HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


A Piece of Mind

เรื่องราวการค้นหาตัวตนจากเศษเหล็กและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นงานศิลป์มากคุณค่าและมูลค่าของ PiN Metal Arts

ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษเหล็กเจ้าของแบรนด์ PiN Metal Arts ใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงงานเหล็กนอกกรุงเทพฯ ที่คุณพ่อของเธอสร้างขึ้น พื้นที่ทำงานส่วนตัวรายล้อมไปด้วยเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงาน เธอเลือกเก็บเศษเหล็กเหลือทิ้งกลับไปที่สตูดิโอหลังโรงงาน บรีฟงานให้ช่างอย่างคล่องแคล่วก่อนปล่อยให้ช่างกลับไปง่วนอยู่หลังม่านประกายไฟที่พวยพุ่งเป็นระยะจากการเชื่อมเหล็ก

ปิ่นและทีมช่างกำลังเร่งมือทำงานเพราะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า บรรดาเศษเหล็กไร้ค่าที่เคยเป็นกลอนประตูและบานพับหน้าต่างกำลังจะกลายเป็นผลงานศิลปะที่จะเผยโฉมในเทศกาลวันเดอร์ฟรุตนั่นเอง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ปิ่นมีโอกาสแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะในพัทยาเพื่อตอกย้ำว่าเธอคือหนึ่งในนักออกแบบที่มีผลงานเป็นที่ต้องการมากที่สุดในเมืองไทย โดยงานศิลป์จากเศษเหล็กของเธอเป็นที่หมายปองของบรรดาโรงแรมและร้านอาหารหรูในกรุงเทพฯ ที่ต้องการงานศิลปะมากรสนิยมไปเสริมสร้างบรรยากาศ

ปิ่นคุ้นเคยกับกองเศษเหล็กนี้มาตั้งแต่เด็ก เธอเกิดมาในช่วงเวลาเดียวกับที่คุณพ่อก่อตั้งโรงงานเหล็กของครอบครัวในปี 2528 ในย่านคลองเตย โรงงานนี้ตั้งอยู่ริมน้ำ แบ่งออกเป็น 10 ห้อง ชั้นบนใช้เป็นที่พัก ส่วนชั้นล่างใช้เป็นที่ทำงานสำหรับคนงานกว่า 60 คน ปิ่นจำได้ว่าเคย ‘เกลียด’ ทุกอย่างรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเสียงดังน่าหนวกหู กลิ่นไม่พึงประสงค์ ความเลอะเทอะ และเศษเหล็กที่กระจัดกระจายอยู่เต็มบ้าน

“ด้วยความเป็นเด็กผู้หญิง เรารู้สึกไม่ชอบเลย เพราะบ้านเรามันไม่สวย ไม่สะอาดเหมือนบ้านคนอื่น” ปิ่นเล่า

ต่อมาในปี 2546 พ่อของเธอจำเป็นต้องย้ายโรงงานออกไปอยู่ย่านราษฎร์บูรณะชานเมืองกรุงเทพฯ ตามกฎหมาย

ผังเมืองใหม่ที่ไม่ให้โรงงานอยู่กลางเมืองซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ปิ่นได้เข้าเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและเริ่มปลดปล่อยความรู้สึกของเธอที่มีต่อโรงงานเหล็กผ่านการวาดภาพซึ่งเป็นวิชาที่เธอทำคะแนนได้ดีที่สุด

“ปิ่นได้เกรดเอวิชาจิตรกรรมมาตลอดแต่ตอนนั้นยังไม่ได้นำเหล็กมาใช้ในงาน”

สไตล์การวาดภาพที่บ่งบอกอารมณ์จากก้นบึ้งของหัวใจของปิ่นได้ดีที่สุดในชีวิตช่วงนั้นคงจะเป็นการวาดภาพสีน้ำมันที่มีเด็กทารกถูกเกี่ยวไว้กับท่อเหล็กและเครื่องจักรอุตสาหกรรมอื่นๆ สะท้อนถึงความรู้สึกแปลกแยกเป็นปรปักษ์กับโรงงานที่เธอใช้ชีวิตอยู่

ปิ่นชี้ให้ดูภาพถ่ายผลงานภาพวาดของเธอและเล่าว่า “นี่เป็นภาพเด็กแสนเศร้าในโรงงาน ช่วง 2 ปีแรกในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่ปิ่นรู้สึกเศร้ากับบ้านที่เป็นโรงงานมาก ไม่มีความสุขเลย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายก่อนจบการศึกษา โชคชะตาก็นำพาเธอมาให้เจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตทางบ้านและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เธอมีโอกาสได้ทดลองใช้เหล็กในการสร้างสรรค์งานแทนการวาดภาพเป็นครั้งแรกโดยการแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาและค้นพบว่าสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าภาพวาดเสียอีก

“ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ปิ่นทำคะแนนดีในการวาดภาพมาตลอดแต่อาจารย์แนะนำว่าให้ลองสร้างงานด้วยเหล็กดูบ้าง เราก็กลับมาคิดว่าจริงๆ เหล็กก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรามาตลอด ถ้าลองเอามาใช้ในงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองดูบ้างก็น่าจะดี”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้ากับความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับโรงงานที่ฝังลึกในจิตใจของปิ่นมาตลอดชีวิต สุดท้ายเธอได้ค้นพบความจริงว่าสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกแย่แบบนั้นเป็นเพราะเธอไม่เข้าใจคนที่อยู่รอบตัวเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงาน

“เราสงสัยว่า คนงานเหล่านี้เป็นใคร มาทำงานเพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นแค่นั้นหรือ พวกเขามีส่วนช่วยให้ชีวิตครอบครัวเราดีขึ้น มีเงินใช้ อันที่จริง พวกเขาเองก็มีบ้านที่ต่างจังหวัด มีที่นา และชีวิตที่เรียบง่ายอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังเลือกที่จะทิ้งบ้านมาทำงานที่นี่ แล้วทำไมเราถึงไม่ชอบโรงงานนี้ทั้งๆ ที่นี่คือบ้านเราเอง”

ปิ่นจำได้ว่าเคย ‘เกลียด’ ทุกอย่างรอบตัวไม่ว่าจะเป็น เสียงดังน่าหนวกหู กลิ่นไม่พึงประสงค์ ความเลอะเทอะ และเศษเหล็กทีกระจัดกระจายอยู่เต็มบ้าน “ด้วยความเป็น เด็กผู้หญิง เรารู้สึกไม่ชอบ เลย เพราะบ้านเรามันไม่สวย ไม่สะอาดเหมือนบ้านคนอืน” ปิ่นเล่า

ปิ่นจึงเริ่มพูดคุยและซักถามถึงชีวิตคนงานแต่ละคนเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการสร้างผลงานศิลปะจากชิ้นเหล็กและนำเสนอเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ก่อนจบการศึกษา

ระหว่างการทำงาน ปิ่นเหมือนได้ปลดเปลื้องปมที่ติดแน่นในใจเกี่ยวกับโรงงานและคนรอบตัวออกไปทีละน้อย เมื่อได้เรียนรู้ว่าโรงงานที่เธอเติบโตมานี้เป็นที่พึ่งหลักของคนงานทั้งหลาย เป็นที่สร้างงาน สร้างรายได้ซึ่งพวกเขานำไปจุนเจือครอบครัวและส่งลูกหลานให้ได้เรียนหนังสือ มุมมองของปิ่นที่มีต่อโรงงานแห่งนี้จึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โปรเจกต์ชิ้นนั้นทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับคนงานมากขึ้นและพวกเขาก็ดีใจมากที่เรื่องราวของพวกเขาได้ถูกเล่าต่อให้คนอื่นได้รู้

“เหมือนกับที่พ่อเคยพูดไว้ว่า ถ้าไม่มีพวกเขา ก็ไม่มีพ่อ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่มีคนงานเหล่านี้ก็ไม่ครอบครัวเราในวันนี้”

ด้วยมุมมองใหม่ ปิ่นมองโรงงานนี้เป็นสิ่งสวยงามและดีต่อใจ เมื่อเข้าใจความจริงของชีวิตแล้วเธอจึงเริ่มค้นหาความงามทางศิลปะจากสิ่งรอบตัวเพื่อให้ผลงานของเธอสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยรวบรวมเศษเหล็กเหลือทิ้งมาทดลองในการสร้างงานศิลปะให้ดูสง่างามและมีคุณค่ากว่าเดิม

“ปิ่นมองว่านี่คือความมหัศจรรย์ของเศษขยะ” แผ่นเหล็กเหลือทิ้งจากการปั๊มชิ้นส่วนโลหะรูปทรงซ้ำๆ กลับกลายเป็นลวดลายสวยงามแปลกตาซึ่งปิ่นนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานล้ำยุคของเธอที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยยึดแนวคิดเดียวกับการทำงานของคุณพ่อที่ว่า ‘งานนั้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน ต้องใช้ประโยชน์ได้จริง’

“ปิ่นใช้วิธีเปลี่ยนความคิดแง่ลบมาเป็นมุมบวก” เธอเล่าพร้อมกับพลิกหาตัวอย่างงานในแฟ้มรวมผลงานของเธอและชี้ให้ดูโคมระย้าชิ้นหนึ่งที่ทำจากแผ่นเหล็กเหลือทิ้งจากการทำกลอนประตูซึ่งตอนนี้ผลงานที่ว่าถูกนำไปประดับไว้ที่ร้านอาหาร ‘โบ.ลาน’ เป็นที่เรียบร้อย

“หลายคนคิดว่าปิ่นคิดลวดลายขึ้นมาเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันคือขยะที่เหลือจากการผลิตชิ้นส่วนโลหะซึ่งเรานำกลับมาสร้างงานได้หลายอย่างมาก”

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตปิ่นเริ่มต้นในปี 2555 หลังจากที่เธอนำผลงานจากเศษเหล็กไปแสดงในงาน Bangkok International Gift and Hardware โดยผลงานของเธอไปเตะตา Philips Collection ผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ร่วมสมัยจากสหรัฐอเมริกาที่ชื่นชอบเอกลักษณ์ของปิ่นมากจนตัดสินใจสั่งซื้อผลงานของเธอ

ปีต่อมา ผลงานของปิ่นได้รับรางวัล Design Excellence Award ที่มอบให้แก่สินค้าไทยที่มีการออกแบบดีโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ยอดออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายนับแต่นั้นมาทำให้ปิ่นเริ่มสร้างชื่อให้ตนเองในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนโลหะชั้นแนวหน้าของไทยที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรธุรกิจและแบรนด์ดังขนาดใหญ่ระดับประเทศหลายราย เช่น แสนสิริ สยามพิวรรธน์ ซึ่งปิ่นได้ออกแบบผลงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากรังไหมไปประดับไว้ในไอคอนสยามและสยาม พรีเมียม เอาต์เล็ต ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของกรุงเทพฯ

ไม่เพียงลูกค้ารายใหญ่ที่ชื่นชอบผลงานของปิ่น แม้แต่คนทั่วไปก็ยังอยากได้ผลงานของเธอไปประดับบ้าน ลูกค้ารายล่าสุดของปิ่นเป็นชาวนอร์เวย์ที่อาศัยอยู่ในพัทยาและต้องการโต๊ะและของตกแต่งบ้านสุดหรูมูลค่าหลายแสนบาทจากคอลเลกชันของปิ่นไปครอบครอง

การสร้างผลงานให้แก่ลูกค้าแต่ละรายถือเป็นความท้าทายของปิ่น โดยเธอจะพิจารณาว่าชิ้นส่วนโลหะรูปทรงต่างๆ ที่เธอนำมาจากโรงงานนั้นจะสร้างอะไรที่สื่อถึงอารมณ์และจิตวิญญาณของแบรนด์ต่างๆ ออกมาได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเธอได้รับมอบหมายให้สร้างโคมไฟระย้าไปติดตั้งในชอปแบรนด์ HARNN ซึ่งมีสินค้าหลักคือน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เธอจึงเลือกประกอบชิ้นเหล็กให้ออกมาเป็นฟอร์มของดอกไม้เพื่อสื่อถึงผลิตภัณฑ์หลักที่มีจากธรรมชาติของแบรนด์ เป็นต้น

ปิ่นปฏิบัติกับคนงานเหมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัวและจะให้ค่ากับงานของทุกคนเหมือนพวกเขาเป็นเจ้าของผลงานด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อถามปิ่นถึงกระบวนการการสร้างงานแต่ละชิ้นว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เธอเล่าว่า “บางครั้งก็จะร่างภาพไว้ก่อนและค่อยไปดูว่าจะใช้ชิ้นส่วนหรือลวดลายใดที่เหมาะกับงาน แต่บางครั้งก็จะสร้างงานจากวัสดุที่มีอยู่แล้วปรึกษากับช่างว่าทำอย่างนี้ได้หรือไม่”

สำหรับปิ่น สิ่งที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจ ณ ตอนนี้คือการได้กลับมาใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้น พ่อถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานหนักเพื่อเก็บเงินสร้างฐานะดูแลครอบครัว โดยเริ่มจากการเป็นช่างเหล็กในโรงงานจนสามารถเปิดโรงงานของตัวเองเมื่อ 35 ปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ปิ่นไม่เคยลืมว่าสิ่งที่เธอกำลังทำเป็นการต่อยอดธุรกิจที่พ่อของเธอสร้างมากับมือ

“คุณพ่อคือแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปิ่น” ปิ่นบอก

เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจของพ่อ ปิ่นซื้อเศษเหล็กจากโรงงานในราคาที่สูงกว่าตลาดถึงสองเท่า โดยเธอมองว่าเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลธุรกิจของกันและกัน เธอกับพ่ออาจมีวิธีการทำงานต่างกันแต่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้

วันนี้ ปิ่นยังคงโชว์ผลงานสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่สะท้อนชีวิตคนงานในโรงงานไว้ด้านนอกออฟฟิศเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าเธอสามารถก้าวข้ามความทรงจำอันเลวร้ายในโรงงานจนค้นพบแรงบันดาลใจสำคัญที่ไม่เคยอยู่ไกลจากตัวเธอเลย

นอกจากความตั้งใจที่จะชุบชีวิตธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวในวิถีใหม่แล้ว ปิ่นยังต้องการเปลี่ยนทัศนคติในการบริหารคนตามระบบลำดับขั้นซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบดั้งเดิมของคนไทยที่มีมายาวนานอีกด้วย

“ในเมืองไทยเรามักเห็นระบบการบริหารตามลำดับขั้นทุกที่ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ซึ่งพนักงานต้องเชื่อฟังคำสั่งจากเบื้องบนและอยู่ในที่ของตนเอง แต่ปิ่นไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น ปิ่นปฏิบัติกับคนงานเหมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัวและจะให้ค่ากับงานของทุกคนเหมือนพวกเขาเป็นเจ้าของผลงานด้วยเช่นเดียวกัน”

จะเห็นได้ว่าปิ่นส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอและยังให้โอกาสให้พวกเขามีเวลาอยู่กับครอบครัวหรือพากันไปเที่ยวกันอยู่บ่อยครั้ง ปิ่นบอกกับเราว่าเธอรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่เห็นพนักงานหันมาชื่นชอบงานศิลปะ เช่น ช่างเชื่อมคู่ใจสองคนที่เคยทำงานในไซต์ก่อสร้าง ปัจจุบันกลับกลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะของเธอ

“ปิ่นอยากให้การดูแลพนักงานเป็นไปอย่างยั่งยืนตามแนวคิดการสร้างงานจากโลหะ ปิ่นอยากรีไซเคิลความรู้และทักษะให้พนักงานเอาไปใช้ด้วย”

แม้โรงงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะหันไปพึ่งเครื่องจักรเป็นหลัก แต่ปิ่นและพ่อยังคงใช้เครื่องมือและเครื่องจักรที่เคยใช้มาตั้งแต่แรกก่อตั้งโรงงานซึ่งบางขั้นตอนยังต้องทำด้วยมือ ทั้งนี้ เพื่อรักษาคนงานไว้ให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ปิ่นและพ่อจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงถึง 1 ใน 3 จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ถึงอย่างนั้น ปิ่นก็ยังคงมองโลกในแง่ดีว่าอย่างน้อยโรคระบาดก็ทำให้คนหันมาใส่ใจกับความยั่งยืนและมองหาผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในแบบที่เธอกำลังทำมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปิ่นได้แสดงผลงานที่สะท้อนถึงแนวคิดความยั่งยืนในงาน International Industrial Design Week 2020 ที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน โดยแนวคิดหลักของนิทรรศการศิลปะในครั้งนั้นนำเสนอความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากสถานการณ์โรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม ปิ่นมองว่าแนวคิดนี้จะเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบหลังช่วงโควิด-19 และต่อไปในอนาคต

และแน่นอนว่าความเชื่อ ความมุ่งมั่น และการมองโลกในแง่ดีของปิ่นจะเป็นพลังบวกที่นำไปสู่การสร้างสรรค์และความสำเร็จในอีกระดับเช่นเดียวกัน