HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Behind the Painting

ธนกร จ๋วงพานิช

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้สร้างปรากฏการณ์ ละครเวทีในเมืองไทย เผยเรื่องราวเล็กๆ ที่นำไปสู่ ภาพความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ตลอดจนพันธกิจของละครต่อสังคมและประเทศ

    เมื่อพูดถึงบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ น่าเชื่อได้ว่าน้อยคนจะนึกถึง ‘จุด’

    ตรงกันข้าม สิ่งที่ทุกคนนึกถึงน่าจะเป็น ‘ภาพ’ ไม่ว่าภาพนั้น จะเป็นห้องนั่งเล่นอันอบอุ่นของสามพี่น้อง กบ-แท่ง-มอส ใน ซิทคอม ‘3 หนุ่ม 3 มุม’ ยอดเขาทิตลิสอันขาวโพลนไปด้วยหิมะในละครโทรทัศน์ ‘ยามเมื่อลมพัดหวน’ บุคลิกยิ่งใหญ่ของปานรุ้งในละครเวที ‘บังลังก์เมฆ’ ความเรืองรองของบ้านเมืองในละครเวที ‘สี่แผ่นดิน’ หรือภาพอื่นใดก็ตามในละครโทรทัศน์ 15 เรื่อง และละครเวทีอีก 17 เรื่อง และซิตคอมอีกนับไม่ถ้วนที่ผู้ชายคนนี้ดูแลการผลิต

    แต่เช่นเดียวกับที่ภาพย่อมเกิดมาจากจุดเหลือคณานับที่ทับซ้อนกันเป็นเส้นและสี ถกลเกียรติก็เชื่อว่าชีวิต และผลงานของเขาไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งที่ถูกร้อยเรียงขึ้นมาจากประสบการณ์สารพันที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ประสบการณ์ที่เขาเรียกว่าจุดหรือ ‘dots’ นั่นเอง

    “คนเราต้องคิดจากสิ่งที่เคยเห็น คิดจากประสบการณ์ มันต้องเอามาจากจุดนั้น จุดนี้ มันเหมือนกับที่สตีฟ จ็อบส์พูด ‘It’s all about connecting the dots.’ น่ะ ดอตส์ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราเดินตามถนนเราเห็นอะไร เราเดินในถนนเราเห็นป้ายโฆษณานี้ เอ๊ะ---มันแปลว่าอะไร ทำไมเราเห็นป้ายโฆษณานี้แล้วเรารู้สึกแบบนี้ ทำไมเห็นแล้ว เราอยากดูอันนี้จังเลย หรืออยากซื้ออันนี้จังเลย เราเห็นป้ายโฆษณาอันนั้น เราไม่เห็นจะสนใจเลย

    … ยกตัวอย่างดอตส์ของผมนะ สมัยผมเรียนที่อเมริกาอายุ 12 รายการที่ผมชอบดูมากรายการหนึ่งชื่อ Family Feud มันเป็นเกมโชว์ ผมช๊อบชอบ นั่งดูทุกวันเลย สนุ๊กสนุก แล้ววันหนึ่งมันก็จบไป สิบกว่าปีผ่านไป ผมมาทำทีวี ยุคนั้นเกมส์โชว์บ้านเรามีแต่ดารามาเล่นเกมโชว์ ไม่มีคนธรรมดา ผมอยากทำเกมโชว์แบบที่คนทางบ้านมาเล่นกัน ผมว่ามันลุ้นกว่า ไม่ต้องมาเฟกแบบดารา ก็ได้รับคำตอบว่า ประเทศไทย ถ้าเกมโชว์ไม่มีดาราเล่น ไม่มีทางขายได้ ไม่มีงบ จบ---เราก็พักไอเดียนั้นไป เขาพูดมาอย่างนี้เราก็ต้องเชื่อเขา

    …จนวันหนึ่งพี่ต๋อย-ไตรภพ มีเกมเศรษฐีขึ้นมา เราก็ อ้าว---ดาราเหรอนั่นน่ะ มีแต่คนทางบ้านมาเล่น ก็เลยคิดเอาวะ ถ้าเผื่อยุคนี้มันเป็นยุคที่คนดูยอมรับแล้วว่า คนธรรมดาทั่วไปมาเล่นเกมส์โชว์ได้ ก็อยากเอาความคิดนี้กลับมาทำ แฟมิลี่ ฟิวด์ก็เข้ามาในหัวทันที และเพราะยุคนี้มันเป็นยุคการซื้อฟอร์แมต ก็เลยไปซื้อฟอร์แมตรายการของเขา เอามาทำเป็นเวอร์ชั่นไทย ก็เลยกลายมาเป็น ‘4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม’ นี่มันก็เป็นดอตส์ของผม”



ตั้งแต่เด็กก็คิดว่าเขาทำยังไง เห็นสิ่งที่เราดูแล้วเราก็อยากทำตามบ้าง ตั้งแต่ 8-10 ขวบ ผมก็ดู 'ไอ้มดแดงอาละวาด' แล้วก็จะรู้สึกว่า เออ เขาทำยังไง มันเหมือนเด็กชอบวาดรูป เห็นตรงนั้นแล้วก็จะอยากวาดออกมาให้มันเหมือนรูป เราเห็นตรงนั้น เราก็อยากทำให้มันออกมาเป็นอย่างนั้นได้เหมือนกัน

เริ่มจุ่มหมึก

    หากชีวิตของถกลเกียรติเป็นภาพที่ก่อขึ้นทีละน้อยจาก ดอตส์หรือ ‘จุด’ อย่างที่ว่ามานี้จริง จุดแรกๆ ที่เข้ามาแต้มชีวิตของเขาน่าจะเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่ มายากล และละครชาตรีที่มีคนเอามาเล่นแก้บนใกล้บ้าน เพราะนี่คือสิ่งแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่าถกลเกียรติรับรู้สิ่งเหล่านี้ในลักษณะที่แปลกกว่าเด็กอื่น

    ตามธรรมชาติเด็กเล็กย่อมถูกผูกติดกับเรื่องราวหรือนิทานได้ง่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถกลเกียรติอาจต่างออกไปก็คือ ในขณะที่เด็กอื่นเพียงสนุกกับท้องเรื่องด้านหน้า ความสนใจของ ถกลเกียรติ กลับพุ่งไปยังเบื้องหลังที่ก่อให้เกิดความสนุกเบื้องหน้านั้นอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่อายุเพียงเจ็ดแปดขวบ ถกลเกียรติจะเดินไปหลังเวทีเพื่อดูการแต่งหน้าของตัวละคร เมื่อดูมายากลก็จะไปซื้อหนังสือมายากลมาศึกษาเคล็ดลับ

    “เป็นความชอบตั้งแต่เด็กน่ะครับ ชอบในฐานะที่เป็นคนดูก่อน ตั้งแต่เด็กก็คิดว่า เขาทำยังไง เห็นสิ่งที่เราดูแล้วเราก็อยากทำตามบ้าง ตั้งแต่ 8-10 ขวบ ผมก็ดูไอ้มดแดง แล้วก็จะรู้สึกว่า เออ---เขาทำยังไง มันเหมือนเด็กชอบวาดรูป เห็นอะไรก็จะ อยากวาดออกมาให้มันเหมือนรูป”

    ไม่เพียงแต่อยากเฉยๆ ถกลเกียรติยังทดลองทำจริงเลยด้วย บุคคลใกล้ชิดเล่าว่าในยามเด็ก ถกลเกียรติจะชอบเล่นเชิดหุ่นในบ้าน โดยคิดบทและกำกับให้เด็กคนอื่นในบ้านเชิดตามที่กำหนด พร้อมกะเกณฑ์ญาติๆ มาดู ปรากฏว่าความชอบในการแสดงและเรื่องราวเบื้องหลังนี้ได้ติดตามถกลเกียรติไป แม้ยามที่เขาถูกทางบ้านส่งไปเรียนต่อหลังจากจบชั้นประถม 6 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยรูปแบบความบันเทิงอีกหลายอย่างที่ถกลเกียรติยังไม่รู้จัก

     “โทรทัศน์ที่อเมริกาเขาจะแตกต่างจากบ้านเรา อย่างซิทคอมเขามีเสียงหัวเราะ เราก็จะ เอ๊ะ---เขามีคนดูสดจริงๆเหรอ หรือว่าเขาใส่เสียงลงไป หรืออย่างละครเวที พ่อพาไปดูเรื่องแรกคือ The Sound of Music ที่ซานฟรานซิสโก แล้วก็บอกว่า นี่เขาร้องสดทุกเพลงเลยนะ เราก็จริงเหรอ นึกว่าเขาเปิดเทป พ่อบอกว่า ไม่---เขาร้องสดเลย ดนตรีก็เล่นสด เราก็ อ้าว---มันเป็นอย่างนี้ได้ด้วย ทำไมฉากมันเปลี่ยนกันอลังการมโหฬารกันขนาดนั้น จากภูเขากลายมาเป็นบ้านอะไรอย่างนี้”

     ความประทับใจแรกพบนี้ที่ได้ทำให้ถกลเกียรติกลายมาเป็น แฟนละครเวที เมื่อหนังเพลงเรื่อง The King and I ที่นำแสดง โดย ยูล บรีนเนอร์ ถูกนำมาฉายทางทีวี เขาก็อัดวีดีโอไว้แล้วนำมาดูซํ้าแล้วซํ้าอีก เพื่อให้หายคิดถึงเมืองไทย จนเขาบอกว่าทุกวันนี้หากปิดเสียงภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาก็ยังพากษ์ได้ทั้งเรื่อง

     “เราอยู่ไฮสคูลเราก็เข้าดราม่าคลับ เล่นด้วยและก็เป็นตัวตั้งตัวตี เพราะด้วยความที่มันเป็นโรงเรียนเล็ก และก็ชายล้วน ความสนใจในดราม่ามันเลยไม่เยอะ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่สนใจกีฬา แต่เราอยากให้ดราม่าคลับมันเกิด เราก็ต้องเป็นตัวตั้งตัวตี บางที อ้าว---บทนี้ไม่มีคนเล่น จะหาใครมาเล่นดี”

     อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการคลายเหงาและความสนุกนอกห้องเรียนชั่วครั้งชั่วคราว ละครเวทียังทำให้ถกลเกียรติเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวความหมายของการดำรงชีวิต เขาได้มีโอกาสไปดู A Chorus Line ละครเวทีระดับตำนานซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของนักเต้น 17 คนซึ่งต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งในหางเครื่องที่มีอยู่จำกัด และพบว่าเมื่อตัวเองออกจากโรงละครนั่งรถเมล์กลับบ้าน เนื้อเพลง What I Did for Love ซึ่งตัวละครตัวหนึ่งร้องออกมา เมื่อซ้อมเต้นจนขาแพลงและตระหนักว่าตนจะไม่ได้ไปต่อนั้น ได้ทำให้เขาต้องนํ้าตาคลอและนั่งเหม่อไปตลอดทาง เนื้อเพลงที่ว่า “We did what we had to do. Won’t forget, can’t regret what I did for love.” ทำให้เขาต้องคิดซํ้าๆ ว่าสิ่งที่ตัวเขารักคืออะไร และต่อไปจะได้ทำสิ่งที่รักหรือไม่

     แต่ปรากฏว่าคำถามนั้น ถกลเกียรติเป็นผู้ตอบเองในเวลาอีก 4 ปี ต่อมาเมื่อเขาเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ที่ Boston College และได้ดูละครเวทีอีกเรื่องหนึ่ง คือ Death of a Salesman ที่ในฉากหนึ่งตัวละครผู้เป็นลูกระเบิดอารมณ์ใส่ผู้เป็นพ่อที่บังคับให้เขาทำอาชีพเซลส์แมน ทั้งที่เขาอยากใช้ชีวิตกลางแจ้งว่าทำไมเขาต้อง “ทนทำสิ่งที่ไม่ชอบ 50 สัปดาห์ต่อปีเพื่อแลกกับพักร้อนเพียง 2 สัปดาห์ด้วย” ประโยคนี้ทำให้ถกลเกียรติตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียน Communications and Theatre โดยต้องโน้มน้าวผู้เป็นพ่อ ดร.อำนวย วีรวรรณ นักเศรษฐศาสตร์ระดับพระกาฬของเมืองไทยให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์มีคนเรียนมาก เธียเตอร์มีคนเรียนน้อย เขาน่าจะกลับไปแข่งขันในอาชีพที่มีคนเรียนน้อยและเขาได้ A มากกว่าอาชีพที่มีคนเรียนมาก และเขาได้เพียงเกรด Dซึ่งโชคดีว่าเหตุการณ์ในชีวิตจริงของถกลเกียรติไม่ดราม่าเหมือนละคร เพราะคำตอบของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ที่เข้าใจกฎการลดน้อยถอยลงของผลตอบแทนเป็นอย่างดีอย่างดร.อำนวยก็คือ “ก็คิดถูกแล้วล่ะ”

วาดลวดลาย

     พร้อมๆ กับที่ชีวิตของถกลเกียรติถูกแต่งแต้มโดยจุดแห่งประสบการณ์ต่างๆ ในอีกทางหนึ่งเขาเองก็เริ่มวาดจุดและลายเส้นของตัวเองลงในวงการบันเทิงไทยเช่นกัน หลังกลับจากสหรัฐฯ ถกลเกียรติเริ่มทำงานที่บริษัท แกรมมี่ในฐานะโปรดิวเซอร์ ที่นี่ ทัศนคติในการเป็นผู้ที่ต้องการสร้างสิ่งต่างๆให้ปรากฏออกมาเหมือนกับเด็กที่อยากวาดภาพ ได้ทำให้ถกลเกียรติกลายเป็นผู้ริเริ่มหลายสิ่งขึ้นในวงการละคร อย่างเช่นซิทคอม ‘3 หนุ่ม 3 มุม’

     “ไม่รู้ ไหนๆ มันไม่มีก็อยากไปลองทำให้มันมี อยากเห็นว่าถ้ามันมีอย่างนี้แล้วจะทำยังไง อย่าง 3 หนุ่ม 3 มุม ละครซิทคอมเรื่องแรก แค่คนในทีมเองยังต่อต้านกันเยอะมากละครอะไรไม่รู้มีแต่พระเอกสามคน คืออะไร น่าดูตรงไหน ไม่มีนางเอก ประเด็นนี้โดนถามเยอะมาก แต่พอทำแล้วฉาย ปรากฏว่ามันก็เป็นการดูละครอีกแบบหนึ่งซึ่งประสบผลสำเร็จได้ ตอนนั้นเราแค่คิดว่า เราดูแล้วสนุก ก็เชื่อว่าคนอื่นน่าจะดูแล้วสนุกเหมือนกับที่เราดู เราคงไม่ใช่มนุษย์ประหลาดหนึ่งเดียวในโลกที่ดูแล้วสนุก”

     อันที่จริงต้องเรียกว่าไม่ใช่แค่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่เพียง 3 หนุ่ม 3 มุมจะกลายเป็น ‘สถาบัน’ อย่างหนึ่งของช่อง 7 ที่ออกอากาศต่อเนื่องกันถึง 8 ปี และทำให้ภาษาไทยมีสำนวนติดปากสำหรับเรียกผู้ชายสามคนขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ 3 หนุ่ม3 มุม ยังทำให้คนไทยรู้จักกับการดูละครชนิดใหม่ ที่ความสนุกไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘ความฟิน’ ที่ได้เห็นพระเอกนางเอกลงเอยกันอย่างเดียว หากอยู่ที่การได้ผูกพันกับตัวละคร และเห็นตัวละครนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าเมื่อครั้งหนึ่งที่ตัวละครเอกพล (กบ-ทรงสิทธิ์) พูดเบอร์บ้าน 3 หนุ่ม 3 มุมออกอากาศไป ก็ทำให้ผู้ชมจำนวนมากโทรเข้าไปที่เบอร์นั้น จนเจ้าของเบอร์ในชีวิตจริงต้องโทรร้องเรียนมายังรายการ

     นอกเหนือจากการทำให้ซิทคอมกลายเป็นอีกหนึ่งความปกติของรายการทีวีไทยแล้ว อีกหนึ่งสถาบันที่ถกลเกียรติสร้างขึ้นมาก็คือ ‘ละครเอ็กแซ็กท์’ กล่าวคือละครจากบริษัท เอ็กแซ็กท์ ที่ตั้งขึ้นมาโดยบริษัท แกรมมี่เพื่อผลิตละครโทรทัศน์อย่างจริงจัง เพราะในยุคนั้นที่ละครหลังข่าวโดยมากยังเล่นแบบตามขนบธรรมเนียมที่แสดงอุดมคติว่าดีต้องดี ร้ายต้องร้าย และในที่สุดดีต้องชนะร้ายจนนำมาซึ่งสันติสุขชั่วกัลปาวสานนั้น ละครเอ็กแซ็กท์ได้เลือกที่นำเสนอมิติอื่นๆ ของชีวิตซึ่งไม่ค่อยถูกแสดงชัดเจนในละคร เช่นความรักของแม่ที่ทำลายลูก (‘บัลลังก์เมฆ’) ฉากเลิฟซีนของพระเอกและนางเอก (‘อยากหยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า’) หรือการตายจากของพระเอกในจุดที่ควรจะเป็นแฮปปี้ เอ็นดิ้ง (‘รักในรอยแค้น’)

     “เราก็อยากให้ละครของเรามันมีความกลม คนดูจะได้เห็นว่าคนเรามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เขาจะได้เห็นว่า อ๋อ---เพราะข้อเสียแบบนี้ มันจึงเป็นอย่างนี้ แล้วคนดูจะได้เรียนรู้อะไรจากตัวละครมากขึ้น แต่ถ้าเผื่อเราแค่ทำแบนๆ ไป คนนี้ดี คนนี้ร้าย คนร้ายเข้าคุก แล้วคนดีก็แฮปปี้ เอนดิ้ง จบ---อย่างนี้ผมว่าอาจจะมี enjoyment ของมัน แต่ว่าคนดูก็จะคิด นี่ละค๊อนละคร แล้วก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้น พอละครจบก็ใช้ชีวิตปกติ แต่ถ้าเผื่อมันเป็นละครที่สามารถกระตุ้นให้คนนึก เออ---มันมีอย่างนี้ด้วย ตายแล้ว---เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเราไหม หรือเราต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของเราไหม ผมว่าอันนี้ต่างหากที่จะมีความสำคัญต่อสังคม”

     แนวคิดนี้แม้จะแปลกแหวกแนวแต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะละครเรื่องแรกของเอ็กแซ็กท์คือ ‘รักในรอยแค้น’ ซึ่งนำแสดงโดยแหม่ม-แคทรียา และแท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ที่เริ่มต้นอย่างไม่เป็นที่สนใจเพราะคนดูแล้วงงจับทางไม่ค่อยได้ สุดท้ายกลับเป็นกระแสให้ผู้ชมลุ้นตอนจบกันทั่วบ้านทั่วเมือง ถึงขนาดมีการพาดหัวข่าวบันเทิงถึงพระเอกของละครเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า “พัดยศ ตายแน่!”


ผมโตมากับหนังเรื่อง‘นํ้าพุ’ แล้วทำให้ผมกลัวเรื่องยาเสพติด แต่สมัยนี้ ไม่มีหนังแบบนั้น ไม่มีละครแบบนั้นที่จะเตือนสติเด็ก แล้วก็หวังว่ายาเสพติดจะหายไป เพราะเด็กไม่เคยเห็นจากโทรทัศน์ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นว่า ยาเสพติดมีเยอะกว่ายุคผมอีก

สีต้องห้าม

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป สุดท้าย ความสำเร็จนี้ก็กลับมาท้าทายถกลเกียรติ เมื่อสังคมในปัจจุบันเริ่มตั้งข้อหาว่าละครไทยยั่วยุให้เกิดความรุนแรง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางเพศ หรือมีแต่เรื่องชิงรักหักสวาท ถึงขนาดมีผู้ไปเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ Change.org ให้กสทช. “หยุดการเผยแพร่ละครนํ้าเน่า” เสียที โดยอ้างว่าละคร “ไม่ได้ทำให้สังคมของเรามีค่านิยมที่ดีขึ้น หากแต่ทำให้เราเป็นทาสการบริโภค และการอวดมั่งอวดมี จนทำให้กลุ่มคนที่อ่อนแอทางจิตใจ และความคิดในสังคม มุ่งเสพซึ่งวัตถุต่างๆ โดยการกระทำที่ไม่ชอบ”

     เมื่อเราถามว่าถกลเกียรติรู้สึกอย่างไรกับคำวิพากษ์วิจารณ์เกรี้ยวกราดเหล่านี้ ถกลเกียรติหัวเราะออกมาเสียงดังเหมือนกับได้ยินตลกร้ายๆ ที่เขาได้ยินมาแล้วหลายครั้งเรื่องหนึ่ง ในขณะที่ผู้ช่วยของเขาเปิดโทรทัศน์ขึ้นมา “นี่ไงครับ ความเห็นของผม ผมกำลังเป็นประเด็นในฉากนี้พอดีเลย”ภาพที่ปรากฏบนโทรทัศน์คือภาพบี้-สุกฤษฏิ์ ที่กำลัง ‘จูบ’ กับแป้ง-อรจิรา ในละครเรื่อง ‘จัดรัก..วิวาห์ลวง’ จูบที่ไม่ใช่แค่มุมกล้องเฉยๆ แต่เป็นจูบแบบฝรั่งเศสจริงๆ ความยาวเกือบ 3 นาที ที่กระทู้ใน Pantip.com ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นจูบที่ “ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ละครไทย”

      “ผมว่ามันเป็นเรื่องของสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับว่ามี ทำไมเราจะต้องมาปิดบังการจูบกันด้วย การจูบเป็นสิ่งไม่ดีเหรอ ถามว่าจูบในละครไทยมีไหม มีมาตลอดนะ เพียงแต่ว่าไอ้จูบอันนี้มันได้อารมณ์มากกว่าอันอื่นเท่านั้นเอง เรามีจรรยาบรรณนะครับ แต่มันก็ต้องดูยุคสมัย ต้องดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคม ผมว่าแต่ละคนเรามีเส้นของความพอดีไม่เท่ากัน อันนี้ยอมให้หน่อย หรืออันนี้ไม่ยอม เราไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ทำร้ายสังคมแน่ๆ

     …อย่างเช่น ทุกวันนี้ปัญหายาเสพติดมีเต็มไปหมดในประเทศไทย แต่ในละครทีวีนี่แทบจะไม่เห็นแล้ว อะไรที่เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่เอา---ห้าม! ผมโตมากับหนังเรื่อง ‘นํ้าพุ’ แล้วทำให้ผมกลัวเรื่องยาเสพติด แต่สมัยนี้ไม่มีหนังแบบนั้น ไม่มีละครแบบนั้นที่จะเตือนสติเด็ก แล้วก็หวังว่ายาเสพติดจะหายไป เพราะเด็กไม่เคยเห็นจากโทรทัศน์ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นว่ายาเสพติดมีเยอะกว่ายุคผมอีก

     …คือคนเรามันหนีความจริงไม่ได้ เอาแค่ปัญหาคอร์รัปชัน ทำออกมาในละครไม่ได้หรอก โดนด่ากันหมดเลย คนทำโดนด่า จะทำฉากให้ตัวละครไปตรงไหนแล้วยื่นเงินให้ เขาบอก ไม่ได้---ห้าม! คนไทยไม่รับเงินใต้โต๊ะ ความจริงสิ่งที่เราพยายามจะนำเสนอคือ ‘เพราะคุณทำอย่างนี้นะ มันจึงเกิดอย่างนี้’ แต่ไอ้ตอน ‘เพราะคุณทำอย่างนี้’ มันออกอากาศไม่ได้ คนเลยไม่ถูกกระตุกให้คิด แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เลยยังเกิดในเมืองไทย เกิดแบบง่ายๆ

     …การที่ไม่มีภาพเกี่ยวกับยาเสพติดหรือภาพ เกี่ยวกับคอร์รัปชันในทีวี มันก็อาจจะเป็นความตั้งใจดี แต่ทุกวันนี้โลกมันไปไหนแล้ว นี่มันยุคอินเทอร์เน็ต เขาอยากดูอะไรเขาก็เสิร์ชได้หมด ถ้าทีวีไม่มีให้ดู เขาก็ไปดูในอินเทอร์เน็ต เราจะมาทำเหมือนกับว่า ‘ถ้าฉันไม่พูดถึงเรื่องนี้ แปลว่าฉันเซฟ คนอื่นพูดฉันไม่เกี่ยว’ ไม่ได้ แล้วสังคมจะเป็นยังไง ผมชอบมองข้ามช็อต แต่อย่างละครวัยรุ่นบางเรื่องผมก็ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอเพียงแค่สะท้อนสังคมแต่ว่าไม่ได้มีคำตอบ ผมก็จะ เฮ้ย---ถ้ามันเป็นประเด็นใหญ่ขนาดนี้ มันต้องสร้างสรรค์สังคมหรือเปล่า สะท้อนสังคมกับสร้างสังคมนี่มันต่างกันนะ”


เก็บรายละเอียด

     อย่างที่ถกลเกียรติได้บอกว่า เส้นความพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน สุดท้ายละครโทรทัศน์ของถกลเกียรติ จะสะท้อนหรือสร้างสังคมได้แค่ไหน ผู้ชมคงต้องวัดและตัดสินไปตามเส้นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นได้ตรงกันก็คือ สำหรับละครเวทีเมืองไทย ถกลเกียรติถือเป็นที่สุด อย่างที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขนานนามว่าเขาเป็น ‘จอมทัพวงการละครเวทีไทย’

     ก่อนหน้ายุคของถกลเกียรติ ละครเวทีจัดเป็นศิลปะที่ลึกซึ้งแต่มีคนดูจำกัด ละครเวทีมิวสิคัลที่สหรัฐฯ ที่ทำให้ ถกลเกียรติประทับใจนั้น เมื่อมาถึงเมืองไทยในรูปของหนังเพลงก็ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนดู ราวกับว่าโลกที่ตัวละครวิ่งเข้าไปร้องเพลงในตลาดแล้วคนในตลาดไม่แตกตื่น แต่กลับลุกขึ้นมาร้องคอรัสประสานเสียงด้วย ไม่สามารถทำให้คนไทยเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ จนถกลเกียรติเคยยอมรับว่าขณะทำ ‘วิมานเมือง’ มิวสิคัลเรื่องแรกของเขานั้น สิ่งที่กลัวที่สุดก็คือ การที่คนดูหัวเราะออกมา แล้วหาว่าตัวละครเป็นบ้า เพราะหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่เขาได้เรียนรู้จากชั้นเรียนวิชาเธียเตอร์ ก็คือ ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนในโลกที่จะทำให้เกิดละครขึ้นมา คนๆ นั้นจะไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่นักแสดง ไม่ใช่คนเขียนบท หากแต่เป็น ‘คนดู’ คนดูเพียงหนึ่งคนก็เพียงพอที่จะทำให้ภาพภูเขานํ้าตกใบไม้ร่วงตามธรรมชาติกลายเป็นละครขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าสร้างคนดูไม่ได้ การแสดงและโปรดักชั่นอลังการทั้งหมด ก็ไม่อาจถือเป็นละคร

     “ละครเวทีเรื่องแรกนี่คนดูในไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครเคยดู คนไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นยังไง แต่โชคดีที่เราได้ดาราแม่เหล็กมาอย่างคุณสินจัย คุณจอห์น นูโว คนส่วนใหญ่ก็เลยกลายแบบว่า ไหนๆ---มีดาราดังนี่ เขามาทำอะไรกันน่ะ ก็ไปดู แล้วก็อุ๊ยตาย---มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ สนุกจังเลย ดีจังเลย เราก็ โห---ชื่นใจ

      …เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราเคยมีประสบการณ์ไปทำงานอะไรที่มันสดๆ อย่างงานเช่นแชริตี้ งานร้องเพลงแล้วเราจะเห็นตลอดว่า ถ้างานมันมีเบรกเมื่อไหร่ ในองก์สอง คนจะหายไปครึ่งหนึ่ง ในตอนทำวิมานเมือง ผมก็เลยแค่หวังว่า พอมันมี intermission แล้วให้คนหายไปแค่ 10-20% พอ อย่าหายไป 50%” แต่ผลที่ออกมาในวันนั้น ถกลเกียรติเล่าไว้ในหนังสือ ‘A Boy Story: 20 ปี ในชีวิตการทำงานของบอยถกลเกียรติ’ ว่า “ผู้ชมยังอยู่กันครบทั้งศูนย์วัฒนธรรม”

     การกล่าวถึงดาราแม่เหล็ก นำไปสู่คำถามที่คนไม่น้อยมักหยิบยกมาตั้งแง่ว่า ละครเวทีของถกลเกียรติมักใช้แต่ดาราที่ดังอยู่แล้ว จนดูเหมือนไม่พยายามให้ละครอยู่ได้ด้วยกำลังของมันเอง ถกลเกียรติยอมรับว่าจริง แต่ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลผิวเผินอย่างการเอาใจคนดูอย่างที่พูดกัน หากเป็นเหตุผลซึ่งบังคับมาจากความเป็นจริงของวงการบันเทิงในปัจจุบัน

     “ทำไมน่ะเหรอครับ ก็เพราะในเมืองไทยตอนนี้มีแต่ star แต่ว่า actor นี่น้อย เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดคุณเอาคนโนเนมมา มันเล่นไม่ได้ มันต่างกับต่างประเทศ ต่างประเทศนี่ actor เต็มไปหมดเลย ดังไม่ดังแต่เล่นดีชิบเป๋งเลย ไม่ดังเลยแต่เล่นดีโคตรเลยก็มีเยอะแยะ แต่ของไทยนี่น้อย เพราะถ้าเขาเล่นดีป่านนี้เขาดังแล้ว ประเด็นนี้ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลย อย่างเด็กที่เรียนดราม่าทุกวันนี้ บางทีจุดมุ่งหมายคือฉันอยากเป็นดารา ไม่ได้อยากเป็นนักแสดงด้วยซํ้า”

     ดูเหมือนสภาวะที่นักแสดงอยากเป็นดารามากกว่านักแสดงที่ดี ผนวกกับความโปรดปรานดารามากกว่าฝีมือการแสดงของคนดู ทำให้อาชีพนักแสดงที่ไม่เป็นดาราหาได้ยากเต็มที แต่ถกลเกียรติเชื่อว่าสถานการณ์ในเรื่องนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

     “มันอาจจะสุกงอมขึ้นครับ เพราะทุกวันนี้คนแข่งมันเยอะ พอคนแข่งมันเยอะ คนก็ต้องหาวิธีการแข่งว่าจะสู้ยังไง พอจะสู้ก็เลยต้องศึกษาไปจนถึงรากฐาน ซึ่งมันอาจทำให้คนๆ นั้นเรียนรู้อะไรจนโดดเด่น ผมกล้าพูดได้ว่าละครเวทีบางเรื่องที่เราทำ เราก็ใช้คนที่ไม่ได้เป็นสตาร์อะไรเลย แต่พอไปดูแล้ว กลายเป็นว่าคนดูประทับใจคนๆ นั้นมากที่สุด ผมก็หวังว่ามันจะมีอย่างนี้ต่อมาอีกเรื่อยๆ เหมือนคนไปดูสี่แผ่นดินแล้วอึ้ง โอ้โห---พินต้า คือใครกันนี่ แล้วพอเป็นอย่างนี้ใครก็เอาสิ่งนั้นไปจากเธอไม่ได้

     …เมื่อวานนี้ผมยังเพิ่งพูดกับรุ่นน้องอยู่เลยว่า ในการแสดงเพลงหนึ่งเพลง การที่คนดูจะตบมือหรือไม่ตบมือมันมีความหมายมาก ผมบอกเลยว่าสำหรับคนดูเมืองไทย อย่าดูแค่ที่เสียงกรี๊ด คนที่กรี๊ดคุณคือแฟนคลับ ซึ่งพอเป็นแฟนคลับคุณทำอะไรเขาก็กรี๊ดอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาชื่นชมศิลปะที่คุณกำลังแสดงอยู่ตอนนั้น ถ้าเผื่อคุณร้องเพลงจบแล้วเขาตบมือ นั่นสิคือเขาชื่นชมคุณจริงๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เวลาที่คุณร้องเพลงจบแล้วคนดูตบมือ เพราะนั่นแปลว่าคุณได้ใจทั้งแฟนคลับและคนอื่นๆ อันนี้ผมว่ามันมีคุณค่ามากกว่า มันเป็นเสี้ยววินาทีที่จะตัดสินว่าการแสดงนั้นจะอยู่ในความทรงจำของคนดูไปตลอดหรือเปล่า”

ยิ่งมีประสบการณ์ในชีวิตเยอะเท่าไหร่ ไอ้ดอตส์ต่างๆ มันจะยิ่งมาเชื่อมต่อกัน แล้วมันก็เอาไปใช้ได้ในอนาคต เราไม่รู้ก่อนหรอกว่า สิ่งที่เราพบเจอมัน จะเอาไปใช้ต่อได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราต้อง เปิดโอกาสให้ประสบการณ์ต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วก็เรียนรู้มัน อย่าตัดอะไรทิ้งง่ายๆ

ภาพที่มีความหมาย

     หลังจากวิมานเมือง ถกลเกียรติก็ประสบความสำเร็จในการทำละครเพลงเรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็น ‘บัลลังก์เมฆ’ ‘ทวิภพ’ ‘สี่แผ่นดิน’ ‘ฟ้าจรดทราย’ หรือ ‘ข้างหลังภาพ’ ถึงขนาดที่ว่าศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่เป็นสถานที่เดียวที่สามารถรับรองโปรดักชั่นที่มีความซับซ้อนได้ ไม่มีช่วงเวลาให้เขาแสดงละครได้เพียงพอ เนื่องจากต้องเวียนไปจัดกิจกรรมอื่นๆ นี่จึงเป็นกำเนิดของเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ โรงละครจำนวน 1,500 ที่นั่ง ที่ถกลเกียรติทุ่มทุนสร้างด้วยเหตุผลว่าต้องการสร้างพื้นที่ให้กับคนประกอบอาชีพละครเวทีที่เขาเห็นว่านับวันยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ยิ่งกว่านั้น เขาบอกอีกหนึ่งเหตุผลสำหรับการสร้างโรงละครไว้ในหนังสือตัวเองว่า

     “ผมว่าสิ่งที่ขาดหายไปนานแล้วในสังคมไทยก็คือ การอยู่ร่วมกันเพื่อชื่นชมอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่การชุมนุมในบ้านเรา มักจะมีจุดประสงค์เพื่อชุมนุมในการด่า หรือขับไล่ น้อยนักที่จะดูเพื่อชื่นชม คนทำดีก็ดีไป ไม่ดีก็โดนด่าเละ sense of appreciation มันหายไป ดูอย่างในต่างประเทศการได้รับรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะ Academy Awards, Grammy Awards หรือ Tony Awards มันมีเกียรติ มันมีที่มาที่ไป และคนก็ยกย่อง มันเป็นสิ่งที่สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้คนทำสิ่งดีๆ ผมหวังว่าโรงละครจะเป็นส่วนหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ให้คนดูรู้สึกดีที่จะชื่นชมกันและกันมากขึ้น แค่เสียงปรบมือดังๆ ในแต่ละรอบก็ทำให้นักแสดงและทีมงาน มีกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆ ต่อไป ในขณะที่คนดูก็จะอิ่มเอมไปด้วย”

      ไม่ต้องถามเลยว่าหากเขาตั้งภารกิจในเรื่องสังคมกับโรงละครขนาดนี้ เขาจะคาดหวังกับละครเวทีของตัวเองขนาดไหน อย่างน้อยๆ ผู้ที่ไปชมละครเวทีอย่างทวิภพของถกลเกียรติก็จะเห็นว่าทวิภพของเขาไม่ใช่แค่เรื่องโรมานซ์ระหว่าง คุณหลวงกับ มณีจันทร์ แต่เป็นความเจ็บปวดของการเสียดินแดน ในสมัย รศ. 112 ยิ่งไม่ต้องไม่พูดถึงสี่แผ่นดินที่นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าเจือไว้ด้วยเนื้อหาที่พยายามตอบต่อสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนถกลเกียรติจะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร เป็นเพียงเรื่องของการทำเพื่อความสุขของตัวเขาเองเท่านั้น

      “ผมคิดแค่ว่าถ้าเราดีคนเดียว ยังไงเราก็อยู่ไม่มีความสุข บ้านเราต้องดีด้วย สังคมต้องดีด้วย ประเทศต้องดีด้วย เราถึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ผมถามหน่อยว่าถ้าเผื่อเรามีรถยนต์สปอร์ตเปิดประทุนอยู่คันนึง หรือหลายคันก็ตาม แล้วเราอยากขับมัน แต่พอออกจากบ้านแล้วมันมีแต่มลพิษ บ้านเมืองก็ทุรกันดาร ขับไปฝุ่นก็เข้า เราจะเอ็นจอยไหม ไอ้รถสปอร์ตเปิดประทุนคันนั้นของเรามันจะมีความหมายไหม มันก็ไม่มีความหมายใช่ไหมฮะ แต่ถ้าเผื่อเราขับไปแล้วมัน โอ้โห---ไม่มีมลพิษ สบาย ขับไปเราก็เอ็นจอย เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกว่า ถ้าเผื่อเรามีของดีอยู่คนเดียว แต่ว่ามันใช้ไม่ได้ มันก็ไม่มีความหมาย

      …อย่างเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่คนบอกว่าเป็นธีมของละครผมหลายเรื่อง ก็เพราะผมเห็นว่านี่คือความดีงามที่ทำให้สังคมมันดีขึ้น อยากให้คนตระหนักถึงสิ่งที่เป็นเสาหลักของบ้านเมือง สิ่งที่คํ้าจุนเรามา สิ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ คือเราจะไปข้างหน้าได้เราต้องมีภูมิหลัง ไม่อย่างนั้น เวลาเราเดินไปข้างหน้า มันจะเหมือนเริ่มใหม่ไปเรื่อยๆ หาอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่ามันทำให้ หนึ่ง ประสบการณ์จากอดีตเสียประโยชน์สูญเปล่า และสอง ทำให้เราเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย

      …อย่างเรื่อง Waterfall (ละครเวทีที่ดัดแปลงจาก ‘ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล’ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อผู้ชมนานาชาติหรือบรอดเวย์) ก็เหมือนกัน ผมอยากบอกผู้ชมนานาชาติว่า เมืองไทยมีดีอะไร วัฒนธรรมไทยมีดีอะไร เพราะวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมตะวันตกต่างกันมากขนาดผมเคยไปเรียนอยู่อเมริกา 12 ปี แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้ว กลับไปอีกครั้งมัน โห---ตกใจ วิธีคิดของคนไทยกับคนอเมริกัน มันต่างกันมาก มันจึงยิ่งกลายเป็นแรงผลักให้เราอยากนำเสนอละคร ให้ฝรั่งได้คิดอีกแบบ แสดงให้เขาเห็นว่านี่อาจเป็นโลกที่เขาไม่รู้จัก แต่มันเป็นโลกที่สวยงามนะ นี่อาจเป็นวิธีคิดที่เขาไม่เคยพบเคยเห็น แต่ว่ามันมีความสวยงามของมัน เพื่อจะได้หาวิธีปรับเข้าหากัน ถ้าเราบอกว่า ไทยแปลว่าวัฒนธรรม ตะวันตกแปลว่าโมเดิร์น การที่คนเราจะล้างไพ่ทุกอย่างแล้วบอกว่า ‘Let’s be modern’ เราก็จะกลายเป็นคนที่อยู่ดีๆ ก็ทิ้งรากเหง้า ละครเรื่องนี้กำลังจะบอกว่าจะผสาน modern และ traditional เข้าด้วยกันอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้

      …แล้วอย่าลืมว่าประสบการณ์ในอดีตคือ สิ่งสำคัญ มันกลับไปที่คำพูดของสตีฟ จ็อบส์ ผมช๊อบชอบ เรื่อง connecting the dots การที่เรายิ่งมีประสบการณ์ในชีวิตเยอะเท่าไหร่ ไอ้ดอตส์ต่างๆ มันจะยิ่งมาเชื่อมต่อกัน แล้วมันก็เอาไปใช้ได้ในอนาคต เราไม่รู้ก่อนหรอกว่า สิ่งที่เราพบเจอมันจะเอาไปใช้ต่อได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดโอกาสให้ประสบการณ์ต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วก็เรียนรู้มัน อย่าตัดอะไรทิ้งง่ายๆ ดอตส์ของเราอาจจะ โผล่มาวันไหนก็ได้”


ลายเซ็น

     อาจเป็นเพราะมุมมองที่เห็นสิ่งต่างๆ เป็นเพียงผลลัพธ์ของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังนั้น ในขณะที่คนอื่นมักนึกถึง ถกลเกียรติในฐานะ ‘บุคคล’ ผู้มีพรสวรรค์และความสามารถจนสร้างปรากฎการณ์ในวงการบันเทิงหลายครั้ง ถกลเกียรติกลับมองตัวเองเป็น ‘แบรนด์’ ทั้งนี้ ไม่ใช่ในความหมายว่า มีบุคลิกยิ่งใหญ่จนกลายเป็นแบรนด์ แต่ในความหมายว่าตัวเองเป็นผลลัพธ์ขององค์ประกอบต่างๆ มากกว่าคนหนึ่งคน

      “คำว่า ‘บอย ถกลเกียรติ’ สำหรับผม ไม่ได้เป็นเพียงชื่อที่คนในวงการบันเทิงใช้เรียกผมอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นชื่อยี่ห้อยี่ห้อหนึ่งที่คนทั่วไปจดจำ เช่น ‘ละครของบอย- ถกลเกียรติ’ ‘รายการของบอย-ถกลเกียรติ’ ‘ละครเวทีของบอย-ถกลเกียรติ’ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผลงานเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว แต่เกิดจากการทำงานของคนเก่งๆ หลายคน ที่ได้มาร่วมชะตากรรมกับผม ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมชีวิต ‘คนสร้างงาน และงานก็สร้างคน’ ผมอยากจะบอกว่ามีหลายคนมากมายที่ ร่วมกันสร้างงานต่างๆ เหล่านี้ และงานต่างๆ เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาสร้างคนๆ นี้”

      ข้างหลังภาพของถกลเกียรติ คือจุดที่ ร้อยเรียงกันมาลงตัวอย่างยิ่งจริงๆ