SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Kingdom of Heaven
แนวคิดการสร้างเมืองลอยฟ้าเพื่อแก้ปัญหาคนล้นเมืองและมลภาวะ อาจเป็นทางออกสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ยุคต่อไป
หากเอ่ยถึงโครงการสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในอดีต ตำนานหอคอยแห่งบาเบลคือหนึ่งในการก่อสร้างที่ท้าทาย พระคัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสต์บันทึกไว้ว่า ชาวเมืองบาเบลล้วนพูดภาษาเดียวกัน จึงร่วมใจกันสร้างหอคอยให้สูงเทียมฟ้าเพื่อไปเยือนสวรรค์ แต่พระเจ้าทรงพิโรธต่อการกระทำนี้ จึงลงโทษให้พวกเขาต้องผลัดพราก และเปลี่ยนภาษาของชาวเมืองให้มีความหลากหลายจนไม่อาจสื่อสารกันรู้เรื่อง หอคอยแห่งบาเบลจึงจบลงด้วยความล้มเหลว
แม้ว่าการสร้างอาคารสูงเทียมฟ้าจะเป็นเพียงตำนานที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ความฝันว่าจะสร้างตึกสูงให้ขึ้นไปกว่าที่มนุษย์เคยทำก็เริ่มถูกพูดถึงอีกครั้ง
ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกำลังส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ความหนาแน่นของเขตเมือง มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และราคาบ้านสูงเกินเอื้อมสำหรับคนจำนวนมาก สร้างความท้าทายให้นักวางผังเมืองและผู้คนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพที่พยายามหาทางออก หนึ่งในกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาคือสถาปนิกยุคใหม่ผู้มาพร้อมกับไอเดียชื่อ Vertical Architecture ซึ่งอาจแปลได้ว่า ‘สถาปัตยกรรมลอยฟ้า’
แนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมลอยฟ้าไม่เหมือนการสร้างอาคารสูงแบบที่เห็นกันทั่วไป เพราะแม้ตึกสูงในปัจจุบันจะสามารถต่อเติมให้สูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ แต่ผู้คนในอาคารเหล่านี้ยังต้องลงมายังพื้นเบื้องล่างเพื่อใช้ชีวิต เข้าสังคม หรือหาโอกาสพักผ่อน ซึ่งตรงข้ามกับสถาปัตยกรรมลอยฟ้าที่ต้องการสร้างเมืองให้ผู้คนอาศัยอยู่บนท้องฟ้าได้จริงๆ
“แม้แต่ในวงการสถาปนิกเองก็ยังมีคนไม่น้อยที่เข้าใจว่าตึกสูงชะลูดเบื้องหน้าคือ ‘เมืองลอยฟ้า’ แต่ความเข้าใจนี้ยังไม่นับว่าถูกต้อง” เคนนิท คิง ผู้ร่วมแต่งหนังสือ A Solution For Sustainable Living และผู้ก่อตั้งองค์กรนานาชาติไม่แสวงหากำไร Vertical City กล่าว “ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เราพยายามพูดถึง คืออาคารก่อสร้างที่ภายในมีฟังก์ชันหลักทุกอย่างเหมือนเมืองแห่งหนึ่ง เช่น มีหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ สำนักงาน ร้านค้าปลีก และสถานบันเทิง หรือก็คืออาคารนี้ต้องสามารถรองรับการอยู่อาศัยของผู้คนได้ครบทุกด้าน”
สิ่งที่เราพยายามพูดถึงคืออาคารก่อสร้างที่ภายในมีฟังก์ชันหลักทุกอย่างเหมือนเมืองแห่งหนึ่ง เช่น มีหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ สำนักงาน ร้านค้าปลีก และสถานบันเทิง
สถาปัตยกรรมลอยฟ้าอาจชวนให้คนคิดถึงอาคารสุดล้ำในยุคอวกาศซึ่งลอยอยู่บนท้องฟ้าไม่ก็ในอวกาศ ขณะที่บางคนอาจหวนคิดถึงหอคอยแห่งบาเบลตามความเชื่อทางศาสนา แต่สำหรับคิง เขาเชื่อมั่นว่าโครงการนี้สามารถทำให้เป็นจริงได้ และมหานครอย่างมุมไบ ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ คือสถานที่ที่เหมาะสมกับการสร้างโครงการเมืองลอยฟ้า
หากโครงการเหล่านี้ลงมือก่อสร้างจริงตามวิสัยทัศน์ของคิง ขนาดของโครงการจะใหญ่มหาศาล และจะถือเป็นแนวหน้าในการก่อสร้างตามแนวคิดเชิงสถาปัตยกรรมใหม่นี้
ความจริงแล้ว อาคารบางแห่งในโลกเริ่มเข้าใกล้แนวคิดของคิงมากขึ้น เช่น Shanghai Tower ซึ่งเป็นอาคารสูงอันดับสองของโลก อาคารแห่งนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างตามมาตรฐานที่คิงกำหนดไว้ ตั้งแต่ร้านค้า โรงแรม สำนักงาน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม ตัวอาคารสามารถจับน้ำฝนและรีไซเคิลน้ำเสียส่วนหนึ่งกลับมาใช้ได้ (เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญสำหรับเมืองและสถาปัตยกรรมลอยฟ้า) ส่วนกระจกบิดโค้งซึ่งติดตั้งเป็นผนังอาคารจะช่วยรับแรงปะทะของลมได้ดี และยังช่วยลดปริมาณเหล็กที่ต้องใช้ในการยึดโครงสร้างได้ถึง 25% ขณะที่กังหันลมตามผนังตึกสามารถผลิตพลังงานได้ถึง 10% สำหรับใช้ในอาคาร
โครงการอื่นที่คล้ายกันยิ่งย้ำว่าการสร้างสถาปัตยกรรมลอยฟ้ามีโอกาสเป็นจริงได้ ดังเช่นโครงการก่อสร้างอาคาร Peruri 88 ในนครจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเสนอแผนและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2012 อาคารสูง 400 เมตรแห่งนี้คือ ‘บล็อกเมือง’ 11 บล็อกที่วางซ้อนทับกัน แต่ละบล็อกมีขนาดและรูปร่างต่างกัน และภายในประกอบไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ร้านค้าปลีก โรงแรมหรูอย่างละหนึ่งแห่ง พื้นที่จอดรถ มัสยิด โรงภาพยนตร์ระดับ IMAX และโรงมหรสพกลางแจ้ง
“แม้ว่าแนวคิดเรื่องเมืองลอยฟ้าจะน่าทึ่งและน่าดึงดูดใจสำหรับใครหลายคน แต่กับคนที่เหลือแนวคิดนี้กลับไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย” ลอยด์ อัลเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบเมืองเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยโทรอนโต กล่าวถึงมุมตรงข้าม สำหรับอัลเตอร์ เขาสนับสนุนแนวคิดสถาปัตย์อีกแบบเรียกว่า Linear Architecture หรือสถาปัตยกรรมแนวราบเชิงเส้น คือแทนที่จะสร้างตึกให้ซ้อนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แนวคิดสถาปัตยกรรมแนวราบเชิงเส้นคือการยืดขยายเมืองออกไปให้สุด อาคารต่างๆ จะเชื่อมต่อกันเหมือนระเบียงยาว และมีแนวต้นไม้สีเขียวกั้นกลางระหว่างระเบียง
อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ดูจะประสบความสำเร็จเฉพาะประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ ดังเช่นประเทศแคนาดาซึ่งมีความหนาแน่นประชากรที่ 4 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศขาดแคลนพื้นที่อย่างอย่างสิงคโปร์ซึ่งมีประชากรเกือบ 8,000 คนอาศัยรวมกันในอาคารสี่เหลี่ยมแคบๆ ยากจะทำได้ในทางปฏิบัติ
ตัวอย่างโครงการอื่นๆ ที่ประยุกต์แนวคิดสถาปัตยกรรมลอยฟ้าอาจช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะขยับเข้าใกล้ความฝันของคิงมากยิ่งขึ้น เช่น อาคาร Bahrain World Trade Center ตึกแฝดแบบมีสะพานเชื่อมซึ่งติดตั้งกังหันลมด้านข้างเพื่อรับลมทะเลทรายมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร หรืออาคาร Bosco Verticale (แปลว่า ‘ป่าแนวดิ่ง’ ในภาษาอิตาเลียน) ในเมืองมิลาน อาคารแห่งนี้เป็นตึกสองหลังติดกันซึ่งประดับตกแต่งตามผนังตึกด้วยต้นไม้ พุ่มไม้ และพันธุ์พืชหลากหลายรวมได้มากกว่า 16,900 ต้นเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปรับอุณหภูมิของอาคาร และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเมืองซึ่งเดิมพบได้แต่ในสวนสาธารณะเท่านั้น นอกจากนี้ อาคารแห่งนี้ยังมีระบบการพึ่งพาตนเองด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และใช้น้ำเสียผ่านระบบการกรองมาหล่อเลี้ยงต้นไม้ทั่วอาคาร
เมื่อพิจารณาจากกระแสที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ สถาปัตยกรรมลอยฟ้าอาจกลายเป็นคำที่สร้างชื่อเสียงให้แก่วงการสถาปัตยกรรมต่อไปในอนาคต แม้แต่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ยังสามารถพบเห็นโครงการก่อสร้างตึกสูงหลายแห่งอ้างถึงคอนเซป Vertical Living เพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อ ทว่ามีเพียงไม่กี่โครงการเท่านั้นที่มีความพิเศษนอกเหนือจากการสร้างสวนต้นไม้ไว้บนชั้นดาดฟ้า
อย่างไรก็ตาม หากเมืองเช่น กรุงเทพฯ หรือปักกิ่ง วางแผนจะเอาชนะปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ไม่ว่าเรื่องราคา ความหนาแน่นของเมือง หรือมลพิษทางอากาศให้ได้อย่างแท้จริงแล้ว ผู้มีส่วนรับผิดชอบยิ่งต้องเอาจริงเอาจังกับโครงการก่อสร้างอาคารสูงสมัยใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความล้มเหลวของหอคอยแห่งบาเบล ■