SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
งานเลี้ยงของนักลงทุนรายย่อย
ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การประท้วงอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ไปจนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจ คงไม่มีใครคาดคิดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบไม่เคยมีมาก่อน เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าหุ้นโลกปรับตัวขึ้นกว่า 30% นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม และที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากการปรับตัวขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่นักลงทุนมืออาชีพ แต่กลับเป็นนักลงทุนรายย่อย
กระแสการลงทุนแบบฟรีค่าธรรมเนียม (zero-cost brokerage) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสาเหตุจูงใจให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเข้าสู่สนามการเทรดหุ้น โดยบริษัทที่มาแรงที่สุดในด้านนี้คงหนีไม่พ้นสตาร์ทอัพ Robinhood ซึ่งมีผู้เปิดบัญชีใหม่ภายในไตรมาสแรก ถึง 3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากช่วงปลายปีที่แล้ว ถึงกับมีข่าวว่านักลงทุนบางคนเอาเช็คที่รัฐบาลให้เพื่อช่วยเหลือวิกฤตโควิด มาเทรดหุ้นกันยกใหญ่
นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สามารถทำกำไรได้มหาศาลจากการเข้าซื้อในยามที่นักลงทุนมืออาชีพตั้งแต่ Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ไปจนถึงเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ยังคง 'กลัว' ความไม่แน่นอนและไม่กล้าเข้าซื้อหุ้น ทั้งนี้ Goldman Sachs จัดทำดัชนี 'หุ้นที่รายย่อยโปรดปราน' พบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนมิถุนายน ดัชนีดังกล่าวสามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 60% และเหนือกว่าดัชนี S&P 500 ที่ทำผลตอบแทนได้ 36%
ถ้าวัดกันที่ 'ผลลัพธ์' หรือผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ต้องถือว่ารายย่อยเอาชนะมืออาชีพไปอย่างขาดลอย แต่หากมองให้ลึกกว่านั้นจะพบว่าความเสี่ยงกำลังก่อตัว
จากอดีตที่ผ่านมา 'ผลลัพธ์' ที่ดูหวือหวามักสร้างกระแสและมีพื้นที่พาดหัวข่าวอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าวัดกันในระยะยาวแล้ว 'การตัดสินใจที่มีคุณภาพ' ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน คำว่า 'คุณภาพ' นั้นมาจากกระบวนการขวนขวายหาข้อมูล และการคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจ หากปราศจากการตัดสินใจที่มีคุณภาพ ผลตอบแทนที่ทำได้ก็เป็นเพียงการ 'เก็งกำไร' ที่บังเอิญ 'โชคดี' แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถผลิตซ้ำได้อย่างยั่งยืน
แม้ว่าผลตอบแทนของหุ้นที่รายย่อยโปรดปรานจะสามารถทำผลตอบแทนได้มหาศาล แต่พูดเต็มปากเต็มคำได้ยากว่าการตัดสินใจเบื้องหลังผลตอบแทนนั้นเหล่านั้นมีคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ แม้ผลตอบแทนของหุ้นที่รายย่อยโปรดปรานจะสามารถทำผลตอบแทนมหาศาล แต่พูดเต็มปากเต็มคำได้ยากว่าการตัดสินใจเบื้องหลังผลตอบแทนนั้นเหล่านั้นมีคุณภาพ
ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนชาวโรบินฮูดเข้าไปมี position มากที่สุด 20 อันดับในรอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีถึง 16 ตัวที่ผลประกอบการกระท่อนกระแท่นหรือขาดทุนต่อเนื่องในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หรือเป็นหุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤตโควิด-19 ไปอีกหลายไตรมาส นอกจากนี้ ตัวที่ได้รับความสนใจอันดับต้นๆ ยังมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เช่น Hertz (บริษัทให้เช่ารถยนต์) ที่ประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และต้องเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้ ไปจนถึง Nikola (บริษัทที่วางแผนจะผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า) ซึ่งยังไม่มีแม้แต่รายได้ด้วยซ้ำไป แต่ราคาหุ้นก็ขึ้นไปแบบอธิบายไม่ได้
การเข้ามาของนักลงทุนรายย่อยในช่วงที่ผ่านมายังทำให้เราเห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมายเกิดขึ้นในตลาดการเงิน ยกตัวอย่างเช่น การซื้อหุ้นแบบผิดฝาผิดตัว หุ้น Fangdd Network Group พุ่งขึ้นกว่า 1,250% ในระยะเวลาไม่กี่นาที เพราะนักลงทุนรายย่อยบางส่วนอาจเชื่อว่ากำลังซื้อหุ้นกลุ่ม FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google (Alphabet)) หรือหุ้น Zoom Technologies (NASDAQ: ZOOM) ที่ปรับตัวขึ้น 900% ในเดือนมีนาคม เพราะนักลงทุนนึกว่ากำลังซื้อหุ้น Zoom Video Communications (NASDAQ: ZM) เจ้าของบริการซอฟต์แวร์ประชุมทางไกลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง work from home
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงช่วงวิกฤตดอตคอม ในช่วงปี 2000-2002 ที่หุ้นเทคโนโลยี ทั้งตัวจริงตัวปลอม ปรับตัวขึ้นมหาศาล โดยหุ้นที่เปลี่ยนชื่อมามีคำว่า “.com” สามารถปรับตัวขึ้นได้หลายเท่าตัวในเวลาสั้นๆ
การตัดสินใจซื้อหุ้นตามกัน เพียงเพื่อหวังว่าจะขายได้ในราคาสูงกว่าที่ซื้อ โดยปราศจากการวิเคราะห์พื้นฐานให้ถี่ถ้วน ถือเป็นการเก็งกำไรที่นำมาซึ่งภาวะ 'ฟองสบู่' ที่รอเวลาระเบิดออกมาเท่านั้น
ทุกคนรู้ว่าฟองสบู่ไม่เคยจบได้สวย แต่ที่ยากคือการบอกว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก และที่ยากกว่าคือการห้ามใจตัวเองไม่ให้โลภเข้าไปไล่ตามผลตอบแทนที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ทุกคนรู้ว่าฟองสบู่ไม่เคยจบได้สวย แต่ที่ยากคือการบอกว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก และที่ยากกว่าคือการห้ามใจตัวเองไม่ให้โลภเข้าไปไล่ตามผลตอบแทนที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากนี้ไปเราอาจถูกยั่วกิเลสโดยรายชื่อนักลงทุนหน้าใหม่ที่ทำผลตอบแทนได้มากอย่างน่าอัศจรรย์ในเวลาอันสั้นเช่นเดียวกับช่วงดอตคอม แต่อย่าลืมว่าแทบไม่มีนักลงทุนที่รวยจากการเก็งกำไรในลักษณะนี้แล้วยังมีชื่ออยู่ในปัจจุบัน
กลับมาที่แพลตฟอร์มโรบินฮูดซึ่งมีข้อดีคือทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการซื้อขายหุ้นได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม แต่หากพิจารณาจะพบว่ารายได้ราวครึ่งหนึ่งมาจากการ 'ขาย' ข้อมูลออร์เดอร์ของนักลงทุนให้กับ 'ดีลเลอร์' หรือ 'market maker' ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากดีลเลอร์ต้องการทำกำไรจากข้อมูลออร์เดอร์นั้นๆ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนจะไม่ได้ราคาที่ดีที่สุดในการเทรด และอาจมีปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) อีกด้วย หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นแกว่งมากขึ้นไปอีกถ้าดีลเลอร์พยายามซื้อดักหน้าคำสั่งของนักลงทุนรายย่อย
และล่าสุดมีนักลงทุนอายุน้อยฆ่าตัวตาย เพราะเห็นยอดขาดทุนมหาศาลในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของเขา ที่อาจจะเกิดจากประเด็นในการแสดงผลกำไรขาดทุนจากการซื้อขายสัญญาอนุพันธ์ และนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติของนักลงทุน และคุณภาพการแสดงข้อมูล ซึ่งคงต้องมีการชำระประเด็นกันยกใหญ่
ในตำนานของอังกฤษ โรบินฮูดมีชื่อเสียงจากการปล้นคนรวยเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือคนจน เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโรบินฮูดเองในช่วงที่ตลาดการเงินยังคงดูดีอยู่ก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เมื่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากแห่เข้ามาทำผลตอบแทนได้อย่างน่าอิจฉา ในขณะที่นักลงทุนมืออาชีพเผชิญความกดดันอย่างมากจากสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าเมื่องานเลี้ยงเลิกรา คนที่เจ็บตัวที่สุดก็มักเป็นรายย่อยเสมอ ■