HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Catching the Curl

ท่ามกลางความตกต่ำของเศรษฐกิจท่องเที่ยวเพราะโรคระบาด ชุมชนชายหาดแห่งหนึ่งในเขาหลักยังคงตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยสปิริตของผู้หลงใหลในการโต้คลื่น

การกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2021 ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในภาคใต้ของไทย พื้นที่เช่นเขาหลักในจังหวัดพังงาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เขาหลักคือบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิหนักหน่วงที่สุดในประเทศ ความเสียหายครั้งนั้นต้องอาศัยความพยายามฟื้นฟูจากผู้คนในท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเปลี่ยนเขาหลักให้กลายเป็นแหล่งรีสอร์ทระดับไฮเอนด์ และการพึ่งพาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ช่วยให้เศรษฐกิจของพื้นที่กลับสู่ทิศทางที่ควรเป็น ดูได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวในแต่ละปีที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 250,000 คนต่อปี มาเป็น 1 ล้านคนต่อปีก่อนเกิดโรคระบาด ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไม่ต่างจากคลื่นยักษ์เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน เมื่อปราศจากภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติบวกกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า เขาหลักจึงกลายสภาพเป็นเมืองที่เงียบเหงาราวกับเมืองร้าง ยกเว้นแต่ชายหาดแห่งหนึ่ง

ด้วยที่ตั้ง ณ จุดปลายสุดของแหลมปะการังซึ่งยื่นเข้าไปในทะเลอันดามัน ทำให้ชายหาดแหลมปะการังมีเกลียวคลื่นที่นุ่มนวลเหมาะสำหรับนักเล่นกระดานโต้คลื่นมือใหม่ ขณะที่ร่องปะการังบางส่วนก็ปล่อยผ่านเกลียวคลื่นให้ม้วนตัวเป็นคลื่นลูกใหญ่คอยท้าทายนักเล่นกระดานโต้คลื่นผู้มากประสบการณ์ ช่วงเวลาดีที่สุดสำหรับการเล่นโต้คลื่นที่นี่คือช่วงฤดูลมมรสุมของภาคใต้ที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน นักเล่นกระดานโต้คลื่นในไทยจึงหลั่งไหลมาหาดแห่งนี้ไม่เคยขาดแม้ประเทศจะปิดจนไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม

ความคึกคักของหาดแห่งนี้ช่างตรงข้ามกับพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังเงียบเหงาจากผลกระทบของการล็อกดาวน์และปิดประเทศ เช่นที่บางหลาโอน หรือคลองบางเหนียง ที่ร้านอาหารหลายร้านยังคงปิดให้บริการ เหลือเพียงภาพของกล่องกระดาษกองสุมๆ อยู่หน้าร้านที่มีประตูเหล็กม้วนปิดไว้จนเงียบเชียบ

ภาพของนักโต้คลื่นในร่างสีแทนหลายสิบคนเคลื่อนไหวล้อไปกับเกลียวคลื่นสีฟ้าเขียว หรือแหวกว่ายไปบนน้ำทะเลสีขาว คือภาพที่พบเห็นได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ธุรกิจโรงเรียนสอนโต้คลื่นของที่นี่เติบโตขึ้น เพราะมีนักโต้คลื่นหน้าใหม่จากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ที่หนีมาตรการล็อกดาวน์จากเมืองหลวงมาเข้าคิวขอเช่ากระดานโต้คลื่นไปลองกิจกรรมแปลกใหม่สำหรับตนเอง

“งานของคนที่นี่ถ้าไม่เป็นการทำยางแผ่น การประมง การท่องเที่ยว ก็ไม่มีอะไรให้ทำแล้ว หลายคนก็เลยไม่มีงานอะไรให้ทำจริงๆ ผมจึงเชื่อว่าเราสามารถใช้กีฬาโต้คลื่นเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างพลังให้คนในท้องถิ่นได้” แมตต์ เบลาเออร์ ชาวอเมริกันวัย 45 ปีผู้มีพื้นเพมาจากรัฐโอเรกอน กล่าว ตัวแมตต์เองเป็นนักโต้คลื่นตัวยง เขาย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2001 งานหลักของเขาในไทยคือการทำงานด้านพัฒนาพื้นที่ชายแดนทางตอนเหนือติดกับเมียนมาร์

เพื่อทำตามที่คิดไว้ แมตต์ได้เปิดตัว Salt Surf ซึ่งเป็นทั้งคลับสอนเล่นกระดานโต้คลื่น คาเฟ่ และร้านขายสินค้า ใกล้กับหาดปะการังในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวคลับตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Memories Beach Bar บาร์ยอดนิยมของหาดปะการัง และโรงเรียนสอนเล่นกระดานโต้คลื่นอีกแห่งชื่อ Pakarang Surf School

ภาพของนักโต้คลื่นในร่างสีแทนหลายสิบคนเคลื่อนไหวล้อไปกับเกลียวคลื่นสีฟ้าเขียว หรือแหวกว่ายไปบนน้ำทะเลสีขาว คือภาพที่พบเห็นได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ธุรกิจโรงเรียนสอนโต้คลื่นของที่นี่เติบโตขึ้น เพราะมีนักโต้คลื่นหน้าใหม่จากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ที่หนีมาตรการล็อกดาวน์จากเมืองหลวงมาเข้าคิวขอเช่ากระดานโต้คลื่นไปลองกิจกรรมแปลกใหม่สำหรับตนเอง

ซอล์ตเซิร์ฟของแมตต์ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนเล่นกระดานโต้คลื่นหรือธุรกิจส่วนตัว แต่ยังนับเป็นกิจการเพื่อสังคม แมตต์เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในท้องถิ่นเพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ และยังช่วยสอนทักษะการโต้คลื่นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยด้วย จริงอยู่ว่าการเข้ามาเรียนโต้คลื่นของพวกเด็กๆ อาจจะไม่สม่ำเสมอ และหลายคนก็มีแนวโน้มว่าจะเลิกเล่นหรือเลิกสนใจกีฬาชนิดนี้ไปเลยเมื่อโตขึ้น แต่เด็กอีกหลายคนก็ได้ทำงานเป็นครูสอนเล่นกระดานโต้คลื่นให้ซอล์ตเซิร์ฟ บางคนก็ช่วยงานเสิร์ฟกาแฟให้กับแขกในร้าน ทุกคนได้โอกาสเรียนและพัฒนาภาษาอังกฤษ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พวกเขาได้เล่นกระดานโต้คลื่นอยู่เสมอ

“เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับงานประจำแบบที่เริ่ม 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น พวกเขามักจะโดนดูถูกจากสายตาของคนในสังคม และการที่พวกเขาจะได้งานที่ทำให้รู้สึกเคารพตัวเองถือเป็นเรื่องยาก หลายคนมาจากครอบครัวชาวประมงดั้งเดิม หรือครอบครัวที่ทำยางพารา หรืออาชีพอื่นๆ ในท้องถิ่น ถึงแม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นอีกทางเลือกในการทำงาน แต่ถ้าอยากทำงานด้านนี้ คุณก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงและใจเย็น ทั้งยังต้องมีทักษะภาษาอังกฤษด้วย เพราะงั้น งานรับจ้างที่พวกเขาหาได้ตามชายหาดจึงอาจจะลงตัวกว่าในแง่ของสภาพแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นชิน ความยืดหยุ่นของเวลา และรายได้ที่ดี” แมตต์พูดถึงเด็กๆ ที่เขาทำงานด้วย

ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าบริเวณเขาหลักและพื้นที่โดยรอบจะมีแต่เด็กๆ ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงของการออกนอกลู่นอกทาง เพราะความจริงแล้วพื้นที่โดยรอบจังหวัดพังงายังมีโอกาสทางอาชีพ และตัวเลือกในการทำงานเพื่อยกระดับสังคมอีกมาก คำถามจึงเป็นเรื่องว่าเด็กในท้องถิ่นจะเข้าถึงโอกาสหรืออาชีพเหล่านั้นได้อย่างไร ตรงนี้เองที่โปรแกรมพัฒนาทักษะการทำงานของซอล์ตเซิร์ฟคลับอาจจะเข้ามาช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงโอกาส

ในส่วนของกีฬากระดานโต้คลื่นนั้น แมตต์บอกว่าความคลั่งไคล้ในกระดานโต้คลื่นที่เขาหลักมีมานานกว่า 5 ปีแล้ว แม้แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 กระแสก็ยังไม่ได้แผ่วลงเลย

“ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 กีฬาโต้คลื่นกลายเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงรีสอร์ทบริเวณนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วก็คงไม่ค่อยมีคนเข้าพักสักเท่าไหร่ แต่ถ้าแอบคิดอย่างเห็นแก่ตัวในฐานะนักโต้คลื่นเอง การเติบโตของวัฒนธรรมนี้ในเขาหลักก็มีข้อเสียอยู่นิดๆ ตรงที่มีคนเล่นกีฬานี้เพิ่มเยอะมาก จนบางครั้งมีนักโต้คลื่นมากถึง 100 คนอยู่ในน้ำพร้อมกัน ทำให้เล่นยากขึ้นและท้าทายการเล่นของนักโต้คลื่น แต่จะว่าไปแล้วกีฬานี้ช่วยให้ทุกคนที่นี่มีรายได้ ถ้าคิดว่าเราอยู่ในช่วงลำบากจากโรคระบาดก็ต้องบอกว่ากีฬาโต้คลื่นกลายเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน” แมตต์กล่าว

หนึ่งในเด็กที่ทำงานกับซอล์ตเซิร์ฟคลับอย่าง ‘เอ็ม’ พิเชษฐ์ ณ ทะเล วัย 15 ปี กล่าวว่าการเล่นกระดานโต้คลื่นได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

“เด็กส่วนมากที่อาศัยในละแวกเดียวกับผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝันถึงสิ่งดีๆ เพราะรอบๆ นี่มีทั้งยาเสพติด บุหรี่ และเหล้า ตัวผมเองถ้าไม่ได้มาเล่นกีฬาโต้คลื่น ชีวิตผมก็อาจเดินไปทางนั้นได้เหมือนกัน” เอ็มเล่าถึงชีวิตของตัวเอง

ความคลั่งไคล้ในกระดานโต้คลื่นที่เขาหลักมีมานานกว่า 5 ปีแล้ว แม้แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 กระแสก็ยังไม่ได้แผ่วลงเลย

เมื่อครั้งที่สึนามึเข้าถล่มทำลายเขาหลัก เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโต้คลื่นในวันนี้ยังอาจเป็นเพียงเด็กวัยแบเบาะ หรือในกรณีของเอ็มก็ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้กำลังมองก้าวข้ามโศกนาฎกรรมในอดีตของเขาหลัก พวกเขากระตือรือร้นกับโอกาสใหม่ๆ และการพัฒนา และไม่ใช่แค่เด็กในพื้นที่ที่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ เด็กรุ่นมิลเลเนียมจากกรุงเทพฯ เองอีกหลายคนก็เริ่มย้ายรกรากมาอาศัยเขาหลักเป็นบ้านหลังใหม่ด้วย

“ผมไม่เคยคิดว่าพื้นที่เขาหลักจะดึงดูดผู้คนจากกรุงเทพฯ ได้ขนาดนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการย้ายจากเมืองสู่ต่างจังหวัดของไทย” ‘ปาล์ม’ พชร นริพทะพันธุ์ นักธุรกิจในพื้นที่เขาหลัก กล่าว

สำหรับบางคน การมาเขาหลักอาจเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ชั่วคราวในระหว่างที่บริษัทส่วนใหญ่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ แต่สำหรับอีกหลายคน เช่น สิริลักษณ์ กุลธรรมโยธิน ผู้บริหารของ Area Management บริษัทจัดหานายแบบนางแบบซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่เขาหลักแบบกึ่งถาวร เธอหลงใหลในเกลียวคลื่น พื้นที่โล่งกว้าง และจังหวะชีวิตที่เชื่องช้าของเขาหลักซึ่งกลายเป็นเมืองสัญลักษณ์ของนักเล่นกระดานโต้คลื่นในไทยไปแล้ว โดยสิริลักษณ์อยูในระหว่างการสร้างบ้านของเธอที่เขาหลักให้แล้วเสร็จ

“แต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่ามีการเล่นกระดานโต้คลื่นในเมืองไทยด้วย มารู้เอาเมื่อปีที่แล้ว พอถึงตอนนี้ก็ไม่อยากให้เขาหลักเป็นเหมือนชางกู (Canggu) เลย” สิริลักษณ์เอ่ยถึงเมืองศูนย์รวมของพวกดิจิทัลโนแมดในบาหลี

จากคำบอกเล่าของแมตต์ บาหลีอาจถือได้ว่าเป็นสถานที่เล่นกระดานโต้คลื่นที่ดีที่สุดในโลก และนั่นทำให้บาหลีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตกระดานโต้คลื่นเพื่อส่งป้อนตลาดนักเล่นกระดานโต้คลื่นที่เขาหลักช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่นในไทยหลายแห่งต้องหยุดทำการจากมาตรการควบคุมโรคระบาด สวนทางกับการเดินทางออกนอกกรุงของคนเมืองไปยังเกาะหลักเพื่อลองเล่นโต้คลื่น และใช้ชีวิตอย่างสโลว์ไลฟ์ บาหลีจึงกลายเป็นแหล่งผลิตกระดานโต้คลื่นแบบแฮนด์เมดที่ตอบสนองดีมานด์ได้พอดี

“ความที่แต่ละประเทศมีข้อกำหนดเรื่องโรคระบาดไม่เหมือนกัน บาหลีเลยยังพอมีกำลังจะผลิตกระดานโต้คลื่นขณะที่ไทยทำไม่ได้ และวัฒนธรรมกระดานโต้คลื่นที่ส่งออกมาจากบาหลีตอนนี้ก็กลายเป็นของยอดฮิตเหมือนแฟชั่นไปแล้วเพราะนี่คือกีฬาที่ ‘คูล’ เอามากๆ นักโต้คลื่นที่นั่นนิยมใช้กระดานโต้คลื่นทำด้วยมือจากช่างแต่ละคน กระดานโต้คลื่นจากบาหลีจึงมีราคาแพงกว่า แต่ก็มีความเป็นงานฝีมือแบบที่นักเล่นกระดานโต้คลื่นรุ่นใหม่ชอบกัน” แมตต์กล่าว

สำหรับตัวปาล์มเอง แม้บ้านเกิดของเขาจะอยู่ที่ภาคใต้ แต่เขาก็นับเป็นอีกคนที่หนีชีวิตคนเมืองมาที่นี่ ปาล์มเคยเรียนที่กรุงเทพฯ และอเมริกา หลายปีก่อน ปาล์มเดินตามรอย พิชัย นริพทะพันธุ์ พ่อของเขาซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าไปเล่นและทำงานการเมือง และยังเคยทำงานในหลายกระทรวง จนกระทั่งถึงปี 2014 เขาจึงออกจากวงการ เมื่อปีก่อน ปาล์มและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่เขาหลักเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับแม่ของเขามากขึ้น และนั่นทำให้ปาล์มได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยให้วัฒนธรรมโต้คลื่นของที่นี่เติบโต

หลังย้ายมาที่นี่ไม่นาน ปาล์มได้รู้จักกับแมตต์และได้เห็นสิ่งที่ชาวต่างชาติคนนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการพาเด็กๆ ไปร่วมแข่งกีฬาโต้คลื่นหลายรายการ ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้และพัฒนาภาษาอังกฤษ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ฝึกทักษะอาชีพ ความประทับใจ ทำให้เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่นานหลังจากรู้จักกัน ปาล์มได้เสนอให้ใช้พื้นที่บางส่วนที่ยังว่างของ The Grand South Sea Khao Lak Beach Resort ที่แม่ของเขาเป็นผู้บริหาร ให้เป็นพื้นที่นัดรวมตัวของคนเล่นกระดานโต้คลื่น

พอถึงวันนี้ พื้นที่ภายในโรงแรมที่ปาล์มเคยเสนอให้ใช้ก็เต็มไปด้วยกระดานโต้คลื่นและโต๊ะไม้ขนาดยาว ดึงดูดผู้คนอย่างสิริลักษณ์ให้มานั่งทำงาน กินอาหาร หรือพบปะสังสรรค์หลังเสร็จจากการออกไปโต้คลื่นแล้ว

“คนทำธุรกิจส่วนใหญ่มักคิดถึงผลตอบแทนที่ได้รับชนิดที่คิดกันว่าจะได้อะไรแค่ไหนต่อตารางเมตร แต่ผมโชคดีที่มีคุณแม่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้” ปาล์มกล่าว

ตลอดการระบาดของโควิด-19 โรงแรมส่วนใหญ่ในบริเวณเดียวกันหากไม่ปิดทำการชั่วคราวก็เปิดให้บริการเพียงบางส่วน ธุรกิจก่อสร้างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเขาหลักก็ต้องหยุดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา งานในพื้นที่ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป แรงงานในท้องถิ่นประสบปัญหาเรื่องปากท้องและการหาเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม ปาล์มมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้อาจเป็นการ ‘ปรับเพื่อเริ่มใหม่’ อีกครั้งของคนในพื้นที่ ซึ่งในทางหนึ่งอาจเป็นเรื่องดีก็เป็นได้

“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาแล้วก็กลับไป พวกเขาไม่ได้อยู่นานพอที่จะเห็นการเติบโตของที่นี่” ปาล์มแสดงความเห็น พร้อมกล่าวว่าพลังของวัฒนธรรมการโต้คลื่นกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเปลี่ยนนักท่องเที่ยวที่เคยมาที่นี่เพียงครั้งเดียวให้กลายเป็นขาประจำ

“คนที่ได้ลองเล่นกระดานโต้คลื่นแล้วรู้สึกหลงรักจะพากันกลับมาที่นี่เพื่อเล่นให้ดีขึ้น และนักท่องเที่ยวที่กลับมาซ้ำๆ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเขาหลักพัฒนา ซึ่งจะกลายเป็นการช่วยเหลือทุกคนที่นี่ให้มีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม” สิริลักษณ์กล่าวเสริม

กลุ่มนักโต้คลื่นที่เอาจริงเอาจังกลุ่มใหม่ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเขาหลักในระยะหลังนี้ยังช่วยให้เกิดเรื่องราวดีๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการหมุนเวียนเม็ดเงินเท่านั้น เพราะการมาของคนกลุ่มนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด ภาษา หรือเรื่องวิถีปฏิบัติทางสังคมกับเด็กๆ ในพื้นที่ เด็กพวกนี้หลายคนไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ และไม่สามารถหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ ต่อให้พวกเขาจะอยากไปแค่ไหนก็ตาม

“การได้พบปะกับคนเมืองทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ นอกจากนี้ เด็กที่ทำงานเป็นครูสอนเล่นกระดานโต้คลื่นยังทำเงินในหนึ่งชั่วโมงได้มากกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาหามาได้ทั้งวันเสียอีก นั่นถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพวกเขา” ปาล์มกล่าวถึงประโยชน์ที่เด็กๆ ได้รับจากการทำงานที่นี่

อดีตคนทำงานทางการเมืองที่ผันตัวเองมาเป็นนักโต้คลื่นยังมองเห็นโอกาสที่ไม่เหมือนที่ใดซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการโต้คลื่นที่เขาหลักด้วย และเขายังเห็นว่าโอกาสแบบนี้พื้นที่อื่นๆ ที่แม้จะไม่มีคลื่นให้โต้เล่นก็ยังมีได้

“ที่นี่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่สูง ตั้งแต่เรื่องทักษะทางภาษาไปจนถึงเรื่องรายได้ แต่การที่คนแบบแมตต์สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน ขณะเดียวกันก็สามารถติดต่อกับคนภายนอกได้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงมาก เพราะก่อนหน้านี้ ชาวมอแกนที่นี่เขาไม่เคยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบนี้มาก่อน” ปาล์มอธิบาย

สำหรับแมตต์ ถึงแม้ว่ากลุ่มเด็กๆ ที่ซอล์ตเซิร์ฟมีแนวโน้มจะไม่ทำงานกับเขาต่อไปในระยะยาวเมื่อพวกเขาอายุมากขึ้น แต่แมตต์ก็ยังหวังจะได้เห็นบรรยากาศของการโต้คลื่นที่เขาหลักเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี โดยเขาพยายามปรับโมเดลธุรกิจเซิร์ฟคลับของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่ในการสร้างสมดุลระหว่างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิภายในชุมชน การสร้างโอกาส และการเป็นธุรกิจที่ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง

และหากว่าชุมชนนักโต้คลื่นของแมตต์ที่เขาหลักยังคงเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตเขาอาจจะต้องคิดถึงการมองหาสถานที่ หรืออาคารที่ใหญ่กว่าปัจจุบันไว้จัดเก็บคอลเลคชันกระดานโต้คลื่นทำมือจากบาหลีที่อาจมีคนหาซื้อมากเสียจนขายไม่ทันก็ได้