HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Next Station, Space

กระแสโครงการอวกาศของมหาเศรษฐีโลกกระตุ้นให้ชนทุกชาติ แสวงหาหนทางสู่ห้วงอวกาศแห่งโอกาส ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

“นึกไม่ออกจริงๆ ว่า ในชีวิตคนเราจะมีประสบการณ์อะไรที่สุดยอดและโลดโผนไปกว่าการได้เดินทางไปอวกาศ”

เศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ ริชาร์ด แบรนด์สัน กล่าวประโยคข้างต้นเมื่อครั้งที่บริษัท Virgin Galactic ของเขาประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นไปท่องอวกาศในเดือนธันวาคมปี 2018 และสามปีต่อมา แบรนด์สันก็ได้กลายเป็น ‘มหาเศรษฐีอวกาศ’ คนแรกที่ทำฝันของตนให้เป็นจริง ด้วยการนั่งกระสวยอวกาศสร้างโดยบริษัทของตนเองขึ้นไปท่องพื้นที่ว่างเปล่านอกบรรยากาศโลก เหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง

เหล่าคนดังและผู้คลั่งไคล้อวกาศจากทั่วโลกออกมาแสดงความยินดีกับแบรนด์สันผ่านโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม หลายคนชื่นชมว่านี่คือชัยชนะที่เขามีเหนือคู่แข่งอย่าง เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน ในการแข่งขันสู่โลกอวกาศ ก่อนที่เก้าวันหลังจากนั้น ทางเบโซสจะเดินทางสู่อวกาศเช่นกันด้วยกระสวยรูปร่างเหมือนเม็ดเเคปซูลยักษ์ซึ่งสร้างขึ้นโดยบริษัท Blue Origin ของเบโซสเอง

เที่ยวบินอวกาศทั้งสองครั้งต่างได้รับคำยกย่องว่าเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมอวกาศยานภาคเอกชนซึ่งมากไปด้วยความทะเยอทะยาน อุตสาหกรรมนี้มีความตั้งใจพัฒนาเทคโนโลยีกระสวยอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อลดต้นทุนในการเดินทาง และเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้าถึงเที่ยวบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักลงทุนภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ หรือนักวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่านั้น ผู้คนในอุตสาหกรรมอวกาศยานยังต้องการเห็นกระสวยอวกาศเป็นเครื่องบินโดยสารแบบใหม่ที่สามารถบินไปสู่จุดหมายต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัดครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง เหมือนเครื่องบินที่สามารถบินได้ต่อเนื่องหลายเที่ยวบิน และสามารถกลับมาบินได้ไหมหลังเติมเชื้อเพลิงและตรวจเช็คเครื่องแล้ว

ด้านอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวแอฟริกาใต้และผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla กับ Space X ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่หลงใหลกับการทำธุรกิจอวกาศยานเชิงพาณิชย์ เขาเชื่อว่าหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีกระสวยอวกาศแบบที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างสมบูรณ์ ในที่สุดต้นทุนการเดินทางสู่อวกาศจะลดลงจากค่าใช้จ่ายปัจจุบันได้ถึงเกือบ 100 เท่า

แม้ว่าความพยายามจะส่งมนุษย์ขึ้นไปสู่อวกาศด้วยเที่ยวบินส่วนตัวยังมีลักษณะไม่ต่างจากงานอดิเรกของนักเดินทางผู้ร่ำรวยที่สุดของโลก แต่ความจริงแล้วการเดินทางสู่อวกาศด้วยจุดประสงค์ด้านการวิจัยหรือการค้ากลับไม่ได้มีราคาแพงทะลุเพดานอย่างที่ใครหลายคนคิด

ปัจจุบัน ทั้งสามบริษัท ได้แก่ เวอร์จินกาแลกติกของแบรนด์สัน บลูออริจินของเบโซส และสเปซเอ็กซ์ของมัสก์ ต่างลงทุนนับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนากระสวยอวกาศในฝัน เงินทุนส่วนหนึ่งยังถูกนำไปใช้พัฒนาการเดินทางท่องอวกาศสำหรับนักท่องเที่ยว และมีการออกตั๋วโดยสารล่วงหน้าให้กับผู้สนใจ สนนราคาก็มีตั้งแต่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึง 2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและจุดประสงค์ในการเดินทาง แต่การเดินทางออกนอกโลกสำหรับลูกค้าอภิมหาเศรษฐีตอนนี้ ยังทำได้เพียงการออกไปสัมผัสอวกาศในระยะเวลาแค่ไม่กี่นาทีก่อนจะต้องร่อนลงจอดบนโลก นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนก้อนใหญ่กว่าของเศรษฐีทั้งสามแพร่สะพัดอยู่ในโครงการภาครัฐ หรือในภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ การส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ และการลงจอดบนดวงจันทร์

แม้ว่าความพยายามจะส่งมนุษย์ขึ้นไปสู่อวกาศด้วยเที่ยวบินส่วนตัวยังมีลักษณะไม่ต่างจากงานอดิเรกของนักเดินทางผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกซึ่งดูแนวโน้มน่าจะคงเทรนด์นี้ไปอีกระยะ แต่ความจริงแล้วการเดินทางสู่อวกาศด้วยจุดประสงค์ด้านการวิจัยหรือการค้ากลับไม่ได้มีราคาแพงทะลุเพดานอย่างที่ใครหลายคนคิด

“พวกเราก็มีโปรเจ็กต์ออกนอกโลกเหมือนกัน” ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SPACETH.CO แพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าเดียวในไทยที่ทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการเขียนเรื่องราวการสำรวจอวกาศจากทั่วโลก

คำว่า ‘เรา’ ที่ณัฐนนท์หมายถึง ไม่ได้พูดถึงโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทยที่เป็นความพยายามของภาครัฐในการผลักดันการส่งดาวเทียมของประเทศไทยขึ้นไปยังวงโคจรของโลกภายในปี 2023 เพราะสิ่งที่ณัฐนนท์กำลังพูดถึงคือโครงการอวกาศของพวกเขาเองที่สเปซทีเอชดอทโคซึ่งเริ่มเตรียมการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

สเปซทีเอชประกอบไปด้วยสมาชิกนักเขียนราว 10 คน ซึ่งหลายคนเป็นเพียงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาด้านดาราศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์จากเมืองนอก ทางเว็บไซต์เปิดตัวโครงการวิจัยการบินท่องอวกาศทางวงโคจร (sub-orbital flight) ในชื่อ MESSE (The Molecular Encoded Storage for Space Exploration) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการเก็บข้อมูลวิทยาการมนุษย์ด้วยการดัดแปลงข้อมูลและจัดเก็บไว้ในดีเอ็นเอ พวกเขานำโน้ตดนตรีจากเพลง ‘ความฝันและจักรวาล’ ของวงดนตรีร็อคบอดี้แสลม มาเป็นชุดข้อมูลตัวอย่างสำหรับโครงการนี้ โดยใช้อัลกอริทึมเปลี่ยนเพลงให้กลายเป็นรหัสและจัดเรียงในรูปของดีเอ็นเอสังเคราะห์ แล้วนำไปเก็บไว้ในภาชนะขนาดเล็กซึ่งใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติทำขึ้น ก่อนเอาขึ้นกระสวยอวกาศในฐานะ ‘payload‘ หนึ่งของภารกิจ ภาชนะนี้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือน สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง และแรงบีบอัดวัตถุระหว่างการเดินทางได้ โดยเป้าหมายของโครงการคือการหาวิธีจัดเก็บข้อมูลที่สามารถอยู่ได้นานหลายล้านปี

องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางอวกาศไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศมหาอำนาจหรือทางการทหารอีกแล้ว อวกาศมันเป็นเรื่องของทุกคน

“ตัวเก็บข้อมูลทั่วไปที่ใช้ทรานซิสเตอร์ไม่ค่อยเสถียร ใช้พื้นที่การจัดเก็บเยอะ และเสื่อมสภาพเร็ว แต่ถ้าเก็บข้อมูลลงในดีเอ็นเอข้อมูลนั้นอาจจะอยู่ได้นานหลายล้านปี” ณัฐนนท์กล่าว

แนวคิดของทีมไม่ใช่การสร้างฮาร์ดไดรฟ์ดีเอ็นเอที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่อและอ่านข้อมูล แต่เป็นการจัดเก็บองค์ความรู้ของมนุษย์เพื่อให้อารยธรรมอีกหลายล้านปีข้างหน้านับจากนี้ หรือที่อยู่ห่างออกไปหลายล้านปีแสงจากระบบสุริยะจักรวาลสามารถค้นพบได้

นอกเหนือจากจุดมุ่งหมายด้านวิทยาศาสตร์แล้ว โครงการเมสซี่ยังช่วยแสดงให้เห็นว่าเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์กำลังเข้าใกล้ชีวิตของคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทีมสเปซทีเอชเป็นเพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันเรื่องอวกาศและมองเห็นความเป็นไปได้ในการไปให้ถึง กล่าวได้ว่าโครงการของพวกเขาเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกับโครงการอวกาศที่ลงทุนด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านของรัฐบาลและบรรดามหาเศรษฐีซึ่งมักเป็นข่าวหน้าหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาอยู่เสมอ

“พวกเราไม่ได้นั่งเขียนบทความหรือถ่ายวิดีโอกันไปเฉยๆ เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า ‘คุณ’ ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอวกาศได้ โลกปัจจุบันของเราไม่เหมือนกับสมัยโซเวียตหรือสงครามเย็น องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางอวกาศไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศมหาอำนาจหรือทางการทหารอีกแล้ว อวกาศมันเป็นเรื่องของทุกคน และพวกเราก็เป็นแค่นักเรียนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” ณัฐนนท์กล่าวเสริม

โครงการของสเปซทีเอชยังเป็นความร่วมมือกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ MuSpace บริษัทอวกาศสัญชาติไทยที่ส่งดาวเทียมและทำการทดลองบนอวกาศภายใต้ความช่วยเหลือจากบลูออริจินในการส่งกระสวยขึ้นไปบนท้องฟ้าตั้งแต่ปี 2018 ทางบริษัทมิว สเปซยังช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ในการเข้าใช้พื้นที่ภายในเพย์โหลดขนาดใหญ่ของบริษัทเพื่อขนส่งของขึ้นไปในอวกาศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรขนาดเล็กที่ต้องการดำเนินโครงการหรือภารกิจทางอวกาศ

อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามว่าการทำธุรกิจขนส่งทางอวกาศนี้จะเดินหน้าไปยังทิศทางไหน และเพราะเหตุใดการพัฒนาการขนส่งอวกาศให้มีราคาถูกในอนาคตด้วยการลงทุนนับพันล้านดอลลาร์จากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกถึงมีความสำคัญนัก แน่นอนว่าความพยายามต่างๆ ในโครงการอวกาศเวลานี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น เมื่อครั้งที่สื่อทั่วโลกชื่นชมเบโซสและแบรนด์สันจากการท่องอวกาศในเดือนกรกฎาคม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนก็ออกมาประนามและดูแคลนธุรกิจของพวกเขาว่าเป็นเพียง ‘รถไฟเหาะของคนรวย’ ที่นอกจากจะไม่มีประโยชน์ในโลกความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการมองข้ามปัญหาที่สังคมมนุษย์บนโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ด้วย

โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทยของรัฐบาลไทยเองก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์คล้ายๆ กัน บางคนอดตั้งคำถามไม่ได้ด้วยซ้ำว่าขณะที่ประชาชนไทยนับล้านยังอยู่ในความยากจน แต่ทำไมรัฐบาลจึงคิดจะลงทุนกว่าพันล้านบาทไปกับโครงการเทคโนโลยีอวกาศที่ดูห่างไกล

แน่นอนว่าคำตอบต่อคำถามต่างๆ ข้างต้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าถามไปที่ใคร เบโซสเคยอธิบายว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศจะช่วยให้เราสร้างนิคมในอวกาศได้ (หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรที่สามารถรองรับการใช้ชีวิตของคนนับล้าน) ซึ่งอาจเป็นทางออกสำคัญให้กับปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและความเสื่อมของสภาพแวดล้อม ด้านนักวิจัยก็อธิบายว่าการทดลองนอกโลกอาจให้ความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่สามารถทำได้บนโลก เช่น การกรองเอาทองคำที่ลอยล่องอยู่ทั่วจักรวาลมาใช้ประโยชน์ และถ้าไปถามอีลอน มัสก์เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในอวกาศ เขาก็อาจตอบว่าเขาต้องการสานฝันจักรวาลในนวนิยายไซไฟเรื่องสตาเทร็กให้กลายเป็นจริงด้วยการส่งคนไปอยู่อาศัยทั่วเอกภพ เริ่มต้นจากแผนส่งคนไปร่อนลงบนดาวอังคารในอีกห้าปีข้างหน้านับจากนี้

“เราอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือก อนาคตแบบไหนล่ะที่คุณต้องการ คุณอยากได้อนาคตที่เรากลายเป็นอารยธรรมอวกาศ ใช้ชีวิตอยู่ในดาวเคราะห์หลายแห่ง และอยู่ท่ามกลางดวงดาว หรือจะเป็นอารยธรรมที่กักขังตัวเองอยู่แต่ในโลก ถ้าเป็นผม ผมขอเลือกอย่างแรก” อีลอน มัสก์ กล่าวในงานประชุมสเปซเอ็กซ์ เมื่อปี 2019

ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาคอุตสาหกรรมเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่การขนส่งเหนือชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่โครงการพวกนี้อาจจะยังไม่ห่างจากโลกมากนัก

“ดวงจันทร์จะกลายเป็นพื้นที่การค้าขายแห่งใหม่” วเรศ จันทร์เจริญ ผู้แทนจากประเทศไทยใน Space Generation Advisory Council (SGAC) และอาจารย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าว วเรศยังเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานคนสำคัญให้กับโครงการเมสซี่ระหว่างสถาบันเอ็มไอทีกับสเปซทีเอชด้วย

“ในอีกห้าปีข้างหน้านาซ่าจะลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง และโครงการนั้นจะนำโดยสเปซเอ็กซ์ เราจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่และเทคโนโลยีสำหรับปฏิบัติการบนดวงจันทร์ เราจะเริ่มเห็นองค์กรหลายแห่งนำแผงโซลาเซลล์ ยานพาหนะสำรวจ (rovers) และอาคารก่อสร้างไปไว้บนดวงจันทร์ และนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เจ้าของที่ดิน’ บนดวงจันทร์ในไม่ช้า” เขากล่าวถึงอนาคตอันใกล้

วเรศยังพูดถึงบริษัทลงทุนร่วมจากญี่ปุ่นอย่าง iSpace ว่าเป็นตัวอย่างความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัทผลิตยานยนต์อย่างซูซูกิ นาฬิกาข้อมือซิติเซ็น และกูเกิล โครงการของไอสเปซจะสามารถนำยานพาหนะสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ของบริษัทเหล่านี้ไปโลดแล่นอยู่บนพื้นผิวดาวเพื่อเก็บข้อมูล สร้างแพลตฟอร์มแบบโรงงานอุตสาหกรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดโครงการพัฒนาพัฒนาพื้นผิวดวงจันทร์อย่างยั่งยืนโดยนักลงทุนภาคเอกชน

“หากมีการลงทุนที่ถูกต้อง โครงการคล้ายกันนี้ก็อาจเกิดในไทยได้เช่นกัน” วเรศกล่าว

สำหรับตอนนี้ โครงการและความพยายามในการสำรวจอวกาศส่วนใหญ่ของไทยนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของโครงการ คือการกระตุ้นความสนใจของบริษัทเอกชนและธุรกิจสตาร์ทอัพให้พัฒนาธุรกิจอวกาศของตัวเอง วเรศกล่าวว่าความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้เริ่มจะเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง และเขายังสังเกตเห็นกระแสความสนใจเรื่องอวกาศในหมู่เยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังมีการประกาศโครงการภาคีอวกาศไทย

หากว่าค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้เพย์โหลดของกระสวยอวกาศในต่างประเทศของบริษัทเช่น บลูออริจิน กับสเปซเอ็กซ์ มีราคาถูกลงไปเรื่อยๆ โครงการอวกาศโดยนักลงทุนและภาคอุตสาหกรรมของไทยก็อาจพุ่งทะยานสู่อวกาศไปพร้อมกับชาวโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าได้เช่นกัน