HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Harnessing the Future

วางแผนอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ให้ลึก สร้างโอกาสทุกการเปลี่ยนแปลง โดยสมโภชน์ อาหุนัย ผู้สร้างธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต

สมโภชน์ อาหุนัย หลงใหลในกลไกและระบบไฟฟ้าจนเรียนรู้ที่จะอ่านค่าคาปาซิเตอร์ได้อย่างช่ำชองนับตั้งแต่อยู่ชั้นประถมฯ 4 ดังนั้น ในวันนี้ที่เขาถูกเรียกว่า ‘อีลอน มัสก์ ของเมืองไทย’ อันเนื่องมาจากบทบาทซีอีโอของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านนวัตกรรมของพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซล วินด์ฟาร์ม โซลาร์ฟาร์ม รถยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรีลิเทียม ที่คาดว่าจะเป็นหัวใจสำคัญของโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนไป ‘พลังงานบริสุทธิ์’ อย่างไฟฟ้า จึงอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดโผมากนัก

อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ได้รวบรัดเรียบง่ายเหมือนเล่าสรุป เส้นทางของสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ออกตัวว่าเป็นคนที่เชื่อในการวางแผนมาโดยตลอดกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้นของสิ่งที่อยู่ ‘นอกแผน’ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 การเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ตามมาด้วยการออกจากอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่วงการพลังงานในจังหวะที่กำลังคิดจะเกษียณตัวเอง

ในวันนี้ที่โลกอนาคตดูเหมือนจะจ่อรออยู่เพียงข้างหน้า ประสบการณ์ของสมโภชน์ที่ผสมผสานระหว่างการวางแผนด้วยความรอบคอบ และการมองหาโอกาสจากสถานการณ์นอกความคาดหมายดูจะเป็นส่วนผสมที่เหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับห้วงเวลานี้

การศึกษาคือมรดก

ผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่ผมเกิดในช่วงสงครามโลก เรียนๆ อยู่แล้วโรงเรียนถูกระเบิด พ่อแม่ก็เลยไม่มีที่เรียน แต่ถึงไม่ได้เรียนหนังสือ ด้วยความมุมานะพ่อแม่ก็เลยอ่านออกเขียนได้หมด และมีความฝันว่าอยากให้ลูกทุกคนมีความรู้ พูดกับลูกทุกคนอยู่เสมอว่าพวกเขาไม่มีมรดกให้หรอก มรดกเดียวที่จะให้ได้คือการศึกษา ออกตัวเลยนะว่าไม่รู้จะแนะยังไงเพราะพวกเขาโตมาด้วยความขยันอย่างเดียว ลูกต้องคิดเอาเอง ข้อดีจากเรื่องนี้คือ พ่อแม่ผมเปิดกว้างให้พวกเราที่เป็นลูกคิดเองทุกอย่าง อยากเรียนอะไร ใช้จ่ายเท่าไหร่ เขาก็ส่งให้เรียนเพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้พ่อแม่ผมบอกว่าภูมิใจมากที่เริ่มจากศูนย์แต่สามารถส่งลูกไปเรียนต่างประเทศได้หมดทุกคน

มองวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยแนวคิดของตัวเราเองทั้งหมด

อยากรู้และอยากทำ

ผมสนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เด็ก น่าจะตั้งแต่ ป.4 สมัยนั้นมีวิชาเลือกให้ลงเรียนนอกเวลา ผมก็ไปเรียน พอโตขึ้นก็หาหนังสือมาอ่านเอง เรียนแล้วก็เกิดคำถามในใจว่าของชิ้นนี้ทำงานอย่างไร ระบบของมันเป็นยังไง สงสัยในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ประกอบกับสมัยเรียนมัธยมที่เซนต์คาเบรียล ผมสนิทกับครูแนะแนว ครูก็คอยให้คำแนะนำ เอา aptitude test มาให้ทำ จนผมรู้ว่าตัวเองอยากเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องอะไร ผมเลยตัดสินใจสอบเข้าเรียนวิศวะไฟฟ้าที่จุฬาฯ แต่สิ่งที่เรียนไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากทำนะ เพราะสมัยนั้นคนเรียนวิศวะส่วนใหญ่พอจบแล้วเขาก็ไปทำงานเป็นเซลส์เอ็นจิเนียร์ (sales engineer ) ไปคุมโรงงาน หรือไปเป็นคนออกแบบโรงงาน เป็นงานประจำ ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่ตัวเรา เราเห็นพ่อแม่ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ มาแต่เด็ก ความฝังใจของผมคืออยากทำธุรกิจ ดังนั้น ตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ปริญญาตรี ผมจะเรียนสิ่งที่อยากรู้ ปริญญาโท ผมจะเรียนสิ่งที่อยากทำ

เรียนเพื่อรู้

สมัยเรียนปริญญาตรีผมไปลงเรียนวิชาเพิ่มเต็มเลย ปกติวิศวะตอนนั้นเขาเรียน 144 หน่วยกิต แต่ผมเรียนไปเกือบ 170 หน่วย แล้ววิชาที่ลงเรียนเพิ่มก็ไม่ใช่วิชาคณะด้วยแต่เป็นวิชาด้านการลงทุน อย่างการเงินระหว่างประเทศ วิชาโฆษณา เพราะผมรู้ว่าเรียนเพื่อเอาไปทำอะไร พอเรียนจบก็เลือกไปทำงานเป็นเซลส์เอ็นจิเนียร์ เพราะวางแผนไว้แล้วว่าอยากไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ แต่เราเรียนวิศวะมาเต็มรูปแบบ ถ้าจะไปเรียนต่อด้านนั้น โดยไม่มีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อนก็เท่ากับว่าเริ่มจากศูนย์ เลยคิดว่าต้องหางานที่จะผสมผสานความรู้ที่มีให้เข้ากับการเรียนบริหารฯ ถึงได้เลือกทำงานเป็นเซลส์เอ็นจิเนียร์ เพราะเป็นงานกึ่งวิศวะ กึ่งการตลาด จะได้รู้ว่าเขาทำการค้ายังไง ต่อรองยังไง แล้วยังเลือกไปทำงานกับบริษัทที่เพิ่งตั้งแผนกด้วย ไม่ได้เลือกเพราะเงินเป็นหลัก คิดว่าในเมื่อเขาเพิ่งเริ่มตั้ง เราคงได้เห็นอะไรหลายอย่างที่เป็นประโยชน์

เซนส์แค่กระตุกให้เราคิด แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือต้องมีวิธีการ

ชีวิตตามแผน

ผมไปเรียนบริหารธุรกิจ ประมาณปี 1989 คือผมเป็นคนวางแผนชีวิตเอาไว้พอสมควร เช่น อายุเท่านี้ต้องทำอย่างนี้ อีกกี่ปีจะทำอะไร เรียนอะไร จบแล้วทำอะไรต่อ อายุ 30 ต้องมีบ้าน ต้องผ่อนให้หมด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเป้าหมายหลักที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จ ตอนนั้นพอทำงานไปได้ปีหนึ่งหลังจบปริญญาตรี ผมก็ตั้งเป้าว่าต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับ Top 20 ที่อเมริกาให้ได้ แล้วก็ตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ จนได้ไปเรียน เรียนจบกลับมาประเทศไทย พ่อแม่ดีใจมาก พาผมไปซื้อรถเลยแล้วบอกว่าท่านหมดหน้าที่แล้วนะ ส่งเรียนซื้อรถให้หมดแล้ว จากนี้ไปผมต้องคิดเอาเองว่าจะทำยังไง ดังนั้น ผมก็ตัดสินใจไปทำงานบริษัทไฟแนนส์ แล้วก็เอาเงินที่มีในกระเป๋าไปร่วมลงทุนกับเพื่อนเลย เปิดทีเดียว 2-3 บริษัท ทั้งบริษัทตกแต่งภายใน นำเข้าส่งออก หรือแม้แต่เอาผ้ามาขายที่สยามฯ ผมก็ยังเคยไปเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้ากับเขา ตอนนั้นคิดว่าทำอะไรก็ได้ขอให้ถูกต้องและเป็นโอกาส เพราะโอกาสไม่เคยรอเรา เรียกว่าผมทำมาเยอะมาก ทำงานไปด้วย ลงทุนไปด้วย ขยันมากสมัยยังหนุ่ม

วิกฤตนอกแผน

ชีวิตผมส่วนหนึ่งวางแผนล่วงหน้าไว้ก็จริง แต่ยังมีอีกส่วนที่มันไม่ได้ถูกวางแผนไว้เลย ซึ่งผมว่าตรงนี้น่าสนใจ ความที่ผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ผมไม่เคยคิดฝันว่าจะได้เป็นเอ็มดี (Managing Director - MD) กับเขาหรอก คิดว่าถ้าได้เป็นวีพี (Vice President - VP) ก็หรูมากแล้ว แต่ทุกอย่างมันเกิดจากสองอย่าง คือวิกฤต กับแนวคิดของตัวเราเอง ครั้งแรกที่ผมก้าวขึ้นมาแรงๆ เลยคือวิกฤตต้มยำกุ้ง สมัยนั้นผมยังเป็น ‘มนุษย์ทองคำ’ อยู่ พอเกิดวิกฤต บริษัทที่ทำก็ถูกบังคับขายให้ต่างชาติ เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร มีคนที่อยู่ต่อกับคนที่ต้องออก ผมโชคดีว่าเขาให้อยู่ แต่ลูกน้องผมไม่ ผมรู้เลยว่าคนที่ต้องออกยังไงก็ลำบากแน่ วิกฤตครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมตัดสินใจทำอะไรที่ท้าทายมากๆ ขึ้นมา เพราะอยากช่วยคนที่เขากำลังจะตกงาน ความที่งานที่ผมทำเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างประเทศ ผมก็เลยรวบรวมเงินจำนวนหนึ่งแล้วเข้าซื้อบริษัทหลักทรัพย์ ปัจจุบันก็คือบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ตรงนี้แหละคือส่วนที่ไม่ได้วางแผน เพราะเกิดจากวิกฤต และทำให้ผมก้าวกระโดดมาเป็นผู้บริหารระดับสูง

บทเรียนสำคัญ

ผ่านไปสองสามปีชีวิตผมก็เกิดวิกฤตอีก ผมเรียนหนังสือจากอเมริกา ใช้ชีวิตตามตำรา ประสบการณ์ยังน้อย คิดว่าตลาดต้องมีประสิทธิภาพสิ ตลาดต้องเป็นอิสระสิ ใครเก่งใครอยู่ ผมเลยพลาดด้วยการทำให้บริษัทโตมากเกินไป มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องว่ากันจริงๆ ผมไม่ได้ทำผิดในแง่กฎหมาย แต่ผิดในแง่ของสังคมเพราะเราเจริญมากแล้ว คู่แข่งเขาเดือดร้อน ผมได้เป็นเอ็มดี ตอนอายุ 28-29 แล้วมาเจอวิกฤตตอน 32 โดนอัปเปหิออกจากธุรกิจเลย ตอนแรกผมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ผ่านมาแล้วถึงคิดได้ว่าเรามีส่วนผิดคือไม่ยอมประนีประนอม และไม่เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีอะไรที่มัน extreme ต้องยอมรับความจริงว่า ความสำเร็จของเราทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน ดีใจที่คิดได้ว่าต้องโทษตัวเอง นี่คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง

ความบริสุทธิ์ที่เปี่ยมพลัง

ตอนแรกบริษัทที่ผมซื้อมายังไม่ได้ชื่อ EA แต่พอทำไปได้สักสองสามเดือนก็เรียกประชุมผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้น และพนักงานให้มาประกวดตั้งชื่อกัน เลยได้ชื่อ ‘พลังงานบริสุทธิ์’ คนอาจสงสัยว่าทำไมบริษัทมีชื่อว่าพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในภาษาไทย แต่ในภาษาอังกฤษเราเขียนว่า Energy Absolute Public Company ไม่ได้เขียนว่า Absolute Energy Public Company คือเราเริ่มจากการทำพลังงานขาย จึงอยากให้บริษัทนี้ดำรงอยู่ด้วยคำว่า ‘ความบริสุทธิ์ที่มีพลัง’ กลายเป็น ‘Energy Absolute’ คำว่า Energy ไปขยาย Absolute ไม่ใช่ Absolute ไปขยาย Energy ผมมองว่าที่ทำมาในชีวิตนี้เกิดจากที่ผมคิดดี อยากทำดีให้กับคนอื่นก็อยากเก็บแนวคิดนี้ให้เป็นดีเอ็นเอของบริษัท ตรงนี้ผมต้องการรวบรวมคนที่คิดแบบเดียวกันมาทำให้เกิดพลัง ส่งต่อความคิดจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่ภายใต้แนวคิด Energy Absolute ทุกโครงการที่เราทำจะอยู่ในธีมนี้หมด ทำแล้วเราก็จะได้เจริญไปด้วย นี่คือวิสัยทัศน์ หรือ เป้าหมายที่เราต้องการทำให้ได้

ก้าวตามวิสัยทัศน์

บริษัทของเราอยู่ถูกที่ถูกเวลาในเรื่องพลังงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัด เพราะไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งทางการเงิน ทรัพยากรมนุษย์ ทีมงานอะไรล้วนใหม่หมด เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จับโครงการที่มีประโยชน์และสร้างผลกำไรได้มาก แต่ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ไม่งั้นเส้น 2nd S-Curve จะไม่เกิด เราจึงต้องเสี่ยงกว่าคนอื่น ต้องมีวิสัยทัศน์ เรามีทักษะในเรื่องพลังงาน เราก็ไปเชื่อมกับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างการขนส่งและคมนาคม เช่น เรือ เราเลือกไปทำเรือไฟฟ้าเพราะเราอยากเห็นอะไรดีๆ ใหม่ๆ ให้คนไทย แล้วเราก็ไปทำรถบัสไฟฟ้าเพราะอยากจะช่วยลดมลพิษให้กับคนทั่วไป เราโชคดีระดับหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจคมนาคมอย่างพลังงานจากแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างถูก อย่างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่เดี๋ยวนี้เริ่มมีให้เห็น แต่บริษัทเราทำมาสามปีแล้วนะครับ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าพอเรื่องพวกนี้กลายเป็นเทรนด์ การแข่งขันก็ต้องเกิด นี่เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของ EA แม้ว่าเราจะมีแต้มต่อเพราะเดินในธุรกิจนี้มาก่อนคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำเขาเสมอไปถ้าเราปิดเกมไม่ได้

โอกาส-ความเสี่ยง

ผมจะไม่ยอมให้โอกาสหายไป พ่อแม่ผมชอบพูดว่าโอกาสผ่านเข้ามาให้ทุกคน คนจีนเขาพูดกันมาแบบนี้ บางคนโอกาสผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ยังไม่ทันรู้ตัวเลย บางคนโอกาสเข้ามาก็เห็นและคิดได้ แต่บางคน โอกาสกำลังจะมา แค่ได้กลิ่นของโอกาสนั้น ก็วางแผนที่จะคว้าโอกาสนี้แล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำตัวให้พร้อม ให้ติดเป็นนิสัย แล้วจะมีโอกาสเจริญ ถ้าแค่ได้กลิ่นแล้วรู้ว่าจะทำอะไร เราก็จะทำได้ เพราะการทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้ผลตอบแทนก้อนโต แบบที่เรียกว่า high risk, high return คือเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น การทำในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นก็คือความเสี่ยง แต่ถ้าเราเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ เราอาจพบว่าความเสี่ยงที่เห็นตอนแรกว่าเป็น 100 ความจริงอาจเป็นความเสี่ยงแค่ 50 ก็ได้

ศึกษาให้รู้จริง

เรื่องเซนส์ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่เซนส์แค่ทำกระตุกให้เราคิดเท่านั้น สิ่งที่มากกว่านั้นคือ ต้องมีวิธีการหรือ methodology คือต้องมีทักษะที่จะเลือกให้เป็นด้วย เพราะบางทีเซนส์ของเราก็ผิด เราจึงต้องผ่านกระบวนการคิด โชคดีว่าตอนไปเรียนที่ต่างประเทศ ผมได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนเรื่องตรรกะซึ่งดีมาก ให้เรียนกรณีศึกษาหลายกรณีเลย ทำให้เราเกิด pattern ในการคิด พอจบมาทำงานบริษัทการเงิน ก็ไปทำงานฝ่ายวิเคราะห์ ต้องคิดด้วยตรรกะตลอด คิดถึง Threat or Opportunity ใช้ Five Forces Analysis เป็นประจำ พอทำบ่อยเข้าก็กลายเป็นทักษะ ทั้งหมดนี้คุณต้องสร้างขึ้นมา แต่สร้างวันเดียวมันไม่เสร็จ ต้องค่อยๆ ทำ

ผมเป็นคนที่เวลาทำอะไรแล้วจะยึดมั่นกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ จะศึกษาให้ลึกเลย แล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไร ผมทำอะไรมาหลายอย่างเพราะโตขึ้นมาจากการที่ไม่มีอะไร ผมจึงให้คุณค่ากับทุกอย่างที่มี และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างระมัดระวัง นี่เป็นธรรมชาติด้านหนึ่ง แต่อีกด้านผมก็เป็นคนขี้กลัว เพราะงั้นก่อนจะทำอะไร ผมต้องถกเยอะ คุยเยอะ ศึกษา ทำวิจัย อย่างเรื่องทำแบตเตอรี่ ก่อนเริ่มทำโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion) ผมศึกษาเรื่องแบตเตอรี่มาสี่ห้าปี แล้วตอนแรกไม่ได้คิดถึงลิเทียมด้วย ผมไปศึกษาแบตเตอรี่อีกตัว แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ถึงรู้ว่าแบตเตอรี่ตัวนี้ไม่ใช่ ในขณะที่ต้องกลับมามองลิเทียมใหม่ เลยได้สร้างเป็นโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

เปลี่ยนอุตสาหกรรม

ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับนโยบายของประเทศ และไม่ใช่ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกคนเดิมๆ ในอุตสาหกรรมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง แล้วนโยบายของประเทศก็ไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลง นี่คือความท้าทายอย่างหนึ่ง คือจะทำยังไงให้คนในอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง ทำยังไงให้นโยบายของประเทศเดินไปในทิศที่เหมาะสม เรื่องนี้ไม่ง่ายเพราะเราไม่ใหญ่ ต้องอาศัยความความมั่นคงและสม่ำเสมอ คือลงมือทำทีละนิดทีละหน่อย อาศัยการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก แล้วเราก็กระตุ้นด้วยการลงมือทำ นี่คืออุตสาหกรรมที่มีธรรมชาติของมัน เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาตินั้น เรียนรู้ว่าต้องรู้จักรอ รู้จักอธิบาย และต้องแสดงให้เห็น กลายเป็นทักษะอีกแบบหนึ่ง

ปรับแล้วไปต่อ

การทำงานในช่วงโควิด-19 ถือว่าได้รับผลกระทบเยอะ เพราะเรากำลังขยายงาน มีงานก่อสร้างโรงงานด้วยซึ่งต้องใช้คนเป็นร้อยเป็นพันทำให้เราต้องระมัดระวัง มีการป้องกัน และการนำเข้าอุปกรณ์หรือผู้เชี่ยวชาญก็ทำได้ช้าลง นี่คือสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ แต่ถามว่าเราทำงานทุกวันไหม ผมบอกได้ว่าเราทำงานทุกวัน EA ทำงาน Work from Home น้อยมาก เพราะผมมองว่าเราควรเลือกว่าจะอยู่กับสถานการณ์ยังไง เราจะวิ่งหนีไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ถ้าโรคมันอยู่กับเราสักสามปีจะทำยังไง ผมก็เลยปรับปรุงองค์กร ให้พนักงานรู้ว่าจะอยู่กับสภาวะแบบนี้ยังไง อย่างแอร์ที่ออฟฟิศของเราติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อหมด แล้วก็ทำระบบการลดใช้กระดาษ เพื่อให้งานต่อเนื่อง คราวนี้ผมจะสั่งงานจากที่ไหนในโลกก็ได้ เรานำระบบ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ ให้ระบบอ่านอีเมล์เอง อ่านแล้วเขียนใบแจ้งหนี้ เขียนเช็ค สั่งพิมพ์ แล้วส่งอีเมล์ให้มารับเช็ค ปัจจุบัน AI (Artificial Intelligence) สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เก่งขึ้น ช่วยให้เราลดขั้นตอนการทำงาน ลดต้นทุน ไม่เกินสิ้นปีนี้ระบบหลังบ้านของเราจะปรับเปลี่ยนหมด แล้วก็ฝึกคน คนไหนสนใจด้านเอไอ ก็ส่งไปเรียน เรียนผ่านให้เงินเดือนเพิ่ม บริษัทของเรากำลังขยายตัว แต่เราไม่ต้องเพิ่มคน เพราะเราเพิ่มความสามารถในการทำงานของพนักงานแทน คนไหนที่รับความท้าทายได้เราก็ส่งเสริมเขาขึ้นไป แบบนี้บริษัทของเราก็จะมีการเติบโตภายในองค์กร ไม่ใช่ว่าเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ตอนที่บริษัทอยู่ตัวแล้ว แบบนั้นเราก็ต้องลดคน

เป้าอนาคต

ผมอยากเห็นองค์กรนี้เติบโตกลายเป็นสถาบัน อยากเห็นว่าความรู้ของผมไปช่วยเหลือคนอื่นได้ยังไง ทำให้ประเทศเจริญได้ยังไง จะถ่ายทอดสิ่งที่มีให้คนอีกรุ่นได้ยังไง ทำให้เขาเจริญ ถ้าทำได้แบบนี้ผมก็ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น เพราะย้อนกลับไปผมก็มีชีวิตที่เรียบง่ายมาก คุณเอาเงินไปไม่ได้ แต่ความรู้ในสมองเนี่ย ถ้าเมื่อไหร่หัวใจผมหยุดเต้น ความรู้ในสมองผมก็หายไปด้วย ผมเลยคิดว่าถ้าสามารถถ่ายโอนความรู้นี้ไปให้คนอื่นเขาได้ใช้ประโยชน์ หรือสร้างคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกับผมขึ้นมาได้อีกเยอะๆ ผมก็ถือว่าตัวเองได้ตอบแทนสังคมและประเทศแล้วอย่างดีที่สุด แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว

รู้จักกับสมโภชน์ อาหุนัย

สมโภชน์ อาหุนัย เรียนจบระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนเรียนต่อด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุรกิจ จาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)