SECTION
ABOUTFULL FLAVOURS
A Wholesome Package
บทบาทของบรรจุภัณฑ์อาหารในยุคโควิด-19 เร่งเร้าให้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก้าวหน้าและกลายเป็นจุดสนใจของสังคมที่รู้ว่าไม่อาจปล่อยให้โลกจมพลาสติก
ครั้งหนึ่ง รอล็อง บาร์ต นักทฤษฎีชาวฝรั่งเศส ได้เขียนถึงพลาสติกว่า “เป็นสสารแห่งการเล่นแร่แปรธาตุ”
ข้อเขียนของบาร์ตมีมาตั้งแต่ปี 2500 สะท้อนว่า พลาสติกอยู่ในสังคมมายาวนานไม่น้อย และหากเราย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้นได้ เราจะพบเห็นผู้คนแสดงความพิศวงต่อคุณสมบัติอันเป็นเลิศของพลาสติก จนขนาดนักคิดของยุคสมัย เช่น บาร์ต ยังเพ้อประหนึ่งว่าวัสดุนี้วิเศษมิต่างจากมนตราอัศจรรย์
เมื่อมองประวัติศาสตร์ยาวนานของมนุษย์ การประดิษฐ์คิดค้นวัสดุที่ดูเรียบง่าย แต่กลับมีความยืดหยุ่น คงทน และสามารถนำไปขึ้นรูปอย่างใดก็ได้คือความก้าวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย และคุณสมบัติเฉพาะตัวของพลาสติกนี้เองที่ได้ส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยมให้เติบโตแผ่ขยายไปได้ทั่วโลกบนสายธารของขวด แก้ว และกล่องพลาสติก ที่หนุนดันให้อุปทานการผลิตโลกพองตัวอย่างง่ายดาย อย่างไรก็ดี ยุคของบาร์ตได้ล่วงเลยมานานแล้ว และมนตราของพลาสติกก็ถึงวันเสื่อมคลาย
ทุกวันนี้ ผู้คนตระหนักและรับรู้ถึงผลกระทบที่พลาสติกมีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว งานวิจัยในวารสาร Nature Sustainability ชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2564 กล่าวว่า กว่า 80% ของขยะทั้งหมดที่เราพบในมหาสมุทรคือพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกบรรจุอาหาร ไม่ว่าจะกล่อง ช้อนส้อม หรือถุงใส่เครื่องปรุงรส ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในมหาสมุทรของเรามากจนน่าตื่นตะลึง
กว่า80% ของขยะทั้งหมดที่เราพบในมหาสมุทรคือพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกบรรจุอาหาร ไม่ว่าจะกล่อง ช้อนส้อม หรือถุงใส่เครื่องปรุงรส ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในมหาสมุทรของเรามากจนน่าตื่นตะลึง
แต่เรื่องที่ชวนปวดหัวยิ่งกว่าก็คือ มนุษย์เราจะใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยปราศจากพลาสติกได้อย่างไร ยิ่งในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด การพึ่งพาพลาสติกยิ่งต้องมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งเพื่อสวมใส่ร่างกาย และเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ หรืออาหารที่กินเพื่อปกป้องจากเชื้อโรค คำถามที่น่ากังวลนี้ ทำให้นภัสสร เลียบวัน ทุ่มเททำงานวิจัยเพื่อค้นหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นภัสสร คือนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ประจำกรมวิชาการเกษตร เธอเริ่มงานวิจัยที่หน่วยงานแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยความเชี่ยวชาญการวิจัยเรื่องบรรจุภัณฑ์อาหารแบบแอคทีฟ (Active food packaging) ซึ่งไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังช่วยยืดอายุขัยของอาหารที่อยู่ภายใน ดังเช่นกรณีของบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่กิมจิที่สามารถนำเทคโนโลยีวาร์ลระบายอากาศแบบเปิดปิดมาใช้ ช่วยให้บรรจุภัณฑ์ระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะสะสมขึ้นในถุง ลดความเสี่ยงของการปริแตก พร้อมๆ กับปิดกั้นทางเข้าของแบคทีเรียจากภายนอกไม่ให้สามารถผ่านรูระบายอากาศเข้ามาได้ ซึ่งช่วยยืดอายุการจัดเก็บให้นานขึ้นกว่าบรรจุภัณฑ์กิมจิทั่วไป
ปัจจุบัน นักวิจัยจากทั่วโลกทำการค้นคว้าเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหารโดยคำนึงถึงโจทย์สำคัญ 2 ประการ หนึ่งคือการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่จะมีคุณประโยชน์ใช้สอยเพิ่มพูนขึ้น (เหมือนกรณีของบรรจุภัณฑ์ใส่กิมจิ) และอีกประการคือการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถนำไปทิ้งได้อย่างสะดวกใจว่าจะไม่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม
การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยที่สุดคือบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนกว่าแบบเก่าก่อน คือเทรนด์ของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ในเวลานี้ แต่ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งความหวังเอาไว้ให้สูงยิ่งกว่า คือการผลิต ‘บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ’
อย่างที่หลายคนอาจสังเกตเห็นแล้ว ความกังวลและห่วงใยว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งจะส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ ทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กบางแห่งทดลองใช้โปรแกรมคืนบรรจุภัณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ซื้ออาหารไปทานที่บ้านส่งคืนบรรจุภัณฑ์มาให้ร้านใช้ซ้ำ อย่างไรก็ดี วิธีการนี้อาจเป็นไปได้ยากในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อหาทางออก นภัสสรเสนอว่าสิ่งที่ควรทำคือการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่จะไม่นับเป็นขยะออกมาตั้งแต่แรก แนวทางนี้สอดคล้องกันกับอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 8.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นภัสสรบอกว่า “ในฐานะนักวิจัย พลาสติกเป็นเหมือนมนต์วิเศษ” แต่ในทางกลับกัน เธอได้ชี้ชวนให้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าไบโอโพลีเมอร์ โดยอธิบายว่า ความจริงทุกคนล้วนถูกรายล้อมด้วยไบโอโพลีเมอร์ซึ่งสามารถกินได้ เพราะไบโอโพลีเมอร์นี้เองที่อุตสาหกรรมอาหารได้นำมาใช้ผสมกับอาหารเพื่อเพิ่มความหนืดหรือปรับรสสัมผัสให้ถูกปากผู้บริโภค
ในธรรมชาตินั้น โพลีเมอร์คือชุดของโมเลกุลขนาดใหญ่ และโมเลกุลขนาดใหญ่เหล่านี้ก็เป็นหน่วยพื้นฐาน (Building blocks) ของวัสดุตามธรรมชาติหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งรวมถึงดีเอ็นเอและโปรตีนในร่างกาย มนุษย์เรียนรู้เรื่องโพลีเมอร์ในธรรมชาติจนสามารถสังเคราะห์ขึ้นใช้เอง และโพลีเมอร์สังเคราะห์นี้คือสิ่งที่นำมาทำเป็นพลาสติก หรือเพื่อตอบโจทย์อื่นๆ ในชีวิต
นภัสสรหาทางใช้ประโยชน์จากไบโอโพลีเมอร์เหล่านี้ในการผลิตฟิล์มห่ออาหารที่สามารถกินได้ ในลักษณะของฟิล์มห่อลูกอมที่ทำมาจากแครอทบดละเอียด เธอบอกว่าฟิล์มห่อขนมนี้จะไม่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และยังช่วยปกป้องอาหารที่อุดมด้วยไขมันไม่ให้เกิดภาวะเหม็นหืนด้วย ฟิล์มห่อขนมของนภัสสร นอกจากจะกินได้แล้ว ยังมีรสชาติเหมือนแครอทจริงๆ และแม้ว่าผลิตภัณฑ์นี้จะยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด แต่งานวิจัยอายุ 5 ปีชิ้นนี้ก็ได้กลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
“ความนิยมสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและก็แผ่ออกไปในวงกว้าง แต่ไม่ว่างานวิจัยจะก้าวหน้าไปสักแค่ไหน สุดท้ายสิ่งที่จะกำหนดผลลัพธ์ก็คือความต้องการของผู้บริโภค” นภัสสรกล่าว
ความจริงแล้ว บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไม่ใช่อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตมีมาได้ระยะหนึ่ง แต่ยังไม่มีเจ้าตลาด และผู้เล่นแต่ละรายก็มีแนวทางในการผลิตสินค้าตามแบบฉบับของตนเอง เช่น บริษัทสยามลีฟ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทำจากใบไม้แห้งเพื่อคนไทย หรือ ยูนิเวอร์แซล ไบโอแพ็ค ผู้ผลิตกล่องบรรจุอาหารทำจากแป้งมันสำปะหลังเพื่อคนที่อยากนำอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่บริษัทเหล่านี้ยังผลิตสินค้าทางเลือกได้ในปริมาณที่น้อยหากเทียบกับเจ้าตลาดบรรจุภัณฑ์ เช่น บริษัทดาว เคมิคอล ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกส่งขายได้ทั่วโลก
“ผลิตภัณฑ์ของเรายังผลิตออกมาได้แค่ในระดับห้องทดลองเท่านั้นเอง การเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นไปได้ช้าเพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก เครื่องจักรเองก็ต้องมีการปรับแต่งให้เหมาะกับการผลิต แล้วเมื่อพูดถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ก็ยังมีคำถามว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องต้นทุนอย่างไรด้วย” นภัสสรกล่าวถึงฟิล์มห่อขนมของเธอ
การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยที่สุดคือบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนกว่าแบบเก่าก่อน คือเทรนด์ของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ในเวลานี้ แต่ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ตั้งความหวังเอาไว้ให้สูงยิ่งกว่า คือการผลิต ‘บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ’ ที่มีฟังก์ชันการทำงานเหนือกว่ากล่องบรรจุภัณฑ์ทั่วไป อย่างเช่นการมีระบบสำหรับติดตามตรวจสอบการขนส่งอาหารแบบนาทีต่อนาที ช่วยให้ติดตามได้ว่าขณะนี้อาหารในบรรจุภัณฑ์กำลังถูกส่งไปยังแห่งหนใด ใช้เวลานานเท่าไหร่ และยังช่วยปกป้องคุณค่าของอาหารที่อยู่ภายในพร้อมๆ กับป้องกันเชื้อโรคร้ายต่างๆ ไม่ให้กล้ำกรายอาหารรสเลิศ
และเป้าหมายที่เป็นเหมือนธงชัยแห่งเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหารก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีความสามารถในการอุ่นร้อนและเเช่เย็นอาหารในตัวเอง น่าเสียดายว่าความพยายามที่ผ่านมาของนวัตกรรมทำนองนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดผู้ซื้อที่ทำได้ใกล้เคียงกับคำว่าสำเร็จที่สุดจนถึงตอนนี้ คือบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้สารเคมีเป็นตัวทำปฏิกิริยาคายความร้อนเพื่ออุ่นอาหาร เสียแต่ว่าบรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่เทอะทะเพราะต้องแบ่งออกเป็นชั้นๆ สำหรับใส่สารเคมีและอาหาร และราคาก็ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้ซื้อนัก
สรุปแล้ว คงต้องอดใจรอกันต่อไปกว่าจะได้เห็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในร้านอาหารโปรดหน้าปากซอย แต่อย่างน้อยก็ยังมีความหวังว่าพลาสติกจากสารในธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ (หรือแม้แต่จะกินก็ได้) และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน่าจะอยู่ห่างจากความจริงอีกไม่ไกลเกินรอ ■