SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Organic Growth
อนัฆ นวราช ทายาทรุ่นที่ 3 สวนสามพรานและผู้อำนวยการแบรนด์ Patom Organic Living กับการสร้างสังคมอินทรีย์ ชีวิตที่สมดุลและธุรกิจเพื่อสังคมที่เติบโตไปพร้อมชุมชนอย่างยั่งยืน
สวนสามพราน คือแหล่งท่องเที่ยวและที่จัดสัมมนายอดนิยมบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่อยู่คู่จังหวัดนครปฐมมากว่า 50 ปี ต้นกำเนิดของสวนนี้มาจากเพียงความต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศเพื่อรักษาต้นพิกุลเก่าแก่อายุร่วมร้อยปีที่กำลังจะล้มเพราะตลิ่งพังและปลูกกุหลาบขายของดร.ชำนาญ และคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ แต่ต่อมาได้ขยายผลจนเป็นตำนานสวนกุหลาบแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างรู้จักกันในนามของ Rose Garden
ทุกวันนี้สวนสามพรานยังเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จากการสะสมประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้ขับเคลื่อนการทำระบบอาหารยั่งยืนภายใต้สามพรานโมเดลกับแนวคิดธุรกิจเกื้อกูลสังคมที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ ยิ่งกว่านั้น ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างอนัฆ นวราช ช่างภาพผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Patom หรือ Patom Organic Living ยังได้ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์เพื่อผู้บริโภคในวงกว้างจนเป็นที่นิยมและยอมรับในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น อนัฆสร้างระบบเศรษฐกิจครบวงจรที่เน้นความยั่งยืนและ Traceability เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปลอดภัยจากสารเคมี เพราะอนัฆเชื่อว่าสุขภาพที่ดีคือรากฐานที่สำคัญที่สุดของทุกชีวิต
เบื้องหลังช่างภาพ
แท้จริงแล้วอาชีพผมคือช่างภาพ ผมชอบศิลปะตั้งแต่เด็กแต่วาดรูปไม่เป็น คือไม่เจอสื่อที่เรารู้สึกพอใจ จนมาเจอการถ่ายภาพ คิดว่าเป็นเพราะคุณพ่อชอบเล่นกล้องแต่ไม่ถ่ายภาพ ชอบเก็บกล้องเก่าไว้ในตู้ ตอนเด็กเราอาจจะเห็นแล้วเอามาเล่นเหมือนของเล่น โตขึ้นมาได้ถ่ายภาพเลยรู้สึกว่าเออมันสนุก ผมถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษตั้งแต่สิบขวบแล้วมาเรียนต่อระดับปริญญาที่สหรัฐอเมริกา ตอนอยู่ปีสองรู้ตัวว่าอยากเป็นช่างภาพเลยขอที่บ้านเรียนต่อปริญญาโทด้านถ่ายภาพที่ Pratt Institute ในนิวยอร์ก โดยที่ระหว่างเรียนก็สอนถ่ายภาพให้ American University ที่ดีซี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เรียนจบปริญญาตรี แล้วก็ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพไปด้วย ตอนนั้นได้ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพให้กับคริสเตียน วิตคิน คนที่เคยถ่ายภาพให้บารัก โอบามา สการ์เล็ต โจฮันสันส์ คริสเตียน เบล เราฝึกกับช่างภาพเก่งๆ หลายปี แล้วก็เริ่มรับงานเป็นช่างภาพเอง ผมชอบและถนัดแนวภาพถ่ายเชิงสารคดีและการท่องเที่ยวบอกเล่าเรื่องราว ทำงานอยู่ที่นิวยอร์กจนถึงอายุประมาณ 28 ปี ก็รู้สึกว่าพ่อแม่เริ่มมีอายุมากเลยอยากกลับมาช่วยกันดูแลคุณยาย ช่วยกันดูแลธุรกิจครอบครัว
ก้าวแรกในไทย
ตอนแรกที่กลับมาไทยก็ช่วยงานของสวนสามพราน เป็นผู้จัดการทั่วไปที่ดูแลด้านการบริหารและการจัดการ แต่เพราะสวนสามพรานมีหลายส่วนที่ต้องดูแล เราเลยต้องใช้ความพยายามที่จะเข้าใจทุกอย่าง เช่น ส่วนโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร โชว์หมู่บ้านไทย ฟาร์ม แต่เราก็ทำคู่ไปกับงานช่างภาพและเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาถ่ายภาพให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรไปด้วย ซึ่งตัวผมเองก็ชอบสอนตั้งแต่สมัยอยู่ที่อเมริกาแล้ว ตัวอย่างงานช่างภาพที่ทำก็เช่น ภาพถ่ายบันทึกชีวิตและการทำงานของช่างทอผ้าในสี่ภูมิภาคของไทยที่ทำอยู่สองปีให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพเพื่อจัดแสดงในพระบรมมหาราชวัง หรืองานแคมเปญใหญ่ระดับภูมิภาคของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ที่ใช้ภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน
เป้าหมายของชีวิต
สมัยเป็นช่างภาพอยู่ต่างประเทศ ผมถ่ายรูปอย่างเดียว อยากถ่ายให้ได้มากที่สุด อยากทำงานหลากหลายรูปแบบ ได้เดินทางเยอะ ออกไปเห็นอะไรใหม่ๆ แล้วก็สร้างประวัติไปด้วยเพื่อให้ได้งานเพิ่ม แต่พอกลับมาไทย จุดเปลี่ยนในชีวิตคือการมีครอบครัว มีลูก ซึ่งทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนผมแค่ออกกำลังกายแต่ไม่ได้ใส่ใจคุณค่าของอาหารที่กิน พอมีลูกแล้วความห่วงใยทั้งหลายที่เมื่อก่อนผมไม่มีมันมาหมดเลย เป้าหมายใหญ่ในชีวิตเปลี่ยน สุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต เป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ สร้างไม่ได้ เราต้องดูแลอย่างเดียว เงินยังเป็นสิ่งนอกกาย แต่ถ้าสุขภาพไม่ดีเราทำอะไรไม่ได้เลย ไปเที่ยวก็ยังไม่ได้ การรักษาสุขภาพก็เลยเป็นหลักการสูงสุดที่ไม่ใช่แค่ผมแต่ทั้งครอบครัวยึดถือ
ปฐมฤกษ์
พอหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากๆ ก็เริ่มอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปด้วย ที่สำคัญคือพี่ชายผม คุณอนุษ นวราชเป็นคนที่สนใจเรื่องสุขภาพมานานแล้ว เขาเริ่มทำสามพรานโมเดลซึ่งก็คือการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำผักปลอดสารในสวนสามพราน ทำสบู่เข้าโรงแรม โดยทำกับเครือข่ายชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ที่ตั้งใจทำเพราะอยากกินเองแล้วก็ใช้สำหรับทำอาหารให้แขกของโรงแรมเพื่อให้โรงแรมมีจุดต่างที่ไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรม ลองผิดลองถูกอยู่ห้าปี แต่เราไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผมลองคิดดูแล้วอยากทำต่อยอด พี่ชายผมเริ่มมาดีแล้วในทางต้นน้ำ เราก็อยากทำต่อ เป็นส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ สรุปก็คือทางต้นน้ำคือสามพรานโมเดลของพี่ชาย เป็นเรื่องการปลูก และเกษตรกร กลางน้ำคือการผลิต และปลายน้ำคือการเข้าถึงผู้บริโภค ของผมคือกลางกับปลาย ผมต่อยอดเป็นแบรนด์เพราะเราชอบเรื่องดีไซน์และเป็นช่างภาพ เลยเอาวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วมาแปรรูปเป็นแบรนด์ ปฐม โดยเริ่มเมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว และเริ่มเป็นแบรนด์ ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง จริงจังมาได้ประมาณสามปี ซึ่งปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง คือวิถีชีวิตอินทรีย์ที่รวมเรื่องการรักษาสุขภาพ ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และชุมชน ทั้งหมดนี้อยู่ในแบรนด์ปฐม ซึ่งสะท้อนในสิ่งที่ผมและครอบครัวเราเชื่ออย่างเต็มที่
สวนสามพราน 30-40 ปีแรก ไม่เคยรู้สึกว่ามีเพื่อนบ้าน คนชอบมองว่าเป็นที่ๆ ฝรั่งมา ราคาแพง พอเราเริ่มทำเรื่องอินทรีย์ ตอนนี้มีเพื่อนบ้านเป็นพันคน เราช่วยเปิดตลาดให้เขา
สืบสาวสู่ที่มา
พี่ชายผมเคยยกตัวอย่างเรื่องนึงให้ผมฟัง เขาถามผมว่าเรารู้จักชื่อช่างตัดผมประจำไหม ซึ่งส่วนมากเราก็มักจะรู้ ร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าบ้าน วินมอเตอร์ไซค์ประจำ เรามักจะรู้ว่าเขาชื่ออะไร แต่ถ้าถามว่าเรารู้ไหมว่าอาหารที่กิน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทุกวันมาจากไหน ใครปลูกผักปลูกข้าวให้กินนี่เราไม่รู้ แต่ถ้ารู้ได้ผมว่ามันดีมากเลยนะ เราจะรู้ว่าอาหารหรือของเหล่านั้นปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้าง และการที่เราไม่รู้จริงๆ มันก็เสี่ยงเหมือนกันนะ ว่าจะอาบยามาหรือเปล่า ปลามีฟอร์มาลีนหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เรื่องการกินสำคัญที่สุด ผมคิดว่าอะไรที่เรารู้ได้มันก็ดีกว่า ดังนั้นเรื่อง Traceability เราจึงเน้นมาก ความหมายคือเราแสดงให้เห็นทั้งหมดว่าส่วนประกอบแต่ละอย่างของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นออร์แกนิคของเราทำจากอะไร แหล่งที่มาจากไหน สามารถสแกน QR Code ดูได้ ให้เห็นเลยว่าปลูกที่ไหน ถ้ายังไม่เชื่ออีกสามารถมาดูที่สวนสามพรานได้ เรามีให้บริการนักท่องเที่ยว มีเวิร์กช็อปให้ลงมือทำ หรือจะลงไปคุยกับเกษตรกรที่ปลูกก็ได้ ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยได้เลย และเราวาง Market Positioning ไว้กลางๆ ราคาของเราจึงค่อนข้างกลางๆ เช่น ราคาของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคส่วนใหญ่ที่ผมรู้ ถ้าเป็นขวด ขวดใหญ่ประมาณหนึ่งพัน ของเราประมาณ 300-400 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กลางมากสำหรับของออร์แกนิคที่มีที่มาที่ไปชัดเจนในระดับมาตรฐานส่งออกแบบนี้ อย่างที่ส่งไปญี่ปุ่น ลูกค้าพอใจมาก
ใช้ชีวิตที่เชื่อ
คนในครอบครัวเราใช้ของที่เราขายเองหมด อย่างที่ผมพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำเพราะเราอยากมีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไว้ใช้เอง ตัวผมใช้ของที่ขายทั้งหมด เช่น แชมพู สบู่ ยาหม่อง ยากันยุง อีกอย่างคือเราสามารถตรวจสอบของได้ตลอดเวลาด้วย ผมเชื่อว่ามันสำคัญที่เราทำอะไรก็ต้องใช้ชีวิตอย่างนั้นด้วย ถ้าเราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้น เราก็ทำได้ไม่ยั่งยืนและเราก็ไม่สนุกไปกับมัน อย่างทุกวันนี้ พอเรามาทำปฐม เราก็ต้องดูเรื่องวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มันก็กลายเป็นชีวิตเราไปด้วย สิบปีที่ผ่านมานี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพราะโฟกัสของเราไม่ได้อยู่ที่ผลกำไร แต่เป็นการสร้างสังคมอินทรีย์ขึ้นมา
ตอบโจทย์สังคม
มองในอีกมุมหนึ่ง นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว การทำปฐม ยังช่วยเรื่องลดการพึ่งพิงต่อกิจการหลักของเรา สวนสามพรานเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อไหร่ที่เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ หรืออย่างโควิด-19 สิ่งที่คนตัดก่อนคือการท่องเที่ยว เพราะเป็นความฟุ่มเฟือย ธุรกิจเราจึงขึ้นลงตามสถานการณ์บ้านเมืองมาก แต่ถ้าเราทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจะยั่งยืนและมั่นคงกว่า แบรนด์ปฐม ทำของออร์แกนิคที่เป็นของที่ใช้ได้ทุกวัน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจจะแย่ยังไงคนก็ยังต้องใช้แชมพู ต้องซื้อผัก มองจากมุมนี้ ก็นับได้ว่าเป็นการขยายกิจการออกไป ลดความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่จุดมุ่งหมายของปฐม คือเป็น Social Enterprise (ธุรกิจเพื่อสังคม) ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นสร้างกำไรสูงสุด ดังนั้นถ้ามองในมุมตัวเลขรายได้หรือกำไร มันไม่ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้แต่แรกอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่งคาเฟ่ที่ทองหล่อ ที่ตรงนี้ถ้าเราเน้นทำธุรกิจแบบทั่วไป ไม่ควรมาทำคาเฟ่ออร์แกนิค ควรทำคอนโดหรืออย่างอื่นจะได้เงินง่ายกว่าและมากกว่า แต่ผมมองว่าเราทำแบบนี้เราก็อยู่ได้นะ สามพรานก็อยู่ได้ และผมเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนไปถึงรุ่นลูก ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพที่ผมยึดถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต
เติบโตอย่างออร์แกนิก
เราเริ่มทำ ปฐม อย่างจริงจังมาประมาณสามปี เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่เติบโตเป็นเท่าตัวในแต่ละปี เราขยายที่ขาย ขยายฐานลูกค้า มีพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ที่เราไม่คิดมาก่อนว่าจะทำอะไรด้วยกันได้ แต่เพราะเขามีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนเหมือนกัน ก็เลยมาทำงานด้วยกันได้ เช่น ความร่วมมือกับปตท. (PTTGC) ที่เพิ่งเปิดตัวไป เราทำผลิตภัณฑ์และทำเรื่องต้นน้ำด้วยกัน เขามีที่ที่มาบตาพุด และอยากให้เราไปพัฒนาเรื่องที่ต้นน้ำให้เพื่อทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แล้วให้เราเอามาทำแปรรูป ขายเสร็จมอบเงินกลับไปให้ต้นน้ำใหม่ สุดท้ายเกิดระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจรขึ้น เรามีโครงการร่วมกับมั่นคงเคหะการที่บางกระเจ้า แสนสิริ ชีวจิต JSL-Sukina และองค์กรใหญ่ๆ เหล่านี้เขาเข้ามาเองเพราะอยากเอาเราไปช่วยทำเรื่องความยั่งยืนกับองค์กรเขา ในแง่การตลาดก็วินๆ ทั้งคู่ เราได้กลุ่มลูกค้าของเขา เขาได้กลุ่มลูกค้าเรา ผมว่าเรื่องความยั่งยืนนี้เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้มาก โควิด-19 ทำให้เราเห็นถึงข้อเสียของการพึ่งพิงระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกที่มากเกินไปในปัจจุบัน ช่วงหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 มีองค์กรติดต่อมาเยอะมาก ผมเองก็ยังแปลกใจ ทุกองค์กรต้องการทำเรื่องความยั่งยืน อย่างประเด็นเรื่องสุขภาพ ผมคิดว่าคนอื่นมองว่าเราทำมาระยะหนึ่งแล้ว แล้วก็ยังมีทีมที่ทำด้านต้นน้ำด้วย ก็เลยอยากมาทำร่วมกันกับเรา
จับมือเพื่อความยั่งยืน
ผมมีหลักการเรื่องพาร์ทเนอร์ห้าข้อ ได้ตามนี้เราก็ทำงานด้วยกันได้คือ หนึ่ง ทำเรื่องออร์แกนิค สอง ต้องเน้นเรื่องความยั่งยืน สาม ต้องมีเรื่องการสร้างชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำกับชุมชนที่มีอยู่แล้ว หรือการเอาพนักงานองค์กรของพาร์ทเนอร์มาสร้างชุมชนใหม่ สี่ ต้องทำ Customized Product ด้วยกัน อันนี้เราสามารถสร้างเอกลักษณ์กับทุกๆ พาร์ทเนอร์ได้ โดยที่แสดงความเป็นท้องถิ่นของแต่ละชุมชนที่เราทำงานด้วย ห้า เราต้องแบ่งรายได้กลับไปที่ต้นน้ำหรือชุมชนด้วย เราทำแบบนี้เพราะเชื่อว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ เราได้ พาร์ทเนอร์ได้ และทั้งหมดนี้คือการสร้างสังคมอินทรีย์ที่ยั่งยืน หลายๆ องค์กรอย่าง PTTGC ชอบมาก
เรารู้จักชื่อช่างตัดผมประจำไหม ซึ่งส่วนมากเราก็มักจะรู้กัน แต่ถ้าถามว่าเรารู้ไหมว่าอาหารที่เรากินทุกวันมาจากไหน ใครปลูกผักปลูกข้าวให้เรากินนี่เราไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้ได้ผมว่ามันดีมากเลยนะ
ประเทศโลกที่หนึ่ง
วันนี้ผมยังคุยกับภรรยาผมอยู่เลย คนชอบใช้คำว่าประเทศโลกที่หนึ่ง โลกที่สาม ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถ้าพูดถึงประเทศโลกที่หนึ่งเรานึกถึง อเมริกา อังกฤษ ยุโรป แต่ไม่แน่ว่าอีกสิบปีอาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้ คำว่าประเทศโลกที่หนึ่งอาจจะหมายถึงประเทศอย่างเราก็ได้ เพราะเรามีความพึ่งพิงตัวเองได้สูง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร อย่างสิงคโปร์เมื่อก่อนผมก็ว่าเขาเป็นโลกที่หนึ่งนะเพราะเทคโนโลยี เพราะคน เพราะการศึกษา แต่สมัยนี้ผมไม่นับนะ ถ้าทุกคนปิดประเทศหมดแล้วเขาจะทำอย่างไร โควิดยิ่งทำให้เห็นความเปราะบางตรงนี้ของหลายๆ ประเทศ ผมเลยมองว่าประเทศที่ดีตอนนี้ไม่ใช่กับประเทศที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานดี แต่ต้องสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพิงประเทศอื่น เน้นเรื่องความยั่งยืนด้วย อย่างการกินอาหารออร์แกนิคนี่ชาวต่างชาติหลายๆ คนบอกผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก และเขารู้สึกโชคดีมากที่มีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายในประเทศไทย
ข้างหลังภาพ
ทุกวันนี้ผมยังทำงานเป็นช่างภาพอิสระอยู่ แต่ก็รับงานน้อยลง แล้วก็เปลี่ยนแนวงานที่รับไปเยอะแบบตรงข้ามเลยกับสมัยก่อน เมื่อก่อนผมชอบลุย ได้เห็นอะไรใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ผมชอบรับงานที่เดินทางน้อย อยู่ในกรุงเทพฯ ยิ่งดี เลิกไม่ดึกยิ่งดี เพราะอยากใช้เวลากับครอบครัว แต่ก็ได้ใช้งานเรื่องถ่ายภาพ แนวคิดเรื่องศิลปะเยอะมากกับงานปฐม หรือกับสวนสามพราน อย่างรูปที่ใช้ประชาสัมพันธ์ผมก็ทำเองเยอะ มีการเดินทางไปหาเกษตรกร บ้านที่เขาอยู่ การแปรรูปวัตถุดิบ รูปของผลิตภัณฑ์ คือได้ใช้รูปและวิดีโอตลอดเวลา ยิ่งการเน้นเรื่อง Traceability ยิ่งต้องใช้ภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่มาที่ไป
แบบอย่างล้ำสมัย
คุณยายคือแบบอย่างในชีวิตของผม ท่านคือคนลงมือสร้างธุรกิจสวนสามพราน ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด เดินลุยเอง จัดการพื้นที่เอง อันที่จริงแล้ว ธุรกิจครอบครัวเรามีผู้หญิงนำเยอะทั้งคุณยายและคุณแม่ คุณยายเป็นคนคิดไกล ไกลกว่ายุคสมัยของตัวเองมาก ท่านอาจจะเป็นคนแรกๆ ในประเทศที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และทำอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดกว่า 40 ปี จากตอนแรกที่ทำสวนกุหลาบส่งกรุงเทพฯ ที่ชื่อ Rose Garden ต่อมาเปลี่ยนมาทำการแสดง ดึงคนสวนมาเป็นนักแสดงให้นักท่องเที่ยว ท่านยังเป็นคนทันสมัย ทันสมัยกว่าคนยุคเดียวกันมาก ตอนไปรับปริญญาผมที่นิวยอร์ก ท่านสามารถคุยกับเพื่อนผมแบบทันกัน เป็นคนใจกว้าง กล้าลองผิดลองถูก และคิดนอกกรอบ
โตไปด้วยกัน
สวนสามพราน 30-40 ปีแรก ไม่เคยรู้สึกว่ามีเพื่อนบ้าน คนชอบมองว่าเป็นที่ๆ ฝรั่งมา ราคาแพง พอเราเริ่มทำเรื่องอินทรีย์ ตอนนี้มีเพื่อนบ้านเป็นพันคน เราช่วยเปิดตลาดให้เขา สามพรานโมเดลเป็นโมเดลที่เราเข้าไปหาเกษตรกรที่ปลูกอินทรีย์อยู่แล้ว หรือไม่ใช่แต่เราชวนให้มาทำอินทรีย์ แล้วช่วยหาช่องทางการตลาดให้ เชื่อมต่อกับองค์กรอื่นๆ ช่วยเรื่องความรู้หลายแบบ เกษตรกรปกติจะชอบปลูกไม่ชอบขาย หรือชอบขายแต่ไม่มีช่องทาง สามพรานโมเดลเหมือนเป็นคนกลางที่ยุติธรรม โยงเกษตรกรเข้ากับผู้บริโภคโดยตรงหรือกับธุรกิจอื่น ปฐม หรือสวนสามพรานเหมือนเป็น End User คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แบบเกษตรพันธะสัญญา คือเขาปลูก เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองด้วย และก็เลือกขายให้คนอื่นได้ ให้เกษตรกรได้เงินมากขึ้นและเติบโตได้แบบยั่งยืน เราใช้ระบบ Participatory Guarantee System (PGS) ซึ่งเป็นกลไกที่ทั่วโลกใช้กันแล้วมันใช้งานได้ดีกับเกษตรกร สามพรานโมเดลทำกับเกษตรกร ปฐมมีโรงงานที่มีมาตรฐาน GMT พอขายได้เราก็มอบ 3% กลับไปให้ทางต้นน้ำ
ก้าวต่อไป
อนาคตผมมองว่าเราน่าจะขยายโดยการมีพาร์ทเนอร์มากขึ้นในทุกๆ ภาคส่วน เราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของพาร์ทเนอร์มาช่วยได้หลากหลายเรื่อง ที่จริงแล้ว พาร์ทเนอร์ที่เรามีก็ไม่ได้จำกัดแค่บริษัทใหญ่ๆ อย่างปตท. หรือแสนสิริเท่านั้น พาร์ทเนอร์เล็กๆ เราก็มีอยู่มากเพราะเราต้อนรับคนหรือบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกับเราทุกรูปแบบ เช่น ทีมกราฟฟิกที่เราทำงานด้วยก็ถือเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ร้านอาหารละแวกทองหล่อใกล้กับร้าน ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง หลายที่ก็นำวัตถุดิบออร์แกนิคของเราไปใช้ เราก็ถือว่าเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ซึ่งในอนาคตร้านเหล่านี้อาจจะติดต่อโดยตรงกับ PTTGC แล้วนำผลิตภัณฑ์ เช่น Patom Product ของเขาที่ทำด้วยกันกับเราไปขายก็ได้ คือเรามองว่าบทบาทของเราในฐานะ Social Enterprise นี้ก็คือเป็นตัวเชื่อม ถ้าหากเรามองย้อนกลับไป พาร์ทเนอร์คนแรกของเราก็คือเกษตรกร แต่ตอนนี้เรามีพาร์ทเนอร์ทางปลายน้ำด้วย อนาคตเราก็อยากโตไปพร้อมๆ กับเกษตรกร ชุมชนและพาร์ทเนอร์ ไม่ต้องรีบโต ที่สำคัญคือโตไปด้วยกันและโตอย่างยั่งยืน ■
รู้จักกับอนัฆ นวราช
อนัฆ นวราช จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก มหาวิทยาลัย American University ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และปริญญาโทด้านถ่ายภาพจากสถาบัน Pratt Institute นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของสวนสามพรานและผู้อำนวยการแบรนด์ Patom