HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Into the Wild

ความสำเร็จของการอนุรักษ์สัตว์และปกป้องผืนป่าของไทยเกื้อหนุนให้ช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพเก็บภาพที่งดงามจากธรรมชาติเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมช่วยกันรักษาความงดงามทางธรรมชาติต่อไป

ท่ามกลางแมกไม้ในอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง แสงอาทิตย์ยามเช้ากำลังขับไล่เมฆหมอกหนาทึบที่ลอยตัวอยู่เหนือผืนป่ากว้างใหญ่ และเบื้องล่างคือเพิงส่องสัตว์ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนป่าแห่งนี้ ภายในเพิงนั้นเองที่อเล็กซานเดอร์ โคก สมิธ ช่างภาพมืออาชีพ ยังคงนอนหลับคุดคู้อยู่ในอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น

“พ่อๆ เหมือนจะมีเสือดาว (leopard) อยู่ข้างนอกด้วย” จูเนียร์ ลูกชายวัยเก้าขวบของอเล็กซานเดอร์ หันมาเรียกผู้เป็นพ่อด้วยน้ำเสียงเบาๆ หลังจากเห็นอะไรบางอย่างอยู่ภายนอกเพิงที่พวกเขาซ่อนตัวอยู่

อเล็กซานเดอร์ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ “เงียบหน่อยลูก” เขาบอกปัดโดยไม่เปิดตาพลางพลิกตัวบนเปลไปอีกด้านแทน เพราะเพื่อนร่วมทางตัวน้อยของเขามักจะล้อเล่นอยู่เป็นปกติ

ถึงอย่างนั้น ลูกชายผู้ตื่นเต้นก็ยังพยายามปลุกพ่อตัวเองต่อไปไม่หยุด จนอเล็กซานเดอร์ต้องยอมแพ้ เขาลุกขึ้นนั่งบนเปล และเพ็งมองออกไปข้างนอกเพิงอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่สิ่งที่เห็นกลับทำให้ใจของเขาเต้นระรัว เสือขนสีดำเมี่ยมไปทั้งตัวกำลังนอนอาบแดดอยู่ห่างจากเพิงไม่เกิน 50 เมตร มันคือเสือดำ (black panther) ที่พบเห็นได้ยากในป่าของเมืองไทย

ตลอด 90 นาทีหลังจากนั้น ทั้งพ่อทั้งลูกต่างพากันกดชัตเตอร์กล้องแบบไม่หยุด รวมกันได้กว่า 5,000 ภาพ ระหว่างกดชัตเตอร์ อเล็กซานเดอร์ยังสังเกตเห็นเก้งตัวหนึ่งอยู่ไกลๆ มันส่งเสียงร้องเกือบตลอดเวลาที่สองพ่อลูกเร่งรัวกดชัตเตอร์ ตอนแรกเขาคิดว่าเก้งตัวนี้กำลังส่งสัญญาณเตือนภัยให้พวกเดียวกันระวังอันตรายจากเจ้าเสือดำ แต่เมื่อพวกเขาสองคนกำลังเดินทางกลับไปตามรอยเดินป่าถึงได้พบต้นเหตุที่เก้งตัวนั้นส่งเสียงร้องไม่หยุด

“สักราว 20 เมตรจากเพิงเห็นจะได้ พวกเราเห็นมูลเสือที่ยังใหม่ กับรอยเท้ารวมสามคู่ด้วยกัน คิดว่าแม่เสือกับลูกสองตัวคงนั่งมองพวกเราถ่ายภาพเจ้าเสือดำอยู่ราว 45 นาที พวกมันคงกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมมันถึงไม่กินเราไปซะ” อเล็กซานเดอร์กล่าวด้วยความตื่นเต้น

“มันเป็นช่วงเวลาที่เขาเรียกกันว่า ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ อะไรแบบนั้นเลย และนั่นแปลว่าคุณต้องโชคดีด้วยนะ”

เหตุการณ์เฉกเช่นที่อเล็กซานเดอร์กับจูเนียร์พบเจอ คือสิ่งที่เหล่าช่างภาพสัตว์ป่าล้วนหวังว่าจะได้ประสบด้วยตัวเองหลังต้องเดินลุยเข้าป่าไปเป็นวันๆ และประเทศไทยก็อาจเป็นเพียงหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งของโลกที่สามารถมอบประสบการณ์พิเศษเช่นนั้นได้ในทุกวันนี้

ในปี 2018 the Global Wildlife Travel Index จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา และบราซิลเท่านั้น และด้วยอันดับที่ได้ประเทศไทยจึงนับว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของเอเชีย

การถ่ายภาพสัตว์ป่าในไทยมีมนต์เสน่ห์ลึกลับอย่างบอกไม่ถูก คือเราไม่เหมือนหลายประเทศที่เขามีการทำเขตซาฟารีอย่างเป็นระบบให้ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ตามจุดต่างๆ การถ่ายภาพสัตว์ป่าในไทยเลยต้องอาศัยทั้งความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด รวมกับความอดทนของช่างภาพ ภาพที่ได้กลับมาก็เลยนับว่ามีคุณค่ามากกว่าที่อื่นๆ

ด้วยชื่อเสียงทางธรรมชาติที่หลากหลายของชีวิตนั่นเอง ทำให้ช่างภาพสัตว์ป่าที่เดินทางเข้าสู่ผืนป่าของไทยเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่การขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในประเทศควบคู่กับโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าก็ช่วยดึงดูดคนเมืองชั้นกลางให้เข้ามาชมสิงสาราสัตว์มากขึ้นด้วย สิ่งที่ตามมาคือเม็ดเงินที่แพร่สะพัดไปกับการใช้จ่ายของเหล่าช่างกล้องทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่พยายามหาซื้อกล้องชั้นหนึ่งพ่วงอุปกรณ์เสริมความคมชัดต่างๆ ซึ่งในบางกรณีการซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพสัตว์ป่าแบบครบเซ็ตอาจกินเงินสูงถึงหลายแสนหรือเหยียบล้านบาทเลยทีเดียว

ทว่าในปี 2020 การระบาดของโควิด-19 ทำให้การหลั่งไหลของเหล่าช่างภาพต้องหยุดชะงักลง แต่นั่นกลับส่งผลดีต่อป่าและสัตว์ป่า เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวนับล้านที่เคยหลั่งไหลกันเข้าสู่ป่าของไทยถูกห้ามเข้าประเทศ และนักท่องเที่ยวในประเทศต้องกักตัวอยู่บ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ของทางการ อุทยานแห่งชาติทุกแห่งจึงเงียบสงบลง เปิดทางให้สัตว์ต่างๆ ได้ออกมาหากินอย่างเป็นอิสระโดยไม่มีมนุษย์มารบกวน และหลายชนิดถึงขั้นขยายพื้นที่หากินออกไปจนถึงสุดขอบของเขตอุทยาน

เรื่องที่ตามมาคือรายงานการพบเห็นสัตว์ในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติมากขึ้น เช่นตามอุทยานแห่งชาติทางทะเล มีรายงานของทางราชการ หรือคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยใกล้ชายฝั่ง ว่าพบเห็นการกลับมาของสัตว์น้ำหายากหลายประเภท เช่น ปลาฉลามหูดำตามแนวชายฝั่งของภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้านพบเห็นฝูงค่างพร้อมลูกน้อยขนสีทองออกหากินตามแนวชาวป่าในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ขึ้นมาทางภาคกลางตอนบนในเขตอุทยานแห่งชาติป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี ก็มีผู้พบเห็นลูกนกยูงเกิดใหม่เดินหากินในหลายจุด หรือฝูงช้างป่าเดินข้ามถนนในจังหวัดฉะเชิงเทราทางภาคตะวันออกของประเทศก็กลายเป็นไวรัลที่คนแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลมีเดีย โดยฝูงช้างในผืนป่าตะวันออกของไทยนั้นเริ่มมีจำนวนที่อยู่ตัวแล้วหลังจากลดจำนวนลงต่อเนื่องมาหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี นักอนุรักษ์สัตว์ป่าหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่าการกลับมาของสัตว์ป่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งหมด พวกเขาอธิบายว่าความจริงแล้วการปรากฏตัวของสัตว์ป่าในจุดที่ไม่เคยมีคนพบเห็นพวกมันมาก่อน บ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวของมนุษย์ก่อนหน้านี้ได้รุกล้ำและส่งผลกระทบต่อถิ่นอยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่ามากเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว

“เราเรียนรู้จากช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า สิ่งที่เราในฐานะมนุษย์ควรทำคือการให้พื้นที่กับสัตว์ป่ามากกว่านี้ และควรจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของไทยด้วย” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับเดอะสเตรทส์ไทมส์ สื่อจากประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนปี 2021 โดย ดร.ธรณ์ยังเป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของไทยด้วย

ด้วยชื่อเสียงทางธรรมชาติที่หลากหลายของชีวิตนั่นเอง ทำให้ช่างภาพสัตว์ป่าที่เดินทางเข้าสู่ผืนป่าของไทยเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในมุมของช่างภาพสัตว์ป่าแล้ว การค้นหาจุดหรือสถานที่เพื่อถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ยอดเยี่ยมที่สุดไม่ใช่เรื่องง่าย หลายพื้นในเขตป่าสงวนของไทยยังยากจะเข้าถึง หรือมีข้อจำกัดทำให้เข้าถึงไม่ได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีความกังวลว่าช่างภาพที่เดินทางเข้าไปในป่าอาจประสบเหตุได้รับบาดเจ็บจนยากจะให้การช่วยเหลือ ไปจนถึงอาจมีคนสวมรอยเป็นช่างภาพเข้าไปล่าสัตว์ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมักปฏิเสธหรือไม่ให้ความร่วมมือเปิดทางให้ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ป่าได้ง่ายๆ แต่ก็ด้วยความยากและข้อจำกัดในการเข้าถึงสัตว์ป่านี่เองที่กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเหล่าช่างภาพให้พยายามเดินทางเข้าไปในป่าสงวนของไทยเพื่อเก็บภาพสัตว์ป่าให้ได้

“การถ่ายภาพสัตว์ป่าในไทยมีมนต์เสน่ห์ลึกลับอย่างบอกไม่ถูก คือเราไม่เหมือนหลายประเทศที่เขามีการทำเขตซาฟารีอย่างเป็นระบบให้ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ตามจุดต่างๆ การถ่ายภาพสัตว์ป่าในไทยเลยต้องอาศัยทั้งความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด รวมกับความอดทนของช่างภาพ ภาพที่ได้กลับมาก็เลยนับว่ามีคุณค่ามากกว่าที่อื่นๆ” ‘ก้อง’ บารมี เต็มบุญเกียรติ หนึ่งในสุดยอดช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพของไทย กล่าว

ก้องเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ของกลุ่มช่างภาพสัตว์ป่าอาชีพร่วมสมัยปัจจุบันของไทย ในวัยเด็กเขาโตมาพร้อมกับการดูสารคดีสัตว์โลกและธรรมชาติในยุคที่กระแสการอนุรักษ์กำลังเฟื่องฟูในสังคม พอถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 90s ก้องก็เข้าร่วมสโมสรช่างภาพในมหาวิทยาลัย และหลังเรียนจบระดับปริญญาตรีเขาก็เข้าทำงานกับนิตยสารสารคดีชื่อ Advanced Thailand Geographic เริ่มแรกเขาสนใจถ่ายภาพนกและพันธุ์พืชในป่า แต่สิ่งที่ประสบพบเจอก็ทำให้เขารู้สึกผิดหวังในเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนที่ทำงานโดยไม่เคารพชีวิตสัตว์ที่พวกเขากำลังถ่ายภาพเลย

“ย้อนกลับไปสมัยนั้น การถ่ายภาพนกกำลังเป็นที่นิยมมาก แต่ช่างภาพหลายคนกลับไม่ระวังเวลาถ่ายภาพ สิ่งที่พวกเขาทำหลายครั้งรบกวนการใช้ชีวิตของนก หรือถึงขั้นเป็นอันตรายกับพวกมันด้วย อย่างเช่น การตัดกิ่งไม้หรือใบไม้ทิ้งเพื่อจะได้เข้าใกล้นกได้มากขึ้น หรือไม่ก็ถ่ายภาพพวกมันโดยไม่คิดจะหลบซ่อนตัว” ก้องกล่าว

“คือผมรับไม่ได้ที่จะทำงานท่ามกลางคนพวกนั้น ผมก็เลยเบนเข็มมาถ่ายภาพสัตว์ป่าขนาดใหญ่แทน”

การตัดสินใจครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของก้อง ผลงานภาพถ่ายหลายชิ้นช่วยให้เขาได้รับรางวัลชั้นนำในวงการภาพถ่ายสัตว์ป่า เช่น รางวัลชนะเลิศถึง 3 ครั้ง (2011 2016 และ 2017) จากการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรายการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่าที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว ภาพถ่ายของก้องยังปรากฏในนิตยสารสารคดีธรรมชาติชั้นนำทั่วโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อพูดถึงภาพที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในหมู่คนทั่วไปมากที่สุด หลายคนยกให้เป็นภาพ ‘กวางผา’ ซึ่งเขาถ่ายได้บนเขาสอยดาวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวในภาคเหนือ เขาถ่ายภาพนี้ได้ขณะที่กวางผาตัวหนึ่งกำลังมองมาทางเขาจากบนยอดดอย

“ภาพนี้ไม่เหมือนภาพถ่ายสัตว์ป่าทั่วๆ ไปที่มักเป็นภาพถ่ายระยะใกล้ เพราะผมต้องการถ่ายภาพกวางผาจากในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมัน ผมก็เลยขึ้นไปนั่งบนขอบผาแห่งหนึ่งนานเป็นชั่วโมงๆ เพื่อถ่ายภาพภูมิประเทศรอบๆ ที่ผมหวังจะเห็นพวกมันโผล่เข้ามาในเฟรมพอดี” ก้องอธิบายถึงการได้มาซึ่งภาพกวางผาที่มีชื่อเสียง

เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ ก้องต้องขึ้นไปนั่งรอที่ขอบผาจุดเดิมสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าเขาจะสมหวังได้เห็นกวางผาตัวเป็นๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาเกือบจะล้มเลิกความตั้งใจถ่ายภาพแล้วนั่นแหละที่ความปรารถนาของเขากลายเป็นจริง

“คือมันไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมเจ้ากวางผาถึงโผล่ออกมาตรงนั้น เพราะว่าตรงนั้นเป็นแค่หน้าผาว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรให้มันกิน แต่พอผมเห็นมันกระโดดออกมาอยู่ตรงขอบหน้าผา ผมก็จับกล้องตัวเองเล็งภาพไปที่มันทันที วินาทีนั้นเองที่มันหันมาทางผม ผมก็กดกล้องเลย” ก้องเล่าวินาทีสำคัญด้วยความตื่นเต้น

กวางผาจัดเป็นสัตว์สงวนของไทยที่หายากมากขึ้น พวกมันออกหากินตามแนวหุบเขาและพบได้ตั้งแต่ภาคเหนือของไทย ไปจนถึงเมียนมาร์ จีน และอินเดีย ตัวก้องเองยังช่วยสนับสนุนโครงการค้นหาแหล่งที่อยู่อาศัยของกวางผาในไทยจนนำไปสู่การค้นพบแหล่งที่อยู่ของอาศัยของสัตว์ชนิดนี้ถึงสองแหล่งซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินแผนอนุรักษ์พวกมันต่อไปด้วย

ปัจจุบัน ก้องยังคงไม่หยุดหาความรู้เรื่องสัตว์ท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable species) ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อออกเดินทางตามหาภาพของสัตว์เหล่านี้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับการอนุรักษ์และปลุกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ให้แก่สังคม

หากนับเวลาตลอดช่วงชีวิต 45 ปีของก้อง ประเทศไทยเปิดเขตอุทยานแห่งชาติรวมกันมากกว่า 130 แห่งซึ่งรวมถึงเขาสอยดาว และนั่นทำให้ในปัจจุบัน เขตอุทยานแห่งชาติของไทยมีจำนวนรวมกันได้มากกว่า 150 แห่งทั่วประเทศซึ่งนับว่ามากที่สุดเป็นลำดับสามของโลกในเรื่องจำนวนอุทยานแห่งชาติ ตัวเลขอุทยานนี้เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 90s ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการไทยได้ออกกฎหมายห้ามลักลอบตัดไม้มาตั้งแต่ปี 1989

“การอนุรักษ์คือสมบัติที่ล้ำค่าของประเทศ เราอาจลองเปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ไม่มีข้อได้เปรียบทางธรรมชาติให้ชื่นชมเหมือนไทยตอนนี้ก็ได้ แล้วเราจะเห็นเลยว่าความนิยมในการถ่ายภาพสัตว์ป่าของไทยนั้นเป็นตัวอย่างของความได้เปรียบทางธรรมชาติที่ชัดเจน คนที่เข้ามาถ่ายภาพสามารถกลับไปบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นๆ ฟังต่อได้ว่าพวกเขามาเห็นอะไรที่นี่บ้าง แล้วเรื่องหรือภาพที่เผยแพร่ออกไปก็ทำให้สังคมตระหนักรู้มากขึ้นว่าตอนนี้การอนุรักษ์ธรรมชาติในไทยไปถึงขั้นไหนแล้ว” ทิมเรดฟอร์ด ผู้อำนวยการโครงการ Surviving Together ของ Freeland Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรนานาชาติที่มุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องระบบนิเวศสัตว์ป่า และผู้คนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของป่า กล่าว

นอกจากบทบาทในฐานะทูตของธรรมชาติต่อโลกภายนอกแล้ว ช่างภาพสัตว์ป่ายังอาจมีอิทธิพลหรือชื่อเสียงมากพอที่จะเจรจากับทางการเพื่อผลักดันนโยบายที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ได้ด้วย โดยเฉพาะถ้าคิดว่าการจะหาซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพสัตว์ป่าแบบครบชุดต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าช่างภาพสัตว์ป่าของไทยหลายต่อหลายคนมาจากกลุ่มคนที่มีฐานะการเงินสูงอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าบางคนจะสามารถเข้าถึงหรือมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง

“พอมีคนให้ความสนใจในการถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่ามากขึ้น สิ่งที่เราเห็นคือมีกลุ่มล็อบบี้ยิสต์กลุ่มใหม่ที่ให้ความสนใจกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตามมา ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้งให้ข้อมูลว่าพวกโครงการก่อสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน ถูกพับเก็บไปเพราะการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้” อเล็กซานเดอร์กล่าว

อเล็กซานเดอร์เป็นช่างภาพชาวอเมริกันที่เข้ามาสอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานเกือบสิบปี ตลอดเวลาที่อยู่ในไทย เขาให้ความสนใจกับการถ่ายภาพสัตว์ที่คนในวงการเรียกว่า niche animals ซึ่งหมายถึงสัตว์ประจำถิ่น (endemic species) หรือสัตว์ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเพาะต่างจากสัตว์อื่นๆ ตัวเขามีเป้าหมายว่าอยากทำสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ประเภทนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ในเขตแดนของประเทศไทย

แม้ประเทศไทยจะสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศตั้งแต่ปีที่แล้วเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อเล็กซานเดอร์ยังคงตระเวนถ่ายภาพสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ในธรรมชาติทุกแห่งที่เขาไปได้ การเดินทางครั้งล่าสุดเขาขับรถตระเวนไปทั่วประเทศรวมระยะทางได้ 12,000 กิโลเมตรเพื่อถ่ายภาพนกกว่า 400 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกกว่า 50 ชนิด ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเดินสำรวจบริเวณขอบนอกหรือพื้นที่ป่ากันชนกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า สิ่งที่เขาสังเกตเห็นหลายครั้งจากการออกถ่ายภาพในรอบล่าสุดนี้คือการได้พบเห็นเสือออกมาหากินนอกเขตอุทยานมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณผืนป่าตะวันตกของประเทศ

“เสือพวกนี้ไม่ค่อยเดินทางออกนอกอาณาเขตของพวกมันยกเว้นแต่ว่าจำเป็นจริงๆ ในความคิดของผมซึ่งก็มีหลายคนเห็นด้วยคือเขตอยู่อาศัยของพวกมันลึกเข้าไปในป่าเริ่มมีความหนาแน่นของประชากรเสือมากขึ้น เสือบางตัวก็เลยถูกบีบให้ต้องออกมาหากินถึงบริเวณขอบนอกของอุทยาน การได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าประชากรเสือกำลังเพิ่มขึ้นแบบนี้นับว่าเป็นข่าวดีเลยทีเดียว” อเล็กซานเดอร์กล่าว

ในอีกหลายพื้นที่ของประเทศก็มีเรื่องราวที่คล้ายๆ กัน ส่วนใหญ่จะมาจากรายงานของเจ้าหน้าที่อุทยานว่ามีการพบเห็นสัตว์เช่น โลมา พะยูน ปลาฉลามหูดำ ไปจนถึงสัตว์ตระกูลลิงอีกหลายชนิด ออกมาหากินในบริเวณที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยพบเห็นพวกมันเลย

จากการพบเห็นสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นนี้ อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ในระดับที่น่าพึงพอใจ ซึ่งต้องยกความดีความชอบส่วนสำคัญให้แก่ภาครัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของเขตอุทยานแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่พยายามบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ การทำงานของภาครัฐยังมีส่วนช่วยให้ป่าของประเทศไทยเป็นพื้นที่น่าดึงดูดสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ป่าต่อไปด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากปราศจากการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐแล้ว การดูแลและปกปองผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีเขตแดนกว้างใหญ่ของไทยอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

และเมื่อความหลากหลายทางชีวภาพมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ความนิยมในการถ่ายภาพสัตว์ป่าไม่ว่าจะในกลุ่มชนชั้นกลางไทยที่กำลังเพิ่มขึ้น หรือชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจความหลากหลายทางชีวภาพของไทยอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการที่สังคมจะพบเห็นช่างภาพสัตว์ป่าในประเทศเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

เพียงแต่เรื่องที่เหล่าช่างภาพสัตว์ป่า ไม่ว่าจะมืออาชีพหรือสมัครเล่น กำลังมุ่งหวังอยู่ในเวลานี้คือ พวกเขาหวังว่าการฟื้นตัวของประเทศจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่อุทยานแห่งชาติจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และพวกเขาทุกคนจะได้กลับไปทำงานที่รักในผืนป่าอันกว้างใหญ่ของไทยอีกครั้ง