HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Going With the Flow

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้เรียนรู้จากน้ำ ชีวิต และสร้างสวนที่จะอยู่ไปได้อีกร้อยปี

ธนกร จ๋วงพานิช

คนไทยส่วนใหญ่น่าจะได้รู้จักกชกร วรอาคมครั้งแรก เมื่อสื่อหลักแทบทุกสำนักในเมืองไทย ประโคมข่าวที่นิตยสารไทม์คัดเลือกให้เธอเป็นหนึ่งใน TIME 100 Next ประจำปี 2562 ในฐานะนวัตกรผู้สร้างสวนรับน้ำสำหรับเมืองที่กำลังจม ควบคู่ไปกับชื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้มุ่ง “ดึงอำนาจคืนกลับมาจากเผด็จการ” และลิซ่า แบล็กพิงก์ สมาชิกแห่งกลุ่มนักดนตรีที่มีผู้ติดตามบนยูทูบมากที่สุดในโลกที่ 51 ล้านคน

สำหรับเมืองที่ชายหาดและโบราณสถานดูจะเป็นจุดแข็งมากกว่าสวนและนวัตกรรม เป็นไปได้ว่าความสนใจในชื่อของกชกรส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์มาจากการที่ชื่อของเธอปรากฎเคียงข้างสองชื่อที่ร้อนแรงที่สุดจากสองวงการที่ครองพื้นที่สื่อสูงสุดอย่างการเมืองและบันเทิง กระทั่งกชกรยังกล่าวติดตลกว่าความดังของเธอ น่าจะเป็นความดังแบบ “เอ๊ะ---คนนี้ใครนะ” ถึงขนาดขอให้ใช้รูปผลงานอย่าง ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หรือ ‘อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ เป็นภาพประกอบบทสัมภาษณ์แทนพอร์เทรต เพราะอาจทำให้คนรู้จักได้มากกว่า

กระนั้น ในขณะที่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรมคือสองเรื่องที่มีความหมายมากต่อความเป็นมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย ในเวลาที่อุณหภูมิของโลกกำลังไต่สูงขึ้น และเมืองใกล้ชายฝั่งตั้งแต่ลอนดอน มะนิลา มาจนกรุงเทพฯ กำลังเสี่ยงต่อการจมลงอยู่ใต้น้ำได้ภายในปี 2573 อาชีพนอกความสนใจอย่างภูมิสถาปนิก ที่ว่าด้วยการออกแบบพื้นที่เพื่อรับมือกับ ‘ภูมิ’ หรือแผ่นดินแผ่นน้ำที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของกชกร กลับดูจะตอบสนองต่อความจำเป็นที่พื้นฐานเสียยิ่งกว่า กล่าวคือความอยู่รอดของสังคมมนุษย์อย่างที่เรารู้จัก

วิกฤตมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13 ล้านคน พังถนนไปกว่า 14,000 สาย และคร่าชีวิตของคนเกือบ 813 รายและปศุสัตว์อีก 13 ล้านตัว คือหนังตัวอย่างชั้นดีของสภาพสังคมที่ลืมความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและภูมิอากาศ

ด้วยความสำคัญเร่งด่วนของสิ่งที่เธอทำนี้ ไม่แปลกที่กชกรจะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกหรือ ‘เฟลโลว์ (fellow)’ ขององค์กรทรงอิทธิพลทางความคิดระดับโลกอย่าง TED ที่มีสโลแกนว่า “ความคิดที่ควรค่าแก่การบอกต่อ” และภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากที่กชกรได้ปรากฏอยู่ในการจัดอันดับ TIME 100 Next นิตยสารไทม์ก็เลือกให้เธอเป็นหนึ่งใน “15 ผู้หญิงผู้นำการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” ควบคู่กับหญิงเหล็กอื่นๆ อาทิ ราเชล ไคท์ ผู้นำโครงการด้านสภาพอากาศของเวิลด์แบงก์ หรือ เกรตา ทุนเบิร์ก เด็กหญิงชาวสวีเดนผู้ทำให้เรื่องโลกร้อนกลายเป็นความน่าอับอายของผู้ใหญ่ทุกคนที่ไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์

แต่เช่นเดียวกับที่ภูมิสถาปัตยกรรมมีมิติที่ลุ่มลึกกว่าการรองรับน้ำท่วม กชกรก็เป็นมากกว่าคนไทยผู้ประสบความสำเร็จในการจัดอันดับของฝรั่ง เธอเป็นทั้งแม่และลูก ครูและนักเรียน นักนโยบายและประชาชน ฯลฯ ผู้ได้ผ่านกระบวนการของการเรียนรู้ในหลายเรื่องๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งของคนต่างรุ่น กระบวนการทำงานสร้างสรรค์ที่หลุดพ้นจากกรอบ หรือกระทั่งความยากเข็ญไร้คำตอบของการเป็นพ่อแม่คน

ดูเหมือนทุกอย่างล้วนเป็น “ความคิดที่ควรค่าแก่การบอกต่อ” และสำหรับหลายๆ เรื่อง นี่คือครั้งแรกที่เธอบอกใคร

สวยจากภายใน

สำหรับผู้ที่ได้เคยดูคลิปวีดีโอ TED Talks ของกชกร สิ่งหนึ่งที่เป็นที่สังเกตนอกเหนือจากชุดสไบและโจงกระเบนไหมไทยสีฟ้าเหลือบน้ำเงินในคัตติ้งมินิมัลลิสต์เฉียบขาด (มีหลายคอมเมนต์ภายใต้คลิปวีดีโอนี้ในยูทูบที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับชุดของเธอ เช่น “The real innovation is her wardrobe” หรือ “A genius female innovator wearing an outfit that is…” ตามด้วยสัญลักษณ์กองไฟสามกอง) ก็คือสัญลักษณ์ TED บนเวทีของเธอนั้น ไม่มีอักษร X ต่อท้าย ทั้งนี้ เพราะทอล์คของกชกร ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งของแฟรนไชส์ TEDx ที่ถูกจัดขึ้นโดยอาสาสมัครในท้องที่ต่างๆ ทั่วโลกแบบอิสระ หากกชกรพูดในฐานะ TED Fellows หรือสมาชิกศูนย์กลางของ TED ซึ่งกล่าวขานกันว่าเป็นเฟลโลว์ชิปที่สมัครเข้ายากมากที่สุดในโลก ทั้งยังพูดในงานคอนเฟอเรนส์ใหญ่ TED Women ที่ปาล์มสปริง แคลิฟอเนีย ที่ตั๋วเข้าชมราคาเหยียบแสน และจะได้มาก็แต่ด้วยการถูกเชิญ หรือการส่งเรียงความมาสมัครพร้อมรายชื่อบุคคลอ้างอิงเท่านั้น

“กชบ้าไปสมัคร TED Fellows โคตรยาก ยากกว่าสร้างสวน กว่าจะให้เขาซื้อไอเดียเรา คนสมัครไม่รู้กี่หมื่นคนแต่เขาเอาแค่ 20 คนต่อปี เขาเขียนไว้ว่าถ้าเกิน 40 ก็ไม่แนะนำให้สมัคร เราคิดว่าเราจะ 40 แล้วแต่งานเราก็โอเค เลยสมัครไป ต้องโทรศัพท์สัมภาษณ์กันหลายรอบ งวดเข้าเรื่อยๆ ซึ่งพอได้ 20 คน แต่ละคนที่เราคงไม่ได้เจอง่ายๆในชีวิตประจำวัน ก็จะมีแบบ นักโรคระบาดวิทยาบ้าง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งวิทยาบ้าง เห็นแล้วไม่มั่นใจว่าเราทำอะไรถึงได้ถูกเลือก แต่ก็ต้องกล้าไปก่อน”

สำหรับภูมิสถาปนิกอย่างกชกรที่มีดีกรีปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรม จากบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (GSD) และดีกรีประสบการณ์จากบริษัทภูมิสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่างบริษัท Sasaki, SWA, MVVA และ Design Workshop การตัดสินใจสมัครเท็ดเฟลโลว์ชิปของเธอไม่ต่างอะไรกับการเอาตัวเองกลับไปสู่อดีตอันเหนื่อยยากของการเป็นเด็กฝึกงานที่ต้องถูกเคี่ยวกรำเรื่องเนื้อหาและการนำเสนออีกครั้งโดยไม่ได้ค่าจ้าง แต่สำหรับภูมิสถาปัตยกรรมซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับการสื่อสารความคิดมากพอๆ กับการเขียนแบบ เท็ดทอล์คอาจให้สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเงินทอง กล่าวคือผู้ฟัง

“เราอยากถ่ายทอดมิติที่ว่าภูมิสถาปนิกมีหน้าที่รักษาระบบนิเวศให้กับเมืองหรือโครงการ ทำให้เเต่ละโครงการมีมุมมองของสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่ดีขึ้น ปกติคนจะชอบคิดว่าสร้างตึกเสร็จแล้ว พื้นที่ที่เหลือก็เอาไปทำให้มันเขียว เดี๋ยววันนี้จะตัดริบบิ้นแล้ว เอาภูมิสถาปนิกมาช่วยทำให้สวยหน่อย เเต่เราอยากตอบโจทย์ให้ยั่งยืนมากกว่านั้น ความสวยงามกับความหวือหวาก็เป็นโจทย์หนึ่ง แต่สิ่งอื่นที่เราควรตอบคืออะไร เป็นสิ่งเเวดล้อมที่ดีขึ้นได้ไหม หรือเป็นสวนสาธารณะที่นอกจากใช้ออกกำลังกายเเล้ว ยังช่วยรับมือกับน้ำท่วมได้ไหม ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ไหม ช่วยให้นกแมลงมีบ้านอยู่ได้ไหม ความหลากหลายทางชีววิทยาที่หายไปทำให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเยอะแยะ เช่น โรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่

ปูนและคอนกรีตที่เราต้องเจอคือความคิดคน ความคิดว่าที่อะไรต้องเป็นอย่างนี้ๆ แก้ปัญหาน้ำต้องใช้เขื่อน ตึกต้องสี่เหลี่ยม หรือต้นไม้ต้องต้นปาล์ม มันคือความคิดของคนที่แข็งไปแล้ว ความเป็นมนุษย์มันด้านไปแล้ว

…สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของภูมิสถาปนิกที่จะนำเสนอ ลูกค้าอาจจะไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้ เพราะเขาอาจไม่ได้เรียนมาหรือสนใจว่าจริงๆ โครงการของเขามันทำได้มากกว่าดูเขียวสวย มันสวยจากภายในเพราะสร้างประโยชน์กับเมืองได้ด้วย เช่น อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เราก็ตั้งโจทย์ว่าการเฉลิมฉลองของจุฬาฯ 100 ปีคืออะไร เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สวนสาธารณะแบบที่เราเคยเห็นจากสวนลุมพินีหรือสวนเบญจกิติที่สร้างมา 30 ปีแล้ว มันต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อะไรคือสิ่งที่จะท้าทายเราในอีกร้อยปีข้างหน้า น่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง climate change เรื่องทรัพยากรที่เริ่มหมดลง ฝนตก 15 นาทีทำไมต้องมีน้ำท่วมขัง ทำไมต้องเจอ PM 2.5 ทุกปี ความท้าทายเหล่านี้ เราต้องตอบให้ได้ในสิ่งที่เราออกแบบ

…เราเสียดายไอเดีย เพราะเราเคยอธิบายเนื้อหาเหล่านี้ในเมืองไทยแล้วมันเงียบ คนไม่สนใจ จึงรู้สึกว่าฉันต้องไปพูดที่เท็ด ไปแห่ที่เมืองนอกก่อน แล้วก็พบว่ามันเป็นไอเดียที่ดี เพราะพอวิดีโอของเท็ดเผยแพร่ออกไป World Economic Forum มา NHK มา The Guardian มา CNN มา แล้วก็กระจายมากขึ้นเรื่อยๆ พอสื่อเมืองนอกมาเต็ม คนไทยก็เริ่มเข้าใจ”

หินปูนความคิด

ในเท็ดทอล์คของกชกร เธอเล่าว่ากิจกรรมเล่นสนุกของเธอในยามเด็กคือการกระเทาะรอยแตกของพื้นถนนคอนกรีตเพื่อเปิดพื้นที่ให้ต้นไม้เล็กๆ ที่งอกอยู่ในนั้นเติบโต อาชีพภูมิสถาปนิกผู้สร้างสวนของเธอในวันนี้ จึงไม่ใช่อะไรนอกจากแว่นขยายของกิจกรรมวัยเด็ก ต่างก็แต่เพียงว่าสิ่งที่เธอต้องกระเทาะในวันนี้ ไม่ใช่แค่พื้นถนนในซอย แต่เป็นมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งอุดมห้างสรรพสินค้าและคอนโดพอๆ กับราชนิเวศน์มหาสถาน อย่างไรก็ตาม ยามถูกถามว่าอะไรคือคอนกรีตที่เธอต้อง ‘กระเทาะ’ เพื่อเปิดทางให้กับสวน กชกรกลับไม่ได้คิดถึงหินปูนทราย

“ปูนและคอนกรีตที่เราต้องเจอคือความคิดคน ความคิดว่าที่อะไรต้องเป็นอย่างนี้ๆ แก้ปัญหาน้ำต้องใช้เขื่อน ตึกต้องสี่เหลี่ยม หรือต้นไม้ต้องต้นปาล์ม มันคือความคิดของคนที่แข็งไปแล้ว ความเป็นมนุษย์มันด้านไปแล้ว กชไม่อยากมองโลกในแง่ร้าย สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะมันง่าย การสร้างเขื่อนแบบ ก. เขื่อนแบบ ข. มันอาจติดตามการใช้เงินได้ง่าย ใช้ทุนเท่าไหร่ สร้างแล้วคุ้มทุนไหม มีหลักการตรวจสอบที่ยุติธรรม แต่พอมองทั้งระบบเราไม่รู้ว่ามันยุติธรรมจริงหรือเปล่า บางทีเราก็ลืมตั้งคำถาม ไม่ได้มองภาพรวม มีแต่ทำตามกันมาว่าต้องแบบนี้ๆ ถ้าบอกให้ลองทำเขื่อนธรรมชาติ ให้ทำ พื้นที่ชุมน้ำ พื้นที่รับน้ำ พื้นที่ซับน้ำ คนก็อาจจะบอกว่า มันจะคุ้มจริงหรอ ปลูกต้นไม้ใครได้อะไร มันไม่ได้มีระบบรองรับชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือระบบที่เหมือนยุติธรรม แต่กลับคอรัป (corrupt) ในตัวของมันเอง แล้วเราก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่าตกลงคำตอบที่ได้มันถูกหรือเปล่า ไม่ใช่ถูกแค่ 5-10 ปี แต่ต้องมองไปไกลถึงคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย

…เราเห็นชาวบ้านแถบอีสาน ดีใจได้มีเขื่อน 450 ล้าน ฟังดูใครก็อยากได้ แต่เขาไม่รู้หรอกว่ามันจะทำให้บ้านเขามีกำแพงมิดหัว มองไม่เห็นเพื่อนบ้าน และสุดท้ายพอน้ำล้นผ่านไป หลังเขื่อนน้ำจะยังท่วมอยู่ ไม่มีใครบอกเขาตรงนี้ ไม่ได้มีการทำความเข้าใจ เพราะมันไม่ได้อยู่ในระบบเศรษฐกิจ เราทำลายระบบน้ำ อยากทำเขื่อนไม่ให้กรุงเทพฯ เปียกน้ำ แต่กรุงเทพฯ มันต้องท่วม เพราะมันเป็นพื้นที่ท่วมน้ำมาตลอด อยู่ดี ๆ 30 ปีให้หลังจะไม่ให้ท่วมเลยแล้วทำเขื่อนแทน ทำไมเราต้องทำลายป่าไม่รู้กี่แห่ง เพื่อให้กรุงเทพฯ แห้ง ทำไมกรุงเทพไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองบ้าง เราทำลายทรัพยากรที่ทำให้เรายั่งยืน ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธเขื่อนทุกเขื่อน แต่เราต้องตั้งคำถามว่าทุกอย่างโอเคไหม

…กชไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองละเอียดอ่อนต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกว่าใคร แค่รู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งกรุงเทพจม หรือเราอยู่เมืองๆ นี้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราทำๆ กันทุกวันนี้ เราทำไปเพื่ออะไร คุณอาจจะสร้างสถาปัตยกรรมที่ว้าวที่สุดในโลก เท่ที่สุดในโลก แต่สุดท้ายแล้วเมืองมันจม หรือเราหายใจไม่ได้ มันจะเพื่ออะไร มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องช่วยกัน ภาครัฐก็ไม่ได้เพิกเฉย แต่มันเหมือนเป็นระบบ เป็นความด้านชาที่ทำให้เราไม่กล้าตอบคำถามแบบอื่นหรือตั้งคำถามใหม่”

เต้นหาจังหวะ

ฟังโดยผิวเผิน การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่แข็งแกร่งและยึดติดมายาวนานชวนให้นึกถึงการใช้แรงที่แข็งยิ่งกว่าเข้าจัดการ แต่คำสำคัญในพจนานุกรมการทำงานของกชกรกลับเป็นคำว่าความเพียรและการพูดคุย ในคลิปวีดีโอเท็ดทอล์ค กชกรใช้อุปมาอุปไมยเกี่ยวกับการ ‘กระเทาะ’ คอนกรีตเพื่อเปิดทางให้กับสวนหรือต้นไม้ แต่ในชีวิตจริง วิธีการของเธอน่าจะใกล้เคียงกับการกัดเซาะของน้ำมากกว่า เพราะไม่ตายตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ถอยหลัง และไม่เปลี่ยนทิศทาง

“ยอมรับว่าหลายๆ คนที่เจอเรา เขาจะรู้สึกว่าเราดื้อ เราไม่ได้ดื้อ เรามีจุดยืน และเราคิดว่าจุดยืนของเรา ไม่ได้ออกมาจากความเป็นตัวเราอย่างเดียว แต่ออกมาจากภาพรวมของโจทย์ เรายืนในฐานะของคนที่จะมาใช้ ในฐานะของแมลง ในฐานะของนิเวศวิทยาของเมือง สิ่งที่เราจะได้ เราจะได้อะไรบ้าง ถ้าสุดท้ายมันเป็นไอเดียที่จะต้องถูกตัดทิ้งไป และไม่ใช่ไอเดียหลัก เราก็ต้องผ่อน เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า แน่นอนถ้าสุดท้ายมันเปลี่ยนถึงจุดที่ไม่ใช่ไอเดียของเราแล้วเราคงไม่เหมาะที่จะเป็นคนทำ เพราะถ้าทำเพื่อให้ได้เงิน เราไปทำโปรเจกต์ที่มันง่ายกว่านี้ดีกว่า หรือจะทำแค่เพื่อเอาชนะใคร ก็ไม่ใช่ เราทำเพื่อดำรงคุณค่าที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น แต่ถ้าเลยจุดตรงนั้นไป เราก็ต้องเห็นคุณค่าตัวเราเองพอที่จะปฎิเสธ

…ความเหนื่อยอยู่ที่เราต้องคั้นไอเดียออกมา คุยกับทีมให้เข้าใจภาพที่เราเข้าใจ หรือนำไอเดียของทีมมาสร้างเป็นภาพเดียวกัน แทนที่ปกติงานใกล้เสร็จ แล้ว ภูมิสถาปนิกค่อยมาสร้างให้สวยงามหน่อย แต่อันนี้ไม่ใช่ เราต้องทำงานตั้งแต่วันแรก ต้องจูงใจผู้คน ทำให้วิศวกรหรือลูกค้าเชื่อใจ แล้วก็ต้องใช้การรับฟังที่ดี ถามเขาก่อนว่าต้องการอะไร ต้องหาจุดร่วมที่มันมีความน่าจะเป็น การออกแบบเป็นเรื่องรองมาก ไม่ยาก เรื่องที่ยากคือการคุยกับคน ลูกค้า คณะกรรมการ คุยกับหน่วยงาน คุยกับทีม เพราะเรากำลังบอกให้เขาเอาเงินหลายร้อยล้านพันล้านมาเอื้อประโยชน์ให้เมือง และคนส่วนมาก บางทีคนไม่ได้คิดตรงกันกับเราก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้คิดมาในแนวทางเดียวกัน แต่ความต่างมันอยู่ตรงไหน เราจะต้องแก้ตรงไหน สิ่งเหล่านี้มาจากการรับฟัง คุยและปรับทัศนคติกัน

กชเคยอ่านงานวิจัยบอกว่าสมองมันจะหลั่งสารอะไรบางอย่างออกมาปลอบใจ สำหรับคนที่ทำอะไรแล้วล้มเหลว แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำอะไรแล้วนั่งเฉย มันจะไม่มีสารตัวไหนมาช่วย ส่วนกชถ้าเสียโอกาส มันจะวนอยู่ในหัวจนเราตาย

…มันไม่มีสูตร เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก แต่รู้สึกยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่เจอเหมือนกัน แต่ละงานไม่สามารถใช้จุดเดิมแก้ปัญหาซ้ำกันได้ แต่ละโจทย์มันอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องด้วย ภูมิสถาปนิก สถาปนิก วิศวกร นักผังเมือง ลูกค้า มันเหมือนการเต้น ไม่รู้ท่าไหนเลย ต้องดูจังหวะ แล้วแต่สถานการณ์ตอนนั้น แต่อาวุธลับก็น่าจะเป็นความอุตสาหะ ความเพียร ไม่ย่อท้อ ขันติ มันยากอยู่แล้ว แต่ยากแล้วไม่ใช่ไม่ทำ กชมองว่ายิ่งยากยิ่งต้องมองให้เห็นโอกาส สิ่งที่กลัวเสียที่สุดคือเสียโอกาส

…ล้มเหลวก็ลุกขึ้นมาใหม่ ไม่ได้แย่เกินไป มันก็ยากนะเวลาล้มเหลว แต่เราก็ค่อยๆ ลุก กชเคยอ่านงานวิจัยบอกว่าสมองมันจะหลั่งสารอะไรบางอย่างออกมาปลอบใจ สำหรับคนที่ทำอะไรแล้วล้มเหลว แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำอะไรแล้วนั่งเฉย มันจะไม่มีสารตัวไหนมาช่วย ส่วนกชถ้าเสียโอกาส มันจะวนอยู่ในหัวจนเราตายว่า ‘ถ้าวันนั้นฉันทำอย่างนั้น…’ ไม่ชอบเลย อยู่กับประโยคแบบนี้ไม่ค่อยได้ ก็คิดว่างั้นลงมือทำ ทำให้เสร็จ มีหลายโปรเจกต์ที่ทำแล้วไม่ได้เกิดเยอะมาก แต่เราแค่รู้สึกว่ามันต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ ยืน ในหนึ่งความสำเร็จ มันมีสิบครั้งที่ล้มเหลว ขอแค่ไม่ล้มเลิก ถ้าเลิกก็คือจบเลย แต่เราไม่เลิก เราก็เลยได้ทำ และทำให้เสร็จ“

เกิดในกรอบ

บ้านของกชกรนั้นหาได้ไม่ยากหากดูจากแผนที่กูเกิล ความยากอยู่ที่ยามไปถึงตำแหน่งตามแผนที่แล้ว สิ่งที่ปรากฎอยู่ต่อหน้ากลับเป็นแนวต้นไม้รกครึ้มเหมือนป่าย่อมๆ ที่ทำให้หลายคนต้องโทรถามตำแหน่งของบ้านอีกทีด้วยความไม่แน่ใจ ต้นไม้ส่วนใหญ่มีรูปทรงที่อิสระ ตัดแต่งไม่มาก ชัดเจนว่าต้นไม้ในบ้านของกชกรไม่ใช่เครื่องประดับ แต่เป็นสมาชิก

“เวลาไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ มันมีธรรมชาติ เราชอบมาก แต่เราโตมากับบ้านที่ปลูกต้นไม้ไม่ได้ เราไม่เข้าใจ แต่ตั้งแต่เด็ก เวลาเรานั่งรถไปโรงเรียนแล้วมีต้นจามจุรี เราก็ชอบมอง เห็นคลองแสนแสบ เราก็ชอบ ทุกครั้งที่รถติด เราจะ enjoy มุมแบบนี้ที่มันซ่อนอยู่ตามทาง เราโหยหาสิ่งนี้ พอต่อมาได้มาเรียนภูมิสถาปัตย์ เราเลยอยากทำตามความฝันสมัยเด็กว่ากทม.น่าอยู่ กทม.มีต้นไม้ เพราะเราไม่มีโอกาสได้โตมาแบบนั้น การที่ไม่ได้โตมาแบบนั้นอาจทำให้บางคนชิน แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะเป็นแบบนี้”

ในสมัยเรียนมัธยมฯ กชกรเรียนสายศิลป์-คำนวณ แต่แล้วเมื่อเธอประทับใจกับความสนุกของคณะสถาปัตย์ฯ จากการได้ดูละครถาปัดฯ จุฬาฯ กชกรก็ขวนขวายไปกวดวิชาฟิสิกส์ด้วยตัวเองจนสามารถสอบเข้าคณะนี้ได้ด้วยคะแนนเฉียดฉิว อย่างไรก็ตาม นั่นแทบจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอรั้งท้าย เพราะเมื่อเข้าคณะมาแล้ว เธอได้กลายเป็นมือจดเลกเชอร์ และนักเรียนแถวหน้าผู้คอยยกมือตอบคำถามอาจารย์ จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เพื่อนของเธอนิยามว่ากชกรเป็นเหมือนตัวละคร ‘เฮอร์ไมโอนี’ จากเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ที่เก่งกล้าด้วยวิชาการ สิ่งที่ต่างอาจมีเพียงว่าความเก่งวิชาการไม่ได้ทำให้กชกรยอมอยู่ในกรอบไปด้วย ย้อนไปในสมัยมัธยมปลายที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ กชกรเคยมีประวัติเป็นแกนนำเพื่อนทะเลาะกับโรงเรียนอื่นจนถูกเรียกพบผู้ปกครองมาแล้ว

“สมัยอยู่เซนต์โยฯ มีครั้งหนึ่งไปต่างโรงเรียนแล้วเราเห็นเพื่อนเราถูกเด็กโรงเรียนอื่นรังแก ใช้คำไม่เหมาะสม เราเลยเข้าไปช่วย แต่ละกลุ่มเริ่มโมโห มีการยกกลุ่มมาที่โรงเรียนเรา เราเลยดูเป็นแกนนำ ถูกเรียกพบผู้ปกครอง กชพร้อมจะแตกแถวตลอดเวลาเมื่อมีเหตุผลพอ ไม่ได้ก้าวร้าว แต่เราแค่รู้สึกสนุก อยากเป็นคนๆ นั้น ที่ไม่ถูกกรอบครอบ เพราะเราโตมากับกรอบที่เยอะ เช่น โตมากับโรงเรียนหญิงล้วน โตมากับโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ที่ทุกคนต้องเอนทรานซ์ เราก็ตั้งคำถามมาตลอด สมัยนี้การดูบ้าก็อาจจะปกติไปแล้วนะ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกสนุกที่ได้ใช้พลังงานตัวเอง คนอื่นไม่ทำ ถ้าเราอยาก เราจะลุกขึ้นมาทำ การได้ผ่านวัยรุ่นมันก็ช่วยทดสอบ ความเป็นตัวเองที่มันเยอะหรือน้อยไป พอมาเรียนคณะสถาปัตย์ฯ ก็รู้สึกใช่มาก เวลาทำโปรเจกต์ มีโจทย์ๆ เดียว แต่คนสิบคน จะออกแบบมาต่างๆ โดยไม่มีอะไรผิดอะไรถูก มีแค่ถูกมาก ถูกน้อย ตามเหตุผล ได้ใช้เหตุผลในการหาคำตอบที่ไม่ใช่การท่องจำ เราชอบมาก

…เราเคารพคนที่มีอายุมากกว่า อาวุโสกว่า ตามที่ถูกปลูกฝังมา เพราะฉะนั้นถึงเราจะใช้ความกล้าความบ้า มันก็จะมีแนวของมัน แต่ไม่ได้เอาสิ่งเหล่านี้มากดความบ้าหรือความกล้าของเรา การที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ร่วมกับคนหลายเจนเนอเรชัน มันต้องหาสมดุล เราอยากจะดึงความรู้จากอาจารย์ เราต้องเคารพเขาก่อน เขาถึงจะอยากสอนเรา ถ้าเป็นอาจารย์แล้วเจอเด็กก้าวร้าว เขาจะรู้สึกไม่อยากสอน คนที่เสียผลประโยชน์ก็คือตัวเรา ดีใจที่เราถูกปลูกฝังให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้เรารู้สึกว่ากรอบก็ดี มันทำให้เรารู้ว่าอะไรคือกาลเทศะ หรือคนคาดหวังอะไรในมิติต่างๆ และการที่ได้โอกาสนอกกรอบเป็นระยะๆ หรือตอนเรียนแล้วต้องคิดให้ต่าง ทำให้พอถึงเวลาต้องมาทำงานและมีต้องตัดสินใจออกนอกกรอบ เราสามารถชั่งได้ว่าเรามีเหตุผลมากพอหรือยัง เรากล้าไหม ที่จะบอกลูกค้าแบบนี้ บอกหน่วยงานรัฐแบบนี้ เขาจะโอเคไหม”

ก้าวนอกกรอบ

กรอบสำคัญที่กชกรได้ข้ามผ่านก็คือการตัดสินใจสมัครไปฝึกงานที่บริษัทซาซากิ เมืองบอสตัน หนึ่งในบริษัทภูมิสถาปัตย์ที่ดังที่สุดโลก ที่สหรัฐอเมริกา ขณะปิดเทอมปีสี่ โดยไม่คำนึงถึงกรอบว่าในเวลานั้นไม่มีเด็กไทยคนใดไปฝึกงานต่างประเทศหรือเด็กที่ยื่นสมัครฝึกงานที่บริษัทซาซากิแทบไม่มีใครไม่มีดีกรีระดับฮาร์วาร์ดหรือไอวี่ลีก ยิ่งกว่านั้น หลังจากฝึกงานที่ซาซากิ กชกรยังตัดสินใจดร็อปเรียนที่จุฬาฯและยอมสำเร็จการศึกษาช้ากว่าเพื่อนหนึ่งปี เพื่อให้สามารถฝึกงานต่อได้เต็มที่ จนทำให้ในที่สุดเธอสามารถเรียนต่อปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (GSD) ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ที่ฮาร์วาร์ดนี่เองที่กชกรได้พบว่าแม้กระทั่งกับคนที่เคยออกนอกกรอบอยู่เสมอ ยังคงมีอีกหลายกรอบที่รอการข้ามผ่าน

“เราเคยมีกรอบแล้วก็คิดว่ามันดีมาตลอด คือสูตรสำหรับใช้ในการแก้ปัญหา เช่นเวลาได้โจทย์มา เราจะต้องทำออปชัน 3 อัน เสร็จแล้วเราเอาออปชันมาวางซ้อนกัน หาอันที่ซ้อนทับกับอันอื่นได้มากที่สุด ซึ่งแปลว่ามันเป็นออปชันที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ฟังแล้ว make sense ใช่ไหม รู้สึก convincing ใช่ไหม เราไปเรียนปริญญาโทที่ฮาร์เวิร์ดก็คิดว่าสูตรนี้มันดีมากเลย เราจะได้ที่หนึ่งของชั้นแน่นอน แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ มันธรรมดาไป พอเห็นงานเพื่อนคนอื่น รู้เลยว่าของเราไม่พอ เราคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องปรับความคิดให้มันนอกกรอบตัวเองออกไปอีก

ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่เป็นมิตรกับตัวเองมากพอที่จะอยู่กับตัวเอง ยอมรับในความล้มเหลวของตัวเอง ช่วงวัยรุ่นมันรู้สึกว่าฉันไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่นี้ ฉันเลือกได้ แล้วก็คิดว่าสิ่งที่เลือกนอกตัวนั่นแหละคือตัวเอง แต่ตอนนี้รู้สึก เออ---เราก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าใครจะทำอะไร เราก็จะทำแบบนี้

…เราก็พยายามหาสูตรเหมือนกันในการออกแบบ แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีจุด มันต้องเปิดๆ ไปเลย ดังนั้น เราชอบที่จะทำงานกับกลุ่มคน ไม่ชอบให้ไอเดียมาจากเราคนเดียว รู้สึกว่าการมีกรอบความคิดแค่อันเดียว มันไม่ได้ทำให้งานออกมาดี เราก็ฟังและถามไปเรื่อย ทุกวันนี้เลยฝึกลูกน้องให้ฝึกถามตอบ รู้จักหลักการใช้เหตุผล ว่าทำไมทำแบบนี้ ทำไมเลือกวงกลม ทำไมเลือกสี่เหลี่ยม แล้วอันนี้มันต่างจากอันนี้ยังไง ทำไมถึงไม่ใช้อันนี้ คนที่มาใช้รู้สึกยังไง อันนี้เหมาะกับบ้านเราเหรอ ทำไมอันนี้ถึงอยู่ตรงนี้ไม่อยู่ตรงนั้น ถามไปเรื่อยๆ งวดไปเรื่อยๆ”

เมื่อสูตรหรือกรอบที่จับต้องได้ไม่เป็นประโยชน์นักสำหรับงานสร้างสรรค์ น่าสงสัยว่าสิ่งใดช่วยเติมพลังให้กชกรสามารถสร้างงาน และคว้าหลากหลายรางวัลระดับโลกของสายภูมิสถาปัตยกรรม เช่น World Landscape Architecture Award, American Society of Landscape Architecture หรือ The Best of the Best Award จาก German Design Council

“ถ้าตอนเด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าต้องไปท่องเที่ยว ไปดู ไปเติม แต่พอถึงวัยนี้ รู้สึกว่าเติมพลังคือการได้พักผ่อน เราคิดอยู่กับปัญหาเยอะๆ แล้วต้องมีจังหวะดึงตัวเองออกมา รู้สึกว่าใส่เยอะไม่ได้ มันกลับจะต้องดึงออกหรือถอยออกมา เหมือนยิ่งใส่เพิ่มยิ่งตัน ต้องมีเวลาให้แก้วเราได้เอาน้ำออกบ้าง ไปทำอย่างอื่น ไปออกกำลังกาย พออายุ 40 แล้วชีวิตก็กลับมาเบสิก เข้าใจเลยว่าคนแก่ชอบปลูกต้นไม้เพราะอะไร ถ้าอายุ 20-30 เราจะคิดว่าน่าเบื่อ แต่พอ 40 แล้วก็ อ๋อ---เข้าใจแล้ว คือเราไม่ต้องการแรงกระตุ้นเยอะ เวลาเราแก้ปัญหาเรากลับต้องการการผ่อนคลายเพื่อเข้าถึงปัญหามากกว่าแรงกระตุ้นหรือแรงกดดัน”

ความจริงครั้งหนึ่งกชกรเคยได้ใช้ชีวิต ‘สโลว์ไลฟ์’ อย่างเต็มรูปแบบมาแล้ว เมื่อเธอตัดสินใจทิ้งงานในบริษัทภูมิสถาปัตย์ที่สหรัฐฯ ที่เธอทำอยู่หลายปีหลังจากเรียนจบ เพื่อกลับมาแต่งงานและอยู่เงียบๆ ที่เชียงราย แต่เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าหลังผ่านไประยะหนึ่งชีวิตสโลว์ไลฟ์ในครั้งนั้นรู้สึกว่างเปล่า และเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอหวนกลับเข้าสู่การทำงานในวงการภูมิสถาปัตย์อีกครั้งจนนำมาสู่การก่อตั้งบริษัท Landprocess และช่วงเวลาของการสร้างผลงานชิ้นสำคัญๆ ในเวลาต่อมา เหตุใดชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่เคย ‘ว่างเปล่า’ จึงกลายมาเป็นสิ่งที่เธอเข้าหาในวันนี้

“คิดว่าตอนนั้นมันทำไปบนพื้นฐานของการที่เรายังไม่รู้จักตัวเองดีพอ ว่าเราอาจจะไม่ต้องการชีวิตที่ช้าขนาดนั้น หรือจริงๆ แล้วในความสโลว์ เราอาจจะยังต้องการเห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่านั้นอีก ตอนนั้นเรียนจบฮาร์วาร์ด ทำงานออฟฟิศดังๆ อยู่เมืองนอก ฉันว่าฉันเจ๋งสุดแล้ว รู้สึกว่ามันสำเร็จมากเลย ฉันคงจะใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้แล้วเพราะประสบความสำเร็จแล้ว แต่กลับมามันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้มั่นคงทางการงาน ยังไม่ได้ทำอะไรให้มันสำเร็จจริงๆ แล้วพอดีมีเรื่องหย่าร้าง มีลูก เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็เลยเริ่มกลับมากรุงเทพฯ และทำศิลปะบำบัด ได้เห็นชีวิตผู้คน ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วจึงค่อยเริ่มกลับเข้าวงการออกแบบอีกครั้งหนึ่ง

…ความจริงตอนนี้เราก็ไม่ได้สโลว์ไลฟ์ เราแค่เอาจังหวะความสโลว์มาใช้ให้มันเกิดประโยชน์กับวัยทำงานของเรา เราไม่ได้ทิ้งทุกอย่าง เหมือนเด็กวัยรุ่นที่แพ็คทุกอย่าง ออกเดินทางค้นหาตัวเอง ตอนนั้นมีความคิดแบบนั้น แต่ตอนนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ ความจริงจะทำก็ได้แต่ไม่ได้คิดจะทำแล้ว มันเป็นมิตรกับตัวเองมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องไปหาตัวตน ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่เป็นมิตรกับตัวเองมากพอที่จะอยู่กับตัวเอง ยอมรับในความล้มเหลวของตัวเอง ช่วงวัยรุ่นมันรู้สึกว่าฉันไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่นี้ ฉันเลือกได้ แล้วก็คิดว่าสิ่งที่เลือกนอกตัวนั่นแหละคือตัวเอง แต่ตอนนี้รู้สึก เออ---เราก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าใครจะทำอะไร เราก็จะทำแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยความชอบ ความเหมาะสม หรือหลายเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบ เราเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง”

มรดกของแม่

ความเป็นมิตรกับตัวเองน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กชกรมองเห็นความเชื่อมโยงของประสบการณ์ต่างๆ กับตัวตนของเธอได้อย่างชัดเจน เธอเล่าถึงอิทธิพลของแม่และอิทธิพลของลูกสาวที่ล้วนเปลี่ยนแปลงเธออย่างมีนัยสำคัญ

“คุณแม่เป็น entrepreneur เป็นคนบุกเบิกทำธุรกิจ เป็นคนไม่ล้มเลิก แม่ทำโรงงานสีทาบ้าน แม่บอกจะทำอะไรเธอต้องเอาใจไปตั้งเอาไว้ แล้วเดี๋ยวมันก็จะทำสำเร็จ เคล็ดลับของคุณแม่มีแค่นี้เอง บ้านเราแต่ก่อนเป็นตึกแถว แล้วเราอยู่ด้านบน ข้างล่างคือเป็นที่ทำงาน เด็กๆ จะสงสัยว่าทำไมบ้านเราไม่สงบเงียบเหมือนบ้านคนอื่น ทำไมแม่ต้องตื่นลงไปทำงานแต่เช้าถึงดึก ไม่มีเวลาให้ลูก แต่มันก็เลยทำให้เราเห็นคุณค่าบางอย่าง เช่น เห็นความไม่ย่อท้อ ความเป็นระเบียบในงาน หรือการดูแลลูกน้อง สิ่งเหล่านี้มันซึมไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัว แม่ไม่ได้บอกว่าวันนี้เรียนรู้สิ่งนี้นะ แต่แม่ทำให้ดูทุกวัน มีรุ่นพี่คนหนึ่งเขาบอก ข้อดีของกชอย่างหนึ่งคือทำแล้วมันเสร็จ เราว่ามันมาจากเราเห็นแม่ทำงาน แม่จะทำอะไรก็ได้แต่มันต้องเสร็จ มันต้องจบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ทำแล้วค้างเอาไว้ ดังนั้น โครงการที่เรารับมาไม่ว่าอันไหนเราก็ต้องทำให้มันเสร็จ มันเป็นคุณสมบัติที่เราได้มาจากแม่มากๆ”

การมองเห็นมรดกแนวคิดและความเป็นตัวตนหลายๆ อย่างจากแม่ ยังทำให้กชกรในฐานะ ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ ยิ่งอ่อนไหวต่อสิ่งที่เธอจะได้ส่งผ่านไปให้ลูกสาววัย 12 ปี ทุกวันนี้บริษัท Landprocess อันเป็นที่ทำงานของเธอก็ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านไม่ต่างอะไรกับฉากของชีวิตในอดีตที่เธอเติบโตมา

“กชรู้สึกว่า มันก็ดีนะ มันทำให้ลูกเห็นว่าเราทำงานกันอย่างไร ไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี แต่เป็นลักษณะการทำงานแต่ละอาชีพที่มันไม่เหมือนกัน เขาไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เขาจะได้รู้ว่าเขาไม่ชอบ หรือเขาจะได้รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ ถ้าเขาเห็นแต่ด้านเดียว คือด้านที่แม่กลับบ้านมาเจอลูก มันก็อาจจะขาดมิติบางอย่างไป

…เวลาทำงานเดี๋ยวนี้เราไม่ได้คิดว่ามันคือโลกของเรา เรารู้สึกว่าเราทำให้โลกของคนในเจนเนอเรชันต่อไป คำพูดนี้มันอาจจะฟังแล้วปกติ ว่าเราจะส่งต่อเมืองที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ แต่พอมีลูก มันหมายถึงเรากำลังจะส่งต่อเมืองให้กับลูกเรา เรามักจะคิดว่าตอนเราอายุเท่านี้ ตอนนั้นเราเจออะไร แล้วถ้าเขาอายุเท่าเรา เขาจะต้องเจออะไร เขาจะต้องเจอโรคระบาดที่ตอนเด็กๆ เราไม่เคยเจอ PM 2.5 ก็ไม่มี น้ำท่วมก็ยังเล่นน้ำ ต่อเรือได้

กชรู้สึกว่าบางทีการยื่นข้อผูกขาด เช่น ต้องทำอย่างนี้ๆ มันเป็นอะไรที่ทำให้การสื่อสารมันจบลงเพราะยังไม่ได้คุยกันเลย ไม่ได้ถามเขาว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยในข้อต่างๆ จริงๆ เขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ สิ่งที่เราต้องการมากกว่าคือการหันหน้ามาคุยกันก่อน

…เวลาทำงานเสร็จแต่ละทีก็จะบอก ‘เยเช แม่สร้างสวนให้หนูมาวิ่งเล่นนะ’ เวลาปลูกต้นไม้ ก็จะรู้สึกแบบ เฮ้ย---เราปลูกต้นไม้ให้เขา เราสร้างอนาคตให้เขา เราปลูกทิ้งเอาไว้ เดี๋ยวพอเราไม่อยู่ เขาก็จะอยู่กับสิ่งที่เราปลูกไว้ให้ การปลูกต้นไม้มันเป็นการสร้างอนาคต มันไม่ได้คิดแค่ตัวเรา หรือคิดแค่เรื่องสั้นๆ การปลูกต้นไม้มันคือการมองเมืองในระยะยาว การมองชีวิตระยะยาว ใช่ไหมคะ”

เชื่อมโยงนอก-ใน

ไม่เพียงแต่กชกรจะพิจารณาชีวิตในมิติของความยาวเพื่อการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ประสบการณ์ในการเรียนศิลปะบำบัดและพุทธศาสนาแบบทิเบตที่สหรัฐฯ ในช่วงที่เธอกำลังฝึกงานยังทำให้กชกรเชื่อมโยงภูมิสถาปัตย์กับชีวิตในมิติของความลึกด้วย

“พุทธทิเบตต่างจากเถรวาทที่ไม่ซึมซาบเข้ามาในศิลปะและดนตรี เรารู้สึกว่าเราโตมากับวัฒนธรรมที่ผู้หญิงห้ามโดนพระ ผู้หญิงบวชไม่ได้ ผู้หญิงทำอะไรก็ไม่ได้ ทุกคนชื่นชมลูกชาย เราเลยรู้สึกทำไมผู้หญิงมีบาป ไปโดนพระนี่ทำให้พระอาบัติ เด็กๆ เราแอนตี้เลย ไม่ไหว้ ตอนหลังก็เริ่มเข้าใจว่าพระไทยเป็นสายอนุรักษ์ หน้าที่คือทำแก่นให้เป็นแก่น เพียงแต่ในบริบทเมืองที่ต่าง เพศที่ต่าง หรืออะไรที่มันต่างไป บางอย่างของการรักษาแก่นอย่างเดียว ไม่มีคำอธิบายมากกว่าข้อห้าม มันทำให้แก่นมันสึก

…ดังนั้น พอเราไปเมืองนอกและเริ่มศึกษาศาสนาพุทธในรูปแบบใหม่ เห็นพระมาโรยทรายทำ Sand Mandala เรารู้สึกว่าดีจัง มันมีมิติที่ปรับไปตามสภาพอากาศ พระจับเครื่องดนตรีไม่ได้เพื่อกิเลศแต่เพื่อช่วยเหลือผู้คน ไม่อาบัติ เราเลยเริ่มเข้าใจพุทธศาสนาในมิตินั้น แล้วเขาเชื่อมโยงพุทธเข้ากับศาสตร์ปัจจุบันเช่นการใช้ศิลปะไปบำบัดผู้ป่วย เราก็รู้สึกว่าเราชอบ เห็นคนเป็นมะเร็งออกมาทำศิลปะ เข้าถึงความตายด้วยการทำความเข้าใจตัวเอง รู้สึกว่าเป็นมิติที่ดีจังเลย อยากเรียนต่อทางนี้มากกว่าภูมิสถาปัตย์ด้วยซ้ำ บังเอิญติดฮาร์วาร์ดก่อน

…แต่พอสนใจศึกษาก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ มันคือเรื่องเดียวกัน ในทางจิตใจ มันไม่ได้มีกำหนดว่าอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้ ถูกไหมคะ ถ้าคุณมีพิธีกรรมคือการดมกาแฟตอนเช้าแล้วจิตใจสงบ มันก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับการนั่งสวดมนต์นับลูกประคำ หรือไม่ต่างกับคนที่วิ่งแล้วเขาได้อยู่กับตัวเอง state of mind ตรงนั้นสำคัญกว่า เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกัน ภูมิสถาปัตย์คือการออกแบบสถานที่เพื่อให้เกิดกระบวนการให้คนได้ผ่อนคลาย ได้ไปสวนสาธารณะหรือเจอต้นไม้ เพียงแต่ landscape มันเป็นภายนอกเข้าไปสู่ภายใน ส่วนการทำศิลปะมันคือการดึงภายในออกมาสู่ภายนอก เรื่องเดียวกันเลย แค่โจทย์คนละแบบ โจทย์เป็นคนเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายต้องการจะสื่อสารตัวเองออกมา กับโจทย์เป็นคนกลุ่มนี้ที่ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย หรือถูกไล่ที่มา จะทำอย่างไรดี เราก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปรับฟังและช่วยเขาออกมาเป็นรูปแบบที่แตกต่างกัน”

บทไม่สรุป

ในปัจจุบันที่สังคมดูจะกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดด้วยการสื่อสารที่ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างคนต่างรุ่น ต่างอุดมการณ์ หรือแม้แต่ต่างวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ในฐานะภูมิสถาปนิกที่ความสำเร็จของงานวางรากฐานอยู่บนการสื่อสารและการรับฟังที่ลึกซึ้ง น่าสนใจว่ากชกรมองว่าอะไรคือสิ่งที่ขาดหายไป

“กชว่าภาษากาย ภาษาใจ หายไป ภาษากายสำคัญนะ กชได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการทำศิลปะบำบัด คือการสื่อสารมันไม่ใช่แค่วัจนภาษา อวัจนภาษามันกินความมากกว่าถึง 70% สมมติคนมาชวนไปกินข้าว กชตอบ ไม่ไป ถ้ารับฟังแค่เสียง เราก็จะรู้สึกว่าเออ---เขาไม่ไป ไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้วคำว่า ‘ไม่ไป’ มันมีความลึกอะไรซ่อนอยู่ มันมีความงอนหรือเปล่า ความโกรธหรือเปล่า หรือความอยากให้ชวนอีกสามรอบ อะไรแบบนี้ กชรู้สึกว่าเรายังรับฟังกันไม่ลึกซึ้งถึงเนื้อหาที่แต่ละคนต้องการจะสื่อจริงๆ

…การสื่อสารทุกวันนี้ไปจบที่ข้อความ หรือคำบางคำของเด็กรุ่นใหม่ เราไม่ได้ฟังว่าจริงๆ แล้วเขาอาจจะต้องการอะไรอีกนอกจากที่เขาบอกออกมา เราเคยถามเขาไหมว่าเพราะอะไร เขาถึงมาด้วยสิ่งเหล่านี้ แล้วเราทำได้ดีขึ้นได้อย่างไร กชรู้สึกว่าบางทีการยื่นข้อผูกขาด เช่น ต้องทำอย่างนี้ๆ มันเป็นอะไรที่ทำให้การสื่อสารมันจบลงเพราะยังไม่ได้คุยกันเลย ไม่ได้ถามเขาว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยในข้อต่างๆ จริงๆ เขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ สิ่งที่เราต้องการมากกว่าคือการหันหน้ามาคุยกันก่อน

…เราไม่ควรไปสร้างบทสรุปในบทสนทนา หรืองาน หรือการออกแบบต่างๆ โดยที่เราไม่ได้มีเวลาคุย เช่น ถ้าโจทย์คือสวนสาธารณะในอีก 100 ปีข้างหน้า เราก็ควรมาคุยว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ใช่ไหม ถ้าเราเอาแค่สวนสาธารณะ มีลู่วิ่ง มีที่ออกกำลังกาย มีห้องน้ำ มีที่จอดรถ สีชมพู มีพระเกี้ยวอยู่ตรงกลาง 100 ปีพอดีเลย มันก็ตอบโจทย์ใช่ไหม แต่มันขาดความละเมียดของการจะได้มาซึ่งคำตอบ

…เราถึงได้ตั้งชื่อบริษัทว่า Landprocess ไม่ใช่ Landproduct เพราะกระบวนการสำคัญที่สุด การเดินทางสำคัญที่สุด ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง มันอาจจะทุกข์มากเลยกว่าจะได้ในสิ่งที่อยู่จุดหมายปลายทาง แต่ถ้าระหว่างทางหรือระหว่างกระบวนการมันมีอะไร มันอาจจะคุ้มก็ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว product ดูจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็อย่าให้บทสนทนามันไปถึงจุดที่ไม่ประนีประนอม หรือจุดที่ต้องเอาแบบนี้แล้ว ดีไซน์ต้องเป็นแบบนี้แล้ว

…ถ้าไม่คุยเราจะไม่เห็นมุมมองอื่น เพราะเรามองมุมเรา ตาเรามีแค่นี้ สมองเราก็มีเท่านี้ ทุกคนก็จะมีมุมของตัวเอง มันมีงานหนึ่งที่เราพยายามจะบอกเจ้าของว่าใช้พื้นที่เก็บน้ำแก้มลิงไว้เถอะ เขาบอก ไม่---เขาจะปล่อยน้ำให้ไปอยู่ที่กทม. ระบายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ เมืองมันก็ท่วม เราอุตส่าห์ออกแบบมาเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งนั้น แต่เขาบอกไม่ ก็เหมือนเราแพ้ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สุดท้ายวิศวกรที่แอบฟังทุกอย่างเขามาบอก ถ้าเราเอาท่อนี้ไว้ แต่เราทำแบบนี้ๆ มันจะตอบโจทย์ทั้งในมุมของเราและของเจ้าของโครงการ เราก็ โอ้โห---พี่คิดได้ยังไง สุดยอด คือเราไม่รู้หรอกว่าคำตอบจะมาเมื่อไหร่ บางทีมันไม่ได้เกิดมาจากสิ่งที่เราคาดคิด แต่เพราะเราตั้งใจฟังกัน

เราถึงได้ตั้งชื่อบริษัทว่า Landprocess ไม่ใช่ Landproduct เพราะกระบวนการสำคัญที่สุด การเดินทางสำคัญที่สุด ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง มันอาจจะทุกข์มากเลยกว่าจะได้ในสิ่งที่อยู่จุดหมายปลายทาง แต่ถ้าระหว่างทางหรือระหว่างกระบวนการมันมีอะไร มันอาจจะคุ้มก็ได้

…อีกครั้งหนึ่ง กทม. และ UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ไปทำประชาพิจารณ์ แล้วมีหัวหน้าชุมชนบอก มันมีโครงสร้างทิ้งไว้ 40 ปีนี่ ช่วยเอาไปใช้ๆ หน่อย เราดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เกิดไม่ทันนี่ ไม่ได้คิดว่ามันอยู่ตรงนั้น ถ้าเราไม่มีกระบวนการฟังแล้วฟันธงไปเลยว่า จะปรับปรุงตรงนั้นตรงนี้ เราก็จะไม่ได้คิดถึงโครงสร้างนี้ แต่พอเกิดการรับฟัง มันสุดยอดเลยนะคะ มันกลายเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก การคุยมันใช้ได้กับทุกฝ่าย บางคนอาจจะมองว่ามีผู้ใหญ่ไปหนุนเด็กอยู่หรือเปล่า แต่จริงๆ ถ้าเราคุยกับเขาตรงเราก็จะเข้าใจเขา ตรงกันข้าม ถ้าเราไปทำให้ message มันซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะทำให้เราไม่ได้คุยกัน”

ความสำเร็จ

ผลงานของกชกรมักมีขนาดใหญ่และสร้างขึ้นจากภาพรวมที่กว้างขวางของคำว่า ‘ภูมิ’ ซึ่งประกอบไปด้วยคน พืช สัตว์ เรื่อยไปจนถึงระบบนิเวศและดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งเป็นแปลงเกษตรในเมืองบนหลังคาเขียวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สวนสาธารณะลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากที่สหรัฐฯ แต่ใครจะนึกว่า สิ่งที่เธอภูมิใจที่สุดในวันนี้กลับเกิดจาก ‘หน่วย’ ในระบบนิเวศที่เล็กที่สุดอย่างลูกสาวของเธอ

“สิ่งที่ภูมิใจที่สุดอาจจะความเป็นแม่ เพราะรู้สึกว่ามันยากที่สุด มันยากเพราะมันไม่รู้ แล้วมันเป็นอะไรที่จริง ไม่ได้หมายความว่าการทำงานไม่จริงนะ แต่การทำงานมันก็ยังเป็นงาน พอมันต้องมารับผิดชอบชีวิตอีกคน 24 ชั่วโมง มันไม่เหมือนกัน มันไม่สามารถบอกว่าโปรเจกต์นี้ไม่ไหวแล้ว คุณวิศกรคะ---ช่วยหน่อย จริงๆ เรายังไม่ได้รู้สึกภูมิใจ มันเป็นบทบาทที่เรายังต้องโตไปกับมัน ถึงแม้ว่าเราจะบ้างานขนาดไหน แต่สุดท้ายถ้ามันจะล้มเหลวมันก็เป็นอีกแค่โปรเจกต์หนึ่ง แต่ถ้าคนคนนี้ล้มเหลว เขาคือลูกเรานะ มันไม่ใช่อะไรที่ถ้ามันรั่ว เอาไปแก้สิ เอาปูนฉาบไปสิ หรือปูกันซึมชั้นดีสิ มันก็เป็นอะไรที่มันท้าทาย แต่ถามว่าถ้าสุดท้าย ชีวิตใครมีไม่ล้มเหลวบ้างเราก็ต้องอยู่ในบทบาทที่ประคับประคองดูแลกันไป

…ทุกวันนี้เราเลี้ยงลูกแบบที่แม่เราเลี้ยง เราชอบที่แม่เราเลี้ยงเราแบบนี้ ตอนเด็กๆ เคยตั้งคำถามว่าทำไมแม่ไม่ไปรับไปส่งลูกเลย เหมือนพ่อแม่ปัจจุบันที่ค่อนข้างโอ๋ลูก แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น บางที่ลูกก็จะถามว่าทำไมแม่ไม่ทำอันนั้นให้บ้าง ทำไมแม่คนนั้นเขาทำแบบนี้ให้ เราก็จะบอกว่า นั่นแม่เขาน่ะลูก ไม่ใช่แม่ ไม่ได้โอ๋มาก เพราะสุดท้ายเวลาล้มก็จะได้หัดลุกเอง สักวันหนึ่งเขาจะเข้าใจ”

ชีวิตที่น่าจดจำ

กชกรเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Monocle ไว้ว่าภาพยนตร์ประเภทที่เธอชื่นชอบก็คือหนังชีวประวัติบุคคลสำคัญอย่างเช่น Frida (ประวัติศิลปินหญิงชาวเม็กซิกันฟริดา กาโล) หรือ Bohemian Rhapsody (ประวัตินักร้องนำวงควีนส์เฟร็ดดี เมอร์คูรี) เพราะช่วยแสดงให้เห็นว่าคนๆ หนึ่งเป็นอย่างที่เป็นได้อย่างไร แต่ส่วนตัว กชกรดูให้ความสนใจน้อยมากว่าชีวิตจะกลายไปเป็นชีวประวัติที่คนจดจำได้หรือไม่ (แม้ว่าในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ก็ได้นำประวัติชีวิตวัยเด็กกับการทำงานเรื่องน้ำเธอไปทำหนังสั้นในซีรีส์ She’s Mercedes เรื่อง To Live with Water แล้วก็ตาม)

“เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากถูกจดจำ เราอยากมีโอกาสสร้างงานดีๆ ไปเรื่อยๆ นะ แต่มันก็คนละเรื่องกับการอยากถูกจดจำ พ่อเราชอบบอกว่าทำไมเราต้องไปแคร์คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ซึ่งมันดูเหมือนโหดร้ายหรือเย็นชา แต่จริงๆ ชีวิตมันก็แค่นั้น กชว่าถ้าเราทำงานเพื่อ achievement เราจะทุกข์ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่เราเชื่อและมันจะดีกับคนอื่นได้ achievement มันจะตามเรามาเอง โอเค---เราสร้างสวนสาธารณะเสร็จแล้วถ้ามันไม่มีใครพูดถึงเลย เราก็ทุกข์ แต่ไม่ใช่รูปแบบที่ว่าไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นคนออกแบบ แต่เราทุกข์ว่าไม่มีใครรู้ว่ามันถูกคิดมาด้วยอะไร ทำไมมันต้องเอียง ทำไมมันรับน้ำ ทำไมมันต้องสู้กับ climate change แต่ไม่ได้ทุกข์เพราะตัวเราอยากถูกจดจำ เราเห็นความตายของแม่เรา ถามว่ามีใครจดจำแม่เราได้บ้าง คือเราจำแม่เราได้ ลูกเราก็จำได้ แต่ลูกของลูกเราจะจำแม่เราได้หรือเปล่า ดังนั้น เราทุกคนคงถูกลืมตามกาลเวลา เราไม่รู้จะอยากถูกจดจำไปเพื่ออะไร แต่ถ้าคนเดินผ่านต้นไม้ที่เราปลูกหรือสถานที่ที่เราออกแบบไว้แล้วเขารู้สึกดีกับตัวเอง กับครอบครัวของเขา เหมือนมันเป็นฉากหลังที่ดีของชีวิตเขา แค่นี้ก็พอ”

แม้กระทั่งความล้มเหลวก็เป็นสิ่งที่กชกรยักไหล่ให้ พอๆ กับความสำเร็จ

“เราไม่คิดว่าอะไรที่ทำล้มเหลว ไม่อยากกลับไปแก้อะไรเลย คิดว่าดีแล้วที่มันเกิดขึ้น แม้ว่าตอนที่มันเกิดเราจะทุกข์สุดๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องชีวิตครอบครัว หรือเรื่องอะไร คนเราต้องมีบทเรียน ไม่งั้นเราก็จะไม่เป็นเราแบบนี้ ไม่งั้นเราก็อาจจะเป็นเราที่ไม่เข้าใจผู้คนก็ได้ ไม่งั้นเราก็อาจจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจความทุกข์ก็ได้ โอเค---ถ้าขอแก้ได้จริง สิ่งเดียวที่จะขอก็อาจขอให้แม่อยู่ยืนยาว แต่พอแม่เสียไปเราก็ทำความเข้าใจว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องไม่อยู่เหมือนกัน แล้วชีวิตที่เหลือจะทำยังไง จะสอนอะไรลูกในวันนี้เพื่อเขาจะดำเนินชีวิตได้ในวันที่ไม่มีเรา กับเวลาที่เหลือเราเลยรู้สึกว่าเราอยากทำโปรเจกต์ที่เราอยากทำ มากกว่าที่เป็นโปรเจกต์ที่ทำก็ได้ เอาเข้าจริงๆ ใครจะกลับไปแก้ไขความล้มเหลวได้ มันไม่มี แต่ว่าเราจะอยู่กับมันยังไงมากกว่า ให้เป็นมิตรกับตัวเอง”

หนึ่งในแนวคิดสำคัญของอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชิ้นเอกของกชกร ก็คือการเปลี่ยนสวนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) เพื่อรับเอาน้ำฝนปริมาณมหาศาลมาใช้ประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงพืชพรรณในหน้าแล้งและเติมเต็มสระน้ำไว้เป็นที่หย่อนใจสำหรับผู้คน แทนที่จะเป็นแต่เพียงการกั้นและระบายน้ำออกไปทางอื่นดังที่เป็นมาในอดีต เป็นไปได้ว่ากชกรกำลังใช้เทคนิคเดียวกันกับสวนในการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต น้ำที่ท่วมท้นเข้ามาอาจไม่สบายตัวนัก แต่เมื่อผ่านไปแล้วก็ทิ้งความอุดมสมบูรณ์ไว้แก่ดินทรายที่อยู่เบื้องหลัง ในวิดีโอเท็ดทอล์ค เธอพูดติดตลกว่า “เมื่อชีวิตให้น้ำท่วมมา คุณต้องเล่นน้ำให้สนุกไปเลย”

จะเป็นความเป็นมิตรกับตัวเอง หรือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ตาม สำหรับกชกรแล้ว มันคือเรื่องเดียวกัน