HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กับการต่อสู้คอมมิวนิสต์สู่การเป็นข้าราชการและนักเรียนในพระองค์

ชีวิตที่เหนือความคาดหมายของเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและเหตุผลของความพอเพียงที่สังคมควรพิจารณาก่อนจะสายเกินการณ์

ธนกร จ๋วงพานิช

      “มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูดสรุปทุกอย่างที่ฉันคิด” คือพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้เปลี่ยนให้ช่วงเวลาแห่งการศึกษาที่ยาวนานที่สุดของดร.สุเมธ ไม่ใช่ชั้นมัธยมที่วชิราวุธวิทยาลัย ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกรอน็อบล์ หรือแม้กระทั่งปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยมงเปอลิเย ณ ประเทศฝรั่งเศส หากแต่เป็น 35 ปี แห่งการติดตามถวายงานพระมหากษัตริย์ผู้เคยได้รับการยกย่องว่าทรง ‘ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก’

     “ทุกครั้งที่กลับจากตามเสด็จฯ ต้องส่งรายงานและสรุปความคิด ส่งถวายขึ้นไปเป็นทางการ ถ้าบันทึกได้ถูกต้อง เข้าใจได้ถูกต้อง ก็รอดตัวไป เก็บเอกสารเป็นไบเบิลไว้ ถ้าผิดก็โดนเรียกเดี๋ยวนั้นเลย ทำไมคิดทำอย่างนี้ แล้วไปสรุปอย่างนั้น โดนแล้วโดนอย่างนี้ 35 ปีนะ” ‘ดอกเตอร์’ ผู้อาจได้ชื่อว่าคงสถานะนักเรียนยาวนานกว่าใคร กล่าวด้วยรอยยิ้มที่ระคนระหว่างความภูมิใจและหนาวใจของผู้ที่เคยต้องผ่านบททดสอบแสนยากและยาวนาน

     อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงประสบการณ์พิเศษของดร.สุเมธ มากเท่ากับความยากและละเอียดอ่อนของพระราชกรณียกิจหรือ ‘งาน’ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ดร.สุเมธได้มีส่วนช่วยถวายการรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับราษฎรผู้ยากไร้ การหาทางบำรุงรักษาทรัพยากรที่กำลังปรับเปลี่ยนทรุดโทรม ตลอดจนการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่จะหล่อเลี้ยงประเทศชาติไปได้ไกลเกินกว่าช่วงเวลาเฉพาะหน้า…‘งาน’ ที่ล้วนไม่อาจหาบทสรุปถูกต้องได้ง่ายๆ

     ท่ามกลางความพยายามมุ่งหน้าเข้าหายุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลและความเป็นไปได้ทางดิจิทัล บทสัมภาษณ์ดร.สุเมธ เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและ ‘งาน’ เหล่านี้ที่ยังไม่เสร็จสิ้น ชวนให้พิจารณาถึงประเด็นของดิน น้ำ และข้าวปลาอาหารแสนสามัญที่จะกำหนดความอยู่รอดของประเทศ หรือแม้กระทั่งโลก ในมิติที่ไม่สามารถทำได้แต่ด้วยกำลังของเทคโนโลยี

คอมมิวนิสต์คือ ‘สงครามต่อสู้ระหว่างคนมีกับ คนไม่มี’ 
ดังนั้น เราเอาอาวุธไปปราบ มันจะทำให้คนมีอะไรขึ้นมา ไม่มีผลเลย ตรงกันข้าม ผู้ก่อการร้ายตาย 1 คน ศัตรูเพิ่มอีก 4 คน เพราะครอบครัวยิ่งเข้าป่าตามกันไป ยิ่งปราบยิ่งโต 

อาชีพพระราชทาน

     เป็นที่ทราบกันดีว่า ดร.สุเมธเคยให้สัมภาษณ์อย่างไม่หวั่นเกรงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองว่า “ผมเป็นอำมาตย์ 100%” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงว่ามารดาของดร.สุเมธเป็นต้นเครื่องห้องอาหารไทยในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และดร.สุเมธเองก็ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาตลอดชีวิตการทำงาน กระนั้น เส้นทางการทำงานในฐานะข้าราชการของดร.สุเมธ ซึ่งเริ่มเมื่อเขากลับจากการศึกษาระดับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส กลับห่างไกลจากคำว่า ‘ตั้งใจ’

     “แม่ผมเป็นหัวหน้าครัวหรือต้นเครื่อง ทำอาหารถวายอยู่ในวังสวนจิตรลดา ดังนั้นเมื่อแม่เข้าไปอยู่แล้ว เราก็เหมือนเด็กในบ้านของพระองค์ท่าน พอกลับจากเมืองนอกแม่จึงให้ไปกราบ จำได้ท่านทรงถามว่า ‘เรียนจบมาจะทำงานที่ไหน’ ก็ตอบท่านว่ากระทรวงต่างประเทศ ท่านฟังแล้วก็เฉยๆ พอดีช่วงนั้น มีเพื่อนอีกคนมาชวนว่าสภาพัฒน์ต้องการปริญญาเอกคนหนึ่ง เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสภาพัฒน์ทำงานอะไร แต่พอเราเห็นท่านนิ่งๆ ไม่รับสั่งอะไร ก็เลยกราบทูลต่อไปว่า มีคนเขาชวนไปอยู่สภาพัฒน์เหมือนกัน จากนั้นท่านหยุดเสวยเลย ทรงรับสั่งทันที บอกว่าสภาพัฒน์นี่ดี ดีแล้วไปอยู่ที่นี่ เสร็จแล้วท่านเรียกท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคมาบอกว่า พรุ่งนี้เช้าส่งสุเมธไปหาหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (องคมนตรีและประธานกรรมการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในขณะนั้น) คือเราไม่มีสิทธิ์พูดอะไร ท่านปิดดีลให้เลย รุ่งเช้าเราก็ไปถาม เอ๊ะ สำนักงานนี้ทำอะไร ทำไมถึงเรียกว่าสภา มีส.ส.หรือเปล่าเพราะตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวบ้านเมือง มาคุยตอนนี้ดูดี แต่ความจริงไม่ใช่เลย ชีวิตเริ่มต้นอย่าง blind จริงๆ”

     ไม่เพียงแต่ดร.สุเมธซึ่งสำเร็จการศึกษามาทางรัฐศาสตร์จะพบว่าตัวเองต้องไปทำงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ซึ่งเกณฑ์การรับสมัครงานคือปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ จนประสบข้อขัดข้องเรื่องวุฒิการศึกษาไม่ตรงทำให้ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอยู่ถึง 8 เดือนเท่านั้น แม้ต่อมาเมื่อมีการตั้งส่วนงานที่ตรงกับวุฒิการศึกษาของดร.สุเมธ ส่วนงานนั้นก็กลับเป็นกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านความมั่นคง ซึ่งมีภารกิจ “รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์” หรือเรียกง่ายๆ ว่าการวางแผนรบกับผู้ก่อการร้าย ที่แทบจะตรงกันข้ามกับความฝันการเป็นนักการทูตของดร.สุเมธ

     “สรุปที่เรียนมาที่ฝรั่งเศสไม่ได้ใช้งานเลยแต่สิ่งที่ได้ใช้กลับเป็นความรู้ตอนที่ออกจากวชิราวุธฯ สมัยม.6 แล้วได้ทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสไปเรียนเวียดนาม เพราะตอนนั้นเราได้เห็นสงครามการก่อการร้ายระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เห็นบ้านเมืองพังพินาศ ต่อมาพอเวียดนามรบหนักจนอยู่ไม่ได้ ต้องมาเรียนต่อที่ลาว ก็ได้เห็นความล่มสลายของอีกประเทศหนึ่งอีก พอได้เห็นอย่างนั้น เราเลยรู้ว่าไม่ใช่แล้ว เวียดกงพร้อมเมื่อไหร่เขาก็เอารถถังลุยเข้ามาชนประตูทำเนียบเข้าไปยึดได้เฉยๆ เลย ดังนั้นที่เราวางแผนตั้งรับอยู่เฉยๆ นี่ผิดแล้ว

     …พอดีกับได้ไปอ่านหนังสือของ Sir Robert Thompson เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่มาเลเซีย ก็ตรงกัน เพราะหนังสือบอกว่า การปราบปรามคอมมิวนิสต์ต้องตีตัวในไข่ อย่าให้ฟักออกมาเป็นตัว ฟักออกมาเป็นตัวเมื่อไร ตามไม่ทันเลย สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด แปดเป็นสิบหก เพราะฉะนั้นต้องตัดที่ต้นตอ สงครามเป็นสงครามจากกองโจร ป่าล้อมบ้าน บ้านล้อมเมือง เมืองล้อมนคร เรากลับวางแผนรับอยู่อย่างเดียว ต้องเปลี่ยน ไปรุกในสนามรบเลย นั่งรอไม่ได้ มันก่อหวอดที่ไหนล่ะ ก่อหวอดในชนบท ป่าล้อมบ้าน ก็ต้องไปซัดกันในป่านั่นแหละ”

     ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่วิชารัฐศาสตร์ไม่ได้เตรียมดร.สุเมธมาสำหรับการสู้รบ แต่ก็ได้ช่วยให้เขาเห็นสิ่งที่อยู่พ้นการสู้รบออกไป “อยู่ในป่าเราเห็นข้อผิดพลาดเลย เราใช้กำลังเข้าปราบเหมือนที่เวียดนาม ที่ลาว อเมริกันใช้กำลังเป็นอย่างเดียว วิธีแก้ไขที่ฉลาดกว่านั้นไม่มี อเมริกันเรียนกันมาแต่ว่า ‘Search and Destroy’ พฤติกรรมในประวัติศาสตร์ก็แสดงออกมาอย่างนั้น แต่วิธีนี้มันไม่สำเร็จ เราเรียนรัฐศาสตร์ซึ่งสอนทฤษฎีการเมือง มองเลยการใช้อาวุธรบไปจนถึงต้นตอของสงคราม หนังสือ Das Kapital (บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยนักปรัชญาสังคมนิยม คาร์ล มาร์กซ์) ของพวกคอมมิวนิสต์ เราก็เคยต้องอ่านในชั้นเรียน หนังสือ Das Kapital ประโยคเรียบง่าย สรุปทั้งหมดเลยว่าคอมมิวนิสต์คือ ‘สงครามต่อสู้ระหว่างคนมีกับคนไม่มี’ ดังนั้น เราเอาอาวุธไปปราบ มันจะทำให้คนมีอะไรขึ้นมา ไม่มีผลเลยตรงกันข้าม ผู้ก่อการร้ายตาย 1 คน ศัตรูเพิ่มอีก4 คน เพราะทั้งครอบครัวหรือเพื่อน ผู้ก่อการร้ายเลยยิ่งเข้าป่าตามกันไป ยิ่งปราบยิ่งโต

     …เราเลยเริ่มต่อสู้แบบใหม่ แต่การต่อสู้เที่ยวแรกไม่ได้สู้กับข้าศึก ต่อสู้กับพวกเดียวกันเอง เพื่อปรับความคิดให้เหมือนกันก่อนว่าศัตรูไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่มันเกิดจากคนมีกับคนไม่มี ในพื้นที่สีแดงที่โจรก่อการร้ายครอบครองอยู่ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เขาบุกรุกป่าอยู่ เดี๋ยวตำรวจก็มาจับ เดี๋ยวทหารก็เข้ามาตี เพราะฉะนั้น เขาไม่มีอะไรให้รัก ยิ่งแถวชายแดนบางคนไม่มีกระทั่งสัญชาติ เป็นลาวหรือไทยก็ไม่รู้ เป็นเขมรหรือไทยก็ไม่รู้ อยู่ชายแดน ข้ามไปข้ามมา มันก็ไม่มีอาชีพ ไม่มีอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้น คนไม่มีจะให้เขาคิดอะไรครบๆ มันยาก เขาก็ไขว่คว้าทุกอย่างที่มาเสนอ ใครมาสร้างความหวังอะไรก็กระโดดเข้าใส่ มีคนมาบอกว่ายามเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทุกคนจะได้รับการแบ่งสรรที่ดิน เขาก็มีความหวังมากมายไปหมด เพราะไม่มีคนบอกต่อว่าพอได้เป็นเจ้าของแล้ว เขายังจะต้องทำส่งใครอีก”

เราถนัดแต่เรื่องรูปฟอร์ม ชอบรำมวย มีศาสนาพุทธ
ก็รู้ แต่กราบพระต้องเบญจางคประดิษฐ์ ฟังพระสวดต้องพนมมือ แต่ธรรมะมีอะไรบ้าง ไม่รู้ไม่ใส่ใจ คิดแต่เรื่อง รูปฟอร์ม เรื่องระเบียบ เรื่องท่ารำต้องสวย กว่าจะลงถึงแก่นสารได้ก็วกวน ปิงวังยมน่านกันอยู่นั่น

เข้าป่า

     สำหรับดร.สุเมธ การต่อสู้กับพวกเดียวกันที่ว่าดูเหมือนจะเริ่มด้วยการไป ‘เคาะประตู’ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เพื่อบอกความเห็นส่วนตัวว่าแนวทางการรับมือกับสงครามการก่อการร้ายกำลังดำเนินไปโดยผิดทิศทาง

     “เรามันแค่ข้าราชการชั้นโทเท่านั้น ไม่ได้เป็นหัวหน้ากอง เป็นแค่ลูกน้องธรรมดา ไปบอกหัวหน้ากอง เขาก็ไม่เล่นกับเราด้วย แต่อาศัยที่ไปอยู่เมืองนอกนาน พอเราอึดอัดมากๆ เข้า เราก็ไม่เกรงใจใคร เดินไปเคาะประตูหาคุณสิทธิเลย และบอก ท่านครับ ทำอย่างนี้ผมเห็นสองประเทศแตกคาตาเลย เราต้องเข้าไปตีก่อน ตั้งรับไม่ได้ แล้วใช้อาวุธอย่างเดียวไม่มีทางจบ เราต้องลงไปเปลี่ยนสภาพคนไม่มีให้มี เราถึงจะชนะได้ คุณสิทธิฟังปั๊บท่านก็เห็นด้วย และพาเราไปหานายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คืออาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร อาจารย์ธานินทร์ท่านไม่ชอบคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว พอเสนอปั๊บท่านรับทั้งแผนเลย แล้วถามว่าใครจะทำ เราบอก ถ้าไม่มีใครทำผมรับเอง แต่ขอให้ท่านสนับสนุนเรื่องอำนาจกับเงิน

     …อำนาจ คือให้เรามีอำนาจใช้ในการทำงานได้ เพราะพวกผู้ก่อการร้ายประชุมเดี๋ยวนี้ คืนนี้มันก็เล่นแล้ว ถ้าเรามัวแต่รบกันแบบขั้นตอนราชการมันไม่ทันการณ์ ดังนั้นเราขอให้ตั้งเราเป็นเลขาฯ แม่ทัพทั้ง 4 ภาค (เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพภาค) เพื่ออาศัยอำนาจแม่ทัพ เพราะแม่ทัพตอนนั้นใหญ่มาก คุมทุกจังหวัด ส่วนเงิน เราขอ 20-30 ล้าน แต่มีเงื่อนไขคือให้เป็น Floating Fund หมายความว่าใช้ได้ทันที ไม่ต้องตั้งงบประมาณข้ามปี พอได้อย่างนี้ แม่ทัพภาคเป็นประธาน เราเป็นเลขาฯ เราเข้าไปดูในพื้นที่และกำหนดเป้าหมาย กำหนดโครงการ เสร็จแล้วแม่ทัพเซ็นปั้ง ส่งเข้านายกฯ นายกฯ เซ็นปั้ง เอาเงินไปทำได้เลย”

     การตอบรับภารกิจของดร.สุเมธในวันนั้น เรียกได้ว่าเป็นการก้าวออกจากสายงานการทูตหรือแม้กระทั่งงานฝ่ายบุ๋นอื่นๆ ของสภาพัฒน์อย่างเป็นทางการ เพราะหมายถึงการต้องถูกบรรจุเป็นกำลังพลของกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยแม้แนวทางการรับมือกับคอมมิวนิสต์ของดร.สุเมธจะไม่เน้นการใช้อาวุธ แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นการลงพื้นที่สู้รบเพื่อทำความเข้าใจกับ ‘ศัตรู’ หรือปัญหาความยากไร้ในท้องถิ่น และความหลงผิดของประชาชนกลุ่มหนึ่ง

     “ลุยบ้าเลือดเลยเหนือจรดใต้ ไปกับลูกน้องกลุ่มหนึ่ง นอนกลางดิน กอดปืนแล้วฟังเสียงปืนทั้งคืน บางทีถูกล้อม ถูกยิงเฮลิคอปเตอร์ตก เฉียดกับระเบิด เหตุการณ์ประจำวันเลย ไม่เคยนึกเลยชีวิต จากที่เคยหวังจะอยู่โก้ๆ หรูๆ ไปเป็นทูต เป็นอะไร โถ---ตอนนั้นเวลานอนรองเท้ายังถอดไม่ได้เลย เพราะจะต้องออกวิ่งเมื่อไรก็ไม่รู้

     …แต่สิ่งที่เราทำก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เริ่มจากคำว่ามี-ไม่มี เข้าไปที่ไหน เขาไม่มีที่ดิน ก็ทำโครงการจัดสรรที่ดิน เขาไม่มีอาชีพก็หาอาชีพให้เขา เขาไม่มีสัญชาติ ก็จัดการให้เขามีสัญชาติ ทีนี้พอเขามีเงิน มีสมบัติแล้ว เขาก็ลุกขึ้นมาจับปืนปกป้องสมบัติเขาเอง ถือเป็นการดับไฟใต้ต้นตอเลย ใช้เวลา 11 ปี วาง 14-15 โครงการทั่วประเทศ สิ่งที่ชี้ชัดถึงความสำเร็จคือวันที่ผู้ก่อการร้ายกลับใจ 90% มามอบตัวในโครงการ ไม่ได้มอบตัวกับหน่วยงานเลย”

เราชอบ ‘ได้ยิน’ พระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคย ‘ฟัง’ เลย ท่านเสด็จออก คนมืดฟ้ามัวดิน แต่เสร็จพิธีแล้ว เมื่อกี้ท่านรับสั่งอะไรบ้าง ไม่รู้ เพราะไม่ได้ฟัง ปลื้มแต่พระสุรเสียงที่ส่งออกมา ‘ชอบได้ยิน แต่ไม่เคยฟัง ชอบเห็น แต่ไม่เคยมอง’ นี่คือจุดอ่อน

กลับเข้าวัง

     อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โชคชะตาส่งดร.สุเมธให้ห่างไกลออกจากอาชีพที่คาดหวัง ทางหนึ่งก็กลับหนุนนำให้เขาเคลื่อนเข้าใกล้สิ่งที่จะกลายมาเป็น ‘ภารกิจของชีวิต’ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภายหลังเสร็จศึกคอมมิวนิสต์ 11 ปี หนึ่งใน 4แม่ทัพที่ดร.สุเมธถืออำนาจเลขานุการทำงานในพื้นที่ กล่าวคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีนโยบายจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)’ เพื่อเป็นหน่วยงานช่วยขับเคลื่อนโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยด้วยความที่ได้ทราบและประทับใจกับบุคลิกและวิธีการทำงานของดร. สุเมธมาตั้งแต่สมัยลงพื้นที่ พลเอกเปรมจึงแต่งตั้งดร.สุเมธขึ้นเป็นเลขาธิการคนแรกของกปร. ก่อนที่จะตามมาด้วยตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าภารกิจของกปร.ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหน่วยงานราชการที่สนองพระราชดำริ “ดำเนินการอย่างเอกเทศในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยไม่มีการประสานงานกับหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” หรือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งมีขึ้น “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที” ก็เรียกว่าสอดคล้องกับเนื้อหางานของการพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ของดร.สุเมธในช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่อยครั้งคือการประสานและอุดช่องโหว่อันเกิดจากระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ยังไม่สมบูรณ์นั่นเอง

     “แนวทางเหมือนกัน คือทำงานแบบรุกเข้าไปแทนที่จะตั้งรับ สิ่งนี้ฝืนลักษณะของไทยเลย สังคมไทยชอบตั้งรับ ชอบแก้ปัญหา แต่ไม่ชอบป้องกันปัญหา ที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ก็เพราะเราไม่ได้ไปป้องกันที่ต้นตอ ปัญหาจึงไม่รู้จบ เรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องอะไรๆ วนเวียนกันไป แล้วระบบการดูแลประชาชนของเรายังไม่ทันท่วงที ช้า มีขั้นตอน เสร็จจากกระทรวงนี้ก็ไปอีกกระทรวงหนึ่ง มีไอเดียขึ้นมา กว่าจะได้เม็ดเงินมาทำงาน มันมีระยะเวลาเดินทางนาน อันนี้คือ ‘ไม่ทัน’ ประการที่หนึ่ง

     …ประการที่สองคือ ‘ไม่ถูก’ เราไม่เข้าใจปัญหาว่าต้นตอมาจากไหน ก็มะงุมมะงาหราไปคอยดับไฟอยู่ปลาย าง ปัญหาก็ไม่มีวันสิ้นสุด อย่างตอนนั้นพยายามแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ด้วยอาวุธปืน ก็เรียกว่าให้ยาผิด อย่างตอนนี้ก็ผิดอีก เห็นคนจนก็แจก มันไม่ใช่ ต้องดูต้นตอว่าเขาจนเพราะอะไร ขาดทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า จัดการสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้หรือเปล่า ไม่ใช่แก้แบบง่ายๆ ไม่มีอะไรก็แจกให้เขา จนสุดท้ายเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องให้เขาร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเอง ให้แต่ของที่เป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ทำงานมา การให้เป็นเรื่องมาทีหลังลิบลับเลย

     ...พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าพวกเรา ‘ติดอยู่แค่เปลือกไม่ลงถึงแก่น’ คนไทยบ้าที่สุดเลย ประชุมเป็นชั่วโมงๆ บางทีไม่มีข้อสรุป ค้างเติ่งเอาไว้คุยคราวหน้าต่อ เสร็จแล้วก็ตั้งอนุกรรมการ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 5 ชุด ถ้าคุยกันด้วยแก่นไม่ต้องประชุมกันนานหรอก แต่นี่เราถนัดแต่เรื่องรูปฟอร์ม ชอบรำมวย มีศาสนาพุทธก็รู้แต่กราบพระต้องเบญจางคประดิษฐ์ ฟังพระสวดต้องพนมมือ งานอย่างนี้ต้องพระ 5 องค์ งานนี้ต้อง 9 องค์ งานนี้ต้อง 7 องค์ ถ้า 4 องค์สวดศพ แต่ธรรมะมีอะไรบ้าง ไม่รู้ไม่ใส่ใจ คิดแต่เรื่องรูปฟอร์ม เรื่องระเบียบ เรื่องท่ารำต้องสวย กว่าจะลงถึงแก่นสารได้ก็วกวน ปิงวังยมน่าน กันอยู่นั่น ผมว่ามันเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย”

พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงรักษาดิน รักษาน้ำ เพราะนี่คือปัจจัยของชีวิตเรา คนวงการการเงินรู้ดีอยู่แล้ว เราต้องมีทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์ เงินถึงจะมีค่า แต่วันใดที่สิ่งเหล่านี้พังหมด เงินเป็นกระดาษเลย ประเทศรอบๆ เราพกเงินกันเป็นปึกๆ ใกล้เป็นกระดาษเต็มทีแล้ว

นักเรียนในพระองค์

     ขณะนี้ดร.สุเมธในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการกปร. ตลอดจนผู้แต่งหนังสือเรื่อง ‘ใต้เบื้องพระยุคลบาท’ ‘หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท’ ‘ข้าแผ่นดินสอนลูก’ อาจเป็นที่รู้จักในฐานะเสาหลักด้านการเผยแพร่หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่หากย้อนกลับไปในสมัยเริ่มงานที่กปร. ดร.สุเมธรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีความรู้ใดๆ ที่จะถวายงาน ถึงขนาดได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปตรงๆ เช่นนั้น โดยไม่ทราบว่าคำกราบบังคมทูลนั้นเองจะนำมาซึ่งโอกาสพิเศษอย่างหาที่เปรียบมิได้

     “เรากราบบังคมทูลพระองค์ท่านเลยว่าข้าพระพุทธเจ้าเรียนรัฐศาสตร์การทูต ไม่รู้เรื่องดินเรื่องน้ำอะไรเลย พระองค์ก็ตรัสว่า ‘แค่นั้นหรือ ฉันทำใหม่ๆ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่เป็นไรหรอก ฉันสอนเอง’ จากจุดนั้นทำให้เราต่างจากคนอื่นเลย คนอื่นเขาเดินตามถวายงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากกรมชลฯ เขาก็ถวายความชำนาญเรื่องน้ำ แนะเรื่องน้ำอย่างนั้นอย่างนี้ พอเสร็จเรื่องน้ำเขาก็ถอยกลับ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมพัฒนาที่ดินเข้ามา เขาก็ถวายเรื่องดิน มีดินชุดนั้นชุดนี้เหมาะกับการปลูกพืชชนิดนั้นชนิดนี้ เสร็จแล้วก็ถอย แต่เราต้องอยู่ตลอด ต้องรู้ทุกอย่าง เพราะพระองค์ทรงสอน เดี๋ยวก็รับสั่งเรียก อ้าว---อยู่ไหน เรียกมาสอนนี่ๆ เป็นอย่างนี้ๆ รู้สึกดีใจมากที่วันนั้นกราบบังคมทูลไปอย่างนั้น

     …วันก่อนเพิ่งไปบรรยายให้พวกครูฟัง บอกพระองค์ท่านสอน 3 วิธี ท่านบอกอย่าไปยืนไกล มาอยู่ใกล้ๆ แล้ว ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ นึกว่ายากแต่จริงๆ ไม่ยาก ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ’ แปลว่าไม่ได้แค่เห็น ให้ดู มองแล้วแปลความหมายให้ได้ ทรงทำทำไม ทรงทำอย่างนี้เพื่อใคร โยงเข้าปัญหายังไง ต้องตีให้แตก มองทุกอย่างที่ฉันทำ คือท่านสอนปัจจุบัน

     …‘จดทุกอย่างที่ฉันพูด’ คือท่านสอนอดีต ต้องจำให้ได้ อย่าไปลืมอดีต จดหมดทุกอย่าง มันจะเป็นหลักฐาน สิ่งที่เราบันทึกไว้นั้นจะเป็นบทเรียนเพื่อให้คนปัจจุบันได้เรียนด้วย

     …‘สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ คือท่านให้เราคิดไปสู่อนาคต ทีแรกเราก็ ตายละ---จะไปรู้ได้ไงว่าท่านคิดยังไง แต่เปล่า ท่านคิดดังๆ เราแค่ต้องจับความให้ได้เท่านั้น นี่นะ ตรงนี้ เขาขอมาอย่างนี้นะ ฉันให้อย่างนี้นะ ประโยชน์ได้อย่างนี้ คอยดูนะพอได้สิ่งนี้ไป อีกสามปี ห้าปี มันจะเป็นอย่างนี้นะ มีเป้าหมายที่คิดไปสู่อนาคต ไม่ได้คิดแต่ปัจจุบัน ไม่ใช่ของสิ่งนี้หมดไปแล้วก็จบ ต้องมองไปถึงอนาคตด้วย

     …สุดยอดเลย ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ ทำอย่างนี้มา 35 ปี อัดเข้าไปๆ ให้โง่ยังไงก็ต้องเข้าใจ เราเรียนปริญญาตรีสี่ปี ปริญญาโทก็ปีกว่า ปริญญาเอกก็สองสามปี แต่เรียนอย่างนี้35 ปีแล้วก็ยังไม่จบ กระบวนการไม่หยุด ทุกครั้งที่กลับจากตามเสด็จฯ ต้องส่งรายงานสรุปความคิด ส่งถวายขึ้นไปเป็นทางการ ไม่ใช่ท่านบอกให้จดแล้วก็ไม่ได้ตรวจนะ ท่านตรวจ ถ้าบันทึกได้ถูกต้อง เข้าใจได้ถูกต้อง ก็รอดตัวไป เก็บเอกสารเป็นไบเบิลไว้ ถ้าผิดก็โดนเรียกเดี๋ยวนั้นเลย ทำไมฉันทำอย่างนี้ แล้วไปสรุปอย่างนั้น โดน---แล้วโดนยังนี้ 35 ปีนะ ถูกสอบ quiz ตลอดเลย แล้ว ‘ขาดทุนคือกำไร’ ถ้าเราเกิดจดผิดหรือเข้าใจผิด ได้กำไรเลย เพราะท่านจะเรียกมาติวเพิ่ม ถูกดุจริง แต่ท่านไม่ได้ดุเฉยๆ ดุเสร็จแล้วท่านก็จะสอนอีกครั้ง ดีกว่ารอบแรกอีก รอบแรกอาจจะแค่รับรู้รับทราบ แต่รอบสองเราจะได้อะไรเพิ่มขึ้นมา”

     อาจเป็นเพราะดร.สุเมธถูกเคี่ยวกรำเป็นพิเศษเช่นนี้ เขาจึงรู้ว่าคนไทยยังสามารถเรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ “ไม่มอง คือคนไทยชอบ ‘เห็น’ พระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วดีใจ ประทับใจน้ำหูน้ำตาไหล แต่ไม่เคย ‘มอง’ พระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นเลยไม่เข้าใจว่าเราควรต้องทำอะไร เหมือนเราเป็นชาวพุทธ เจอพระพุทธก็กราบ เจอพระสงฆ์เดินผ่านมากราบ พอพระสวดก็พนมมือ แต่ไม่รู้เรื่อง เหมือนกัน เราชอบ ‘ได้ยิน’ พระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคย ‘ฟัง’ เลย ท่านเสด็จออก คนมืดฟ้ามัวดิน แต่เสร็จพิธีแล้ว เมื่อกี้ท่านรับสั่งอะไรบ้าง ไม่รู้ เพราะไม่ได้ฟัง ปลื้มแต่พระสุรเสียงที่ส่งออกมา ‘ชอบได้ยิน แต่ไม่เคยฟัง ชอบเห็น แต่ไม่เคยมอง’ นี่คือจุดอ่อน

     …ยกตัวอย่างตอนที่ท่านเสด็จออกมหาสมาคม คนมามืดฟ้ามัวดิน คนที่ไม่มาก็นั่งฟังโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน ท่านรับสั่งอยู่นาทีครึ่ง แต่ไม่ว่าใคร ระดับไหน จำไม่ได้ จำไม่ได้เพราะใจไม่ได้จับอยู่กับความหมายที่ท่านรับสั่ง ท่านเตือนอยู่ 4 ประโยค 4 เรื่อง ตอนนั้นยังไม่ทะเลาะกันนะ ยังไม่แบ่งแยก แต่เหมือนท่านทรงมองเห็นข้างหน้า หลักใหญ่ใจความก็คือท่านทรงสอนให้ตั้งสติในการฟังเหตุฟังผลของกันและกัน ถ้าเขาพูดมีเหตุมีผลแล้วก็ต้องยอม ยอมเสร็จเราก็ต้องเปลี่ยนความคิดของเรา มันจะได้ลงมือทำงาน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยฉันก็จะไม่ร่วมด้วย มันก็พัลวันกันไปหมด คิดดูสิท่านทรงสอนง่ายๆ แต่ว่าไม่มีการปฏิบัติอะไรเลย

     …แต่สังเกตว่าหลังวันที่ 13 ตุลาคม มีการเชิญผมไปพูดมากขึ้น 5 เท่า หมายความว่าอะไร หมายความว่าตอนที่ท่านอยู่ไม่มีใครฟัง แต่พอสิ้นท่านแล้ว เริ่มสนใจ อยากจะฟัง เพราะฉะนั้น ใครโศกเศร้ากระวนกระวาย ฟูมฟาย เราบอกยุติเถอะ เช็ดน้ำตาให้แห้ง ไม่มีศาสดาใดอยู่กับเราเลยสักองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าจากไป 2560 ปีแล้ว พระเยซูจากไป 2017 ปีแล้ว พระมูฮัมหมัดก็จากไปเป็นพันปีแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันแต่พระองค์จะทรงอยู่กับเราผ่านคำสอนทั้งหลายทั้งปวง พระรูปก็ยังอยู่ เหลียวไปที่ไหนก็เจอหมด เป็นหน้าที่ของเราที่เหลียวกลับมาดูธรรมะที่ท่านสอนแล้วเริ่มปฏิบัติ”

     ยิ่งกว่านั้น การที่ทุกคนลงมือปฏิบัติ ยังจะเป็นส่วนช่วยให้คำสอนของพระองค์เผยแพร่ไปได้ในมิติที่ลึกกว่าภาพยนตร์หรือสารคดีเฉลิมพระเกียรติจะถ่ายทอดได้ “ความสำเร็จที่ดีที่สุดไม่ใช่โครงการของมูลนิธิ แต่เป็นโครงการของชาวบ้าน ชาวบ้านที่ปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์แล้วน้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง ร่ำรวยปลดหนี้ปลดสินได้หมด ทุกวันนี้มีโครงการอย่างนี้ทั่วประเทศไทยไปหมด อย่างตอนน้ำแล้ง เราส่งคนไปสำรวจ สำรวจไม่ได้หมด แต่รู้ว่ามีอย่างน้อย 900 แห่งที่น้ำไม่แล้ง ในขณะที่รอบๆ ตัวเขามันแล้งหมด นี่คือความสำเร็จ แล้วความสำเร็จนี้จะทำให้เพื่อนของเขาริเริ่มทำตามต่อไป เวลามูลนิธิไปพูดเขาอาจจะฟังน้อย อาจารย์สุเมธพูดแนะอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวเองทำบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเพื่อนเขาเองทำ เพื่อนที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน เขาก็ต้องเชื่อ เราดูบรรยากาศทั่วไปเหมือนคนยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์ท่าน แต่ความจริงคือมันเริ่มเกิดความสำเร็จเป็นหย่อมๆ ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งมันจะเชื่อมต่อ และแผ่ขยายขึ้นมาได้”

สถานการณ์ที่บีบคั้น

     ความเป็นห่วงของดร.สุเมธคือระหว่างที่เรากำลังรอความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าในระดับจุลภาค กล่าวคือการดำเนินชีวิตภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนแต่ละคน หรือในระดับมหภาค กล่าวคือนโยบายของรัฐที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความไม่พอเพียงและความไม่ยั่งยืนเท่าที่เป็นอยู่อาจบั่นทอนโลกไปจนถึงจุดที่ยากจะแก้ไขอะไรได้ “พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงรักษาดิน รักษาน้ำ เพราะนี่คือปัจจัยของชีวิตเรา เราเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเงิน เห็นเป็นของสมมติ แต่ไม่ดูของจริง ของสมมติมันไม่มีราคา คนวงการการเงินรู้ดีอยู่แล้ว เราต้องมีทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์ เงินถึงจะมีค่า แต่วันใดที่สิ่งเหล่านี้พังหมด เงินเป็นกระดาษเลย ประเทศรอบๆ เราพกเงินกันเป็นปึกๆ ใกล้เป็นกระดาษเต็มทีแล้ว สิ่งที่รู้สึกคือ เป็นห่วงลูกหลาน ไม่ต้องลูกหลานคนอื่นเอาลูกหลานตัวเองนี่แหละ เขาจะอยู่ได้ยังไง ถ้าเขาทำลายสิ่งเหล่านี้ จึงต้องคอยอบรม เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ ชี้อันตรายให้เห็น ทุกคนต้องหาเงิน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าของสมมติ จะมีค่าก็ต่อเมื่อเรารักษาดิน น้ำ ลม ไฟ เอาไว้ได้ถ้าไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เงินก็จะไม่มีค่าขึ้นมา

     …ต้องสอนกันต่อไปเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง UN ก็ประกาศเหมือนกัน ใช้คำว่า Sustainable Development Goals แต่ปัญหาคือบางทีคนเรารู้ตัว แต่ว่ายังเอาชนะกิเลสไม่ได้ อัล กอร์ยกอุปมาอุปไมยเปรียบว่าบนตาชั่งมีโลกอยู่ข้างหนึ่ง กับมีทองคำอยู่ข้างหนึ่ง ข้างใต้เป็นน้ำ ให้เราเลือกว่าอยากหยิบข้างไหน ถ้าทุกคนอยากรวย หยิบเอาทอง หยิบกันคนละก้อนสองก้อน โลกก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ จนผลสุดท้ายโลกทั้งโลกจมน้ำ ทีนี้เรากอดทองไว้ แล้วเรารอดไหม โลกจมน้ำ เราก็ตายกันหมด ทองก็กลายเป็นแร่ธาตุ กลับคืนสู่ธรรมชาติ ความจริงมันเป็นธรรมะง่ายๆ นะ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้นต้องพยายามสอน

     …นี่ไม่ใช่เพราะผมมาถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือมีตำแหน่งอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ภารกิจมนุษยธรรมคือเราต้องรักษาและส่งต่อทุกอย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ลูกหลานเราต่อ เราจะใช้น้ำให้หมดถึงขนาดลูกหลานอดอยากหรือ หมายังรักลูกของมันเลย เราจะส่งต่อแม่น้ำที่เน่าทั้งสายให้ลูกเราหรือ ส่งภูเขาที่ไม่มีต้นไม้สักต้นให้ลูกเราหรือ แล้วเขาจะเอาอะไรกิน ทั่วโลกเข้าไปสู่ช่วงสุดท้ายแห่งมรณภพแล้ว ตัวเลขชี้ให้เห็นชัดเจน ปลาน้อยลง ทุกอย่างน้อยลง มนุษย์เราบริโภคทุกอย่าง บริโภคเสร็จแล้วก็ถ่ายออกมา ต่อให้วันนี้ทุกคนหยุด ทุกคนหันมาพอเพียงหมด โลกก็รับไม่ไหว ขั้วโลกกำลังละลาย แผ่นดินก็ลดน้อยลงไปอีก เวลานี้ทุกประเทศกำลังเริ่มศึกษาดู สาหร่ายกินได้ไหม เริ่มเปลี่ยนชีวิตจากมนุษย์บกมาเป็นมนุษย์น้ำ เพราะกินบนบกจนเหี้ยนหมดแล้ว ที่พูดทั้งหมดนี่ ผมไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ได้พูดอะไรที่อุดมการณ์ เอาข้อเท็จจริงมาให้เห็นกันเท่านั้นเอง

     …เราก็ได้แต่ทำดีที่สุด อย่าเร่ง อย่าไปโง่ถึงขนาดฆ่าตัวตายให้เร็วขึ้นอีก ชะลอไปเท่าที่ทำได้ เผื่อแผ่ไปถึงลูกหลานเท่าที่จะเหลือ คงทำได้แค่นั้น เอาจริงๆ ธรรมชาติก็เตือนเราหมดแล้วนะ เตือนด้วยน้ำ ด้วยสึนามิ ด้วยพายุ ด้วยแผ่นดินไหว เตือนหมดแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังทำเสมือนกับว่าขอรวยก่อนแล้วก็ลงโลงกันไป เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง”

คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอมีการเปลี่ยนแปลง จะดิ้นรน แต่ลองดูสิ ถ้าเขาได้เปลี่ยนจนกระทั่งได้ลิ้มชิมรสอะไรเขาก็จะยอมรับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมันต้อง ต่อเนื่อง เราอย่าไปนึกว่าปีสองปี มันจะเสร็จ

วินัยคือทางออก

     เนื่องจากเดิมพันความอยู่รอดของมนุษยชาติเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากการพยายามปลูกฝังให้คนมีสำนึกแล้ว เราจึงถามถึงทางอื่นที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้มนุษย์ปรับพฤติกรรมได้มากและเร็วยิ่งขึ้น สำหรับดร.สุเมธ เขาคิดว่าคำตอบอยู่ที่คำว่า ‘วินัย’ “จุดอ่อนในสังคมไทยคือไม่มีระเบียบวินัย ไม่เคยถูกฝึก แม้กระทั่งโรงเรียนเดี๋ยวนี้ก็เน้นปล่อยเสรีภาพให้เด็ก เรื่องระเบียบ เรื่องยืนตรง มันเต่าล้านปีแล้ว แต่เราสมัยอยู่วชิราวุธฯ เคยโดนตบมา เคยโดนอบรมให้มีระเบียบวินัย ซึ่งภายหลังเป็นสิ่งที่ช่วยเราเยอะ พอเรามีวินัย ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาก็มีต่อเนื่องกันไป เดี๋ยวนี้เวลาไปบรรยาย เห็นชัดเลย ถ้าไปโรงเรียนสมัยเก่า เช่น ราชินีฯ วชิราวุธฯ เด็กนั่งเงียบเป็นระเบียบ ถ้าไปโรงเรียนสมัยใหม่ ครูต้องเดินตามเตือนเด็กเลย เด็กไม่ฟัง ประชาธิปไตยต้องการอิสระ มันก็เป็นอย่างนี้ เราก็คิดว่าตัวเราเรียนจบมาแบบสมัยใหม่นะ เราเรียนอยู่เมืองนอก อยู่ในประเทศที่มันอิสระที่สุด ประชาธิปไตยที่สุดอย่างฝรั่งเศส แต่เราว่าไม่ใช่ ยังไง Law and Order ต้องมี ของเขาก็ดี

     …หลังจากไปมาหลายประเทศทั้งที่ที่ลำบากและที่ที่เจริญ เลยสรุปได้ว่าประเทศไหนอยู่สบายมันอ่อนแอ เพราะคนไม่ต้องสู้ พอเคยสบายมา ก็ไม่สบายไม่เป็นแล้ว ใช้ความรู้สึกนำ มันเคยตัว แต่ประเทศที่เขาลำบาก เขาเคยผ่านการต่อสู้ เคยเป็นเมืองขึ้น พอเขาได้รับอิสรภาพ เขาจะมีแรงกระตุ้นให้รู้สึกว่า เอาให้รอดนะ ไม่งั้นสภาพเดิมจะกลับมาอีก เขาจึงสู้เอาให้รอดเลยแล้วก็มีปมด้อยในตัวว่าต่อไปนี้ไม่ยอมอีกแล้วความจริงเราก็สู้อยู่ช่วงหนึ่งตอนสงครามคอมมิวนิสต์สิบปี แต่ก็ถือว่าเราแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตอนนั้นโอ้โห---สามัคคีกัน พอมีภัยมา ทุกคนรวมตัวกันหมด ทุกวันนี้เหมือนกัน พอเกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ คนไทยบริจาคกันสามัคคี แต่หมดวิกฤตเมื่อไร ยามสงบจงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ คือสงบปุ๊บก็พร้อมรบกันเอง มันเป็นเสียอย่างนั้น

     …ดังนั้นพอเป็นอย่างนี้ เรื่องจะให้คนอยู่ในเหตุในผล ในความพอดี ผมว่าต้องมีมาตรการอย่างอื่นเข้ามา เช่น เดี๋ยวนี้มีกฎ IOD ออกมา มีกฏตลาดหลักทรัพย์ออกมา คนจะใช้ข้อมูลภายในเซ็งลี้หุ้นไม่ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีนโยบายของรัฐออกมาได้ ในที่สุดคนจะต้องเดินตาม ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องบังคับ บังคับโดยสภาพแวดล้อม ทุกคนมักจะบอกว่าการศึกษาสำคัญ แต่เราอย่าดูว่าการศึกษาคือสิ่งที่อยู่ในโรงเรียน มันอยู่ทุกที่เลย ทำไมญี่ปุ่นมีวินัย แน่นอนที่โรงเรียนเขาก็มีจัดแถว มีอะไรต่ออะไรนะ แต่ในบ้านเขาก็มี ในส่วนอื่นๆ ของสังคมเขาก็มี มันทำให้บรรยากาศโดยรวมของเขามีวินัย เราจะบรรยายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแค่ไหน แต่คนเราไม่ดีขึ้นมาเพราะฟังคำพูดเพียงชั่วโมงสองชั่วโมงได้หรอก ให้ผู้วิเศษมาบรรยายยังไงก็ไม่ได้ ทางเดียวที่ได้ผลคือออกนอกชั้นเรียนไปแล้ว เขาต้องออกไปอยู่ในบรรยากาศที่ถ้าทำเลวปั๊บ สายตาทุกสายตาจะจ้องจับไปที่เขา จะต้องถูกเบรคจากสังคม

     …ถ้าจะใช้คำอย่างรัฐบาลชุดนี้ก็คือต้อง ‘ปฏิรูป’ ปฏิรูปคือ ‘รูป’ มันเป็นยังไงต้องเปลี่ยนให้หมด แปลตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละ เช่น ถ้าอะไรมันเสียแต่เปลี่ยนนิดหน่อยมันก็ยังไม่มีผล จะเปลี่ยนคนเป็นมะเร็ง มันต้องผ่าตัดเสียเลือดเสียเนื้อกัน ยอมเสียอวัยวะ ยอมเปลี่ยน แต่นโยบายการเมืองที่ผ่านๆ มา อยากได้การสนับสนุนจากประชาชนอย่างเดียว อะไรประชาชนพอใจก็ทำ แต่พอสนองความอยากอย่างนี้ ความอ่อนแอก็เกิดขึ้น เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ว่าเราอยากได้อะไรแล้วจะได้ ตรงกันข้าม งานอะไรซึ่งสำคัญต่อส่วนรวม สำคัญต่อเป้าหมายของประเทศชาติ รัฐบาลจะไม่กล้าแตะ เพราะรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะไม่พอใจ

     …คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอมีการเปลี่ยนแปลง จะดิ้นรนต่อต้าน แต่ลองดูสิ ถ้าเขาได้เปลี่ยนจนกระทั่งได้ลิ้มชิมรสอะไรเขาก็จะยอมรับในที่สุด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมันต้องต่อเนื่อง เราอย่าไปนึกว่าปีสองปี มันจะเสร็จ มันจะเปลี่ยนแปลงได้ ประเทศที่เขาทำสำเร็จ เขาใช้เวลากี่ปี ประเทศที่เห็นกับตาเลยคือสิงคโปร์ ขอทบทวนว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ยังไม่เป็นประเทศเลย วันนี้เขาไปไหนก็ไม่รู้ Top 5 ของโลก เกาหลีก็เหมือนกัน หลังสงครามเกาหลีเขามีสภาพยิ่งกว่าเราหลายเท่า บ้านเมืองถูกทำลาย ยากจน แต่ตอนนี้เขาหลุดแล้ว เขาไประดับโลกแล้ว”

กรอบของการขัดเกลา

     ในยุคสมัยแห่งเสรีภาพ แนวคิดของกรอบกฏเกณฑ์และวินัยอาจชวนให้รู้สึกน่ากังขา แต่เท่าที่เส้นทางชีวิตของดร.สุเมธได้แสดง หลายครั้งกรอบไม่ใช่ข้อจำกัดมากเท่ากับโครงสร้างที่ผลักดันมนุษย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ “ผมไปบวชมาสี่ครั้ง สองครั้งหลังนี่บวชวัดป่าเลย ฉันมื้อเดียว หลายคนถามว่าทำไมผมบวชซ้ำซาก ก็เพราะเรามานั่งพิจารณา เรานี่มันอ่อนแอตรงไหน คนชอบนึกว่าตัวเองแข็งแรงตลอด แต่เราคิดกลับกันเลยว่าเราอ่อนแอ ไปอยู่เมืองนอกไม่รู้เลยว่าพุทธศาสนาคืออะไร นั่งกราบพระ พนมมือ ฟังพระสวดอยู่อย่างนั้นแต่ไม่รู้เรื่อง ดังนั้นเลยไปบวช การบวชก็เป็นกรอบที่ทำให้เราได้รู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น

     …ความจริงชีวิตมีขึ้นมาทุกวันนี้ก็เพราะกรอบหล่อหลอมเรา เริ่มตั้งแต่กรอบโรงเรียนประจำของวชิราวุธฯ เสร็จจากวชิราวุธฯ ไปเมืองนอกก็โรงเรียนประจำ ตอนรับราชการก็มีกรอบบางอย่าง ที่ถวายงาน ที่บวชก็มีกรอบอีก ดังนั้นชีวิตนี้เรียนที่ฝรั่งเศส แต่เสร็จแล้วมาเรียนจบจริงๆ ที่วังกับวัด ผมมีต้นแบบคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราพิจารณาตั้งแต่ฉลองพระองค์ เบลเซอร์ ไปยันนาฬิกา มองไปที่รองเท้าคู่ละ 400 บาท นาฬิกาเรือนละ 750 บาท เราเห็นตัวอย่างแบบนี้เดินนำหน้าเรา แล้วเราจะไปทางไหนได้ ผมไม่ใช่คนดีโดยธรรมชาติ แต่อยู่ในสภาพอย่างนั้น แล้วผมจะกล้าใส่รองเท้าราคา 3-4 พันไหม ใส่นาฬิกาเรือนละเป็นแสนไหม ดังนั้น กิเลสเรามี แต่เราอยู่ในสภาพที่ลำบากที่จะทำเลว เราก็ต้องควบคุมกิเลสให้ได้

     …ถามว่าความอยากยังเหลือไหม เหลือ อยากได้เฟอร์รารีไหม ก็ยังอยากอยู่ เห็นทีไรก็แวะหยุดดู ไปประชุมที่ปารีส ข้างโรงแรมมีร้านโชว์ ก็เดินไปดูทุกวัน แต่พอถามตัวเองว่าอยากได้จริงๆ เหรอ ใช้ที่ไหน มีถนนให้วิ่งไหมความเร็วสองร้อยสามร้อย เมื่อวานนี้มีดาราคนหนึ่งวิ่งสองร้อยก็โดนจับ มันสักแต่มีทั้งนั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ก็ต้องถามตัวเองว่าเราอยากจะมีไว้โชว์ออฟเท่านั้นหรือ ความอยากมันก็หยุดอยู่ที่อยากเท่านั้น”

     การได้ยินเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาผู้เป็นเสาหลักของการถ่ายทอดหนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกล่าวถึงความอยากครอบครองรถเฟอร์รารีให้ความรู้สึกที่ผิดคาด โดยเฉพาะเมื่อผู้พูดอยู่ในเสื้อโปโลและแจ็กเกตกันลมสีดำเรียบง่ายที่เห็นชัดว่าเน้นการใช้งานมากกว่าอวดแสดง แต่นั่นเองอาจจะเป็นข้อความที่ดร.สุเมธ อยากสื่อสารที่สุด

     ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ทำให้คนดับความอยากได้หมดสิ้น แต่ก็กระจ่างเกินพอสำหรับส่องให้เห็นว่าซูเปอร์คาร์ในการจราจรของกรุงเทพฯ นั้นไปไหนไม่ได้

     และอาจเป็นเรื่องคุ้มค่ากว่าที่จะดูเอาจากโชว์รูมก็พอ