำเป็นชาที่ผ่านกระบวกการผลิตมากกว่าชาเขียว โดยเฉพาะการ oxidation ซึ่งทำให้มีโพลีฟีนอลหลงเหลือในชาดำน้อยกว่าชาเขียวและอาจเป็นไปได้ว่าการดื่มชาดำนั้นมักจะดื่มผสมกับนมทำให้ประโยชน์ที่ได้รับจากชาเจือจางลง

การดื่มชาให้ประโยชน์กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นเพราะผู้ชายนิยมดื่มชามากกว่าผู้หญิง โดยในกลุ่มที่ถูกวิจัยนั้นผู้ชาย 48% ดื่มชา แต่มีผู้หญิงดื่มชาเพียง 20%

2. ดื่มชาอย่างน้อย 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ 16% (EPIC-Interact Case-Cohort Study 30 May 2012) งานนี้เป็นงานวิจัยติดตามคนในทวีปยุโรป 26,039 คนใน 8 ประเทศ โดยงานวิจัยพบว่า

- คนที่ดื่มชาวันละ 1-3 ถ้วย ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานลง 7%

- คนที่ดื่มชาวันละ 4 ถ้วยหรือมากกว่า ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานลง 16%

อย่างไรก็ดีงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่า การดื่มชาทำให้ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งลดลง เพราะเป็นเพียงการแสดงข้อมูลให้เห็นความสัมพันธ์ (association) ระหว่างการดื่มชากับสุขภาพ จึงอาจถกเถียงได้ว่าคนที่ดื่มชาอาจมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพก็ได้แม้ว่าจะมีความพยายามตัดประเด็นดังกล่าวออกไปบ้าง เช่น ตัดเอาคนอ้วนหรือคนที่สูบบุหรี่ออกไป เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังไม่เคยมีการพิสูจน์อย่างชัดเจนหรืออธิบายได้ว่าสารเช่น EGCG นั้นทำให้เกิดประโยชน์ในร่างกายด้วยกลไกอะไร แม้ว่าจะมีงานวิจัยมากมายที่นำเอาสารนี้ไปใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งในห้องทดลอง (in vitro) แต่การทดลองดังกล่าวแตกต่างจากการให้มนุษย์ที่มีชีวิตกินชาเข้าไปในร่างกาย (in vivo)

ดื่มชาอย่างน้อย 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ 16%

ดังนั้นงานวิจัยอีกประเภทหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าคืองานที่เรียกว่า double-blinded randomized controlled trials กล่าวคือเป็นงานทดลองเสมือนกับการพิสูจน์ศักยภาพของยา โดยแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ยาจริง อีกกลุ่มหนึ่งได้ยาเทียม โดยทั้งผู้กินยาและผู้แจกยาต่างไม่ทราบว่ายาใดเป็นยาจริงและยาใดเป็นยาปลอม ซึ่งได้มีการทำงานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวกับชาเป็นจำนวนหลายพันชิ้น จึงทำให้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งสามารถรวบรวมเอางานวิจัยดังกล่าวมาประมวลหาข้อสรุปได้ซึ่งเรียกว่า meta-study โดยผมขอนำเอา meta-study 2 ชิ้นมาสรุปผลดังต่อไปนี้

1. ดื่มชาเขียวช่วยลดความดันโลหิต (ลงในวารสาร Nutrition Journal 20 May 2020)

งานนี้รวบรวมงานวิจัยประเภท randomized controlled trials จนถึงเดือนกันยายน 2019 และพบงานวิจัย 1,736 ชิ้นที่เข้าข่ายจึงนำไปกลั่นกรองและในที่สุดก็คัดเอางานวิจัยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด 31 ชิ้นมาประเมินสรุปซึ่งครอบคลุมคนทั้งหมด 3,321 คนและมีข้อสรุปดังนี้

การดื่มชาเขียวทำให้คอเรสเตอรอล (total cholesterol) ลงไป 4.66 mg/dL และไขมันเลว (LDL) ลดลง 4.55 mg/dL เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดื่มชาเทียม

การดื่มชาเขียวไม่ได้ทำให้ระดับของไขมันดี (HDL) ลดลง แต่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลง 3.77 mg/dL เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดื่มชาเทียม

2. ดื่มชาเขียวทำให้ความดันโลหิตลดลง (ลงในสารสาร European Journal of Nutrition, September 2014)

งานวิจัยนี้เป็น meta-study เช่นกัน กล่าวคือคัดเลือกงานวิจัยประเภท randomized controlled trials ในช่วง 1995-2013 ที่เข้าเกณฑ์จำนวน 13 ชิ้นและสามารถสรุปผลดังนี้

- การดื่มชาเขียวทำให้ความดันโลหิตลดลง กล่าวคือ systolic blood pressure ลดลง 2.08 mmHg และ diastolic blood pressure ลดลง 1.71 mmHg เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ดื่มชา

- มีผลคอเรสเตอรอลลดลง 0.15 mmol/L (เท่ากับ 5.80 mg/dL และ LDL ลดลง 0.16 mmol/L (6.19 mg/dL)

- เมื่อแยกเป็นกลุ่มย่อยพบว่ากลุ่มคนที่ความดันโลหิตสูง (เท่ากับหรือมากกว่า 130 mmHg) จะสามารถลดความดันโลหิตลงได้มากกว่าจากการดื่มชาเขียว

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างงานวิจัยบางชิ้นที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการดื่มชาเป็นประจำน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการดื่มชาที่มีความเข้มข้นโดยไม่ผสมนมและน้ำตาลครับ