SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Beauty is Truth
เริงชัย คงเมือง ยังคงยืนหยัดตีแผ่ความจริงที่ซ่อนอยู่อีกด้านผ่านคมเลนส์
แม้วันนี้ เริงชัย คงเมือง จะเป็นที่เลื่องลือในฝีมือการถ่ายภาพสารคดีระดับต้นๆ ของเมืองไทย ในวันที่เริ่มต้นจับกล้อง ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าชีวิตจะพาเขามาถึงจุดนี้
ย้อนไปสมัยที่เขายังเป็นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกำลังเห่อของเล่นใหม่ที่ใช้ในการเรียนวิชาถ่ายภาพ ในตอนนั้นกล้องถ่ายภาพเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพออกมาให้สวย แรกๆ เริงชัยก็รู้สึกสนุกเหมือนได้ของเล่นใหม่ แต่ยิ่งได้คลุกคลีกับมันมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้สึกว่ากล้องถ่ายภาพสามารถทำอะไรได้มากกว่าการเก็บภาพสวยงาม เพราะมันยังใช้บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้าได้อย่างฉับพลัน และการค้นพบนี้ก็ทำให้มุมมองและวิธีการถ่ายภาพของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
หลังจากนั้น เริงชัยเล่าว่าชีวิตนักศึกษาของเขาเริ่มแปลกแยกแตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน ขณะที่เพื่อนๆ ใช้เวลาว่างไปกับเฮฮาปาร์ตี้และแสงสียามค่ำคืนในป่าคอนกรีต การออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ธรรมชาติ หรือการเดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปกินนอนในเตนท์เพื่อส่องสัตว์ป่าหลายวันหลายคืนเพียงแค่ได้บันทึกภาพสัตว์ป่าหายากเพียงไม่กี่ภาพกลับเป็นสิ่งทำให้เริงชัยมีความสุขมากกว่า
ด้วยความหลงใหลในการถ่ายภาพประกอบกับความรักธรรมชาติเป็นทุนเดิม เริงชัยตัดสินใจเลือกทำงานในป่าในฐานะช่างภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่เผยแพร่ภาพประชาสัมพันธ์ความอุดมสมบูรณ์และความงดงามทางธรรมชาติของผืนป่าเมืองไทยสู่สายตาชาวไทยและชาวโลก หลังจากที่ได้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศและเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมนานหลายปี เขาก็สะสมทั้งประสบการณ์และชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดช่างภาพสารคดีสายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย
การถ่ายภาพสารคดีนั้นเป็นศาสตร์การถ่ายภาพแขนงหนึ่งที่เน้นการบันทึกภาพเหตุการณ์จริงโดยปราศจากการจัดฉากหรือถ่ายภาพตามคำสั่งแต่อย่างใด ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจว่าภาพของเขาจะดูสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ และตั้งแต่นั้นมาชุดภาพถ่ายสัตว์ป่าน่าทึ่งของเขาก็เป็นที่ถูกตาต้องใจคนไทยทั่วประเทศ แต่หากถามถึงนิยามของการถ่ายภาพเชิงสารคดีนี้ว่าคืออะไร เริงชัยมองว่ามันไม่ต่างจากการถ่ายภาพทั่วไป เพราะช่างภาพทุกคนมีหน้าที่หลักในการบันทึกภาพตรงหน้าเหมือนๆ กัน หากจะต่างก็ตรงที่ว่าช่างภาพคนหนึ่งจะเลือกถ่ายอะไรและต้องการถ่ายทอดเรื่องราวอะไรออกมา
“สำหรับผมในฐานะช่างภาพสารคดี ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสำคัญที่สุด เพราะผมมีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวว่าอะไรเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหรือสถานที่นั้นๆ แต่วิธีการเลือกเนื้อหาที่จะนำเสนอและวิธีเล่าเรื่องอาจจะแตกต่างกันไปตามความสนใจหรือมุมมองของช่างภาพแต่ละคน ผมว่าการถ่ายภาพก็เหมือนการทำอาหาร สารที่เราต้องการสื่อออกไปก็เหมือนวัตถุดิบหลักในจาน ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพหรือสไตล์การเล่าเรื่องอาจเปรียบได้กับเครื่องปรุงหรือการจัดจานให้ดูสวยงามเท่านั้น”
ในเมื่อเส้นทางอาชีพของเริงชัยเริ่มต้นด้วยความรักความหลงใหลในสัตว์ป่าและธรรมชาติ เขาได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติดังเช่นที่ช่างภาพสารคดีและนักข่าวคนอื่นๆ ได้พบเห็น นั่นคือ เบื้องหลังความงดงามอันน่าอัศจรรย์ ธรรมชาติถูกทำร้ายจนได้รับความเสียหายมากมายจากการกระทำของมนุษย์ การทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในพื้นที่ป่าและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศตลอดเวลาหลายปีทำให้เขาค้นพบความจริงที่น่าตกใจหลายๆ อย่างที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสัตว์ป่าและวิถีชีวิตผู้คนที่พึ่งพาผืนป่าในการทำมาหาเลี้ยงชีพ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เป้าหมายของการถ่ายภาพของเขาชัดเจนขึ้น
“จากที่ผมทำงานคลุกคลีกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในหลายๆ ชุมชน ก็เจอปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทั้งคนและสัตว์ แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมรับรู้ข้อมูลเพียงบางส่วนและเห็นเหตุการณ์เพียงด้านเดียว ผมจึงพยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงอีกด้านที่ไม่เคยมีใครรู้ด้วยภาพถ่าย แม้บางครั้งมันอาจจะเป็นความจริงที่ไม่น่าฟังสักเท่าไหร่”
ผมอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและชี้ให้เห็นว่าพวกเรา กำลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและวิธีที่สุดคือการให้พวกเขาได้เห็นภาพที่เป็นเหมือนพยานที่มาบอกความจริงให้รู้
การแสดงผลงานการถ่ายภาพส่วนใหญ่ของเริงชัยมักเกาะติดประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สังคมไม่ค่อยรับรู้ โดยในปี 2558 เขาแสดงผลงานภาพถ่ายในชื่อชุด Dark Side of the City: ด้านมืดของเมือง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ เริงฤทธิ์ พี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งก็เป็นช่างภาพสารคดีมืออาชีพอีกคน ภาพถ่ายในชุดนี้เป็นการเปิดเผยความเจ็บปวดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ สวนกระแสข้อความประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อที่ว่าพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด โดยนำเสนอภาพถ่ายของหญิงสูงอายุคนหนึ่งนั่งอยู่ในกระท่อมไม้โดยมีท่อช่วยหายใจอยู่บริเวณจมูกและลำคอ ครั้งนั้น แทนที่จะนำเสนอภาพธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยการใช้ถ่านหิน เขากลับเลือกถ่ายทอดภาพชีวิตชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อส่งสารว่า ความสะอาดของถ่านหินมีเนื้อแท้เป็นเช่นใด
ภาพถ่ายเปี่ยมพลัง ตรงไปตรงมา เตะตา และสะเทือนอารมณ์ คงใช้เป็นคำอธิบายภาพถ่ายสไตล์ของเริงชัยได้เป็นอย่างดี คนที่ได้เห็นภาพถ่ายสไตล์เริงชัยมักออกปากว่าทำให้รู้สึกเจ็บแปลบเหมือนถูกตีแสกหน้าอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะภาพเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เขาตั้งใจเกาะติดและต้องการเปิดโปงข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่
แต่การเป็นช่างภาพในแบบฉบับของเริงชัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำงานแต่ละครั้งเขาต้องผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องที่ต้องการนำเสนอไม่แพ้การทำงานของนักวิจัยเลยทีเดียว นี่อาจเป็นความแตกต่างจากช่างภาพอื่นๆ ที่สามารถสร้างผลงานไปได้เรื่อยๆ ตามต้องการ จะเห็นได้ว่าผลงานหลายชิ้นของเขาได้รับการยกย่องว่าสามารถเทียบชั้นกับงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งตัวอย่างของการทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงในเงามืดของเริงชัยคงเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่มีชื่อว่า Climate Witness ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติรวมถึงชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้บ้านหลายหลังของชาวบ้านแถบนั้นจมหายไปพร้อมกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ภาพถ่ายของเขาสร้างกระแสฮือฮาในวงการสื่อเป็นอย่างมาก และชะตากรรมของชาวบ้านก็ได้รับความสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าผลงานของเขาคือหลักฐานหรือประจักษ์พยานที่ชี้ชัดว่ามนุษย์มีส่วนต้องรับผิดชอบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
เริงชัยกล่าวว่า “ผมอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและชี้ให้เห็นว่าพวกเรากำลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและวิธีที่สุดคือการให้พวกเขาได้เห็นภาพที่เป็นเหมือนพยานที่มาบอกความจริงให้รู้”
ความแน่วแน่และชัดเจนในแนวคิดการทำงานนี่เองที่กลายเป็นลายเซ็นสะท้อนถึงตัวตนของเริงชัยได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากผลงานของเขามักเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เขาจึงได้รับสมญานามอีกอย่างหนึ่งว่า ‘นักเคลื่อนไหวหลังเลนส์’ และไม่น่าแปลกใจว่าบ่อยครั้งที่การนำเสนอผลงานของเขาจะไปกวนใจหรือขัดแข้งขัดขาผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มทำให้มีอุปสรรคในการทำงานบ้าง แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการขัดแย้งกับผู้ใดทั้งสิ้น จุดมุ่งหมายสูงสุดของเขาคือการนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นผ่านภาพถ่ายของเขาเท่านั้น
“จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะไปท้าทายใครหรือสร้างความขัดแย้งในสังคมเลย ปัญหาและประเด็นต่างๆ มันมีอยู่แล้วแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรือมองข้ามไป ผมเพียงหยิบประเด็นปัญหาเหล่านั้นออกมาในที่แจ้งเพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอย่างไร และการถ่ายภาพก็เป็นวิธีของผมที่จะเปิดเผยความจริงที่ถูกปิดบังไว้ ผมไม่ได้หวังว่างานของผมจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปลี่ยนความคิดคนได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันทำให้สังคมเข้าใจและช่วยกันแก้ไขให้มันถูกต้อง ผมว่านั่นก็ดีมากแล้ว”
นอกจากเป็นหลักฐานไขความจริงแล้ว ผลงานของเริงชัยยังถือว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่กลายประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชาติในหลายเหตุการณ์ เช่น ภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ และช่วงเวลามหาวิปโยคของคนไทยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งล้วนเป็นภาพที่จับใจบุคคลทั่วไปและเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
การถ่ายภาพก็เป็นวิธีของผมที่จะเปิดเผยความจริงที่ถูกปิดบังไว้ ผมไม่ได้หวังว่างานของผมจะสามารถ เปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปลี่ยนความคิดคนได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันทำให้สังคมเข้าใจและช่วยกัน แก้ไขให้มันถูกต้อง ผมว่านั่นก็ดีมากแล้ว
เขากล่าวถึงความประทับใจในการทำงานในช่วงนั้นว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองเหตุการณ์เป็นประวัติศาสตร์ของชาติเรา ซึ่งผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคนไทยทั้งประเทศ ผมได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนั้นมากมาย ผมซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้เห็นสังคมไทยในหลากหลายมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ ความคิดของผู้คน และรากฐานสำคัญที่ทำให้เรามีสังคมไทยในแบบที่เป็นในวันนี้ มันน่าประทับใจมากๆ”
สำหรับการสร้างสรรค์ภาพถ่ายในฐานะงานศิลปะแขนงหนึ่งนั้น เป็นธรรมดาที่ความงามมักถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อประเมินคุณค่าในผลงาน อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายมีความงามในหลากหลายแง่มุม จะเน้นความสวยงาม แปลก หรือชวนให้คิด ก็แล้วแต่จะมองว่างามแบบไหน แต่ดูเหมือนว่าการถ่ายภาพเชิงสารคดีจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าใดนัก
เมื่อถามเริงชัยว่าความงามในงานของเขาคืออะไร เขาหัวเราะก่อนจะตอบว่า ความงามของภาพถ่ายสารคดีคือการสื่อสารความคิดหรือเรื่องราวไปถึงผู้ดูอย่างมีประสิทธิภาพ ภาพนั้นต้องสื่อความหมาย สะกดทุกสายตา และกระทบอารมณ์ของคนดูได้ตั้งแต่แรกเห็น ส่วนความงามในแง่มุมอื่นๆ อาจไม่ใช่ประเด็น
ทุกวันนี้ เริงชัยยังคงเดินทางค้นหาความจริงที่ยังถูกปิดไว้ในผืนป่าทั่วประเทศ เขากล่าวว่ายังมีเรื่องราวและความลับในธรรมชาติอีกนับไม่ถ้วนที่รอวันเปิดเผยซึ่งเขาคงต้องค้นหาต่อไป อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ปฏิเสธที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างจากงานเดิมๆ ที่เคยทำ โดยเขากำลังจะมีผลงานล่าสุดที่ชื่อว่า Gallery of Tree สมุดภาพที่รวบรวมต้นไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ทั่วประเทศ เขากล่าวว่าเป็นงานที่แหวกแนวจากที่ผ่านมาแต่ถือว่าเป็นงานที่ชอบที่สุด ณ ตอนนี้ เขาเล่าถึงโครงการดังกล่าวให้ฟังว่า
“ผมฝันอยากทำงานแนวนี้มานานแล้ว พอดีได้ยินว่าเกียรตินาคินภัทรกำลังจะทำโครงการหนังสือรวบรวมภาพถ่ายของต้นไม้ใหญ่และเก่าแก่ของประเทศไทยเอาไว้ ก็เลยได้ร่วมงานกัน ผมเคยจินตนาการว่าถ้าเมืองไทยไม่มีสัมปทานป่า ไม่มีการทำลายป่า ธรรมชาติบ้านเราจะอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน คงจะมีต้นใหญ่อายุเป็นร้อยปีเต็มไปหมด มันคงจะดีมากเลย”
ในโครงการนี้ เริงชัยและคณะทำงานของหนังสือใช้เวลานับเดือนลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลต้นไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ที่รอดพ้นคมเลื่อยมาได้ โดยมีทั้งต้นไม้ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ในเมืองต่างๆ หรือแม้กระทั่งใจกลางป่าคอนกรีตอย่างกรุงเทพมหานคร และในที่สุดก็สามารถรวบรวมต้นไม้ใหญ่หลากหลายสายพันธุ์มาได้ทั้งสิ้น 45 ต้นเพื่อมาเป็นแบบในการถ่ายภาพพอร์เทรตทรงพลังในรสชาติแบบเริงชัย
“แนวคิดหลักของเราก็คือเป็นการถ่ายภาพพอร์เทรตต้นไม้ โดยดึงเอาความโดดเด่นหรือลักษณะพิเศษของแต่ละต้นออกมา ต้นไม้ก็เหมือนกับคน ต่างมีลักษณะเฉพาะตัวและเรื่องราวของตนเอง ผมเลยนำเทคนิคการถ่ายภาพบุคคลมาใช้กับการถ่ายต้นไม้บ้าง”
“สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือการได้รู้ประวัติของต้นไม้แต่ละต้น บางต้นโตมาคู่กับคนในชุมชนหลายชั่วอายุคน ผมจึงต้องการให้คนทั่วไปเห็นว่า ต้นไม้ก็เป็นมรดกของชาติอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับมรดกทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่แล้ว และผมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ มันทำผมรู้สึกมีชีวิตชีวามากแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาก็ตาม”
จากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ผ่านมาของเริงชัย นับตั้งแต่ที่เขาได้จับกล้องฟิล์มตัวแรกเมื่อสมัยเป็นนักศึกษาจนมาถึงกล้องดิจิทัลเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เริงชัยยอมรับว่าสไตล์การถ่ายภาพของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามวัยวุฒิและมุมมองที่ลุ่มลึกขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือข้อความและจุดประสงค์ที่ชัดเจนในงานของเขา ไม่ว่าสิ่งที่อยู่หน้ากล้องจะเป็นอะไร เขายังคงส่งสารผ่านภาพถ่ายที่เป็นไปเพื่อการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เขารักรวมทั้งความยุติธรรมในสังคม นี่คือสิ่งที่เริงชัยยึดมั่นและยืนยันที่จะใช้ชีวิตการทำงานหลังเลนส์อย่างมีความสุขต่อไป ■