HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Aim to Be the Best

บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กับมุมมองเรื่องโลกาภิวัตน์ การมุ่งไปสู่มาตรฐานสากล และการสร้างองค์กรการเงินเพื่อตลาดไทยที่ดีที่สุดในโลก

พ่อจะสอนว่า อยากสูงต้องยืดตัว เตะคนอื่นล้มจะไม่ช่วยให้สูงขึ้น ผมจึงได้ถูกปลูกฝังและฝึกฝนตัวเองมาตลอดว่าแข่งเพื่อที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น... เราจะแข่งอะไร เราใช้วิธีพัฒนาความสามารถของตัวเอง ไม่ใช้วิธีการสกปรก

     นักเขียนคนหนึ่งออกปากว่า หากคำว่า “เน็ตไอดอล” สามารถใช้ได้กับผู้ที่อายุเกิน 60 ได้ บรรยง พงษ์พานิชน่าจะเป็นอีกหนึ่ง “เน็ต ไอดอล” ที่กำลังมาแรงในโลกโซเชี่ยลของประเทศไทยทุกวันนี้ 
     เพราะแม้เพิ่งเริ่มเล่น Facebook ก่อนแซยิดได้ไม่กี่เดือน แต่ปัจจุบัน บรรยงมีเพื่อนและผู้ติดตามสเตตัสความคิดความเห็นของเขาเป็นจำนวนกว่า 25,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงนักคิดนักเขียนหลากหลายค่ายตั้งแต่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรณ์ จาติกวณิช ดร.ปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรื่อยไปจนกระทั่งนิ้วกลม และจอห์น วิญญู

     “เพื่อน” โซเชี่ยลเหล่านี้ ล้วนทราบดีว่า แม้บรรยง จะมีความคิดความเห็นเกี่ยวกับหลากหลายเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การกีฬา ฯลฯ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ความคิดของเขาดูเหมือนจะแตกหน่อมาจากความเชื่อในตลาดและการแข่งขันอย่างเสรีทั้งสิ้น โดยในขณะที่หลายคนบอกว่าสองสิ่งนี้ เป็นเพียงชื่อสวยหรูของระบบอันโหดร้ายที่ปลาใหญ่กัดกินปลาเล็ก บรรยงในฐานะผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อีกหนึ่งปลาขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กที่กำลังพยายามแหวกว่ายอยู่ในกระแสนํ้าที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของตลาดการเงินเมืองไทยเช่นกัน กลับบอกว่านี่คือสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

     “ผมชอบแข่งขันมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะผมเป็น Wednesday’s Child ตัวจริง ผมเป็นลูกชายคนที่สามของลูกชายห้าคน แล้วก็มีน้องสาวเป็นคนสุดท้าย เราจะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ขาดอยู่ตลอดเวลา จะเบ่งแบบพี่ใหญ่ก็ไม่ได้ จะโอ๋อย่างน้องเล็กก็ไม่ได้ จึงได้ทำตัวชอบแข่งขัน ถ้าเป็นสัตว์ คงต้องเรียกว่าเพื่ออยู่รอด แต่ในคน คงต้องเรียกว่าเพื่อให้เป็น “Somebody” ขึ้นมา โดยผมจะแข่งทุกเรื่อง อย่างเช่นแข่งเพื่อให้ได้รับคำชมจากพ่อ ซึ่งเป็นคนใฝ่รู้มาก และชอบให้ลูกๆ แข่งความรู้ เช่นแข่งตอบปัญหาความรู้รอบตัว แข่งบวกเลขทะเบียนท้ายรถ ผมก็จะแข่งทั้งหมด และก็ชนะด้วย” บรรยงให้สัมภาษณ์กับเราอย่างสบายๆ ในออฟฟิศผู้บริหารของธนาคารเกียรตินาคิน เหนือถนนอโศก 

     อย่างไรก็ตาม นอกจากการแข่งขันแล้ว ดูเหมือนสิ่งสำคัญกว่าที่พ่อได้มอบให้กับบรรยงก็คือการชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญของการแข่งขันนอกเหนือจากชัยชนะ 

     “พ่อจะสอนว่า อยากสูงต้องยืดตัว เตะคนอื่นล้ม จะไม่ช่วยให้สูงขึ้น ผมจึงได้ถูกปลูกฝังและฝึกฝนตัวเองมาตลอดว่าแข่งเพื่อที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น สมัยทำงานที่ภัทร ผมขึ้นป้ายไว้เลยว่า “เราจะอ้วนโดยไม่เหี้ย” คือเราจะแข่งอะไร เราใช้วิธีพัฒนาความสามารถของตัวเอง ไม่ใช้วิธีการสกปรก

     อีกอย่างที่พ่อไม่ได้สอนตรงๆ แต่คิดว่าเราได้มา ก็คือพ่อไม่ใช่คนฉาบฉวย อย่างเราเป็นเด็กถามอะไรไปเรื่อย ทำไมท้องฟ้าสีฟ้า ทำไมมือมีสิบนิ้ว พ่อจะไม่ตอบอย่างผ่านๆ แต่จะพยายามอธิบายด้วยสาระ บางทีก็ไปเปิดหามาจากบริแตนนิกา เช่นถามพ่อว่าทำไมแดดตอนเช้าไม่แสบตา พ่อเอาวงเวียนมาวาดให้เห็นเลยว่าในเวลาเช้าวงโคจรของโลกทำมุมกับแสงอาทิตย์ยังไง บรรยากาศมันถึงกรองแสงจนเราไม่แสบตา เราก็ค่อยๆ ชึมไปว่าทุกอย่างมันมีแก่นมีสาระ ดังนั้น ถึงเวลา ไม่ใช่แค่แข่งยังไงก็ได้ แต่ต้องวัดกันที่แก่น

     อย่างสมัยอยู่วชิราวุธฯ ผมเคยตื่นตีห้าเพื่อมาวิ่งรอบโรงเรียนคนเดียววันละ 10 กิโลเมตรทุกวัน เพราะไปอ่านเจอหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งบอกว่าขาเป็นเบสิกที่สุดในกีฬาทุกอย่าง ผมอยากเป็นนักกีฬาที่เก่ง ผมก็ฝึกตามอย่างนั้นเลย แล้วปรากฏว่ามศ. 4 ผมก็ได้ติดทีมโรงเรียนรักบี้ บาสฯ กรีฑา พอมศ. 5 ก็ติดทีมชาติ นี่เพราะอยากสูงต้องยืดตัว”

     ด้วยความที่ชื่นชอบกีฬาอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ระยะแรกๆ “การแข่งขัน” ของบรรยงจำกัดอยู่ในวงการกีฬาเป็นหลัก บรรยงเป็นนักรักบี้ทีมชาติ นักบาสเกตบอล วอลเลย์บอล และทศกรีฑาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเจ้าของถ้วยและเหรียญรางวัลนานาชนิด อย่างไรก็ตาม บรรยงได้รู้จักกับการแข่งขันในความหมายที่กว้างขึ้นเมื่อเขาได้รับทุนการศึกษาจากที่ทำงานที่แรก (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ) ให้ไปศึกษาที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นเป็นปีแรก 

     “ผมมารู้จักกับความหมายที่แท้จริงของคำว่าทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ที่นี่ ซึ่งต้องถือว่าโชคดีมาก เพราะนอกจากจะได้เจออาจารย์ระดับโปรเฟสเซอร์จาก Wharton และ Kellogg แล้ว ที่ดีกว่าไปเมืองนอกคือโปรเฟสเซอร์พวกนี้จะพยายามประยุกต์สิ่งที่เขาสอนให้เข้ากับเมืองไทย ซึ่งทำให้ผมเห็นชัดเลยว่ายังไงเมืองไทยก็ต้องเปลี่ยนไปตามโลก วิธีการของเขาน่าประทับใจมาก เขาให้ผมเล่าว่าตอนทำงานในตลาดทุนทำอะไรบ้าง อะไรที่คิดว่าเป็น Innovation ที่ภาคภูมิใจ พวกตั๋วเงินพวกการวางแผนภาษีอะไรพวกนี้ แต่พอเล่าปุ๊บ เขาก็จะเล่าเรื่องเคสของอเมริกาที่เทียบเคียงกันได้ทันที เช่นไปเอาเคสของ Exxon กับ Morgan Stanley ที่เคยออกบอนด์คล้ายๆ กันมาเล่าให้ฟัง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเลิกความคิดที่ว่าเมืองไทยวิชาการใช้ไม่ได้หรอก เมืองไทยใช้แต่กึ๋นกับเส้น เพราะสิ่งที่ผมเรียนรู้ใหม่คืออย่างไรโลกาภิวัตน์และการแข่งขันแบบทุนนิยมจะบีบบังคับให้ทุกอย่างหมุนไปตามมาตรฐานโลกเสมอ แล้วผมสร้างทั้งชีวิตของผมจากความเชื่อในสองเรื่องนี้เท่านั้น” 

     ในเมืองไทย คำว่าทุนนิยมมักจะมีความหมายในแง่ลบ และไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่าเป็นทุนนิยม พอๆ กับที่ไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่า “เห็นแก่เงิน” หรือ “หน้าเลือด” แต่สำหรับบรรยงแล้ว เขารับเอาคำนี้มาเป็นยี่ห้อของตัวเองด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะสำหรับเขาแล้ว คำว่าทุนนิยมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าเลือด และที่แน่ๆ ไม่ได้มีความหมายตื้นเขินแค่เงิน 

     “เบสิกเลย คำว่าทุนนิยมคืออะไร ทุนนิยมคือระบบที่ใช้ตลาดเป็นกลไกในการรวบรวมจัดสรรทรัพยากร และติดตามดูแลทรัพยากรทางเศรษฐกิจ หมายความว่ามันเป็นระบบที่ดูแลทรัพยากรของประเทศให้มันไหลไปที่ๆ ควรไป ที่ๆ จะทำให้ทรัพยากรนั้นๆ เกิดประโยชน์ อย่างเช่น ถ้าพูดถึงตลาดทุน ก็หมายถึงว่าเงินของนักลงทุนควรจะไปที่บริษัทที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไปบริษัทที่ปั่นหุ้น แบงก์ก็เหมือนกัน เวลาจะให้กู้ ต้องให้กู้กับพวกธุรกิจที่มีรากฐานดี อยู่ถูกที่ถูกทาง ไม่ใช่พวกซี้ซั้ว ดังนั้น ถ้ามองในแง่ประเทศ ทุนนิยมมีประโยชน์มาก เพราะทำให้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัดไม่ถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ 

     แต่สิ่งที่ผมชอบมากเกี่ยวกับทุนนิยมก็คือมันไม่ปฏิเสธธรรมชาติของมนุษย์ อย่างที่ ริชาร์ด พอสเนอร์ บอกว่าชอบไม่ชอบก็แล้วแต่ โลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังความเห็นแก่ตัว มีพลังกว่าความเห็นแก่ส่วนรวมมากนัก” บรรยงอ้างถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบในด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ “คอมมิวนิสต์ล่มสลายเพราะพยายามสร้างระบบที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ คือหวังให้ทุกคนทำมากๆ แล้วใจกว้างรับส่วนแบ่งเท่ากัน ในขณะที่ทุนนิยมยอมรับว่ามนุษย์เห็นแก่ตัว ดังนั้นจึงปล่อยให้คนทำมากได้มาก แล้วหันไปสร้างกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้การทำมากได้มากนั้นมันถึงขั้นทำลายตัวเอง แถมทำให้ความเห็นแก่ตัวกลับมารวมกันเกิดพลังที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อีก แน่นอนมันยังไม่สมบูรณ์ แต่ระบบทุนนิยมมันก็ยังไม่ตายตัว ทุกวันนี้มันยังอยู่ในระหว่างแก้ไขตัวเองตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่ามันมีแต่จะดีขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะยกข้อบกพร่องของทุนนิยมขึ้นมาแล้วก็ยี้ มันทำให้เกิดวิกฤตทางการเงิน เกิดความเหลื่อมลํ้าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมเห็นว่านี่แหละคือกระบวนการปรับตัวของมัน มันวิกฤตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง ดังนั้น ไม่ใช่เห็น Crisis แล้วเลยปิดประเทศ ปิดตัวเอง เพราะมันจะพัฒนาไม่ได้ อย่างเกาหลีเหนือ คิวบา พม่าไม่มีทางมี Crisis แต่ก็กินแกลบไป เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาเกิดวิกฤต”

     ฟังบรรยงสนับสนุนทุนนิยมเต็มปากเต็มคำอย่างนี้แล้ว หลายคนอาจไม่เชื่อว่าบรรยงเป็นพี่ชายแท้ๆ ของบัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ หรือ “สวนโมกข์กรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีอุดมการณ์สอนเพื่อนมนุษย์ให้ลดละความเห็นแก่ตัว อันที่จริงบรรยงเองก็เป็นกรรมการบริหารและเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งสถานปฏิบัติภาวนาสำคัญของคนกรุงแห่งนี้มาตั้งแต่ต้น

     “ผมไม่เห็นว่าทุนนิยมจะขัดแย้งกับพุทธศาสนา ตรงไหน พุทธศาสนาบอกความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด ดังนั้นต้องละตัณหาจึงจะสุข นี่ก็คือการจัดการ Demand ส่วนทุนนิยมบอกว่า ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด ดังนั้นต้องใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มันก็คือการจัดการ Supply สำหรับผมสองเรื่องนี้ จึงเป็นความพยายามแก้โจทย์เดียวกัน และทำงานด้วยกันได้ แต่ถ้าคิดอีกอย่างจบเลยนะ คือมองว่าทุนนิยมแย้งกับพุทธศาสนา ซึ่งก็แปลได้อย่างเดียวว่าถ้าเราเป็นเมืองพุทธ ก็ต้องเลิกเป็นทุนนิยม หรือถ้าเป็นทุนนิยมก็ต้องเลิกเป็นพุทธ คำถามของผมคือมันจะเป็นไปได้ไหม”

     ทัศนคติที่ไม่เห็นทุนนิยมเป็นเรื่องสามานย์ แต่กลับเป็นกลไกที่แก้ปัญหาของสังคมได้อย่าง “เป็นไปได้” นี่เอง ที่ทำให้บรรยงพบว่าช่วยสร้างพลังในการทำงาน หรือที่บรรยงเรียกว่า Passion อย่างมาก

     “มีช่วงหนึ่งผมเคยสับสนนะว่าเราเป็นแบงเกอร์ เป็นโบรกเกอร์ซื้อๆ ขายๆ หุ้น กินค่าต๋ง เราทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง แต่พอผมเข้าใจทุนนิยม เข้าใจหน้าที่ของมันอย่างนี้ Passion มันมาเองเลย เพราะเราไม่รู้สึกขัดแย้งอะไรอีกแล้ว เรารู้ว่าผลประโยชน์ของเรา กับผลประโยชน์ของสังคมมันคือเรื่องเดียวกัน ถ้าเราพัฒนาตลาดทุนให้ดี ทำทุนนิยมให้ดี ประเทศก็จะได้ประโยชน์ ตัวเรายิ่งได้ประโยชน์ เพราะนี่คือธุรกิจของเรา คือ สิ่งแวดล้อมที่เราพยายาม Groom ธุรกิจเรามาให้รองรับอยู่แล้ว ผมพูดเสมอว่าถ้าผู้รับเหมาสร้างวัด สนับสนุนให้คนทำบุญสร้างวัด ผมก็ไม่เห็นว่ามันบาปตรงไหน แล้วความเชื่อนี้มันก็อยู่ในคนของบริษัททั้งหมด เราจึงทำงานกันสนุกมาก เงินก็ได้ ความภาคภูมิใจในงานก็ได้ ผมชอบคุยว่าตลอดชีวิตการทำงานนี่ทำดีลระดมทุนมาแล้วห้าแสนล้าน เอ็มแอนด์เออีกแปดแสนล้าน เพราะผมภูมิใจจริงๆ และเชื่อว่าทรัพยากรเหล่านี้มีส่วนทำให้ประเทศดีขึ้น”

     แต่อย่างที่บรรยงได้บอกตอนต้น นอกเหนือจาก ความเชื่อในทุนนิยมแล้ว อีกหนึ่งแนวคิดที่เป็นรากฐานความสำเร็จของธุรกิจของเขาก็คือความเชื่อในโลกาภิวัตน์

     “คนมักพูดกันว่าโลกาภิวัตน์คือ Free flow of ideas, people, goods, services, capital แค่นี้ แต่ที่ผมเรียนจากอาจารย์ที่ศศินทร์มันไม่ใช่แค่นั้น โปรเฟสเซอร์เค้าสอนว่า มันไม่ใช่แค่ Free flow แต่มันคือการที่ Free flow จะทำให้ หนึ่ง สินค้าและบริการทุกอย่างในโลกจะถูกผลักดันให้ไปสู่มาตรฐานที่ดีที่สุดเพราะต้องแข่งขันกับโลก และสอง มาตรฐานนั้น เป็นมาตรฐานที่ไม่หยุดนิ่ง แต่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของโลก นี่คือหัวใจของมันเลย ไม่งั้น Globalisation ก็ไม่มีความหมาย จะ Globalise ไปทำไม ถ้า Globalise แล้ว ไม่ได้ปรับปรุงมาตรฐานการทำงาน ไม่ได้เพิ่ม Productivity

     ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ ไม่ต้องกลัวฝรั่งเลย เปิดประเทศให้เขาเข้ามา แล้วแข่งกัน ถึงแข่งแพ้เราก็จะได้เรียนรู้จากเขา คนชอบบอกว่าผมบ้าเปิดเสรี ผมบอกเปิดเสรี ฝรั่งเข้ามาได้นี่ผมก็ลำบากเหมือนคนอื่นนะ อาจจะเจ๊งไม่ใช่สบาย แต่ผมเชื่อว่าต่อให้บริษัทเจ๊ง แต่คนมันไม่เจ๊งนี่ คนก็จะได้ย้ายไปอยู่บริษัทที่เขาชนะ แล้วเรียนรู้และกลับมาแข่งใหม่ให้ดีกว่าเดิม ประเทศมันก็ดีขึ้น แต่ไม่รู้เป็นไร คนไทยเรานี่ชอบชาตินิยม พูดกันมากอย่าให้สมบัติชาติตกอยู่ในมือของต่างชาติ ต้องเป็นของคนไทย ถามว่าคนไทยกี่คนกันครับที่จะเป็นเจ้าของสมบัติชาติที่พูดๆ กันได้ แทนที่ตลาดจะดีขึ้นเพราะได้ฝรั่งเข้ามาแข่งขัน เลยเป็นตลาดที่ผูกขาดกันอยู่ที่ “คนไทย” ไม่กี่ตระกูล ของไม่ต้องดีมากก็ขายได้เพราะไม่มีคู่แข่ง ค่าจ้างไม่ต้องจ่ายมากก็ได้ เพราะไม่มีคู่แข่ง ประเทศมันก็ตันอยู่อย่างนี้

     แต่ผมไม่ ผมเชื่อในตลาดทุน และเชื่อว่ายังไงทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก ดังนั้น ผมเดินตามฝรั่งเลย ดูว่าเขาทำอะไร เพราะอะไร ผ่านประสบการณ์อะไรมา ภายใต้บริบทอย่างไรประสบการณ์เลวเราก็คัดทิ้ง บริบทต่างเราก็ต้องแอพพลาย แต่สำคัญคือต้องรู้ว่าเขาทำอะไรเพราะอะไรอย่าไปคิดว่าเมืองไทยแค่แบบไทยๆ ก็พอ เพราะในเมื่อโลกาภิวัตน์จะผลักดันให้ทุกอย่างวิ่งไปสู่วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด อะไรควรเกิด เดี๋ยวมันต้องเกิด มาตรฐานในการทำงานต้องพยายามทำตามที่โลกเขาทำ ไม่งั้นก็แข่งไม่ได้”

ทุกวันนี้ ทุกธุรกิจที่เราทำ เรามุ่งสู่ความเป็นที่สุดของโลก อย่างเราทำธุรกิจวานิชธนกิจ ภัทรก็ต้องเป็นวานิชธนกิจที่ดีที่สุดในโลกสำหรับบริษัทไหนก็ตามที่ต้องการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับวานิชธนกิจในประเทศไทย... ที่เกียรตินาคินก็เหมือนกัน ต่อไปเราก็ต้องเป็นบริการสินเชื่อเช่าซื้อที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการเช่าซื้อในเมืองไทย

     อันที่จริง หากฟังบรรยงให้ดี ก็จะรู้สึกว่าเขาคงไม่เพียงต้องการแค่ลงแข่งเท่านั้น แต่ต้องการชัยชนะเลยด้วย “ทุกวันนี้ ทุกธุรกิจที่เราทำเรามุ่งสู่ความเป็นที่สุดของโลก อย่างเราทำธุรกิจวานิชธนกิจ ภัทรก็ต้องเป็นวานิชธนกิจที่ดีที่สุดในโลกสำหรับบริษัทไหนก็ตามที่ต้องการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับวานิชธนกิจในประเทศไทย ยํ้า ธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ใช่ธุรกรรมในโลก พวกผมไม่ไปแข่งกับ Goldman Sachs กับ JP Morgan ที่นิวยอร์ก แต่ถ้าเขามาเมืองไทย เขาเจอเราแน่นอน ที่เกียรตินาคินก็เหมือนกัน ต่อไปเราก็ต้องเป็นบริการสินเชื่อเช่าซื้อที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการเช่าซื้อในเมืองไทย”

     อย่างไรก็ตาม หากสังเกตความเห็นของบรรยง ในเรื่องต่างๆ แม้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหรือการเงิน เช่นเรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน ก็จะพบว่าเขายังคงไม่เคยไปไกลจากแนวคิดของเรื่องทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ โดยเขาเชื่อว่าหากเราสามารถวางกลไกคานและดุลในเรื่องต่างๆ ให้มีพลวัตได้ในลักษณะเดียวกันกับที่ระบบตลาดใช้การคานกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เราจะสามารถพบกับคำตอบได้โดยไม่ต้องกำหนดคำตอบ ได้ความสมดุลโดยไม่ต้องชี้จุดสมดุล เหมือนกับที่ตลาดควบคุมราคาสินค้าต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคอยประกาศเพดานราคา

     “คำที่ผมเกลียดมากที่สุดเลยก็คือคำว่า Balance คำว่าจุดที่สมดุลอะไรพวกนี้ คำพวกนี้ใครจะเป็นคนตัดสินได้ล่ะว่ามันอยู่ตรงไหน เรากำหนดเองไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำคือดูว่ากลไกต่างๆ ที่จะมาคานและดุลกันนั้นมันอยู่ครบหรือเปล่าต่างหาก เหมือนทุกวันนี้ต่อให้ไม่มีใครกำหนดว่าราคาต้องอยู่ตรงจุดสมดุล แต่มันก็อยู่ที่จุดสมดุลของมันเอง ถ้ากลไกของ Demand/Supply หรือกลไกคานและดุลมันอยู่ครบ เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือวางกลไก วางกรอบ เพื่อให้สิ่งต่างๆ มันคลี่คลายไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่ไม่ใช่กำหนดคำตอบเบ็ดเสร็จทีเดียว มันจะกลายเป็น Deadlock

     แนวทางเรื่องการปฏิรูปที่ไปช่วยรัฐบาลทำอยู่ก็เป็นไปตามแนวนี้ คือเน้นสร้างกลไกให้มันนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตัวของมันเอง เช่น ซูเปอร์บอร์ดเราทำเรื่องรวมศูนย์รัฐวิสาหกิจให้มาอยู่ใต้บรรษัทโฮลดิ้งแทนกระทรวง คนบอกเห็นด้วยบริหารแบบเอกชนดีรัฐวิสาหกิจจะได้ทำกำไรสักที แต่เตือนว่า “อย่าลืมบาลานซ์เรื่องกำไรของรัฐวิสาหกิจกับเรื่องทางสังคมนะ” ผมว่ามันไม่ถูก จะให้ขีดเส้นตรงไหนล่ะว่ากำไรแค่ไหนบาลานซ์ แนวทางของซูเปอร์บอร์ดจึงเป็นว่าแยกหน้าที่ซะ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ทำกำไรก็ทำไปอย่างเดียว ถ้ากลัวเอาเปรียบสังคม ก็ไปสร้างกลไก Regulator ขึ้นมา เดี๋ยวมันคานและดุลกันเอง แต่ไม่ใช่ให้รัฐวิสาหกิจทำกำไรด้วย ต้องรู้ด้วยว่าตรงไหนเป็นบาลานซ์ มันเป็นไปได้ยาก ไม่ยั่งยืน แล้วก็กลายเป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่ต้องมีประสิทธิภาพไป

     เรื่องคอร์รัปชันที่ทำก็เหมือนกัน เราไม่คิดว่าหาคนดีมาอยู่ในตำแหน่งอย่างเดียวแล้วจบ เพราะมันมักจะไม่เป็นอย่างนั้น หรือเป็นแค่ชั่วคราว เราเลยพยายามจะสร้างกลไกที่จะมาช่วยคานเรื่องคอร์รัปชัน คือคอร์รัปชันเกิดได้มากเพราะคนทำได้ประโยชน์ แต่คนเสียประโยชน์ไม่รู้ตัว มันจึงไม่สมดุล หากจะให้สมดุลเราต้องทำให้คนเสียประโยชน์รู้ตัวให้ได้ เราก็เลยทำเรื่องความโปร่งใส ทำเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เข้มแข็งขึ้น แล้วเดี๋ยวมันก็คานกันเอง”

     แนวคิดการสร้างสมดุลด้วยกลไกนี้ เป็นสิ่งที่บรรยงไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการแก้ปัญหาระดับประเทศเท่านั้น แม้ในระดับองค์กรเองบรรยงก็ใช้แนวทางคล้ายๆ กัน

     “องค์กรส่วนใหญ่มักพูดว่า “องค์กรต้องมีความยุติธรรมกับผู้ร่วมองค์กรทุกคน” แล้วก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร คนให้ก็บอกว่าตัวเองยุติธรรมแล้ว คนรับก็บอกว่ายังไม่ยุติธรรม แต่ผมจะใช้คนละ Approach ผมจะสร้างองค์กรให้ทุกคนมีโอกาสลุกขึ้นมาเรียกร้องได้ ออกเสียงได้ เป็นองค์กรที่เปิดให้มากๆ จะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมไม่รู้ละ แต่ถ้าบรรยากาศมันทำให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ทำ ได้ขวนขวาย ได้ออกเสียงในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันไม่ถูกไม่ต้อง องค์กรมันก็จะปรับไปสู่สิ่งที่สมควร เมืองไทยเราคุ้นเคยแต่ระบบอุปถัมภ์ อยากได้ความยุติธรรม ก็จะต้องให้มีใครสักคนเป็นผู้รักษาหรือผู้มอบความยุติธรรมนั้น แต่วิธีของผมคือไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ อยากได้ความยุติธรรม ทุกคนก็มีหน้าที่ทั้งให้และรับ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดนั้น อย่างที่บอก นี่จะเหมือนกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือประชาธิปไตย คือเป็นเรื่องที่ให้กลไกทั้งหลายมันมีส่วนร่วมให้มากที่สุด แล้วมันก็จะสร้างสิ่งที่สมดุลขึ้นมา”

     บรรยงเชื่อว่ากลไกที่เปิดกว้างและนำไปสู่การขัดเกลาตัวเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่หมุนให้องค์กรไปสู่จุดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังทำให้องค์กรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ด้วย

     “เรากำลังพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า Knowledge Working Environment นั่นก็คือให้มนุษย์ได้เอาสมองออกมาเต็มตามศักยภาพ องค์กรที่ตั้งเป็นพีระมิด องค์กรมันจะถูกพัฒนาเท่ากับศักยภาพของคนอยู่บนยอด เพราะคนอยู่บนยอดเป็นคนสั่งให้คนอื่นทำ แต่สมัยนี้เขาบอกว่า ทำยังไงเพื่อที่จะให้องค์กรทั้งองค์กรมันพัฒนาได้มากกว่าศักยภาพของคนที่อยู่บนยอด คือให้คนที่อยู่บน ยอดพีระมิด มีหน้าที่ “สนับสนุน” มากกว่า “สั่ง” ให้คนอื่นทำ คนที่อยู่บนยอดต้องเคารพว่าคนอื่นเขาอาจมีในสิ่งที่คุณไม่มี ดังนั้นคุณแค่คอยให้เขาพยายามทำงาน ตามความคิดตามศักยภาพของเขา ไม่ใช่จำกัดให้เขาทำเฉพาะตามที่สติปัญญาคุณเห็นว่าดี จากนั้นคุณแค่ช่วยเข้ามาสนับสนุนตามที่เขาต้องการ การบริหารของผมเลยเป็นเหมือนพีระมิดหัวกลับ คือทุกคนทำไป ถึงเวลาอยากให้ช่วยอะไรก็ค่อยสั่งลงมาที่ผม อันนี้มันจะขยาย Capacity, Capability, Boundary ทุกอย่าง”

     อันที่จริงการพยายามทำสิ่งต่างๆ เต็มตามศักยภาพ มากกว่าสิ่งที่ถูกที่สั่ง คือสิ่งที่บรรยงบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเดินทางมาถึงจุดนี้

ผมพูดเสมอว่าองค์กรนี้ไม่มี Job Security ไม่มีใครมีความมั่นคงในอาชีพ แม้แต่ตัวซีอีโอเอง ถ้าไม่มีประโยชน์ก็เกษียณไปได้ เราต้องการ “ดีที่สุดในโลก” ในทุกธุรกิจที่เราทำ เรารู้ว่าเราไม่มีทางบรรลุเป้านี้ แต่เราจะไม่หยุดพยายาม

     “ตอนแรกเขาจ้างมาทำเราก็ทำ เขาบอกให้ทำให้สำเร็จให้ได้มากที่สุด ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด แล้วก็พยายามเสือก ถ้าถามว่าผมเติบโตมาได้ยังไง อย่างหนึ่งก็คือ “เสือก” เสือกแปลว่า ไปทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ แต่ถ้าผมจะเสือกในเรื่องของคุณ ผมจะเสือกให้คุณชอบ ผมชอบพูดว่าอย่างนี้ “เราเสือก แต่ให้คนรู้สึกว่าเราเซิร์ฟ” ซึ่งพอเสือกปั๊บมันก็ได้ประโยชน์อะไรหลายอย่าง ได้ความรู้ ได้เห็นอะไรมากกว่าเดิมอีกเยอะ มันทำให้เราพัฒนา”

     เมื่อถามว่าในเมื่อองค์กรมีมาตรฐานสูงและมุ่งเข้าสู่แข่งขันเข้มข้นขนาดนี้ พนักงานจะไม่กดดันหรอกหรือ บรรยงรีบตอบว่า

     “แน่นอน ผมพูดเสมอว่าองค์กรนี้ไม่มี Job Security ไม่มีใครมีความมั่นคงในอาชีพ แม้แต่ตัวซีอีโอเอง ถ้าไม่มีประโยชน์ก็เกษียณไปได้ เราต้องการ “ดีที่สุดในโลก” ในทุกธุรกิจที่เราทำ เรารู้ว่าเราไม่มีทางบรรลุเป้านี้ แต่เราจะไม่หยุดพยายาม ดังนั้นทุกคนต้องเรียนรู้และขวนขวายตลอดไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องคนเก่ง การศึกษาดีๆ นั่นเรื่องหนึ่งนะ เพราะเท่าที่ผมมีประสบการณ์ คนธรรมดาๆ นี่แหละ แต่เปิดโลกทัศน์ใหม่ เปิดโอกาสใหม่ สร้างแรงจูงใจใหม่ มันก็ทำขึ้นมาได้”

     สัมภาษณ์ถึงตอนนี้ เลขาฯ ของบรรยงก็เข้ามาตามว่าแขกที่นัดประชุมไว้มาถึงแล้ว

     “ผมขอตัวไปทำงานก่อนนะครับ ประเดี๋ยวจะถูกเชิญให้ออก”