HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


By the Fireplace

เป็นเวลานานกว่าทศวรรษที่ที่พักสไตล์ ‘แกลมปิ้ง’ ครองใจบรรดา นักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติและการผจญภัย และสถานการณ์โรคระบาด อาจยิ่งทำให้การท่องเที่ยวรูปแบบนี้เติบโตขึ้นอย่างพุ่งพรวด

ภายในซอยนราธิวาส 1 ซึ่งคั่นระหว่างถนนสุรวงศ์กับถนนสีลมนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทำไมชาวกรุงจำนวนมากจึงโหยหาธรรมชาติอันเงียบสงบ ถนนเลนเดียวเนืองแน่นไปด้วยรถเข็นขายลูกชิ้นปิ้งและไก่ย่างควันขโมงฟุ้งเข้าหาผู้ที่สัญจรไปมา ทางเท้าที่แคบและเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางทำให้หลายคนจำยอมเดินบนถนน ซึ่งเต็มไปด้วยรถรา จนต้องคอยเอี้ยวหลบซ้ายทีขวาที วันดีคืนดีก็มีรถบรรทุกคืบคลานเข้ามาในซอยด้วยในช่วงกลางวัน รถแบ็คโฮซึ่งกำลังเดินเครื่องเต็มสูบนั้นส่งเสียงครึกโครมจนคนที่เดินผ่านไปมาต้องยกมือขึ้นป้องหูเป็นระยะ และเป็นแบบนี้ติดต่อกันแปดชั่วโมงต่อวัน การเผชิญชีวิตเช่นนี้วันแล้ววันเล่าทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับชีวิตในเมืองใหญ่

สำหรับใครก็ตามที่อยากหลีกหนีจากชีวิตในป่าคอนกรีต แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติน้อยใหญ่ของประเทศไทยถือเป็นยารักษาชั้นยอด เราจึงมักได้เห็นหนุ่มสาวชาวกรุงแบกเป้ขึ้นดอยหรือเข้าป่าในช่วงสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ การแคมปิ้งในสถานที่ธรรมชาตินั้นเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมายาวนาน และยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ Research and Markets รายได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบแคมปิ้งและแกลมปิ้งทั่วโลกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้น มาจากนักท่องเที่ยวสายผจญภัย ผลวิจัยฉบับเดียวกันยังชี้ด้วยว่า การท่องเที่ยวแนวสำรวจผจญภัยนี้มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นราว 12% ในระหว่างปี 2562-2568 ขณะที่สารพัดแกดเจ็ตและอุปกรณ์แคมปิ้งที่ออกสู่ท้องตลาด อาทิ โคมไฟยูเอสบีแบบพกพา เต็นท์กันน้ำ และเทคโนโลยีกันคราบสกปรก ยิ่งทำให้หลายคนสนใจการท่องเที่ยวแนวผจญภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกเข็ดขยาด เพียงจินตนาการว่าตนต้องบุกป่าฝ่าดงไปนอนกลางดินกินกลางทราย หรือก่อกองไฟเพื่อหุงหาอาหาร ท่ามกลางอากาศร้อนระอุและสารพัดแมลงสัตว์รบกวนโดยไม่มีแม้กระทั่งพัดลม ซึ่งสิ่งที่ว่ามานี้ไม่ได้ผิดเพี้ยนจากความจริงนัก จนกระทั่งราว 12 ปีก่อน เมื่อกระแสการท่องเที่ยวแนว ‘แกลมปิ้ง (glamping)’ เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงโรงแรม แกลมปิ้งนั้นย่อมาจากคำว่า glamorous camping ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีจุดขายชัดเจน กล่าวคือ การนอนชมทะเลดาวบนที่นอนนุ่มๆ และเพลิดเพลินกับบรรยากาศรอบกองไฟ โดยยังได้ลิ้มรสอาหารฝีมือเชฟ

แนวคิดการ ‘แกลมปิ้ง’ หรือการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ โดยยังคงได้รับการปรนนิบัติพัดวีเหมือนในโรงแรมหรูนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการท่องเที่ยวแนวซาฟารีในทวีปแอฟริกา

อย่างไรก็ดี แนวคิดการ ‘แกลมปิ้ง’ หรือการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ โดยยังคงได้รับการปรนนิบัติพัดวีเหมือนในโรงแรมหรูนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการท่องเที่ยวแนวซาฟารีในทวีปแอฟริกา ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกลิ่นอายพื้นเมืองและใช้ชีวิตใกล้ชิดสัตว์ป่าน้อยใหญ่ การท่องเที่ยวแนวซาฟารีนั้นได้รับการบุกเบิกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และยังคงเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคดังกล่าว ปัจจุบัน จำนวนที่พักสไตล์แกลมปิ้งนี้กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเอง “การแกลมปิ้งเปิดโอกาสให้เราได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติรอบตัว และหลีกหนีจากความวุ่นวายของชีวิตประจำวัน เหมือนย้อนเวลาไปหนึ่งร้อยปี โดยยังได้รับความสะดวกสบายของโลกยุคใหม่ครบถ้วน” โทเบียส เอ็มเมอร์ กล่าว เขาคือผู้จัดการประจำโรงแรม Four Seasons Tented Camp Golden Triangle ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรีสอร์ทแกลมปิ้งที่หรูหราที่สุดในประเทศไทย

โรงแรมแห่งนี้ออกแบบโดยบิล เบนสเลย์ สถาปนิกระดับตำนานซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เดอะ โฟร์ ซีซันส์ เต็นท์ แคมป์สามเหลี่ยมทองคำ ตั้งอยู่ติดกับชายแดนเมียนมาและลาว ที่นี่คือรีสอร์ทระดับห้าดาวแห่งแรกๆ ของประเทศ ที่เลือกนำเต็นท์และกระท่อมมาใช้เป็นจุดขายแทนวิลล่าและห้องสวีทโอ่โถง เพื่อสร้างสมดุลกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ อันเป็นแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมที่กำลังได้รับความนิยม ตัวรีสอร์ทนั้นตั้งอยู่ติดกับพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ซึ่งมีช้างหลายเชือกที่ได้รับการช่วยเหลืออาศัยอยู่โดยรอบ “การได้เงี่ยหูฟังเสียงป่าขณะนอนเอกเขนกบนเตียงคิงส์ไซส์ในเต็นท์เปิดโล่ง พลางจิบมิโมซ่าและชมทิวทัศน์สามประเทศกับฝูงช้างที่เดินเตร่อยู่ท่ามกลางสายหมอก คือนิยามที่แท้จริงของการแกลมปิ้ง” โทเบียสกล่าว

ที่พักแนวแกลมปิ้งแทบทุกแห่งมีจุดขายอยู่ที่ความมินิมัล ไม่ก็ซ่อนตัวอยู่ในทำเลที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่คุ้มค่าในแง่ประสบการณ์และบริการที่ได้รับ

ปัจจุบัน ที่พักแนวแกลมปิ้งนั้นมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบและราคา นับตั้งแต่แคมปิ้งสไตล์โบฮีเมียน ซึ่งลดทอนความหรูหราลงโดยไม่ละทิ้งความสะดวกสบายพื้นฐาน อาทิ The Camp Land เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จากภายนอก ที่นี่ดูเหมือนสถานที่ตั้งแคมป์ระดับกลางทั่วไป เต็นท์ทรงกระโจมสีขาวนั้นตั้งรายล้อมพื้นที่ส่วนกลาง อันประกอบด้วยเตาสำหรับก่อกองไฟ โต๊ะรับประทานอาหาร และชิงช้า ภายในเต็นท์หน้าตาเรียบๆ นั้นมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่นอนและหมอนนุ่ม ไฟดวงน้อยที่ให้แสงสว่างละมุน และเต้ารับปลั๊กไฟ ยามค่ำคืน ดวงไฟที่ประดับประดาอยู่เหนือลานตั้งแคมป์จะส่องสว่างขึ้นตัดกับไอหมอกที่ลอยคลุ้ง

ที่พักซึ่งให้อารมณ์ใกล้เคียงกับการแกลมปิ้ง แต่ ‘ดิบ’ กว่านี้ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่ามกลางธรรมชาติที่ถูก ‘ออกแบบ’ มาแล้วอย่างดีในราคาเอื้อมถึง (ราคาเฉลี่ยราว 1, 000 บาทต่อคืน) ที่พักในลักษณะนี้ยังใช้เงินลงทุนไม่มาก และมักคืนทุนหมดภายใน 1-2 ปี หากผู้ประกอบการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีลานขนาดกว้างพอสำหรับการทำพื้นที่ส่วนกลาง ตัวเต็นท์นั้นใช้เงินลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาคารที่เป็นโครงสร้างถาวร ขณะที่งานเดินท่อประปาและครัวส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง เช่นเดียวกับงานตกแต่ง ทำให้เจ้าของที่ดินไม่ต้องทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ เพียงแต่เพิ่มลูกเล่นหรือการตกแต่งบางอย่างเข้าไป เพื่อสร้างจุดขายและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มุ่งหวังอยากเก็บภาพสวยๆ ลงอินสตาแกรม

ศิริพร ตราชู นักการตลาดและสื่อสารผู้คร่ำหวอดในแวดวงโรงแรมมานานกว่าสิบปี จากการทำงานให้กับแบรนด์ อาทิ เครือ Four Seasons Hotels and Reports ประเทศไทย เครือ Best Western Asia เครือ Accor และโรงแรมบูทีคอีกหลายแห่ง กล่าวว่าลูกค้าที่อายุน้อยกว่ายินดีที่จะจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่อซื้อความ ‘สวยงาม’ ของประสบการณ์เข้าพัก แม้หากพิจารณาเฉพาะปัจจัยมูลค่าเงินแล้ว สิ่งที่ได้รับอาจไม่สมเหตุสมผลนักก็ตาม “แนวคิดแบบน้อยแต่มาก หรือ less is more เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เวลาคนเจนซีกับเจนวายวางแผนการเดินทาง สิ่งแรกที่พวกเขาคำนึงถึงคือเรื่องดีไซน์ ที่พักแนวแกลมปิ้งแทบทุกแห่งมีจุดขายอยู่ที่ความมินิมัล ไม่ก็ซ่อนตัวอยู่ในทำเลที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่คุ้มค่าในแง่ประสบการณ์และบริการที่ได้รับ” เธอกล่าว

คล้ายๆ กับวงการแฟชั่น โรงแรมระดับไฮเอนด์เองมักเป็นผู้บุกเบิกกระแสบางอย่าง ไม่ว่าจะในด้านการออกแบบก็ดี หรือในด้านฟังก์ชันก็ดี ก่อนที่โรงแรมอื่นๆ ในระดับรองลงมาจะเริ่มนำมาปรับเปลี่ยนให้ตรงความต้องการของตลาดในวงกว้างยิ่งขึ้น แม้ว่าที่พักแนวแกลมปิ้งที่เปิดตัวในระยะหลังๆ อาทิ เดอะ แคมป์ แลนด์ จะค่อนไปทาง ‘ติดดิน’ มากกว่า แต่ในภาพรวมแล้ว ที่พักเหล่านี้ยังคงเน้นหนักในเรื่องความหรูหรา ไม่ผิดเพี้ยนไปจากบรรดารีสอร์ทแนวซาฟารีในแอฟริกา “ที่พักสไตล์แกลมปิ้งนั้นให้อารมณ์เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมเล็กๆ ที่สร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อเราคนเดียว มันเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น โดยยังคงได้รับความสะดวกสบายเหมือนการพักในรีสอร์ท” จิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ เจ้าของ Kachong Hills Tented Resort ในจังหวัดตรัง กล่าว

กะช่อง ฮิลส์ เต็นท์ รีสอร์ท นั้นตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่ความสูง 1, 340 เมตรเหนือน้ำทะเล ไกลจากหาดทรายขาวระยิบระยับ อัญมณีเม็ดงามของจังหวัดตรัง ที่ดินของรีสอร์ทนั้นเป็นบ้านของสัตว์ป่าคุ้มครองนานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำของทะเลสาบผืนงามของภาคใต้ ในอดีตกะช่องทำหน้าที่เป็นเส้นทางค้าขายระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศที่สำคัญ

ความนิยมของการท่องเที่ยวสไตล์แกลมปิ้งที่เพิ่มขึ้นนั้น เชื่อมโยงกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มาแรงต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หลงใหลการปีนเขา เล่นน้ำตก และดื่มด่ำกับทัศนียภาพและเสียงกระซิบของผืนป่า ซึ่งตรงกันกับคำบอกเล่าของจิรวัฒน์ที่ว่าลูกค้าของเขาส่วนใหญ่เป็นคนรักธรรมชาติ ภายในรีสอร์ทแห่งนี้ เต็นท์หลังน้อยใหญ่ตั้งอยู่เหนือทิวเขาเล็กๆ และหมู่แมกไม้ โอบล้อมด้วยขุนเขาเขียวขจีและสายหมอก แสงธรรมชาติที่ลอดผ่านหน้าต่างครึ่งวงกลมบานใหญ่เข้ามาทำให้บรรยากาศในเต็นท์นั้นโปร่งโล่ง การตกแต่งนั้นทำอย่างเรียบหรูด้วยพื้นสีเข้มและเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์วินเทจ พร้อมด้วยเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น บางหลังถึงขั้นมีอ่างน้ำส่วนตัวย่อมๆ กลางแจ้ง และเดย์เบดมาให้พร้อม ยามเดินลัดเลาะชมวิวรอบๆ รีสอร์ท แขกผู้มาเยือนอาจพบกับฝูงแพะที่กำลังเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน หากใครอยากสัมผัสประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการนอนเต็นท์ ยิ่งขึ้น ทางรีสอร์ทก็มีเต็นท์ราคาย่อมเยากว่าให้จับจองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี จิรวัฒน์ยอมรับว่า แม้รีสอร์ทของเขาจะมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเพียงใด การท่องเที่ยวในจังหวัดตรังนั้นยังพัฒนาไปไม่เท่ากับหัวเมืองอื่นๆ ในภาคใต้อย่างภูเก็ต กระบี่ หรือสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสารพัดเครือโรงแรมหรู “แต่เราก็เห็นแสงแห่งความหวังอยู่ลิบๆ มันทำให้เราต้องยกระดับการให้บริการและดูแลลูกค้า การมาเที่ยวเมืองรองอย่างจังหวัดตรังนั้นให้อารมณ์ต่างจากเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เวลามาพักที่นี่ แขกจะรู้สึกเหมือนมาค้างบ้านญาติที่ต่างจังหวัดมากกว่ามานอนโรงแรม” เขากล่าว

จิรวัฒน์และผู้ประกอบการอื่นๆ เห็นตรงกันว่า ที่พักแนวแกลมปิ้งนั้นมีข้อได้เปรียบเหนือที่พักประเภทอื่นๆ ในสองมิติ ข้อแรก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้นยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากโหยหาประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติและเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น “นอกเหนือจากเรื่องดีไซน์และตำแหน่งที่ตั้งแล้ว กิจกรรมที่ทางรีสอร์ทนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ที่พักรูปแบบนี้ได้รับความนิยม เช่น การปลูกป่า การเดินป่า หรือการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งโรงแรมส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรมเหล่านี้” จิรวัฒน์อธิบาย

จะเห็นว่า การได้ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาตินั้น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยหลงใหลการท่องเที่ยวแนวแกลมปิ้ง ไม่แพ้จุดเด่นในเรื่องความสะดวกสบายและดีไซน์ของตัวที่พักเอง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคหลังโควิด-19 ที่คนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

เป็นความจริงว่าการเดินทางแต่ละครั้งย่อมมอบอรรถรสที่ต่างกันออกไปและท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของบรรดาผู้ประกอบการโรงแรม นักเดินทางจำนวนไม่น้อยจะยินดีทุ่มเงินมากขึ้นอีกเพื่อซื้อ ‘ประสบการณ์’ ที่ว่านี้