SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Citizen of Nowhere
ศาสตร์ ‘การเล่าเรื่อง’ และเอกลักษณ์สุดขั้วแบบไทยๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านชิ้นงานแสนขบถของ ศรัณย์ เย็นปัญญา
เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ศรัณย์ เย็นปัญญา อาศัยอยู่ในโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ทำงานของเขาไปเพียงหนึ่งกิโลเมตร เพื่อประหยัดเวลาเดินทาง ทุกๆ เช้า เขาใช้เวลาราว 15 นาที เดินลัดเลาะย่านเยาวราช ผ่านร้านอาหารครอบครัวเก่าแก่ และวงเวียนโอเดียน ซึ่งตั้งชื่อตามโรงภาพยนตร์ที่ถูกรื้อถอนไปเมื่อช่วงปี ’80s แล้วตัดเข้าสู่ถนนเจริญกรุง อันเป็นที่ตั้งของตึกฟูจอห์นซึ่งในอดีตเป็นแหล่งขายอะไหล่รถยนต์ จากนั้นศรัณย์จะเลี้ยวตัดเข้าซอยแคบๆ ตรงหัวมุมก่อนถึงร้านขายก๊าซออกซิเจนและอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ ในช่วงเย็นพื้นที่ดังกล่าวนั้นถูกจับจองโดยร้านรถเข็นขายข้าวผัดปูซึ่งตั้งโต๊ะเก้าอี้ล้นออกมาตรงถนน จนบรรดารถราที่แล่นผ่านต้องชะลอตัว
จุดหมายปลายทางของศรัณย์คือ 56th สตูดิโอ ครีเอทีฟเอเจนซีซึ่งเขาและนภวรรณ ตวงกิจกูล ผู้เป็นหุ้นส่วน ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อราวสิบปีก่อน สตูดิโอแห่งนี้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่อง (storytelling) อันเป็นปรัชญาที่สะท้อนอยู่ในถ้อยคำที่ร้อยเรียงบนหน้าเว็บไซต์ของทั้งคู่ อาทิ “form follows story (เรื่องมาก่อนรูปทรง)” และ “telling good stories with no restricted manners (บอกเล่าเรื่องราวชั้นดีโดยไม่มีจารีตกำกับ)” ซึ่งบอกใบ้ถึงความไม่ยี่หระของศรัณย์ในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมือง
สตูดิโอของเขาคว้ารางวัลมานับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือรางวัล Best Young Designer of the Year จากหลายสำนัก รวมทั้งนิตยสารระดับโลก Wallpaper และ Elle Decoration ผลงานสร้างสรรค์ของทั้งคู่ ซึ่งมีตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะจัดวาง (art installation) ไปจนถึงร้านอาหารแนวป๊อปอัพ ได้เคยจัดแสดงมาแล้วในหลายเมืองใหญ่ ทั้งมิลาน ปารีส โตเกียว เบอร์ลิน นิวยอร์ก ไปจนถึงสตอกโฮล์ม ขณะที่ตัวศรัณย์เองก็จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเล่าเรื่องมาจาก Department of Graphic Design and Illustration มหาวิทยาลัย Konstfack ในกรุงสตอกโฮล์ม สถาบันศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดน
การเดินเท้าผ่านเยาวราชในแต่ละเช้าของศรัณย์ คือการเดินทางข้ามผ่านจุดตัดแห่งยุคสมัย ระหว่างตึกรามบ้านช่องเก่าแก่กับตึกระฟ้ากลางย่านธุรกิจ และเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับเขาเมื่อมาถึงหน้าสำนักงานของ 56th สตูดิโอ ในตึกแถวเก่าแก่ เบื้องหลังบานกระจกใสคือภาพการ์ตูนพิน็อกคิโอบนผนังกั้นสีเหลืองสด แปลกไปก็แต่ว่าปลายจมูกสีแดงของพิน็อกคิโอที่ยื่นแหลมออกมานั้นดูอย่างไรก็คือปลัดขิก
ชั้นล่างของสำนักงานเป็นที่ตั้งของ ‘ชามแกง’ ร้านอาหารโทนสีแดงอบอุ่น ซึ่งศรัณย์กระซิบบอกเราว่าตัวเขาคือ ‘มาม่าซัง’ ประจำร้าน ผนังฟากซ้ายของร้านมีเสื่อผืนใหญ่จากขอนแก่นปูไว้ตลอดแนว ด้านบนของเสื่อประดับไว้ด้วยสารพัดงานฝีมือรายล้อมภาพปักครอสติช The Last Supper ที่ปักอย่างหยาบได้ใจ ขณะที่เก้าอี้กลมภายในร้านมีเบาะหุ้มด้วยเสื่อและปักลวดลายอย่าง เสือ กุหลาบ ปากอิ่มเอิบคาบบุหรี่ หรือแมลงวัน ภายใต้แสงที่ส่องมาจากโคมไฟหวายรูปต้นมะพร้าว ดูเหมือนว่าพื้นที่แทบทุกกระเบียดภายในร้านถูกตกแต่งอย่างจัดจ้านจนแทบไม่มีจุดให้พักสายตา
ก่อนการบูรณะตึกแถวนี้เป็นสำนักงาน ศรัณย์คาดเดาจากตะขอและเชือกที่ห้อยระโยงระยางจากเพดานว่ามันน่าจะเคยเป็นโรงฆ่าสัตว์มาก่อน แต่ปัจจุบัน อาคารแห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่ตั้งของ 56th สตูดิโอ และร้านอาหารชามแกงที่ขึ้นชื่อเรื่องจองยาก แต่ยังรวมถึงบริษัท Continuum ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ “เล่าเรื่องเหมือนนิตยสาร ทำงานแบบเอเจนซี ขายอย่างมีศิลปะ” ร้านเฟอร์นิเจอร์ Citizen of Nowhere และแบรนด์ผ้าทอ OneMoreThing ซึ่งร่วมงานกับนักวาดภาพประกอบชื่อดังมากหน้าหลายตา อาทิ ปอม ชาน, ลักษณ์ ใหม่สาลี, แมว ประกิต และเต้ ปฏิพัทธ์ (ชัยวิเทศ)
สตูดิโอทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของตึกแถว ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานศิลปะซึ่งทำจากวัสดุที่เราคุ้นเคยอย่างเสื่อทอน้ำมัน ผ้าขาวม้า และถุงกระสอบที่ Balenciaga นำมาเปลี่ยนเป็นกระเป๋าโอเวอร์ไซส์ จนกลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อหลายปีก่อน ศรัณย์หยิบจับข้าวของเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นผลงานศิลปะหลากสีสันและลูกเล่น สำหรับศรัณย์แล้ว สิ่งของแต่ละชิ้นบอกเล่าเรื่องราวในตัวของมันเอง และวัตถุทุกชิ้นบนโลกนั้นมีเรื่องราวซ่อนอยู่ งานถนัดของศรัณย์คือการดึงเอาเรื่องราวเหล่านี้ออกมา “มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อกับผู้คน การจะให้คนคนหนึ่งซื้อความคิดหรือของชิ้นหนึ่ง ของชิ้นนั้นต้องสื่อสารได้ด้วยตัวมันเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องราวพิเศษมากมาย แต่อย่างไรมันก็ต้องมีร่องรอยความเป็นมาหรือการเดินทางของมัน” ศรัณย์อธิบาย
สิ่งของแต่ละชิ้นบอกเล่าเรื่องราวในตัวของมันเอง และวัตถุทุกชิ้นบนโลกนั้นมีเรื่องราวซ่อนอยู่ งานถนัดของศรัณย์คือการดึงเอาเรื่องราวเหล่านี้ออกมา
ที่แน่ๆ คือสินค้าแบรนด์ Citizen of Nowhere ของศรัณย์ผ่านการเดินทางมายาวไกล เมื่อสามปีก่อน ศรัณย์ผู้ซึ่งหมดพลังจากการทำงานกับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าหรู ได้ตัดสินใจเช่ารถตู้และออกเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งเขาเปรียบเทียบแบบติดตลกว่าเหมือนการทัวร์คอนเสิร์ต Formation World Tour ของนักร้องสาวบียอนเซ่ โนวส์ “ผมเอาที่อยู่ของทุกโอทอปบนเว็บไซต์มาปักเป็นหมุดบนแผนที่แล้วก็ตระเวนไปหาจนครบ”
ตำแหน่งบนแผนที่ที่ระบุอยู่บนเว็บไซต์นั้นส่วนใหญ่คลาดเคลื่อน และเบอร์โทรศัพท์ก็มักมีแต่เบอร์ 02 ที่ยากแก่การติดต่อ รถตู้ของเขาจึงหลงทางซ้ำแล้วซ้ำเล่า ศรัณย์ยังจดจำได้ดีถึงยามที่แผนที่บนกูเกิลนำทางเขาไปยังศาลาจำหน่ายสินค้าโอทอปของจังหวัดแห่งหนึ่ง ที่เมื่อเข้าไปแล้ว ศรัณย์ได้พบสุนัขนอนหลับพริ้มอยู่บนพื้นปูนเย็นเฉียบ รายล้อมอยู่ด้วยชั้นโชว์สินค้าว่างเปล่า “เราเลยจงใจตั้งชื่อแบรนด์ว่า Citizen of Nowhere” เพราะรถตู้ของศรัณย์มักไปโผล่ที่ที่ไม่รู้อยู่แห่งหนไหนแบบนี้เสมอ
ในผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อเสียงให้ศรัณย์นั้น เขานำลังผลไม้พลาสติกตามตลาดมาดัดแปลงเป็นเก้าอี้หรู โดยเขาลงมือเลื่อยขอบด้านข้างออกด้วยตัวเอง และจ้างช่างมาติดขาไม้ที่สลักเสลาอย่างประณีตเข้าไป ศรัณย์แบกลังตะกร้าเหล่านี้ไปตามถนนสายไม้บางโพ แหล่งขายไม้เก่าแก่ของกรุงเทพฯ เพื่อตามหาช่างฝีมือที่จะสามารถแกะสลักขาไม้ให้เขาได้ “การเมืองมันแทรกอยู่ในวิธีการที่เราทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเอางานฝีมือพื้นถิ่นมาขายหรือทำงานกับช่างท้องถิ่น เพราะเราเห็นว่าช่างเหล่านี้ก็คือฐานพีระมิดของสังคม” เขากล่าว
การสร้างสินค้าหรูจากของที่ ‘ตลาด’ ที่สุดชวนให้นึกถึงงานออกแบบส้วมทองคำ 18 กะรัต อันเป็นที่โจษจันของเมาริซิโอ คัตเตลาน ศิลปินชาวอิตาเลียน ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Guggenheim นี่คือความสำเร็จของการประชด ‘ผู้มีอันจะกิน’ในแบบที่ยังทำให้ผู้มีอันจะกินกลับพิสมัยและอยากได้งานมาครอบครอง ในสมัยที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่สวีเดน ศรัณย์คิดอย่างไร้เดียงสาว่าเขาจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการตั้งขายเก้าอี้ประชดสังคมที่ทาเป็นสีทอง เงิน หรือไม่ก็สีแจ๋นจัดจ้านนี้ ซึ่งได้เคยถูกจัดแสดงในร้านขายสินค้าไฮแฟชั่น Dover Street Market มาแล้ว
“ผมชอบเวลาคนถามผมว่ามึงกำลังจะทำบ้าอะไรวะ แต่ก็ยังอยากทำงานกับเราอยู่ดี หุ้นส่วนผมให้การสนับสนุนผมเป็นอย่างดี เก้าอี้ตัวนี้สื่อถึงความเป็นไทยที่หลุดไปจากกรอบเดิม” เขากล่าว เมื่อทศวรรษก่อน การ ‘อัปไซเคิล’ หรือการนำเอาวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังเป็นแนวคิดที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย ทุกวันนี้ ศรัณย์ภาคภูมิใจที่ผลงานของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบจำนวนมาก ในฐานะศิลปินที่หยิบยกความสูงต่ำสุดขั้วที่อยู่เคียงคู่กัน อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของกรุงเทพฯ (ลองนึกถึงสปอร์ตคลับสุดหรูกลางชุมชนซอมซ่อ) มาบอกเล่าผ่านงานศิลปะ
“จริงๆ แล้วธุรกิจทั้งห้าอย่างของผมมันคือเรื่องเดียวกันหมด ผมเชื่อในพลังของมวยรอง” ศรัณย์กล่าว เขาทำงานกับกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า ‘คนชายขอบ’ คนที่ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีชื่อเสียง ศรัณย์มองว่าเขาเป็นพวกเดียวกับบรรดา ‘ลุงๆ ป้าๆ’ เหล่านี้ เพราะ “ผมไม่รวย และผมก็เป็นเกย์”
นอกเหนือจากวิธีคิดที่สร้างสรรค์แล้ว เขายังมีความเข้าใจในฐานะเจ้าของธุรกิจอีกด้วย อันเป็นสิ่งที่เขาครูพักลักจำมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ “ความสนใจผมอยู่ที่เรื่องความสร้างสรรค์ อยากรู้ว่างานสร้างสรรค์มันแสดงออกผ่านอะไรได้บ้าง สมมติเครื่องทอชาวบ้านเป็นกี่กระตุก ของโรงงานเราเป็นเครื่องทอผ้าแจคการ์ดแบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าข้อจำกัดย่อมไม่เหมือนกัน โจทย์ในการทำธุรกิจก็ย่อมต่างกันไปด้วย ผมอยากไขคำตอบและตีโจทย์ทางธุรกิจว่าแต่ละแบรนด์มันต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง”
แม้วิธีการ ‘ตีโจทย์’ ของเขาจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจกต์ที่ทำ แต่ 56th สตูดิโอก็มักสอดแทรกองค์ประกอบบ้าบิ่นลงไปในงานที่ทำร่วมกับองค์กรต่างๆ อันเป็นความพยายามลดทอนเส้นแบ่งระหว่างงานออกแบบเชิงธุรกิจกับกลิ่นอายดิบๆ ของศิลปะ
ผลงานของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบจำนวนมาก ในฐานะศิลปินที่หยิบยกความสูงต่ำสุดขั้วที่อยู่เคียงคู่กัน อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของกรุงเทพฯ
ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบงานศิลปะที่ดูล้ำหรือออกนอกกรอบ แต่แบรนด์ส่วนใหญ่มักหวาดกลัวและหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหว งานหลายชิ้นของ 56th สตูดิโอนั้นเดินอยู่บนด้ายบางๆ ของโลกคู่ขนานนี้ ในผลงานปี 2560 ซึ่งทางสตูดิโอออกแบบให้กับห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ศรัณย์นำเอาสัญลักษณ์ประจำนักษัตรระกามาตีความใหม่เป็นงานปักลายการ์ตูนรูปนกเกี้ยวพาราสี และชามตราไก่สีสันสดใสที่ตัวการ์ตูนนกกำลังกะพริบตาและส่งจูบ พร้อมคำบรรยายว่า “Do you know roosters are actually very flirtatious? (คุณรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วไก่ตัวผู้เป็นสัตว์ที่ชอบหว่านเสน่ห์มาก?)” ขณะที่งานที่ศรัณย์ทำให้กับโรงแรม W นั้น เขาชวนกลุ่มศิลปินไทยรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะจากเก้าอี้ร้านก๋วยเตี๋ยวผลงานนี้ ‘ปล้น’ เอาเครื่องใช้สามัญประจำร้านขายอาหารริมทาง มาตีความใหม่เป็นประติมากรรมเก้าอี้เหล็กตั้งซ้อนเหนือโต๊ะลายตารางหมากรุก และหอคอยที่ประกอบขึ้นจากโต๊ะเก้าอี้เหล็กสีแดงของร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งได้จัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2018 แน่นอนว่าหนึ่งในเก้าอี้สารพัดสารพัน คือเก้าอี้กลมเบาะรองนั่งปักลายรูปปากคาบบุหรี่ของเขานั่นเอง
กล่าวได้ว่าการสอดแทรกศิลปะหมิ่นเหม่ลงไปในงานออกแบบที่ทำให้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ หรือการใส่ลูกเล่นสนุกๆ ลงไปในงานศิลปะโบราณ คือการฝึกนำเอาองค์ประกอบที่เป็นความต่างสุดขั้วมาใช้ได้อย่างสมดุล ซึ่งเป็นความถนัดของ 56th สตูดิโอ ศรัณย์และหุ้นส่วนยอมรับว่าการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำนั้นเป็นเรื่องสุดกำลัง พวกเขาจึงสร้างระบบย่อมๆ ของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำงานนอกกรอบเดิม อย่างที่ศรัณย์เรียกว่าการ #อยู่เป็น “บรรจุภัณฑ์ของเรานั้นทำขึ้นโดยคุณลุงคุณป้าซึ่งเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ในท้องถิ่น เราต้องการให้กำไรนั้นกระจายไปถึงระดับรากหญ้า และให้พวกเขามีรายได้จากธุรกิจอย่างยั่งยืน”
งานออกแบบหัตถกรรมพื้นบ้านของ 56th สตูดิโอ นั้นมีจุดประสงค์เพื่อยกย่องงานหัตถศิลป์ไทย แต่แทนที่จะแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านงานตามขนบอย่างพุทธศิลป์หรือเครื่องเบญจรงค์ 56th สตูดิโอเลือกที่จะเล่นกับสิ่งของแสนสามัญในชีวิตประจำวันชาวบ้านอย่างเครื่องมือตกปลา และที่ปอกมะพร้าว
“ผมพยายามสร้างสรรค์งานที่สะท้อนสังคม” ศรัณย์กล่าว ผลงานของเขาถูกถ่ายทอดผ่านสื่อหลากรูปแบบ นับตั้งแต่ภาพยนตร์แอนิเมชัน Early Morning Life ผลงานสมัยเรียนปริญญาโทซึ่งตัวฉากนั้นตัดแปะจากกระดาษและวัสดุรอบตัว เพื่อบอกเล่าภูมิหลังของครอบครัว ที่ศรัณย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายของสินค้าขายนักท่องเที่ยวในย่านนานา จำพวกดอกบัว ร่ม สีนีออน ไปจนถึงประสบการณ์อาหารมื้อค่ำแบบอินเตอร์แอ็กทิฟที่เขารังสรรค์ร่วมกับทีมเชฟจาก ‘สำรับ สำหรับไทย’ ร้านอาหารแนวเชฟเทเบิลส์ และจัดขึ้นที่ ‘นิวเฮงกี่’ ภัตตาคารอาหารจีนระดับตำนาน อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week
ธุรกิจห้าบริษัทของศรัณย์กำลังจะกลายเป็นหก เพราะ 56th สตูดิโอกำลังวางแผนจะเปิด ‘ห้องจิบน้ำชาเพื่อสามัญชน’ อีกด้วย โดยศรัณย์ยังคงชูประเด็นเรื่องชนชั้น ด้วยการจัดวัฒนธรรมการจิบน้ำชายามบ่าย มาประสานเข้ากับชานมไข่มุกที่ต้องต่อคิวกันยาวเหยียดตามห้างสรรพสินค้า และโอเลี้ยงยกล้อข้างถนน “จริงอยู่ที่ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมชาที่รุ่มรวย แต่ภูมิประเทศของเราก็เอื้อต่อการปลูกชาคุณภาพดี จนแม้กระทั่งแบรนด์ชาระดับโลกอย่างมาริยาจค์ แฟรร์ยังเลือกใช้ใบชาจากบ้านเรา ร้านชาของเราจะปลุกวัฒนธรรมการนั่งล้อมวงจิบชาซีลอน โอเลี้ยง และโอยัวะ ให้กลับมาอีกครั้ง” ศรัณย์กล่าว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ใบชาที่ใช้เสิร์ฟในร้านชาแห่งนี้จะได้รับการคั่วอย่างพิถีพิถันโดยคุณลุงจากปักษ์ใต้นี่เอง ■