HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Play by Ear

อ่านจังหวะแห่งความเปลี่ยนแปลงและโอกาส ตามสไตล์บริหารของ ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง อาร์เอส กรุ๊ป

​เมื่อพูดถึงธุรกิจบันเทิงเมืองไทย บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย นับตั้งแต่วงอินทนิล จนถึงกระแต อาร์สยาม และสาธารณชนก็จดจำได้ว่านี่คือฝีมือปลุกปั้นของ ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนี้กับพี่ชายในชื่อเริ่มต้นว่า Rose Sound เมื่อ 40 ปีก่อน แม้จะมีภาพจำในหมู่คนไทยส่วนใหญ่ว่าเป็นค่ายเพลงวัยรุ่น แต่ความจริงแล้วสุรชัยไม่เคยคิดยึดติดกับการทำเพลง เพราะตระหนักดีถึงการเปลี่ยนเเปลงอันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ เพื่อตามกระแสได้อย่างทันท่วงที จากจุดตั้งต้นธุรกิจเพลงของเขาจึงได้นำมาสู่อีกหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าภาพยนตร์ สื่อวิทยุ สื่อทีวีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สินค้าความงาม และอาหารสัตว์ จนกลายเป็นธุรกิจคอมเมิร์ซ และล่าสุดก็คือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย

แน่นอนว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันและทำให้อาร์เอสต้องปรับเปลี่ยนมาสู่การทำงานแบบ Work From Home และตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาผลกำไร คืออีกหนึ่งบททดสอบสำคัญของสุรชัย แต่ ณ ชั้น 12 ตึกทำการใหม่ของบริษัทอาร์เอส ในวันที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ยังทำให้หลายคนกริ่งเกรงจนไม่กล้าออกมาพบผู้คน สุรชัยผู้ใช้คำแทนตัวเองอย่างอบอุ่นว่า ‘เฮีย’ ทุกครั้ง ได้กล่าวถึงคมความคิดแห่งการตัดสินใจที่ทำให้เห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่ทั้งวิกฤตแรกหรือวิกฤตสุดท้ายที่ ‘เฮียฮ้อ’ จะผ่านไปได้อย่างน่าจดจำ

เรียนรู้บนความลำบาก

ครอบครัวเฮียพ่อเเม่เป็นคนจีน เป็นครอบครัวที่ยากจน พวกท่านอ่านภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีเวลามาดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณพ่อรับจ้างทาสี หากินวันต่อวันแต่ต้องดูแลลูกถึงเจ็ดคน สิ่งที่เราเห็นท่านมาตั้งแต่เด็กคือความอดทนและความอุตสาหะของคุณพ่อ มองย้อนกลับไปก็ต้องบอกว่าท่านเก่งมาก คนหาเช้ากินค่ำ แต่สามารถดูแลลูกเจ็ดคนได้ ดังนั้น เราก็ได้ซึมซับเรื่องความอดทน ความขยันความไม่ย่อท้อจากคุณพ่อคุณแม่นี่แหละ แต่ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีความพร้อมและยากจน ก็เป็นธรรมชาติของเด็กอย่างเฮียที่คิดว่าเมื่อโตขึ้นมาเราก็อยากมีเงินมีทอง อยากประสบความสำเร็จ เฮียก็เลยไปทำงานกับพี่ชายคนโต คือ ‘เฮียจั๊ว’ (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) เราสองคนเริ่มธุรกิจกันในบ้านเช่า ห้องนอนก็เป็นห้องทำงาน เริ่มต้นกันแบบไม่มีอะไรยิ่งกว่าสตาร์ทอัพยุคนี้เสียอีกเพราะไม่มีเงินทุน ไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีเครดิต ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาทำธุรกิจ หมุนเงินไปเรื่อย ก็ทำสะสมมาเรื่อยๆ ได้เงินกำไรจากธุรกิจมาเท่าไหร่ก็ทุ่มใส่เข้าไปขยายงานเข้าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

‘ความเป็นเถ้าแก่’ (Ownership) ถ้ามีความรู้สึกนี้คุณจะเกิดความหวงแหนทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบริษัทหรือธุรกิจที่คุณทำ ก็จะทำให้คุณเป็นคนเกาะติด ติดตามและทำทุกอย่างให้กิจการอยู่รอด

พี่น้องนักสู้

เฮียจั๊วเป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานคนแรกในชีวิต และก็เป็นเจ้านายคนแรกในชีวิตด้วย เมื่อทำงานด้วยกันเราก็เรียนรู้จากสถานการณ์จริง และยังเรียนรู้ระหว่างกัน ถ่ายเทประสบการณ์กันมา ต่างคนต่างเรียนรู้ เรามีความเหมือนกันคือความเป็นนักสู้ แต่ก็มีความแตกต่างกันในแง่ของวิธีคิดและแพชชั่นในการทำงาน เราก็เลยแบ่งงานกันทำ เฮียทำเรื่องการตลาด เรื่องครีเอทีฟ แต่เราไม่ชอบเรื่องหลังบ้าน เช่น การคุมสต็อกสินค้า คอยดูบัญชี ตรงนี้ก็จะเป็นงานของพี่ชาย ส่วนเฮียก็ออกไปหาศิลปิน ทำเพลง งานศิลป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ ต้องบอกว่าทำงานมาด้วยกันก็เรียนรู้ไปด้วยกัน โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เราเจอในแต่ละช่วงเวลาเป็นประสบการณ์ของเราสองคน

ตั้งหลักยืนของตัวเอง

เราเริ่มต้นมีค่ายเพลงเพราะกฎหมายลิขสิทธิ์เริ่มบังคับใช้เป็นทางการในตอนนั้น ก่อนหน้านั้นเราไปนำเพลงดังในยุคนั้นๆ มาอัดเทปขาย แต่ก็พบว่าเรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ แบบนี้มองไม่เห็นอนาคต ก็เลยคิดว่าต้องมีศิลปินเอง เลยตั้งค่ายเพลงชื่อ RS Sound ที่มาจาก Rose Sound ขึ้นมา ตอนนั้นเฮียอายุ 21-22 เอง ตอนแรกก็เป็นบริษัทเพลงเล็กๆ ที่คิดอย่างเดียวว่าต้องอยู่รอดให้ได้ คือถ้าอยู่รอดแล้วถึงค่อยคิดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างไร เราก็เริ่มหาศิลปินตามห้องซ้อมบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง ยุคแรกของอาร์เอสก็มีวงอย่างคีรีบูน บรั่นดี ฟรุตตี้ อินทนิล รวมดาว ยุคที่สองก็เป็นอิทธิ (พลางกูร) อริสมันต์ (พงศ์เรืองรอง) วงไฮ-ร็อก เสือ ธนพล ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง แล้วก็มายุคที่สามคือยุควัยรุ่น เราเป็นค่ายเพลงแรกที่มาจับตลาดนี้ เพราะช่วงนั้นมีแต่เพลงเมนสตรีมคือไม่ได้เเบ่งกลุ่มเป้าหมายคนฟัง เราวิเคราะห์ตัวเองก็เห็นว่า เรายังสู้คู่แข่งเรื่องความพร้อมหลายๆ อย่างไม่ได้ ก็เลยคิดสร้างตลาดใหม่หาที่ยืนที่หวังว่าจะเป็นตลาดหลักของเราโดยโฟกัสตลาดวัยรุ่น ทั้งที่ทุกๆ บริษัทตอนนั้นไม่สนใจเพราะจะมองว่าวัยรุ่นไม่มีสตางค์ซื้อเทปเพลงหรือซีดี แต่กลับกลายเป็นว่าคนจ่ายเงินซื้อคือพ่อแม่ ผลคือวัยรุ่นซื้อเทปฟังกันเยอะ เราเลยประสบความสำเร็จ ทำให้ตลาดวัยรุ่นกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ คนรู้จักอาร์เอสกันมากก็ตอนทำเพลงวัยรุ่นนี่แหละ

ถ้าจะทำธุรกิจคุณต้องมีแพสชั่น (passion) มีฝัน มีเป้าหมาย สามอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ยอมแพ้ พอคุณไม่ยอมแพ้ เมื่อเจออุปสรรคคุณก็จะสามารถข้ามได้ เวลาเจอเรื่องที่ไม่รู้คุณก็ไปหาความรู้ใหม่ๆ เจอสิ่งใหม่ๆ คุณก็ไปเรียนรู้ให้มันเร็วขึ้น ให้มันไม่กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับคุณ

ดิสรัปต์ก่อนใครในวงการ

เราอยู่ในธุรกิจที่ถูกดิสรัปต์หนักที่สุดมาตลอด ก่อนหน้าที่จะนำคำว่าดิสรัปต์มาใช้ด้วยซ้ำ เพราะว่าธุรกิจเพลงเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนสมัยก่อนอยากฟังเพลงก็จ่ายเงินค่าเทปหรือซีดีราคา 100-150 บาทฟัง แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว เดี๋ยวนี้เป็นยุคของยอดวิว ล้านวิว สิบล้านวิว เราถึงต้องปรับตัว เปลี่ยนแนวทาง คำถามก็คือเราจะต้องปรับยังไง เราก็เปลี่ยนตัวเองจากอนาล็อก คือจากเทปจากแผ่นมาเป็นดิจิทัล เฮียเป็นคนแรกที่ตัดสินใจขายโรงงานซีดีทิ้ง เพราะคิดว่ามันต้องไปไม่รอดแน่นอน ถ้าไม่รีบขาย มันจะไม่มีมูลค่าและกลายเป็นเศษเหล็กแน่ แล้วมันก็จริง จากนั้นเราก็เชื่อว่า MP3 มาแน่ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นการดาวน์โหลด มาเป็นการสตรีมมิ่ง จากสตรีมมิ่ง ธุรกิจเพลงก็เปลี่ยนเป็นมีรายได้มาจากการดู ถ้าเรามองให้ทะลุและมองให้ขาดเราจะพบว่ามันแปลกมาก ธุรกิจเพลงเมื่อก่อนเฮียทำเพลงให้คุณฟัง คุณอยากฟังต้องเสียเงินซื้อ แต่เดี๋ยวนี้ธุรกิจเพลงมีรายได้จากการดู ไม่ใช่รายได้จากการฟัง หลังๆ เราถึงเห็นว่าเพลงที่เพราะๆ ที่อยู่นานๆ ไม่ค่อยมี ไม่เหมือนในอดีต เพราะจุดประสงค์ในการทำงานและการทำธุรกิจเพลงมันต่างไปแล้ว ดังนั้นเมื่อทุกสิ่งมันเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน เราจึงพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เฮียมองว่าการเปลี่ยนเป็นเรื่องสนุกที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

เลือกบ่อให้ถูกก่อนจับปลา

เวลาเฮียสนใจธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เฮียไม่ได้เริ่มจากตัวเองสนใจอะไร หรืออยากทำอะไร แต่เริ่มต้นจากมองหาหรือวิเคราะห์เทรนด์และโอกาสทางตลาด ว่าเทรนด์ไปทางไหน เพราะงั้นเวลาทำธุรกิจของอาร์เอส ต้องดูว่าธุรกิจนั้นอยู่ในเทรนด์หรือเปล่า อย่างตอนที่อาร์เอสกระโดดมาทำธุรกิจคอมเมิร์ซ หรืออาหารเสริมสุขภาพ ก็เพราะเป็นเทรนด์ขาขึ้น เป็นเทรนด์ของทั้งโลกด้วยไม่ใช่แค่ประเทศไทย ที่สำคัญคือไทยกำลังเข้าสังคมสูงวัย เราถึงเข้ามาสู่ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพเมื่อห้าปีที่แล้ว ภาษาของเฮียคือถ้าเราไปอยู่ให้ถูกที่ ที่นั่นมีปลาแน่ๆ คือสิ่งสำคัญขั้นแรกเลย ส่วนจับได้หรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่คุณต้องอยู่ที่ที่มีปลาชุกชุมก่อน แม้แต่ธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อยที่เราเข้าไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ก็เหมือนกัน เฮียมองแล้วว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ และยากจะถูกดิสรัปต์ ตรงข้ามเลย การเกิดขึ้นของดิจิทัลจะเป็นตัวช่วยธุรกิจนี้ด้วยซ้ำ ทำให้การติดตามหนี้ หรือติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น จ่ายเงินง่ายขึ้น ผ่อนจ่ายง่ายขึ้น เรามองมุมนี้ ส่วนเรื่องที่อาจจะมีบางคนกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของธุรกิจก็อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการยังไง คนอาจจะคิดว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อยภาพลักษณ์ไม่ดี แต่หากเราดำเนินการด้วยความนุ่มนวล มีความเข้าใจลูกค้าและมีคุณธรรมก็ไม่น่ามีปัญหา ก็เหมือนตอนเราทำเพลงใหม่ๆ สังคมไทยสมัยนั้นมองธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจเต้นกินรำกิน เด็กร้องเพลงสมัยนั้นไม่มีใครสนใจ พ่อแม่ไม่สนับสนุน แต่พออาร์เอสทำสำเร็จ เด็กทุกคนกลับอยากมาเป็นนักร้อง พ่อแม่ก็ส่งเสริม คือมันเปลี่ยนได้ อยู่ที่เราจะทำยังไง วันนี้คุณไปสำรวจสิ ถามเด็กว่าอยากทำอาชีพอะไร เด็กตอบอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องภาพลักษณ์มันอยู่ที่ว่าเราจะบริหารยังไง

เถ้าแก่กับสัญชาตญาณ

เฮียโตมากับการดิ้นรน ต่อสู้ ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ให้รอดในทุกๆ ยุคสมัย ก็คือสู้กับการดิสรัปต์นั่นแหละ ความที่เราอยู่ในธุรกิจเพลงซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทำให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์จนกลายเป็นสัญชาตญาณ คนชอบถามว่าเฮียรู้ได้ยังไงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง คำตอบก็คือมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ อย่างตอนขายโรงงานซีดี หรือตอนทำทีวีดิจิทัล ถามว่าลำบากไหมที่เปลี่ยน ตอบได้เลยว่าลำบากเพราะตอนนั้นยังไม่มีใครกล้า แต่เฮียก็คิดว่าถ้าตัดสินใจช้า ต่อไปอาจลำบากยิ่งกว่าก็ได้ นี่เป็นดีเอ็นเอของเฮียที่พยายามถ่ายถอดให้กลายเป็นวิถีของคนอาร์เอส อีกเรื่องคือ ‘ความเป็นเถ้าแก่’ (Ownership) ถ้ามีความรู้สึกนี้คุณจะเกิดความหวงแหนทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบริษัทหรือธุรกิจที่คุณทำ ก็จะทำให้คุณเป็นคนเกาะติด ติดตามและทำทุกอย่างให้กิจการอยู่รอด เหมือนการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ใส่ใจกับไม่ใส่ใจก็มีความต่างกัน อย่างเฮียเลี้ยงสุนัขที่บ้าน เวลาเราเห็นมันมีปฏิกิริยายังไงที่ผิดปกติ ก็รู้แล้วน่าจะไม่สบาย ถามว่ารู้ได้ไงทั้งที่มันพูดไม่ได้ เฮียก็บอกได้ว่าใส่ใจ สนใจและติดตามจึงสังเกตอยู่เสมอ เรื่องธุรกิจก็เหมือนกัน คุณต้องรัก ใส่ใจ เฝ้ามองมัน แล้วคุณจะรู้เองว่าอะไรที่จะดีและไม่ดีกับธุรกิจของคุณ คุณจะเริ่มรู้ว่าอะไรสถานการณ์ไหนจะมีผลกระทบ ทั้งทางบวกหรือทางลบ หรืออะไรคือสิ่งที่ต้องระวัง

ตกใจแต่ไม่เสียขวัญ

วิกฤตโควิด-19 กระทบกับอาร์เอสสองช่วงด้วยกัน ตอนระบาดช่วงแรกปีก่อน ยอมรับว่าตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ใครจะไปคิดว่าเราจะได้เจอสถานการณ์ที่ผู้คนจะหยุดเดินทางหากัน เครื่องบินจอดทิ้ง การหยุดทำกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างทันที สิ่งแรกที่ทำคือคุมค่าใช้จ่าย อย่างที่สองคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน เฮียทำคลิปบอกพนักงานเลย เพราะปีที่แล้วองค์กรหลายแห่งเขามีการปรับกำลังคน มีการเลิกจ้าง เพื่อนๆ ของพนักงานเริ่มตกงานกัน สิ่งที่บริษัทเราต้องทำคือสื่อสารภายในให้พนักงานรู้ว่าเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เราต้องทำให้ทุกคนสบายใจว่าจะไม่มีการปรับลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง พอตั้งสติได้แล้ว เฮียก็ชวนพนักงานคุยเรื่องการปรับตัว ช่วยกันประหยัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องไหนควรปรับปรุงทันที เรื่องไหนต้องหยุด เรื่องไหนต้องเร่งทำเพิ่ม แล้วเราก็ผ่านมาได้ด้วยดี พนักงานก็ทำงานต่อด้วยความสนุกไม่กังวล แต่พอมาเจอการระบาดหนักในรอบนี้ และมีการล็อคดาวน์ในปีนี้ บริษัทไม่ตกใจแล้ว กลับกลายเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของพนักงานเป็นอันดับแรก เพราะรอบนี้ระบาดหนักมาก สิ่งที่ทำคือการสื่อสารกับพนักงานเรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องการฉีดวัคซีน เรื่องการดูแลสุขอนามัยต่างๆ ในที่ทำงาน เช่น การฆ่าเชื้อภายในอาคาร การทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความแออัดและสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน ซึ่งโชคดีที่เราลงทุนเรื่องไอทีมาหลายปีในการรองรับธุรกิจคอมเมิร์ซ เฮียสามารถสื่อสารกับพนักงานจากที่ไหนก็ได้ ประชุมออนไลน์ก็ได้ เสียแต่ว่าทำงานออนไลน์ไม่สนุก เพราะธุรกิจควรจะมีการพูดคุยกันต่อหน้า มีการถามตอบ มองหน้ากันแบบนี้ แต่ในเมื่อเราไม่มีทางเลือกก็ต้องทำแบบออนไลน์กันไป

อยู่บ้านไม่มีปัญหา

ส่วนตัวเฮียโรคระบาดไม่ทำให้มีปัญหาหรืออึดอัดในการใช้ชีวิตมากนัก เพราะเฮียเป็นคนไม่เที่ยว ไม่ค่อยไปไหน ชีวิตเฮียชอบทำงาน แล้วก็อยู่กับครอบครัว ช่วงทำงานจากบ้านก็เลี้ยงสุนัขสองตัวไปด้วย ก็มีความสุขอยู่เท่านี้ เพราะบังเอิญการอยู่บ้านเป็นไลฟ์สไตล์ประจำของเฮียอยู่แล้ว โควิด-19 ทำให้เฮียแค่หงุดหงิดเวลาทำงานแล้วไม่สะดวกและไม่สนุก แต่ถ้าในแง่ไลฟ์สไตลเฮียไม่ใช่คนเดินห้าง ไม่ชอบออกไปข้างนอก เพราะงั้นการล็อกดาวน์อยู่บ้านที่ผ่านมาเลยไม่มีผลกระทบกับชีวิตอะไรมาก

เพราะสนุกจึงไม่คิดเกษียณ

ตอนอายุ 50 เคยตั้งเป้าว่าอายุ 55 จะผ่อนมือ แต่ยังไม่เกษียณนะ แค่ผ่อนมือ ตอนนั้นเราปรับโมเดลธุรกิจเพลงเสร็จ ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรให้ท้าทายแล้ว แต่พอเราเข้าไปประมูลทีวีดิจิทัล ความท้าทายใหม่มันเลยเกิด เราเห็นโอกาสว่าทีวีมันไม่ใช่แบบเก่านะ เราต้องทำให้มันเป็นคอมเมิร์ซให้ได้ ตราบใดที่ยังมีความท้าทายใหม่ๆ แล้วสนุก เฮียก็จะทำ เฮียจะเลิกทำหรือผ่อนก็ต่อเมื่อมันไม่สนุกหรือไม่ท้าทาย ถ้าเฮียตั้งเป้าหมายใหม่แล้วพบว่ามันท้าทาย มันน่าสนุก ก็ยังอยากจะทำ ก็ไม่ได้กำหนดว่าอายุเท่าไหร่จะเกษียณ เรื่องนี้ยังไม่อยู่ในหัว ภรรยาก็มีเป็นห่วงบ้างเป็นธรรมดา เห็นว่าเราคิดงานเยอะ บอกให้พักบ้างไม่อยากให้เครียดมาก แต่ประเด็นคือการคิดงานมันไม่ใช่ความเครียดสำหรับเฮีย กลับทำให้เรารู้สึกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดและทำให้ชีวิตมันตื่นตัวไม่น่าเบื่อ และโชคดีว่าภรรยาเขาช่วยจัดการเรื่องงานบ้านให้ทุกอย่าง เฮียเลยไม่ต้องห่วงเรื่องหลังบ้าน ปัจจุบัน ลูกชายสองคนก็ได้เข้ามาช่วยงานเฮียทั้งคู่แล้ว และช่วยได้มากเลย

โอกาสของรุ่นเก่ารุ่นใหม่

ในยุคดิจิทัลแบบนี้มีทั้งความยากลำบากและโอกาสมากมายเช่นกัน ถ้ามองในมุมธุรกิจ ในฐานะคนรุ่นเฮีย เฮียต้องปิดจุดอ่อน จุดอ่อนของคนรุ่นเฮียคือต้องยอมรับว่ายังไงก็ไม่มีทางเข้าใจพฤติกรรมของคนยุคนี้ได้ดีพอหรือลึกพอ และความรวดเร็วในในการรับรู้ข่าวสารหรือสิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ก็อาจไม่เร็วเท่าคนรุ่นใหม่ คือ ข้อมูลเขาเยอะกว่าเรา เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะรู้ก่อนเขา รู้เร็วกว่าเขา รู้ลึกกว่าเขามันยากมาก นั่นก็คือจุดอ่อนของคนรุ่นเฮีย แต่สิ่งที่เฮียทำคือเปิดกว้าง เปิดใจและรู้จักเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเด็กรุ่นใหม่ แล้วใช้จุดแข็งของเรา เรื่องแรกก็คือเรื่องการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เฮียจะวิเคราะห์ได้ดีกว่า มองขาดกว่า เพราะเฮียมีประสบการณ์ สองคือการตัดสินใจ เพราะถ้าเรารู้จุดอ่อน เราจะรู้ว่าต้องแก้ยังไง โอกาสอยู่ตรงไหน เฮียชอบตรงนี้ อย่างลูกชายของเฮียเนี่ย เป็นคนนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ตลอดเวลา หลายๆ อย่างเฮียก็เรียนรู้จากลูกชาย เราก็แชร์กัน เฮียเป็นคนชอบข่าวสาร เช่น เรียนรู้ว่าสตีฟ จอบส์ เคยพูดเคยคิดอะไร หรือวันนี้อีลอน มัสก์ทำอะไร เฮียก็แชร์กับลูกๆ ไม่ปล่อยไปเฉยๆ เอาสิ่งที่คนเหล่านั้นคิด พูด หรือ ทำ มาวิเคราะห์กัน การเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จมันสนุก และได้ประโยชน์มากมาย

ปรับตัวคือหัวใจของธุรกิจ

ถ้าจะทำธุรกิจคุณต้องมีแพสชั่น (passion) มีฝัน และมั่นคงในเป้าหมาย สามอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ยอมแพ้ พอคุณไม่ยอมแพ้ เมื่อเจออุปสรรคคุณก็จะสามารถข้ามผ่านไปได้ เวลาเจอเรื่องที่ไม่รู้คุณก็ไปหาความรู้ใหม่ๆ เจอสิ่งใหม่ๆ คุณก็ไปเรียนรู้ให้มันเร็วขึ้น ให้มันไม่กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับคุณ หัวใจสำคัญมันมีอยู่แค่นี้ และเฮียว่ามันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจยุคนี้ด้วย ธุรกิจยุคนี้จะอยู่ได้ยั่งยืนและแข็งแรง เฮียว่าความท้าทายเรื่องเดียวคือการปรับตัวได้ดีและเร็วพอไหม เพราะหัวใจสำคัญที่สุด องค์กรที่จะดีที่สุดและแข็งแรงที่สุด คือองค์กรไหนปรับตัวได้ดีที่สุดใช่ไหม คนที่อยู่รอดได้ไม่ใช่คนแข็งแรงที่สุด แต่เป็นคนปรับตัวได้ดีที่สุด ต้องบอกว่ายุคนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ต้องพร้อมจะเผชิญกับความไม่แน่นอนด้วยความกล้าและทัศนคติที่สนุกอยากเรียนรู้

ก้าวต่อไปของอาร์เอส

การมองการณ์ไกลเป็นเรื่องยาก ถ้าเฮียจะพูดว่าอีกสิบปีข้างหน้าอาร์เอสจะเป็นยังไง เฮียพูดได้อยู่แล้ว แต่เฮียไม่เชื่อว่าจะมีใครมองเห็นอีกสิบปีข้างหน้าได้จริงๆ เพราะงั้นเฮียก็คิดว่าจะทำยังไงให้อาร์เอสเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน สำหรับโมเดลธุรกิจอาร์เอสจะยึดความเป็น ‘เอนเตอร์เทนเมิร์ซ’ (Entertainmerce) เพราะเป็นแก่นของธุรกิจเรา แต่เราจะยึดการทำธุรกิจแบบ ESG (Environment, Social, Governance) ด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์กำลังเน้นมาก เพราะความยั่งยืนนี่แหละที่จะทำให้อาร์เอสอยู่ได้ ส่วนจะไปได้นานแค่ไหน จะโตเท่าไหร่ หรือจะมีรุ่นสองเข้ามาช่วยก็เป็นเรื่องของโอกาสและธุรกิจที่จะเจอต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เฮียจะคิดวางให้ไกลขนาดนั้น เพียงแต่หากเราสร้างความพร้อมและสมบูรณ์ให้อาร์เอสในทุกมิติ ทั้งโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างองค์กร คนทำงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้เสียครบทุกส่วนก็จะตอบโจทย์การเป็นองค์กรที่แข็งแรงทั้งทางธุรกิจ ทั้งการอยู่ร่วมกับสังคมและทำประโยชน์ให้กับสังคมคู่ไปกับการทำธุรกิจไปอย่างยาวนาน เฮียจึงให้ความสำคัญในการปูพื้นฐานเรื่องความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งผลของมันจะสะท้อนและยังประโยชน์ในระยะยาวให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกๆ ส่วน

รู้จักกับสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสีตบุตรบำรุง และปริญญาตรี โครงการศิลปศาสตรบัณฑิตภาคพิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน)