SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Trashion Forward
เทรนด์แฟชั่นจากกองขยะหรือ ‘แทรชชั่น’ ถูกปลุกเร้าให้ตื่นขึ้นท่ามกลางการบริโภคเสื้อผ้าที่ล้นเกินและนำไปสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อม
ภายในพื้นที่จัดเวิร์กชอปงานออกแบบแห่งหนึ่งย่านพระรามสาม ยุทธนา อโนทัยสินทวี นักออกแบบมือฉมัง กำลังพูดถึงเรื่องขยะอย่างออกรส ยุทธนาไม่ได้เป็นแค่นักออกแบบ แต่ยังเป็นเจ้าของกิจการและผู้ก่อตั้งแบรนด์เเฟชั่นรักษ์โลกชื่อ TheReMaker ที่สำคัญเขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกให้สังคมไทยได้รู้จักการออกแบบแฟชั่นจากขยะหรือของเหลือใช้เรียกกันว่า Trashion (Trash + Fashion) เบื้องหลังงานออกแบบที่มีชื่อเสียงของเขา ไม่ว่าจะเครื่องประดับตกแต่ง กระเป๋า หรือรองเท้า ล้วนมีที่มาจากวัสดุเหลือทิ้งที่เจ้าของเดิมไม่ต้องการ ตั้งแต่ยางในของรถจักรยานยนต์ ไปจนถึงเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เหลือเก็บจากการผลิตเสื้อผ้า
“แรงบันดาลใจมีอยู่รอบตัวเรา ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ผมเป็นต้องได้เห็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ในงานได้เสมอเลย อย่างป้ายโฆษณาบิลบอร์ดมักถูกใช้งานสักราวสองสามอาทิตย์ แล้วก็ถอดเอาไปทิ้ง ปล่อยให้ป้ายผุพังไปตามเวลา แต่ถ้าเราเอามาใช้ในงานออกแบบ ป้ายพวกนี้จะอยู่กับเราไปหลายปี พวกบรรจุภัณฑ์อย่างขวดน้ำเปล่า หรือถุงขนมขบเคี้ยวก็เหมือนกัน ขยะที่มีอยู่มากมาย จริงๆ แล้วเรานำกลับมาใช้งานได้อีก” ยุทธนากล่าวถึงที่มาของแนวคิดในการออกแบบงาน
ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ยุทธนาเปรียบได้กับกองหน้าผู้กรุยทางให้ผู้ชำนาญการออกแบบรายอื่นๆ ในการขับเคลื่อนศิลปะแนวใหม่ด้วยการควานหาวัตถุดิบจากกองขยะเพื่อรังสรรค์เสื้อผ้าอาภรณ์ชั้นเลิศ ช่วยเพิ่มสีสันให้เวทีแฟชั่นชั้นสูงระดับโอต์ กูตูร์ ที่ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่ในเมืองไทย แต่ยังสร้างชื่อเสียงดังไปไกลถึงระดับนานาชาติ
ความจริงแล้ว การนำวัสดุของเหลือมาใช้ซ้ำ หรือปรับแต่งให้มีคุณประโยชน์กว่าเก่า คือกิจกรรมที่มนุษย์กระทำมาเป็นเวลานาน มีงานฝีมือนับไม่ถ้วนที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของเหลือทิ้ง เช่น การถักทอกระเป๋าจากถุงบรรจุข้าวสารหรือกล่องน้ำผลไม้ที่หมดประโยชน์ การแกะสลักเครื่องประดับจากกระป๋องน้ำมันเก่าคร่ำคร่า และการเย็บปักถักร้อยถุงกระสอบกับเสื้อผ้าจากกองขยะให้กลายร่างเป็นผ้านวมและพรมเช็ดเท้า แต่สำหรับคำว่า ‘แทรชชั่น’ คำนี้เพิ่งปรากฏเป็นรูปธรรมในยุคนี้นี่เอง
คำว่าแทรชชั่นถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี 2004 ในนิตยสาร Thread ซึ่งวางจำหน่ายในประเทศนิวซีแลนด์ แรกเริ่มเดิมทีคำนี้เป็นเพียงหน่วยย่อยหนึ่งของงานศิลปะวัสดุ (Object Art) จากการหยิบเอาขยะหรือของเหลือใช้มาทำเครื่องประดับตกแต่ง แต่ด้วยกระแสของแฟชั่น ‘สีเขียว’ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดได้เปลี่ยนคำว่าแทรชชั่นให้หมายเฉพาะถึงแฟชั่นจากของเหลือใช้ ประเภทเสื้อผ้าเป็นหลัก
หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยทำให้แทรชชั่นติดลมบน ก็คือกระแสปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยมแบบล้นเกิน เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ โลกแฟชั่นนั้นอยู่ได้ด้วยการกระตุ้นให้คนเกิดความอยากได้ของใหม่หรือของที่ ‘กำลังมา’ หรือที่เรียกกันว่า It items (เช่น It bag หรือ It coat ซึ่งก็คือกระเป๋าหรือเสื้อคลุมที่ทุกคนต่างพูดถึงและอยากได้) โดยไม่สนว่าจะนำไปสู่ปัญหาการสร้างขยะหรือไม่ ความกระหายและการไขว่คว้าหาเสื้อผ้าใหม่ล่าสุดกลายเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนให้เกิดไลน์เสื้อผ้าตามฤดูกาล ไปจนถึงการผลิตไลน์เสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นที่เกาะกระแสนิยมของสังคมอย่างไม่ลดละ และถมโลกด้วยกองเสื้อผ้าที่เกินความต้องการ ดังนั้น จุดมุ่งหมายของเสื้อผ้าสไตล์แทรชชั่นจึงเป็นมากกว่าเพียงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากยังเป็นความพยายามเตือนสติให้รู้ว่า ทุ่มซื้อเสื้อผ้าสิ่งของมากมายถึงเพียงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น
โลกแฟชั่นอยู่ได้ด้วยการ กระตุ้นให้คนเกิดความอยากได้ของใหม่หรือของที่ ‘กำลังมา’ โดยไม่สนว่าจะนำไปสู่ปัญหาการสร้างขยะหรือไม่
แต่แทรชชั่นก็มีจุดอ่อนไม่ต่างจากอุตสาหกรรมทางเลือกหรืออุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หากพิจารณาต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะพบว่าการประหยัดต้นทุนต่อหน่วยการผลิต (economies of scale) แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะปกติแล้วห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกผูกโยงกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและสีย้อมในสเกลใหญ่มหาศาล ซึ่งง่ายต่อการคุมต้นทุน ตรงกันข้าม การพยายามเอาเศษผ้าเหลือทิ้ง หรือเสื้อผ้าใช้แล้วมาผลิตแทรชชั่นยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยมากก็แพงกว่าการผลิตแบบปกติด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่การใช้งานวัสดุเหลือใช้ของแทรชชั่นไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงาม เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้มักมีลักษณะเหมือนใหม่จนแยกไม่ออก สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ปัญหาสำคัญที่กระแสแทรชชั่นต้องเผชิญคือ ‘ภาษีสิ่งแวดล้อม” (eco-tax) ที่รัฐเก็บจากผู้ผลิตและผู้ซื้อ
“ความท้าทายที่สุดของงานออกแบบคือการทำให้ผู้คนรู้สึกกระหายที่จะครอบครองงานชิ้นดังกล่าว ความกระหายนี้มาจากการผสมผสานความรู้สึกที่ของชิ้นนั้นๆ กระตุ้นให้เกิดขึ้นกับราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่าย ส่วนงานแทรชชั่นจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังสร้างประโยชน์ให้กับโลก แต่ในขณะเดียวกัน ราคาต้องจับต้องได้ และสามารถนำไปใช้งานได้ดีด้วย” ปัลลาวี สิงห์ฮี เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Verb ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของอินเดีย สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจถึงทิศทางที่แทรชชั่นควรมีกับผู้บริโภค
เมื่อมองภาพรวมของตลาดแฟชั่น แบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ต่างกระโดดมาร่วมวงแทรชชั่นมากขึ้น แบรนด์อย่าง Balenciaga, Marni, และ Coach กำลังศึกษาหาวิธีนำวัสดุหลายแบบกลับมาใช้ซ้ำ ทางด้าน Miu Miu ก็ประกาศผลิตคอลเลกชั่นชื่อ Upcycled ซึ่งผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุโบราณที่สามารถหาได้จากร้านหรือตลาดขายของเก่า ส่วนแบรนด์ผลิตเสื้อผ้าตามเทรนด์ชื่อดังอย่าง Zara และ H&M ก็เริ่มเดินหน้ากับการหาวัสดุเหลือใช้เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าสินค้า อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าพัฒนาการเหล่านี้ยังอาจเป็นเพียงการเกาะกระแสอันฉาบฉวยของอุตสาหกรรมแฟชั่น สังเกตได้จากหลายๆ แบรนด์ยังใช้แทรชชั่นในลักษณะทดลองมากกว่าจะเป็นกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ
โชคดีที่ทุกวันนี้อุตสาหกรรมแทบทุกประเภทในโลก รวมถึงอุตสาหกรรมล้ำหน้าอย่างการขุดเหมืองคริปโต กำลังถูกกดดันโดยเหล่านักสิ่งแวดล้อมให้หันมาใช้นวัตกรรมแห่งความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จะช่วยลดปริมาณเศษผ้าที่ถูกตัดทิ้ง ชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Offsetting) ได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บพลาสติกแบบ PET ได้ด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economies) และช่วยลดต้นทุนจากภาษีสิ่งแวดล้อมที่บริษัทแฟชั่นเคยต้องจ่าย ซึ่งอาจทำให้เมื่อสินค้าไปถึงผู้บริโภค ราคาของแทรชชั่นไม่ดูแพงจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าปวดหัวคือไม่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีไปขนาดไหน นวัตกรรมการผลิตอย่างยั่งยืนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหา ‘ของมันต้องมี’ ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงของอุตสาหกรรมแฟชั่น ผู้คนทั่วไปซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 60% เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และเมื่อนำไปคิดอัตราเฉลี่ยทั่วโลก จะพบว่าผู้คนซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นถึง 56 ล้านตันต่อปี ในทางตรงข้าม พบว่าอายุเฉลี่ยของเสื้อผ้าประเภทหนึ่งที่วางขายในท้องตลาดมีอายุน้อยกว่า 2 ปีโดยไม่จำกัดว่าเสื้อผ้าชุดนั้นทักทอทำจากอะไร หรือพูดอีกอย่างก็คือ เสื้อผ้าทุกตัวทุกประเภทที่เราเห็นวางจำหน่ายในท้องตลาดจะหายไปภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีนับจากวันแรกที่มันออกจำหน่ายแบบ ‘เก่าไป ใหม่มา’ ดูเหมือนไม่ว่าจะมีเสื้อผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบใดออกขายในท้องตลาด แทรชชั่นก็ยังต้องขับเคี่ยวกับกองขยะเสื้อผ้าที่สูงพะเนินต่อไปอยู่ดี
งานแทรชชั่นทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังสร้างประโยชน์ใหักับโลก แต่ในขณะเดียวกันราคาต้องจับต้องได้ และสามารถนำไปใช้งานได้ดี
ผลร้ายของอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ได้มีแค่กับผู้บริโภค แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่งเผยให้สาธารณะรับรู้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าแฟชั่นมีผลลบต่อวิกฤตสภาพอากาศด้วย เพราะอุตสาหกรรมนี้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกถึง 10% และปล่อยน้ำเน่าเสียอีกถึง 20% หากเปรียบเทียบจะพบว่าแม้อุตสาหกรรมการบินจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นกลับสูบใช้พลังงานในโลกมากกว่าการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการบินกับอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือรวมกันเสียอีก ยังไม่ต้องพูดถึงบาปอื่นๆ ของวงการแฟชั่นอย่างปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตเสื้อผ้าล้นสต็อก การมีห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเออร์ที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ ตลอดจนการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และการผลาญพลังงาน
การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ดูจะเหยียบย่ำซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง เมื่อโลกจำต้องแช่แข็งกิจกรรมของมนุษย์ในตอนต้นปี 2020 เพื่อรับมือโรคร้าย จึงได้เห็นรายงานการขาดทุนมหาศาลจากการสต็อกสินค้าแฟชั่น ช่วงกลางปีที่แล้ว บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการอย่าง McKinsey เผยแพร่รายงานชื่อ Fashion’s Digital Transformation: Now or Never เพื่อประเมินว่ามูลค่าของเสื้อผ้าคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ร้อนปี 2020 ที่จำต้องจัดเก็บในคลังสินค้าสูงเท่าไหร่ ผลการประเมินเผยให้เห็นตัวเลขสูงเกือบ 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าปกติในคลังสินค้าของปีก่อนๆ ถึงสองเท่า และโควิด-19 คือตัวการสำคัญที่ทำให้มูลค่ารวมของสินค้าเสื้อผ้าค้างสต็อกสูงถึงเพียงนี้เพราะหาทางขายไม่ออก
ภายใต้กระแสความกดดันเรื่องความยั่งยืนที่มีมากขึ้นในสถานการณ์อย่างนี้ กระแสเเทรชชั่นได้รับการสนับสนุนจากเหล่านักออกแบบชื่อดังในวงการหลายต่อหลายคน อาทิ มาริน แซร์ เอมิลี่ โบดี้ และเกเบรียล่า เฮิร์ซ ซึ่งล้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มนักออกแบบเสื้อผ้าระดับโปรที่มีผลงานออกแสดงบนเวทีระดับโอต์ กูตูร์อยู่เสมอ อีกบุคคลหนึ่งที่ร่วมกระแสขับเคลื่อนด้วยก็คือ เเดเนียล ซิลเวอร์สไตน์ หรือที่รู้จักกันในนาม Zero Waste Daniel แห่งนิวยอร์ค ซิตี้ ผู้ออกแบบเสื้อผ้าสไตล์สตรีทแวร์ โดยเเดเนียลจะรวบรวมม้วนเศษผ้าหลากสีสันที่เหลือจากโรงงานมาเย็บเข้ารูปกับเศษผ้าชิ้นใหญ่ๆ ที่หมดประโยชน์แล้วให้กลายเป็นสตรีทแวร์อันฉูดฉาด อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าบ่อยครั้งกระแสแทรชชันก็ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ในโลกตะวันตกอย่างแฟชั่นกระแสหลัก การพัฒนาความเป็นเมืองที่รวดเร็ว และการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจช่วยเพิ่มปริมาณการบริโภคพลาสติกในอัตราเร่งกว่าภูมิภาคใดในโลก แต่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้พยายามเดินหน้าไปสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนมากขึ้น
“นักออกแบบรุ่นใหม่ชาวไทยมักมีมุมมองที่ไม่เหมือนใครในการออกแบบ ฝีมือของพวกเขาทำให้หลายคนถึงกับเปลี่ยนมุมมองมาเป็นยอมรับในฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย” บิล เบนส์ลีย์ นักออกแบบชื่อดังชาวอเมริกันผู้พำนักอยู่ในประเทศไทย ให้ทัศนะถึงฝีมือของนักออกแบบชาวไทยรุ่นใหม่
เบนส์ลีย์เป็นทั้งนักสถาปัตย์ด้านภูมิทัศน์ สถาปนิก และนักออกแบบตกแต่งภายใน และเคยทำงานออกแบบให้อุตสาหกรรมบริการมามากกว่า 200 โครงการใน 50 ประเทศทั่วโลก ล่าสุดก็เพิ่งออกแบบงานสไตล์แทรชชั่นด้วยการออกแบบร้านขายสินค้าสไตล์บูติกในรีสอร์ท Shinta Mani Wild ของเขาในประเทศกัมพูชา ร้านนี้จัดวางจำหน่ายเสื้อแจ็กเกตทำจากผ้าฝ้ายหยาบเหลือใช้และประดับตกแต่งด้วยอัญมณีสวยงามอย่างตั้งใจ เงินรายได้จากการขายเสื้อผ้าในร้านจะนำไปสบทบทุนสนับสนุนองค์กร Wildlife Alliance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งอนุรักษ์สัตว์ป่า
“ตอนนี้สตูดิโอแฟชั่นขนาดเล็กหลายแห่งก็หันมาใช้ผ้ารีไซเคิลของแท้เพื่อผลิตแฟชั่นลวดลายสมัยใหม่มากขึ้น แม้แต่โรงเรียนหลายแห่งในไทยยังสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ทำงานแฟชั่นโชว์โดยกำหนดให้ใช้วัสดุเหลือใช้เท่านั้นด้วย กระแสที่กำลังเป็นอยู่นี้กำลังเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนในสังคม ซึ่งสำคัญมากต่อการอยู่รอดของพวกเรา เพราะจริงๆ แล้วแฟชั่นคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก” เบนส์ลีย์กล่าวถึงกระแสรีไซเคิลในวงการแฟชั่นของไทย
ในประเทศไทย แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ฮิปทั้งหลายคือผู้นำเทรนด์แทรชชั่น นอกจาก เดอะรีเมกเกอร์แล้ว ยังมีเเบรนด์ชื่อดังอื่นอีกที่เพียรสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศจากเศษผ้าเส้นใยรีไซเคิล เช่น Thais Ecoleathers ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบกระเป๋าหนังจากเศษหนังเก่าๆ หรือแบรนด์ Born on Saturday ของผู้ประกอบการลูกครึ่งไทย-สวิส แอนนาเบลล์ ฮุตเตอร์ ผู้เปลี่ยนขยะผ้าฝ้ายให้กลายเป็นกระเป๋าสะพายลำลองและเสื้อทีเชิร์ต ผลงานของแอนนาเบลมีจำหน่ายทั้งในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Pomelo หรือร้านขายปลีกทรงเสน่ห์ไทยอย่าง Siwalai ที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่
อีกหนึ่งนักสร้างสรรค์ผู้โดดเด่นคือ เอ๋ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ วิชชุดาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากธุรกิจการคัดแยกขยะของพ่อแม่ และทำให้เธอริเริ่มรังสรรค์ผลงานในฐานะนักออกแบบสไตล์แทรชชั่นและศิลปินรักษ์โลกตั้งแต่ยังเยาว์วัยก่อนพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นสไตล์การทำงานเฉพาะตน ปัจจุบันวิชชุลดาคือหนึ่งในนักออกแบบผู้อุทิศจิตใจให้แทรชชั่นกลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชน ผลงานที่น่าชมของเธอมีหลากหลาย อาทิการเปลี่ยนเครื่องปั่นอาหารเก่าให้กลายเป็นกระถางปลูกต้นไม้ ฝาขวดพลาสติกเป็นถังขยะและถุงพลาสติก และผ้าเก่าขาดริ้วให้กลับคืนเป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับตกแต่ง
“ของในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์ ทุกคนเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นของใหม่ได้ เชื่อเลยว่าถ้าเราเอาพลังของความคิดสร้างสรรค์มาผนวกรวมเข้ากับการลงมือทำ เราจะสามารถสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืนกว่านี้ได้” วิชชุลดากล่าวอย่างมั่นใจ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วิชชุลดาได้พยายามช่วยให้สังคมได้ตระหนักรู้เรื่องมลพิษพลาสติกและเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการบรรยายวิชาการ ไปจนถึงเข้าร่วมการสัมมนาและเวิร์กชอปหลากหลายแห่งซึ่งจัดขึ้นโดยโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทย
“เรามีหน้าที่ต้องสอนให้ผู้คนเข้าใจถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเกิดความสนใจในกลวิธีการจัดการขยะแบบต่างๆ ทั้งการนำมาใช้ซ้ำ ซ่อมแซม ไปจนถึงลดการบริโภคสิ่งของลงด้วยประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเห็นเลยว่าคนกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติ ถ้าเราเอาหลักการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ เชื่อว่าเราจะแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้ในท้ายที่สุด” วิชชุลดากล่าวเสริม
อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความฉาบฉวยที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ด้วยวิกฤตด้านสภาพอากาศที่กลายเป็นประเด็นสำคัญของสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่าแทรชชั่นคือกระแสที่เป็นมากกว่าความนิยมตามยุคตามสมัย การผสมผสานระหว่างนวัตกรรมกับกระแสสิ่งแวดล้อมนิยมช่วยขับเคลื่อนแทรชชั่นไปข้างหน้าและอาจช่วยประคองให้กระแสนี้อยู่ได้นานกว่าเสื้อผ้าในร้านฟาสต์แฟชั่น
“เราไม่ได้มีเวลายาวนานเป็นนิรันดร์ เพราะงั้นก็หวังว่าสักวันยักษ์ใหญ่ในโลกแฟชั่นจะตระหนักถึงภัยจากการผลิตฟาสต์แฟชั่นสักที แล้วช่วยกันเปลี่ยนไปใช้วิธีการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุเก่าที่คนทิ้งแล้ว โลกนี้มีเสื้อผ้าให้เราทุกคนสวมใส่มากเกินไปแล้ว” เบนส์ลีย์กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง ■