HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


เมื่อ FED ต้องถอนการกระตุ้น (อีกแล้ว)

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย
บล.เกียรตินาคินภัทร

ตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2008 ที่รู้จักกันในนาม Global Financial Crisis หรือ Subprime Crisis ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน

แต่แม้จะลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือศูนย์แล้วก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้น จนต้องฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ครั้งใหญ่ด้วยการ 'พิมพ์เงิน' หรือการกระตุ้นเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE)

อธิบายง่ายๆ คือการที่ธนาคารกลางซื้อสินทรัพย์ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) จากธนาคารพาณิชย์ แล้ว 'จ่าย' ค่าพันธบัตรด้วยการสร้าง 'สร้าง' ฐานเงิน โดยเพิ่มตัวเลขในบัญชีเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้ที่ธนาคารกลาง (เหมือนการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่)

นโยบายนี้เป็นการสร้างสภาพคล่องปริมาณมหาศาลให้กับระบบการเงิน และโดยหลักการแล้ว เงินสำรองที่สร้างขึ้นนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปปล่อยกู้จนกลายเป็นปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่า เพียงแต่ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารพาณิชย์ไม่รู้จะปล่อยเงินกู้ที่ไหน ก็เลยพักเงินนี้ไว้เป็นสำรองส่วนเกินในบัญชี

แปลว่าก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมา ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องทยอยลดการกระตุ้น หรือถอนการกระตุ้น ก่อนที่เงินสำรองเหล่านี้จะไปสร้างแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจมากเกินความจำเป็น

เหตุผลคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นการสร้างอุปสงค์ขึ้นมาเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้มีเกินพอ และกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนการลดหรือการถอนการกระตุ้นหมายถึงการขายพันธบัตรออกมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น และสภาพคล่องลดลง

หลังวิกฤตปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้มาตรการ QE มาเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ

หลังจากทำ QE กันไปถึงสามรอบในระยะเวลาหกปี ขนาดงบดุลของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นไปกว่าห้าเท่า ทำให้เหตุผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีความจำเป็นน้อยลง

ในช่วงกลางปี 2013 มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Taper Tantrum เกิดขึ้น เมื่อเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะนั้น กล่าวว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว อาจถึงเวลาที่ต้องเริ่มชะลอการกระตุ้น แม้ว่าการชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 2014 แต่การส่งสัญญาณดังกล่าวก็ทำให้ตลาดเกิดความตระหนกเทขายพันธบัตรกันยกใหญ่ จนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตลาดหุ้นผันผวน

แต่ยิ่งเปิดเมืองมากขึ้น เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีน้อยลง ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ ทั้งราคาหุ้น ราคาบ้าน และสินทรัพย์อื่นๆ ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องที่ถูกอัดฉีดอย่างเกินพอ เริ่มทำให้ต้นทุนของการกระตุ้นสูงขึ้น

การชะลอการอัดฉีดเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ถอนการกระตุ้น และคงขนาดงบดุลไว้เท่าเดิมจนถึงปี 2017 จึงเริ่มมีการลดขนาดของงบดุลอย่างช้าๆ

กล่าวได้ว่า นโยบาย QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายขนาดของงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอยู่เกือบหกปี และใช้เวลาอีกสามปีกว่าจะเริ่มมีการถอนการกระตุ้น และหลังจากถอนการกระตุ้นไปแค่ปีกว่า ก็มีปัญหาสภาพคล่องจนต้องกลับมาขยายขนาดของงบดุลอีกครั้ง

หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างมหาศาล ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจกันอีกอัตราดอกเบี้ยถูกปรับลดลงเหลือศูนย์อย่างรวดเร็ว และมีการอัดฉีดด้วยนโยบาย QE และนโยบายอื่นๆ กันอีกรอบแบบจัดเต็ม

ภายในเวลาเพียงสามเดือน ขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พอๆ กับขนาดงบดุลที่เพิ่มขึ้นหลังวิกฤตปี 2008 ที่ใช้เวลาอัดฉีดถึงหกปี แปลว่าความจำเป็นเร่งด่วนมีอย่างมาก และขนาดของการกระตุ้นในรอบนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ

และหลังจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังอัดฉีดต่อเนื่องอีกเดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปเรื่อยๆ และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะ 'ไม่รีบ' ถอนการกระตุ้น แม้ว่าเมืองจะเริ่มเปิด เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาโต อัตราการว่างงานเริ่มปรับลดลง และอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นเกินเป้าหมายของธนาคารกลาง เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเป็นห่วงว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่

แต่ยิ่งเมืองเปิดมากขึ้น เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีน้อยลง ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ ทั้งราคาหุ้น ราคาบ้าน และสินทรัพย์อื่นๆ ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องที่ถูกอัดฉีดอย่างเกินพอ เริ่มทำให้ต้นทุนของการกระตุ้นสูงขึ้น

หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าการกระตุ้นที่มากเกินไป จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อในอนาคตและปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน เหมือนคนเริ่มถามว่า เมื่อไรธนาคารกลางจะเอา 'punch bowl' หรือโถน้ำพันช์ ออกจากงานปาร์ตี้เสียที

ถ้าการถอนการกระตุ้นเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าคงส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบ รวมถึงส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ถูกกดให้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาตลอดจากการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลาง และอาจส่งผลให้ราคาทรัพย์สินที่หลายอย่างมี valuation แบบสุดโต่งเกิดความอ่อนไหวต่อการปรับดอกเบี้ยระยะยาว

แต่ก็หวังว่าผลของการถอนการกระตุ้นครั้งนี้จะไม่สร้างแรงกระเพื่อมรุนแรงเหมือนคราวก่อน เพราะมีการพูดกันเรื่อง 'ถอนการกระตุ้น' มาค่อนข้างมากแล้ว และจากตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดน่าจะพอคาดได้ว่าสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักลงทุนคงต้องติดตามสถานการณ์ และปรับตัวกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม