HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Like Father, Like Son

เรื่องราวการโลดแล่นบนเวทีโลกของเด็กหนุ่มนักแข่งเรือใบออพติมิสต์ ผู้ซึ่งตั้งมั่นจะดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพ่อของเขาเอง

ประเทศไทยนั้นมีสภาพอากาศที่เหมาะกับการเล่นกีฬาทางน้ำ ด้วยลมที่เป็นใจและคลื่นทะเลที่เงียบสงบ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้วงการแข่งเรือใบที่นี่เบ่งบานมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ทรงเรือใบข้ามอ่าวไทยระยะทางกว่า 60 ไมล์ทะเล เพียงลำพังพระองค์เดียว จนเรือใบประเภท ‘ดิงจี้ (Dinghy)’ กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในบ้านเรา

ม.ล.เวฆา ภาณุพันธ์ นักแล่นเรือใบรุ่นเยาวชน นั้นเลือกเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมาชิกของสมาคมสโมสรราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์รายนี้ สามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันเรือใบชิงแชมป์ประเทศไทยในรุ่น ‘ออพติมิสต์’ (ซึ่งเป็นรุ่นเล็กสุดของเรือใบดิงจี้) ประจำปี 2020 และการแข่งขัน Optimist European Championship 2021 มาครองได้สำเร็จได้ก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 13 ปีบริบูรณ์

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขายังคว้าถ้วยรางวัลอีกใบจากการแข่งขัน Admiral’s Cup 2021 ที่พัทยา รายการดังกล่าวถือเป็นการแข่งขันเรือใบดิงจี้ ที่ความเร็วระหว่าง 5 ถึง 13 นอต อันทรงเกียรติที่สุดรายการหนึ่งของภูมิภาค ม.ล.เวฆาสามารถคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งอีก 69 ราย ตลอดทั้ง 9 เที่ยวในการแข่งขัน โดยมี ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเคยชนะเลิศจากรายการแข่งขันเดียวกันนี้เมื่อปี 1987 คอยเชียร์และรอต้อนรับอยู่ริมฝั่ง เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ทั้งคู่ยืนเคียงข้างกันให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ม.ล.เวฆาชูถ้วยรางวัลและเสื้อสกรีนโลโก้ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในสปอนเซอร์หลักของเขา

ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ หรือ ‘คุณเบิร์ด’ พ่อของม.ล.เวฆานั้นเป็นอดีตนักกีฬาเรือใบมือวางอันดับที่ 14 ของโลก เขาคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์และการแข่งขันชิงแชมป์โลกอื่นๆ หลายรายการ ม.ล.เวฆายังเป็นหลานในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ผู้ทรงมีชื่อเสียงด้านการแข่งรถและเรือใบระดับโลก โดยทรงลงแข่งขันกีฬาเรือใบในมหกรรมโอลิมปิกถึง 4 ครั้ง (ปี 1956 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ปี 1960 ที่กรุงโรมของอิตาลี ปี 1964 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น และปี 1972 ที่นครมิวนิกของเยอรมนี) ขณะที่กรวิก ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นแม่ของ ม.ล.เวฆา นั้น ก็มาจากครอบครัวนักแล่นเรือตัวยงและเคยลงแข่งขันเรือใบมาก่อน แม้ทุกวันนี้เธอดูจะเพียงปล่อยให้ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ผู้เป็นทั้งพ่อและโค้ชของม.ล.เวฆา ได้ฝึกสอนกันลำพังสองพ่อลูก ขณะที่เธอเพลิดเพลินกับสายลมและเสียงของเกลียวคลื่น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของพสกนิกรชาวไทย ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของกีฬาเรือใบ ซึ่งเป็นกีฬาที่พระองค์ทรงโปรด มีเรื่องเล่าหลายเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ เช่น ครั้งหนึ่งในปี 1965 ยามทรงเล่นเรือใบร่วมกับเชื้อพระวงศ์และพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์จากประเทศต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเฉือนเอาชนะเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ แห่งสหราชอาณาจักร และชนะเลิศการแข่งขันดังกล่าว แม้จะรู้กันว่าเจ้าชายฟิลลิปคือหนึ่งผู้ที่มีพระปรีชาสามารถในการแล่นเรือใบในระดับโลก หรือเรื่องที่พระองค์ทรงเข้าร่วมแข่งขันแล่นเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (กีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน) และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดา ในปี 1967

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปณิธานในการเผยแพร่กีฬาเรือใบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่พสกนิกรชาวไทย และทรงรับสโมสรเรือใบราชวรุณไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ สโมสรดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองพัทยาและจุดที่ ม.ล.เวฆา คว้าชัยชนะจากการแข่งขัน Admiral’s Cup 2021 เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เริ่มแรก กีฬาเรือใบยังคงถือเป็นสิ่งที่ไกลตัวคนไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากอุปสรรคอย่างการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นและพื้นที่ชายฝั่งสำหรับใช้ฝึกซ้อม โชคดีที่ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อหมวดเรือใบเยาวชนแห่งประเทศไทย (Junior Sailing Squadron of Thailand: JSST) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1977

ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ หรือ ‘คุณเบิร์ด’ พ่อของม.ล.เวฆานั้นเป็นอดีตนักกีฬาเรือใบมือวางอันดับที่ 14 ของโลก เขาคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์และการแข่งขันชิงแชมป์โลกอื่นๆ หลายรายการ ม.ล.เวฆายังเป็นหลานในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ผู้ทรงลงแข่งขันกีฬาเรือใบในมหกรรมโอลิมปิกถึง 4 ครั้ง

เดิมทีสโมสรเรือใบราชวรุณฯ ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1957 นั้นมีบทบาทในการส่งเสริมกีฬาเรือใบในประเทศไทย และเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันเรือใบทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค นับตั้งแต่การแข่งขันประเภทเรือใบดิงจี้ไปจนถึงประเภทคาตามารันอยู่แล้ว แต่อัลเบอร์ต แชนด์เล่อร์ หนึ่งในสมาชิกของสโมสร ยังเล็งเห็นโอกาสในการทำให้กีฬาเรือใบนั้นเปิดกว้างขึ้นสำหรับเยาวชนไทย จึงนำเรือใบออพติมิสต์มาใช้ในการฝึก เนื่องจากสามารถสร้างและประกอบได้ง่าย ใครก็หัดเล่นได้ และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ต้องการฝึกเล่นเรือใบ

ในปี 1977 อัลเบอร์ตร่วมกับกองทัพเรือไทยในสัตหีบและผู้สนับสนุนรายอื่นๆ ในการจัดสร้างฝูงเรือใบออพติมิสต์สำหรับหมวดเรือใบเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยมีทางสมาคมเปิดสอนหลักสูตรเรือใบและค่ายเรือใบให้กับเยาวชนที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แน่นอนนักกีฬาส่วนใหญ่มักมาจากชุมชนใกล้เคียง แต่ในขณะเดียวโครงการอย่างหมวดเรือใบเยาวชนก็ยังเปิดกว้างให้กับเยาวชนจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งทำให้แวดวงเรือใบของไทยได้ค้นพบกีรติ บัวลง นักแล่นใบทีมชาติไทยและนักกีฬาคนอื่นๆ

กีรติได้รู้จักกับค่ายเรือใบของหมวดเรือใบเยาวชนเป็นครั้งแรก ตอนที่เขาเดินทางจากจังหวัดนครปฐมซึ่งไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล มาพักผ่อนกับครอบครัวใกล้กับอำเภอสัตหีบ เขาคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์หลายรายการ ก่อนจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยให้ไปแข่งขันเรือใบประเภทเลเซอร์ สแตนดาร์ด ในศึกโอลิมปิกปี 2012 ณ กรุงลอนดอน นอกจากนั้น ก็ยังมีนพเก้า พูนพัฒน์ ซึ่งคว้าแชมป์จากศึกเรือใบเยาวชนชิงแชมป์โลก ปี 2010 ที่ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยกวาดมาทั้งหมด 4 รางวัล คือแชมป์โลกบุคคลคะแนนรวม แชมป์โลกบุคคลหญิง แชมป์โลกประเภททีม และแชมป์โลกประเภททีมคะแนนรวมยอดเยี่ยม ส่วนกมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมแข่งขันเรือใบในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ก็เริ่มต้นเส้นทางในฐานะนักแข่งเรือใบออพติมิสต์เช่นเดียวกัน และยังเป็นหนึ่งในตัวแทนทีมชาติ 17 คนที่คว้าตั๋วเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ได้สำเร็จ ก่อนที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ศึกโอลิมปิกดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไป

ปัจจุบันมีนักแล่นเรือใบสัญชาติไทยหลายรายที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ บรรดานักแล่นใบดาวรุ่งซึ่งได้รับการฝึกฝนขัดเกลาจากรุ่นสู่รุ่นนี้ ช่วยให้แวดวงเรือใบในประเทศไทยนั้นคึกคัก และนักแล่นใบผู้มุ่งมั่นอย่างม.ล.เวฆาก็มีทั้งคู่แข่งชาวไทยและต่างชาติไว้ให้คอยประชันและฝึกฝีมือร่วมกันอยู่ตลอด

หลังคว้าชัยชนะในศึกการแข่งขันระดับประเทศและศึกยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ ตอนนี้ ม.ล.เวฆา กำลังอยู่ระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อลงแข่งเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2021 ที่เมืองริวา เดล การ์ดา ประเทศอิตาลี ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ในขณะที่เด็กอายุ 13 ปีคนอื่นๆ อาจง่วนอยู่กับการเล่นสนุกกับเพื่อนหรือสะสางการบ้าน ม.ล.เวฆานั้นใช้เวลาแทบทั้งหมดไปกับการฝึกร่างกายและซักซ้อมกีฬาเรือใบ

ม.ล.เวฆามีโอกาสติดตามครอบครัวไปยังสโมสรเรือใบราชวรุณฯ ตั้งแต่ยังแบะเบาะ ที่นั่นเองที่เขาได้ทำความรู้จักกับกีฬาเรือใบเป็นครั้งแรก “ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เติบโตมากับเรือแล้ว และผมก็เลี้ยงเวฆาแบบเดียวกัน ผมพาเขาแล่นเรือตั้งแต่อายุได้ราว 6 เดือน หลายคนคิดว่าเราบ้าที่พาลูกออกไปกลางทะเล แต่เราคำนึงเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเราทั้งคู่โตขึ้นมาทั้งบนบกและในน้ำจริงๆ” ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ผู้เป็นพ่อของม.ล.เวฆา ระลึกความหลังพลางหัวเราะ

เมื่อเวลาผ่านไป พรสวรรค์และจิตวิญญาณนักสู้ของ ม.ล.เวฆาก็เริ่มฉายแววให้เห็น เขาเดินสายแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ในรายการต่างๆ โดยมีผู้เป็นแม่คอยให้กำลังใจ และพ่อเป็นผู้ฝึกสอน หนุ่มน้อยรายนี้ตระหนักดีว่าเขาต้องให้ความสำคัญกับจุดใดบ้าง “ในการแข่งเรือใบ มีเทคนิคและกลยุทธ์มากมายที่ผมต้องเรียนรู้ ความท้าทายมันมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป บางทีเราก็ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ จากการเฝ้าสังเกตนักกีฬาคนอื่นๆ ตอนแข่ง แต่ปกติแล้วเราจะศึกษานักแข่งและโค้ชจากหลายๆ ที่ และพยายามซึมซับเทคนิคต่างๆ เท่าที่จะทำได้เพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น” ม.ล.เวฆาอธิบาย

ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เติบโตมากับเรือแล้ว และผมก็เลี้ยงเวฆาแบบเดียวกัน ผมพาเขาแล่นเรือตั้งแต่อายุได้ราว 6 เดือน หลายคนคิดว่าเราบ้าที่พาลูกออกไปกลางทะเล

จากคำบอกเล่าของม.ล.เวฆา ยังมีอีกสารพัดปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในระหว่างการแข่งขัน อาทิ ทิศทางลม ความเร็ว กระแสน้ำ และตำแหน่งของเรือลำอื่นๆ ในยามที่ควบคุมใบเรือ เชือก และหางเสือ อยู่กลางทะเลอย่างสุดความสามารถ โดยเขาเปรียบเทียบการเล่นเรือใบกับกีฬาหมากรุก ต่างกันที่ในกีฬาเรือใบ นักกีฬาเองก็เป็นหมากตัวหนึ่งในกระดานด้วย

กรวิก ผู้เป็นแม่ของม.ล.เวฆา กล่าวถึงความมุ่งมั่นแรงกล้าของลูกชาย “เขามีเพื่อนทั้งจากการแข่งเรือและที่โรงเรียนซึ่งเขาทำสิ่งต่างๆ ด้วย แต่ปัจจุบันที่เขามาถึงระดับนี้ เราคิดว่าเขารู้ดีว่าสิ่งใดควรทำ เขาเลือกที่จะลาออกจากทีมว่ายน้ำโรงเรียนเพราะสมาชิกทีมต้องเข้าร่วมการฝึกอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจส่งผลให้เขาฝึกซ้อมเรือใบไม่ได้เต็มที่ แต่เวฆาเลือกเข้าร่วมทีมปีนผาเพราะมันช่วยเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ซึ่งใกล้เคียงกับกิจวัตรการฝึกของเขามากกว่า อีกทั้งการเข้าร่วมทีมไม่ต้องอาศัยความทุ่มเทและเวลามากเท่ากับการเข้าร่วมทีมว่ายน้ำ”

ด้วยความทุ่มเทอย่างสุดตัว ประกอบกับความรักความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากผู้เป็นพ่อและแม่ ทุกคนเชื่อมั่นว่า ม.ล.เวฆา จะสามารถก้าวไปโลดแล่นในการแข่งขันระดับโลกได้ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวดูจะใกล้ความจริงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขากลายเป็นคนไทยคนแรกที่คว้าชัยชนะในศึกยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า

คำถามที่สำคัญอีกข้อ คือเส้นทางในอนาคตของม.ล.เวฆาจะเป็นอย่างไร นักแข่งเรือใบสามารถเข้าแข่งขันในประเภทออพติมิสต์ได้จนกว่าจะมีอายุครบ 16 ปี หนุ่มน้อยรายนี้จึงเหลือเวลาอีกราว 2-3 ปี แต่เขาไม่คิดจะหยุดแค่นั้น และตั้งใจจะลงแข่งเรือใบ 470 ซึ่งเป็นเรือประเภทใบคู่ที่มีขนาดใหญ่กว่าและต้องอาศัยนักแล่นสองคนในการควบคุม ม.ล.เวฆาจึงต้องเร่งพัฒนาชั่วโมงบิน รวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีมและความเป็นผู้นำ “เรือใบ 470 เป็นเรือดิงจี้สำหรับสองคน แปลว่าเราต้องการนักแล่นเรือใบที่เก่งและมีเคมีที่ลงตัว มาร่วมทีมกัน เหมือนการจับมือเป็นหุ้นส่วน” ม.ร.ว.พีรานุพงศ์อธิบาย

ม.ล.เวฆารู้ดีว่าเขาต้องพัฒนาทักษะในด้านใดบ้างเพื่อจะก้าวไปเป็นนักแล่นเรือใบมือฉกาจ “เราต้องพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร มันคือจุดเริ่มต้นการเดินทางบทใหม่กับเรือลำใหม่ และเราต้องพยายามหาทางไต่อันดับขึ้นไป” เขากล่าว

เขายังเข้าใจถึงจุดบกพร่องที่ตนเองมี และรู้ว่าต้องฝึกฝนอย่างหนักและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ เขาจะปั่นจักรยานและวิ่ง เพื่อเตรียมร่างกายสำหรับการฝึกเทคนิคจริงในทะเลในช่วงสุดสัปดาห์ “ผมรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนหลายข้อ แต่ผมเรียนรู้จากความผิดพลาดและเดินหน้าต่อ พ่อทำงานร่วมกับผม เราแบ่งปันข้อมูลกันและกันและพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกที่มี ก่อนจะลองฝึกจริงในทะเล ถ้าได้ผล เราก็เดินหน้าต่อ ถ้าไม่เวิร์ค เราก็หาวิธีใหม่”

ด้วยแรงขับเคลื่อนและความมุ่งมั่นแรงกล้า หลายคนเชื่อมั่นว่าม.ล.เวฆามีศักยภาพที่จะเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปารีสในปี 2024 แต่นอกเหนือจากเกมการแข่งขันแล้ว นักแล่นใบครอบครัวนี้ยังเข้าถึงความสนุกและความรื่นรมย์จากยามที่ลมทะเลพัดปะทะหน้า ทั้งม.ร.ว.พีรานุพงศ์และกรวิกพูดคุยเกี่ยวกับการแข่งขันราวกับกำลังวางแผนวันหยุดครอบครัว และรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับการแข่งขันของม.ล.เวฆา อยู่ตลอด

จากเด็กคนหนึ่งที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปเป็นชายหนุ่มผู้ซึ่งหลงใหลในกีฬาเรือใบ ดูเหมือนนี่คือมรดกจากรุ่นสู่รุ่น ที่กำลังเบ่งบานด้วยความรักและช่วงเวลาดีๆ ระหว่างเพื่อนและคนในครอบครัว