SECTION
ABOUTFULL FLAVOURS
Spreading the Gospel
ออสติน บุช นักเขียนชาวอเมริกัน ใช้เวลากว่าสองทศวรรษค้นคว้าสูตรอาหารไทยพื้นถิ่น และร้อยเรียงเรื่องราวการเดินทางของเขาออกมาเป็นตำราอาหารระดับรางวัล
เมื่อตำราอาหารกึ่งสารคดี The Food of Northern Thailand ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนักของออสติน บุช นักเขียนชาวอเมริกัน ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารอบชิงชนะเลิศ James Beard Award หนึ่งในรางวัลระดับโลกอันทรงเกียรติในแวดวงนักเขียนสาขา Food Writing คนที่เคยผ่านตาหนังสือเล่มนี้มาบ้างอาจไม่รู้สึกประหลาดใจนัก เพราะแม้กระทั่ง พิม เตชะมวลไววิทย์ เชฟใหญ่แห่ง Nahm ร้านอาหารมิชลินสตาร์ในกรุงเทพฯ และเจ้าของร้าน Kin Khao ที่ซานฟรานซิสโก ยังชื่นชมตำราอาหารเล่มนี้ซึ่งเล่าเรื่องสูตรอาหารเหนือหากินยากได้อย่างออกรส
ตำราอาหารของเขาได้รับการกล่าวขวัญจากสื่อในประเทศไทยอย่าง Time Out และ BK Magazine ไม่เว้นกระทั่งสื่อระดับโลกอย่าง CNN และ BBC โดยนอกจากเรื่องราวในหนังสือซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ของออสตินขณะใช้เวลาขลุกอยู่ก้นครัว และเฝ้าดูชาวบ้านหรือเชฟรังสรรค์อาหารจานเด็ดแล้ว บรรดาสื่อไทยเทศยังให้ความสนใจกับตัวตนของนักเขียนหนุ่มรายนี้ด้วย
มีคนจำนวนไม่มากที่จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ ผมเลยหวังว่าท้ายที่สุดแล้วผมจะเป็นส่วนเล็กๆที่ช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้
ออสตินเป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยได้คล่อง เขาใช้เวลาเกือบสองทศวรรษตระเวนไปทั่วประเทศไทยเพื่อเสาะหาของอร่อย หนังสือ The Food of Northern Thailand ของเขาผสมผสานระหว่างความเป็นตำราอาหารและบันทึกการเดินทาง สูตรอาหารแต่ละสูตรนั้นถูกเกริ่นนำด้วยเรื่องเล่าสนุกๆ ผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักกับบุคคลต่างๆ ที่ออสตินได้พบเจอและล่วงรู้ความลับเข้า ซึ่งบางครั้งก็เป็นสูตรลับจริงๆ เสียด้วย
นอกจากนี้ ตำราอาหารของออสตินยังแฝงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาหารพื้นถิ่นไว้ ยกตัวอย่างเช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยวของแม่ฮ่องสอนน้ำจะใสและรสชาติจัดจ้านกว่าของจังหวัดอื่นๆ หรือเหตุผลที่ต้องใช้เนื้อขาหมูชั้นนอกทำหมูย่าง (ซึ่งจากคำอธิบายของ พรรณิการ์ ตันจิน๊ะ เจ้าของร้านอาหารที่ออสตินได้พบระหว่างการเดินทางนั้น เนื้อชั้นนอกนั้นกรึบนอกนุ่มในกว่า) การสอดแทรกเรื่องราวลงไปในแต่ละสูตรอาหาร ทำให้หนังสือเล่มนี้ทั้งอ่านสนุกและอัดแน่นไว้ด้วยสาระ ขณะที่นักเขียนบทความอาหารที่ดีต้องสามารถบรรยายสารพันเมนูและวัตถุดิบออกมาได้ชวนน้ำลายสอ ตำราอาหารของออสตินยังสอนให้คนอ่านทำอาหารเป็นด้วย “ผมจะยืนประกบคนปรุงอาหาร คอยจดสูตรและถ่ายรูปมือเป็นระวิง จากนั้นจึงค่อยนั่งลงสัมภาษณ์พวกเขาอีกรอบเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ผมชอบสไตล์การทำงานแบบนี้ มันคืออารมณ์ของการทำงานข่าวจริงๆ” ออสตินเล่า
ความสำเร็จของหนังสือเล่มดังกล่าว กรุยทางให้ออสตินได้เขียนหนังสือเล่มที่สองเกี่ยวกับอาหารปักษ์ใต้ หนังสือทั้งสองเล่มของเขาไม่ใช่เพียงหนังสือรวบรวมตำรับอาหารโบราณที่สาบสูญอย่างที่มักเป็นกระแสทุกวันนี้ “อาหารเหนืออาจให้ความรู้สึกเหมือนอาหารที่คนกินกันเมื่อหนึ่งพันปีก่อน ทั้งเทคนิคการย่างแบบบ้านๆ เมนูทำจากเนื้อดิบ และรสชาติขมอบอวลด้วยสมุนไพร แต่ความโบราณไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมต้องการนำเสนอ ผมสนใจสิ่งที่คนกินในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือใหม่ก็ตาม” เขาอธิบาย
และความ ‘ใหม่’ ก็มักเดินทางไปถึงแม้กระทั่งหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลที่สุดซึ่งออสตินได้มีโอกาสไปเยือนเข้าจริงๆ เมื่อ 20 ปีก่อน หมู่บ้านเหล่านั้นมีเพียงตลาดนัดและร้านค้าแผงลอยไม่กี่เจ้า ต่างจากทุกวันนี้ที่เริ่มมีร้านสะดวกซื้อเจ้าดังเข้ามาเปิดทำการพร้อมของกินสารพัด แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นแรงกระตุ้นสำคัญสำหรับออสตินด้วยเช่นกัน “มีคนจำนวนไม่มากที่จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ ผมเลยหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว ผมจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้” เขากล่าว
สำหรับดินแดนชนบทห่างไกล อาหารแนวฟาสต์ฟู้ดในร้านสะดวกซื้ออาจทั้งน่ารับประทานและแสนง่าย และความสะดวกสบายที่ว่าก็มักค่อยๆ กลืนกินวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นไปทีละนิด แต่ออสตินคงไม่ยอมปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับอาหารไทยที่เขาหลงรักหากยังไม่ได้ลองสู้ดูสักเล่ม ■
Essentials
ออสติน บุช ช่างภาพและนักเขียน
The Food of Northern Thailand พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House