HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


One of a Kind

งานศิลปะดิจิทัลแบบ NFTs กำลังละลายพรมแดนประเทศ และเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยทุกช่วงวัยก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างไร้ขีดจำกัด

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศิลปินชาวอเมริกันนาม ไมค์ วินเคลมานน์ เจ้าของฉายาในวงการ Beeple นำผลงานชื่อ Everydays: The First 5,000 Days เข้าร่วมงานประมูลออนไลน์ซึ่งจัดโดยคริสตี้ บริษัทประมูลชั้นนำในสหรัฐฯ และผลการประมูลงานชิ้นนี้ก็ได้สร้างเสียงฮือฮาให้แก่วงการศิลปะ เพราะยอดประมูลพุ่งไปปิดที่ 69,300,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งให้วินเคลมานน์กลายเป็นศิลปินที่มีค่าตัวแพงที่สุดเป็นอันดับสามของโลกนับเฉพาะศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นรองแค่ เจฟฟ์ คูนส์ และ เดวิด ฮอคนีย์ เท่านั้น

Everydays คือการรวบรวมผลงาน 5,000 ชิ้นที่วินเคลมานน์รังสรรค์ขึ้นตลอด 13 ปีที่เขาเพียรฝึกฝนฝีมือด้วยตนเองเข้าด้วยกันเป็นงานภาพชิ้นเดียว แต่นั่นไม่ใช่ความพิเศษสุดของงานศิลปะนี้ เพราะสิ่งที่เรียกความสนใจจากผู้คนทั่ววงการศิลปะ (นอกเหนือจากราคาประมูล) จนสื่อหลายสำนักต้องเอาไปเขียนพาดหัวข่าวก็คือประเภทศิลปะที่ไม่ใช่ทั้งภาพสีวาดเขียนลงบนกระดาษ หรือศิลปะปูนปั้นจัดแสดงในแกลเลอรี หากแต่เป็นภาพดิจิทัลในสกุล JPEG ซึ่งหมายถึงว่าเอเวอรีเดย์สถูกวาดด้วยโค้ดดิจิทัลเลข 0 และ 1 ในคอมพิวเตอร์

การที่ภาพดิจิทัลสกุลเจเพ็กมีมูลค่าจากการประมูลถึง 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลแล้วอาจเห็นในทางตรงกันข้าม ผู้ชนะการประมูลภาพ เอเวอรีเดย์สผู้ไม่ประสงค์ออกนามจริงให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ต่อไปงานศิลปะชิ้นนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ได้

งานของวินเคลมานน์คือตัวอย่างศิลปะยุคดิจิทัลที่คนในวงการเรียกว่า Non-Fungible Tokens หรือ NFTs ซึ่งอาจอยู่ในรูปของไฟล์ภาพเจเพ็กหรือคลิปวิดีโอก็ได้ แต่ความที่สินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกคัดลอกและเซฟลงในคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ผู้คนที่บุกเบิกศิลปะแนวเอ็นเอฟทีจึงนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการพิสูจน์และป้องกันการเลียนแบบงานต้นฉบับ ทำให้เอ็นเอฟทีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจนเหลือเชื่อดังเช่น เอเวอรีเดย์สของวินเคลมานน์

งานเอ็นเอฟทีกำลังกลายเป็นที่สนใจของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งโดยสำนักข่าวชั้นนำในโลกตะวันตก เช่น วอลล์สตรีทเจอร์นัล กับนิวยอร์กไทม์ ในสหรัฐอเมริกา หรือเดอะการ์เดี้ยน ในอังกฤษที่ลงข่าวหน้าหนึ่งเรื่องยอดประมูลภาพเอเวอรีเดย์ส ยังไม่นับรวมสื่ออื่นๆ ที่มีหน้าข่าวศิลปะ แต่นี่ไม่ใช่ข่าวการซื้อขายงานเอ็นเอฟทีข่าวแรกของโลกเพราะจริงๆ แล้วการซื้อขายงานเอ็นเอฟทีมูลค่าสูงมีมาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว

ในสหรัฐอเมริกา องค์กรหลายแห่งเริ่มหันมาขายงานเอ็นเอฟทีมากขึ้น เช่น เเจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ หนึ่งในโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก ก็เพิ่งขายงานเอ็นเอฟทีภาพทวีตแรกในทวิตเตอร์ของเขา หรือลีกบาสเก็ตบอลชื่อดังของอเมริกาอย่างเอ็นบีเอก็ขายงานเอ็นเอฟทีในรูปวิดีโอบันทึกภาพการกระโดดยัดห่วงทำแต้มของเลอบรอน เจมส์ นักกีฬาบาสเก็ตบอลชื่อดัง ด้วยราคาสูงกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แม้แต่คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถขายงานเอ็นเอฟทีได้ เช่นกรณีของโซอี้ รอธ ภาพวัยเด็กของเธอกลายเป็นมีมระดับโลกที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ Disaster Girl ซึ่งมีคนนำไปดัดแปลงเพื่อล้อเลียนเหตุการณ์ต่างๆ โดยรอธได้นำภาพต้นฉบับในรูปดิจิทัลออกวางขายในโลกอินเทอร์เน็ตและทำเงินได้สูงถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ก็ขายงานเอ็นเอฟทีเป็นภาพคอลัมน์หนึ่งของเควิน รูส นักข่าวสายเทคโนโลยีของสำนักข่าวเอง และทำเงินจากการขายได้มากถึงครึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

กล่าวได้ว่าเอ็นเอฟทีคืองานศิลปะดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนดัง คนธรรมดา หรือศิลปินไร้ชื่อขายงานให้แก่ผู้ซื้อในโลกออนไลน์ และแน่นอนว่าศิลปินไทยก็ไม่ยอมน้อยหน้า

กล่าวได้ว่าเอ็นเอฟทีคืองานศิลปะดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนดัง คนธรรมดา หรือศิลปินไร้ชื่อขายงานให้แก่ผู้ซื้อในโลกออนไลน์ และแน่นอนว่าศิลปินไทยก็ไม่ยอมน้อยหน้า

“โลกเอ็นเอฟทีเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับทุกคน เรียกว่าเป็นโลกของอนาคตก็ว่าได้ เป็นโลกศิลปะที่ตัดขาดตัวเองให้เป็นอิสระจากโลกใบเก่าที่มีธรรมเนียมมากมาย และเราจะเห็นว่าเเกลเลอรีศิลปะในต่างประเทศหลายแห่งก็หันมาจัดประมูลงานเอ็นเอฟทีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” คือคำกล่าวของยูน ปัณพัท เตชเมธากุล หนึ่งในศิลปินวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียงของไทย ผลงานของเธอเป็นที่รู้จักจากการร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำ ทั้งแบรนด์เสื้อผ้าอย่างกุชชี แบรนด์เครื่องสำอางโซลวาซู และแบรนด์กาแฟอย่างเนสกาแฟ

ยูนเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มศิลปินไทยที่ได้ร่วมงานกับ NFT1 โปรดักชั่นเฮ้าส์ดาวงพุ่งแรงจากสิงคโปร์ซึ่งสนับสนุนศิลปินเช่น ยูน ในการผลิต จัดแสดง ทำการตลาด และขายงานศิลปะเอ็นเอฟทีผ่านแพลตฟอร์มหลายแห่งในโลกออนไลน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอ็นเอฟทีวันคือ เกริก ชาญกว้าง หรือที่รู้จักกันในชื่อนีโน่ โปรดิวเซอร์เพลงฮิปฮอปที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย บริษัทที่นีโน่ร่วมตั้งขึ้นอยู่เบื้องหลังการปล่อยงานเอ็นเอฟทีชิ้นสำคัญชิ้นแรกของประเทศจากการร่วมงานกับ รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ ศิลปินนักร้องที่รู้จักในชื่อ ‘ยังโอม’ กับ จินต์ จิรากูลสวัสดิ์ ศิลปินวาดภาพ งานชิ้นนี้ทำเงินจากการประมูลได้สูงถึง 156,000 บาทในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ว่ามูลค่างานเอ็นเอฟทีชิ้นสำคัญของไทยในขณะนี้ยังเทียบไม่ได้กับมูลค่าที่ศิลปินผู้สร้างงานในสหรัฐฯ ทำได้ แต่อย่างน้อยวงการเอ็นเอฟทีไทยก็เริ่มตั้งไข่ด้วยตัวเอง ทางเอ็นเอฟทีวันได้ติดต่อเพื่อสร้างความร่วมมือกับศิลปินไทยและคนดังอีกหลายรายอย่างต่อเนื่อง เช่น แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ นักแสดงชื่อดังน้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา พิธีกรและผู้จัดรายการทางโซเชียลมีเดีย และฮ่องเต้ กนต์ธร เตโชฬาร ศิลปินภาพทัศนศิลป์ที่มีผลงานในระดับนานาชาติและยังเป็นคนที่ยูนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเอ็นเอฟทีจนได้โอกาสไปร่วมงานกับเอ็นเอฟทีวัน

ในกรณีของฮ่องเต้ ผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ทำให้เขามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับโลกเอ็นเอฟทีมาก เพราะภาพวาดสัตว์ประหลาดกับวีรบุรุษวีรสตรีที่เหมือนหลุดมาจากฉากเทพปกรนัมของเขาได้กลายเป็นการ์ดรุ่นผลิตจำกัดที่เหล่านักสะสมแข่งกันตามหาไปเเล้วเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ การก้าวสู่โลกเอ็นเอฟทีหรือโลกดิจิทัลจึงไม่ใช่ปัญหาในการสร้างผลงานต่อไปของเขา

“เราไม่ต้องเปลี่ยนวิธีสร้างสรรค์เพื่อเอางานของเราไปขายเลย เพราะของพวกนี้จะซื้อและขายในตลาดเปิดที่ทุกคนเข้าถึงได้อยู่แล้ว แถมยังขายได้เร็วและง่ายกว่าภาพวาดในโลกจริงด้วยซ้ำ ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ก็คือ งานพวกนี้เป็นของสะสมได้ เพียงแต่เราต้องคิดว่า ‘ถ้าเป็นเรา เราจะชอบของพวกนี้ไหม แล้วจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมันหรือเปล่า’” ฮ่องเต้พูดถึงความสนใจที่เขากับยูนมีต่อการขายงานเอ็นเอฟที

คนรุ่นใหม่เขาให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ให้คุณค่ากับการขับเคลื่อนชีวิตในโลกออนไลน์ งานเอ็นเอฟทีช่วยให้ผู้ชมงานศิลปะได้ทั้งสองอย่าง

สำหรับคนนอกวงการเอ็นเอฟทีเเล้ว แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความนิยม หรือความพยายามซื้อหางานพวกนี้อาจเป็นอะไรที่ยากจะเข้าใจ บางคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องหาซื้อไฟล์ภาพเจเพ็กหรือวิดีโอธรรมดาๆ ที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นของแท้ด้วย เพราะความจริง ทุกครั้งที่เราส่งภาพหรือวิดีโอผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ระบบของแพลตฟอร์มเหล่านี้จะทำการคัดลอกไฟล์ที่เราส่งไว้เสมอ และถ้ามีใครเปิดดูภาพหรือวิดีโอที่เราส่งไป อุปกรณ์ของคนคนนั้นก็จะทำการดาวน์โหลดภาพหรือวิดีโอเอาไว้ แม้แต่บทความชิ้นนี้ก็ใช้ภาพเจเพ็กงานเอ็นเอฟทีหลายชิ้น รวมถึงภาพเอเวอรีเดย์สของบีเปิลด้วย คนที่อ่านบทความนี้แบบออนไลน์สามารถคัดลอกภาพเหล่านี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่คลิกขวาที่เมาส์แล้วกดคัดลอกหรือกดเซฟลงเครื่องเท่านั้น

“ความจริงก็คือคุณไม่ได้ซื้อภาพ แต่กำลังซื้อกรรมสิทธิ์เหนือภาพพวกนี้” เจค บรัคฮ์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัท Coinfund ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในสกุลเงินคริปโต ชี้แจง

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจขึ้น ต้องบอกว่าการซื้องานเอ็นเอฟทีหนึ่งชิ้นหมายถึงการซื้อชุดของรหัส ไม่ใช่งานศิลปะที่เห็นจากสองตา เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งอยู่เบื้องหลังงานเอ็นเอฟทีทุกชิ้นใช้หลักการทำงานคล้ายกับการเทรดสกุลเงินคริปโตอย่างบิตคอยน์ หรือ อีเธอเรียม (สกุลหลังยังเป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักที่ใช้ซื้อขายงานเอ็นเอฟที) ทำให้การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลถูกจับตาตรวจสอบ รวมถึงพิสูจน์ความถูกต้องของชิ้นงาน ผ่านเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากจากทั่วโลก นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Stack Exchange เว็บไซต์รวบรวมผู้รู้จากหลายสาขาทั่วโลกกล่าวอ้างว่า ด้วยความซับซ้อนของการเข้ารหัส (Encryption) จากเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้การแฮกหรือเจาะรหัสงานเอ็นเอฟทีหนึ่งชิ้นด้วยเทคโนโลยีการแฮกที่มีในปัจจุบันอาจต้องใช้เวลานานถึง 65 ล้านปีจึงจะเจาะรหัสได้สำเร็จ หรือก็คือเมื่อมีการสร้างกุญแจรหัสยืนยันตัวตนหรือ Authentication Key ให้กับงานเอ็นเอฟทีแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเจาะรหัสหรือทำการคัดลอกงานชิ้นนั้นๆ และเป็นกุญแจรหัสยืนยันตัวนี่เองที่ผู้คนจะได้มาครอบครองเมื่อทำการซื้องานเอ็นเอฟที กุญแจรหัสนี้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ว่าเริ่มต้นจากใคร เจ้าของปัจจุบันคือใคร รวมถึงประวัติการซื้อขายว่าผ่านมือใครมาบ้าง

คำถามต่อไปจากคนนอกวงการอาจเป็นว่า เราจะหาซื้อสะสมงานดิจิตอลพวกนี้ไปเพื่ออะไร คำถามนี้ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจหากเปรียบเทียบกับของสะสมอื่นๆ อย่างการ์ดนักกีฬาชื่อดัง หนังสือหายาก หรืองานศิลปะชั้นเลิศ เพราะการได้สะสมของต้นฉบับย่อมมีความพิเศษในสายตาของนักสะสมผู้ร่ำรวย และนักสะสมเหล่านี้ก็ติดตามศิลปินผู้ผลิตงานในโลกดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มหลายแห่ง เช่น อินสตาแกรมมาเป็นเวลานานนับทศวรรษแล้ว

ของอย่างหนังสือเล่ม การ์ด งานศิลปะที่จับต้องได้ในแกลเลอรี และของหายากอื่นๆ อาจถูกคัดลอกหรือเลียนแบบได้ไม่ยากก็จริง แต่ของเลียนแบบก็เป็นได้แค่ของเลียนแบบ ไม่ใช่ของแท้หรือต้นฉบับ เหตุผลเดียวกันนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสะสมงานเอ็นเอฟทีได้ ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินคนหนึ่งอาจเลือกปล่อยงานเอ็นเอฟทีออกมา 100 ชิ้น โดยทั้ง 100 ชิ้นคือภาพวาดแบบเดียวกัน ความพิเศษคือทุกชิ้นมีเพียงชิ้นเดียวในเวอร์ชั่นของมัน เช่น ภาพเอ็นเอฟทีชิ้นที่ 56 จากทั้ง 100 ชิ้น ก็คือเวอร์ชั่นที่ 56 ของงานภาพดังกล่าวในโลก เหมือนหนังสือเล่มเดียวกัน ที่การพิมพ์ครั้งที่ 5 ก็คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 เท่านั้นจากการพิมพ์ทั้งหมด 10 ครั้ง

สิ่งที่ทำให้เอ็นเอฟทีแตกต่างจากสินค้าทางกายภาพอย่างหนังสือหรือภาพวาดบนผืนผ้าใบก็คือ งานเอ็นเอฟทีสามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างไกลกว่า ด้วยเเพลตฟอร์มเอ็นเอฟทีอย่าง Rarible และ Foundation ศิลปินดิจิทัลสามารถเข้าถึงผู้ซื้อจากทั่วโลกได้นับล้านคนโดยไม่จำกัดพรมแดนหรือประเทศและไม่จำกัดพื้นที่การประมูลไว้เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเหมือนที่ยูทูบ เว็บไซต์แสดงคลิปวิดีโอที่เปิดโอกาสให้นักสร้างคอนเทนต์วิดีโอรายเล็กๆ ทำผลงานเพื่อหารายได้ก่อนจะเข้าครองพื้นที่คอนเทนต์วิดีโอนี้ในท้ายที่สุด บรรดาเเพลตฟอร์มงานเอ็นเอฟทีเองก็กำลังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินดาวรุ่งได้เข้ามาแสดงฝีมือและยังเป็นสื่อกลางใหม่ให้พวกเขาได้ขายงานของตน

“เดิมทีศิลปินดิจิทัลถูกจำกัดพื้นที่ให้แสดงผลงานแค่ในอุตสาหกรรมสื่อ อย่างภาพกราฟิก โลโก้ หรืองานอื่นๆ ตามค่าจ้างเท่านั้น แต่ตอนนี้ เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทลายกำแพงงานศิลปะชั้นสูงที่เคยมีมาแต่อดีต เพราะเเพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาดู และให้การยอมรับในสไตล์งานของพวกเรา ไม่ว่างานนั้นจะสร้างสรรค์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วหรือเด็กแปดขวดที่เพิ่งหัดวาดรูป” วสันต์ สุวรรณนาคะ ศิลปินที่คนรู้จักจากนามปากกาบนผลงานของเขาเองว่า AITOY (ไอตอย) กล่าว

ในวันนี้ ไอตอยอาจยังไม่มีชื่อเทียบเท่าศิลปินอย่างยูนหรือฮ่องเต้ แต่ประสบการณ์ในแวดวงเอ็นเอฟทีของเขาช่วยให้เห็นภาพว่าสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานเอ็นเอฟทีมีพลังช่วยเหลือศิลปินดาวรุ่งและหน้าใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามากแค่ไหน งานเอ็นเอฟทีชิ้นแรกของไอตอยคือภาพตัวการ์ตูนซึ่งดูเหมือนอดีตผู้นำประเทศจีนอย่างเหมา เจ๋อตง งานชิ้นนี้เพิ่งขายให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มราไรเบิลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และถ้าผู้ซื้อคนดังกล่าวนำไปขายต่อ ไอตอยก็จะได้ส่วนแบ่งจากการขาย 10 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขที่ราไรเบิลมีให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน) หากปราศจากแพลตฟอร์มเช่นราไรเบิล ทั้งไอตอยและผู้ซื้อชาวต่างชาติอาจไม่มีวันได้พบเจอกันเลยตลอดชีวิตก็ได้

“แพลตฟอร์มเอ็นเอฟทีคือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่เขาให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ให้คุณค่ากับการขับเคลื่อนชีวิตในโลกออนไลน์ งานเอ็นเอฟทีช่วยให้ผู้ชมงานศิลปะได้ทั้งสองอย่าง และยังเป็นช่องทางในการลงทุนไปกับงานศิลปะดิจิทัลที่มีสารเชื่อมโยงกับพวกเขา ส่วนศิลปินเองก็สามารถขายงานให้กับคนที่เห็นคุณค่าในงานศิลปะของพวกเขาได้มากขึ้นเช่นกัน พูดได้ว่าแพลตฟอร์มเอ็นเอฟทีจะช่วยเปิดโลกศิลปะให้ขยายกว้างออกไปยิ่งกว่าเดิม” ยูนกล่าวเสริม

อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. มองเรื่องนี้ในมุมที่ต่างออกไป ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทาง กลต. ออกประกาศห้ามการซื้อขายงานเอ็นเอฟทีหรือสินทรัพย์คริปโตที่เข้าข่ายว่า ‘ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล’ หรือเป็น 'โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง' การออกประกาศฉบับนี้กลายเป็นการห้ามศิลปินอย่างยูนไม่ให้สร้างเหรียญคริปโตของตัวเองแม้จะมีความตั้งใจอยู่ก่อนแล้ว และถึงตัวประกาศจะไม่ห้ามศิลปินขายผลงานศิลปะบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ราไรเบิล แต่ก็ถือว่าสร้างความยุ่งยากในการทำงานของศิลปินมากขึ้น และที่อาจเป็นปัญหาสำคัญคือ ตัวประกาศอาจสกัดขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมเอ็นเอฟทีในประเทศไทยไปด้วย

สำหรับยูนแล้ว ประกาศห้ามจาก กลต. ไม่อาจหยุดยั้งเธอจากการลงทุนลงแรงศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเอ็นเอฟที ยูนยังคงวางแผนจะใช้ราไรเบิลเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสร้างแบรนด์เอ็นเอฟทีของเธอเอง และตั้งเป้าจะสร้างสกุลเงินคริปโตให้แฟนๆ ได้ใช้ซื้อผลงานของเธอ อย่างการสะสมเหรียญคริปโตจะช่วยปลดล็อกสิทธิพิเศษและส่วนลดให้กับแฟนๆ ในการซื้อผลงานที่เธอสร้างขึ้นในโลกจริง นอกจากนี้ ยูนยังคิดที่จะเปลี่ยนสไตล์การทำงานศิลปะให้กลายเป็นการผสมผสานระหว่างงานในโลกจริงกับโลกเสมือนมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ศิลปินอย่างยูนและอีกหลายคนอาจไม่กล้าคิดฝันหากย้อนกลับไปราวสองสามปีก่อนหน้านี้

โลกของเอ็นเอฟทีและสินทรัพย์คริปโตอาจยังอยู่ในช่วงหัดคลานก็จริง แต่ถ้ามองดูการเติบโตของยูทูบและแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเริ่มเห็นว่าโลกของเอ็นเอฟทีไม่น่าจะหายไปง่ายๆ เหมือนเว็บไซต์ดาษๆ หลายแห่งที่ปิดตัวหรือหมดความนิยมไปแล้ว และเทคโนโลยีที่หนุนหลังโลกเอ็นเอฟทีก็มีคนนำไปใช้ในสาขาหรือพรมแดนอื่นๆ ในโลกดิจิทัลนอกเหนือจากการซื้อขายงานศิลปะ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ nftfi ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากอเมริกาก็เพิ่งเปิดตัวโปรแกรมให้เช่ายืมงานเอ็นเอฟทีเพื่อการสะสม และนั่นหมายถึงยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ รออยู่ในโลกของเอ็นเอฟที นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ใช้กับเอ็นเอฟทียังอาจใช้ป้องกันการคัดลอกหรือขโมยรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่ปล่อยให้มีการดาวน์โหลดแบบผิดลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลก

สำหรับในไทย ความท้าทายที่รอศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเอ็นเอฟที นอกจากข้อประกาศของทางการ เช่น กลต. แล้วก็คือการทำความเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชน แม้ศิลปินไทยที่รู้จักบล็อกเชนดีอาจยังมีไม่มากนัก แต่ด้วยการบุกเบิกจากเอ็นเอฟทีวัน หรือศิลปินอย่างยูน ฮ่องเต้ และไอตอย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าศิลปินเอ็นเอฟทีไทยอาจสร้างผลงานในระดับโลก หรือทำเงินได้มหาศาลจนกลายเป็นข่าวใหญ่ และอาจเปลี่ยนภูมิทัศน์ศิลปะของเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง