HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


นโยบาย Common Prosperity ของจีน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


เมื่อพูดถึงนโยบายของจีนที่เป็นข่าวในระยะหลังนี้ คือ นโยบาย Common Prosperity ซึ่งผมขอแปลว่า 'ความมั่งคั่งแบบเสมอภาค' หรือ 'ความมั่งคั่งถ้วนหน้า' แล้ว ก็จะพบว่าได้ถูกกล่าวถึงโดยผู้นำของจีนคือ เหมาเจ๋อตุง เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวย่อมจะสอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์หลักของลัทธิคอมมิวนิสต์ คือการกำจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยมซึ่งนายทุนจะร่ำรวยยิ่งขึ้นจากการเอาเปรียบและกดขี่ (exploit) กรรมกร ทำให้กรรมกรยากจนลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งกรรมกรก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ปฏิวัติและล้มล้างระบบทุนนิยมลงในที่สุดและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เกิดความเสมอภาค คือทรัพย์สินและทุนถูกโอนมาเป็นของรัฐ (เป็นของทุกคน) และมีการแบ่งปันความมั่งคั่งบนหลักการ 'from each according to his (or her) ability to each according to his (or her) needs'

แต่ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์นั้นปรากฏว่าประเทศที่เกิดการปฏิวัติและประกาศตัวเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศแรกของโลกคือรัสเซียไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีของมาร์ค ที่ทำนายว่ากรรมกรในประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาอย่างเต็มที่แล้วจะรวมตัวขึ้นมาล้มล้างระบบทุนนิยม เพราะรัสเซียนั้นยังเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่างมาก การปฏิวัติที่รัสเซียประสบความสำเร็จในการล้มล้างทั้งชนชั้นศักดินาและระบบนายทุนเป็นไปได้เพราะผู้นำการปฏิวัติคือเลนิน ประเมินแล้วว่ากรรมกรและชาวบ้าน (peasants) ไม่สามารถโค่นล้มระบบศักดินาได้แต่ต้องมีการจัดตั้งขับเคลื่อนและพึ่งพาผู้นำการปฏิวัติมืออาชีพที่มีศักยภาพและที่สำคัญคือเมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้วพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องเป็นแกนนำในการปกครองประเทศอย่างมีวินัยและสามารถผูกขาดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว

มีการเก็บสถิติว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอ่ยถึงความมั่งคั่งอย่างเสมอภาคเป็นครั้งคราวในช่วง 6 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ในปี 2020 เอ่ยถึงคำนี้มากถึง 30 ครั้ง และใน 7 เดือนแรกของปีนี้ กล่าวถึงความมั่งคั่งอย่างเสมอภาคไปแล้ว 65 ครั้ง

ผมเชื่อว่าผู้นำจีนปัจจุบันยึดถือแนวคิดดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ในส่วนของการบริหารเศรษฐกิจให้มี ‘ความเป็นธรรม’ รัฐบาลจีนจึงจะต้องมีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน รวมทั้งภาคสังคม ศีลธรรม จริยธรรม ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนจีน

จริงอยู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแบบระบบตลาดเสรีของจีนในช่วงของการปฏิรูปและการเปิดประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 70s นั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้ประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่กำลังท้าทายความเป็นหนึ่งของสหรัฐ และนโยบายดังกล่าวเป็นแนวทางที่รัฐบาลจีนถอยไปอยู่แนวหลังและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนค้าขายระดมทุนและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางที่ผู้นำจีนสมัยนั้นคือ เติ้งเสี่ยวผิง กล่าวว่าเป็นแนวทางสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน (socialism with Chinese characteristics) และที่สำคัญคือ เติ้งเสี่ยวผิง ได้เคยกล่าวในปี 1985 ว่านโยบายคือ ‘ยอมให้บางคนร่ำรวยไปก่อนคนอื่น’ เพื่อเป็นการชี้นำและช่วยเหลือคนอื่นและพื้นที่ล้าหลังให้สามารถพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งแบบเสมอภาคได้ในภายหลัง

แต่มาวันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กำลังกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่งคั่งอย่างเสมอภาค ได้มีการ​​เก็บสถิติว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอ่ยถึงความมั่งคั่งอย่างเสมอภาคเป็นครั้งคราวในช่วง 6 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ในปี 2020 เอ่ยถึงคำนี้มากถึง 30 ครั้งและใน 7 เดือนแรกของปีนี้ กล่าวถึงความมั่งคั่งอย่างเสมอภาคไปแล้ว 65 ครั้ง

เราจึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐบาลจีนกำลังตั้งใจออกนโยบายและกฎเกณฑ์มากมายมาตอบสนองความต้องการของผู้นำอย่างเร่งรีบ ซึ่งครอบคลุมหลายๆ มิติ ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว เช่น การสั่งห้ามการออกอากาศรายการที่ผู้ชายมีกริยาเป็นเหมือนผู้หญิง ตำหนิการสร้างเน็ตไอดอลและการมีแฟนคลับของดารายอดนิยม ตลอดจนการจำกัดการเล่นเกมส์ของเด็กให้เล่นได้เพียงวันละ 1 ชั่วโมงในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เป็นต้น

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ราคาหุ้นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีนลดลงเฉลี่ยเกือบ 20% ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% และราคาหุ้นของบริษัทจีนวัดจากพีอีในปี 2021 นั้นราคาถูกกว่าหุ้นของบริษัทสหรัฐฯ อย่างมาก

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นก็จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกำลังถูกลดทอนอำนาจ ถูกจำกัดไม่ให้ไปเพิ่มทุนในต่างประเทศ ไม่ให้มีข้อมูลหรือใช้ข้อมูลที่เก็บมาจากประชาชนเพื่อการทำกำไรมากเกินขอบเขต บริษัทเทคโนโลยียักษ์ถูกตรวจสอบและเปรียบเทียบโทษปรับเป็นจำนวนพันล้านเหรียญเพราะใช้อำนาจผูกขาดเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อย ต้องเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้พนักงานและในบางภาคบริการ เช่น การให้บริการกวดวิชาให้กับนักเรียนก็ถูกสั่งให้ห้ามแสวงหากำไรหรือรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนั้นบริษัทขนาดใหญ่ดังกล่าวยังได้รับ 'คำแนะนำ' ให้บริจาคเงินกำไรมาเป็นกองทุนเพื่อการสร้างความมั่งคั่งแบบเสมอภาค ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ของจีนกำลังแย่งกันเร่งรีบบริจาคเงินให้กับภาครัฐเป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่ากฎเกณฑ์และข้อจำกัดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน รายสัปดาห์กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเทคโนโลยี จึงได้มีการทำข้อมูลเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ดังปรากฎในตารางข้างล่าง

จะเห็นได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ราคาหุ้นของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีนลดลงเฉลี่ยเกือบ 20% ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% และราคาหุ้นของบริษัทจีนวัดจากพีอีในปี 2021 นั้นราคาถูกกว่าหุ้นของบริษัทสหรัฐฯ อย่างมากคือพีอี 21.5 เท่ากับ 38.6 เท่า แม้ว่าบริษัทจีนและบริษัทสหรัฐฯ นั้นคาดการณ์ว่า ยอดขายใน 5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวใกล้เคียงกัน (31.4% ต่อปีกับ 28.5% ต่อปี) ทั้งนี้เพราะบริษัทของจีนน่าจะทำกำไรได้ไม่ดีเท่ากับสหรัฐ (5Yr CAGR EPS Growth 19.7% กับ 56.7%)

ในความเห็นของผมนั้นแก่นสารที่ทำให้ระบบทุนนิยมประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญและความมั่งคั่งคือการตอบแทนนายทุนที่กล้าเสี่ยงและประสบความสำเร็จโดยการยอมให้ร่ำรวยจากกำไรที่แสวงหาได้

อย่างไรก็ดีระบบทุนนิยมนั้นในช่วงแรกของการพัฒนาย่อมจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ระบบสังคมนั้นรังเกียจความเหลื่อมล้ำและไม่เห็นความสำคัญของการยอมให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนจากการเสี่ยงลงทุน โดยรัฐจะต้องมีอำนาจในการแบ่งสรรกำไรของบริษัทเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและนำไปสู่ความมั่งคั่งแบบเสมอภาคเป็นสำคัญ