SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
An Infinite Speck
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองทะลุฝุ่นควันทางเศรษฐกิจการเมือง พร้อมชี้แนวทางปลดปล่อยศักยภาพแก่ปัจเจกชน
ก่อนจะเริ่มการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และนักวิชาการรางวัลฟูกุโอกะ ผู้ได้รับการยอมรับให้เป็น ‘พญาช้างสาร’ ทางความคิดของสังคมไทยในวัย 79 ปีและเสื้อยืดคอโปโลสมถะอันเป็นเอกลักษณ์ ก้มตัวลงปรับเครื่องฟอกอากาศหนึ่งในสามตัวที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ อย่างขะมักเขม้น เพราะที่บ้านของเขาที่เชียงใหม่ในวันนั้น มลพิษเพิ่งทำสถิติพุ่งทะยานจนค่า AQI เกิน 500 จุด ซึ่งเรียกว่าเกินระดับมาตรวัดจะประเมินได้ และสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก เมื่อมองออกไปนอกประตู ทิวไผ่ริมถนนหน้าบ้านนิธิถูกห่มคลุมอยู่ในฝ้าสีขาวขมุกขมัว โดยมีอากาศระอุแห้งไร้ความชื้นยืนยันให้รู้ว่า สิ่งที่เห็นไม่ใช่หมอก แต่คือควัน “อายุขนาดผมนี่ หน้าที่สำคัญสุด หายใจให้ได้ก่อน” นิธิบอกในภายหลัง
เช่นเดียวกับควันฝุ่น PM 2.5 ที่แสดงให้คนทั่วไปรู้ว่ามีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นิธิมักเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึงในฐานะปัญญาชนสาธารณะที่ ‘สำแดง’ ให้สังคมเห็นปัญหาที่ครอบงำชีวิตทุกคนอยู่ในหลากหลายมิติ แต่ต่างจากฝุ่นควันที่บดบังปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอันสลับซับซ้อนไว้เบื้องหลัง งานเขียนหลักหลายพันชิ้นที่มากด้วยข้อมูลและแน่นหนาด้วยตรรกะของนิธิ ไม่เพียงชี้ถึงปัญหา แต่ยังตีแผ่ความโยงใยของปัจจัยเบื้องหลังที่ข้ามพ้นศาสตร์หรือสาขาวิชา ไม่ว่าอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งข้ามเส้นแบ่งกาลเวลาอดีต-ปัจจุบัน จนไม่น่าแปลกใจที่รางวัลฟูกุโอกะอันทรงเกียรติและมอบให้แก่ผู้ที่ได้สร้างสมผลงานอันโดดเด่นด้านการทำความเข้าใจความเป็นเอเชียจะขนานนามเขาว่าเป็น “นักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สังคมไทยเคยผลิตมา” และนิธิเองก็เคยได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเมื่อปี 2553 อันประกอบไปด้วยอานันท์ ปันยารชุน ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศ. ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ฯลฯ ที่หลายคนกล่าวว่าเป็นคณะรวมปรมาจารย์หรือ ‘ดรีมทีม’
ท่ามกลางบรรยากาศหลังการเลือกตั้งที่ยังขมุกขมัวคลุมเครืออาจยิ่งกว่าหมอก PM 2.5 ด้วยโครงสร้างรัฐธรรมนูญแปลกใหม่ พลวัตระหว่างพรรคการเมืองหลากขั้วที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ตลอดจนความสับสนสะสมของประเทศที่มีแผลไม่ถ้วนจากวงเวียนของประชาธิปไตยและรัฐประหาร การสัมภาษณ์นิธิน่าจะเป็นลำแสงเข้มข้นที่ส่องให้ภาวะขมุกขมัวนั้นแจ่มแจ้งขึ้น
ฝุ่นอาจยังไม่จางในเร็ววันนี้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรมีใครเข้าใจว่าฝุ่นเป็นอวลไอหมอกที่ชื่นใจ
อำนาจต่อรอง
ก่อนที่จะไปถึง ‘ฝุ่นควัน’ ในทางนามธรรมอย่างเช่นปัญหาการเมือง จำเป็นต้องเริ่มด้วยคำถามเกี่ยวกับฝุ่นละอองอันเป็นรูปธรรมในบรรยากาศซึ่งปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ โดยไม่กี่วันก่อนหน้าการสัมภาษณ์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทางการจังหวัดเชียงใหม่เพิ่งถูกโจมตีว่าไม่ดำเนินการประกาศพื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติเพราะกลัวกระทบการท่องเที่ยว หนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาที่ออกมาคือการเปิดอาคารศูนย์ประชุมเป็น ‘เขตปลอดภัย’ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปพักหลบฝุ่นในห้องปรับอากาศ มาตรการที่เด็ดขาดกว่านั้นดูเหมือนจะมีเพียงที่จังหวัดพะเยา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้โรงงานหยุดดำเนินการ 2 วัน
“ผมคิดอย่างนี้ว่าอากาศเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนมีสิทธิได้ใช้เท่าๆ กัน แต่วิธีแก้ปัญหาของคุณคือไปเอาฮอลล์ใหญ่ๆ มาติดเครื่องฟอกอากาศแล้วเชิญทุกคนมาใช้ แต่คนกวาดถนนในหมู่บ้านจัดสรรของผม เขาจะไปรู้หรือไปนั่งตรงนั้นได้ยังไง เขาถือไม้กวาดไปกวาดตรงนั้นแล้วมาเบิกเงินสามร้อยสิบห้าบาทได้มั้ย คือมันไม่ได้แก้ปัญหาใครเลยนอกจากปัญหาคนชั้นกลาง คุณรักษาทรัพยากรสาธารณะไว้ให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว ที่เหลือไม่ได้ทำอะไรเลย
…จริงๆ ผมรู้สึกว่าเราไม่พยายามจะหาความรู้เกี่ยวกับฝุ่นอย่างแท้จริง ฝุ่นจากการเผาเท่าไหร่ จากรถยนต์เท่าไหร่ จากการก่อสร้างเท่าไหร่ ตัวเลขเหล่านี้ต้องรู้ เพราะว่าก่อนจะไปแก้อะไร คุณเริ่มต้นจากการศึกษาให้ได้ก่อน เช่น ผู้ว่าฯ พะเยา สั่งหยุดโรงงานแบบเดียวกับปักกิ่ง แต่อย่าลืมว่าที่ปักกิ่งโรงงานเยอะมาก โรงงานที่พะเยาไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นฝุ่นที่มากลบพะเยามันมาจากไหน ถ้าเราไม่รู้ เราอาจจะสั่งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ผมไม่ได้โทษท่าน มีหรือไม่มีผมก็ไม่ทราบ แต่ว่าวิธีคิดต้องเริ่มจากความรู้ตรงนี้ก่อน เช่น ความรู้เรื่องนี้ส่วนหนึ่งบอกว่าควันมาจากรัฐฉานในพม่า ถ้าคุณไปเที่ยวรัฐฉานในพม่า คุณจะเห็นที่รับซื้อข้าวโพดของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยเต็มไปหมดเลย ทีนี้เวลาปลูกข้าวโพดแล้วจะกำจัดซัง คุณต้องเผา ใช้วิธีอื่นคุณขาดทุน แม้แต่จ้างรถแทรกเตอร์ไปไถเฉยๆ ให้ซังกลบไปเป็นปุ๋ยเนี่ย ก็ยังแพงกว่า เผาง่ายเพราะมันไฟแช็คอันเดียว ดังนั้นถ้าเราเป็นชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดตามพันธสัญญา ก็ต้องใช้วิธีเผา”
ดูเหมือนฝุ่นในชีวิตจริงจะนำไปสู่ฝุ่นควันในทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างรวดเร็ว
“นี่ก็คือเรื่องของนายทุนที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตน แล้วก็ทำลายทรัพยากรสาธารณะของคนอื่นๆ หมด ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอากาศ แต่กับน้ำเอย อะไรเอย ร้อยแปดที่มันเกิดขึ้น เป็นเรื่องเดียวกันหมด เมืองไทยก็ทำอย่างนี้มาตั้งแต่สุโขทัยแล้ว คือคุณเก็บทรัพยากรสาธารณะให้แก่คนจำนวนน้อย แล้วคุณก็ปล่อยให้คนส่วนใหญ่แบกต้นทุน ยกตัวอย่างเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ก่อนที่ดินถือว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านอยากจะเอาคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ให้คุณได้ใช้ประโยชน์แล้วก็เก็บภาษี ดังนั้น เมื่อก่อนไม่เคยมีใครมีโฉนดที่ดิน แต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เราเริ่มมีการออกโฉนดโดยใช้วิธีการรังวัดของออสเตรเลีย วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ละเอียด แม่นยำ เป๊ะมาก ขนาดประเทศที่รวยกว่าเราเยอะแยะไม่ว่าฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา ยังไม่ได้ใช้วิธีนี้ เพราะมันแพงมาก
…แต่เพราะมันแพง การออกโฉนดจึงทำได้เฉพาะในเขตเมือง บ้านนอกคุณไม่มีกำลังไปทำ ทีนี้จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ไม่ทราบ คนที่อยู่เขตเมืองและมีที่ดิน ไม่ใช่ชาวบ้าน ดังนั้น ขนาดผมเป็นหนุ่มแล้ว ทั้งประเทศไทยยังมีที่ดินเพียง 25% เท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิ์ คุณอาจจะทำนานี้มาตั้งแต่ปู่ยาตายายแล้ว แต่คุณไม่มีเอกสารสิทธิ์ แล้วเวลาไม่มีเอกสาร ถ้ารัฐขีดว่าตรงนี้เป็นป่าสงวน คุณตาย คุณต้องโดนไล่ออกไป วิธีจัดการทรัพยากรสาธารณะของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมันจะไม่มีวันเป็นธรรมเป็นอันขาด เพราะคุณโวยไม่ได้ไง”
การบอกว่าฝุ่นนอกจากเป็นภัยพิบัติแล้ว ยังเป็นอาการของความอยุติธรรมบางอย่างในสังคม อาจฟังดูเป็นการโยงทุกปัญหาให้เป็นการเมือง แต่หากฟังจากนิธิ เรื่องต่างๆ ตั้งแต่การขับรถในทางแคบล้วนมีมิติของ ‘การต่อรอง’ กล่าวคือ การหาความเป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัดคล้ายๆ การเมืองทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องใหญ่อย่างการแบ่งสรรทรัพยากรสาธารณะ
“ผมชอบแปลภาษาอังกฤษคำว่า negotiate ว่าต่อรอง ต้องเข้าใจก่อนว่าการต่อรองคือแบบนี้ เช่น เวลาคุณขับรถขึ้นเขา ถนนแคบมาก ข้างหนึ่งเป็นเหว ข้างหนึ่งเป็นเขา ในสถานการณ์อย่างนี้คุณต้องต่อรอง คุณต้อง negotiate กับถนนแคบๆ ให้รอดให้ได้ ไม่งั้นคุณตกเขา ชีวิตจริงมนุษย์เราก็อย่างนี้ เราอยู่ในที่ซึ่งไม่ได้มีเสรีภาพที่จะทำทุกอย่างได้ มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่บังคับว่าเราทำได้แค่นี้ๆ คุณก็ต้องต่อรองกับสถานการณ์ กับบุคคลอื่น กับสถานะทางเศรษฐกิจที่คุณมีอยู่ เพื่อเอาตัวให้รอดให้ได้ถูกไหม แต่ปัญหาคือ คนที่ไร้อำนาจไม่ค่อยสามารถต่อรองได้ เหมือนคนขับรถไม่เป็น คุณก็ขับถนนสายนั้นไม่ได้ คุณตกเขาแน่ๆ เพราะคุณไม่มีอำนาจต่อรอง
…อย่างเวลาที่จะไปสร้างเขื่อนปากมูล ถ้าชาวบ้านแถวนั้นมีเงินมากๆ เขาก็คงไปซื้อที่ใหม่ ไปปลูกบ้านใหม่ จบ แต่เขาไม่มีอำนาจจะไปต่อรองได้ขนาดนั้น เขาก็ต้องกลับมาต่อรองกับผู้สร้างว่ามึงอย่าสร้าง เพราะกูเดือดร้อน ต่อรองแค่นี้ก็ถือว่าเขาเองอยู่ฝ่ายเสียเปรียบค่อนข้างมากแล้ว คุณจะพบว่าเวลาชาวบ้านประท้วง เขาไปประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด เพราะเขาจะเอาเงินที่ไหนเดินทางจากอุบลฯ เข้ากรุงเทพฯ แพงตายโหง แต่พอไปประท้วงที่จังหวัด ก็ไม่เกิดผลอะไรเลย ในที่สุดจึงต้องมาร้องทำเนียบฯ ดังนั้น เราอย่าไปมองความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแยกออกไปจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เพราะเขามีอำนาจน้อย เขาถึงได้อยู่ในฐานะแย่ลงไปเรื่อยๆ”
หัวใจสำคัญของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่การหาคำตอบ แต่เป็น 'ทรรศนะ' คือทำให้คุณตั้งคำถามที่ควรถาม แล้วมหาวิทยาลัยไทยล้มเหลวหมด เพราะคุณให้แต่คำตอบ คุณไม่เคยทำให้เด็กมีความสามารถจะตั้งคำถามได้เลย
ประวัติศาสตร์
รางวัลศรีบูรพาซึ่งให้แก่นักเขียนที่มี “แบบฉบับการใช้ชีวิตที่ดีงาม และแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม” ในวันนักเขียนทุกๆ ปี ระบุไว้ในคำประกาศเกียรติคุณของนิธิเมื่อเขาได้รับรางวัลในปี 2545 ว่า “ความสำคัญของนายนิธิ คือการใช้ปากกาและความเป็นนักเขียนและนักวิชาการ มาชี้ให้เห็นความสำคัญของสามัญชน โดยย้ำว่าสามัญชนคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง” และโดยทั่วไป นิธิมักได้รับสมญานามในทางที่เกี่ยวข้องกับผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็น ‘นักวิชาการเพื่อคนจน’ หรือ ‘ปัญญาชนคนสามัญ’ กระนั้น เขาเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ประพันธ์สาส์นว่า “คำกล่าวหรือแม้คำยกย่องที่คนอื่นให้แก่ผมนั้นส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความจริง ผมไม่ได้อยู่อย่างคนจน ตรงกันข้ามในวิถีชีวิตที่ผมอยู่เวลานี้ เอารัดเอาเปรียบคนจนอยู่ไม่น้อยทีเดียว หลายอย่างที่ผมทำหรือบริโภคตามความเคยชินนั้น ทำและบริโภคได้เพราะมีคนจนอยู่ในโลก หากเราเฉลี่ยทรัพยากรกันอย่างทั่วถึงกว่านี้ ผมคงทำและบริโภคอย่างนั้นไม่ได้” นิธิพอใจมากกว่าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นเพียงนักเขียน
“ในฐานะนักเรียนอักษรศาสตร์ สิ่งที่ผมใฝ่ฝันคือการได้เป็นนักเขียน แต่คำว่านักเขียนมักถูกใช้ในความหมายของ creative work มากกว่า เขียนบทความสังคม การเมืองอย่างนี้ เรียกตัวเองเป็นนักเขียนได้ยังไง ต้องเขียนนิยาย แต่การเป็นนักเขียนนิยายไม่ใช่จะเป็นได้ทุกคน ผมอยากเขียนนิยายจะตาย ผมก็เขียนไม่เป็น แต่ถ้าพูดความหมายกว้าง ก็คิดว่าที่ทำทุกวันนี้คือเป็นนักเขียน
...พูดจริงๆ ไม่ได้คิดจะขับเคลื่อนอะไรเลย คิดว่าเพียงต้องช่วยๆ กันแสดงความคิดเห็นผิดบ้างถูกบ้าง แล้วหวังว่าอย่างน้อยถ้ามีคนได้อ่าน เขาอาจจะรู้สึกว่าการ take part กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งควรทำหรือสิ่งจำเป็น ถามว่าถึงขนาดเจตนาขับเคลื่อนอะไรไหม ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะผมไม่นึกว่าตัวเองจะมีอิทธิพลขนาดเปลี่ยนความคิดอะไรใครได้ เป็นแต่เพียงพยายามเสนอสิ่งที่ไม่เหมือนกับที่เขาคิด หลายๆ ครั้ง หลายๆ หน ก็อาจจะมีบางคนที่เริ่มรู้สึกว่าถึงเขาไม่เชื่อ เขาก็ต้องกลับมาทบทวนความคิดความเชื่อของตัวเองใหม่ แต่ถ้าดูจากปฏิกิริยาที่ผมเห็นจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ผมคิดว่าผมไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย เขียนมา 10-20 ปี มันไม่ได้เกิดผล”
‘ผล’ ในที่นี้ของนิธิ ดูจะมุ่งหมายไปถึงศักยภาพของนักศึกษาในการมองปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างเห็นความเชื่อมโยงและองค์รวม ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อีกหนึ่งปรมาจารย์ทางประวัติศาสตร์และรุ่นพี่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนิธิเคยกล่าวว่าเป็นข้อเด่นของนิธิมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ดังที่รศ.ศรีศักรเคยให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์มติชนว่า “อาจารย์นิธิเข้าเรียนหลังผมปีหนึ่ง ทำให้พอเห็นและคุ้นกันพอสมควร นิธิและเพื่อน 2-3 คนชอบจับกลุ่มคุยและถกเถียงกันในเรื่องความคิด ดูแล้วเป็นนักคิดมากกว่าคนส่วนใหญ่ในคณะที่เป็นนักท่องจำ”
“ศาสตร์คือการพยายามทำให้ความรู้เฉพาะแขนงเป็นระบบขึ้นและแคบลง ความรู้ในที่นี่รวมทั้งคำตอบและคำถาม เพราะฉะนั้น ในตัวมันเอง ศาสตร์มีข้อดีตรงพลังในการเจาะอะไรได้ลึกกว่า แต่มีข้อเสียว่า เจาะได้ลึก แต่คุณก็เห็นฟ้าอยู่แค่เหรียญสลึงเท่านั้นเอง จนในที่สุดคุณมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของชีวิตจริง มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของโลก
...อย่างวิธีที่เราสอนประวัติศาสตร์ ถ้าไม่บังคับ ผมเชื่อว่าเด็กไม่เรียน น่าเบื่อฉิบเป๋ง ยกตัวอย่างเมื่อสมัยผมเรียนประวัติศาสตร์ยุโรปในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มันมีเรื่องจักรพรรดิของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ไปคุกเข่าในหิมะต่อหน้าวังของโป๊ปเพื่อจะขออภัย โป๊บก็ไม่ยอมลงมาให้อภัย รอให้พระเจ้าแผ่นดินนั่งคุกเข่าอยู่หนึ่งคืนถึงได้ออกมาพบ เรื่องเหล่านี้ฟังแล้วก็ต้องถามว่าจะจำไปทำอะไร เพราะสิ่งสำคัญที่ครูไม่ได้พูดถึงเลยก็คือ ยุคนั้นคือยุคก่อนการเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป เป็นยุคของการต่อสู้ระหว่างอำนาจ 2 ชนิดที่วางอยู่บนฐานที่ไม่เหมือนกัน โป๊บคือฐานของความเชื่อเรื่องพระเจ้า กษัตริย์ทุกคนได้เป็นกษัตริย์เพราะพระเจ้าบอกให้เป็น ฉะนั้นโป๊บตัวแทนพระเจ้าถึงต้องเป็นคนครอบมงกุฎให้กษัตริย์ แต่บัดนี้มันมีความคิดอีกชนิดหนึ่งว่า ไม่ใช่---กษัตริย์ได้รับอำนาจจากพระเจ้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านโป๊บ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเรียนรู้เรื่องนี้ในลักษณะนี้แทน มันจะเข้าใจหรืออย่างน้อยตั้งคำถามได้ว่า เอ๊ะ---ในเมืองไทยนี่ ความเชื่อทางศาสนากับความเชื่อทางการเมืองมันเคยขัดแย้งกันบ้างไหม ถ้ามันขัดแย้ง มันขัดเรื่องอะไร ถ้าไม่ขัดแย้ง ทำไมมันไม่รู้จักขัดแย้งวะ ถูกไหม มันถึงจะมาเกี่ยวพันกับชีวิตจริงๆ ของเรา
…ผมอาจโชคดีอยู่นิดหน่อยตรงที่ผมชอบอ่านหนังสือไม่เลือกหน้า มีบ้าบออะไรขวางหน้าก็อ่านๆ มันไป ทำให้ผมรู้นั่นรู้นิด รู้นี่หน่อย ไม่ได้รู้จริงสักเรื่อง แต่ทีนี้ถ้าคุณไปอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปที่ฝรั่งเป็นคนเขียน มันจะไม่สอนแบบนี้ มันจะสอนให้เข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงยุคของการแย่งอำนาจระหว่างคนสองประเภทที่มีฐานอำนาจแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องการปฏิรูปศาสนาในยุโรปของมาร์ติน ลูเธอร์ จริงๆ มาร์ติน ลูเธอร์ คนเดียวทำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีฐานของการปะทะ วิวาทะ ระหว่างสองฐานอำนาจมาก่อน อยู่ๆ ไอ้บ้านนอกคนหนึ่งจะออกมาบอก เฮ้ย---อย่างนี้ไม่ใช่ แล้วมีพระเจ้าแผ่นดินตามแคว้นต่างๆ เป็นสิบคนออกมาบอกว่า เฮ้ย---กูเห็นด้วยกับมึง ไม่มีทาง ถ้ามาร์ติน ลูเธอร์พูดก่อนหน้านั้นสัก 50 ปี ไม่มีใครเอากะมันแน่นอน บุคคลมีความสำคัญแน่นอน แต่ไม่ใช่มีความสำคัญมากอย่างที่เราสอนกันในประเทศไทย คุณประยุทธ์ก็สำคัญ ผมไม่ปฏิเสธ แต่คุณประยุทธ์คนเดียวก็ทำอะไรไม่ได้
…ทั้งหมดของการเรียนประวัติศาสตร์ในไทยมันกลายเป็นสิ่งที่เป็นเหตุการณ์ ไม่ใช่การพยายามวิเคราะห์ให้เข้าใจโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อีกทีหนึ่ง ทั้งที่ไอ้นี่ต่างหากที่สำคัญกว่า หัวใจสำคัญของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่การหาคำตอบ แต่เป็น ‘ทรรศนะ’ คือทำให้คุณตั้งคำถามที่ควรถาม แล้วมหาวิทยาลัยไทยล้มเหลวหมด เพราะคุณให้แต่คำตอบ คุณไม่เคยทำให้เด็กมีความสามารถจะตั้งคำถามได้เลย”
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อาจเป็นด้วยเขาเห็นความไม่ตอบโจทย์ของการศึกษาไทยเช่นนี้ ในช่วงปี 2540 นิธิและเพื่อนคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันก่อตั้งเวทีสำหรับการเสวนาแลกเปลี่ยนและการศึกษาในแบบที่เขาเห็นว่าดีขึ้นมาเอง โดยใช้ชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยกลางวันในระบบปกตินั้นไม่เพียงพอหรือแม้กระทั่งผิดทิศทาง ดังเช่นที่เขียนไว้ในส่วนความเป็นมาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนเว็บไซต์ว่า “การเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พยายามมุ่งเน้นปัญหาเป็นตัวตั้ง (problem-oriented) ไม่ใช่เอาศาสตร์เป็นตัวตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับโลก ปัญหาระดับประเทศ และปัญหาท้องถิ่น ล้วนอยู่ในความสนใจของเรา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้คิดและแก้ปัญหาที่มากระทบกับผู้คนจริง ในขณะที่มหาวิทยาลัยกลางวัน มุ่งเอาศาสตร์เป็นตัวตั้ง ดังนั้นนักศึกษาจึงไม่เคยรับรู้อะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาสังคมรอบตัวพวกเขา” หรือสรุปได้ตามคำขวัญชวนให้เฉลียวใจของมหาวิทยาลัยว่า “กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง”
“เราไปเชื่อในคำตอบที่ถูกต้องว่ามีอยู่อันเดียว เพราะฉะนั้นมันก็ง่ายมากในการที่เอาคำตอบที่ถูกต้องไปให้แก่นักเรียนของเรา เราไม่ได้คิดว่าคำตอบที่ถูกต้องมีตั้งหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามมันตรงไหน ร้อยแปด เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิจะตอบไม่ตรงกัน แต่ถูกหมดก็ได้ คนนี้ตอบโดยที่คิดถึงบริบทน้อยเกินไป ก็อาจจะมีคนเตือน ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมมันเกิดสิ่งนี้ล่ะ เพื่อจะให้เขาคิดใหม่ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาผิดนะ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ ไม่ว่าเรื่องอะไร คุณก็ต้องพยายามหาแง่มุมต่างๆ มาพิจารณา อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอ่านหนังสือเองเป็นนะ เอาว่าแค่ป.4 สิ่งที่ครูสอนทั้งหมดคุณไปหาอ่านเองก็ได้ เพราะครูก็อ่านมาเหมือนกัน จะมานั่งสอนเราทำไม เสียเวลาเปล่า
อย่าไปคิดเป็นอันขาดว่าคนเราสามารถคิดอะไรดีๆ ได้ด้วยตัวเราคนเดียว คุณต้องอยู่ในยุคสมัย ต้องได้รับอิทธิพลอื่น โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง กว่าจะมาก่อเป็นความคิดของคุณได้
…แต่การอ่านของเราก็เป็นปัญหาอีก จำได้ว่าตอนผมเริ่มอ่านหนังสือออกต้องเรียนหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ครูก็เริ่มต้นให้อ่านคำนำ แล้วก็สอนเราว่าหนังสือมีคำนำ เราต้องอ่าน คำนำสำคัญมาก แล้วคุณคิดว่ากับเด็กที่เพิ่งเริ่มหัดอ่านหนังสือ คุณจะหาอะไรน่าเบื่อเท่าคำนำได้ คุณทำลายนิสัยรักการอ่านของคนตั้งแต่เริ่มอ่านประโยค อย่าว่าแต่การอ่านอาจไม่จำเป็นในระบบการศึกษาของเราด้วย ในสมัยผม ผมเชื่อว่าคุณสามารถเรียนจบอักษรศาสตร์ได้โดยการอ่านหนังสือแค่ 4 เล่มที่เขาเรียกว่า External Reading ซึ่งเป็นหนังสือนวนิยายฝรั่ง ไปอ่านๆ มาที่เขาจะสอบแค่นั้นพอ แล้วจริงๆ ผมก็ไม่ได้อ่านทุกเล่มด้วย เพราะขี้เกียจ ผมก็ไปบอกเพื่อนว่า เฮ้ย---มึงเล่าให้กูฟังหน่อย ก็พอแล้ว
…เราต้องทำให้เขาเห็นว่าการอ่านเป็นความสุข เป็นการผ่านเวลาที่สนุกอย่างหนึ่ง เขาอ่านอะไรแล้วรู้สึกสนุก ให้อ่านสิ่งนั้น ถ้าคุณอ่านนวนิยายสนุก อ่านนวนิยาย ผมยังรู้สึกตัวเสมอว่าผมอ่านนวนิยายน้อยไปเพราะว่านวนิยายให้อะไรบางอย่างที่เราหาไม่ได้ในหนังสือวิชาการ ความรู้สึกหรือว่าแง่มุมของมนุษย์ที่อาจจะเป็น weakness หรือ strength ในบางเรื่อง ซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์”
อย่างไรก็ตาม สำหรับนิธิ เรื่องที่น่าเศร้ากว่าการศึกษาในระบบที่กะพร่องกะแพร่ง ก็คือการศึกษานอกระบบที่เป็นไปไม่ได้ ภายใต้คุณภาพของสื่อแบบในปัจจุบัน
“เพราะสื่อมีความสำคัญมากในการให้การศึกษาคน ห้องเรียนไม่ค่อยได้มีอะไรเท่าไหร่หรอก สำหรับทุกสังคมเลย เราควรเรียนรู้ว่าห้องเรียนมันแคบมาก มนุษย์เรียนรู้จากอะไรที่อยู่นอกห้องเรียนตลอด ในอังกฤษสมัยหนึ่งเคยเชื่อว่าเด็กเรียนรู้จากสนามเด็กเล่น เพราะในสนามเด็กเล่น เด็กที่ไปเล่น ไปเตะฟุตบอลอะไรก็แล้วแต่ คุณจะได้เรียนรู้เรื่องการเคารพกติกา เรียนรู้ว่าถ้าเพื่อนคุณเสือกเตะบอลเข้าประตูตัวเอง อย่าไปด่าแม่มันทันที แล้วเด็กได้สิ่งเหล่านี้ดีกว่าที่ครูสอน เพราะอันนี้ต้องทำจริง ไม่ทำจริง เพื่อนไม่เล่นกับมึงนะ สิ่งสำคัญที่สุดในโรงเรียนจึงเป็นสนามเด็กเล่น ไม่ใช่ห้องเรียน กระทรวงศึกษาไทยทุกวันนี้กำหนดเนื้อที่กี่ตารางวา กี่ไร่ไม่รู้สำหรับพื้นที่ว่างในโรงเรียน นอกนั้นคุณมีแต่ตึกเรียน ห้องเรียนเป็นแถวไปหมด
…ผมว่าน่าเศร้านะ ในยุคสมัยที่คนอ่านหนังสือมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างน้อยสุดก็อ่านจากโทรศัพท์ สื่อเราเลวลง เพราะคนเราจะ take part กับการเมืองหรือสังคมก็แล้วแต่ โดยที่คุณไม่มีข้อมูลความรู้เลยเป็นไปไม่ได้ อย่าไปคิดเป็นอันขาดว่าคนเราสามารถคิดอะไรดีๆ ได้ด้วยตัวเราคนเดียว คุณต้องอยู่ในยุคสมัยต้องได้รับอิทธิพลอื่น โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง กว่าจะมาก่อเป็นความคิดของคุณได้ ไม่มีใครทะลุขึ้นมาจากขี้เลนได้โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากอะไรรอบทาง เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าสื่อมีคุณภาพ ให้ข้อมูลถูกเป็นเบื้องต้น คุณก็จะเอาไปคิดต่อได้ดี แต่ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่ไม่จริง กุขึ้นเอง หรือไปรับเอาข่าวปลอมมาลง ขนาดมีคนมาชี้ให้คนทั้งประเทศดูว่า เฮ้ย---นี่มันข่าวกุ ข่าวไม่จริง เจ้าตัวสื่อก็ยังไม่รู้สึกว่าผิดอะไร ก็ออกข่าวต่อไปตามเดิม ทั้งที่สมัยหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอับอายที่สุดในวงการสื่อเลยก็ว่าได้ ผมว่า โอ้โห---มันไม่เคยมีครั้งไหนที่จะถึงขนาดนี้
…ที่แปลกคือหนังสือพิมพ์ เวลานี้มันถูกแข่งโดยสิ่งที่เอาชนะได้ยากมาก คือของฟรีในโทรศัพท์ คุณอ่านในคอมฯ ก็ได้ ไม่เห็นต้องมาอ่านในกระดาษ ยุคนี้น่าจะเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์ต้องพัฒนาตัวเองที่สุดเพื่อให้ตัวเองต่างจากสื่ออื่น กลับกลายเป็นยุคที่เสื่อมที่สุดเลย แล้วยังหวังว่าคนจะซื้อหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าไม่ใช่ สิบกว่าปีมาแล้วเคยมีชาวอเมริกันเข้ามาในเมืองไทยแล้วให้สัมภาษณ์ว่าสื่อกระดาษไม่ตาย แต่เสนอแบบเก่าไม่ได้ ต้องคิดใหม่ว่าจะทำยังไงให้นิตยสารอยู่ได้ แล้วสำหรับหนังสือของฝรั่งคนนั้น มันก็ยังอยู่ได้ในอเมริกา ซึ่งผมคิดว่านักหนังสือพิมพ์ไทย ต้องนั่งลงสุมหัวคิดให้ดีๆ ว่าจะทำยังไง ผมยังเชื่อในเรื่องของการแข่งขันโดยเสรี คือหลังจากหนังสือพิมพ์เจ๊งหมดแล้ว ผมว่าต้องมีใครที่เก่งพอที่จะทำอย่างเดียวกับที่คุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) สร้างพรรคอนาคตใหม่ ใครสักคนที่ลงทุนทำสื่อเพื่อเอากำไร แล้วมองเห็นว่ากำไรต้องได้จากคุณภาพ ไม่ใช่จากโฆษณาอย่างเดียว”
อนุรักษ์ให้นิยม
แม้นิธิจะสรุปอย่างรวบรัดว่าตนเอง ‘ล้มเหลว’ ในการเปลี่ยนแปลงวิธีที่คนศึกษาหรือทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของสังคม แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งหนึ่งที่มิอาจกล่าวได้เลยก็คือการบอกว่าเขาหย่อนความพยายาม เพราะนอกเหนือจากบทบาทการเป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จวบจนเกษียณ และการเป็นผู้ปูทางแนวคิดและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนดังกล่าวแล้ว นิธิยังผลิตผลงานวิจัย ตีพิมพ์หนังสือ และเขียนบทความในหลักหลายพันชิ้นลงในสื่อต่างๆ ที่ดูจะถอดประกอบเรื่องราวจากทุกห้วงเวลา ชนชั้น ชาติพันธุ์ และภูมิภาคของไทยมานำเสนอเป็นประวัติศาสตร์ในมุมที่ต่างจากที่ทุกคนเคยยึดถือ อย่างที่ตัวเขาเองใช้คำว่า ‘ถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่’ ด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีสังคมใดสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชั่วนาตาปีได้ด้วยความทรงจำที่ไม่ทำให้ตนเองพร้อมจะเผชิญกับปัจจุบันและเข้าใจปัจจุบันได้จริง” ในขณะที่หลายคนคิดว่าความพยายามอย่างนี้ของนิธิเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดแบบอนุรักษ์นิยม น้ำเสียงของนิธิฟังดูจะเจือไปด้วยความเห็นใจหรือแม้กระทั่งความเสียดาย
“ผมคิดว่าอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยเขาโชคร้าย คุณเคยสังเกตไหมว่าสำหรับคนที่เป็นอนุรักษ์นิยม ตัวอุดมการณ์ของอนุรักษ์นิยมไม่เคยพัฒนา เคยเป็นอย่างไรในสมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ อนุรักษ์นิยมไทยก็ไม่เคยพัฒนาอุดมการณ์อะไรอีกเลย สมมติคุณบอกว่าคุณอยากอนุรักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ ถ้าคุณเป็นอนุรักษ์นิยมที่ดี คุณก็ต้องคิดต่อไปอีกว่าต้องทำยังไงถึงจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สอดคล้องกับยุคสมัย และอธิบายประโยชน์ความจำเป็นต่างๆ เช่น วอลเตอร์ แบจช็อต (Walter Bagehot) ของอังกฤษเสียหน้ากระดาษไปหลายหน้าเพื่อจะโต้แย้งว่าระบอบกษัตริย์แบบอังกฤษดีกว่าระบอบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศสยังไง
…หน้าที่ของนักอนุรักษ์นิยมคือการอธิบายคุณค่าถาวรที่คุณเชื่อถืออยู่ มันทำให้ตัวความเป็นอนุรักษ์นิยมดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่เคยแปลกใจบ้างหรือว่าทำไมอังกฤษถึงมีพรรคการเมืองที่ตั้งชื่อตัวเองว่าพรรคอนุรักษ์นิยม แล้วยังดันได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีก อย่างหนังเกี่ยวกับพระนางเอลิซาเบธที่สองของเน็ตฟลิกซ์ เรื่องเดอะ คราวน์ (The Crown) ก็เป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม เขาชี้ว่านี่ไงบทบาทของราชินี ทำไมเราถึงต้องมีพระมหากษัตริย์ หนังคล้ายกับจะบอกเราว่าจริงๆ ควีนเอลิซาเบธเป็นคน uneducated ที่สุด แกไม่เคยเรียนหนังสืออะไรเลย พ่อแม่สั่งให้อาจารย์กฎหมายมาสอนเรื่องรัฐธรรมนูญ แกก็จด-จด-จด จบ ขึ้นเป็นควีนโดยไม่มีความรู้อะไรเลย ดังนั้นหนังอาจแสดงว่ากษัตริย์เราไม่ได้ต้องการ expert แต่ต้องการคนที่เข้าใจมนุษย์ด้วยกัน ทำไมหนังไม่พูดว่าพระราชินีเอลิซาเบธก็ทำอย่างเดียวกับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็เพราะมันไม่ใช่ สถาบันกษัตริย์สำคัญ แต่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ขืนบอกว่าควีนเอลิซาเบธกับคิงเฮนรีที่ 8 ทำเหมือนกัน คนก็อ้าว---แล้วจะมีสถาบันฯ ไปทำไม
…ดังนั้นถ้าคุณถือว่าสถาบันกษัตริย์คือสัญลักษณ์ของอนุรักษ์นิยม เป็นสิ่งดีที่สุด คุณก็ต้องมาหาให้รอบคอบว่าจะต้องปรับยังไงจึงจะทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่นิยมนับถือของประชาชนสืบไป แล้วถ้าคุณตั้งใจหาผมว่าคุณหาได้ แต่คุณไม่เคยถามหา ผมคิดว่ามีอะไรหลายอย่างของอนุรักษ์นิยมที่พังลงๆ ถ้าคุณไม่แก้เรื่องนี้ให้ดี ผมอยากยกตัวอย่างคุณคึกฤทธิ์ ปราโมช คุณคึกฤทธิ์เป็นอนุรักษ์นิยมที่เก่งและฉลาดมาก โดยส่วนตัวอะไรผมอาจจะไม่ชอบท่าน แต่ปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ คุณคึกฤทธิ์เป็นคนที่รู้ว่า สถาบันกษัตริย์จะต้องปรับตัวยังไง จะต้องแก้ยังไง นั่นคือสิ่งที่แกทำ แกรู้ว่าต้องรักษาความจงรักภักดีต่อสถาบันเอาไว้เพราะมีความสำคัญต่อประเทศชาติ แต่ไม่ได้แปลว่าพระมหากษัตริย์ไทยควรจะเหมือนพระเจ้าปราสาททอง ไม่ใช่ คนละยุคคนละสมัยกันแล้ว
ในอุดมการณ์เสรีนิยมจริงๆ เขาเน้นเสรีภาพส่วนบุคคล ก็เพราะเขาเชื่อว่าการปล่อยให้คนมีเสรีภาพ มันจะทำให้คนนั้นสามารถคิด สามารถสร้างเงิน สามารถสร้างความดีให้แก่คนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องถูกขัดขวาง
…เมื่อตอนต้นรัชกาลที่ 9 คุณคึกฤทธิ์ไปด่าใครไม่รู้เรื่องใช้ราชาศัพท์ไม่เป็น แต่พอมาถึงปลายชีวิตแก เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ออกพบประชาชน คุณคึกฤทธิ์ก็เปลี่ยนมาบอกว่าราชาศัพท์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ นี่ก็แน่นอน เพราะถ้าคุณบอกว่าสำคัญ คุณก็กีดกันให้คน 99% ในประเทศไทยไม่สามารถพูดอะไรกับพระเจ้าแผ่นดินได้เลย ก็เป็นการทำลายสถาบันเอง คุณคึกฤทธิ์จึงเป็นอนุรักษ์นิยมที่เก่งมากๆ ที่รู้จักคิด ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมแบบทื่อๆ อะไรนี่”
เสรีนิยมเชย
อย่างไรก็ตาม กระทั่งค่ายความคิดแบบเสรีนิยมเท่าที่ปรากฏในไทย ก็ยังมีงานต้องทำอีกไม่น้อยในสายตาของนิธิ โดยเฉพาะในประเด็นว่าเสรีนิยมในไทยมักสนใจแต่เรื่องเสรีภาพหรือระบบตลาดเสรีอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าจะมองว่าทั้งสองอย่างคือเรื่องเดียวกัน ตลาดที่ไม่มีเสรีภาพแห่งบุคคลย่อมปราศจากศักยภาพ และเสรีภาพของบุคคลโดยไม่มีตลาดย่อมไร้ประโยชน์
“ฝ่ายเสรีนิยมไทยจำนวนมากก็ไม่ได้ตามไปศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับอุดมการณ์เสรีนิยมจริงๆ เช่นเสรีนิยมในประเทศไทยเน้นแต่เรื่องเสรีภาพ แต่ในอุดมการณ์เสรีนิยมจริงๆ เขาเน้นเสรีภาพส่วนบุคคล ก็เพราะเขาเชื่อว่าการปล่อยให้คนมีเสรีภาพ มันจะทำให้คนนั้นสามารถคิด สามารถสร้างเงิน สามารถสร้างความดีให้แก่คนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องถูกขัดขวาง เสรีนิยมคือการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากการจำขังของอำนาจพระราชาก็ตาม อำนาจวัฒนธรรมหรือประเพณีก็ตาม เพื่อให้เขาได้เป็นตัวเขาเอง แต่เสรีนิยมไทยก็ไปไม่ถึงตรงนี้
…เกือบทุกพรรคพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจก่อน ต้องแก้ปัญหาปากท้อง แต่ผมเชื่อว่าแยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้ คือเศรษฐกิจถูกพัฒนาโดยคนที่มีอิสระเสรี ไม่ใช่พัฒนาโดยคนที่เป็นขี้ข้า ทาสของคนอื่นจะไปพัฒนาเศรษฐกิจได้ยังไง น่าประหลาด เรายกย่องเสรีนิยมใหม่กันเหลือเกิน ทุกคนอยากจะเป็นเสรีนิยมใหม่ เป็นตลาดเต็มที่ รัฐไม่ต้องมายุ่ง แค่เก็บภาษีแล้วไปนอนเสีย ขอให้ตลาดทำงานเอง แต่หนึ่งในศาสดาของเสรีนิยมใหม่ คือฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) บอกไว้เลยว่า เฉพาะคนที่มีเสรีภาพเท่านั้น ที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่ว่าตลาดเฉยๆ สังเกตว่าเขาพูดถึงเสรีภาพของคนนะ ไม่ได้พูดถึงตลาด เป็นหัวใจสำคัญที่สุด คุณอยากเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่คุณไม่เชื่อใน individual เลย แล้วเป็นเสรีนิยมใหม่บ้าอะไร เป็นเสรีนิยมเชยน่ะสิ
…ฮาเย็กพยายามพิสูจน์ว่าความสำเร็จในการพัฒนามันมาโดยอัตโนมัติทันทีโดยคนที่เสรี คุณอยากได้เงิน ผมอยากได้เงิน ทุกคนอยากได้เงินหมด ต่างคนต่างหาช่องทางว่าจะได้เงินโดยไม่ผิดกฎหมายยังไง ในที่สุดคนหนึ่งในพวกเราคิดวิธีออกอันหนึ่ง แล้วประสบความสำเร็จ บางคนคิดออกแล้วประสบความล้มเหลวก็มี แต่คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่คนอื่นเขาจะทำตาม การพัฒนาเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น ตลาดก็เป็นผลพลอยได้เนื่องมาจากการนั้น ดังนั้น ในขณะที่เรายกย่องจีนก็ตาม สิงคโปร์ก็ตามว่าใช้ระบอบเผด็จการ ก็ยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ คำถามคือมีใครพิสูจน์ได้บ้างว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์หรือจีนเกิดขึ้นจากบุคคลที่เป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นลีกวนยู เติ้งเสี่ยวผิง คุณพิสูจน์ได้เหรอ
…ทำไมไม่มีคนพูดถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าเติ้งเสี่ยวผิงอีก เช่น จีนไม่อนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมือง แต่เขาเปิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจให้คนหาประโยชน์จากที่ดินได้ ยกเลิกนารวมทำให้ชาวนาสามารถหาทางที่จะปลูกอะไรก็แล้วแต่ที่ขายแล้วได้กำไรดีที่สุด คือคุณไม่พูดถึงปัจจัยอื่นๆ เลย คุณพูดอย่างเดียวเรื่องผู้นำ สิงคโปร์ก็เหมือนกัน บางทีก็เป็นเรื่องของบางช่วงบางจังหวะ อย่าลืมนะเมื่อตอนเศรษฐกิจสิงคโปร์กำลังไต่เต้าเติบโตอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทย มาเลเชีย อินโดนีเซียก็ไต่เต้ารวดเร็วเหมือนกัน เหตุผลเพราะคุณจะทำนายตัวเลขจีดีพีได้ชัดเจนจากภูมิภาค ไม่ใช่จากประเทศ ถ้าจากประเทศนี่ผิดเสมอ คือถ้าทั้งภูมิภาคมันกำลังขึ้น มันก็ขึ้น ถ้าภูมิภาคกำลังลง ให้เก่งขนาดไหนมันก็ลง ดังนั้น ปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนา ไม่เคยถูกพิจารณาเลย มองแต่เพียงผู้นำๆ กรณีน้าชาติ (พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ยิ่งชัดเจน ถามว่าแกทำอะไรถึงทำให้เศรษฐกิจดีในช่วงนั้น ญี่ปุ่นกับอเมริกันทำ ทุนเข้ามาจากทางนั้น ดังนั้น ทำให้คนเป็นเสรีชนก่อน มันถึงจะพัฒนาเศรษฐกิจได้”
อนาคตใหม่
การสัมภาษณ์นิธิมีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ให้หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผลคะแนนของพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาหักปากกาเซียนในหลายกรณี อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางประวัติศาสตร์ล้มลุกของประชาธิปไตยและรัฐประหาร นิธิจึงมองว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้วไม่น้อย ไม่ว่าในส่วนของทหารหรือของประชาชน
“ผมพิสูจน์ไม่ได้หรอก แต่ด้วยเหตุผลรอบข้าง ทำให้ผมเชื่อว่าการรัฐประหารครั้งนี้ หรือครั้งไหนๆ ก็แล้วแต่ ทหารไม่ได้ทำคนเดียว แต่ต้องร่วมมือกับกลุ่ม elite ในประเทศไทยหลายกลุ่มด้วยกัน คิดง่ายๆ อย่างนี้ว่ากปปส. หรือการปิดกรุงเทพฯ ร้อยแปดนี่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารไหม ผมว่าชัดเจนจนไม่รู้จะชัดเจนยังไง การชุมนุมใหญ่ขนาดกปปส. คุณว่าต้องใช้ทุนไหม ใช้มโหฬารเลย แล้วไปเอาทุนมาจากไหน ทำไมหลังรัฐประหาร เกิดนายทุนประชารัฐโครมทันทีเลย
…ธุรกิจผูกขาดในประเทศไทย ด้วยเหตุใดก็ตามแต่ รัฐไม่ได้เคยเข้าไปทลายการผูกขาดจริง เช่น พรบ.แข่งขันทางการค้าออกมาตั้ง 7-8 ปีแล้ว ยังไม่เคยใช้เลยสักเคสเดียว แล้วจะบอกว่านักธุรกิจไม่ได้เอาเปรียบกันในด้านการแข่งขันงั้นหรือ แล้วรัฐก็ยอมไง รัฐเองอยู่เบื้องหลังการผูกขาดทั้งหมด ร้านสะดวกซื้อบอกว่าถ้าใช้เครือข่ายยี่ห้อนี้ คุณไปจ่ายเงินกันเอง ผมไม่รับ ผมว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว คุณต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร ทำไมเครือข่ายอื่นจ่ายได้ เครือข่ายนี้จ่ายไม่ได้ การที่เอกชนเลือกปฏิบัติในการขายบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็คือการผูกขาดอีกชนิดหนึ่ง แล้วทำไมรัฐนั่งเฉย ในประเทศไทยคุณสามารถผูกขาดโดยพฤตินัย ไม่ใช่โดยนิตินัย แยะมากเลย
…เพราะฉะนั้น รัฐประหารเกิดความร่วมมือกับกลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มด้วยกัน และนั่นคือเหตุผลที่คณะรัฐประหารทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมันลูบหน้าปะจมูกไปหมด ถามว่าทำไมสฤษฎิ์ (จอมพล สฤษฎิ์ ธนะรัชต์) ถึงทำอะไรได้มากกว่ากันเยอะ ก็เพราะตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มีนายทุนจริงจัง อย่างมากก็เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อกล้ามตราห่านฟ้า เคยเห็นไหม อยู่แถวสะพานเหลือง แค่นี้ มันนิดเดียว ไม่มีความหมาย ทหารจึงไม่สนใจจะเอาคุณมาเป็นพันธมิตรด้วย ทหารจะเอาอย่างไรก็เคาะไปได้ปังๆ เลย มันไม่มากฝ่ายเหมือนปัจจุบันนี้ ยิ่งมากเท่าไร คณะรัฐประหารก็มีอำนาจยิ่งน้อยลงเท่านั้น คุณเป็นแค่ตัวต่อชิ้นเดียวในทั้งหมด ไม่มีความหมายเลย
…พรรคอนาคตใหม่ก็กำลังทำให้การเมืองเปลี่ยน คุณสังเกตไหมใครเป็นผู้กำหนดญัตติการโต้แย้งอภิปรายกันตั้งแต่ตอนหาเสียง ก็พรรคอนาคตใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่พูดถึงการปฏิรูปทหาร ทุกพรรคก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปทหารหมด จะพูดด้วยเสียงอ่อยๆ หรือเสียงเข้มแข็งก็แล้วแต่ แล้วผมคิดว่าถ้าเขายังอยู่ในวงการเมืองต่อไป แม้แต่เป็นฝ่ายค้าน เขาก็จะเป็นผู้กำหนดญัตติเหล่านี้ต่อ สิ่งที่เขาประกาศจะแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนมากขึ้น เช่น เขาก็เฝ้าอธิบายอยู่นั่นแหละว่ามันมีความจำเป็นยังไงที่เราต้องล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร ต้องล้มเลิกกฎหมายที่ออกโดยคสช.ทุกฉบับเว้นแต่สภาจะรับรอง แล้วพอคนเห็นด้วยมากขึ้นๆ ภาระที่จะอธิบายตอบโต้ว่าไม่ควรจะเลิกจะตกอยู่กับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยก็เท่านั้น เพราะพรรคอนาคตใหม่ได้กำหนด agenda ให้คุณต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไปแล้ว ซึ่งผมคิดว่าลักษณะอันนี้ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยน”
อย่างไรก็ตาม หากข้อสังเกตของเขาถูกต้องความเปลี่ยนแปลงที่เศรษฐกิจในช่วงรัฐประหารอยู่ในการครอบงำของกลุ่มทุนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ประชาชนเริ่มเห็นปัญหาการเมืองเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาปากท้องดังแสดงออกโดยการสนับสนุนนโยบายเชิงอุดมการณ์ของพรรคการเมือง มีแต่จะทำให้ความตึงเครียดระหว่างแรงที่ต้องการให้คงเดิมและแรงที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนรุนแรงขึ้น
“พูดง่ายๆ การเมืองไทยเวลานี้ ถูกบีบไปสู่ความรุนแรงโดยไม่จำเป็น คือเขานึกว่าเขาจะคุมได้ตลอดไป ในที่สุดมันอาจลงเอยด้วยแบบการปฏิวัติฝรั่งเศส คือคนต้องออกท้องถนน น่ากลัวที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดคุณไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ อย่างการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมเชื่อว่าถ้าคุณไม่โกง ให้ทุกคนพอยอมรับได้ ต่อให้คุณชนะ ก็ไม่เป็นไร แต่พอทำให้เกิดความสงสัยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าคุณยังฝืนจะเอาให้ได้แบบนี้ มันไม่เหลือทางอื่นแล้ว นอกจากเรื่องของการใช้ความรุนแรง น่ากลัวมากผมว่า ผมไม่รู้ว่าตัวพวกเขาเองเข้าใจไหม ถ้าถึงจุดที่เป็นความรุนแรงแบบปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติจีน รัสเซียอะไรก็แล้วแต่ มันจะทำให้ประเทศชะงักไปเป็นสิบๆ ปี แม้แต่ปฏิวัติแล้วมีการเมืองที่ดีขึ้น มันก็ชะงัก คุณลองคิดสิว่าถ้าคุณเป็นนายทุนสิงคโปร์ คุณจะเอาเงินมาลงทุนในประเทศที่ฆ่ากันสองสามพันเหรอ ผมไม่เอาดีกว่า ถูกไหม นายทุนไทยเองก็ไม่เอา”
เราแย้งว่าประเทศที่อย่างน้อยปลูกอะไรก็งอกจะอยู่ในสถานะหลังชนฝาจนถึงขนาดประชาชนต้องใช้เป็นความรุนแรงเป็นทางออกได้จริงหรือ นิธิดูจะไม่คล้อยตามง่ายๆ
“มันไม่ใช่แล้ว ในประเทศไทยในเวลานี้ คนซึ่งไม่มีที่ดินจะโยนอะไรลงไปให้งอก มันมีเป็นสิบๆ ล้าน ลูกหลานจะอยู่ยังไง ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมอย่างแต่ก่อนนี้แล้ว เมื่อวิกฤตปี 40 แรงงานสามารถกลับบ้านนอกเพื่อจะไปกินข้าวที่บ้าน แล้วก็ช่วยทำเกษตรที่บ้านนอกจำนวนมาก แต่ถ้าในปี 62 เศรษฐกิจตกต่ำแบบนั้นอีก ถามว่าที่บ้านของเขายังจะต้อนรับเขาเหมือนเก่าไหม ลองนึกภาพของคนแก่สองคนตายาย อยู่กับลูกสาวคนสุดท้องคืออีหล้า อีหล้าได้ผัว ผัวเป็นคนทำนาเลี้ยงพ่อตาแม่ยายเลี้ยงลูกเมีย แล้ววันหนึ่งเกิดมีพี่ชายของอีหล้าที่ตกงานจากกรุงเทพฯ แบกเอาเมียและลูกกลับมากินด้วย ได้ไหม ผมว่ามันไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้วนะ มันไม่ได้เหลือพอ เพราะฉะนั้น ผมว่าตั้งแต่ปี 55 คนไทยเปลี่ยนไปมากเลย ถ้าดูจากตัวเลขของคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ คนแปดล้านกว่าคนในประเทศไทย ไม่ได้มีความคิดในเรื่องของการเมืองแบบเก่า แบบจะเอาทักษิณกลับมา ไม่ใช่ อันนั้นมันไม่ใช่เรื่องหลักแล้ว”
เรื่องเก่าเพื่อโลกใหม่
อย่างไรก็ตาม เป็นการด่วนสรุปหากจะบอกว่านิธิเห็นคำตอบของประเทศอยู่ที่ท้องถนนอย่างเดียว เพราะอย่างที่เขาได้อธิบาย เสรีนิยมมิได้เป็นไปเพื่อสร้างเสรีภาพโล้นๆ อย่างที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจทำให้เข้าใจ แต่เป็นไปเพื่อปลดปล่อยศักยภาพให้กับทุกปัจเจกบุคคลเพื่อทุกคนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้คำตอบจะเริ่มที่การเมือง แต่ไม่อาจหยุดอยู่ที่การเมือง
“ผมก็ต้องพูดเหมือนคนอื่นๆ คือฝากเอาไว้กับการศึกษา เราจะชอบพูดถึงเรื่องการศึกษาในเชิงว่าสอนอะไร สอนอย่างไร แต่ผมคิดว่าสอนให้น้อยๆ ลงหน่อยได้ไหม อย่าสอนได้ไหม สอนอ่านสอนเขียนนี่ต้องสอน ไม่มีปัญหา แต่ที่เหลือแทนที่คุณจะสอน คุณบอกให้เด็กไปทำการบ้าน มด ผึ้ง แมลงอยู่กันยังไง แล้วแต่จะเลือกทำ อะไรก็ได้ แล้วเอามาเล่าให้เพื่อนฟัง ให้เด็กเรียนรู้เองบ้างได้ไหม ครูควรจะทำหน้าที่เพียงตั้งคำถาม เพื่อเปิดประเด็นปัญหา สำคัญที่สุด เป้าใหม่ของการศึกษาก็คือการค้นคิด หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เอง การต้องไปนั่งสังเกตว่ามดมันสร้างรังยังไง เขาอาจจะได้ความรู้ทางวิศวกรรมบางอย่างโดยที่เขาก็ไม่รู้ตัว จะใช้ประโยชน์อะไรก็ยังไม่รู้ แต่วันหนึ่ง ในการสร้างอาคารหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาอาจจะทำสิ่งที่วิศวกรคนอื่นไม่ได้ทำ และอันนั้นจะเป็นความรู้ที่คอมพิวเตอร์ยังคิดไม่ออก เพราะยังไม่มีใครโปรแกรมเข้าไป เนื่องจากยังไม่มีใครรู้ว่ามดจะไปเกี่ยวกับวิศวะตรงนั้น
…อย่าลืมว่าพอมีคนรู้แล้ว โปรแกรมเข้าไปในคอมพิวเตอร์แล้ว มันก็กลายเป็นความรู้โบราณไปแล้ว ความรู้ทาง professional นับวันก็จะไร้ประโยชน์มากขึ้นทุกที กฎหมายในประเทศไทย คุณเอาจับใส่คอมพิวเตอร์ ตั้งหมวดหมู่ ตั้งโปรแกรมให้ดีๆ คุณอยากจะถามเรื่องเกี่ยวกับการขโมย มันขึ้นมาให้พรึบเลย พระไตรปิฏกสี่ห้าสิบเล่ม คุณอยากจะรู้เรื่องอะไร กดปั๊บ มันขึ้นมาให้คุณเลยว่าข้อความนี้อยู่ในพระสูตรอะไรบ้าง ข้อไหน อย่างไร ความรู้ ความชำนาญที่ค่อนข้างเป็นวิชาชีพเฉพาะ ผมคิดว่าคอมพิวเตอร์กำลังเข้ามาทำแทน มันไม่ใช่แค่มาแทนแรงงานนะ แต่คือแทนคนทำวิชาชีพด้วย
…ดังนั้น คนที่อยู่รอดทางธุรกิจทุกวันนี้ คือคนขายบริการหรือสินค้าอะไรก็แล้วแต่ที่ตอบสนองใจคน ไม่ใช่แค่ปากท้องแล้ว ผมอยู่ในอเมริกาสมัยที่อเมริกายังกินกาแฟไม่เป็น กาแฟอเมริกาก็น้ำล้างถ้วยดีๆ นี่เอง เพราะเขากินกาแฟทั้งวันเขาก็ชงกาแฟบางนิดเดียวเหมือนน้ำล้างถ้วย แล้วก็กินฟรี ไปที่ไหนก็มีหม้อกาแฟ แต่อเมริกาดันทำธุรกิจสตาร์บัคส์ไปทั่วโลกเลย เกิดขึ้นได้ยังไง เพราะสตาร์บัคส์พยายามตอบสนองเวลาว่างที่คุณมีอยู่ไม่มากนัก นั่งอยู่หัวมุมถนน มองคนเดินไปเดินมา คุยกับคนรัก จิบกาแฟนิดหน่อย สตาร์บัคส์ไม่ได้ขายตัวกาแฟ เขาขายสิ่งนี้ต่างหาก แล้วธุรกิจอันนี้หุ่นยนต์คิดไม่เป็น เพราะว่าใจคนเปลี่ยนตลอดเวลา เอไอคิดยังไงก็ไม่มีทางทันกับความเปลี่ยนแปลงในใจของคน นี่คือหัวใจสำคัญ คุณขายสินค้าแก่หัวใจมนุษย์ ไม่ใช่ขายแก่มนุษย์”
ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่นิธิแนะนำให้มาสู้กับคอมพิวเตอร์ มิใช่เทคโนโลยีพิสดารที่ไหนมากเท่ากับสิ่งที่คอมพิวเตอร์มาแทน กล่าวคือ อักษรศาสตร์และวรรณคดีนั่นเอง
“คนไทยชอบพูดถึงการศึกษาในฐานะช่องทางทำมาหากิน แต่ถ้าคุณคิดถึงอนาคตจริง คุณจะเรียนรู้ได้จากวิชาของอักษรศาสตร์มากกว่าวิชาฟิสิกส์ เพราะคอมพิวเตอร์คิดฟิสิกส์เป็นแล้ว คิดเก่งกว่าคุณด้วย แต่ความเป็นมนุษย์นี่คอมพิวเตอร์คิดไม่ได้ ดังนั้นเราจะอยู่ได้เหนือคอมพิวเตอร์ มีสองอย่าง หนึ่งคือเรียนรู้ใจคน อันที่สองคือ ค้นพบสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ จะเป็นวิธีใหม่ สิ่งใหม่ ธาตุตัวใหม่หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่มีใครรู้ และคอมพิวเตอร์ยังไม่มีทางรู้ได้
…ต้องสอนอักษรศาสตร์ สอนให้เด็กอ่านวรรณคดี ให้ฝันเป็น ให้มีจินตนาการ เพราะการคิดว่าคนอื่นต้องการอะไร คุณต้องมีจินตนาการ ตัวเขาเองบางทียังบอกคุณไม่ได้เลยว่าเขาต้องการอะไร เขาแค่รู้สึกได้ว่า เอ้อ---อันนี้ใช่ แบบนี้ใช่ วิชาต่างๆ คอมพิวเตอร์ทำได้ 80% ขึ้นไปหมด เหลืออยู่แต่เพียงสิ่งที่อยู่ในใจเท่านั้นที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ แล้วถ้าสอนดีๆ วรรรณคดีมันพูดถึงสิ่งที่เป็นปัญหาคาใจมนุษย์ตั้งแต่สมัยยุคหินถึงทุกวันนี้ มันอาจจะเปลี่ยนเรื่องราว เปลี่ยนอะไรร้อยแปด เป็นต้นว่า ถ้าคุณเคยอ่านขุนช้างขุนแผน ความรักที่ขุนแผนมีต่อนางพิม มันไม่ใช่ความรักต่อนางพิมเฉยๆ มันมีการแข่งขัน การเหยียดหยามขุนช้างและอื่นๆ อยู่ในนั้นด้วย ขอโทษที ผู้ชายสมัยหนึ่งก็ชอบควงแอร์โฮสเตส ไม่ใช่เพราะแอร์สวย แต่เพราะมันโก้ แล้วเราปฏิเสธได้ไหมว่าความโอ้อวด ความลำพอง เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เรา มนุษย์สมัยนี้มันแตกต่างจากขุนแผนตรงไหน ดังนั้น ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปแทรกในความรักบ้าง ในอาหารบ้าง ในรถยนต์ อะไรร้อยแปด มันก็ยังขายได้
…ปัญหานิรันดรทั้งหลายเท่านั้นที่วรรณคดีจะพูดถึง เกิดมาเป็นคน คุณต้องอ่าน Hamlet คุณถึงจะเข้าใจว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องยากมากๆ ของมนุษย์ แล้วเราจะเผชิญกับมันยังไง วรรณคดีสอนสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สอนตัวคำ ตัวคำมันก็งดงามดี แต่ว่าหัวใจสำคัญถ้าพูดสำนวนอังกฤษคือมันสอนให้คุณไปยืนอยู่ในรองเท้าคนอื่นเป็น สอนให้คุณคิดตัวเองให้เป็นคนอื่น ไม่ใช่คิดเป็นตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่คือหัวใจสำคัญของวรรณคดี ของศิลปะทุกแขนง เรียนเพื่อทำให้สมองคุณตื่นเสีย อย่าหลับต่อไป ไม่ได้อะไรเลยทั้งนั้น ไม่ต้องเอาอะไรไป แค่สมองคุณตื่นก็พอแล้ว”
ขณะสัมภาษณ์ นิธิถามด้วยความใคร่รู้ถึงราคาของไมโครโฟนอันน้อยที่ทีมงานกลัดไว้กับคอเสื้อของเขาเพื่อบันทึกเสียง “มันแพงมั้ย ผมเห็นชาวบ้านเล่นยี่เกแล้วเขาใช้ไมโครโฟน ร้องเสร็จแล้วก็ต้องส่งไมค์ให้อีกคนร้องต่อ พระเอกร้องเสร็จส่งให้ผู้ร้าย ผมก็นึกว่า เออ---ทำไมเขาไม่ใช้ไมโครโฟนแบบนี้ เวลารำก็จะได้รำได้ทั้งสองมือ” เขาอธิบายพลางยกมือขึ้นเล็กน้อยคล้ายกับจะแสดงการรำ ซึ่งทำให้รู้สึกได้ไม่ยากว่า แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธ แต่สมญา ‘นักวิชาการเพื่อคนจน’ หรือ ‘ปัญญาชนคนสามัญ’ ที่คนยกย่อง มิใช่สิ่งที่ห่างไกลจากตัวตนผู้สนใจความเป็นไปของเพื่อนมนุษย์ (หรือที่นิธิเองอาจใช้คำว่า “คิดเป็นคนอื่น”) ของเขาแต่อย่างใด
สิ่งที่ต่างอาจจะมีเพียงว่า ในขณะที่สมญานามชวนให้คิดว่านิธิต่อสู้เพื่อคนเล็กคนน้อยด้วยความสงสารหรือเพื่ออุดมการณ์
นิธิดูจะสนใจมากกว่าถึงฝีมือร้องรำอันเต็มที่ของชาวบ้านยามปราศจากข้อจำกัดอันไม่จำเป็น ■