HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Made to Last

‘Made in Charoenkrung’ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จุดประกายไอเดียสุดบรรเจิดระหว่างช่างฝีมือรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ที่กำลังฉายแสง ณ ย่านเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร

ซินตูอาภรณ์ คือร้านตัดเย็บสูทสุดคลาสสิคในกรุงเทพมหานครที่โดดเด่นด้วยฝีมืออันประณีตด้วยเหตุนี้ แม้ถูกขนาบด้วยคาเฟ่และร้านกล้องถ่ายรูป แต่ตัวร้านกลับโดดเด่นด้วยกลิ่นอายความเก๋าสมกับสถานะหนึ่งในร้านตัดเย็บที่เก่าแก่ที่สุดบนถนนเจริญกรุง

ภายในร้านซินตูอาภรณ์ มีชั้นวางที่อัดแน่นไปด้วยม้วนผ้ายาวไปจนสุดหลังร้าน บนผนังประดับไว้ด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับภาพถ่ายสีซีดจางตามกาลเวลาของสมาชิกครอบครัวรุ่นก่อตั้งร้าน ในขณะที่บนโต๊ะไม้เก่าขนาดใหญ่บริเวณนั่งรอเต็มไปด้วยหนังสือ ‘ลุค บุ๊ค (look book)’ แสนวินเทจ และนิตยสารแฟชั่นสุภาพบุรุษที่เห็นได้ว่าถูกพลิกดูจนช้ำ ร้านนี้เป็นที่รักของชายหนุ่มผู้พิถีพิถันกับการแต่งกายจากรุ่นสู่รุ่น มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ พิชัย สินพัฒนานนท์ ผู้อพยพมาจากประเทศจีน เปิดให้บริการร้านเป็นครั้งแรกในปี 2482

อย่างไรก็ตาม ร้านแห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่ความเก่า หากสังเกตให้ดี ขนาบข้างกับสูททางการเนี้ยบกริบของซินตูอาภรณ์ที่ตั้งโชว์ในกระจกหน้าร้าน คือ แจ็กเก็ตลำลองสะดุดตา แจ็กเก็ตตัวนี้ตัดจากผ้าเนื้อโปร่งสวมใส่สบายและปักเย็บด้วยลวดลายต่างๆ เช่น โคมไฟจีน แมวดำ ตลอดจนนกยูงซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงแสนสง่าของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสที่อยู่ใกล้เคียง สัญลักษณ์เหล่านี้บ่งบอกได้ทั้งประวัติศาสตร์ของถนนเจริญกรุงและมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวของย่านนี้ โดยแจ็กเก็ตดังกล่าว และผลงานลิมิเต็ดอิดิชั่นอีก 3 ชิ้น เป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือสุดสร้างสรรค์ระหว่างซินตูอาภรณ์กับ VL by VEE อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่ได้รับการยอมรับของไทย

“พวกเราพอใจกับงานออกแบบแจ็กเก็ตนี้มาก ขั้นตอนการสร้างสรรค์งานราบรื่น คุณวี จากวีเเอลบายวี อยากศึกษาเกี่ยวกับย่านเจริญกรุงเพื่อออกแบบลายปักบนแจ็กเก็ต เราเลยเล่าเรื่องราวต่างๆ พร้อมกับแบ่งปันเรื่องที่เรารู้เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า” แก้ว-กิตติ สินพัฒนานนท์ บุตรชายคนเล็กของพิชัยและเจ้าของร้านคนปัจจุบัน บอกความรู้สึกของตัวเองขณะนั่งกอดเจ้าเท็ดดี้ ตุ๊กตาแนววินเทจที่เป็นมาสคอตของซินตูอาภรณ์มาตั้งแต่สมัยเขายังเป็นเด็ก

มองย้อนไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ถนนสุขุมวิทยังเป็นเพียงทางเล็กๆ ในทุ่งนา ถนน เจริญกรุงกล่าวได้ว่าเป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดให้คนไทยได้รู้จักโลกภายนอก ที่นี่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารญี่ปุ่นและแจซบาร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ

การจับคู่กันระหว่างแบรนด์แฟชั่นสมัยใหม่กับร้านตัดเย็บสูทผู้ชายตามแบบดั้งเดิม อาจให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการนำบอยแบนด์เกาหลีมาเล่นเพลงร่วมกับวงพังก์ แต่แท้ที่จริง นี่คือหนึ่งในหลายชิ้นงานลูกผสมอันน่าทึ่ง จากโครงการ Made In Charoenkrung

โครงการเมดอินเจริญกรุงดำเนินงานโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยโครงการได้ช่วยเติมชีวิตให้แก่ธุรกิจอันเป็นตำนานหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดคมคายของการนำกิจการรุ่นเก๋ามากประสบการณ์ 7 แห่ง มาสร้างสรรค์งานร่วมกับ 7 แบรนด์คนรุ่นใหม่สุดแนวแห่งยุค ผลลัพธ์ที่ได้คือการจุดประกายทางเคมี ระเบิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างผู้คนต่างยุคสมัย

ภายใต้โครงการนี้ ธุรกิจลายครามอาจได้เรียนรู้เคล็ดลับการนำเสนอสินค้าของตัวเองแก่ลูกค้ารุ่นใหม่ ส่วนแบรนด์รุ่นน้องก็จะได้เข้าถึงประสบการณ์และเชิงช่างลึกซึ้งที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และหลายครั้งก็อาจย้อนไปได้ไกลถึงช่วงยุคบุกเบิกของกรุงเทพฯ เมื่อ โครงการเมดอินเจริญกรุงเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 2 ในปีนี้ ชุมชนเจริญกรุงจึงได้เห็นการผนึกกำลังน่าตื่นตาระหว่างธุรกิจรุ่นเก๋ากับหน้าใหม่ เช่น การออกแบบถังไม้ใส่ข้าวสารโดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ o-d-a กับ ก้วงเส็งล้ง ช่างทำถังไม้ที่มีประสบการณ์ยาวนานถึง 90 ปี ต่อด้วยชานมไข่มุกน้ำขมผสมยาสมุนไพรจีน คิดค้นโดย Nosh Nosh Project กลุ่มรณรงค์เรื่องวัฒนธรรมอาหารยั่งยืน เชฟโอ๊ต และร้านน้ำขมหว่าโถ่ว หยั่นหว่อหยุ่น ส่วน PARADAi คาเฟ่คราฟต์ช็อกโกแลตได้จับคู่กับสุวรรณเครื่องเทศ ร้านขายเครื่องเทศมุสลิม เพื่อสร้างสรรค์ช็อกโกแลตแบบแท่งรสเครื่องเทศ ในขณะที่ Sauce Studio ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ได้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หมูแผ่นจากร้านเตียง้วนเฮียงให้ทันสมัย ปิดท้ายด้วยจิรวัฒน์ หนึ่งในร้านฉลุโลหะกลุ่มสุดท้ายที่ยังเปิดให้บริการในกรุงเทพมหานคร ร่วมงานกับนักออกแบบเครื่องประดับจาก Lohameka Studio สร้างสรรค์เข็มกลัดรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำจากโลหะทองเหลืองและขึ้นลายฉลุเป็นรูปตัวอักษร

การจับคู่กันระหว่างแบรนด์แฟชั่นสมัยใหม่กับร้านตัดเย็บสูทผู้ชายตามแบบดั้งเดิม อาจให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการนำบอยแบนด์เกาหลีมาเล่นเพลงร่วมกับวงพังก์ แต่แท้ที่จริง นี่คือหนึ่งในหลายชิ้นงานลูกผสมอันน่าทึ่งจากโครงการ Made In Charoenkrung

“สำนักงานของเราตั้งอยู่ที่ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) ในอาคารไปรษณีย์กลาง ใจกลางย่านเจริญกรุงเลย ดังนั้นพวกเราจึงสามารถสำรวจธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ ในช่วงพักกินข้าวเที่ยงหรือหลังเลิกงานได้เกือบทุกวัน เราเห็นฝีมืออันน่าทึ่งซึ่งสะสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในร้านเหล่านี้ และหวังว่าบรรดามรดกตกทอดที่มีคุณค่าจะได้รับการเก็บรักษาไว้ หน้าที่ของพวกเราในการสร้างเจริญกรุงให้เป็นตัวอย่างของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนั้นการช่วยเหลือธุรกิจที่อยู่มานานแล้วให้พัฒนาตัวเองเพื่ออยู่รอดต่อไปได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ” ปิยะพร สวัสดิ์สิงห์ หรือ ‘แป๋ม’ จากทีมงานเมดอินเจริญกรุงกล่าว

อันที่จริง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคนต่างเจเนอเรชันกันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของย่านนี้ เพราะชุมชนต่างๆ รอบถนนเจริญกรุงเป็นศูนย์กลางของแนวคิดและเทรนด์ใหม่ๆ มาตั้งแต่มันถูกสร้างเป็นถนนลาดยางสายแรกในกรุงเทพมหานครเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชุมชนพ่อค้าจากต่างประเทศที่อาศัยบริเวณฝั่งพระนครของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามเงื่อนไขของข้อตกลงที่ไทยลงนามกับชาติมหาอำนาจต่างๆ พื้นที่นี้เป็นเสมือนศูนย์รวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตั้งแต่พ่อค้าชาวจีนที่ตั้งรกรากติดกับสถานที่พำนักของนักการทูตไปจนชุมชนพ่อค้าจากเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

มองย้อนไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ถนนสุขุมวิทยังเป็นเพียงทางเล็กๆ ในทุ่งนา ถนนเจริญกรุงกล่าวได้ว่าเป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดให้คนไทยได้รู้จักโลกภายนอก ที่นี่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารญี่ปุ่นและแจซบาร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ในยุครุ่งเรือง ร้านค้าต่างๆ อย่างเช่น ซินตูอาภรณ์ทำการค้าขายอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะกับลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งมาเข้าพักหรือเป็นแขกของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล หรือคนท้องถิ่น

ต่อมา แม้ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเมืองชั้นใน เช่น สีลม สาธร และสุขุมวิทแล้ว แต่ย่านเจริญกรุงก็ยังคงไม่หายไปไหน ยิ่งในภายหลัง ถนนที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าต่างๆ สายนี้ยิ่งมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยบาร์ ร้านอาหาร และแกลเลอรีเปี่ยมพลังความสร้างสรรค์ของกรุงเทพที่มีคนรุ่นใหม่มาเปิด รวมทั้งผู้มาทีหลังอย่างทีซีดีซีหรือ Warehouse 30 ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมแกลเลอรี ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าเก๋ๆ หรือร้านป๊อปอัพต่างๆ ก็ช่วยสร้างพลวัตใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในย่านนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยฟื้นพลังให้ย่านนี้ก็ไม่อาจซ่อนความจริงที่ว่ากระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้รากฐานของชุมชนตกอยู่ในสภาวะไม่แน่นอน เพราะเช่นเดียวกับเมืองหลวงหลายๆ แห่งในเอเชียที่กำลังเผชิญกับสภาวะการเติบโตและเปลี่ยนแปลงสูง กรุงเทพมหานครพร้อมจะทิ้งอดีตและพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แน่นอน การพัฒนาไม่ได้ส่งผลเสียต่อทั้งหมด ไม่ผิดที่วัยรุ่นไทยอาจคิดว่าคอมมูนิตี้มอลล์ที่เหมาะแก่การถ่ายรูปลงอินสตาแกรมสำคัญต่อชีวิตมากกว่าร้านเครื่องเงินเก่าๆ ที่กระจุกตัวอยู่บริเวณถนนสีลมและเจริญกรุง กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังแห่งความทันสมัยกำลังสร้างความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจเก่าแก่ที่น่าจะเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณความเป็นกรุงเทพมหานครมากกว่าร้านสตาร์บัคหรือเท็กซัส ชิคเก้น

วิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์เลวร้ายลง หลายร้านต้องหยุดให้บริการเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยจนเกือบศูนย์ และธุรกิจหลายแห่งก็อยู่ในสภาวะย่ำแย่ เชื้อไวรัสที่มาพร้อมปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจสั่นคลอนยอดรายรับที่มาจากลูกค้าประจำที่ไม่กล้าออกจากบ้านหรือใช้จ่ายเงินในช่วงเวลานี้ “สถานการณ์มันแย่มาก” แก้วกล่าวพร้อมถอนหายใจและทอดสายตาเศร้าๆ ไปยังเท็ดดี้ เพื่อนคนเดียวของเขาในร้านซินตูอาภรณ์ในวันที่เราได้พบปะพูดคุยกัน

ตัวโครงการนั้นแต่เดิมถูกวางตัวให้เป็นหัวใจของงาน Bangkok Design Week 2021 ด้วยซ้ำทว่าด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้การร่วมงานกันของธุรกิจต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างเท่าที่ควร ถึงอย่างนั้น เหล่านักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการยังคงมั่นใจว่าจะสามารถฟื้นชีวิตและหาทางสร้างการรับรู้ในหมู่คนรุ่นใหม่เรื่องการมีอยู่ของธุรกิจรุ่นเก๋าของเมืองหลวง

ด้านเอก ทองประเสริฐ นักออกแบบเครื่องประดับที่มีชื่อเสียง ได้จับมือกับ Eastern Antiques ซึ่งโด่งดังจากการดัดแปลงถ้วยลายครามจีนให้เป็นเครื่องประดับสวยสะดุดตา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์คอลเลกชันชื่อ Wrinkled Porcelain Club ในมุมมองของเขาธุรกิจรุ่นเก่าต้องนำหลัก ‘ไม่ปรับตัวก็ตาย’ ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสนใจแก่คนรุ่นใหม่ที่เปิดหูเปิดตาเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

“เด็กไทยรุ่นใหม่อาจต่างจากคนรุ่นเก่าที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและประเทศชาติของตัวเอง เพราะคนรุ่นใหม่มักพร้อมมองข้ามพรมแดนเพื่อเปิดรับมุมมองใหม่ๆ ดังนั้น หากธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงของตัวเองมาตั้งแต่อดีตยังยึดติดกับความรู้เดิมๆ อาจไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ดีนัก พวกเขาต้องปรับตัว” เอกกล่าว

ทุกฝ่ายล้วนเห็นด้วยกับความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของช่างฝีมือรุ่นเก่าในกรุงเทพมหานคร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ร่วมงานรุ่นใหม่ปฏิเสธวิธีการทำงานดั้งเดิม เพราะหนึ่งในสิ่งที่เป็นเหมือนเส้นด้ายหลักของโครงการนี้คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสมอภาคระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้รู้จักน้ำขมหว่าโถ่วสักเท่าไร 90% ของวัยรุ่นไม่เคยดื่มและไม่คิดจะลองด้วย ทั้งๆ ที่น้ำขมสมุนไพรนี้มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับชอบดื่มชานมไข่มุกแม้จะไม่ได้อะไรเลยนอกจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หน้าที่ของเราคือโปรโมตให้คนรุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของสมุนไพรจีน และนี่คือจุดเริ่มต้นของชานมไข่มุกน้ำขม” สลิลา ชาติตระกูลชัย จากนอส์ช นอส์ช โปรเจค กล่าว

แม้โรคระบาดทำให้ทุกอย่างชะงัก แต่ก็มิอาจขัดขวางความกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมโครงการเมดอินเจริญกรุงได้ นอกจากนี้พวกเขายังมีแผนจะขยายโครงการไปยังย่านอื่นๆ ของเมืองกรุงซึ่งธุรกิจท้องถิ่นที่ดำเนินการมายาวนานหลายแห่งต้องดิ้นรนท่ามกลางกระแสคลื่นการพัฒนาเมืองสมัยใหม่

“กรุงเทพมหานครยุคใหม่ก็เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ คืออยู่ง่ายก็จริงแต่น่าเบื่อ โดยเฉพาะการช็อปปิง เห็นได้จากคุณสามารถหาซื้อของแบบที่มีวางขายที่นี่ได้จากทุกที่ทั่วโลก เราเลยคิดว่าควรจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ นักออกแบบทุกแขนงควรได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำทักษะความรู้แบบดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากรากเหง้าและวัฒนธรรมของพวกเราเองคือการขายเสน่ห์ของเมืองที่พวกเราอยู่อาศัยและสะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจของคนในชุมชน” ปิติ อัมระรงค์ จากสตูดิโอ โอ-ดี-เอ กล่าวด้วยสีหน้าที่มุ่งมั่น

หากมองไปยังฝั่งตรงข้ามจากสถานที่ตั้งสำนักงานของทีซีดีซี ณ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพของหนึ่งในศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ห้อมล้อมไปด้วยโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ที่กำลังผุดขึ้นรอบเส้นทางสถานีรถไฟฟ้า BTS สายสีทองซึ่งเลียบไปตามถนนเจริญกรุง แสดงให้เห็นชัดถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบฉุดไม่อยู่ของเมือง กระนั้น ถนนเจริญกรุงและชุมชนโดยรอบดูจะยังคงเก็บกลิ่นอายเฉพาะตัวของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อย่างน้อยก็อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง

เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้โครงการทางวัฒนธรรมต่างๆ ดังเช่นเมดอินเจริญกรุงที่พยายามสุดฝีมือในการอนุรักษ์ชุมชนบนถนนเก่าแก่แห่งเมืองกรุงสายนี้ให้คงอยู่ต่อไป