SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Good Fight
การต่อสู้บนเส้นทางการเมืองกว่า 5 ทศวรรษของชวน หลีกภัย ในวัย 82 ปี สิ่งใดที่เปลี่ยนไปหรือไม่เปลี่ยนแปลง
นามของชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน มักถูกเล่าขานพร้อมกับคำว่า ‘บารมีทางการเมือง’
แม้จะไม่มีนิยามชัด แต่อาจกล่าวได้ว่า สิ่งนี้ คือสิ่งที่ทำให้เสียงนุ่ม เรียบ สุภาพของเขา หยุดโวหารไฮสปีดดุเดือดของขาประจำในสภา ไม่ว่าขั้วฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ได้อย่างกับน้ำรดไม้ขีดไฟ และอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อของเขามักไม่เคยไปไกลจากคำเสนอทางออกเวลามีทางตันทางการเมือง ไม่ว่าจะในรูปของรายชื่อนายกฯ คนนอก หรือคณะกรรมการสมานฉันท์
ภายหลังการประกาศชื่อชวน หลีกภัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 แกนนำขั้วฝ่ายค้านอย่างปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) และสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ล้วนเดินเข้ามาแสดงความยินดีกับชวน กระทั่งสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ที่ขับเคี่ยวกับชวนเพื่อชิงตำแหน่งประธานสภาฯ จนเป็นข่าวคึกโครมช่วงนั้น ยังกล่าวชื่นชมชวนในเวลาต่อมาว่า
“ด้วยบารมีของท่านสามารถทำให้ภาพพจน์ของสภาฯ และนักการเมืองดีขึ้น อย่างกรณีการประชุมทุกครั้ง ท่านอบรมไป ไม่มีใครกล้าตอแย แต่ถ้าเป็นผมโดนสวนตลอด เพราะบารมีมันต่างกัน...ต้องยอมรับว่าผมโชคดีที่ได้ท่านมาเป็นเบอร์หนึ่ง ไม่อย่างนั้นขึ้นไปตรงนั้นผมคงโดนน่วมไปแล้ว”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘บารมี’ ของชวน หลีกภัย คือผลลัพธ์ของการอยู่คู่การเมืองไทยมาอย่างเต็มอัตราในทุกมิติ
หากจะพูดกันถึงระยะเวลา ด้วยวัย 82 ปี และการได้เป็น ส.ส. ตั้งแต่อายุ 30 ปี ชวน หลีกภัยคือผู้มีพรรษาทางการเมืองมากที่สุดในรัฐสภาปัจจุบัน และเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญมามากฉบับที่สุด
หรือหากจะพูดกันถึงความหลากหลายของบทบาท ชวน หลีกภัย เริ่มชีวิตการเมืองตั้งแต่เป็นผู้สมัคร ส.ส.ตัวสำรองของพรรคประชาธิปัตย์ มาสู่การเป็น ส.ส. 16 สมัย ตลอดจนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน 3 สมัย รัฐมนตรี 7 กระทรวง นายกรัฐมนตรี 2 สมัย กระทั่งการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสมัยที่ 2 อย่างในปัจจุบัน
ในที่สุด หากจะพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ชวน หลีกภัย เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีในยุคสมัย ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัย ‘เผด็จการ’ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ และเป็น ‘นายกฯ จากการเลือกตั้ง’ ในปี 2535
ในวันนี้ ภาพลักษณ์ประชาธิปไตยของชวนถูกเจือปนอย่างช่วยไม่ได้จากการที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งถูกมองว่าสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร แต่ชวนพูดชัดในทุกเวทีถึงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และครั้งหนึ่ง ตัวเขาเองก็เคยต้องเจ็บจากการถูกเผด็จการขับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ถูกปรักปรำว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนนำไปสู่การเขียนหนังสือชื่อ ‘เย็นลมป่า’ บอกเล่าทุกข์เข็ญของชาวบ้านต่างจังหวัด ในยามที่การบริหารอันผิดพลาดของผู้มีอำนาจทำให้ประเด็นความเห็นต่างทางการเมืองบานปลายไปจนเป็นความรุนแรงที่กระทบถึงเสรีภาพและชีวิต อย่างที่เขาเคยปราศรัยไว้ในปี 2522 ว่า “พี่น้องที่เคารพ ท่านที่อยู่ในที่นี้รวมทั้งผมด้วย เราทุกคนเป็นซ้ายเป็นขวาได้ทั้งนั้น ถ้าเมื่อไหร่เราถูกบีบจนไม่มีจุดที่จะยืน ผมไม่ลืมหลัง 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มคนบางกลุ่มขึ้นมาประณามใครต่อใครว่า ไอ้นี่กากเดนทรราช ไอ้นี่ศักดินา ไอ้นี่เต่าล้านปี พรรคประชาธิปัตย์เองถูกประณามว่า เป็นพวกเต่าล้านปี เป็นพวกขวา เพราะหัวหน้าพรรคเป็นม.ร.ว. ผมไปสืบ เราสูญเสียคนที่อยู่ตรงกลางไปเป็นจำนวนมาก เพราะความเข้าใจผิด รีบร้อนประณาม ผลักดันคนให้เป็นซ้ายขวา และเขาก็ได้สัมฤทธิผลตามที่ต้องการ คือคนเหล่านั้นไม่มีจุดที่จะยืน เขาจะยืนตรงไหน ตรงไหนก็ได้ที่มีที่ว่าง ที่ไหนละครับที่จะว่างมากกว่าที่ในป่า”
ในวันนี้ปัญหาความแปลกแยกอันเกิดจากจินตนาการทางการเมืองที่แตกต่างกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และแนวปะทะครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ชายป่าอีกต่อไป แต่ย้ายเข้ามาถึงใจกลางกรุง
เป็นไปได้หรือไม่ว่าความเห็นของผู้เขียน ‘เย็นลมป่า’ จะช่วยระงับอาการ ‘ร้อนไฟเมือง’ ไม่ให้ลุกลามบานปลายไปมากกว่าเดิม
เย็นลมป่า
ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อันกล่าวได้ว่าเป็นรอยแผลอัปลักษณ์ที่สุดของสังคมไทยที่กำเนิดจากความเห็นต่าง ชวน หลีกภัยกำลังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช การอยู่ในพรรคที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ขวา’ ไม่อาจช่วยอะไร ในสถานการณ์ที่การปลุกปั่นทางการเมืองดำเนินไปถึงจุดที่ข้อเท็จจริงไม่มีความหมาย ชวน หลีกภัย ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จากวิทยุยานเกราะ ช่องทางการสื่อสารหลักของกลุ่มขวาจัด ยืนยันจากเพียงเหตุว่าจังหวัดตรังอันเป็นเขตเลือกตั้งของชวนไม่มีการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน ทั้งที่ความจริงแล้วจังหวัดตรังก็มีลูกเสือชาวบ้าน และชวนก็คือหนึ่งในผู้สนับสนุนตลอดมา
“มันเหมือนโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนี้ วิทยุยานเกราะประกาศว่าจังหวัดตรังไม่มีลูกเสือชาวบ้านเพราะผู้แทนเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ปกติเวลาอบรมลูกเสือชาวบ้าน พวกผมเป็นคนออกเงินค่าข้าวสาร เขาจัดคนมาไล่ที่ทำเนียบ ในที่สุดพอตอนเย็น นายตำรวจติดตามอาจารย์ดำรง ลัทธพิพัฒน์ (ที่โดนกล่าวหาด้วยกัน) ก็พาออกไปจากทำเนียบไปนอนบ้านภรรยาท่าน วันต่อมาก็ไปอีกบ้านหนึ่ง หลบไปนอนตามบ้านต่างๆ อยู่เป็นเดือน เป็นหนี้บุญคุณหลายคนที่ไม่รู้จักเรา แต่มีน้ำใจมาก บางคนที่รู้จักสนิท กลับไม่กล้า เขากลัว คล้ายๆ ว่าให้ช่วยยังไงก็ได้ แต่ขออย่างเดียวอย่ามาที่บ้าน ที่ตกใจหน่อยก็คือพ่อแม่ เพราะคนต่างจังหวัด ไม่เคยมีตำรวจมาค้นบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร วันเวลาก็พิสูจน์ หลายเรื่องบางทีมันต้องใช้เวลาพิสูจน์”
การถูกกล่าวหาและการต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำให้ชวนกลับไปใช้ชีวิตเป็นทนายในจังหวัดตรัง เขาเริ่มเขียนบทความในชุด ‘เย็นลมป่า’ ลงในนิตยสารพาที ของขรรค์ชัย บุนปาน ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงตามวิถีประชาธิปไตยมากกว่าหนีเข้าไปสู้จากในป่า ซึ่งปรากฏว่าลงไปเพียงตอนเดียวก็มีเสียงตอบรับล้นหลาม ดังที่ขรรค์ชัยบันทึกไว้ว่า “ข้อเขียนของชวนทันทีที่ปรากฏออกไป ได้มีเสียงสะท้อนกลับมาดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก นัยว่าเป็นผู้ปรารถนาดี ขอร้อง พยายามให้ยกข้อเขียนของชวนออกเสีย ถามถึงเหตุผลก็ได้รับคำตอบว่า เพื่อที่ พาที จะได้อยู่นานๆ ประเด็นที่สอง มากไปด้วยเสียงกล่าวขวัญชื่นชมว่า เพชรอีกเม็ดหนึ่งได้พรายแสงเหนือป่าอักษรแล้ว เป็นเพชรที่ได้รับการเจียระไนมาแต่กำเนิด ข้อเขียนชวนคมมีคุณค่า และเป็นประสบการณ์ที่คนอื่นไม่มี…” (พาที, ตุลาคม 2520) น่าสลดใจว่า ประสบการณ์ที่คนอื่นไม่มีของชวนที่ว่านั้น ที่จริงคือการต้องรับรู้เรื่องราวความสูญเสียของชาวบ้าน ไม่ว่าจากฝีมือคอมมิวนิสต์ในป่า หรือการระแวงสงสัยของทางบ้านเมือง หนังสือ ‘เย็นลมป่า’ ของชวน ไม่ใช่เรื่องบรรยากาศสบายของลมชนบท มากเท่ากับความยะเยือกที่ชาวบ้านต้องรู้สึกจากการที่รัฐไม่สามารถคุ้มครอง ซ้ำยังทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นศัตรูกันเอง
“มีข้าราชการคนหนึ่งย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดที่ตรัง ท่านเคยอ่าน ‘เย็นลมป่า’ พอเจอหน้าผมก็พูดทำนองว่า ปัญหามันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ผมเลยถามว่า ท่านมานานหรือยัง ท่านบอกเพิ่งมา แต่ก็ติดตามปัญหาอยู่ ผมเลยบอกท่านอยู่นานๆ นะ สุดท้ายท่านถูกระเบิดตาย วันที่เกิดเหตุ ตอนท่านรู้ตัวก็ไม่มีทางไปแล้ว ท่านไปดูแลแพทย์อาสาของสมเด็จย่าที่มาตรวจคนไข้ในพื้นที่ แล้วก็มีคนเข้ามาเตือนแพทย์ว่าให้รีบๆ รักษาแล้วกลับ ท่านก็เริ่มรู้ตัว แต่เป็นเวรท่านต้องดูแลจนคนกลับหมด ท่านดื่มเหล้าย้อมใจ เพราะรู้ว่าเส้นทางกลับต้องมีปัญหาแน่ ในที่สุดเหมือนจะพาเด็กใส่รถมาด้วยคนหนึ่ง เพื่อป้องกันเหตุ แต่คนร้ายก็ไม่สนใจ รถวิ่งไปถึงจุดหนึ่งเขาก็กดระเบิดตูม ท่านไม่ตาย คลานลงมาจากรถ แต่คนร้ายรออยู่ก็ไปยิงซ้ำ วันที่ทำศพที่วัดมกุฏฯ ผมไปเผา เสียดาย ท่านว่าไม่มีอะไร แต่เรารู้ของจริงมันคืออะไร เราอยู่ในพื้นที่ทำไมจะไม่รู้”
ตอนหลังมีบางคนซื้อตั๋วโนราห์ 3 บาท แต่พอผมพูดจบ เดินออก โนราห์เติมเขาก็เห็นว่านี่คนมาฟังนายชวนพูด ทีนี้ไปเล่นที่ไหนเขาก็ให้ไปด้วย จบโนราห์ผมก็ไปหนังตะลุง นอนอยู่ใต้โรงหนังจนเที่ยงคืนเพื่อขอนายหนังพูดห้านาที
เรื่องราวนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายเรื่องราวที่ชาวบ้านมาเล่าให้ชวนฟัง บางคนถึงขนาดมาค้างแรมที่บ้านแม่ของเขาหลายๆ คืนเพื่อรอระบายความเดือดร้อนกับชวนเมื่อเขาปิดสมัยประชุมสภาในกรุงเทพฯ และกลับไปยังจังหวัดตรัง ความเข้าใจแนบแน่นเรื่องทุกข์ของชาวบ้านคือสิ่งที่สร้างชื่อให้เขาในฐานะนักการเมืองมาตั้งแต่เมื่อแรกสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดตรังเมื่อปี 2512 เมื่ออายุได้ 30 ปี
“สมัยแรกๆ ที่หาเสียง เวลาพูดกับชาวบ้าน เราก็พูดปัญหาของพื้นที่ ทำไมเรากินข้าวสารแพง เราเป็นนักกฎหมาย เรารู้ว่ามันแพงเพราะมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำข้าวสารไปจังหวัดตรัง หรือจังหวัดที่ติดทะเล เราก็รู้ว่าต้องยกเลิกกฎพวกนี้ ประเด็นเหล่านี้มันถึงใจคน เพราะเขาต้องซื้อข้าวสารกินทุกวัน แล้วพอได้เป็นผู้แทน ผมก็ทำให้เขาจริงๆ ผมไปพบท่านอาจารย์บุญชนะ อัตถากร รัฐมนตรีพาณิชย์สมัยนั้น เพื่อขอยกเลิกระเบียบ พอเลิกระเบียบปุ๊บ ข้าวสารก็พรึบเลย ราคาที่เคยสามบาท ก็เหลือสองบาทห้าสิบ มันไม่ต้องจ่ายผู้ว่า ไม่ต้องจ่ายผู้กำกับ ไม่ต้องจ่ายพาณิชย์ ไม่ต้องจ่ายนายอำเภอ ไม่ต้องจ่ายใครอีกแล้ว ห้าสตางค์สิบสตางค์ก็ไม่ต้อง ความเป็นผู้แทนมันต้องเอาใจใส่ปัญหาของชาวบ้าน
…นักการเมืองสมัยก่อนไม่มีปราศรัย เขาเลี้ยงเหล้ากันอย่างเดียว ผมก็กะว่าต้องใช้แนวปราศรัย ออกเดินตระเวนไปทั่วทั้งเมือง แต่ประเมินผิด ที่ภาคใต้สวนยาง 20 ไร่ถึงจะมีบ้านหนึ่งหลัง วันหนึ่งได้แค่ไม่กี่หลัง ในที่สุดก็พูดปราศรัยที่ร้านขนมจีน มีคนฟังแปดเก้าคนก็เอา ตอนหลังไม่ไหวอยู่ดี ก็เลยไปหาโนราห์ชื่อดัง โนราห์เติม ไปขอพูด ท่านบอกไม่ได้หรอกไอ้น้อง เดี๋ยวคู่ต่อสู้น้องมันจะปาโรงเอา ผมก็ถือโปสเตอร์ไปหาภรรยาท่าน ภรรยาเห็นก็โอ้---ไอ้น้องมันสองปริญญา เลยสั่งโนราห์เติมให้ยอมให้เราพูด แค่สามนาที แต่ว่าสามนาทีมันมีความหมาย แนะนำตัวกับคน 500 คน ถ้าเดินต้องใช้เวลาหลายวัน นี่แค่ไม่กี่นาที ตอนหลังมีบางคนซื้อตั๋วโนราห์ 3 บาท แต่พอผมพูดจบ เดินออก โนราห์เติมเขาก็เห็นว่านี่คนมาฟังนายชวนพูด ทีนี้ไปเล่นที่ไหนเขาก็ให้ไปด้วย จบโนราห์ผมก็ไปหนังตะลุง นอนอยู่ใต้โรงหนังจนเที่ยงคืนเพื่อขอนายหนังพูดห้านาทีตอนพัก วันหนึ่งก็ได้พบคน 700-800 คน มันก็มีผล คนลือลั่นว่านายชวนพูดดี เสียงก็ขึ้น วันสุดท้ายที่ผมมาพูดหาเสียง คนมา 20, 000 คน วันเลือกตั้งผมก็เลยชนะ คนเขาสนใจว่าแปลกไปจากคนอื่น จบเนติบัณฑิต มาสมัครผู้แทน เสื้อหาเสียงก็ใส่เสื้อครุยเนติบัณฑิต ปกติคนที่จบเนติบัณฑิตจะไปเป็นผู้พิพากษา ทำไมมาสมัครผู้แทน”
พื้นเพห่างไกล
ความสนใจที่ชาวบ้านมีให้แก่ผู้สมัครหน้าใหม่นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะย้อนหลังไปหลายสิบปีในสังคมชนบทอันห่างไกลของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องสามัญนักที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจะอุตสาหะศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีและเนติบัณฑิตจากกรุงเทพฯ ทั้งยังเลือกที่จะใช้คุณวุฒินั้นเพื่อทำงานการเมืองอันมีภาพลักษณ์ขมุกขมัว แทนที่จะเจริญเติบโตไปในสายอาชีพอันทรงเกียรติของการเป็นผู้พิพากษา การเมืองจะมีอนาคตสักเท่าใด ในเมื่อความเป็นเมืองยังเรียกว่ามีอยู่น้อยเต็มที
“ผมเกิดในช่วงที่บ้านเมืองยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา ไม่มีทีวี อย่างดีก็มีวิทยุ ซึ่งเราได้ยินถ่ายทอดในจังหวัด เด็กยังไม่สวมรองเท้า บ้านคนทั่วไปยังไม่มีส้วม คนมีอันจะกินในตลาดมีส้วม แต่ว่าไม่ใช่ส้วมหลุม ยังเป็นส้วมที่เทศบาลต้องมาเอาไปเก็บไปฝังในสวนยางตอนดึกๆ เป็นยุคสมัยที่คำว่าคนขอทานไม่มี เขาเรียก ‘จีนขอทาน’ เพราะมีเฉพาะคนจีน แล้วการขอทานก็ไม่ใช่ขอเงิน แต่ขอข้าวสาร ความแตกต่างเหลื่อมล้ำไม่ค่อยเห็น เพราะมันก็เหมือนๆ กัน เด็กเลิกเรียนแล้วก็แก้ผ้าวิ่งกัน จนกระทั่งรู้หมดว่าเด็กคนไหนสะดือจุ่นไม่จุ่น แล้วเด็กที่สะดือจุ่นเราก็อิจฉาเขา เพราะมันแขวนเส้นยางได้ เราสะดือไม่จุ่น แขวนไม่ได้ แม่ชอบคุยว่า ลูกแม่สะดือสวยทุกคน ผมก็ถาม สวยยังไงแม่ แขวนยางก็ไม่ได้
…ภาพที่จำได้คือหน้าแล้ง ยางรุ่นก่อนมันจะมีใบเหลืองใบแดง เวลาเปลี่ยนสีจะเห็นแดงเหลืองไปทั้งหมดเหมือนต้นเมเปิ้ลที่เมืองนอก พอใบมันร่วงเด็กๆ ก็วิ่งไล่จับกัน หรือหน้าผลไม้ค้างคาวมันจะบินไปกินผลไม้เต็มท้องฟ้า มืดไปหมด รุ่นผมยังไม่มีตะเกียงน้ำมันก๊าด เวลาดูหนังสือจะต้องจุดไต้ คือน้ำมันยางผสมกับเปลือกไม้ แล้วก็ต้องคอยเขี่ย ไม่งั้นมันจะดับ สมมติปูเสื่อแล้วนอนอ่านหนังสือล้อมไต้อันนี้ ก็ต้องคอยผลัดกันเขี่ย ควันมันดำ จมูกดำไปหมด สมัยนั้นไม่รู้จักไอมลพิษ เพราะฉะนั้นควันดำนี่โก้ ไปโรงเรียนอวดเพื่อน ใครจมูกดำกว่า แสดงว่าเมื่อคืนดูหนังสือมาก นี่คือสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้น ไม่ใช่ของแปลก ทั่วประเทศก็เป็นอย่างนี้
...ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ค่อยสนใจเรียนหนังสือ เล่นมากกว่า เป็นเด็กกิจกรรม กลางคืนก็ไปเขียนป้ายโรงหนัง หรือไม่ก็ไปวงดนตรี ผมเป่าแซกโซโฟนได้ตอนเรียนมัธยม เพื่อนเอามาให้ยืม จับไม่กี่วันก็เป็น มือไม้มันเร็ว ความจำดี พอเข้ามาธรรมศาสตร์ก็ยังเล่นอยู่พักหนึ่ง แต่เล่นสู้เขาไม่ได้ เพื่อนที่เล่นอยู่ในวงบางคนอยู่วงออมสิน ดังนั้น ไม่กี่วันมีคนมาเอาเครื่องเราไป เราไม่มีปัญญาซื้อ ก็เลยทิ้งไปเลย ผมมาซื้อแซกโซโฟนของตัวเองเอาตอนเป็นนายกฯ แล้ว นึกว่าเราพร้อม ซื้อเครื่อง Selmer อย่างดีที่สุด ราคาเกือบครึ่งแสน และไปขอให้อาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านแซกโซโฟนมาช่วยสอน แต่ลืมนึกไปว่า วัยเปลี่ยนแล้ว มือไม้มันไม่เหมือนเดิม ความจำไม่เหมือนเดิม เมื่อมีความพร้อมด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ไม่พร้อมแล้ว เลยพยายามอธิบายให้เด็กรุ่นหลังฟังว่าเคล็ดลับที่สุดในชีวิตก็คือ วัยที่เอื้ออำนวยให้ทำอะไรได้ ทำอะไรได้ ให้ทำเสียตอนนี้ อย่ารอให้ทุกอย่างพร้อม ถ้าจำเป็นต้องเสียเงิน ก็ไปหาเงิน ถ้ารู้อย่างนี้ ตอนเด็กผมก็จะยืมเงินสักสามสี่พันบาทซื้อแซกโซนโฟนมาฝึก เรามารู้ตัวเมื่อมันสายไปแล้ว เสียดายมาก ตอนนี้เป่าเป็นครับ แต่ไม่เก่ง เวลาก็ผ่านไป”
กฎหมาย-การเมือง
อย่างไรก็ตาม หากใครได้ทราบประวัติชีวิตช่วงต้นของชวน หลีกภัย คงเห็นตรงกันว่าชีวิตของเขาห่างไกลกับการ ‘รอให้ทุกอย่างพร้อม’ เดิมทีเดียว เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนตรังวิทยา บิดาของชวนต้องการส่งเขาไปเรียนที่ปีนัง แต่รออยู่ 2 ปีก็ยังไม่สามารถเก็บเงินได้เพียงพอ ชวนซึ่งมีฝีมือในทางการวาดรูปจึงสอบชิงทุนครูวาดเขียนมาเข้าโรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเข้าโรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่มีอะไรง่ายสำหรับเด็กต่างจังหวัดไร้ญาติ ที่มีเพียงกางเกง 3 ตัว เสื้อ 3 ตัว รองเท้า 1 คู่ ถุงเท้า 2 คู่ และหนังสือในกระเป๋าใบเดียว แต่ต้องเข้ามาเรียนในกรุง
“ตอนมาเรียนกรุงเทพฯ ไปอยู่หอพักได้ไม่กี่วัน เพราะว่ามันไม่มีเงิน ต้องดิ้นรนหาวัดอยู่ ญาติพี่น้องก็ไม่มี ครูที่จังหวัดตรังคนหนึ่ง ท่านจบจากธรรมศาสตร์ ท่านก็เขียนจดหมายฝากผมไปตามวัดต่างๆ แต่ไม่มีวัดไหนรับ เพราะเขาไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน ผมอุตส่าห์สืบจนรู้ว่าวัดนี้ๆ มีเจ้าคุณมาจากปักษ์ใต้ด้วยกัน แล้วไปกราบขอที่นอน แต่ด้วยความเป็นเด็กบ้านนอกมันตื๊อไม่เป็น หลวงพ่อถามมาจากไหน บอกมาจากตรัง แล้วใครฝากมา บอกมาเอง เออ---มาเองไม่มีห้องให้อยู่ แทนที่เราจะตื๊อ เราก็กราบลาเลย ไปวัดอนงคาราม ท่านก็ไม่รับ แต่เขียนนามบัตรไปฝากวัดอมรินทร์ให้ เดินหาก็ไม่เจออีก เพราะวัดอมรินทร์ถูกระเบิดสมัยสงคราม ไม่มีร่องรอยวัด ดีไปเจอเด็กวัด ทีนี้เลยไปหาหลวงพี่ เอานามบัตรไปให้ท่าน หลวงพี่ก็บอกว่า ไอ้ห่า---เอ็งจะอยู่ยังไง ห้องมันเล็กแค่นี้ เราก็เออจริง ห้องเล็กแค่นี้ พระนอนแล้วนอนด้วยยังไง ก็กราบลาท่าน แต่เดินไม่ทันพ้นวัด หลวงพี่บอก ยังไม่ได้ถามว่าชื่ออะไร ผมก็บอกชื่อชวน พระบอก ไอ้ห่า---เอ็งชื่อเหมือนข้านี่หว่า พระชื่อชวน สงวนวงษ์ นั่นแหละท่านถึงให้อยู่ หลวงพี่ให้นอนนอกชาน ผมดูสภาพหลังคาก็ถามว่าหลวงพี่ แล้วถ้าฝนตกทำยังไง หลวงพี่บอกฝนตกก็เปียกไง แต่ตอนนั้นเรามันหมดสภาพ ไม่มีอะไรเลย คิดอย่างเดียว อะไรก็ได้ขอให้มีที่อยู่”
ลืมนึกไปว่า วัยเปลี่ยนแล้ว มือไม้มันไม่เหมือนเดิม ความจำไม่เหมือนเดิม เมื่อมีความพร้อมด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ไม่พร้อมแล้ว เลยพยายามอธิบายให้เด็กรุ่นหลังฟังว่าเคล็ดลับที่สุดในชีวิตก็คือ วัยที่เอื้ออำนวยให้ทำอะไรได้
โชคดีที่เมื่อแก้ปัญหาที่อยู่ที่นอนได้ ณ โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรนี่เอง ได้กลายเป็นแหล่งให้ชวนฝึกชั้นเชิงศิลป์กับบรรดาครูบาอาจารย์ที่ต่อมาได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ (ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยชวน ครั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2527) อาทิ อาจารย์สุวรรณี สุคนธา หรืออาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ จนชวนมีฝีมือพอจะรับจ้างเขียนฝาผนังหารายได้ส่งเสียตัวเองและน้องๆ เรียนหนังสือ อีกทั้งยังช่วยให้เขาได้เรียนเสริมด้านวิชาสามัญ จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามความฝันของบิดาที่ต้องการให้เขาเป็นผู้พิพากษา และนำเขาไปสู่การค้นพบตัวตนในฐานะนักการเมือง
“ความรู้ที่เรียนจากโรงเรียนเตรียมศิลปากรก็เป็นเครื่องมือในการหากินระหว่างเรียน ผมยังเคยไปรับจ้างเขียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีคนไปรับเขียนแล้วก็ให้พวกเราไปรับจ้างต่อ ให้หลาละ 90 บาท ได้เงินพวกนี้มาเลี้ยงตัวเอง ที่บ้านส่งไม่ไหว น้องต่อจากผมมาเรียนจุฬาฯ หลังจากนั้นก็เป็นน้องสาวมาเรียนจุฬาฯ น้องอีกคนก็มาเรียนเกษตรฯ น้องอีกคนก็มาเรียนธรรมศาสตร์ น้องสุดท้องก็มาเรียนจุฬาฯ พวกเราก็เลยต้องรีบจบ รีบหาเงิน ผมก็เริ่มหาเงินส่งน้องตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนปีสี่ เริ่มไปรับจ้างว่าความ เขียนรูป มันก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเรียนอะไรมาก เมืองนงเมืองนอกไม่อยู่ในความคิด มันไม่มีทางเป็นไปได้ มันต้องดูแลน้องขึ้นมาทีละคนๆ ผลัดเปลี่ยนกัน
…พอมาเรียนธรรมศาสตร์ มันก็เป็นมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงอยู่แล้ว ผมน่าจะเป็นคนเดียวในธรรมศาสตร์เป็นพันเป็นหมื่นคนที่ขอไปฟังเขาประชุมสภาฯ สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผมขอให้อาจารย์พลโท สุข เปรุนาวิน สอนวิชากฎหมายคดีเมืองช่วยรับรองเข้าไปฟังสภาฯ ประชุม เพราะรู้ท่านเป็นสมาชิกสภาฯ สนใจไปฟังหลวงประกอบนิติสารอภิปราย ฟังใครต่อใครอภิปรายกัน อย่างงิ้วธรรมศาสตร์ ผมคือคนเขียนบทคนแรก เป็นการคิดบทโต้ตอบที่เอาเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัย เอาเหตุการณ์ข้างนอกมาเล่น อย่างจอมพลสฤษดิ์มีอนุภรรยาเยอะ ก็เอามาเขียนเป็นเรื่อง ‘เตียวเสี้ยนก็มีหัวใจ’
…จบออกมา ผมเป็นทนายรอรัฐธรรมนูญ พ่ออยากให้เป็นผู้พิพากษา ใจเราอยากเป็นนักการเมือง แต่จะไปบอกใครตอนนั้นมันก็เป็นสถานภาพที่เกินเอื้อม ผมเป็นคนเดียวในรุ่นที่ไม่สอบเป็นผู้พิพากษา มีเพื่อนเป็นประธานศาลฎีกาสามคน เขาประกาศรับสมัครเป็นผู้พิพากษา เพื่อนไปกันหมดเลย แต่ผมตัดสินใจรอรัฐธรรมนูญ พอดีจังหวะรัฐธรรมนูญออกมาปี 2511 อายุครบพอดี ไปสมัครพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก็ไม่รับ ไม่มีใครรู้จัก แต่พอดีคนที่พรรครับถอนตัว เพราะพรรคไม่ให้เงิน ผมเลยได้มาแทน ปรากฏพอไปถึงจังหวัด ก็ไม่รับสมัครอีก บอกอายุไม่ถึง ผมก็สู้ว่า อายุเขาคิดวันเป็น สส. ไม่ใช่วันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า สส. เขาไม่ได้เขียนว่าผู้สมัครต้องมีอายุเท่าไหร่ ในที่สุดเขาก็เลยรับสมัคร และผมชนะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคตกใจมาก นึกไม่ถึงว่าเป็นไปได้อย่างไร”
ภาพที่มีความหมาย
ความขัดสนอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนของชวน หลีกภัย แต่ถือเป็นปัจจัยชั้นดี สำหรับการทำงานการเมือง เขาภูมิใจกับผลงานด้านการศึกษาที่พูดได้เต็มปากว่า ทำให้ชีวิตของเด็กชนบทที่เติบโตมาหลังตัวเขามีเส้นทางที่ราบเรียบกว่าที่เขาเดินมา นโยบายการจัดตั้งอนุบาลชนบท จากเดิมที่แต่ละจังหวัดมีโรงเรียนอนุบาลเพียงแห่งเดียวและมีแต่ลูกพ่อค้าในเมืองเข้าถึงให้กลายเป็น 2, 000 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้เด็กชนบทไม่ถูกทิ้งห่างตั้งแต่เริ่มออกตัวในชีวิต (“ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เด็ก ป.1 ที่ผ่านอนุบาล อ่าน ABC ออกนะ แต่เด็กในหมู่บ้านที่ไม่ผ่านอนุบาล อย่าว่าแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ ภาษากลางยังฟังไม่ออก”) ต่อมาเมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขายังผลักดันเรื่องการขยายมหาวิทยาลัยไปในอีก 11 จังหวัด และตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กต่างจังหวัดจะไม่ต้องลุ้นกับการมีชื่อเหมือนกับพระเพื่อจะมีที่อยู่ที่เรียน ส่วนตัวชวน หลีกภัย อาจมีส่วนสูงเพียงปริ่ม 160 ซม. สมชื่อเล่นว่า ‘เอียด’ ซึ่งแปลว่า เล็ก ในภาษาใต้ แต่รัฐบาลของเขาได้ออกโครงการนมโรงเรียนที่มีผู้ประเมินว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีส่วนสูงเพิ่มขึ้น 11 ซม. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
“ทำไมเรื่องแบบนี้เกิด มันเกิดเพราะเราเป็นผู้แทนจากต่างจังหวัด เราก็คือชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่วัดเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ แต่ผมไม่แก้แค้นชีวิต ว่าตัวเคยลำบากมา ฉะนั้นบัดนี้มีโอกาสต้องตั้งตัวหาความสุขเต็มที่ ผมมองว่ามีโอกาสแล้ว ทำอย่างไรให้ลูกคนอื่นไม่ต้องมาอยู่วัด เพราะวัดก็มีจำนวนแค่นี้เอง เด็กผู้หญิงก็อยู่ไม่ได้ โชคดีว่าผมอยู่ยาว ก็พอได้มองเห็นและติดตามว่าอะไรเป็นอะไร ผลจากเด็กกินนม วันนี้เรามีทีมวอลเลย์บอลหญิงไปแข่งกับบราซิล แข่งกับรัสเซีย ซึ่งปกติสรีระคนไทยไปแข่งยาก ในอาเซียนสิบประเทศไม่มีอย่างนี้ มีแต่ของไทย ส่วนหนึ่งมันก็มาจากนโยบายเด็กได้ดื่มนม นโยบายบางเรื่องมันไม่ใช่ข่าวพาดหัว เพราะเป็นภาพที่ไม่น่าตื่นเต้น แต่พอระยะยาว มันกลายเป็นภาพที่มีความหมาย
… ความจริงนโยบายรักษาฟรี ก็เกิดตอนผมเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข เพราะเรารู้ว่าคนหาเงินมาตลอดชีวิต เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลอย่างดีสองสามครั้ง เงินก็หมด แต่โครงการรักษาฟรีของผมไม่ฟรีทั้งหมด ฟรีสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กมัธยม เด็กมัธยมมีสิทธิรักษาฟรีโดยใช้งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ คนอายุ 60 ปีขึ้นไปรักษาฟรี ส่วนคนทั่วไปที่อายุไม่ถึง 59 ปียังต้องจ่าย แต่คนไหนจนก็ถือบัตรผู้มีรายได้น้อย และมีการออกบัตรใบละ 500 บาทให้ซื้อ รักษาได้ทั้งครอบครัว คิดดูว่ามีผลต่อสังคมขนาดไหน ถ้าหนึ่งล้านคนซื้อบัตรคนละ 500 บาท คิดดูว่าได้เงินไปเท่าไหร่ ทำให้การรักษาฟรีไม่มีปัญหาสะดุดเรื่องโรงพยาบาลขาดแคลนเงิน เพราะอย่างน้อยก็เอาเงินจากคนที่มีสตางค์มาจุนเจือ บางกลุ่มก็มองว่าเมื่อฟรีแล้วก็ต้องฟรีทุกคน แต่เราเอาความเป็นจริงของสังคมดีกว่า ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดจะฟรีได้หมดทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นก็จะต้องเก็บภาษีอย่างแรง แต่ตรงนี้มันเถียงกันได้ทุกเรื่อง ต้องคิดให้ดี บางเรื่องสังคมมันต่างกัน
…ปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งเราก็ถือว่าแก้ปัญหาไปได้จบ โครงการสนามบิน โครงการรถไฟฟ้า หรือถนนหนทางอะไรก็เกิดในสมัยผมวันที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมไปกราบพระธาตุ ท่านเจ้าคุณวัดพระมหาธาตุฯ ท่านก็พูดว่า ‘ชวน ไปรับตำแหน่ง อย่าลืมสีเลนะ สีเลนะ’ เรานึกว่าภาษาบาลี แต่หลวงพ่อหมายถึงให้ทำถนน ‘สี่เลน’ แล้วผมไม่ได้ทำเข้าบ้านผมอย่างเดียว ทำไปทั่วประเทศ ไปสุดที่หนองคาย สุดที่เชียงราย สุดที่ฝั่งตะวันออก ไม่ใช่ไม่เลือกเราแล้วเราไม่ทำอะไรแบบนี้ อันนี้คือความเป็นธรรมที่พวกเรายึดปฏิบัติกันมาตลอด บางคนพอเข้ามามีอำนาจเลือกปฏิบัติ ไม่ให้ทำภาคใต้ ถนนภาคใต้อย่าไปซ่อม ผมไปถามอธิบดีว่าทำไมไม่ทำถนนภาคใต้ อธิบดีบอกว่าทำไม่ได้ครับ ถ้าทำเดี๋ยวเขาย้ายครับ อันนี้คือความไม่ดีของระบบการเมืองที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นมา
…นอกจากกระจายโอกาส เราก็ยังทำให้มีกฎหมายพระราชบัญญัติแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจเกิดขึ้นในปี 2542 เราเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนไปชัดเจน ถ้าสมัยก่อนใครไปต่างจังหวัด จะดูออกเลยว่าตรงนี้เป็นที่ว่าการอำเภอ ตรงนี้เป็นบ้านนอก เดี๋ยวนี้ดูไม่ออกว่าอำเภอหรืออบต. ใหญ่เท่าๆ กัน เปลี่ยนไปสิ้นเชิง มี อบจ. มี อบต. ยกเลิกสุขาภิบาล กลายเป็นเทศบาลตำบลขึ้นมา แน่นอนว่ามันก็เกิดการทุจริตอะไรต่างๆ ขึ้นมาด้วย แต่จะเอาเรื่องทุจริตมาทำลายระบบไม่ได้ มันก็ต้องแก้กันไป”
ผูกกระพรวน
หากนโยบายการกระจายอำนาจ โอกาส หรือรายได้ อาจเป็นสิ่งที่ตกหล่นไปในประวัติศาสตร์ เพราะ “เป็นภาพที่ไม่น่าตื่นเต้น” ดังคำของชวนเอง บทบาทที่ควรเป็นที่จดจำมากกว่าอาจเป็นความพยายามปฏิรูปกองทัพ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศที่รัฐบาลพลเรือนมีสภาพคล้ายเป็นเพียงโฆษณาคั่นรัฐบาลทหาร การเอากระพรวนไปผูกกองทัพย่อมถือเป็นงานน่าตื่นเต้นไม่น้อย
พลเอก ชวลิต (ยงใจยุทธ) มาเตือนเลยนะว่า นายกฯ---ทำอย่างนี้ไม่ป็อปปูลาร์นะ ทหารเขาไม่ชอบ ผมบอก ผมรู้พี่ แต่ว่าถ้าผมไม่ทำ ใครจะทำ พี่นั่นแหละเป็นคนพูดว่ากองทัพต้อง ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ แต่พี่ทำไม่ได้เพราะพี่มีรุ่น
ชวน หลีกภัยสร้างชื่อกระหึ่มชั่วข้ามคืนในฐานะ ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้ง’ ตั้งแต่ได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ผ่านการวิพากษ์ ‘งบลับ’ หรืองบที่ไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดการใช้จ่ายต่อสภาฯ (จนมีชื่อเล่นว่า ‘งบรับ’) ของกองทัพ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ชวน หลีกภัย ยังแสดงพฤติกรรมหาได้ยาก อย่างการใช้งบลับของกลาโหมไม่หมด และส่งคืนกลับให้คลัง สั่งตัดงบของกองทัพ สั่งยุบสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารในต่างประเทศ ลดจำนวนนายพลลง 80, 000 อัตรา และปรับเกณฑ์การขึ้นเป็นนายพลไม่ให้เรี่ยราด กระทั่งแสดงลีลาปางห้ามญาติสั่งให้กองทัพอากาศคืนเครื่องบินขับไล่ F-18 ทั้งฝูงที่สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา โดยบินไปเจรจากับประธานาธิบดีบิล คลินตัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้วยตัวเอง จนทำให้ไทยไม่เสียค่าปรับ และได้รับมัดจำคืน ทั้งที่ความจริงสินค้าอยู่ระหว่างการผลิตแล้ว
ล่าสุด แม้ในปัจจุบันที่สื่อค่อนขอดว่าเขาได้กลายเป็น ‘มีดโกนขึ้นสนิม’ ชวนยังไม่วายออกมา ‘กรีด’ กองทัพผ่านการวิจารณ์และเสนอแก้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้ 6 ผบ. เหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่งว่าไม่เหมาะสม จากที่คนมักล้อนามสกุลของเขาว่า ชอบ ‘หลีกภัย’ ชวนไม่เพียงผูกกระพรวนแต่ยังกระตุกหนวดกองทัพมาแล้ว
“ตอนเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ผมตั้งพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผบ.ทบ. ทั้งที่ท่านไม่อยู่ในกลุ่ม 5 เสือ ผมเรียกปลัดกระทรวงมา เรียกผู้บัญชาการสูงสุดมาว่าคนไม่อยู่ใน 5 เสือตั้งเป็น ผบ.ทบได้ไหม ถามป๋า (พลเอกเปรม) ถามนาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ ทุกคนบอกได้ เราเห็นแล้วว่าคนนี้ซื่อสัตย์สุจริต มาช่วยกันปรับกองทัพ ผมไม่ยอมให้พ่อค้าขายอาวุธเข้ามายุ่งเลย ยกเลิก ‘นายพลแดดเดียว’ แบบตั้งนายพลวันนี้ พรุ่งนี้ปลด ให้ผลัดกันเป็น พลเอก ชวลิต (ยงใจยุทธ) มาเตือนเลยนะว่า นายกฯ---ทำอย่างนี้ไม่ป็อปปูลาร์นะ ทหารเขาไม่ชอบ ผมบอก ผมรู้พี่ แต่ว่าถ้าผมไม่ทำ ใครจะทำ พี่นั่นแหละเป็นคนพูดว่ากองทัพต้อง ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ แต่พี่ทำไม่ได้เพราะพี่มีรุ่น ผมไม่มีรุ่น ไม่ใช่ จปร. เลยทำได้ไม่ต้องเกรงใจใคร ผมถามพลเอกสุรยุทธ์ว่าจะปรับสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลากี่ปี ท่านบอกว่าใช้เวลา 4 ปี ท่านก็ได้อยู่ 4 ปี น่าเสียดาย พอพ้นยุคเราไปแล้ว นายพลแดดเดียวเกิดมากมาย ปกติแม่ทัพภาคคนหนึ่งเป็น 2 ปี นี่ 8 เดือน เปลี่ยน 6 เดือน เปลี่ยน ยังไม่ได้ทำงานเลย ภาคใต้ถึงได้เละหมด”
ยิ่งกว่านั้น รัฐมนตรีพลเรือนผู้นี้ ยังเป็นผู้ตัดสินใจส่งกองทัพไทยไปร่วมกองกำลังนานาชาติเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในติมอร์ตะวันออกเพื่อไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลุกลามขยายตัวออกไปตามคำร้องขอของสหประชาชาติ ทั้งที่กองทัพไทยไม่ต้องการ
“เขากลัวว่า หนึ่งเดี๋ยวทหารตาย สอง กลัวจะกระทบงบประมาณที่เขาใช้อยู่ แต่ในแง่ของบ้านเมือง หนึ่ง เสี่ยงไหมที่จะส่งทหารไป น้อยมาก สอง ค่าใช้จ่ายใครออก ยูเอ็นออก เพียงแต่เราต้องสำรองจ่ายไปก่อน ดังนั้น ในที่สุดผมก็ตัดสินใจส่งไป นี่คือประวัติศาสตร์ที่ทำให้กองทัพไทยได้รับการจารึกว่ามีบทบาทในระดับโลก ตอนหลังเมื่อมีผู้นำประเทศทั้งหลายมาเข้าเฝ้าในหลวง ทุกประเทศจะเริ่มต้นด้วยการชื่นชมประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี แต่พอตัดสินใจอย่างนี้เราต้องบอกเจ้าของประเทศเขา ผมถามประธานาธิบดีฮาบีบี (บาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี) ของอินโดนีเซียว่า ท่านเห็นด้วยไหมที่ยูเอ็นจะส่งทหารไทยมาอยู่ที่นี่ ท่านบอกยินดี แล้วก็ให้ท่านสุรินทร์ (พิศสุวรรณ) ไปถามพลเอกวิรันโต ผู้บัญชาการสูงสุดของอินโดนีเซียว่าท่านขัดข้องไหม เพราะทหารจะเสี่ยงมากน้อยมันอยู่ที่เจ้าของประเทศเขาช่วยดูแลหรือเปล่า ดังนั้น ในเมื่อเจ้าของประเทศเขาเห็นด้วย โอกาสที่เราจะเผชิญหน้ากับเจ้าของพื้นที่ก็ไม่มี ทหารที่ไปก็เก่ง มีหน้าที่ดูแลความสงบ นำโครงการในหลวงไปใช้ ช่วยติมอร์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมาก ขากลับทุกคนก็รวยกลับมา ได้เงินสองต่อ เงินเดือนประจำก็ได้ และได้เงินที่ยูเอ็นให้ซึ่งมากกว่าเงินเดือนประจำเยอะเลย
…ผมเสียดายว่าบางเรื่องพอผมพ้นตำแหน่งไปแล้ว นโยบายก็เปลี่ยน อย่างสมัยท่านพลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกฯ ท่านก็ไม่ให้นักการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับการโยกย้าย แต่ความจริงตัวท่านเองได้เป็นผบ.ทบ. ก็เพราะนักการเมือง เพราะถ้าไม่มีผม ท่านก็ไม่ได้เป็น พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ไม่ได้เสนอชื่อท่านเป็น ผบ.ทบ. ผมเป็นคนเชิญท่านเชษฐามาคุยว่า ให้เสนอชื่อพลเอกสุรยุทธ์ เพราะถ้าไม่เสนอ ผมจะเปลี่ยนชื่อเอง เพราะอำนาจยังอยู่ที่ผม แล้วผมก็เชิญคนที่พลเอกเชษฐาตั้งใจจะเสนอเข้ามา บอกว่า ท่านไปขอบคุณพลเอกเชษฐาเสีย เพราะพลเอกเชษฐาเสนอชื่อท่าน แต่ผมเป็นคนเปลี่ยน ท่านจะเอาตำแหน่งอื่นแทนไหม ท่านก็ตกใจ ไม่คิดว่าผมจะตรงไปตรงมาขนาดนี้ เรื่องอื่นผมไม่พยายามไปแทรกแซงอะไรทั้งสิ้น แต่บอกให้มีความเป็นธรรม มีวันหนึ่ง ปลัดกระทรวงมาหาแล้วบอกว่า ท่านครับ คนนี้เป็นญาติของคุณทักษิณ ชินวัตร จะขึ้นมาได้ยศนี้ ท่านว่าอย่างไร ผมบอกไม่ต้องมาขออนุญาต ดูว่าอาวุโสถึงไหม แล้วมีพฤติกรรมที่มีปัญหาไหม ถ้าไม่มีปัญหา ก็ตั้งไปได้เลย
…ส่วนตัวผมเชื่อว่าตัวบุคคลกับสถาบัน มันต้องแยกให้ออก ทุกองค์กรล้วนมีดีและร้าย เราไปยึดว่าอาชีพนั้นไม่ดี ไปเหมาว่าทุกคนต้องมีปัญหาหมดไม่ได้ อย่างท่านประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ท่านก็วิจารณ์นักการเมืองในทางลบตลอดมา ผมก็ท้วง ตอนนั้นมีงานในวังนั่งติดกัน ผมก็พูดเลยว่าท่านว่านักการเมืองไม่ดี มันก็มีจริงนะท่าน ทหารเลวก็มีนะท่าน ผมไม่ได้เหมารวม แต่เวลาท่านพูดท่านไม่เคยยกเว้น เพราะนักการเมืองที่ดีก็มี มันผิดข้อเท็จจริง พูดกันหนักเลย ปลัดตกใจเหมือนกัน แล้วนับแต่นั้นเป็นต้นมา พลเอกประยุทธ์ก็ไม่เคยมาด่านักการเมืองเลย จริงๆ แล้วมันอยู่ที่คน เหมือนพลเอกสุรยุทธ์แก้พรบ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ห้ามนักการเมืองเข้ามาแต่งตั้งนายทหารระดับสูง แต่ลืมนึกไปว่า ที่ท่านได้เป็น ผบ.ทบ.เพราะนักการเมือง ดังนั้น มันอยู่ที่คน มันอยู่ที่คนเรามองอะไรยุติธรรมหรือไม่เท่านั้นเอง”
สำนึกที่สามัญ
แน่นอนว่าเมื่อได้คนดีแล้ว แม้กระทั่งระบบระเบียบที่ห่วยก็ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีออกมาได้ กระนั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามคือคนดีและความดีเป็นของสามัญที่หาได้ทั่วไปหรือไม่ ชวนไม่ได้ฟันธง แต่ก็ดูไม่ได้หมดหวัง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มักเปรียบเปรยกันว่าเป็นมหากาพย์ของการ ‘แบ่งเค้ก’ ชวน หลีกภัย รู้ตัวว่ามือของเขาไม่ได้เปื้อนครีม และเขาไม่เชื่อว่าเขาเป็นคนเดียวที่เป็นอย่างนั้น
“ความซื่อสัตย์สุจริตที่มีอยู่ มันเป็นข้อยกเว้นไหม ไม่ใช่ นี่เป็นพฤติกรรมคนทั่วไป บังเอิญเราอาจจะมองไม่เห็น สายการเมืองอะไรนิดหน่อยมันก็เป็นข่าว มันมีข่าวคนประเภทที่เป็นข้อยกเว้นมากกว่า คนที่ซื่อสัตย์มันไม่มีข่าวเลย บางคนอาจไม่มั่นคงพอ มีแรงผลประโยชน์เข้ามาก็ทำให้หวั่นไหวว่อกแว่ก อันนี้ก็ต้องอาศัยการปลูกฝังหรือให้ค่านิยมพื้นฐานที่เข้มแข็ง มีอะไรมากระทบก็ไม่เปลี่ยน ในฐานะนักการเมืองมันมีทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เปลี่ยน ผมเล่นการเมืองไม่ใช่เพราะว่าไม่มีงานทำ แต่ผมตั้งใจเป็นนักการเมือง สมัยนั้นผู้ใหญ่ที่หวังดียังทักว่าทำไมชวนคิดสั้น ใครที่เล่นการเมืองไม่มีอนาคต แต่ผมคิดว่าบ้านเมืองมันต้องเป็นประชาธิปไตยสักวันหนึ่ง เราเรียนรู้ปัญหาโลก เราก็รู้ว่าต้องเป็นประชาธิปไตยถึงจะไปรอด ระบบทหารมันก็ชั่วคราว เป็นช่วงหนึ่งของสถานการณ์ที่มีปัญหาเท่านั้นเอง
...เวลาไปปฐมนิเทศเด็กผมจึงบอกเขาเสมอว่า จะเลือกอาชีพอะไรอย่าไปมองเรื่องเงินเดือนเป็นหลัก มองว่าเราชอบอะไร แต่เลือกแล้วคุณต้องยอมรับ และก็ทำให้ดีที่สุด เวลามีปัญหาจะได้ไม่ไปโทษ ไม่ไปอ้าง การเมืองเมื่อก่อน เดี๋ยวก็ยุบสภาฯ เดี๋ยวก็ยึดอำนาจ ถ้าผมไม่เลือกมาเองป่านนี้ผมก็ไปแล้ว แต่เราเลือกมา เราก็ต้องสู้ การเมืองมันก็อย่างนี้แหละ ผมว่าเหมือนศิลปินที่อยากทำงานศิลปะ มันเป็นความพอใจ เราพอใจได้ทำงานได้ผลถึงชาวบ้านจริงๆ ดูแลให้ความเป็นธรรมได้ แต่กว่าจะผ่านอันนี้ไปได้ไม่ง่าย ต้องสู้กันในที่ประชุม ต้องสู้กันด้วยเหตุผล ถ้าประวัติไม่ดีพอสู้ยาก
ตอนหลังผมค่อยเข้าไปหา บอกว่า พี่---เราเข้ามาเป็นนักการเมือง อย่าไปยุ่ง อย่าไปเอาอะไรทั้งนั้น มันเป็นวิธีเดียวที่เราจะพูดอะไรได้ แล้วเขายอมรับเรา
…สิ่งแรกก็คือตัวเราเองต้องเข้มแข็งพอที่จะไม่ไปหวั่นไหวกับสิ่งเหล่านั้น คนเป็นนายกฯมีคนมาหาไม่น้อย เช่น มาถามว่าท่านชวนไม่มีรถใช้หรือเปล่า ผมบอกมีแล้ว เขาก็ไม่มายุ่ง ฐานะส่วนตัวก็ไม่มั่นคงพอจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ แต่ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร อยู่แบบคนธรรมดา ไม่ได้เป็นคนสะสมอะไร ได้ของขวัญมาก็มอบให้หอจดหมายเหตุ ให้พิพิธภัณฑ์ ไม่มีว่าต้องไปดูหุ้นขึ้นหุ้นลง มีเวลาทำงานมากกว่าทุกคน คนอื่นได้หยุดกลับบ้านแล้ว วันเสาร์อาทิตย์ช่วงเช้าผมยังมีประชุมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บ่ายไปบรรยายให้กับสถาบันอีกที่หนึ่ง เย็นไปงานบวช งานศพ ไปมากกว่าคนทั่วไปอีก
…ถึงเวลามีอะไรก็บอกทำไปตามหน้าที่ ก็ไม่มีปัญหา อย่างตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมก็ขอว่าเอาคนทำงานเข้ามา ไม่ต้องโควต้าพรรคนะ คนในพรรคก็ไม่มีขัดข้อง คุณธารินทร์ (นิมมานเหมินท์) เข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลังนี่บาทเดียวไม่ต้องจ่าย ในขณะที่อีกฝ่ายเสนอว่า ถ้าเอาคนจากสถาบันการเงินนี้มาเป็น จะให้พรรค 150 ล้าน ขนาดคุณโพธิพงษ์ ล่ำซำ ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ วันเกิดท่านยังประกาศต่อหน้าญาติพี่น้องว่าท่านไม่เคยรู้ว่าการเป็นรัฐมนตรีไม่ต้องจ่ายเงินแบบนี้ ครั้งหนึ่งมีคนจะเอาใจเสธ.หนั่น (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) จะให้ท่านเป็นยศพลเอก ผมก็สั่งห้าม ท่านก็งอน ตอนหลังผมค่อยเข้าไปหา บอกว่า พี่---เราเข้ามาเป็นนักการเมือง อย่าไปยุ่ง อย่าไปเอาอะไรทั้งนั้น มันเป็นวิธีเดียวที่เราจะพูดอะไรได้ แล้วเขายอมรับเรา
…เพราะฉะนั้นมันเป็นอุดมการณ์หน่อย บ้านเมืองมันเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุดมการณ์เหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไป แต่ใจผมคิดว่าเราก็ไม่ควรยอมปล่อยให้ไปตามยถากรรม ถึงมาคิดโครงการ ‘บ้านเมืองสุจริต’ ขึ้นมา ขอความร่วมมือแต่ละฝ่าย เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนอะไรก็ได้ สอนแพทย์ สอนวิทยาศาสตร์ สอนอะไรก็ตาม แต่ในคำสอนนั้นให้แถมไปนิดหน่อยเรื่องการเป็นคนดี ความซื่อสัตย์สุจริต เรารู้ว่าถ้าอาจารย์แนะนำเด็ก เขาทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีได้ ตอนผมอยู่ ม. 2 ฝนกำลังตก ครูพาไปดูรถจักรยานครูที่จอดเปียกฝนอยู่ แล้วถามว่าทำไมปล่อยให้รถครูเปียกฝน เด็กก็ตอบว่า ไม่ใช่รถเรา ครูใช้คำพูดว่า ‘พวกเธอดูดาย’ เราไม่อยากให้สังคมดูดายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เราก็ต้องช่วยกัน”
ราคาของความดี
แม้จะยืนยันว่าความสุจริตในการเมืองไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่หลากหลายเรื่องราวที่ชวนเล่าก็แสดงให้เห็นว่าภายใต้แนวโน้มของสังคมและระบบปัจจุบัน เรื่องดีงามที่เขามุ่งหวังล้วนแล้วแต่มีต้นทุนไม่น้อย
“เสียเปรียบนะครับ เป็นรัฐบาลสองครั้งเลือกตั้งแพ้เขาทั้งสองครั้ง คนอื่นไม่เล่นตามกติกา ถึงพยายามหันมารณรงค์ในเรื่องความซื่อสัตย์ เผื่อจะช่วยทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องมันลดลงไปได้บ้าง ช่วงหนึ่งที่เราคุยกันก็คือระบบเขตคนเดียวเบอร์เดียว มันเป็นสากลก็จริง แต่ทำให้คนไม่มีสิทธิ์เลือก โดยพื้นฐานประชาชนไม่ทิ้งคนดี แต่ถ้ามีให้เลือกคนเดียวก็ลังเลแล้วว่าระหว่างคนดีกับคนที่ให้เงินจะเลือกใคร ถ้าให้เลือกได้ 2 คน คนดีที่ไม่จ่ายเงินยังมีสิทธิ์ได้ ผมเห็นเพื่อนดีๆ หลายคนได้เป็นสมัยแรกก็จบแล้ว คนตอบแทนความดีสมัยเดียว พอสมัยที่ 2 มีคนเสนอประโยชน์ก็เขวละ ผมเคยทำให้คนดีเสียโอกาสไป 10 บาทก็ไม่ให้จ่าย ท่านก็ไม่จ่าย ในที่สุดท่านแพ้ ถึงขั้นฆ่าตัวตาย เป็น ส.ส.ผู้หญิงที่น่ารักมาก ความรู้ดี สามีเป็นหมอ เป็นคนรักชาวบ้าน น่ารักที่สุด แต่ว่ามาลงเอยอย่างนี้ เป็นอดีตที่เสียดายมาก นี่คือของจริงที่สะเทือนใจ เรายึดความถูกต้องแต่ว่าระบบมันเป็นอย่างนี้ มันเลือกคนเดียว
…สิ่งเหล่านี้เราต้องจับตารับรู้ร่วมกัน อย่าไปรังเกียจการแก้ปัญหา ทุกอย่างไม่ใช่ของง่าย แต่ดีกว่าเออออตามกระแส ถ้าปล่อยไปตามยถากรรมมันจะไปไกล ในที่สุดตำแหน่งเหล่านี้จะเป็นตำแหน่งประมูล และจะลุกลามไปถึงท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปหมด ประชาชนก็รู้ แต่ว่าในสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอย่างนี้ ที่เราคิดว่าซื้อไม่ได้บางทีมันก็เปลี่ยนไป เพราะว่าความจนของคน ผมเป็นผู้แทนมา 16 สมัย 52 ปี เห็นคนมีความรู้มากขึ้นก็จริง แต่ว่าวิธีที่มาของนักการเมืองไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เดี๋ยวนี้พอเลือกตั้งเสร็จ เราไม่เห็นสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าคนนี้ๆ ซื้อเสียงมาแล้ว หมด ไม่มีใครวิจารณ์ อันตรายมาก ต่อไปใครไม่มีเงินก็จะไม่มีโอกาส กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ 500 ได้ 300 ไม่ได้ 800 ได้ 500 ไม่ได้ มันเกกันเหมือนประมูล แล้วคนเหล่านี้ลงไป 20-30 ล้าน จะมาเอาคืน เงินเดือนหนึ่งแสน มันเป็นไปไม่ได้”
คนที่เป็นความหวัง
ฟังดูแล้ว กระทั่งชีวิตที่มากบาดแผลจากการพยายามทำดี ก็ไม่อาจทำให้ชวนหมดหวังกับความเชื่อว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าสถาบันหรือระบบ ความเชื่อนี้อาจไม่สนิทแนบนักกับระบบประชาธิปไตยที่วางหลักอยู่บนการคานและดุลอำนาจมากกว่าสุจริตธรรมของตัวบุคคล หรือแม้กระทั่งฟังดูไร้เดียงสาในสังคมที่เคยเห็นคนแอบอ้าง ‘ความดี’ ไปได้เรื่อยจนแทบจะถึงหลังประตูคุก แต่ชวน หลีกภัย มิใช่ผู้ไม่ประสาทางการเมือง ถูกหรือผิดก็ตาม ความเห็นของเขาคือผลึกของการได้เห็นทั้ง ‘คน’ และ ‘ระบบ’ หลากหลายมากว่าครึ่งศตวรรษ
“ผมเชื่อทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่สถาบัน อยู่ที่กลุ่มคน สถาบันมันมีสิ่งดีสิ่งร้ายเสมอ ผมยังพูดเสมอว่าอย่าเหมากัน สถาบันกับตัวบุคคลต้องแยกให้ออก ไม่งั้นจะหมดอาลัยตายอยากเลย ไม่คิดจะแก้ไขอะไร เราต้องไม่มองข้ามเรื่องคน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งให้องคมนตรีไปทำโครงการสร้างเด็กดี แสดงว่าท่านเล็งเห็นปัญหาว่าทั้งหมดมันอยู่ที่คน ท่านเห็นรัฐบาลมากี่ชุด เห็นนายกฯ มากี่คน เห็นบ้านเมืองมาหลายสิบปี ผมคิดว่าเรามองข้ามเรื่องนี้ไม่ได้ ในขณะที่เราพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ถ้าคนเรายังคุณภาพไม่ดี ในที่สุดเทคโนโลยีก็เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งได้ ข่าวเท็จ เฟกนิวส์ มันเกิดจากคุณภาพคนทั้งนั้น ผมอ่านพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านบอกหน้าที่ใคร คนนั้นก็ทำให้ดีที่สุด
…ตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา พรรคประชาธิปัตย์และผมไม่รับ รองประธานร่างคืออาจารย์สุพจน์ ไข่มุกด์ ท่านเชิญมาพบที่สภาฯ เป็นการส่วนตัวเพื่อให้ความเห็นกับท่าน ผมบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวบทรัฐธรรมนูญหรอก เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ พูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดีที่สุดใช่ไหม อ้าวแล้วทำไมนายกรัฐมนตรีตอนนั้นอยู่ไม่ได้ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องมาเขียนมาตรา 3 บังคับว่า ทุกองค์กรต้องยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะระหว่างใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ผู้บริหารขณะนั้นออกนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้หลักนิติธรรม เช่นภาคใต้ ใช้วิธีการเก็บ ฆ่าทิ้ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความผิดของผู้บริหารที่ออกนอกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญใช้หลักกฎหมาย ใครผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ตำรวจจับ อัยการฟ้อง ศาลตัดสิน ผู้บริหารจะสั่งเองว่าให้ฆ่าทิ้งกลุ่มนี้ มันไม่ได้ แต่เมื่อไปทำอย่างนั้น มุสลิมหัวรุนแรงก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่ นโยบายวันที่ 8 เมษายน ปี 2544 เป็นที่มาภาคใต้ทุกวันนี้ ตายไปแล้ว 5-6 พันคน เพราะฉะนั้นตัวรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญ แต่ว่าสำคัญไม่น้อยกว่ากันคือปัญหาเรื่องคุณภาพคน
…แต่แน่นอนรัฐธรรมนูญมันเป็นโฉมหน้าของบ้านเมืองว่าเป็นประชาธิปไตยไหม รัฐธรรมนูญปี 2560 เทียบแล้วถอยไปเยอะ เหมือนกลับไปเป็นรัฐธรรมนูญปี 2511 เพราะฉะนั้นความคิดในการแก้ไม่ได้แปลก ไม่คิดแก้สิแปลก แต่เมื่อเราได้บทเรียนมาแล้วว่า ผู้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้างปัญหา เราจะป้องกันพวกนี้อย่างไร ไม่ใช่มาจากเลือกตั้งแล้วมีสิทธิ์โกง กลไกของสภาฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่กลไกอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน กลไกประชาชน กลไกองค์กรภายนอก ก็ต้องไม่ยอมให้มีสิ่งเหล่านี้ บ้านเมืองมีเสาอยู่หลายเสา ลำพังเสาการเมืองอย่างเดียวพังไม่ทำให้บ้านเมืองทรุด มันต้องมีอันเป็นไปทุกเสา เช่น สื่อถูกซื้อ องค์กรอิสระถูกครอบงำ กลายเป็นธุรกิจหมด ธุรกิจการเมือง ธุรกิจสื่อมวลชน ธุรกิจองค์กร เมื่อเป็นธุรกิจ ทุกคนก็หาประโยชน์กำไรเป็นหลัก ใครแลกเปลี่ยนธุรกิจกันได้ก็ดีกัน ไม่ต้องมาตรวจสอบกัน สื่อที่ทำธุรกิจร่วมกับรัฐบาลก็ไม่ต้องตรวจสอบ เขียนเชียร์กันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในภาคปฏิบัติเอง ก็ต้องอาศัยไม่เพียงแต่หลักการ ต้องอาศัยความเป็นคนที่มีคุณภาพ
…แต่เราไปพึ่งคนอย่างเดียวก็ไม่ได้ ปราชญ์โบราณก็เคยพูดว่าการปกครองที่ดีก็คือการปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ซึ่งก็คือคน แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าคนมันเปลี่ยนได้ จึงมาอาศัยว่าต้องปกครองด้วยหลัก จึงมีหลักกฎหมาย หลักไม่ดีก็แก้ แต่ว่ามีหลักอยู่ก็ต้องปฏิบัติตามหลัก หลักที่ดีและคนที่ดีมันต้องไปด้วยกัน ไม่สามารถที่จะแยกกันได้”
ให้ยึดหลักประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไว้ เพราะเราตัดสินใจเลือกระบบนี้แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปเปลี่ยนเป็นแบบอื่น มันเลยเวลานั้นมาแล้ว พอใจหรือไม่พอใจ เราตัดสินใจมาแล้วว่าจะมาเส้นทางนี้ ก็คอยๆ แก้กันไป บ้านเมืองกับปัญหาเป็นของคู่กัน
ล้างแต่ไม่ล้ม
น่าสนใจว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ ชวน หลีกภัย คิดอย่างไรกับม็อบของเยาวชน ที่เห็นว่าโครงสร้างระบบหรือสถาบันที่มีอยู่เป็นปัญหา ไม่ว่าบุคคลจะเป็นคำตอบมากน้อยเพียงใดก็ตาม
“เรื่องการชุมนุมเรียกร้องเป็นสิทธิที่เราทำได้ แต่ว่าให้มันอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่มันเป็นปัญหาคือล่วงล้ำสถาบัน ใช้ถ้อยคำรุนแรงก็ได้แต่อย่าถึงขั้นหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะว่าทุกประเทศมันมีระบบคุ้มครองผู้ปกครอง มันมีกฎหมายที่เขียนไว้เพื่อปกป้ององค์กรสถาบันไว้เป็นหลัก ถ้าให้แนะนำตรงๆ คนก็จะรู้ว่าเจตนาดี แต่ว่าถ้าไปก้าวร้าว อาจจะถูกหาว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดที่ต้องการจะเปลี่ยนระบบการปกครอง
…ให้ยึดหลักประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไว้ เพราะเราตัดสินใจเลือกระบบนี้แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปเปลี่ยนเป็นแบบอื่น มันเลยเวลานั้นมาแล้ว พอใจหรือไม่พอใจ เราตัดสินใจมาแล้วว่าจะมาเส้นทางนี้ ก็คอยๆ แก้กันไป บ้านเมืองกับปัญหาเป็นของคู่กัน ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่ใช่บ้านเมือง แสดงว่าไม่มีชีวิต ประเทศมีคนตั้งเกือบ 70 ล้านคน ในบ้านมีสองคนหรือคนเดียวก็ยังมีปัญหาเลย ฉะนั้นต้องอดทน ให้กำลังใจคนรุ่นต่อไป อยากจะเชิญชวนเข้ามาเป็นนักการเมือง ยอมรับค่านิยม ทัศนคติ และชีวิตของสังคมของเรา แล้วก็พยายามทำให้เกิดความก้าวหน้า ไม่ถึงขั้นไปล้มล้างทุกอย่าง อะไรที่ดีเราก็เก็บไว้ อะไรที่ไม่ดีก็ต้องปรับปรุงกันไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ระบบอะไรก็ตามมันมีดี มีไม่ดีได้เสมอ เราอย่าไปเอาพฤติกรรมใดก็ตาม มาล้มล้าง เราเห็นนักการเมืองโกง อย่าให้มีการเลือกตั้ง มันก็ผิดไป มีพระไม่อยู่ในศีล อย่าให้นับถือศาสนามันก็เกินไป
…เมื่อเช้าผมประชุมร่วมกรรมการสิทธิ พบอดีตทูตใหญ่หลายประเทศที่เป็นตัวแทนศาลโลกมาร่วมประชุมด้วย ออกมาจากห้องประชุม ผมก็ถามว่าพ่อแม่ท่านมาจากเมืองจีนใช่ไหม น่าภูมิใจนะ พ่อแม่มาจากเมืองจีนแล้วท่านไปเป็นทูต เป็นตัวแทนศาลโลกมาประชุม นี่คือความภาคภูมิใจว่าประเทศให้โอกาส หรือบางทีผมเป็นตัวแทนไปประชุมประเทศอื่น คนเชื้อจีนในประเทศนั้นก็มาถาม ได้ข่าวคุณชวนมีเชื้อสายจีน ทำไมเป็นนายกฯ ได้ ผมก็บอกว่าประเทศไทยให้โอกาส ดังนั้น ระบบที่เป็นอยู่มันก็ให้โอกาส ต้องคิดถึงระบบ อย่าไปทำร้ายระบบ เวลาพูดร้ายต่อสถาบัน หรือต่อองค์กรบ้านเมือง ต้องคิดว่ามีโอกาสอย่างนี้เพราะเขาเปิด เรามีสิทธิที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น แต่ว่าความดีนี้มันต้องขึ้นมาในกรอบกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง ไม่มีองค์กรใดที่สมบูรณ์โดยไม่มีที่ติ ทุกองค์กรต้องหันไปทบทวนว่ามีจุดอ่อนให้เขาวิจารณ์ไหม แล้วปรับให้ดีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น
…สังคมมันก็เปลี่ยน มันมีทั้งดีและร้ายเข้ามา จะบอกว่าสังคมมันแย่กว่าเดิมมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น ตอนที่ผมเป็นเด็ก ตอนที่เข้ากรุงเทพฯ ไม่มีบ้านไหนมีส้วม ตอนนี้คำถามคือบ้านไหนไม่มีส้วม ในชีวิตเด็กๆ ของเรา เปิดก๊อกแล้วน้ำไหลนี่มันเป็นไปไม่ได้ ต้องตักน้ำในบ่ออาบ วันนี้การเรียกร้องไปมากกว่านั้น กระทู้ที่เข้าสภาฯ เช่นหมู่บ้านนี้ยังไม่มีไฟฟ้าเข้ามาอีก 14 หลังคาเรือน เมื่อก่อนมันทั้งอำเภอที่ไม่มีไฟฟ้า เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 14 หลังคาเรือน ดังนั้น สังคมมันเปลี่ยน ข้อเรียกร้องมันมากขึ้นๆ บางทีฝ่ายบริหารก็บริการเกือบไม่ทัน เราต้องดูสภาพสังคม ศึกษาให้รู้จักตัวเราว่าเป็นอย่างไร แล้วเราก็หาทาง”
เวลาอันมีค่า
ตามธรรมชาติที่รัฐบาลจำเป็นต้องถูกสันนิษฐานว่ามีความผิดจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น รัฐบาลชวนย่อมไม่ได้ปลอดจากคำกล่าวหา เช่น จากกรณีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เอื้อประโยชน์แก่บริษัทนายทุนต่างชาติ หรือการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้กับผู้มีอันจะกิน กระนั้น ในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยอันกระดำกระด่าง ชวน หลีกภัย เป็นหนึ่งในน้อยคนที่ได้รับสมญาในเชิงบวกอย่าง ‘Mister Clean’ ผู้ติดตามการเมืองหลายคนอาจนึกวิจารณ์ประโยคติดปากของชวนเวลาถูกนักข่าวถามที่ว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” ว่าล่าช้า แต่ในขณะเดียวประโยคนี้ก็บ่งบอกถึงความพยายามทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอนของเขาได้เป็นอย่างดี เป็นไปได้ว่า หากคนจะมองว่าชวนเป็นคนดีที่เข้าเส้นชัยรั้งท้าย (Nice guy finishes last.) นั่นก็อาจเป็นความตั้งใจที่อยากจะทำงานให้มากที่สุดของเขาเอง
“ผลงานหลายอย่างที่เกิดขึ้นไม่ค่อยได้อ้างหรอกครับ เพราะเหล่านี้มันเป็นกระบวนการ หลายเรื่องมันพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง จุดต้องอนุมัติ มันก็ต้องทำ ดังนั้น เวลานักการเมืองพูดว่าตัวเองทำทั้งหมด มันไม่จริงหรอก สนามบินสุวรรณภูมิมันเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2510 มาถึงชุดผมอาจไม่ถูกใจ แต่เวลาไม่พอแล้วก็ต้องรีบอนุมัติไป รถไฟทางคู่ ผมกับพันเอก วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีคมนาคมไปปักหมุดด้วยกัน ผมยังได้เหรียญทองจากรถไฟมาเหรียญหนึ่ง เขาบอกว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ไม่เคยมีความก้าวหน้าทางการรถไฟมากเท่านี้ ตอนแก้วิกฤตต้มยำกุ้งก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก ความจริงในสมัยนั้น จะคืนเงินกู้ให้หมดก็ได้ แต่หม่อมเต่า (หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วย อยากให้ค่อยๆ คืนตามที่กำหนด ไม่เสียหายอะไร และทำงานการเมืองไม่ใช่แค่งานนิติบัญญัติ ต้องดูเรื่องชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน ไม่มีสภาฯ ก็ต้องดู มีโอกาสไปงานก็ต้องไป อย่าไปรังเกียจว่าเป็นนายกฯ ไม่ไปงานศพ มันไม่ได้
...เวลาเราจำกัดแล้ว เป็นมา 16 สมัย เวลามันไม่มีมากกว่านี้แล้ว เรากำลังถอย เรากำลังก้าวสู่เส้นทางที่กำลังจะจบ ถึงเวลามันก็ต้องไป มีอะไรที่ทำได้ ก็รีบทำในหน้าที่ของเรา วันนี้มาเป็นประธานรัฐสภาก็พยายามทำให้ระบบสภานี้มีความมั่นคง ให้มันรักษาเสถียรภาพของประชาธิปไตยไว้ให้ได้ ไม่ง่าย แต่เคยเป็นมาเมื่อ 31 ปีที่แล้วผมก็ใช้วิธีนี้ พูดน้อย มันไม่มีเทคนิคอะไร อาจมีคนไม่พอใจบ้าง แต่อย่าไปมีเล่ห์เหลี่ยม ตรงไปตรงมา ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมา ผมอยู่สภาฯ บางยุคบางสมัยเป็นผลประโยชน์ทั้งหมด ซื้อดอกไม้รับแขกยังซื้อแพง แล้วใครเป็นประธาน รัฐบาลสามารถสั่งได้ เรามาอยู่ก็พยายามทำให้ภาพของการเมืองมันดีขึ้น นอกสภามันจะเละแค่ไหน แต่มาถึงที่นี่มันต้องมีระเบียบ ต้องมีหลักการ ดีที่ว่ารัฐบาลไม่เคยมายุ่ง
…ผมยังบอกเจ้าหน้าที่ว่า ผมอยู่ไม่นานนักก็จะพ้นไป อะไรที่ไม่ถูกต้องก็จะต้องทำให้ถูกต้อง อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด ออกจากห้องไปกินอาหาร ปิดน้ำ ปิดแอร์ได้ก็ปิด ประธานสภาฯ มีสิทธิ์ซื้อรถประจำตำแหน่ง 7.5 ล้าน ก็ซื้อโตโยต้า ประหยัดไปได้ห้าล้านกว่า ทีนี้ถ้ารถตามมันคันละไม่กี่แสน รถมอเตอร์ไซค์ที่นำมันยังควรจะคันละไม่รู้กี่ล้านไหม จำเป็นไหมต้องบีเอ็ม ไปต่างจังหวัด ขอร้องเขาอย่าไปยืมโซฟาจากวัดนั้นวัดนี้มา ขอเก้าอี้ธรรมดา ผู้ว่าฯ จะเลี้ยง ผมบอกถ้าอย่างนั้นขอข้าวห่อ ไปกัน 19 คนก็คนละห่อ ประหยัด นี่กรรมการเพิ่งมีมติไม่ขยายสัญญาการก่อสร้าง ผมก็พูดกับบริษัทก่อสร้าง ผมพูดกับคุณอนุทิน (ชาญวีรกูล) เลยนะว่าไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีเรื่องไปกลั่นแกล้งอะไรนะ ตรงไปตรงมา
…ใครๆ ก็พูดได้ บางคนพูดการเมืองสุจริตแต่ซื้อเสียง เราปฏิบัติ ใครคิดแล้วทำไม่ได้ เรามาทำ นโยบายถ้าดี เราต้องทำต่อ เพราะว่าเป้าหมายมันคือเพื่อประโยชน์ของประชาชน สมัยท่านอานันท์ (ปันยารชุน) คิดเรื่องไอทีวีแต่ว่ายังไม่ได้ทำอะไร พวกผมชวน 1 ชวน 2 ก็มาทำจนเสร็จ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็เริ่มตอนผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก หรือที่เราตัดสินใจว่าซื้อก๊าซจากพม่าเพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีพลังงาน ถ้าจำได้คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ประท้วง มานอนขวางเลย เวลาที่รัฐบาลตัดสินใจมีปัญหาทั้งนั้นแหละ แต่ว่าผู้นำก็ต้องตัดสินใจ มันต้องสวนกระแสได้ โชคดีว่าเราไม่มีประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่มีเรื่องมาคิดว่าเราได้หรือเราไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับเราเลย และถ้าประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า วันเวลามันจะพิสูจน์เอง”
การสัมภาษณ์ล่วงเลยเวลาไปมาก จนผู้ช่วยต้องเข้ามาเตือนว่าเขายังต้องรีบออกจากสภาฯ ไปร่วมงานศพก่อนจะสาย และทำให้การสัมภาษณ์สิ้นสุดลง หลังจากอำลา เราเห็น Mr. Clean ที่ใครเรียกว่า ‘ชวนเชื่องช้า’ สาวเท้าเดินเข้าออกระหว่างห้องอย่างเร่งรีบจนเกือบเหมือนวิ่ง เพื่อสั่งธุระ เปลี่ยนสูทดำและไปขึ้นรถ
“อาทิตย์หนึ่งไปงานศพเกือบทุกวันครับ บางวันก็สองศพ สามศพ ถ้าเป็นที่ตรัง แม่กับพี่น้องก็ช่วยกันไปแทน แต่ภาคใต้ดีว่าเราไปตอนไหนก็ได้ บางทีไปเกือบตีหนึ่ง ไปแล้วปลุกเจ้าภาพว่ามาแล้วนะ เพราะกว่าจะไปบ้านนี้ไปมาเกือบ 10 งานแล้ว”
ดูเหมือนการเป็น ‘คนดี’ จะเข้าเส้นชัยช้าหรือเร็วก็ตาม ชวน หลีกภัย ยังไม่คิดจะหยุดวิ่งก่อนหมดเวลา ■