HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ราคาหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปี 2021 ต่อเนื่องไปถึงปี 2022 เพราะการระดมฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วในประเทศสหรัฐอเมริกา และการเร่งฉีดวัคซีนในทวีปยุโรปในไตรมาส 2 ของปีนี้

ตัวเลขยืนยันจากปลายเดือนมิถุนายนพบว่า สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนให้ประชาชน 97 โดสต่อประชากร 100 คน ในขณะที่อังกฤษแซงหน้าไปแล้วที่ 112 โดสจากประชากร 100 คน สำหรับทวีปยุโรปโดยรวมนั้นมากกว่า 60 โดสต่อประชากร 100 คน

เดิมทีนั้นมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะกำลังฟื้นตัวอย่างร้อนแรงในปลายไตรมาส 2 ต่อเนื่องไปยังไตรมาส 3 เพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล ประกอบกับการที่อุปสงค์ถูก 'อั้น' มาในช่วง 1 ปีที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก (pent-up demand) ทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และความกลัวเงินเฟ้อจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 2% อย่างรวดเร็ว

แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐฯ ยังอยู่ระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.5-1.6% ต่อปี ในขณะที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 2-3% มาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ เช่น น้ำมันดิบและถ่านหิน

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่า เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังใช้มาตรการคิวอีเท่าเดิมเพื่อพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) แต่การทำเช่นนี้คงไม่สามารถทำต่อเนื่องได้หากเงินเฟ้อทะยานขึ้นจริง เพราะถ้ามีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานแล้ว (สมมุติว่า 3% ต่อปี) คงไม่มีใครยอมถือเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลที่จะให้ผลตอบแทนเพียง 1.6% ต่อปี แต่จะเลือกขายพันธบัตรรัฐบาลทิ้งจนราคาตกลง และจะส่งผลให้ดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3-4% ต่อปี

จากเหตุผลที่กล่าวมา มีความเป็นไปได้ว่าตลาดเงินตลาดทุนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

มีความเป็นไปได้ว่า ตลาดเงินตลาดทุนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

คำถามคือ ความกังวลดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรได้บ้าง คำตอบแรกคือการที่ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 เร่งตัวขึ้นอย่างมากในเอเชีย โดยในเดือนมิถุนายนยังอยู่ที่ระดับสูงและยังไม่เห็นทีท่าว่าจะควบคุมได้โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธ์ุเดลต้าซึ่งแพร่ขยายออกไปแล้วกว่า 85 ประเทศ

ทั้งนี้ อาจมองได้ว่าเอเชียนั้นชะล่าใจ เคยคิดว่าสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรัดกุม จึงไม่ได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตนในไตรมาส 2 (แตกต่างจากการเร่งฉีดวัคซีนที่ทวีปอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง) ตัวอย่างเช่น เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม จีนฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพียง 37 โดสต่อประชากร 100 คน สำหรับอินเดียนั้นฉีดให้ประชากรเพียง 14 โดส เกาหลีใต้ 11 โดส ญี่ปุ่น 7 โดสและไทย 5 โดส ซึ่งมาระยะหลังจึงหันมาเร่งฉีดกันในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเอเชียที่รวมประเทศจีนและญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 34% ของจีดีพีโลก ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของจีดีพีโลก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าถึงแม้จะมีการฟื้นตัวอย่างเร่งรีบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ บวกกับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในช่วงกลางปีนี้ แต่เพราะเศรษฐกิจเอเชียยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี จึงมีความเป็นไปได้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนอกจากจะไม่สมดุล (unbalanced global recovery) แล้ว การฟื้นตัวก็อาจไม่ได้มีแรงส่งและความยั่งยืนมากนักก็เป็นได้

ตรงนี้จึงต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า การฉีดวัคซีนในเอเชียภายในครึ่งหลังของปีนี้จะทำได้มากน้อยเพียงใด และการปูพรมฉีดวัคซีนดังกล่าวจะเป็นหลักประกันได้ 100% หรือไม่ว่าจะสามารถกำจัดการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างราบคาบเพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวและขับเคลื่อนได้โดยปกติ ซึ่งผมมีความเห็นว่าการฟื้นตัวอย่างเป็นปกติของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 นั้นต้องพิจารณากันในรายละเอียดว่าจะมีลักษณะและความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้เพราะการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงนั้น ในบางกรณีก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถขจัดการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังที่เห็นได้จากกรณีของประเทศชิลี เกาะเซเชลส์ (Seychelles) และประเทศบาห์เรน ซึ่งในกรณีหลังนี้จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.64 ล้านโดสเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศบาห์เรน 1.75 ล้านคน แต่ปรากฏว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมก็ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 2,500 คน (และผู้เสียชีวิตวันละกว่า 20 คน)

จุดนี้หมายความว่า นอกจากการยอมรับของสังคมแล้ว ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง การตรวจคัดกรอง และการรักษาพยาบาลต้องมีศักยภาพในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้น ต้องสามารถดูแลผู้ติดเชื้อไม่ให้ป่วยหนักและไม่ทำให้เกิดความสูญเสียเกินกว่าที่สังคมจะ 'ยอมรับการอยู่ร่วมกับโควิด-19'

ทั้งนี้ บาห์เรนฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและให้เลือกจากวัคซีน 4 ยี่ห้อคือไฟเซอร์ (Pfizer) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) และสปุตนิก วี (Sputnik V) และต่อมาได้เพิ่มจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) อีกยี่ห้อหนึ่ง นอกจากนั้น บาห์เรนยังประกาศว่าจะเริ่มฉีดโดสที่ 3 ให้ประชาชน

สำหรับสาเหตุของการระบาดที่เพิ่มขึ้นแม้จะมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงแล้วนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากการที่วัคซีนมีประสิทธิผลด้อยลงเมื่อต้องเผชิญกับการกลายพันธ์ุของไวรัสโควิด-19 ทำให้เรื่องการพัฒนาวัคซีนและการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างเป็นประจำในยุคหลังโควิด-19

คนส่วนใหญ่มองว่าสหรัฐฯ นั้นจัดการกับโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว จนประชาชนส่วนหนึ่งไม่สนใจจะมารับฉีดวัคซีน ทำให้ต้องสร้างแรงจูงใจโดยการออกรางวัลชิงโชคสำหรับผู้โชคดี แต่ประเทศสหรัฐฯ ก็ยังไม่ปลอดโควิด-19 โดยตัวเลขเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2021 นั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (คำนวณเฉลี่ยต่อวันจาก 7 วันก่อนหน้าหรือ 7-day moving average) อยู่ที่ 11,590 คน มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (active case) ถึง 4.76 ล้านคน และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวันที่ 27 มิถุนายน (7 day moving average) อยู่ที่ 292 คน

ทั้งนี้ ประชากรของสหรัฐฯ นั้นมีอยู่ประมาณ 5 เท่าของประชากรของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าแม้สหรัฐฯ จะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนโดยทั่วถึงแล้วก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบว่ามีประชากรเท่ากัน ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงวันละ (11,590÷5) = 2,318 คน และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึงวันละ (292÷5) = 58 คน

จุดนี้หมายความว่า นอกจากการยอมรับของสังคมแล้ว ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง การตรวจคัดกรอง และการรักษาพยาบาลต้องมีศักยภาพในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้น ต้องสามารถดูแลผู้ติดเชื้อไม่ให้ป่วยหนัก และไม่ทำให้เกิดความสูญเสียเกินกว่าที่สังคมจะ 'ยอมรับการอยู่ร่วมกับโควิด-19' นอกจากนั้น ระบบเศรษฐกิจจะต้องสามารถขับเคลื่อนและขยายตัวได้อย่าง 'เป็นปกติ' และประชาชนกับภาคธุรกิจสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องรอเงินเยียวยาจากรัฐบาลหลายระลอกเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาครับ