SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Building Dialogue
อานันท์ ปันยารชุน กับการสร้างสะพานแห่งความเข้าใจในยุคสมัยแห่งการแบ่งแยก
ด้วยอายุ 85 ปีและบทบาทที่โดดเด่นตลอดอาชีพการทำงานหรือแม้แต่ในยามเกษียณ ชื่อของอานันท์ ปันยารชุน มาพร้อมกับ ‘ภาพความทรงจำ’ ที่หลากหลาย
บางคนจดจำเขาในฐานะข้าราชการ เทคโนแครตผู้รับใช้ประเทศชาติด้วยวิชาความรู้ที่เพียบพร้อมจนบรรลุถึงที่สุดของสายอาชีพในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บางคนจดจำเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารผู้เป็น ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ ของบ้านเมืองในยามวิกฤตถึง 2 วาระ บางคนเรียกเขาว่า ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ หรือ ‘อีลีท’ ผู้สูงส่งด้วยชาติตระกูลและการศึกษาชั้นเยี่ยมจากต่างประเทศและในที่สุด ในยุคการเมืองแบ่งขั้ว หลายคนสรุปว่าเขาคือ ‘เสื้อเหลือง’ ผู้เห็นใจการรัฐประหาร และเหนื่อยหน่ายอุดมการณ์แบบเสื้อแดง
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาพความทรงจำเหล่านี้ ยังมีภาพอีกมากบรรจุอยู่ใน ‘อัลบั้ม’ ของความเป็นอานันท์ที่กินเวลายาวนานร่วม 9 ทศวรรษ และหลายภาพอยู่เหนือการเหมารวมแบบรวบรัด เช่น นอกเหนือจากการเป็นข้าราชการ ในอีกห้วงเวลาหนึ่ง เขายังเคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงประธานกรรมการ หรือกรรมการในบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ตั้งแต่สหยูเนี่ยน, ไอ บี เอ็ม, ไซม์ ดาร์บี, ธนาคารไทยพาณิชย์ ไปจนกระทั่งตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นอกเหนือจากการเป็น ‘นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร’ ที่คนโจมตี เขาคือเอกอัครราชทูตตัวแทนประเทศในปราการของโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ รวมถึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงด้านภัยคุกคามความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations’ High-level Panel on Threats, Challenges and Change)
สุดท้าย นอกเหนือจากภาพลักษณ์การเป็นชนชั้นนำผู้พูดภาษาอังกฤษด้วยปฏิภาณและโวหารเฉียบขาดของ ‘สุภาพบุรุษอังกฤษ (British Gentleman)’ เขาคือประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กล่าวกันว่าสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนไทยสูงสุด จนได้รับสมญาว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’
ในยุคสมัยที่การแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นทุกขณะระหว่างค่ายเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยม ความเป็นรัฐ-เอกชน ความเป็นท้องถิ่น-ความเป็นสากล ดังแสดงออกในปรากฏการณ์ปรวนแปรของการเมืองโลกและไทย บทสัมภาษณ์อานันท์
ปันยารชุน ผู้เคยใช้ชีวิตในหลากขั้วที่ตรงข้าม อาจชี้เส้นทางสำหรับ ‘พูดคุย’ และเดินหน้าต่อโดยไม่ยึดติดกับการเผชิญหน้าทางความคิดที่เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติงานจริง
เราชอบพูดกันว่าคนไทยแตกกันเป็นความคิดแบบเหลือง-แดง ไม่เลย ความแตกต่างของเราไม่ได้เป็นความแตกต่างด้าน ideology หรืออุดมการณ์ทางการเมือง...ปัญหามีอยู่แค่ว่าคุณจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าสังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น
ขั้วตรงข้าม
“ที่ผมมองเห็นแน่ชัดคือความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตยแบบ Liberal Democracy เพราะมาตรฐานของข่าว มาตรฐานของการให้ข้อมูลตกต่ำไปเยอะ อย่างที่นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลเคยกล่าวไว้ว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด’ เรารู้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อย่างที่ผมเคยพูดที่กรุงบรัสเซลส์ ประชาธิปไตยมี 7 เสา ซึ่งใน 7 เสา การเลือกตั้งเป็นเพียงเสาเดียว แต่อีก 6 เสาเป็นเรื่องของขันติธรรมทางการเมืองการปกครองโดยหลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอำนาจ และภาคประชาสังคม ซึ่งแต่ละสังคมก็ย่อมมีเส้นทางวิวัฒนาการในเรื่องเหล่านี้เป็นของตัวเอง
…คุณดูประวัติศาสตร์ทั่วโลก ในอังกฤษ ผู้หญิงยังไม่สามารถเลือกตั้งได้จนกระทั่งปี 1928 ที่มีการเดินขบวนจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘universal suffrage’ (สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป) ฉะนั้น อังกฤษเรียกได้ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงจนกระทั่งปี 1928-1929 ที่เขาอนุญาตให้ผู้หญิงโหวตได้ ที่อเมริกาก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ กระทั่งปี 1964 ที่มี Civil Rights Act มี Voter Registration Act ที่เริ่มให้สิทธิคนผิวดำไปลงทะเบียนเลือกตั้งได้ พอเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคนไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะมันย่อมมีเหตุผลที่ดี และไปว่าไม่ได้ด้วย อย่างของอังกฤษก็ยังต้องใช้เวลากว่า 700 ปี อเมริกา 200 ปี กว่าจะมีประชาธิปไตยแท้จริง เราเพิ่งมีประชาธิปไตยมา 80 ปี ดังนั้นไม่ใช่ของแปลก
…อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่สำคัญของประชาธิปไตยคือต้องมี ‘well-informed public’ ตอนหลังไปแปลกันว่าต้องมีการศึกษา แต่จริงๆ คือ หนึ่ง คนต้องมีความสนใจในเรื่องกระบวนการ ในเรื่องการเมือง สอง คือ คนต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ถูกต้อง และทันการ แต่ปัจจุบันสิ่งนี้ไม่มี ในอเมริกาไม่มีแล้ว ในอังกฤษก็ไม่มีแล้ว เช่นเรื่อง Brexit ก็เป็นการพิสูจน์ว่าทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ให้อยู่ในอียู กับฝ่ายให้ออก พูดปดทั้งสองฝ่าย เชื่อใน fake news พอเป็นอย่างนี้ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ได้สร้างศรัทธาให้คนทั่วไป มีแต่ทำให้เห็นความเหลวแหลกและจุดบกพร่องของระบบ นับวันคนก็เลยยิ่งมองเห็นความดีงามในระบอบ Authoritarian (อำนาจนิยม) อย่างของนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ในสิงคโปร์
…แน่นอน ในหลักการประชาธิปไตยก็ยังคงเป็นระบอบการปกครองที่ ‘the least bad’ แต่เนื่องจากประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง พอสิ่งเหล่านี้หลุดไปประชาธิปไตยก็เสื่อม ตรงกันข้ามการปกครองแบบใช้อำนาจ ถึงไม่ฟังเสียงประชาชนเท่าไหร่ ถ้าสามารถทำให้คนพอใจได้ ก็กลายเป็นของดีแล้ว อย่างคนสิงคโปร์เขาก็พอใจในสิ่งที่ ลี กวน ยู และคนที่ตามมาทำ ดังนั้นเขาไม่ต้องตัดสินใจว่าเขาจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือเปล่า มันจึงเกิด ‘ประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์’ ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเกิด ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ขึ้นมา แต่ความต่างคือพอบอกว่าประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์นี่เรารู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะเขามีพิมพ์เขียว เขาปกครองมา 40-50 ปีแล้ว แต่พอบอกประชาธิปไตยแบบไทยๆ เราก็ เออ---แบบไหนล่ะ”
ผมไม่แน่ใจคำว่า dialogue มีในภาษาไทยหรือเปล่า คือ dialogue อาจจะมีข้อยุติหรือไม่ต้องมีข้อยุติก็ได้ มันเป็น on-going process เป็นกระบวนการต่อเนื่อง มันไม่ได้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่มันมีขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้ที่ดีขึ้น
ข้ามตรงขั้ว
หลายคนอาจเห็นว่าคำตอบลักษณะนี้ของอานันท์เป็นเสมือนการยอมรับระบอบเผด็จการ และไม่ซื่อตรงต่ออุดมคติของประชาธิปไตย แต่สำหรับอานันท์ ผู้เคยกล่าวในการบรรยายสาธารณะที่จัดร่วมกันระหว่าง Cambridge Society, Oxford Society และ Harvard Club ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่าการสร้างประชาธิปไตยนั้นต้องมี ‘the art of the possible (ศิลปะแห่งความเป็นไปได้)’ รวมอยู่ด้วย อีกทั้งได้เคยใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารทำโครงสร้างการเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ให้ ‘เป็นไปได้’ มาแล้ว การจำแนกชื่อระบอบดูเหมือนจะไม่สำคัญมากเท่ากับสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งที่ปฏิบัติได้ในความเป็นจริง
“สิ่งที่ควรมองคือ หนึ่ง รัฐบาลสามารถให้บริการขั้นพื้นฐานได้หรือเปล่า เราชอบพูดกันว่าคนไทยแตกกันเป็นความคิดแบบเหลือง-แดง ไม่เลย ความแตกต่างของเราไม่ได้เป็นความแตกต่างด้าน ideology หรืออุดมการณ์ทางการเมือง คนไทยโชคดี คือไม่เป็น fanatic ไม่คลั่งศาสนา ไม่คลั่งอุดมการณ์ เชื้อชาติ การเมือง ปัญหามีอยู่แค่ว่าคุณตกลงกันได้ไหมว่าความยุติธรรมทางสังคมอยู่ที่ไหน คุณมีมาตรการอย่างไรที่จะให้เกิดความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา คุณจะทำอย่างไรเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ในเมื่อ 5% ของคนไทยครอบครองความมั่งคั่งกว่า 90% ของประเทศ หรือในเมื่อประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมากที่สุด รองจากรัสเซียและอินเดีย
คุณจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าสังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น
…ประเด็นเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นเหลือง-เป็นแดง ไม่เกี่ยวเลย ปัญหาคือประชาชนเขามีพอกินพอใช้ไหม เขามีบ้านอยู่ไหม เขามีเสื้อผ้าไหม มีการรักษาพยาบาลไหม อย่างเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องถือเป็นโครงการที่ดี อาจจะมีปัญหาเรื่องการบริหาร เรื่องงบประมาณอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายเป็นโครงการที่ดี เป็น universal health scheme ที่มีผลสำเร็จ สิ่งนี้ไม่มีความคิดแตกต่างกันระหว่างเหลืองกับแดง สิ่งที่เราต้องทำจึงมีแค่การปรับปรุงความคิดและขัดเกลาให้มันดีขึ้น
…นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องดู คือมีการกดขี่ราษฎรในทางใดทางหนึ่งหรือเปล่า เช่น การไม่ให้พูด ไม่ให้ออกความคิดเห็นนี่มันเกินไปหรือเปล่า พูดง่ายๆ คือ หลักการประชาธิปไตยบางอย่างต้องเก็บไว้ ต้องพยายามส่งเสริม ผมไม่ใช่นักคลั่งประชาธิปไตย ผมก็รู้ว่าประชาธิปไตยมีจุดอ่อน แต่ผมว่าเราต้องยึดหลักการบางอย่างของประชาธิปไตยไว้ โดยผมไม่ใช่คนประเภททุกอย่างต้อง 100% บางอย่าง 70% ผมก็พอใจได้ เพราะทุกประเทศต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ปัญหาคือ 80 ปี ของเราไม่ค่อยมีการเปลี่ยนผ่าน 80 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย แต่ถามว่าเมืองไทยเป็น dictator (เผด็จการ) ไหม ผมก็บอกได้เลยว่าทหารไทยไม่ใช่ dictator ทหารไทยอาจจะมีเรื่องของการบริหารไม่เก่ง หรือเรื่องของคอร์รัปชันอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่ dictator ที่คอยลักคนหายไป เอาไปทำทารุณกรรม หรือปกครองกดขี่ประชาชนจนเกิดความกลัวเกรงอย่างแสนสาหัส
…ตัวผมเองก็มีหลักการคือ เราออกความเห็นได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด การพูดการเขียนแบบ hate speech หรือเสรีภาพแบบอเมริกา ขอประทานโทษนะ สังคมจะล่มจมในที่สุด เพราะเสรีภาพมากเกินไป เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขต โดยไม่มีความรับผิดชอบ เวลานี้ถ้าคุณอยู่ในอเมริกา น่าเป็นห่วงว่าอีก 40 ปีจะเป็นอย่างไร ในทางตรงกันข้าม เมืองไทยเป็นเมืองที่ประเสริฐ น่าอยู่ ผมไม่เคยหมดหวัง”
ในสมัยนั้น การส่งลูกไปเข้าพับลิกสคูลอังกฤษหมายถึงการส่งลูกไปให้เรียนรู้อุปนิสัยที่ดี ภาษาอังกฤษเรียกว่าให้ไปสร้าง character คาแรกเตอร์ในที่่นี้้คือความซื่อตรง ความมีกิริยามารยาท ความมีศีลธรรม ความไม่พูดปด
แลกและเปลี่ยน
อาจเป็นชะตากรรมคล้ายกันกับอเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน รัฐบุรุษและหนึ่งในคณะผู้ก่อการของประเทศสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) เจ้าของวาทะ “Real liberty is neither found in despotism or the extremes of democracy, but in moderate governments.” ผู้มักถูกโจมตีว่า
‘ไร้หลักการ’ ความพยายามลอยอยู่เหนือการแบ่งค่าย และหาเส้นทางเดินที่เป็นไปได้ของอานันท์ ดูเหมือนจะทำให้เขาต้องเพิ่มจำนวนศัตรูมากขึ้น
“ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ทนต่อความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นสังคมที่ไม่ค่อยอยากฟังความเห็นที่แตกต่าง และก็ไม่พร้อมที่จะคุยกันในเรื่องความแตกต่างทางความเห็น ทุกสิ่งอย่างจะเป็นขาวเป็นดำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก มีฉันกับเขา มันก็ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยแบบติดต่อ คุยแบบต่อเนื่อง คุยให้เป็น dialogue เรียกได้ว่าเรามีแต่ conversation เรามีแต่ debate มีแต่การเถียงกันเพื่อเอาชนะ
…ผมไม่แน่ใจคำว่า dialogue มีในภาษาไทยหรือเปล่า คือ dialogue อาจจะมีข้อยุติหรือไม่ต้องมีข้อยุติก็ได้ มันเป็น on-going process เป็นกระบวนการต่อเนื่อง มันไม่ได้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่มันมีขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้ที่ดีขึ้น ทีนี้ถามว่าเราสนใจความจริงแค่ไหน เราสนใจตรรกะมากน้อยแค่ไหน เราสนใจความรู้สึกของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อสุดท้ายทุกอย่างมันยังหยุดอยู่ที่ I, me and myself มันก็ลำบาก หลักพุทธศาสนาดีที่สุด สุ. จิ. ปุ. ลิ. ‘สุตะ’ คือให้ฟังก่อน แต่สังคมเรามีแต่คนพูด คนฟังไม่ค่อยมี คนฟังที่รู้เรื่องก็ไม่ค่อยมี
…ผมเป็นคนแปลก วิปริตหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะเวลาเจอคนมีความคิดต่างกับผม ผมอยากจะคุยกับเขา ไม่ได้อยากจะคุยเพื่อโน้มน้าวให้เขามาเห็นตรงกับผม แต่อยากจะคุยกับเขาแบบไม่มีจุดหมายอยู่ตรงนั้น จุดหมายของผมคืออยากรู้ว่าที่เขาไม่เห็นด้วยกับผม ที่เขามีความเห็นแตกต่างกับผม เพราะเหตุใด ผมสนใจอันนั้น บางกรณีอาจจะเป็นเพราะว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ซึ่งก็พูดกันต่อไปได้ว่าของใครผิดของใครถูก
…แต่อีกกรณีที่ผมยิ่งสนใจมากกว่าก็คือ เขาใช้เหตุผลอะไร เขาใช้ตรรกะอะไร ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น เพราะในบางครั้งบางคราวข้อเท็จจริงอาจจะตรงกัน แต่ข้อสรุปไปคนละเรื่องผมไม่ได้สนใจเพราะอยากจะเอาชนะหรืออะไรแต่เป็นเพราะผมเป็นของผมอย่างนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมเคยอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเจรจาค่อนข้างมาก และก่อนที่เราจะเจรจา เราต้องพยายามรู้จุดยืนของแต่ละฝ่าย ต้องรู้ว่าทำไมเขาถึงต้องมีจุดยืนตรงนั้น จุดอ่อน จุดแข็งเขาอยู่ที่ไหน ซึ่งพอคุณฟังดีแล้วทุกอย่างมันจะไม่ abstract คุณกำลังทำกับของจริง”
เราไม่มีนักคิดที่จะคิดพวกเรื่องระบบ เรื่อง abstract ไม่ได้คิดแค่เรื่องประเด็นปัจจุบัน นักคิดที่่เวลามองอะไร มองภาพรวม มองไกล เราไม่มี บางทีเราเป็นประเภทสุกเอาเผากิน เก่งในการแก้ไขด้วยปฏิภาณ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า pragmatism ก็ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี แต่ว่ามันไม่พอ
อุบัติเหตุ-ผล
กล่าวกันว่าอานันท์ไม่ชอบกีฬากอล์ฟ ซึ่งมีนักข่าวบางคนตั้งข้อสังเกตว่าด้วยภูมิหลัง หน้าที่การงาน และไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่แวดล้อมอานันท์ ข้อเท็จจริงนี้แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่หวั่นไหวด้วยวิถีรอบตัวของอานันท์ได้เป็นอย่างดี ผลงานของรัฐบาลอานันท์ 1 ในการเจรจาและแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายกับเอกชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและสร้างความโปร่งใสให้มากขึ้น ทั้งที่ขัดกับความต้องการของผู้กุมอำนาจในกองทัพขณะนั้น ยิ่งทำให้ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏชัด อย่างไรก็ตาม หากถามอานันท์ว่าอะไรคือที่มาของความสำเร็จและตัวตนเช่นนี้ของเขา บ่อยครั้งอานันท์จะยกความดีให้กับ ‘อุบัติเหตุ’ กระทั่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ยังเคยพาดหัวข่าวในปี 1991 ว่า “Thailand Coup Casts Up a Most Reluctant Premier” อันเนื่องมาจากการที่เขาให้สัมภาษณ์ว่าการที่ตนเองได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “the biggest accident in Thai history”
“ผมเป็นคนทำอะไรไม่เคยวางแผนอนาคต ไม่เคยมีแผนชีวิต ไม่เคยมีความต้องการเป็นนั่นเป็นนี่ ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยธรรมชาติมากกว่า
ที่ผมไปเป็นทูตที่วอชิงตัน ดีซีก็เพราะถูกบังคับให้ไป ผมไม่เคยอยากไป พอผมอยู่วอชิงตัน ดีซี คุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) จะเอาผมไปเป็นปลัดกระทรวง ผมบอกขอไม่ไป แต่อีกสามเดือน ท่านก็สั่งให้ผมกลับมาเป็นปลัดกระทรวงอยู่ดี ต่อมาที่ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วผมลาออกจากกระทรวงต่างประเทศไปอยู่สหยูเนี่ยน ต่อมา ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานบริษัท ลาออกไปเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ ผมจึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานฯ แทน ก็บังเอิญทั้งนั้น ที่ไปเป็นประธานสภาอุตสาหกรรม ก็เพราะบังเอิญมีคนครบวาระ เสร็จแล้ววันดีคืนดี ผมก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ฉะนั้น ถ้าจะถามว่าเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ผมก็ไม่รู้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อานันท์รู้แน่ชัดว่าส่งผลต่อตัวเขาก็คือบิดา หรือพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ซึ่งในหลายมิติเป็นเสมือน ‘ภาพต้นแบบ’ ของความเป็นอานันท์ เพราะพระยาปรีชานุสาสน์เองก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์หลากหลายทั้งภาคราชการและเอกชน โดยเคยดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำ เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนจะลาออกมาตั้งบริษัทเพื่อทำหนังสือ Siam Chronicle ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของคนไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
“คุณพ่อผมท่านได้รับทุนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ให้ไปเรียนที่อังกฤษ คู่กับพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) โดยทั้งสองคนถูกส่งไปโดยมีเป้าประสงค์แน่นอนว่าให้ไปเรียนเพื่อดูระบบ public school ของอังกฤษแล้วกลับมาตั้งโรงเรียนในเมืองไทย คุณพ่อท่านจบที่ Shrewsbury School เป็นโรงเรียนเก่าแก่ตั้งมา 500 ปี ส่วนเจ้าคุณจบที่ Oundle School ซึ่งทั้งสองโรงเรียนถือว่าเป็นพับลิกสคูลชั้นหนึ่ง ทั้งหมดนี้เพราะรัชกาลที่ 6 ท่านเสด็จไปเรียนและชอบพระทัยระบบโรงเรียนแบบพับลิกสคูลของอังกฤษ”
ตรงตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 เมื่อบิดาของอานันท์กลับมาประเทศไทย เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้รับผิดชอบการจัดตั้งและดูแลโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทั่วประเทศ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการคนแรกของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นอาจารย์สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นครูของโรงเรียนเทพศิรินทร์และสวนกุหลาบ ก่อนในที่สุดจะได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ
“ฉะนั้นคุณพ่อผมจริงๆ แล้วเป็นครู และถ้าถามว่าคุณพ่อมีอิทธิพลต่อการพัฒนาตัวผมเองไหม มีมากเลย เพราะว่าคุณพ่อเป็นคนรักครอบครัว และใกล้ชิดกับลูก จะคอยช่วยลูกทำการบ้าน ไม่ใช่เขียนให้นะ แต่ช่วยแนะนำให้ทำให้ถูก คุณพ่อมักจะเล่าเรื่องอะไรให้ลูกๆ ฟังเสมอ
…สมัยก่อนตอนโรงเรียนหยุด 2 เดือน ช่วงเมษายน-พฤษภาคม ทุกปีคุณพ่อกับคุณแม่จะพาลูกๆ ไปอยู่หัวหิน เพราะมีบ้านอยู่ นั่งรถไฟแล้วไปต่อรถเกวียน ไปตั้งรกรากอยู่หัวหิน 2 เดือน สมัยก่อนไปทีก็เหมือนไปตั้งบ้านใหม่ เพราะต้องขนข้าวของไปหมดเลย เครื่องครัวอะไรต่ออะไร แล้วทุกคืนเราก็จะนั่งกันที่ชานเรือน คุณพ่อเปิดเพลงโอเปรา แล้วก็เล่าให้ลูกฟังถึงความหมาย เพราะเพลงโอเปราส่วนใหญ่เป็นภาษาอิตาเลียนหรือเยอรมัน ทำให้พวกเราได้ยินเสียงโอเปรามาตลอด และฟังรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่อง Aida, Carmen, The Marriage of Figaro, La Traviata ท่านเล่าให้ฟังหมด
คุณพ่อเป็นคนชอบดนตรี ตอนน้ำท่วม หนังฝรั่งไม่มา คุณพ่อจะพาผมนั่งรถรางจากสาธรไปลงเยาวราชเพื่อดูงิ้ว ออกมาก็ไปนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวบะหมี่หมูแดง ตอนสมัยรับราชการคุณพ่อก็เคยเล่นโขนกับในหลวงรัชกาลที่ 6 และแน่นอนคุณพ่อชอบโอเปรามาก ตอนหลังผมไปเป็นทูต เวลาไปนิวยอร์กก็จะต้องหาทางไปดูโอเปราที่ Metropolitan Opera House ไปอิตาลีก็ต้องไป Teatro alla Scala ตลอด
…ผมคิดว่าคุณพ่อมีศิลปะในการเข้าถึงคน เป็นครู แต่ไม่ใช่สอนอย่างเดียว เป็นครูที่คุยแล้วมีต่อเติมให้สนุกขึ้น ตอนคุณพ่อสิ้นชีวิต ในหนังสือฌาปนกิจมีนักเรียนเก่าหลายคนเขียนให้ ตั้งแต่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พระมหามนตรี ใครต่อใคร หลายคนจะเล่าถึงวิธีการสอนของคุณพ่อ อย่างเวลาคุณพ่อเล่าเหตุการณ์สมัยโรมันที่บรูตัสเพื่อนสนิทจะลอบฆ่าซีซาร์ พ่อจะยกมือชี้หน้าทำท่าซีซาร์ประกอบด้วยแล้วพูด ‘เออ—แกด้วยเหรอที่จะฆ่าฉันนี่ (Et tu, Brute?)’ เป็นที่เลื่องลือ ดังนั้นคุณพ่อเก่งมาก เวลาสอนอะไรก็จะสอนง่ายๆ มาถึงเดี๋ยวนี้ ผมว่าสังคมไทยบางทีอบรมลูกไม่ค่อยถูกต้อง มัวแต่สอนให้จำ คุณพ่อผม ท่านไม่เคยสอนให้จำ แต่สอนให้เข้าใจและให้คิด
…การศึกษาต้องให้เด็กแย้งครูได้ ตั้งคำถามได้ อย่างในอังกฤษ เวลาเรียน 1 ชั่วโมง ครูสอนแค่ประมาณ 50 นาที ส่วนอีก 10 นาทีให้นักเรียนใช้พักและเดินเปลี่ยนห้อง การให้เด็กได้เดินเปลี่ยนห้อง เดินไปเตะฝุ่นไปบ้าง คุยไป เฮฮาไปบ้าง มันก็ช่วยผ่อนคลายอารมณ์พร้อมที่จะรับวิชาใหม่ แล้วใน 50 นาทีนั้นเขาก็จะสอนหรืออ่านหนังสือให้ฟังบ้าง แต่จะมีเวลาสำหรับคุยกัน โดยไม่ใช่การคุยในลักษณะถามให้เด็กตอบแล้วคอยบอกว่าผิด จนเด็กใจฝ่อ ไม่กล้าตอบ แต่เขาจะถามให้เด็กพูด ไม่สนใจผิดถูก ถามไปเรื่อยๆ จนกว่าเด็กจะคิดและตอบโดยใช้เหตุผล มันก็กลับไปเรื่อง dialogue อีก คือนี่ไม่ใช่เรื่องของการคุยกันเพื่อหาผิดถูก แต่เป็นกระบวนการของการสร้างความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นคนเราคงไม่สามารถคิดอะไรได้ เพราะทุกสิ่งมันต้องผิดก่อน สิ่งประดิษฐ์ทุกอย่างในโลก ตอนทดลองก็ระเบิดก่อนบ่อยครั้ง”
การศึกษา
อย่างไรก็ตาม แม้บิดาของเขาจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในครูและผู้บุกเบิกการศึกษาคนสำคัญของสังคมไทย และอานันท์เองก็ถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการศึกษา โดยได้รับยกย่องให้อยู่ในทำเนียบศิษย์เก่าดีเด่น (Eminent Old Alleynians) ของดัลลิช คอลเลจที่ซึ่งเขาเรียนชั้นมัธยม อีกทั้งสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสาขานิติศาสตร์ กระนั้น เขาก็ระมัดระวังที่จะเอาความสำเร็จในอดีตนี้เป็นมาตรฐานของอนาคตที่เขาเห็นว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไป
“ผมว่าการศึกษาเปลี่ยนไป ผมไปเรียนอังกฤษตั้งแต่อายุ 16 กลับมาอีกทีตอนอายุ 23 แต่จนกระทั่งบัดนี้ บางคนจะส่งลูกไปเรียนอังกฤษ ก็ยังพาลูกมาให้ผมแนะนำ จนผมต้องบอกทุกครั้งว่า ผมรู้จักอังกฤษเมื่อสมัย 70 ปีก่อน เดี๋ยวนี้ ต้องเรียกว่าผมไม่รู้จักระบบอังกฤษแล้ว นี่คือสัจธรรมอันหนึ่ง ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพูดแล้วนี่ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในสังคมไทย สังคมไทยถือว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นของแปลก เป็นของไม่ธรรมดา ทั้งๆ ที่ในศาสนาพุทธ การเปลี่ยนแปลงนี่คือความแน่นอนที่สุด เป็นสิ่งที่ถาวรที่สุด ดังนั้นถ้าวิธีคิดของคนในสังคมยังกลัวการเปลี่ยนแปลง และขัดขวางต่อต้าน มันจะนำไปสู่การถอยหลังเข้าคลอง อย่างถ้ามีใครมาถามผมว่า ผมรู้จักระบบการศึกษาอังกฤษขณะนี้หรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าไม่รู้จัก แต่ถ้าถามว่ามันดีขึ้นหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่ามันต้องดีขึ้น
…แน่นอน ระบบการศึกษาของอังกฤษสมัยผมหรือสมัยคุณพ่อผมก็มีข้อดี พับลิกสคูลของอังกฤษมันเกิดขึ้น และเจริญงอกงามเพราะอะไร เหตุผลคืออังกฤษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว ไปสร้างอาณานิคมไว้เยอะ เป็นจักรวรรดิ เพราะฉะนั้น การที่อังกฤษต้องส่งคนไปปกครองอินเดีย เอเชียใต้ แอฟริกา ไนจีเรีย แทนซาเนีย หรือหมู่เกาะแคริบเบียน เขาก็ต้องทำให้มั่นใจว่าคนที่จะไปได้รับแรงจูงใจมากพอที่ทำให้เขาอยากไป เพราะสมัยนั้นไปประเทศเหล่านี้ถือว่าไปยากลำบาก โดยอย่างหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจคือ ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ รัฐจะจ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรหลานให้หมด ทีนี้พับลิกสคูลในอังกฤษจึงเป็นโรงเรียนประจำทั้งนั้น เพราะมีไว้เลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่ไม่อยู่ แล้วการที่รัฐจ่ายให้หมด ทำให้เกิดโรงเรียนขึ้นเยอะ และแต่ละโรงเรียนก็
ต้องแข่งกันทำให้ดีเพื่อที่พ่อแม่จะได้อยากส่งลูกเข้ามาอยู่
…แต่ต้องพูดว่าในสมัยนั้น การส่งลูกไปเข้าพับลิกสคูลอังกฤษ หมายถึงการส่งลูกไปให้เรียนรู้อุปนิสัยที่ดี ภาษาอังกฤษเรียกว่าให้ไปสร้าง character คาแรกเตอร์ในที่นี้คือความซื่อตรง ความมีกิริยามารยาท ความมีศีลธรรม ความไม่พูดปด หลายอย่างเขาสร้างด้วยระบบการเรียนการสอน หลายอย่างเขาสร้างด้วยการกีฬา เพราะการเล่นกีฬาช่วยสอนความเป็นคนดีได้หลายอย่าง ไม่ว่าการไม่เอาเปรียบคน การไม่คดโกง ความอดทน การเคารพกฎเกณฑ์ การรู้แพ้รู้ชนะ เดี๋ยวนี้ คนที่ไปพับลิกสคูลจะนึกถึงเรื่องนี้ไหม ก็คงมีบ้าง แต่ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เรียกว่าเป็นการส่งเด็กไปสร้างคาแรกเตอร์จริงๆ
…ปัจจุบันผมรู้แน่นอนว่า หนึ่ง คนอังกฤษที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนประจำตลอดมีน้อยลงไป อันที่สอง คนที่มีฐานะดีพอที่จะส่งลูกไปเรียนก็มีน้อยลง อันที่สาม มีคนจำนวนมากกว่าในอดีตที่ไม่คิดว่าการอยู่ในโรงเรียนประจำตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ดีกับลูก เช่นกลัวการกลั่นแกล้งกัน ตอนนี้ผมจึงไม่แน่ใจว่าพับลิกสคูลอังกฤษยังให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์มากน้อยแค่ไหน ดูเหมือนสำหรับสังคม เรื่องคาแรกเตอร์หรือเรื่องอุปนิสัย ความซื่อตรง ความไม่โกหก มันน้อยลงไปทั่วโลก เช่นจากการเลือกตั้งที่อเมริกา คุณจะเห็นเลยว่าคนไม่สนใจเรื่องพวกนี้”
เมืองไทยมีปัญหามาก และเป็นปัญหาที่รุนแรงและร้ายแรง แต่อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนเดียวที่เป็นเจ้าของปัญหา ทุกประเทศมีปัญหาหมด แล้วหลายประเทศมีมาก่อนเราอีก ดังนั้นก็ต้องค่อยๆ แก้ไป อย่าคิดว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้แบบ instant coffee มันไม่มีในโลก
คาแรกเตอร์
การพูดถึง ‘คาแรกเตอร์’ นำมาสู่อีกประเด็นสำคัญ ผู้ที่ได้ติดตามอ่านปาฐกถา หรือบทสัมภาษณ์ของอานันท์ จะพบว่าเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการออกแบบระบบหรือโครงสร้างที่จะบังคับหรือจูงใจคนให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ อย่างที่บทความชื่อ Searching for a Better Structure ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปี 1996 เคยเขียนเกี่ยวกับอานันท์ไว้ว่า “The white-horse knight” is not an image [Anand] encourages. His speeches and interviews, during those brief periods as Prime Minister, emphasized structure, rather than personalities.” อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ที่ได้เคยถูกทดสอบอุปนิสัยหรือ ‘คาแรกเตอร์’ มาไม่น้อย เช่นเหตุการณ์ที่เขาถูกสอบสวนแล้วสั่งพักราชการในช่วงรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ หรือถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์มิชอบใน ‘ดีล’ ระหว่างรัฐและเอกชนในสมัยรัฐบาลของเขา อานันท์เชื่อว่าในที่สุด ความเข้มแข็งภายในของมนุษย์ยังเป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ของการสร้างสังคมที่ดี
“พวกฝรั่งชอบเขียนว่า ที่เมืองไทยสามารถรักษาความเป็นเอกราชมาได้ทุกวันนี้ นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ต่างๆ ที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างมองการณ์ไกลแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีระบบราชการที่เข้มแข็ง แต่ผมออกจากระบบราชการมา 45 ปีแล้ว พอมองย้อนกลับไป ระบบราชการเมืองไทยปัจจุบันนี้ตกต่ำไปเยอะ ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ความรู้ความสามารถมี แต่ความกล้าหาญในเชิงความคิดก็ดี หรือในเชิงความมั่นใจ ในเนื้องาน ในข้อเท็จจริง ในหลักการ เสื่อมคลายไปเยอะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง พร้อมจะรับคำสั่งจากผู้มีอำนาจโดยไม่มีการไตร่ตรอง แน่นอน ข้าราชการดีๆ ที่เก่งกล้าผมก็ว่ายังมี แต่โดยทั่วไป มักเกิดความขี้ขลาด ความแหย ความกลัวอำนาจขึ้นมา
…ผมเคยพูดสนุกๆ ว่าถ้าคุณอยู่ราชการ ในช่วง 5-10 ปีแรกคุณจะยังแข็งขัน มีไฟ พอเข้าปีที่ 10 คุณจะถูกระบบราชการกลืน ทีนี้ยิ่งอยู่ต่อไปๆ ยิ่งโง่ ยิ่งไม่กล้ารับผิดชอบ ไม่กล้าตัดสินใจทุกอย่างต้องตั้งคณะกรรมการ หลายอย่างที่อธิบดีควรตัดสินใจได้ ปลัดควรตัดสินใจได้ ก็ไม่ เอะอะอะไรก็ตั้งกรรมการ แล้วเรื่องโกง มีข้าราชการไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงแบบไม่ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะความกลัว นายสั่งก็ต้องทำ ซึ่งเรื่องนี้ความจริงไม่ยากอะไรเลย ถ้าเห็นว่านายสั่งในทางที่ผิด ก็แค่บอกให้นายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ที่คนอื่นเขาหลุดไปได้ เพราะเขาสั่งกันทางวาจาไม่มีหลักฐาน แล้วคุณจะโง่ไปรับคำสั่งเขาทำไม
…ไม่รู้นะ สำหรับตัวผม มันไม่เห็นยากอะไรเลย คนเราทำอะไรตามเนื้อผ้า และซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เจ็บตัวไหม อาจจะเจ็บ แต่ไม่ต้องกลัว เพราะความจริงมันไม่หนีไปไหน ความจริงชีวิตผมก็โดนมาเยอะแยะ ผมถูกกล่าวหาว่าโกงมาตั้งกี่ครั้ง คนว่าผมในทีวีมาเป็น 10-15 ปีว่าผมทุจริต แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ก็ปล่อยให้เขาว่าไปสิ ไม่เดือดร้อนอะไรผม เขาเองนั่นแหละจะมีทุกข์มากขึ้น พูดเท่าไหร่คนก็ไม่เชื่อ นี่เราไม่ได้คิดว่าเราวิเศษกว่าคนอื่นนะ แต่เราแน่ใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม ไม่ละอายใจ ดังนั้นพระจะคุ้มครองเรา ผมเชื่อในกฎแห่งกรรมนะ”
ระบบที่รองรับ
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อความเข้มแข็งส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสม่ำเสมอ ทั่วไป พ้นจากเรื่องระดับบุคคล โครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องใส่ใจออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมืองหรือโครงสร้างของตลาด อย่างที่อานันท์เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเอเชียวีค ในปี 1997 ว่า “คนที่มีด้านไม่ดี ถ้าอยู่ภายใต้กฎที่ปล่อยให้เขาทำตามด้านไม่ดีได้ เขาก็จะทำ แต่ถ้าคุณเอาเขาไปอยู่อีกที่ที่กฎเกณฑ์ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เขาแสดงด้านไม่ดีได้ เขาก็จะอนุโลมตาม ผมไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะปฏิรูปตัวเองนะ แต่เขาจะอนุโลมตาม (I will not say they will reform, but they may conform.)”
“ลองคิดดู ปัญหาเรื่องระบบอาจเป็นเพราะเมืองไทยไม่มีนักปราชญ์จริงๆ ผมไม่ได้พูดถึงนักปราชญ์ในทางวรรณคดี แต่หมายถึง thinker ของเราไม่มี ไม่เหมือนจีน อินเดีย อียิปต์ กรีซ คือเราไม่มีนักคิดที่จะคิดพวกเรื่องระบบ เรื่อง abstract ไม่ได้คิดแค่เรื่องประเด็นปัจจุบัน นักคิดที่เวลามองอะไร มองภาพรวม มองไกล เราไม่มี บางทีเราเป็นประเภทสุกเอาเผากิน เก่งในการแก้ไขด้วยปฏิภาณ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า pragmatism ก็ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี แต่ว่ามันไม่พอ เพราะว่าปัญหาบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาโครงสร้างต่างๆ มันต้องคิดเป็นกระบวนการ มันไม่ใช่คิดทีละจุด ไม่ใช่แก้ทีละจุด เพราะแก้ทีละจุด มันจะไปโผล่อีกที่นึง จะบอกว่าเหตุผลเป็นเพราะเราเป็นประเทศใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเราก็ 700 ปีมาแล้ว อย่างอเมริกาเขาก็มีนักคิดเยอะแยะทั้งๆ ที่เขาเกิดมาแค่ 250 ปี อย่างคนร่างรัฐธรรมนูญเขาก็เป็นนักคิดแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโธมัส เจฟเฟอร์สัน เบนจามิน แฟรงคลิน เจมส์ เมดิสัน อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ใครต่อใคร
…ยกตัวอย่างเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้ง เรื่อง conflict of interest ภาษาไทยไปแปลผลประโยชน์ทับซ้อน แต่จริงๆ มันเป็นผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ผมเคยมีประสบการณ์ตอนอยู่ภาคเอกชน หลักการคือต้องมีการแบ่งแยกระหว่างผู้ประกอบการ (operator) กับผู้ควบคุม (regulator) สมมติผมเป็นผู้ส่งออกผ้า ซึ่งมีโควตาว่าจะให้ส่งออกมากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณใช้คณะกรรมการตั้งโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดโควตาให้กับบริษัท แล้วคุณเอาผู้ที่เป็นผู้ประกอบการในบริษัทสิ่งทอมาเป็นคณะกรรมการนี้ มันคือผิดทันที เพราะเป็นไปไม่ได้เลยในหลักการที่จะเอาผู้ประกอบการมาเป็นผู้ควบคุม ตลกใช่ไหม แต่เมืองไทยทำเสมอเลย”
อานันท์สไตล์
ในขณะที่อานันท์ไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน เขาพร้อมที่จะแบ่งปันวิธีการทำงานในแบบของรัฐบาลอานันท์ ซึ่งในแต่ละวาระมีระยะเวลาลัดสั้นจนควรนับเป็นหลักเดือน มากกว่าปี แต่กลับประสบความสำเร็จในการทำงานปฏิรูปให้เป็นผลหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการให้เสรีภาพกับสื่อ การออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับการระบาดของโรคเอดส์ หรือการสร้างความโปร่งใสให้กับการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ฯลฯ อย่างที่คณะกรรมการรางวัลรามอน แมกไซไซ สรุปเหตุผลที่ให้รางวัลนี้แก่อานันท์ในปี 1997 ในสาขา Government Service ว่าเป็นเพราะความสามารถของเขาในการ “รักษาโมเมนตัมของการปฏิรูปและประชาธิปไตยได้แม้ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตและการปกครองโดยทหาร”
“ผมเลือกคนที่ทำงานเป็น คนที่ไม่โกง แล้วก็ปล่อยเขาทำ เราแค่คุมอยู่ข้างบน เลือกเอาคนที่พูดภาษาเดียวกัน คือพูดแล้วรู้เรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าเอาเฉพาะคนที่มีความเห็นตรงกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่าผมทำเรื่องต่อต้านเอดส์ แล้วคนอื่นจะเห็นด้วยเหมือนกันทั้งหมดนะ ดังนั้นผมให้เถียงกันเต็มที่ในครม. แต่พอเป็นมติครม.แล้ว ขออย่าไปพูดคัดค้านข้างนอก ครม.ของผมเป็นคนมีระเบียบวินัย ตอนที่ให้พูดเขาก็พูดกันเต็มที่ คัดค้านบ้าง โต้เถียงก็มาก แต่พอถึงจุดหนึ่งสรุปว่าจะไปทางนี้ ก็ถือว่าจบ จะไม่มีออกมาพูดในเชิงต่อต้านไม่เห็นด้วย เพราะไม่อย่างนั้นทำงานไม่ได้ การเป็นครม.คือต้องรับผิดชอบร่วมกัน
…ดังนั้น ผมจึงไม่เคยให้มีการออกเสียง แต่พยายามหาฉันทามติ เปิดโอกาสให้เขาพูดได้เต็มที่ ไม่ใช่เขาพูดแล้วคอยแต่บอก ‘ไม่ใช่ๆ ผิดๆ’ ฟังเขาให้จบเสียก่อน มันเสียอารมณ์นะ พอจะพูดอะไรขึ้นมาอีกคนก็คอยแต่ ‘เข้าใจแล้ว ผมรู้หมดแล้ว’ แล้วไม่รู้จริง มันเป็นจิตวิทยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านถึงได้ทรงรับสั่งชัดว่าจะทำอะไรต้องเข้าถึง-เข้าใจ ถึงค่อยทำ คำว่า ‘เข้าถึง’ นี่สำคัญ การเข้าถึงไม่ใช่เรื่องของกายภาพ ไม่ใช่เข้าถึงตัว แต่คือเข้าถึงใจเขา และก็ต้อง ‘เข้าใจ’ เข้าใจคือเข้าถึงใจ ไม่ได้แปลว่า ‘เห็นด้วย’ นะ เข้าใจคือเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น
…เวลาคนมีปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร คุณก็แค่ฟังเขา คุณนั่งฟังเขาชั่วโมงหนึ่ง พอเสร็จแล้วคุณค่อยพูด อย่างนี้คุณชนะใจเขา 50% แล้ว เพราะเขาไปที่ไหน พอเขาพูด 10 นาที คนก็ ‘พอแล้ว เข้าใจแล้ว’ ฟังนี่สำคัญ ความสามารถในการฟัง คืออดทนที่จะฟังในสิ่งที่เรารู้ว่าอาจจะไม่จริง อาจจะเหลวไหล แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ฟังเขาแล้ว และคุณจะช่วยชีวิตเขาเลย คำว่า Patience หรืออดทนก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ผมอยากจะเน้นคือคำว่า Empathy และ Compassion สองคำนี้ ทำให้คุณเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
…ปัญหาในบ้านเมืองหลายอย่างมาจาก หนึ่ง ไม่ฟัง สอง ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือที่ร้ายสุด คือฟังแล้วเข้าใจผิด โอ้โห---เสร็จเลย แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเรา ต่างประเทศก็เป็น ดูอย่างอเมริกา คน 300 ล้านคน เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดี มันก็แสดงอะไรบางอย่าง ผมเห็นนักข่าวไปสัมภาษณ์คนๆ หนึ่งว่าระหว่างอยู่ในรถคันหนึ่ง ทรัมป์พูดจาไม่ดี ดูถูกผู้หญิง เรียกว่าหยาบคายเลย ดังนั้นนักข่าวถามว่าคนๆ นั้นยังสนับสนุนทรัมป์ไหม เขาก็บอกยังสนับสนุนอยู่ ถามต่อว่าเพราะอะไร เขาตอบว่าอะไรรู้ไหม เขาตอบว่าเขายังสนับสนุนทรัมป์อยู่ เพราะว่าตอนที่ทรัมป์พูด ทรัมป์ไม่คิดว่ามีการบันทึกไว้ ถ้าทรัมป์รู้ว่ามีการบันทึก เขาคงไม่พูด เห็นไหม นี่ขนาดคนอเมริกันนะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอถ้าเราไม่รู้จักฟัง”
ในเมื่อปัญหาเชิงระบบหลายอย่างเป็นสิ่งที่อานันท์ได้กล่าวถึงและชี้แนวทางแก้ไขไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน น่าสงสัยว่าเขารู้สึกท้อหรือไม่ที่การขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ดูจะใช้เวลามากกว่าการค้นพบคำตอบนานนัก
“คุณอย่าคิดอะไรมาก คนอย่างนายอานันท์จะมีความหมายอะไร ลองนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านรับสั่งบางเรื่อง เช่น เรื่องป่าไม้ เรื่องคนอยู่ไม่ได้ละเมิดป่า แต่คนเขียนกฎหมายกลับไปละเมิดสิทธิเขา ท่านรับสั่งมา 30-40 ปีแล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ท่านก็รับสั่งมา 20-30 ปีแล้วเหมือนกัน กว่าสังคมจะเริ่มเข้าใจ
…อย่างที่เขาพูดกันว่า ‘รวยกระจุก-จนกระจาย’ หลายเรื่องเป็นอย่างนี้นะในเมืองไทย สิ่งที่ไม่ควรกระจุกก็กระจุก สิ่งที่ไม่ควรกระจายก็กระจาย แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดคือ เมืองไทยมีปัญหามาก และเป็นปัญหาที่ร้ายแรง แต่อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนเดียวที่เป็นเจ้าของปัญหา ทุกประเทศมีปัญหาหมด แล้วหลายประเทศมีมาก่อนเราอีก ดังนั้นก็ต้องค่อยๆ แก้ไป อย่าคิดว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้แบบ instant coffee มันไม่มีในโลก
…ผมไม่กล้าพูดว่าหมดหวังหรอก แต่ก็จะเห็นว่าผมยังอยู่ในเมืองไทย ผมไม่เคยกระเสือกกระสนอยากทำกรีนการ์ด ลูกหลานก็ยังอยู่เมืองไทยทั้งหมด”
คำตอบที่เปลี่ยนไป
ในประเทศที่ปัญหามีมาก คนแก้ปัญหามีน้อย และคนที่เคยพิสูจน์ว่าแก้ปัญหาได้ยิ่งมีน้อยกว่านั้นเข้าไปอีก ไม่แปลกที่ชื่อของอานันท์ถูกคาดหวังให้เป็นคำตอบในทุกเรื่อง ชื่อเขาปรากฏเป็นกรรมการหรือประธานกรรมการในองค์คณะที่มีภารกิจเกี่ยวกับงานปฏิรูปหลากหลาย ไม่ว่า
เรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม กระทั่งการให้เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งนายก-รัฐมนตรีอีกรอบก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยตัดออกจากความคิดอย่างแท้จริง
“คุณต้องถามด้วยว่า อยากได้นายอานันท์ตอนอายุเท่าไหร่ เพราะไม่เหมือนกัน นายอานันท์ตอน 30-50 เนี่ยเรียกว่าเป็นคนตรงเหลือเกิน เห็นอะไรไม่ถูกไม่ต้อง เปรี้ยงเลย ถ้าเรียกข้าราชการมาพบนี่เขาตัวสั่นเลย เลขาส่วนตัวที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้หญิงฝรั่งก็ยังร้องไห้ เพราะผมค่อนข้างจะตรงเปรี้ยะๆ และใจร้อนมาก ทำอะไรต้องเสร็จทันที ไม่ค่อยเกรงใจความรู้สึกของคนอื่น อย่างผมอยู่กระทรวงต่างประเทศแล้วไปว่าเขาไม่มีสันหลังหรืออะไรต่ออะไร แต่คนไม่เกลียดชังผม เพราะว่าผมเป็นคนไม่เก็บอารมณ์ ผมเปรี้ยงแล้วก็หมด ตอนเย็นก็เฮฮา สังสรรค์กันได้ ไม่ nagging ดุก็ดุหนเดียว เวลาส่วนตัวก็เฮฮา
…แต่พอเริ่มแก่ตัว เริ่มมีปัญหาในชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือการที่ภรรยาป่วยหนัก ผมก็เจอสัจธรรมว่าเราต้องแบ่งได้ว่าอันไหนเป็นทุกข์จริง อันไหนเป็นทุกข์ไม่จริง อย่างเรื่องถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์นี่เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก เพราะ
ผมมุ่งเพ่งเล็งไปที่เรื่องสุขภาพของภรรยาผม
…และผมโชคดี การทำงานหลายอย่างทำให้โลกทัศน์ของผมกว้างขึ้น ชีวิตผมขึ้นเร็วเหลือเกิน เป็นทูตตอนอายุ 34 เป็นปลัดกระทรวงอายุ 43 ลาออกตอนอายุ 49 ไปอยู่ สหยูเนี่ยน ถ้าอยู่แต่ในระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสมัยก่อน มุมมองจะแคบมาก ผมจะไม่รู้จักโลกของความจริงเลย แต่พออยู่ภาคเอกชน ผมได้พบกับคนต่างจังหวัด ได้พบเอ็นจีโอ ได้พบนักธุรกิจ ได้มาอยู่การเมือง ได้พบกับคนไทยอีกมากมาย สนุกสนานมาก ผมก็เริ่มเปลี่ยน แต่ core value ไม่เปลี่ยนนะ อะไรที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต สิ่งที่ผมยึดถือ เรื่องความซื่อตรง ความไม่คดโกง ความมีศีลธรรม ความชอบธรรม การไม่พูดปด สิ่งพวกนี้ยังคงเดิมอยู่ แต่ใจเย็นขึ้น แล้วก็มีความเห็นใจคนมากขึ้น
…อย่างที่ผมเล่า ออกมาแล้ว มีคนมาหาผมมากขึ้น แล้ว 20% ของคนที่มาหาผม มีแต่ความทุกข์มาเล่าให้ฟัง ผมก็นั่งฟังเขา แล้วผมแก้ปัญหาให้กับคนหลายชีวิตโดยที่ผมไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ฟัง และเตือนสติเขา
…แล้วบางสิ่งบางอย่าง อย่าไปต่อสู้มากนัก ปล่อยวาง”
ขณะหนึ่งก่อนเริ่มสัมภาษณ์ เนื่องจากอานันท์ต้องเดินมาสักระยะหนึ่งก่อนถึงห้องสัมภาษณ์ แจ็กเกตกันลมที่ผู้ช่วยหยิบยื่นให้เขาสวมใส่ดูเหมือนจะชวนให้คนวัย 85 อย่างเขาร้อนอึดอัด อานันท์ถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่ต้องใส่แจ็กเก็ตในการสัมภาษณ์ เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่จำเป็น เว้นแต่ช่วงถ่ายรูปเมื่อเสร็จการสัมภาษณ์ เขารีบบอกว่า “อย่างนั้นใส่แล้วถ่ายเลยตอนนี้ไม่ดีเหรอ ถ่ายเสร็จแล้วจะได้ถอดเลย ไม่ต้องใส่อีก” ซึ่งทางหนึ่งนับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นสไตล์การทำงานแบบรวบรัดเน้นผลของอานันท์ได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ราวกับจะบอกใบ้ว่าสำหรับหลายๆ คนที่รอคอยให้เขาเป็น ‘อัศวินในเกราะอันวับวาว (a knight in shining armor)’ เข้ามาแก้วิกฤตของประเทศอีกสักครั้ง สิ่งนั้นดูจะเป็นความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล
อานันท์ได้ถอดเกราะนั้นออกนานแล้วเมื่อเสร็จงาน ขณะนี้เขาขอเพียงทำหน้าที่ช่วย ‘รับฟัง’ อย่างเข้าใจยิ่งเท่านั้น
■