SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Against the Headwind
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับภารกิจขับเคลื่อนที่ไม่เคยง่าย ตั้งแต่การวางรากฐานนโยบายพลังงาน จนกระทั่งการพลิกฟื้นการบินไทยท่ามกลางมรสุมของโควิด-19
หลังจากก่อตั้งมาได้เกือบ 5 ทศวรรษ การบินไทยก็ขาดทุนเป็นครั้งแรกในปี 2551 สายการบินแห่งชาติเจ้าของสโลแกน “Smooth as silk” ที่เคยทำให้คนรู้สึกถึงความเป็นไทยได้ตั้งแต่เท้ายังไม่แตะผืนดินด้วยดอกกล้วยไม้และพนักงานบริการในชุดไทยเรือนต้นนุ่มนวล ค้นพบความจริงอันน่าเจ็บปวดว่าราคาและต้นทุนเปลี่ยนใจนักเดินทางได้ไม่แพ้วัฒนธรรมวิไลและอัธยาศัยไมตรี ซึ่งแสดงออกในรูปของผลประกอบการขาดทุนกว่า 21,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลาออกจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อมาสมัครเป็น ‘ดีดี’ หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กรประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้เพียงปีเดียว ผ้าไหมซึ่งกำลังแหว่งวิ่นของการบินไทยดูจะกลับมาวับวาวเต็มผืนอีกครั้ง ด้วยกำไรกว่า 7,344 ล้านบาท ในปี 2552 และ 15,350 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งถือว่าดีเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังทะยานขึ้นสู่ความเป็น 1 ใน 5 สายการบินที่ดีที่สุดของโลกจากการจัดอันดับของสกายแทรกซ์ ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทจะมีมติเลิกจ้างเขา ด้วยเหตุผลไม่แน่ชัดที่สังคมยังไม่เคยคลายความเคลือบแคลง
มาวันนี้ ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินกลายเป็นพาหะนำโรคมากกว่าพาหนะท่องโลก และเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้การบินไทยซึ่งหลังจากดร.ปิยสวัสดิ์ลาออกไปก็ขาดทุนสะสมมาโดยตลอดถึงแก่วาระต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ดร.ปิยสวัสดิ์ตอบรับคำเชิญเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นวาระที่สอง ราวกับไม่กังวลถึงความยากลำบากของภารกิจพาสายการบินแห่งชาติผงาดขึ้นอีกครั้งในสถานการณ์ที่สายการบินแทบทุกชาติจอดเสียเป็นส่วนใหญ่ และในยามที่ปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยก็ยังดูไร้วัคซีนพอๆ กับเชื้อโควิด-19
กระนั้น ภารกิจเหนื่อยเพื่ออนาคตที่มองไม่เห็นไม่ใช่เรื่องใหม่ในชีวิตของผู้ที่ก่อนลาออกมาทำงานในภาคเอกชน คือข้าราชการผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องที่ไม่เคยมีใครเชื่อมากว่า 20 ปี ไม่ว่าการกำจัดสารตะกั่วในน้ำมัน การปลดล็อคให้เอกชนสามารถร่วมผลิตไฟฟ้าได้ หรือการลอยตัวราคาน้ำมัน จนในวันนี้ควันดำเข้มข้นจากรถยนต์ ไฟฟ้าที่ติดๆ ดับๆ ตลอดจนราคาน้ำมันถูกเกินจริงกลายเป็นอดีตที่เลือนลาง สมกับสิ่งที่หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ข้าราชการเทคโนแครตผู้ได้ชื่อว่าคำชมจากปากหายากยิ่งกว่าดอกพิกุล เขียนให้เครดิตเกี่ยวกับดร.ปิยสวัสดิ์ไว้ว่า “การทำอะไรที่มาก่อนเหตุการณ์จะสุกงอมนี่ยากนะครับ… เพราะมันเสียเงินมาก เพื่อแลกกับคุณภาพซึ่งจับต้องไม่ได้ในทันที เป็นเรื่องของการลงทุนสำหรับอนาคต และการแก้เรื่องคุณภาพน้ำมันแบบนี้ ไม่ได้เห็นผลตอนที่แก้ ต้องรอเวลา บางทีใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี”
ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่จะตามมา หรือแม้กระทั่งวิกฤตเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่โลกดูเหมือนจะลืมๆ ไประหว่างการเอาตัวรอดเฉพาะหน้าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่สำหรับดร.ปิยสวัสดิ์ ความยากง่ายไม่ใช่ประเด็นเท่ากับว่าเรื่องใดต้องทำหรือไม่ต้องทำ
เรื่องที่ต้องทำ
บทบาทหลากหลายหลังจากดร.ปิยสวัสดิ์ลาออกจากข้าราชการในปี 2546 ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน การเป็นผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย หรือการเป็นกรรมการให้กับหลายบริษัทเอกชน อาจทำให้คนนึกถึงเขาในฐานะนักบริหารธุรกิจมากฝีมือมากกว่าข้าราชการ แต่ในความเป็นจริง ชีวิตสองทศวรรษในระบบข้าราชการของดร.ปิยสวัสดิ์ ไม่ว่าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ฝากผลงานเป็นที่จดจำไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่ผลงานโบว์แดงชิ้นแรก คือการลอยตัวราคาน้ำมันในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่ช่วยทำลายการใช้พลังงานอย่างบิดเบือนอันเกิดจากน้ำมันตรึงราคา ทั้งที่ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น เพียงการประกาศเพิ่มราคาน้ำมันได้เคยสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางจนล้มรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และแสดงให้นักการเมืองเห็นพิษของการแตะต้องนโยบายที่ประชานิยมมาแล้ว
“ถ้ามันง่ายมันเปลี่ยนไปก่อนแล้วล่ะ เหมือนกับนโยบายที่หลายคนบอกว่าง่ายๆ ประชาชนได้ประโยชน์ ทำไมรัฐบาลไม่ทำสักที ทำไมต้องรอให้รัฐบาลโน้นทำ คำตอบง่ายๆ ถ้าเป็นนโยบายที่เป็น Win-Win ง่ายๆ ไม่ต้องการนักการเมืองหรอก ข้าราชการประจำเขาทำไปตั้งนานแล้ว แต่เพราะมันเป็นนโยบายที่มีคนได้คนเสีย ถึงต้องให้นักการเมืองตัดสินใจ ผมไม่เคยคิดเรื่องเปลืองตัว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันก็ต้องทำ คำว่าเปลืองตัวเป็นคำที่เกลียดที่สุด ตอนที่ทำงานสภาพัฒน์ใหม่ๆ วันหนึ่งทำงานอยู่ที่บ้าน แล้วก็มีเพื่อนบ้านผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นข้าราชการคนหนึ่งมาพูดว่าทำไปทำไม เปลืองตัวเปล่าๆ ให้เขาหลอกใช้น่ะสิ แต่สำหรับเรา การที่ต้องทำงานในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อให้งานเสร็จ ถือว่าเป็นการหลอกใช้เหรอ ทำไปแล้วมันเปลืองตัวตรงไหน ดังนั้น นี่เป็นสองคำที่เกลียดมาก คือ ‘หลอกใช้’ หรือ ‘เปลืองตัว’ เพราะถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ลาออกจากราชการไปอยู่บ้านเฉยๆ ดีกว่า อย่ามากินเงินเดือนประชาชนเลย
…เราได้รับผิดชอบหน้าที่นี้แล้ว เราต้องทำให้มันสำเร็จ เราเชื่อว่าการลอยตัวน้ำมันจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในเมื่อการไปสู่จุดนั้นต้องมีการแก้กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ก็ต้องไปลงรายละเอียดในสิ่งเหล่านี้ มันไม่ได้ว่าต้องได้อะไร เพียงแต่เราต้องการเห็นความสำเร็จของงาน ยุคนี้ผมว่ามีแต่แผนที่กว้างเกินไป มีคำสวยๆ เยอะ ซึ่งทุกคนใช้คำพวกนี้หมด แต่เสร็จแล้วไม่มีมาตรการที่ชัดเจน นโยบายที่ประสบความสำเร็จต้องมีความชัดเจนที่นำไปปฏิบัติได้ ถ้าเรากำหนดนโยบายกว้างๆ มีแต่คำสวยๆ เท่ๆ แต่ปฏิบัติไม่ได้มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
…ยกตัวอย่างตอนเราพยายามเพิ่มการแข่งขันในตลาดก่อนลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้บริษัทน้ำมันฮั้วกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมใช้เวลาเยอะมากในการลงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ผมเดินทางไปทุกอำเภอในประเทศไทยช่วงนั้น เพื่อไปดูสภาพว่าปั๊มน้ำมันมีมากน้อยแค่ไหน การแข่งขันในตลาดน้ำมันเป็นยังไง เพราะไม่มีใครศึกษาไว้ก่อน เราจะเขียนแต่นโยบายกว้างๆ ไม่ได้ ถ้าเราบอกแค่ว่าเพิ่มการแข่งขันในตลาดน้ำมันโดยส่งเสริมให้มีการตั้งสถานีบริการมากขึ้น หน่วยงานปฏิบัติคือกรมโยธาธิการเขาก็จะไม่ทำอะไร จึงต้องลงไปช่วยเขาศึกษาในรายละเอียดเลยว่าจะแก้กฎยังไง เช่น กติกาตอนนั้นบอกว่าถ้าจะตั้งปั๊มน้ำมันใหม่ ต้องตั้งห่างจากปั๊มปตท. อย่างน้อย 500 เมตร ฉะนั้นถ้ามีปตท. ตรงนี้แล้ว 500 เมตรในรัศมีนี้ตั้งปั๊มไม่ได้เลย หรือกฎบอกว่าหน้ากว้างของปั๊มต้องอย่างน้อย 40 เมตร ทำให้ในบางท้องที่ตั้งปั๊มน้ำมันไม่ได้ ทั้งที่บางถนนมีแค่ปั๊มเล็กก็พอ หรือในท้องที่ห่างไกลไม่มีรถมาก หากบอกให้ตั้งปั๊มใหญ่มันก็จะไม่คุ้มกับการลงทุน เราก็ต้องลงไปแก้ไขรายละเอียดเหล่านี้ ถ้าหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเขาไม่กระตือรือร้นที่จะปฏิบัติ เราก็ลงไปทำงานกับเขาเลย ลงไปทำงานเพื่อกำหนดกฎกติกาลงมาให้เกิดการปฏิบัติ
ถ้าเป็นนโยบายที่เป็น Win-Win ง่ายๆ ไม่ต้องการนักการเมืองหรอก ข้าราชการประจำเขาทำไปตั้งนานแล้ว แต่เพราะมันเป็นนโยบายที่มีคนได้คนเสีย ถึงต้องให้นักการเมืองตัดสินใจ ผมไม่เคยคิดเรื่องเปลืองตัว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันก็ต้องทำ
…เริ่มต้นไม่มีใครรู้มากพอหรอก ทุกคนเริ่มต้นก็ไม่ค่อยรู้ เพียงแต่ว่าพอมีเป้าหมายแล้วก็ต้องไปศึกษารายละเอียด ทำให้มันได้ผลตามที่ต้องการ ผมก็ไม่ได้มีความรู้ตั้งแต่แรกว่ากฎเกณฑ์การตั้งปั๊มเป็นยังไง ก็ค่อยๆ เรียนรู้ หลังจากนั้นก็เดินทางไปตามท้องที่ต่างๆ เพื่อดูสภาพการแข่งขันจริง ไปศึกษาการค้าขายธุรกิจน้ำมัน เรื่องของจ๊อปเปอร์ เรื่องของปั๊มน้ำมัน ปั๊มหลอดแก้ว ผมไปคุยกับเจ้าของปั๊มเยอะมากเลย เพราะว่าไม่มีหนังสือให้อ่าน”
พื้นฐานที่ดี
การขับเคลื่อนนโยบายไม่เคยเป็นงานง่าย และโดยเฉพาะนโยบายทางพลังงานนั้น ยิ่งมีความยากเป็นทวีคูณด้วยความซับซ้อนทางเทคนิคของอุตสาหกรรม และการคัดง้างกับกลุ่มผลประโยชน์ที่มากด้วยเงินและอำนาจต่อรองอย่างบริษัทน้ำมันและบริษัทรถยนต์ แต่ดร.ปิยสวัสดิ์ดูจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคพิเศษ หากยึดตามหนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’ ที่หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุลเขียนขึ้นเพื่อชื่นชมคนทำงานที่น่าประทับใจในชีวิต ซึ่งรวมถึงดร.ปิยสวัสดิ์ และบุคคลอย่างดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ หรือธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ฯลฯ เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ “ดร.ปิยสวัสดิ์เป็นนักเรียนอังกฤษเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oxford จึงมีต้นทุนพื้นฐานที่จะทำงานชิ้นนี้” อันที่จริง เขาไม่เพียงจบการศึกษาด้วยปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 จากออกซฟอร์ด แต่ยังพ่วงปริญญาโทและปริญญาเอกทางทางเศรษฐศาสตร์ ที่ London School of Economics and Political Science ประเทศอังกฤษมาอีกด้วย
“ไม่ได้ตั้งใจครับ ไม่ได้คิดอะไรมาก เราเรียนปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์เพราะคิดว่ากับเรามันอาจจะง่ายที่สุด ความจริงผมเก่งฟิสิกส์ หรือเคมีมากกว่าคณิตศาสตร์ สอบได้คะแนนดีกว่า แต่ว่าผมขี้เกียจเข้าห้องทดลองก็เลยเลือกคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็คือลอจิก (Logic) มันฝึกความคิดของเรา ที่ออกซฟอร์ดเวลาทำข้อสอบแต่ละข้อ ต้องให้ได้คำตอบที่ง่ายและสวยด้วยถึงจะได้คะแนนเต็ม เช่น ถ้าข้อสอบให้พิสูจน์สูตรอะไรบางอย่างแล้วเราทำการพิสูจน์ไป 10 หน้านี่ ผมว่าคะแนนแทบจะตกเลย แต่ถ้าทำได้ภายในครึ่งหน้า คะแนนเต็ม เวลามีการคำนวณตัวเลขตอนท้าย ถ้าคุณทำลอจิกมาถูกต้อง คำนวณตัวเลขผิดคุณก็อาจได้คะแนนถึง 95% เพราะเขาบอกว่าการคำนวณเดี๋ยวมีวิศวกรคอยไว้คำนวณให้อยู่แล้ว หรือมีเครื่องคิดเลข
…พอปริญญาโทเราเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐศาสตร์เพราะเห็นว่าคณิตศาสตร์อย่างเดียวบางทีมันก็น่าเบื่อเหมือนกัน เรียนแล้วเราจะไปทำอะไรต่อได้ จะไปทาง Theoretical Physics เหรอ มันก็น่าสนใจ แต่ว่ามาเมืองไทยแล้วจะมีงานหรือเปล่า งั้นเอาเศรษฐศาสตร์ก็แล้วกัน เพราะฟังดูเศรษฐศาสตร์มันก็น่าจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และก็ไม่ยาก อันที่จริง เศรษฐศาสตร์นี่พอเปลี่ยนทุกอย่างเป็นคณิตศาสตร์มันก็ง่ายนิดเดียว ผมหยิบหนังสือเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาลองอ่านดู หนังสือของพอล แซมมวลสัน อธิบายเรื่อง Demand, Supply, Marginal Cost, Profit Maximisation อยู่ 4 หน้า พอผมเอามาดูมันก็คือสมการ dc/dq = marginal cost = marginal revenue = dr/dq แค่นี้แหละ ไม่รู้จะอธิบายทำไมตั้ง 4 หน้า ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่าเศรษฐศาสตร์นี่น่าจะใช้ได้ ไม่น่ายาก แล้วมันก็เป็นอย่างที่คิด”
อย่างไรก็ตาม มากกว่าจะพูดถึงความเก่งกาจทางคณิตศาสตร์ อดีตที่ดร.ปิยสวัสดิ์คิดว่าอาจมีผลต่อการทำงานของเขามากกว่า คือการต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ เมื่อครั้งที่บ้านส่งไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ Bryanston Public School ประเทศอังกฤษ
“ไม่รู้นะว่าคณิตศาสตร์เกี่ยวไม่เกี่ยว ไม่สามารถตอบได้ แต่อาจจะเป็นเพราะผมทำงานหนักด้วยก็ได้ ผมทำงานหนักนะ ขยันมาแต่ไหนแต่ไร ทุกวันนี้ก็ยังทำงานหนัก ทำโจทย์เยอะ อ่านเยอะ ผมถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่อายุ 13 พ่อแม่เลือกโรงเรียนให้ ซึ่งปรากฏว่าแม่ผมเอาชื่อไปลงในโรงเรียนไว้ตั้งแต่ผมอายุ 3 ขวบแล้วผมก็ไม่เคยรู้เลย เพราะว่าเป็นโรงเรียนดี โรงเรียนอังกฤษส่วนใหญ่ มันจะมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นพี่มาใช้งานรุ่นน้อง โรงเรียนนี้ไม่มี แต่เรื่องอาหารนี่มันก็ห่วยเท่ากันกับที่อื่นนะ สภาพความเป็นอยู่ ห้องเรียน ห้องนอนก็ไม่ได้ดีไปกว่าที่อื่น
…การเรียนอยู่เมืองไทย ต้องยอมรับว่าก็ท่องจำเฉยๆ ไม่มีความสนุกเลย แต่พอไปอังกฤษ เราต้องช่วยตัวเองค่อนข้างมาก เป็นระบบที่ใช้ tutorial เยอะ คือว่าไม่ได้เรียนทุกวัน ไม่ได้เรียนทุกชั่วโมง มีเวลาเรียนแค่จำนวนหนึ่ง แล้วที่เหลือก็ไปทำงานเองเพื่อส่งครู ทุกอาทิตย์ก็จะเจอกับครูเพื่อดูงานของเราตัวต่อตัว เช่น ครูประวัติศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ แล้วก็จะมีติวเตอร์สำหรับเรื่องทั่วไป ซึ่งก็ต้องเจอทุกอาทิตย์เหมือนกันเพื่อดูว่าสภาพทั่วไปเป็นยังไง เราทำตัวดีไม่ดีในทุกๆด้าน การเรียนเป็นยังไง อยู่เมืองไทยเบื่อ แต่พอไปอยู่ที่นู่นต้องเอาตัวรอด มันก็เลยไม่เบื่อ เราต้องช่วยตัวเองมากกว่าเด็กฝรั่งที่ภาษาเขาดีอยู่แล้ว วิชาที่ต้องใช้ภาษาเราจะเสียเปรียบ เราก็ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ 3 วิชา คือภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ศาสนา แต่พอถึงอายุ 15 มันเริ่มสนุกกับการเรียนหนังสือ สนุกมาก โดยเฉพาะพวกวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่มีการทดลอง มีแล็ป เพราะโรงเรียนมีห้องทดลองที่ดีมาก มันทำให้เรามีความสนุกสนาน
… ครูที่นั่นทำหน้าที่สอนหนังสือโดยทั่วไป เขาไม่ได้มาให้ความสนใจนักเรียนต่างชาติเท่าไหร่ เพราะมีอยู่ไม่กี่คน เขาสนใจงานของเรา แต่ว่าเราจะทำงานด้วยความยากลำบากหรือไม่นี่เขาไม่ได้สนใจ เช่น ถ้าเราพูดภาษาไม่ได้ หรือไม่เข้าใจภาษา เราก็ต้องไปจัดการมาให้ได้ มันเป็นการบังคับให้เราต้องช่วยตัวเอง อยู่เมืองไทย ผมสังเกตเห็นว่าเด็กเรียนพิเศษกันเยอะแยะเลย พอเรียนไม่ดีก็ไปเรียนพิเศษ สมัยโน้นไม่มีเรียนพิเศษ เราต้องช่วยตัวเอง ขวนขวายส่งงานที่ดี ถ้างานไม่ดีพอ อาจารย์เขาจะให้เรามาทำการบ้านเพิ่มหรือที่เรียกว่า detention ซึ่งก็คือในช่วงที่เราควรจะพักผ่อนได้ เราจะถูกบังคับให้มาทำงานพิเศษ การทำงานในชีวิตจริงนี่มันก็แบบเดียวกัน ไม่ได้มีใครมาป้อนตลอดเวลา เราต้องขวนขวายทำของเราเอง”
เริ่มเดินเครื่อง
คำว่า “ขวนขวายทำของเราเอง” ของดร.ปิยสวัสดิ์ถือได้ว่าถ่อมตัวไม่น้อย เพราะในที่สุดการขวนขวายนี้ได้กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นการวางโครงสร้างของอุตสาหกรรมพลังงานในไทย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การลอยตัวราคาน้ำมัน การปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน โดยเฉพาะการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันที่มีสารตะกั่ว การเปิดโอกาสให้เอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และการสนับสนุนให้เกิดพลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบ
นโยบายที่ประสบความสำเร็จต้องมีความชัดเจนที่นำไปปฏิบัติได้ ถ้าเรากำหนดนโยบายกว้างๆ มีแต่คำสวยๆ เท่ๆ แต่ปฏิบัติไม่ได้มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“การบ้านหรืองานมันก็มีลักษณะคล้ายกัน คือเรามาถึง เอาล่ะมีปัญหา แล้วจะทำยังไง ก่อนที่ผมจะมาทำนโยบายพลังงาน มันไม่มีนโยบายที่เป็นชิ้นเป็นอัน นโยบายพลังงานของข้าราชการที่ทำงานด้านพลังงานในสมัยนั้น มีแค่เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้า การสร้างเขื่อน การทำเรื่องทางกายภาพเป็นหลัก คิดกันว่าคนมาทำงานพลังงานต้องเป็นวิศวกร เพราะถ้าไม่เป็นวิศวกรจะมาสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
...ดังนั้น เรื่องหลักการใหญ่ เรื่องราคา เรื่องนโยบาย จึงไม่มีใครแตะต้อง ผมก็เลยเข้ามาทำ เราก็ต้องคิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ต้องหาข้อมูล ต้องอ่านหนังสือ ต้องพูดคุยกับคน แต่ส่วนที่ผมว่าเป็นประโยชน์มากก็คือการคุยกับคนในที่ต่างๆ ผมใช้เวลาตอนแรกเยอะมากในการคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน หาข้อมูลทั้งจากคนไทยและคนต่างประเทศเพื่อให้เห็นว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยและในโลก
…อย่างนโยบายเรื่องให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ก็เริ่มมาจากการที่ผมได้ข้อมูลมานิดหนึ่งว่ามันมีการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน หลังจากนั้นพอไปหาข้อมูล ไปคุยกับคนก็พบว่า เฮ้ย---โรงสีข้าวก็ผลิตไฟฟ้าโดยใช้แกลบ ไปคุยกับโรงงานน้ำตาล ก็พบว่าเขาก็ใช้ชานอ้อยผลิตไฟฟ้าใช้เองเยอะ แต่เนื่องจากเขาขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ ชานอ้อยเหลือก็ต้องเอาไปเผาทิ้ง ผมเห็นชานอ้อยทั้งกองกำลังถูกเผาอยู่ตอนไปถึงโรงงานน้ำตาล ไปถึงโรงสีข้าวก็พบว่าเปิดประตูเข้าไปในบริเวณโรงสีข้าวไม่ได้เพราะว่าแกลบเต็มไปหมด เห็นแล้วก็เลยได้ความคิดว่า เฮ้ย---โรงงานพวกนี้ มันมีศักยภาพ แต่นโยบายของรัฐบาลตอนนั้นบอกไม่ได้ ให้เอกชนผลิตไฟฟ้าด้วยไม่ได้
…ที่จริงผู้กำหนดนโยบายเขาไม่ได้คิดหรอก แต่คนทำงานที่เกี่ยวข้องดันบอกทำไม่ได้ การไฟฟ้าก็บอกทำไม่ได้ ทำแล้วจะวุ่นวาย ระบบไฟฟ้าก็จะล่ม แม้แต่สภาอุตสาหกรรมก็บอกไม่ได้ ให้คนนั้นคนนี้ผลิตไฟฟ้าเองแล้วป้อนเข้าไปในระบบ ทุกอย่างจะพังหมด ระบบจะล่ม เพราะฉะนั้น ตอนแรกผมต้องใช้เวลามากในการไปดูสถานที่ ไปคุยกับคน ถึงจะสรุปออกมาได้ว่านี่คือนโยบายที่ควรจะมีการผลักดัน ตอนแรกมันเริ่มมาเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยระบบ co-generation คือไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน หรือการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กก่อน พอได้ขนาดเล็กแล้วต่อมาก็ไปแก้ระเบียบขึ้นมาจนเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นการออกไปดูสถานที่ของจริง ออกไปคุยกับคน จึงได้ประโยชน์เยอะมาก ไม่ได้มาจากการอ่านเท่าไหร่หรอก ไม่ได้มาจากการนั่งคิดอยู่ในออฟฟิศ
....หรือเรื่องราคาน้ำมัน ผมเข้ามาทำงานมันก็มีเรื่องปัญหาราคาน้ำมันอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่ตอนนั้นก็คือเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันที่บิดเบือน ราคาเบนซินสูง ราคาดีเซลต่ำ ราคาแอลพีจีต่ำ คนโยกย้ายถ่ายเทไปใช้ดีเซลและแอลพีจีเยอะ การใช้เบนซินก็ลดลง โรงกลั่นต้องส่งออกเบนซิน ขณะที่ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดีเซล แล้วก็รัฐบาลปรับราคาขายปลีกไม่ได้ เป็นภาระของภาครัฐ ภาษีลดลง กองทุนน้ำมันติดลบ มันเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม ก็พอดีเป็นจุดที่ผมเข้าไป
…หน่วยราชการอื่นส่วนใหญ่เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา แต่ว่ารัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องพลังงาน อาจารย์ศุลี มหาสันทนะ สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมฯ ท่านเข้าใจ ถึงให้ผมมาทำเรื่องนี้ และเป็นจุดเริ่มของการทำงานที่ทำให้ผลักดันเรื่องราคาน้ำมันได้ ปรับโครงสร้างราคาแล้วก็นำไปสู่ราคาน้ำมันลอยตัวในที่สุด ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลก และหลุดออกจากการตัดสินใจทางการเมือง นี่คืองานสำคัญที่ได้ทำ พอเริ่มจากน้ำมันแล้ว มันก็ตามมาด้วยนโยบายอื่น เรื่องของการเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมัน เรื่องของไฟฟ้า เรื่องของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว เรื่องของโครงการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน IPP (ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ) SPP (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก) ที่ตามมาคู่ขนานกันไป”
กำลังของข้อมูล
นอกจากความขวนขวายส่วนตัว เห็นได้ชัดปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานของดร.ปิยสวัสดิ์เป็นไปได้อย่างกว้างขวางก็คือบทบาทและอิทธิพลของสภาพัฒน์ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรมฯ ที่ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็น ‘ยุคทองของเทคโนแครต’ เพราะไม่เพียงสภาพัฒน์ในสมัยนั้นจะเป็นแหล่งรวมคนดีมีการศึกษาสูงจากต่างประเทศ แต่ยังได้รับอำนาจจากฝ่ายการเมืองให้เป็นผู้ใช้ความรู้กลั่นและกรองนโยบาย มากกว่าจะเป็นเพียงผู้หาคำอธิบายทางวิชาการให้กับทางการเมือง
“ผมเรียนเศรษฐศาสตร์กลับมาก็มีประเด็นว่าจะไปทำงานที่ไหน แบงก์ชาติก็น่าสนใจ มีงานที่อาจจะใกล้เคียงกับที่เราเรียนมา แต่ผู้ว่าการฯ ตอนนั้นคือ ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นญาติกัน ก็เลยคิดว่าอย่าไปดีกว่า พอดีไปเจอดร.พิสิฎฐ ภัคเกษม ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการกองอยู่ที่สภาพัฒน์ ท่านก็เลยชวนไป ผมฟังดูแล้วงานน่าสนใจ สภาพัฒน์ตอนนั้นก็เริ่มมีบทบาทในหลายๆ ด้าน ตอนนั้นสภาพัฒน์ช่วยงานรัฐบาลเกรียงศักดิ์อยู่ มีงานนโยบายอยู่พอสมควร ก็เลยตัดสินใจไปทำงานที่สภาพัฒน์
…ตอนแรกผมทำเรื่องเศรษฐกิจส่วนรวม ทำแบบจำลองเศรษฐกิจ แต่พอดีมีประเด็นพลังงาน เรื่องราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมก็เลยมาสนใจเรื่องนี้ แล้วสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่ไม่ค่อยเป็นราชการเท่าไหร่ สมัยนี้ผมไม่ทราบ แต่สมัยนั้น ผมเข้าไปใหม่ๆ แทบจะทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ คุณพิสิฎฐคือนายโดยตรง ท่านให้ผมทำอะไรตามใจชอบได้ ตอนนั้นมีหัวหน้าฝ่ายแต่เขาไม่สนใจงาน สนใจเลี้ยงม้าที่สนามนางเลิ้งมากกว่า เขาก็ไม่ว่าที่ผมจะทำงานแทนก็ปล่อยให้ทำไป ผมก็ทำได้ทุกอย่าง มันไม่ใช่ว่าริเริ่มแล้วจะเจออุปสรรค แต่ริเริ่มแล้วสามารถผลักดันให้งานมันเดินได้ เพราะผู้ใหญ่เขาเอาด้วย เขาเปิดให้มีการคิดของใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วผมว่านายที่ดีมีส่วนสำคัญมาก ทั้งดร.พิสิฎฐ ดร.เสนาะ และคุณสถาพร (กวิตานนท์)”
ยิ่งกว่านั้น อุปนิสัยส่วนตัวของดร.ปิยสวัสดิ์ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลมากกว่าวาทกรรมทำให้เขาอยู่ในฐานะอันดีที่จะแยกแยะความเชื่อออกจากข้อเท็จจริงยามต้องกำหนดนโยบาย การใช้ประโยชน์จากข้อมูลใหญ่หรือ Big Data ที่เป็นแนวคิดทันสมัยในปัจจุบันนั้น ดร.ปิยสวัสดิ์อาจเป็นผู้ริเริ่มมาก่อนแล้วโดยไม่รู้ตัว ยามที่เขาของบประมาณมาซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของสภาพัฒน์
“ผมว่าผมเป็นคนลงไปในรายละเอียดเจาะลงไปเลย คือถ้าเผื่อมีการนำเสนอข้อมูลอะไรด้วยภาพสวยๆ แล้วตอบไม่ได้ รายละเอียดไม่มีผมก็ไม่รับ ผมก็จะขอข้อมูลมาจนได้ ถ้ามีข้อสรุปสวยๆ มาว่าให้ปลดเครื่องบิน 6 ลำตรงนี้ 8 ลำตรงโน้น ไม่มีรายละเอียดมาชี้แจง ผมก็ไม่รับ ปริญญาเอกคือการทำวิจัย เรากลับมาทำงานที่นี่ งานมันก็เหมือนการทำวิจัยเหมือนกัน เพราะตอนทำวิจัยเราต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ละเอียดมาก จริงๆ มันก็คือบิ๊กดาต้า เพียงแต่ตอนนั้นเขาไม่ได้เรียกว่าบิ๊กดาต้าเท่านั้นแหละ เวลาจะวิเคราะห์ข้อมูล คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยไม่ใหญ่พอ ต้องส่งไปรันที่อเมริกา เอาข้อมูลใส่เทปขึ้นเรือบินไป สี่วันถึงจะได้ผลออกมา
สมัยนี้เขาใช้การตลาดเยอะกว่า มีชาร์ตสวยๆ มีคำศัพท์สวยๆ ที่ฟังแล้วเท่ สมัยก่อนเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และตัวเลขเป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้มันต้องมีคำเท่ๆ ถ้าไม่มีคำเท่ก็จะล้าสมัย มี AI มีบิ๊กดาต้า น่ารำคาญที่สุดเลย
…กลับมาสภาพัฒน์ เวลาฝ่ายเทคนิควางแผนต้องทำแบบจำลองเศรษฐกิจ ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ ต้องไปใช้เครื่องของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้องเดินไปเขียนโปรแกรมใส่เครื่องไอบีเอ็มที่นั่นแล้วอีกวันได้ผลก็ไปเอา printout มาซึ่งไม่สะดวกเลย สมัยนี้คงไม่มีแล้ว เวลาเขียนโปรแกรมมันไม่ได้เขียนเข้าไปในเครื่องเลย มันต้องเขียนใส่การ์ดกระดาษเจาะรูให้เครื่องมันอ่าน ถ้าโปรแกรมใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้การ์ดเป็นกล่องสองกล่อง เดินเอาไปใส่เครื่องที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ลูกน้องทำกล่องตกทีหนึ่งนี่ตายเลย เศร้าที่สุด
…ดังนั้นเมื่อผมมาสิ่งแรกที่ต้องขอก็คือขอเทอร์มินัลอันเดียว งานจะได้ไปได้เร็วเยอะ ซื้อจาก ไอบีเอ็มตอนนั้น 130,000 บาท เงินไม่ใช่อุปสรรค อุปสรรคก็คืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกอย่างไม่ว่าพรินเตอร์หรือเทอร์มินัลต้องผ่านคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ ซึ่งเขาจะพิจารณารายการพวกนี้อย่างละเอียดใช้เวลาหกเดือนถึงปีหนึ่งว่าทำไมจะต้องมี สมควรไหม มีมาแล้วเดี๋ยวจะมีใครเอาไปเล่นเกมส์ไหม มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง ต่อมาก็มีปัญหาเรื่องที่เก็บข้อมูลไม่พอ ก็ต้องซื้อฮาร์ดไดรฟ์ของสภาพัฒน์เอง หน่วยงานอื่นเขาไม่ได้ใช้ มีผมใช้อยู่คนเดียวก็ต้องซื้อ ตอนแรกก็เป็น removable disk รู้สึกว่า 45 MB ราคาประมาณแสนสองแสนบาท แล้วต่อมาก็ไม่พอ ก็เลยซื้ออีกอันหนึ่งใหญ่กว่านั้น เครื่องเบ้อเริ่มเลย รู้สึกจะ 200 MB ราคาประมาณหนึ่งล้านบาท นี่ราคาสมัยนั้นนะ ชีวิตมันยากอย่างนี้
…ผมไม่คิดว่าผมเรียนเกิน มันก็สามารถที่จะเอาความรู้มาใช้ได้ อาจจะไม่ได้ใช้ทั้งหมด แต่วิธีการคิด ลอจิกของมัน เราเอามาใช้ได้ ถ้าวันนี้ให้ผมมาทำสมการแบบสมัยก่อน ทำไม่ได้หรอก ผมว่างานนโยบาย เป็นงานที่ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เยอะ ใช้ตัวเลขเยอะ แต่สมัยนี้เขาใช้การตลาดเยอะกว่า มีชาร์ตสวยๆ มีคำศัพท์สวยๆ ที่ฟังแล้วเท่ สมัยก่อนเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และตัวเลขเป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้มันต้องมีคำเท่ๆ ถ้าไม่มีคำเท่ก็จะล้าสมัย มี AI มีบิ๊กดาต้า น่ารำคาญที่สุดเลย”
การบินไทย
อย่างไรก็ตามอำนาจของสภาพัฒน์ตลอดจนเทคโนแครตอื่นๆ ในฐานะผู้ควบคุมนโยบายของภาครัฐได้เริ่มเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ เมื่ออำนาจรวมศูนย์ทางการเมืองในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ไม่พอใจกับการที่พรรคการเมืองใช้อาณัติจากประชาชนในการกำหนดนโยบายโดยไม่เคร่งครัดกับแผนหรือความเห็นของสภาพัฒน์ เคยเปรียบเทียบไว้อย่างเจ็บแสบว่าสภาพัฒน์กลายเป็น “นกฮูกจิ๋ว” หรือองค์กรที่มีความรู้แต่คัดค้านโปรเจกต์อะไรไม่ได้ “เปรียบเสมือนนกฮูกที่ได้แต่ร้อง ‘ฮูก...ฮูก’ และ ‘เบิ่งตากว้างมองเท่านั้น!’”
แต่ดร.ปิยสวัสดิ์ไม่ใช่นกฮูก ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่สภาพัฒน์แล้ว แต่เมื่อแรงกดดันทางการเมืองทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้ดั่งใจ หลังจากที่โดนย้ายไปย้ายมาหลายครั้งจากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กลับมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เขาก็ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการ อย่างที่เขาให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อผมเข้ามาเป็นข้าราชการ ก็หวังว่าจะได้ทำงานเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ก็เสียเวลาที่จะอยู่ต่อไป” เขารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยอยู่ 3 ปี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และในที่สุดตำแหน่งก็มารับตำแหน่ง ‘ดีดี’ ของการบินไทยที่ในขณะนั้นสภาพย่ำแย่จนน่าเชื่อว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เขาเคยเป็นประธานยังไม่แนะนำให้ลงทุน
“รอบแรกที่เข้าไปการบินไทย ตอนนั้นราคาน้ำมันสูง การบินไทยก็เลยขาดทุน แต่ผมเห็นแล้วว่าราคาน้ำมันก็ไม่ใช่ว่ามันจะสูงอยู่ตลอดไป แล้วธุรกิจการบินโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร การแข่งขันอาจจะสูงขึ้น มีวิกฤตแฮมเบอเกอร์ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นวิกฤตที่จะทำให้การบินไทยจะล่มสลาย คุณพิชัย ชุณหะวชิระ อดีต CFO ของ ปตท.ที่เคยทำงานกันอย่างใกล้ชิด ท่านเป็นกรรมการการบินไทยอยู่ตอนนั้น เล่าให้ฟังว่ากำลังทำแผนฟื้นฟู ผมฟังดูน่าสนใจก็เลยตัดสินใจสมัครเป็นดีดี ดังนั้นตอนเข้าไปมันมีแผนฟื้นฟูที่ทำมาค่อนข้างดีแล้ว บางส่วนอาจจะยังไม่ละเอียดผมก็ไปทำต่อให้ละเอียด แต่ที่สำคัญก็คือผมสามารถเริ่มปฏิบัติได้เลย ลุยได้เลย ในขณะที่ในครั้งนี้เข้าไปก็น่าตกใจ เพราะแผนที่มียังเรียกว่าแผนฟื้นฟูไม่ได้ มันเป็นแผนปรับปรุงบริษัทในยามปกติมากกว่า ทั้งๆ ที่สถานการณ์หนักกว่าครั้งที่แล้ว รอบที่แล้วสถานะทางการเงินไม่ได้แย่ ขาดทุนสองหมื่นล้านแต่ว่าตัวชี้วัดทางการเงินอื่นยังไปได้ ในขณะที่ปัจจุบัน ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบแล้ว เพราะขาดทุนต่อเนื่องหลายปี
…วิธีเริ่มผมก็ลุยเข้าไปดู ผมเข้าไปคนเดียว ไม่มีลูกน้องจากข้างนอก ระหว่างเจรจาทำสัญญาก่อนที่จะเข้าไปรับงานเต็มเวลา คณะกรรมการการบินไทยให้ผมเข้าไปนั่งประชุมด้วย ในช่วงนั้นผมก็ได้เห็นแล้ว สภาพบริษัทเป็นยังไง ก็พบว่าการบินไทยมีคนเก่งๆ เยอะ เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นที่ผมจะเอาคนข้างนอกไป แล้วถ้าไม่เอาคนข้างนอกไป ผมอาจจะได้รับความร่วมมือจากคนข้างในดีกว่า เพียงแต่ต้องใช้คนข้างในให้เป็น ช่วยเขา แนะนำเขา และที่สำคัญก็คือเอาสิ่งที่เขาทำนั้นไปขายให้กับคณะกรรมการบริษัทให้เดินหน้าต่อไปได้ การบินไทยมีคนที่ถูกแช่อยู่ตำแหน่งลอย ในระดับ EVP (Executive Vice President) หรือ VP (Vice President) เยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ แต่พอได้คุยหรือถามคนที่รู้เรื่องก็ปรากฏว่าเป็นคนที่มีความสามารถ แต่อาจจะไปขวางทางใครก็เลยถูกเอาไปอยู่ในตำแหน่งลอย ดังนั้นรอบแรกผมก็อาศัยคนข้างในเป็นหลัก เอากลับมาทำงาน แล้วคนเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูบริษัท
…แต่รอบนี้ผมเป็นแค่กรรมการคนเดียว ไม่ใช่ดีดี เพราะฉะนั้น จะไปทำอย่างเดิมก็คงไม่ได้ รอบนี้ก็ยังต้องเข้าไปศึกษาข้อมูลก่อน ในช่วงสั้น โควิด-19 ส่งผลกระทบแน่นอนแต่ในระยะยาว ผมก็ยังเชื่อว่าคนจะกลับมาเดินทาง คนต้องการเที่ยว เที่ยวออนไลน์มันไม่เหมือนกับเที่ยวจริงๆ ประชุมกันเห็นหน้ากันจริงๆ ก็ดีกว่าประชุมทางออนไลน์มากมาย เพียงแต่การเดินทางต่างประเทศ การติดต่อธุรกิจมันอาจจะลดลงบ้าง แต่หลังจากที่มีวัคซีนแล้ว ควบคุมโรคได้แล้ว ผมก็เชื่อว่าการเดินทางจะกลับมา ถึงจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังมากขึ้น ก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ อย่างมาตรการระยะห่างตอนนี้มีอยู่แล้วในประเทศไทย ทั้งที่ในบางประเทศเขาก็ไม่ได้มี แต่ถามว่ามันเป็นอุปสรรคไหม มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะค่าโดยสารก็สูงขึ้น ช่วงไม่มีผู้โดยสารในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราก็เอาเครื่องบินที่ไม่มีผู้โดยสารมาขนส่งสินค้า ค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ถ้าไม่ขึ้นค่าขนส่ง เครื่องบินก็ไม่บินเท่านั้น นอกจากนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีสายการบินที่จะล้มละลาย หรืออาจจะต้องถูกซื้อ ถูกเทคโอเวอร์ ดังนั้น การแข่งขันในธุรกิจการบินมีโอกาสที่จะลดลง
ทุกประเทศต้องช่วยกันในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ประเทศไทยมัวแต่ไปหมกมุ่นอยู่กับการกลัวเสียอำนาจต่อรอง ความจริงเราจะพูดต่อรองยังไงก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำในประเทศควรจะนำไปสู่ carbon neutral ในอีก 30 ปี
…โควิด-19 นี่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงเท่านั้น ความเสี่ยงที่เราไม่ได้คำนึงถึงเท่าที่ควรในการพึ่งพากิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรย้ายไปอีกขั้วหนึ่งเลย ที่บอกว่าถ้างั้นเราต้องพึ่งความต้องการในประเทศมากกว่านี้ เพราะความจริงการพูดกันว่าเราต้องพึ่งพาความต้องการในประเทศมากกว่านี้ ก็พูดกันมาทุกครั้งที่มีปัญหาเรื่องการส่งออก พูดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ตอนผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ทั้งที่จริงๆ มันก็คือเรื่องของความเสี่ยงที่ควรจะกระจายและคำนึงถึงความเสี่ยงให้รอบด้านเท่านั้น”
อนาคตพลังงาน
หากโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ยังดูมีจุดจบ สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือวิกฤตที่มนุษยชาติกำลังวิ่งเข้าไปสู่จุดเริ่มด้วยอัตราเร่งอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการกำจัดสารตะกั่ว กำมะถัน และสารพิษอื่นๆ ออกจากน้ำมัน และผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนมาโดยตลอด สุ้มเสียงและท่าทีของดร.ปิยสวัสดิ์บ่งบอกว่านี่อาจเป็นวิกฤตแท้จริงที่คนลืมไปว่าต้องกังวล
“เรื่องพลังงานตอนนี้ผมว่าเรื่องการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เรื่องภาวะโลกร้อน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจะเป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศไทย ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะจะมีแรงกดดันจากข้างนอก เราเห็นผู้นำประเทศบางประเทศที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อนมีจริง เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือสก็อต มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แต่จริงๆ แล้ว ในประเทศไทยก็มีคนเยอะที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ เพียงแต่ไม่ได้ออกมาพูดเหมือนทรัมป์ หรือมอริสันเท่านั้น คนกลุ่มนี้จะทำเท่าที่ต้องทำ เท่าที่บังคับตามที่ประชุม COP 21 ที่ปารีสในปี 2015 (ความตกลงปารีส) ที่กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ซึ่งผมว่ามันยังห่างไกลกับสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น
…ที่ปารีสนี่พูดถึงการหยุดไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส แล้วตอนหลังก็มีการพูดถึงว่าห้ามสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งผมเองคิดว่าแม้แต่ 1.5 องศาเซลเซียสมันก็สูง เพราะว่าตอนนี้มันเริ่มเห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ถ้าโลกจะร้อนขึ้นไปอีก 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบก็จะรุนแรงและผลกระทบบางอย่างมันจะมีต่อไปยาวนาน ไม่ใช่ว่ามันจะจบเมื่อเราแก้ปัญหาได้ อาจจะเป็น 100 ปีเลย แก๊สเรือนกระจกที่ปล่อยออกมานี้ มันสะสมในบรรยากาศไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้น อุณหภูมิของโลกก็จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้าเราต้องการให้อุณหภูมิของโลกหยุดเพิ่ม ก็หมายความว่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิต้องลดลงเป็นศูนย์ ต่อไปอาจจะต้องติดลบด้วยซ้ำ ดูดซับมากกว่าปล่อยเพื่อให้โลกเย็นลง
…หลายประเทศ เขาสัญญาว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกมาเหลือศูนย์ แต่ของประเทศไทยนี่เราบอกว่า เราทำตาม COP 21 คือยังเพิ่มขึ้นจากวันนี้จนถึงปี 2030 เราบอกจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกลดลง 20% แต่ลดลง 20% ของเรา คือลดลงจาก business as usual ซึ่งแปลว่าเน็ตแล้วมันก็ยังเพิ่มขึ้น ดังนั้น หลังจากนั้นจะเป็นยังไงเราไม่ยอมพูดถึง ไม่ยอมกำหนดเป้าหมาย บอกว่า COP 21 ให้ทำแค่นี้ก็ทำแค่นี้
…สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือว่าเราต้องมองไปไกลกว่านั้นว่าในที่สุดเราจะไปถึงจุดไหน เพราะการลงทุนทางด้านพลังงานเป็นการลงทุนระยะยาว ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุด สมมติว่าเราตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้ กว่าจะได้ใบอนุญาต กว่าจะสร้างเสร็จอย่างเก่งก็ปี 2025 พอถึง 2030 ถามว่าเราทำตามเป้าหมาย COP 21 ได้ไหม ได้---เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินมันเพิ่งเสร็จและเป้าหมายไม่เข้มข้น แต่หลังจากนั้นล่ะ ถ้าเผื่อเราต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเป็นศูนย์ในที่สุด เช่น ต้องให้เหลือศูนย์ในปี 2050 แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่จะทำยังไง อาจจะต้องปิดลงไปก็ได้ ฉะนั้นจะมองระยะสั้นไม่ได้ ผมว่าตลกมากที่แผนยุทธศาสตร์ชาติมองแค่ COP 21 เพราะมันควรจะเป็นแผนระยะยาว สิ่งที่แผนระยะยาวควรจะบอกคือ เราจะเป็นประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เมื่อไหร่คือ carbon neutral เมื่อไหร่ เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่บอกว่าทำตามเป้าหมายของ COP 21
…มันเหมือนจะดูไม่คุ้มถ้ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานตลอดไป แต่มาตรฐานมันจะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราต้องมองระยะยาว การที่เรามาปฏิบัติตามมาตรฐานวันนี้ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยน ในที่สุดแล้วเราอาจจะต้องจ่ายมากกว่า ทุกประเทศต้องช่วยกันในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ประเทศไทยมัวแต่ไปหมกมุ่นอยู่กับการกลัวเสียอำนาจต่อรอง ความจริงเราจะพูดต่อรองยังไงก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำในประเทศควรจะนำไปสู่ carbon neutral ในอีก 30 ปี อย่างอเมริกา ประธานาธิบดีพูดมาตลอดว่าไม่รับในเรื่องของข้อตกลงปารีส แต่ในประเทศเรื่องพลังงานหมุนเวียนเขาเดินหน้าไปมาก ทรัมป์พูดเอาใจคนงานถ่านหินตลอดเวลาว่าต้องการส่งเสริมถ่านหิน แต่ว่าตั้งแต่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งยังไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เกิดขึ้นแม้แต่โรงเดียว จีนเดินเร็วมากในเรื่องของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน อินเดียก็ไปเร็วมาก ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในเอเชีย แต่ตอนนี้อาจจะล้าหลังคนอื่นแล้ว
…คนไทยไม่ได้สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่สนใจเรื่องที่ไกลตัว ก็จำเป็นต้องขายนโยบายลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยให้เขาเห็นผลประโยชน์ของเขาเอง นโยบายที่ผ่านมาในการผลักดันพลังงานหมุนเวียนก็มาจากเรื่องที่ประเทศได้ประโยชน์เอง ไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเลยเช่น เกษตรกรได้ประโยชน์จากการขายวัสดุเหลือใช้ ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน สิ่งที่น่าเสียดายก็คือในช่วงแรกพลังงานหมุนเวียนราคาแพง รัฐก็ต้องให้แรงจูงใจ แต่พอราคาถูกลงมาแล้วเดินได้เร็วขึ้น ผู้กำหนดนโยบายกลับเป็นห่วงว่ามันจะมีผลกระทบต่อธุรกิจดั้งเดิม อย่างการไฟฟ้า ก็เลยมีการกำหนดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทำให้พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถเดินไปได้เร็วเท่าที่ควร”
ยอมหักไม่ยอมงอ
ด้วยความเป็นคนที่มีหลังพิงข้อมูลแน่นหนาและพูดจาไม่อ้อมค้อม ดร.ปิยสวัสดิ์มักได้รับการกล่าวขานในฐานะผู้ที่ ‘ยอมหักไม่ยอมงอ’ เคยมีรีพอร์ตเกี่ยวกับการบินไทยที่ออกโดยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งวิเคราะห์ถึงบุคลิกของดร.ปิยสวัสดิ์ว่า “He has an incredibly analytical approach to problem solving, while at the same time those who know him report him to possess a combative temperament who does not always suffer fools gladly”
บทวิเคราะห์นี้น่าจะมีความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะดร.ปิยสวัสดิ์ ปรากฏชื่อเป็นโจทย์ฟ้องแกนนำเอ็นจีโอด้านพลังงาน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่เอาผิดกับการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอยู่หลายคดี เขากระทั่งแสดงความเห็นต่อต้านการแก้พรบ.นี้ จนได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งในคนรุ่น ‘อนาล็อก’ ที่พยายามใช้กฎหมายปิดกั้นความเห็นของคนรุ่นใหม่บนโลกดิจิทัล ซึ่งเขาก็โต้ตอบอย่างดุดันว่า “ถ้าจะสรุปแบบนี้ผมก็ขอเติมว่า ‘โลกของคนรุ่นใหม่คือโลกของการบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชังและเป็นโลกของเสรีภาพที่ทำร้ายเสรีภาพคนอื่น’ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีพรบ.คอมฯ”
มองย้อนไปแล้วผมเสียเวลาคุยกับคนเยอะมากในการทำงาน แน่นอนว่าก็ถูกด่ามาตลอด ตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะคนได้ประโยชน์เขาไม่พูด แต่คนค้านเขาจะออกมาพูดดังมาก ความไม่เชื่อตลาดคือสิ่งที่ประชาชนคิดอยู่แล้ว
“เราเสียเวลา เราต้องออกแรง ต้องทุ่มเทพอสมควร เพื่อจะชี้แจงในประเด็นบางอย่างที่ซ้ำๆ ซากๆ อย่างเรื่องที่ต้องมาอธิบายว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ อธิบายว่าประเทศไทยไม่ได้มีแก๊ส มีน้ำมันมากมายอย่างที่เอ็นจีโอพยายามจะบอก หรืออธิบายว่าระบบราคาลอยตัว เป็นระบบที่ดีที่สุด อย่ามาตรึงราคา สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังก็คือคนที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาโจมตีที่ตัวบุคคล และโจมตีได้ง่าย สมัยก่อนถ้าจะโจมตีก็ต้องไปให้คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์โจมตี เดี๋ยวนี้เขียนได้เลย ใครๆ ก็เขียนได้ ผมว่าไม่ถูกต้องเลย เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่พวกเรากลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ทำ บางคนก็อาจจะไม่ชอบ คือเราฟ้องพวกเอ็นจีโอที่เข้ามาบิดเบือนข้อเท็จจริงตามพรบ.คอมฯ แล้วก็ล็อบบี้ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงพรบ.คอมฯ ตามแนวที่เอ็นจีโอต้องการ
…ใช่ คุณมีสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้สิทธินั้นไปกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ผมคัดค้านมากเลย ผมไม่ได้แบ่งตัวเองว่าเป็นอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ผมว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่จะมาแบ่งตัวเองเป็นไอ้โน่นไอ้นี่ รวมทั้งสำหรับคนสมัยใหม่ที่คิดว่าตัวเองมีหัวก้าวหน้าด้วย ผมดูเป็นเรื่องๆ แต่การบิดเบือนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สำคัญ อย่างการฟื้นฟูการบินไทย ข้อมูลบิดเบือนออกไปเยอะมาก จริงบ้างไม่จริงบ้าง ทำให้การขับเคลื่อนยากขึ้น ก็ต้องมาเสียเวลาชี้แจงข้อเท็จจริง แล้วคำชี้แจงของเรากว่าจะออกมามันไม่เร็วเหมือนเอ็นจีโอเพราะเราต้องแน่ใจว่ามันถูกต้อง คนอาจจะบอกว่าไม่น่าอ่าน ก็ใช่ แต่เราไม่ต้องการใส่ร้ายป้ายสีใครหรือปลุกระดมอะไร เขียนแบบง่ายๆ แล้วสะใจ เราไม่ต้องการ
…คำว่า ‘ของชาติ’ คือวาทกรรมของคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับบทบาทเอกชน เขาเห็นว่ารัฐควรจะทำทุกอย่าง ไม่ต้องการให้มีการแตะต้องหน่วยงานบางอย่างของรัฐเลย ผมก็เจอมาตั้งแต่การลดการผูกขาดในการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมมีแค่ กฟผ. มากระจายให้ภาคเอกชนเป็นผู้ผลิต ทั้งโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ตอนนั้นเอ็นจีโอก็ไม่ต้องการให้มีการแตะต้องการไฟฟ้าที่เป็นแห่งชาติ ถือว่าเป็นการขายชาติ ตอนหลังผมมาแปรรูปปตท. ถึงรัฐจะถือหุ้นใหญ่ ก็มีคนบอกว่านี่คือการขายชาติ เมื่อผมมาเป็นประธาน ปตท.เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็มีความพยายามจะแยกท่อแก๊สออกมาตั้งเป็นบริษัทในเครือปตท. เพื่อความโปร่งใสและทำให้เกิด third-party access ก็มีคนมาบอกว่านี่คือการขายชาติรอบสอง ทั้งๆ ที่มันก็ยังเป็นของปตท. 100% อยู่ดี”
ในขณะที่สไตล์การสื่อสารของดร.ปิยสวัสดิ์อาจมีทั้งคนชอบและชัง สิ่งหนึ่งที่วิจารณ์เขาไม่ได้ก็คือการไม่สื่อสาร
“มองย้อนไปแล้วผมเสียเวลาคุยกับคนเยอะมากในการทำงาน แน่นอนว่าก็ถูกด่ามาตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะคนได้ประโยชน์เขาไม่พูด แต่คนค้านเขาจะออกมาพูดดังมาก ความไม่เชื่อตลาดคือสิ่งที่ประชาชนคิดอยู่แล้ว สิ่งที่ยากลำบากจึงเป็นทั้งการชักจูงหน่วยงานภาครัฐแล้วก็ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ สมัยลอยตัวราคาน้ำมัน ประชาชนอาจจะไม่สนใจเท่าไหร่ ประชาชนสนแค่ว่าอย่าให้ราคามันขึ้นก็แล้วกัน แต่หน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วย เรื่องผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน ประชาชนก็ไม่สนใจ คนค้านคือหน่วยงานของรัฐ มาตอนหลังพวกเอ็นจีโอออกมาโจมตีเรื่องปตท. ได้กำไรเกินควร บอกราคาลอยตัวไม่ดี ต้องการการคุมราคา ต้องการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
…เอ็นจีโอส่วนหนึ่งอาจจะบริสุทธิ์ใจเชื่ออย่างนั้นจริง บางคนก็อาจจะมีวาระแอบแฝง บางคนผมว่าผมคุยได้และเขาเข้าใจ อย่างพระพุทธอิสระ เคยมีเอ็นจีโอใช้เวทีของท่านตอนชุมนุมกปปส. ให้ข้อมูลบิดเบือนทางด้านพลังงาน พวกเราขอไปพบพระพุทธอิสระตั้งแต่ช่วงชุมนุม ท่านไม่ยอมรับนัด แต่หลังจากทุกอย่างจบแล้วไปขอคุยกับท่านที่วัดอ้อน้อย ท่านก็ซัก ท่านฉลาดมาก ซักละเอียดเลย ถาม-ตอบ ถาม-ตอบ ถาม-ตอบ จนเข้าใจ พอท่านเข้าใจท่านก็อาสาที่จะจัดเวทีให้เรามาคุยกับเอ็นจีโอ ปรากฏเสร็จแล้วเอ็นจีโอโกรธท่านมาก ด่าท่าน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นผลดีกับเรา เพราะท่านเลยเห็นว่าใครเป็นยังไง
…อยากให้สังคมเปิดใจให้กว้าง มองประเด็นต่างๆ ให้รอบด้าน สังคมไทยยังมีความแตกแยกในความคิดมาก ปิดกั้นความคิดของคนที่เราไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เเล้วก็เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
...ผมว่าผมก็ฟังคนอื่น แต่คนอื่นเขาอาจจะเห็นว่าผมไม่รับฟังก็ได้ อย่างเช่นตอนนี้ผมไม่ฟังโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่าไหร่ อีกฝั่งเขาอาจจะเห็นว่าผมปิดกั้นตัวเองเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ความจริงผมก็เคยสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเมื่อก่อนแก๊สไม่ได้มีมากขนาดนี้ และตอนนั้นยังไม่มีเรื่องโลกร้อน ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างตั้งแต่ตอนนั้น มันจะทำให้เราได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก และถึงวันนี้โรงไฟฟ้าก็จะใกล้หมดอายุพอดี ไม่เป็นปัญหาเรื่องโลกร้อนต่อไป แต่ถ้าจะมาเริ่มสร้างตอนนี้ผมว่ามันหมดยุคเเล้ว
…ยังไม่ถึงกับท้อดีครับ ยังไม่ท้อ แต่ว่าสภาพแวดล้อมบางอย่างมันทำให้มันเหนื่อยกว่าที่ควร มันไม่ควรจะเหนื่อยขนาดนี้ งานควรจะเดินได้เร็วกว่านี้ถ้าไม่มีตัวถ่วงบางอย่าง แต่ขอไม่พูดดีกว่า ขอไม่พูด”
ตลอดการสัมภาษณ์ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ดร.ปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ดร.ปิยสวัสดิ์ต้องรับโทรศัพท์หรือออกไปคุยกับผู้ที่ขอ ‘แว็บ’ เข้ามาเพื่อปรึกษาเรื่องราวต่างๆ อยู่หลายต่อหลายครั้ง ยืนยันข้อเท็จจริงว่างานของเขาต้องอาศัยการพูดคุยสื่อสารมากเกินกว่าที่เขาจะปรารถนา อันที่จริงตั้งแต่ต้นการสนทนา ดร.ปิยสวัสดิ์บอกว่า “ผมไม่ยอมให้สัมภาษณ์ อันนี้พิเศษมากเลย ผมอยู่ของผมอย่างเงียบที่สุด เพื่อใม่ให้คนมาวุ่นวายกับผม สุดท้ายก็ยังวุ่นวายจนต้องไปเป็นกรรมการ (การบินไทย) จนได้” น่าสงสัยว่าในเมื่อเขาไม่ได้มีปัจจัยบีบบังคับให้ต้องรับงานยากต่างๆ ที่ถูกเสนอเข้ามา ดร.ปิยสวัสดิ์มองเห็นหรือต้องการอะไรจากสิ่งที่ทำ นับตั้งแต่วันที่เข้าตัดสินใจเข้ารับราชการในสภาพัฒน์มาจนกระทั่งวันนี้
“ไม่ค่อยมี จำไม่ได้ว่าผมมีภาพอะไร คิดว่าอยากจะมาสร้างประโยชน์เฉยๆ แล้วฟังดูงานมันน่าสนใจ ไม่ได้มีโรลโมเดลอะไร ทำให้ดีที่สุด”
พิจารณาดูแล้ว ในทำนองเดียวกับเมื่อครั้งดร.ปิยสวัสดิ์อ่านอรรถาธิบายสี่หน้ากระดาษเกี่ยวกับ ‘marginal cost’ หรือต้นทุนส่วนเพิ่มในตำราเศรษฐศาสตร์ของพอล แซมมวลสันแล้วเห็นว่าถ้อยคำมากมายนี้ควรสรุปด้วยสมการสั้นๆ ว่า dc/dq ก็พอ
ในโลกของการทำงานยุคใหม่ที่พูดกันด้วยแนวคิดสวยหรูมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหาความรัก หรือความหมายของสิ่งที่ทำ
สมการของดร.ปิยสวัสดิ์ดูเหมือนจะห้วนสั้นแต่เพียงว่า “ทำให้ดีที่สุด” เท่านั้น ■