HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


การลงทุนในทองคำ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ทองคำเป็นโลหะมีค่า (Precious Metal) ที่มนุษย์ยอมรับมานานหลายพันปี และยังได้เคยเป็นโลหะหนุนหลังเงินสกุลหลักของโลก เช่น เงินปอนด์ของอังกฤษและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในกรณีหลังนี้สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ระหว่างเงินดอลลาร์กับทองคำที่ราคา 35 ดอลลาร์ ต่อ 1 ออนซ์ เมื่อปี 1971 เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมาในปริมาณมากกว่าปริมาณทองคำทุนสำรองของประเทศ

การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ครั้งนั้นทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 35 ดอลลาร์ ในปี 1970 เป็น 166 ดอลลาร์ ในปี 1975 เท่ากับว่าคนที่ลงทุนด้วยการถือครองทองคำในช่วง 5 ปีดังกล่าวจะได้ผลตอบแทน (Compound Annual Growth Rate - CAGR) ที่ 36.52% ต่อปี ซึ่งยุคนั้นถือเป็นช่วงเวลาพิเศษจริงๆ เพราะการกำหนดราคาทองที่ 35 ดอลลาร์ ต่อ 1 ออนซ์ นั้นต่ำกว่าราคาจริงมากและผมเชื่อว่าการลงทุนกับทองคำในอนาคตจะไม่มีวันได้ผลตอบแทนสูงเช่นนั้นอีก

บทเรียนที่สำคัญจากช่วงนั้นคืออะไร? ผมคิดว่านอกจากความเข้าใจที่ว่าการลงทุนในทองคำจะมีประโยชน์ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง (inflation hedge) แล้วก็มีอีกประการที่ทำให้ทองคำน่าสนใจ นั่นก็คือ ปริมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก (relative scarcity value) โดยหากคำนึงว่า มนุษย์เราใช้ทองคำเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนในการทำธุรกรรม (Medium of Exchange) มานานกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ของโลกแล้ว ทองคำยังมีสถานะควบคู่อยู่อีกอย่าง คือเป็นสินทรัพย์ (store of value) ที่สามารถออมความมั่งคั่งได้อีกด้วย จากการเป็นโลหะที่คงทนและไม่ชำรุดหรือสาบสูญ

ปัจจุบันเหมืองทองต่างๆ สามารถผลิตทองคำใหม่ออกมาได้เพียง 2,600 ตันต่อปีหรือมีอุปทานเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ต่อปีเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ของโลกกำลังพิมพ์เงินใหม่ในปริมาณที่ไม่เคยทำมาก่อน

มีนักลงทุนรายหนึ่งเขียนบทความเปรียบทองคำว่าเป็นเสมือนพันธบัตรที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ 1. Zero Coupon กล่าวคือ ไม่จ่ายดอกเบี้ย 2. Perpetual คือ ไม่หมดอายุ 3. ราคามักปรับขึ้นเมื่อเงินเฟ้อสูง (inflation hedge) 4. ไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนหากเราถือทองคำเอาไว้กับตัว 5. มีปริมาณจำกัด เพราะผู้ที่ออกพันธบัตรนี้คือ “พระเจ้า” ไม่ใช่ธนาคารกลางของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ข้อ 5 นี้อิงข้อมูลจาก World Gold Council ที่ระบุว่าทองคำบนโลกที่ถูกขุดออกมาแล้วมีปริมาณ 197,576 ตัน และคาดว่ายังมีฝังอยู่ในดินอีกเพียง 54,000 ตันเท่านั้นซึ่งปัจจุบันเหมืองทองต่างๆ สามารถผลิตทองคำใหม่ออกมาได้เพียง 2,600 ตันต่อปี หรือมีอุปทานเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ต่อปีเท่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ของโลกกำลังพิมพ์เงินใหม่ในปริมาณที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนปริมาณการพิมพ์เงินใหม่เพื่อซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (ที่เราเรียกว่ามาตรการ QE) เพิ่มขึ้นจากในปี 2007 ที่มูลค่าไม่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ มาเป็น 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2014 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (เพื่อต่อสู้กับโควิด-19) เป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีนี้

ด้านธนาคารกลางของยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น (BOJ) เองก็แข่งกันพิมพ์เงินเพิ่มเช่นกันทำให้งบดุลของ 3 ธนาคารหลักของโลก (US Fed, ECB, BOJ) เพิ่มขึ้นจากทั้งหมด 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2005 เป็น 15.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2020

ในช่วงเวลา 15 ปีดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกจะไม่สูงมากนักแต่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นจาก 576 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในเดือนมกราคม ปี 2005 เป็น 1,988 ดอลลาร์ ในวันที่ 1 กันยายน ปี 2020 ซึ่งเท่ากับว่าการถือครองทองคำในช่วงเวลาดังกล่าวสร้างผลตอบแทน (CAGR) สูงถึง 8.61% ต่อปีและหากเริ่มถือครองตั้งแต่ต้นของศตวรรษนี้ (ค.ศ. 2000-2020) ก็จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการซื้อดัชนี S&P500 (ที่ผลตอบแทน 2.49% ต่อปี และหากบวกเงินปันผล ซึ่งจะถูกนำกลับไปลงทุน ก็น่าจะให้ผลตอบแทนรวมที่ราว 5-6% ต่อปี)

ผมไม่ได้แนะนำให้ทุ่มเทการลงทุนไปในทองคำเพียงอย่างเดียว (และส่วนตัวแล้วเห็นว่าการถือครองทองคำนั้นไม่ควรเกินกว่า 5% ของการลงทุนทั้งหมด)

ทั้งนี้ ขอย้ำว่าจุดที่น่าสนใจคือการที่ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 15-20 ปีดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่กระนั้น ผมไม่ได้แนะนำให้ทุ่มเทการลงทุนไปในทองคำเพียงอย่างเดียวและส่วนตัวแล้วเห็นว่าการถือครองทองคำนั้นไม่ควรเกินกว่า 5% ของการลงทุนทั้งหมดเพราะทองคำเป็นเพียงโลหะที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

แต่จากประสบการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ก็ต้องยอมรับว่าราคาทองคำสามารถปรับเพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อจะไม่สูงมาก เพราะธนาคารกลางหลักของโลกแข่งกันพิมพ์เงินเพิ่ม ส่งผลให้ทองคำได้รับความนิยมในฐานะวิถีสะสมความมั่งคั่ง (ไม่ใช่เพื่อเป็น inflation hedge)ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจุดนี้ ในอนาคต ราคาทองคำก็อาจปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องได้เช่นกัน เช่นเดียวกับช่วงปี 2012-2015 (ที่ราคาทองคำลดลงเฉลี่ย 15.77% ต่อปี) หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีเกินคาดและธนาคารกลางหลักพอใจกับสถานะทางเศรษฐกิจจนหยุดพิมพ์เงินใหม่ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเช่นในสหรัฐฯ หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นที่ราว 2.0-2.5% ต่อปี (แต่ไม่ได้ทะยานขึ้นเป็น 3-4% ต่อปี) ในภาวะการณ์ดังกล่าวธนาคารกลางหลักต่างๆ ก็จะเริ่มลดทอนมาตรการ QE ตามอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ

กล่าวคือ หากเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้น เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็ควรรีบพิจารณาลดการถือครองทองคำลง แต่หากเศรษฐกิจโลกฟื้นช้าและเงินเฟ้อยังถดถอยลงไปอีกจนทำให้ธนาคารโลกเร่งพิมพ์เงิน หรือในอีกด้านหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องเกินคาดจนธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ตั้งรับไม่ทัน ในทั้งสองกรณีดังกล่าว ราคาทองคำก็น่าจะรักษาระดับและปรับขึ้นได้ต่อไปครับ