SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
HISTORY IN THE MAKING
ยืนยง โอภากุล หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’ กับภารกิจเล่าประวัติศาสตร์เพื่ออนาคตที่ไม่แตกร้าว และไม่หลงทาง
บทเพลง “เมดอินไทยแลนด์” ที่ยืนยง โอภากุล หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’ ประพันธ์ขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์ในหลายมิติ
ประวัติศาสตร์แรกเกิดขึ้นเพราะเพลงนี้ปรากฏอยู่ในอัลบั้มชื่อเดียวกันในปี 2527 ที่ผลักดันให้วงดนตรีเพื่อชีวิต นาม ‘คาราบาว’ ดังเป็นพลุแตก มียอดขายเทปทะลุ 5 ล้านตลับ นับเป็นหมุดหมายแห่งโลกดนตรีอนาล็อกที่โลกดิจิทัลยากจะเทียบทัน และถึงแม้คาราบาวอาจเคยออกอัลบั้มมาก่อนแล้วสี่อัลบั้ม แต่ไม่ผิดหากจะบอกว่าอัลบั้มนี้ควรนับเป็นปฐมบทแห่งตำนาน
ประวัติศาสตร์ต่อมาเกิดขึ้นเพราะเพลงนี้โด่งดังในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน การขาดดุลการค้า และเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เนื้อหาของเพลงที่เสียดสีพฤติกรรมคนไทยซึ่งนิยมใช้แต่ ‘ของนอก’ อย่างไม่สมเหตุผล จนทำให้เงินตรายิ่งไหลออกซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ได้ทำให้คนฉุกคิดผ่านเสียงขลุ่ยเร้าใจและสำเนียงเหน่อของ แอ๊ด คาราบาว นักร้องนำ จนกล่าวกันว่านี่คือหนึ่งในปัจจัยสำเร็จของการรณรงค์ “ใช้ของไทย เร่งรัดการส่งออก” ในสมัยนั้น อันที่จริง การทำมิวสิควิดีโอเพลงนี้เกิดขึ้นด้วยความต้องการของรัฐบาล เพราะตระหนักถึง ‘soft power’ แห่งดนตรีการในแบบที่นโยบายไม่อาจกำหนด
ความสำเร็จของอัลบั้มนี้ยังนำไปสู่การจัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งครั้งแรกของเมืองไทยในชื่อ ‘คอนเสิร์ตทำโดยคน ไทย’ ที่สนามแข่งจักรยานเวโลโดรม หัวหมาก นักเขียนนามปากกาสีลม บันทึกไว้ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือน มีนาคม 2528 ว่า “...ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในบ่ายวันเสาร์นั้น (9 ก.พ. 2528) ถนนทุกสาย มุ่งสู่สนามกีฬาหัวหมาก บัตรสองหมื่นแปดพันใบ (28,000 ใบ) ขายหมดตั้งแต่ประตูไม่เปิด คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นมีอยู่เกือบ 60,000 คน พวกเขามาจากทุกหัวระแหงของประเทศ นักศึกษา ปัญญาชน กรรมกร หมอนวด เด็กซิ่ง พวกเขามาชุมนุมกันอยู่ที่นั่นในวันนั้น...”
ความชุลมุนวุ่นวายอันเกิดจากการวิวาทในหมู่ผู้ชมและความเสี่ยงที่อัฒจันทร์จะถล่มจนนำไปสู่การยุติคอนเสิร์ตก่อนกำหนดครั้งนั้นบอกใบ้ถึงปริมาณของผู้คนและอารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าแบบทะลุการเตรียมการ
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาดที่สุดของเพลงนี้อาจอยู่ที่เนื้อเพลงท่อนเปิดที่ไล่เรียงลำดับอาณาจักรของประเทศไทยว่า “เมดอินไทยแลนด์แดน ดินไทยเรา เก็บกันจนเก่า เรามีแต่ของดีดี มาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย มาลพบุรี อยุธยา ธนบุรี ยุคสมัยนี้เป็นกทม.” เพราะในขณะที่หลายคนฟังแล้วไม่รู้สึกสะดุด แอ๊ด ผู้แต่ง กลับบอกว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่ ‘ผิด’ และ ประวัติศาสตร์ที่ผิดอาจเป็นทั้งต้นเหตุและผลลัพธ์ของความผิดเพี้ยนหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกวันนี้
คนอาจรู้จักแอ๊ด คาราบาวในฐานะนักแต่งเพลงเพื่อชีวิต แต่หลายเพลงเพื่อชีวิตของเขาก็เต็มไปด้วยเรื่องราว จากประวัติศาสตร์
เพราะประวัติศาสตร์สำหรับแอ๊ด เกี่ยวโยงกับชีวิตในปัจจุบันอย่างยากจะแยกออก
‘ผิด’ เป็นครู
“วันนี้เห็นชัดแล้วว่าคนไทยกล้าสนับสนุนสินค้าไทย และสินค้าไทยมีคุณภาพไม่แพ้ใคร ผมไปดูที่แฮร์รอดส์ โอ้ โห---กระเป๋าใบหนึ่งสี่หมื่นห้าพันบาท ถักจากใบอะไรไม่รู้ ในเมืองไทยแบบเดียวกันแค่พันกว่าบาท พอติดยี่ห้อแล้วบวกราคา คนที่มีสตางค์เขาก็ซื้อไปใส่ ถือเป็นเกียรติภูมิ แต่ในสมัยนั้นที่เราออกเพลง ‘เมดอินไทยแลนด์’ เป็นเพราะกระแสคนบ้าแบรนด์เนมเยอะมาก ผมเห็นว่าไร้สาระ ทำไมเราไม่สนับสนุนสินค้าไทย ทั้งที่คนไทยเราทำอะไรได้ดีเยอะแยะไปหมด ป๋าเปรมได้ยินเข้า ท่านก็สั่งให้รัฐบาลทำมิวสิควิดีโอออกมาแล้วก็ฉายทุกวันหลังข่าว
...แต่ในเนื้อเพลงที่ว่า ‘เมดอินไทยแลนด์ แดนดินไทยเรา เก็บกันจนเก่า เรามีแต่ของดีดี มาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย มาลพบุรี อยุธยา ธนบุรี ยุคสมัยนี้เป็นกทม.’ นี่คือสิ่งที่โรงเรียนสอนแต่มันผิด เพราะสุโขทัยไม่ได้มาก่อนลพบุรี ลพบุรีมาก่อน เรามีอาณาจักรสุวรรณภูมิแล้วต่อมาเป็นฟูนันแล้วก็เป็นทวารวดี สุวรรณภูมิมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 ฟูนันพุทธศตวรรษที่ 7-11 เถิบเข้ามาทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16 บางคนบอกน่าจะอยู่แถวนครปฐม บางคนก็บอกอยู่ศรีเทพ บางคนก็บอกอยู่อู่ทอง แล้วบอกพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงจะมีลพบุรี แต่จริงๆ ลพบุรีมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว เพราะมันมีในจดหมายเหตุของโจว ต้ากวาน (นักการทูตชาวจีน) บอกถึงความเป็นอยู่ของเมืองลพบุรี แต่ต่อให้เรารู้ประวัติศาสตร์แบบนี้ แต่ประชาชนเขาไม่รู้ ถ้าเราไปเขียนเพลงบอกว่าลพบุรีก่อนสุโขทัย มันงงนะ เขาจะถามว่ามันเรียนเล่มไหนมาวะ
...เราเรียนกันแต่ประวัติศาสตร์โกหก พร็อพพาแกนด้า มันถึงไม่รู้จะเรียนไปทำไม ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่วัดกับวัง ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เราไม่รู้ว่าคนสมัยอยุธยาแต่งตัวอย่างไร กินข้าวอะไร ปลูกบ้านยังไง ไม่เคยสอน สอนแต่ว่ารัชกาลพระเจ้าอู่ทองหนีห่ามาจากเมืองอู่ทอง แล้วมาตั้งเมืองอยุธยา เปิดมาก็ผิดแล้ว แต่ผิดแล้วก็เฉย ไม่แก้ ปล่อยให้คนเรียนผิดไปเรื่อยๆ รัฐเขามองเห็นประชาชนว่าเป็นไพร่ วันนี้ก็ยังมองว่ายังเป็นไพร่อยู่ ไม่ได้เห็นความสำคัญของประชาชนที่สร้างบ้านแปงเมืองร่วมกันมา ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงจะต้องเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่เจตนาของรัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชนมีบทบาทอะไรในประเทศนี้
เราเรียนกันแต่ประวัติศาสตร์โกหก พร็อพพาแกนด้า มันถึงไม่รู้จะเรียนไปทำไม ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่วัดกับวัง ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงจะต้องเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่รัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชนมีบทบาทอะไรในประเทศนี้
...เราก็แค่หาความรู้ใส่ตัวเฉยๆ ไม่ได้อยากไปยุ่งอะไรกับใคร แค่รู้สึกว่าทุกอย่างอยู่ตัวแล้ว เรื่องเพลงก็ดี ครอบครัวก็ดี ธุรกิจก็ดี เรามีเวลาให้กับตัวเอง ก็เอาเวลาเหล่านี้มาศึกษาสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ยังไม่รู้ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนของที่นี่ หนึ่ง คือเรื่องพระพุทธศาสนา ผมใช้เวลา 5-6 ปี ศึกษาพระพุทธศาสนา อันนั้นจบไปแล้ว แต่ตอนนี้มาเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ คนเราถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ จะไปสู่อนาคตก็คงยากลำบาก เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของผู้คน เวลา และสถานที่ บอกเราหมดทุกอย่างในยุคนั้น คนเขาคิดอย่างไร เขาทำอะไร ให้บทเรียนกับคนรุ่นปัจจุบันได้ เดี๋ยวนี้คนปัจจุบันเน้นมุ่งไปสู่อนาคต แต่ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์เลย เราก็จะไปยืนเถียงกัน แดงมั่ง เหลืองมั่ง สลิ่มมั่ง มั่วกันไปหมด”
สืบสายเลือด
ภาพความเป็นร็อกเกอร์คล้องผ้าขาวม้าโลดแล่นอยู่บนเวทีและสะกดคนด้วยสำเนียงเฉพาะตัวกับกีตาร์ไฟฟ้าอาจทำให้คนถึงภาพความเป็นนักประวัติศาสตร์ของแอ๊ดไม่ออก แต่แท้ที่จริง นี่คือเทือกเถาเหล่ากอของแอ๊ดตั้งแต่ก่อนที่เขาจะก้าวเข้าสู่วงการดนตรี บิดาของเขาคือ มนัส โอภากุล หนึ่งในนักหนังสือพิมพ์ และปราชญ์คนสำคัญด้านโบราณคดีของสุพรรณบุรี ผู้แต่งหนังสือว่าด้วยพระเครื่องเมืองสุพรรณ ที่ ‘กิเลน ประลองเชิง’ แห่งคอลัมน์ชักธงรบของไทยรัฐ เคยเขียนสดุดีไว้ว่า “ผมมีหนังสือ ทุกเล่มของ มนัส โอภากุล อ่านแล้วอ่านอีก ความรู้ระดับครูของคุณมนัส ไม่ได้จำกัดแต่พิมพ์พระ เนื้อพระ วิธีการ ดูพระ ฯลฯ ยังแตกหน่อขยายกอไปทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี” ยิ่งกว่านั้น เนื่องจาก มนัสยังครองความ เป็นเอกในอีกหลากหลายบทบาท ตั้งแต่การเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์คนสุพรรณ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของสุพรรณบุรี การเป็นหัวหน้าวงช.ส.พ. วงดนตรีสากลวงแรกของสุพรรณบุรี อีกทั้งยังเคยเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลระดับประเทศ กิเลน ประลองเชิงจึงออกปากว่า “ชื่อของ แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล วันนี้จะโด่งดังสักแค่ไหน แต่ถ้าเทียบกับพ่อที่เพิ่งจากไป ผมยังเห็นว่าเป็นแค่เหลี่ยมหนึ่งของภูเขาใหญ่เท่านั้น”
“พ่อเรียนที่เผยอิง เป็นโรงเรียนจีนอยู่ทรงวาด สมัยก่อนคนจีนมาเรียนที่นี่ โรงเรียนเดียวกับคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ คุณเจริญ สิริวัฒนะภักดี แต่ตอนจอมพลป. พิบูลสงคราม ขึ้นมา เขาเกลียดชังคนจีน สั่งปิดโรงเรียนจีนทั้งประเทศเลย คนที่ชื่อจีนต้องเปลี่ยนชื่อหมด พ่อก็เปลี่ยนนามสกุลจากแซ่โอ๊ว มาเป็นโอภากุลตอนนั้น พ่อจบจากเผยอิงก็กลับสุพรรณฯ เป็นครูสักพักแล้วก็ไปทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทค้าจังหวัดของทางการ ต้องออกตรวจตามต่างจังหวัด ไปเดิมบางนางบวช ท่าช้าง อู่ทอง ตรวจไปทั่ว จังหวัดสุพรรณฯ ก็ได้เห็นบ้านเห็นเมืองแล้วบันทึกไว้ ทำให้พ่ออยากจะศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ พ่อก็รู้จักกันหมดกับพวกอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ เวลาใครไปสำรวจสุพรรณฯ ต้องใช้ข้อมูลจากคนท้องถิ่น พ่อจะเป็นคนแนะนำ เพราะท่านยังเป็นนักหนังสือพิมพ์และเขียนเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีลงในหนังสือเยอะแยะ ไม่ว่ามติชนสุดสัปดาห์ ข่าวสด เดลินิวส์ ลานโพธิ์ ตอนที่ประเทศไต้หวันเปิดประเทศใหม่ๆ จอมพลถนอม กิตติขจร ยังต้องเรียกให้พ่อไปทำข่าว เพราะตอนนั้นคนที่เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และรู้ภาษาจีนด้วยมันไม่มี
...พ่อเป็นนักกีฬากับนักดนตรีด้วย พ่อมีวงดนตรีที่เป็นวงประจำจังหวัด โตมาเราก็เห็นพ่อเล่นดนตรีและร้อง เพลง เล่นได้ทั้งคีย์บอร์ด เครื่องเป่า กีตาร์ เคยเอากีตาร์ของพ่อมาดู ตรงไม้ที่เป็นฟิงเกอร์บอร์ดสึกหมด แสดงว่าพ่อก็เล่นเยอะมาก ด้านกีฬา พ่อเป็นนักกีฬามาก่อนแล้วต่อมาก็เป็นโค้ช คุมกีฬาอยู่สามอย่าง บาสเก็ตบอล เทนนิส และแบดมินตัน สมัยอยู่เผยอิง เคยเป็นแชมป์บาสเก็ตบอลของประเทศไทยต้องไปแข่งที่สิงคโปร์ เราก็เลยเอาอย่างพ่อสองอย่าง เป็นนักกีฬาแล้วก็นักดนตรี อีกเรื่องก็คือความขยัน เพราะเราเติบโตมาก็เห็นพ่อทำแบบนี้ นั่งพิมพ์หนังสือทุกเช้า ตีสี่เอาแล้ว ป๊อกแป๊กๆ อยู่อย่างนั้น ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่เคยเห็นหยุดไปพักผ่อนไปอะไร เราก็เลยทำงานไม่มีเสาร์อาทิตย์เหมือนกัน”
บันทึกประวัติศาสตร์
จะเป็นด้วยอิทธิพลจากอาจารย์มนัส ผู้มองเห็นเรื่องราวของชีวิตและสังคมที่ผันผ่านในร่องรอยของเศษอิฐเศษหิน หรือการตกผลึกจากการสังเกตการณ์ส่วนตัวของเขาก็ตาม สำหรับแอ๊ด คาราบาวแล้ว ประวัติศาสตร์บรรจุไว้ซึ่งความจริงมากกว่าศาสตร์อื่นๆ ซึ่งดูจะเป็นเพียงผลพวงจากทฤษฎีหรือความคิดของมนุษย์เท่านั้น
“พ่อเข้าเรียนที่โรงเรียนจีน แล้วเขามีวิชาที่เรียกว่าจดบันทึก โรงเรียนไทยไม่มี จีนเป็นสุดยอดของเรื่องการจดบันทึกในโลกเลย จดหมายเหตุของจีนเป็นอะไรที่ตรงมาก เพราะบันทึกโดยอาลักษณ์ และไม่ยอมให้กษัตริย์เข้าไปยุ่ง สมมติว่ากษัตริย์องค์นี้ขึ้นครองราชย์ แต่ละปีเขาก็จะมีการเขียนภารกิจที่กษัตริย์องค์นี้ทำ แบบตรงไปตรงมาเลย พอถึงสิ้นปี ก็เอามารวมใส่หีบติดครั่งเอาไว้ เก็บไว้จนกษัตริย์องค์นี้ตายถึงจะเอาหีบทั้งหมดมาเรียงต่อกันแล้วเปิด เพื่อเอาจดหมายเหตุมาเขียนเป็นสารานุกรมของกษัตริย์แต่ละองค์ว่าใครทำภารกิจอะไรบ้าง ห้ามเข้ามาแก้ไข ในประวัติศาสตร์เคยมีกษัตริย์พยายามจะเข้ามาแก้ อาลักษณ์ไม่ยอม ก็ถูกจับไปประหาร ตั้งลูกอาลักษณ์ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ลูกอาลักษณ์ก็ไม่ยอมแก้ เอาไปประหารอีก พอตั้งหลานขึ้นมา หลานก็ไม่ยอม เขาก็ไม่ทำแล้ว
ทุกวันนี้คนสนใจแต่รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะโค่นล้มเอาชนะคะคานอย่างเดียว พวกนี้เป็นวิธีคิดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ปกครองกัน แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจริง เราเอามาเผยแพร่เพื่อให้คนรักในภูมิลำเนาของตัวเอง เพราะประวัติศาสตร์ไม่สอนให้เราฆ่ากัน มันสอนให้เราเข้าใจกันมากกว่า
...การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องดู ‘พื้นที่’ ดู ‘เวลา’ และดู ‘คน’ สามอย่างประกอบกัน คนเราถ้าเข้าใจ ในสิ่งที่ถูกต้องตรงกัน คุยกันมันก็เข้าใจง่ายว่าเมืองไทยเรามีตำนาน มีความเป็นมาอย่างไร มันจะเกิดจิตสำนึก รักบ้านรักเมือง ทุกวันนี้คนสนใจแต่วิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะโค่นล้มเอาชนะคะคานอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มันก็ เป็นแค่วิชาหนึ่ง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ พวกนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เป็นวิธีคิดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อ ใช้ปกครองกัน แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจริงที่ปรากฏอยู่ เราเอามาเผยแพร่เพื่อให้คนรักในภูมิลำเนาของตัวเอง เพราะประวัติศาสตร์ไม่สอนให้เราฆ่ากัน มันสอนให้เราเข้าใจกันมากกว่า คนเราทะเลาะกันอยู่แล้ว แต่พอเราเรียนรู้ความเป็นมาเป็นไป เราก็จะไม่ฆ่ากัน
...สมัยก่อนผมยังเด็กอยู่ ไม่ประสีประสากับเรื่องพวกนี้ ผมก็มีความคิดแบบเด็กๆ สมัยนี้ เห็นอะไรไม่เข้าท่าก็ อยากจะโค่น อยากจะล้ม แต่วันนี้ผมอายุมากแล้ว ผมก็เห็นว่าถ้าเรามีเหตุผลมานั่งคุยกัน มันดีกว่ามาเอาชนะคะคาน เพราะถ้าเป็นสงคราม มันไม่มีถูกไม่มีผิดแล้ว มันจะมีแต่ใครชนะ ใครแพ้ แล้วคนชนะก็จะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ สู้เรามาคุยกันดีๆ ดี กว่า เห็นฮิตเลอร์ทำคนยิวตายไปเยอะแยะไหม ความจริงมันเป็นแค่ความคิดของคนคนหนึ่งซึ่งผิดอย่างมหันต์เลย ฮิตเลอร์คลั่งชาวอารยัน ทั้งที่ชาวอารยันไม่ใช่คนยุโรป อารยันเป็นคนเผ่าหนึ่งในทะเลทรายที่เคลื่อนย้ายมาจากภูเขาคอเคซัสที่อยู่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบแคสเปียนลงมาที่แม่น้ำสินธุเมื่อ 3,500 ปีมาแล้ว แม่น้ำสินธุเลยโดนพวกนี้ครอบครอง จนเกิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ฮิตเลอร์มายังไงไม่รู้ ทำพร็อพพาแกนด้าว่าอารยันเป็นชาว เยอรมันเลือดบริสุทธิ์ จนฆ่ากันฉิบหายวายป่วงเป็นสิบล้าน บ้านเราก็เหมือนกัน ถ้าเกิดว่ามีคนอย่างฮิตเลอร์ขึ้นมาแล้วชี้นำให้คนฆ่ากันตาย มันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง
...ช่วงเวลานี้กำลังแต่งเพลงของ 77 จังหวัดให้กับประเทศ วิธีที่จะแต่งคือใช้ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่องแต่ละจังหวัด เวลาเราพูดถึงความเป็นไทย คนมักจะนึกถึงว่าต้องแต่งตัวเป็นไทย แต่ไม่ใช่ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราก็อยู่ในสภาพนี้ตามโลก แต่สาระคือให้รักชาติ รักแผ่นดินเกิด ให้คนไทยรักกันเอง บ้านเมืองเราอยู่ในยุคที่ผู้คนแตกความสามัคคี ถ้าไม่ระวัง จะนำไปสู่ความแตกแยกบานปลายถึงขนาดเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้ได้ ทุกวันนี้เขียนเพลงก็พยายามนึกถึงเรื่องนี้ แต่มันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่หลายๆ ส่วนช่วยกัน ผมเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะอยู่ในโลกใบนี้ ก็คิดจะทำเรื่องนี้ เอาความรู้ที่มีมาทำเป็นเพลง”
วิชาเพลง
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ ‘มนต์เพลงคาราบาว’ เพลงเปิดตัววงคาราบาวที่ทุกคนคุ้นหูกล่าวถึงอิทธิพลของเสียง เพลงที่ทรงพลังไว้ว่า “ฟังเพลงรัก รักหวานปานกลืนกิน ฟังเพลงดิ้น ดิ้นพราด เรี่ยราดไป ฟังเพลงเศร้า เศร้าจนน้ำตาไหล เคลิ้มใจอิทธิพลเสียงเพลง” การทำเพลงที่เปี่ยมมนต์สะกดมีมากกว่าการรู้ประวัติศาสตร์ หากยังต้องเชื่อมเข้าอย่างสนิทแนบกับชีวิตของผู้คน
บทเพลงอย่าง ‘โนพลอมแพลม’ ของแอ๊ดที่มีเนื้อว่า “ยุคนิกส์อุตสาหกรรม คือตำส้มตำบรรจุกระป๋อง เหล้าตาลเขาเทลงกล่อง แพคกิ้งตีตราว่าพาสเจอไรซ์ ใครต้มจะต้องโดนจับ เหล้าเถื่อนจะมาทับสัมปทานได้ยังไง ชีวิต อุทิศเพื่อใคร ตื่นขันพร้อมไก่ไปเข้าโรงงาน” นั้นให้ทั้งภาพของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยยุคแรกเข้าสู่การผลิต แบบอุตสาหกรรมสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ปัญหาเชิงโครงสร้างของทุนผูกขาด หรือแม้กระทั่งตั้ง คำถามต่อความหมายของชีวิตในระบบทุนนิยมได้อย่างตราตรึงในท่อนเดียว ในขณะที่เพลงยอดนิยมตลอดกาลอย่าง ‘ทะเลใจ’ นั้น เบื้องต้นอาจฟังคล้ายลำนำปรัชญาที่กินใจผู้คนหลากหลายด้วยรสชาติความเป็นมนุษย์อันเป็นสากล ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับผู้หนึ่งผู้ใด แต่สาวกคาราบาวย่อมทราบว่าเพลงนี้เดิมทีแอ๊ดแต่งให้กับพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่แอ๊ดเคยสนับสนุนเมื่อครั้งคณะรสช. ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชายอันอื้อฉาวด้วยคอร์รัปชัน แต่ต่อมาเพื่อนของเขาคนนี้กลับหลงทะเลใจจนลุแก่อำนาจและนำไปสู่ ‘พฤษภาทมิฬ’ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่รสช. ทำร้ายประชาชน
สิ่งใดคือเคล็ดลับของแอ๊ดในการพูดเรื่องของตัวเองได้สากลราวกับเป็นเรื่องของทุกคน และในขณะเดียวกันก็ พูดเรื่องของทุกคนได้จับใจดั่งเรื่องของตัวเอง
“ผมเป็นทั้งนักดนตรีและนักแต่งเพลงด้วย แต่ผมคิดว่าผมแต่งเพลงได้ดีกว่าร้อง ดีกว่าเล่นดนตรี เหมือนเราเป็นนักบอล แต่เราอาจจะเป็นผู้รักษาประตูได้ดีกว่า การเขียนเพลงมันไม่มีขีดจำกัด ขอแค่คนฟังแล้วชอบ เพราะ เขียนเพลงเป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาเหมือนทำกับข้าว ทุกวันนี้กับข้าวเยอะแยะไปหมด หน้าตาแปลกๆ เพราะมันเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติแต่ละยุคแต่ละสมัย เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เพลงแรกๆ ที่แต่งคือ ‘ลุงขี้เมา’ เอาแรงบันดาลใจมาจากเพลง Anak ของเฟรดดี้ อากีลาร์ เป็นเพลงเพื่อชีวิต พูดถึงพ่อที่เป็นนักดนตรี ลูกเกิดมาเขาก็ไม่มีโอกาสไปอยู่ดูแล ได้แต่รำพึงรำพันว่าเขาจะเลี้ยงลูกให้เป็นยังไงๆ เราก็อยากเขียนเพลงแบบนี้ แล้วดนตรีก็เพราะ ฟิลิปปินส์เขาเก่งเรื่องดนตรีมาก สมัยก่อนหนังฮ่องกง พวก ‘กระบี่ไร้เทียมทาน’ อะไรพวกนี้ ส่วนใหญ่คนฟิลิปปินส์ทำเพลง ไอ้ที่มีเสียงตู๊ว ตู๊ว ตู้ว ด่า ดา ด๊า....
สมัยก่อนผมยังเด็กอยู่ ไม่ประสีประสากับเรื่องพวกนี้ ผมก็มีความคิดแบบเด็กๆ สมัยนี้ เห็นอะไรไม่เข้าท่าก็อยากจะโค่น อยากจะล้ม แต่วันนี้ผมอายุมากแล้ว ผมก็เห็นว่าถ้าเรามีเหตุผลมานั่งคุยกัน มันดีกว่ามาเอาชนะคะคาน เพราะถ้าเป็นสงคราม มันไม่มีถูกไม่มีผิดแล้ว มันจะมีแต่ ใครชนะ ใครแพ้ แล้วคนชนะก็จะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์
...ตอนแรกเรายังแต่งเพลงไม่ค่อยเก่ง นึกอะไรได้น้อย ก็ค่อยๆ เขียนไป ไม่เหมือนทุกวันนี้ อยากจะแต่งเพลง อะไรแป๊บเดียวก็เสร็จแล้วเป็นอัตโนมัติ สมมติได้โจทย์มาว่าต้องแต่งเพลงนี้ เราก็เอาข้อมูลทั้งหมดมาดู นั่งคิด ว่าจะขึ้นต้นยังไง พูดถึงอะไรดี ท่อนหนึ่งท่อนสองจะพูดอะไร ท่อนแยกจะพูดอะไร ท่อนจบจะพูดอะไร ดนตรีส่วนใหญ่ก็มาจากเนื้อ ถ้าได้เนื้อเมโลดี้จะมาเอง แต่ละคนมีเมโลดี้ในตัวอยู่แล้ว เหมือนคนแต่ละคนมีท่าเดินของตัวเอง ท่าที่จะทำดนตรีก็เหมือนกัน ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะตั้งใจจริงๆ ที่จะบิดมัน
...เราเป็นคนเก่า คนยุคเดียวกับสายัณห์ สัญญา เสรี รุ่งสว่าง อายุไม่ห่างกัน เราก็โตมาแบบนี้ อิทธิพลของลูก ทุ่งในเมืองสุพรรณสูงมากทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ผมก็โตทัน แล้วเพลงของเรามันก็จะติดกลิ่นพวกนี้ อย่างเวลาผมทำเพลงยายสำอาง ‘วณิพก พเนจร ตาบอดแรมรอน มาขอทานท่านกิน’ มันชี้ให้เห็นว่าติดรากเหง้าของความเป็นไทยเยอะมาก แต่พอมาถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ อย่างรุ่นตูน บอดี้สแลม ไม่มีแล้ว เพราะเขาห่างจากตรงนั้นเยอะ เขาก็เขียนออกมาค่อนข้างเป็นฝรั่งและเป็นตัวของตัวเอง อิทธิพลที่เราได้มาตั้งแต่วัยเด็กจะส่งมาที่เรา พอมาทำเพลง ยังไงมันก็ติดมา
...มนุษย์เรามีเซนส์อยู่แล้ว เฮ้ย---เพลงนี้มันโดน ถึงแม้บางทีไม่รู้ภาษาด้วยซ้ำ อย่างเพลง Hotel California ทุกวันนี้ยังแปลไม่ได้เลย ไม่รู้มันพูดเรื่องอะไร คนยังชอบกันทั้งโลก คนเขียนเพลงก็เหมือนกัน แค่เพลงมีเรื่องของ ดนตรีเข้าไปประกอบ ต้องให้น้ำหนักกับดนตรีด้วย ถ้าเป็นร้อยแก้ว ก็เขียนไปเลย ไม่ต้องสนใจดนตรี แต่ลองไป ดูเถอะ ข้อเขียนที่ดีๆ มีสัมผัสในทั้งนั้น กระทั่งบทความที่ดีๆ เราจะเห็นว่าคนเขียนมีสัมผัส สัมผัสใน สัมผัสสระ พยัญชนะ ซึ่งตรงนี้เด็กๆ รุ่นใหม่บางทีไม่ค่อยรู้ เคล็ดลับไม่มี มีแค่ทำซ้ำๆ กัน แล้วก็แก้สิ่งที่ผิดพลาด ประธานเหมา เจ๋อตงเขาบอกแบบนี้ ซึ่งประธานเหมาก็เอามาจาก คาร์ล มาร์กซ์ การกระทำซ้ำๆ กันทำให้เกิดความชำนาญ เมื่อมีความชำนาญแล้ว ความผิดพลาดก็น้อยลง ต้องเขียนบ่อยๆ เป็นการสั่งสมประสบการณ์ให้ตัวเอง เพราะมันไม่มีการสอนในโรงเรียน
...เมื่อก่อนสมัยยุคแรกๆ ก็กลัวว่าแต่งออกมาผลงานจะดีไหม แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว คิดอะไรได้ก็ทำเลย ให้เพื่อนๆ มาช่วยกันคิด เมื่อก่อนส่วนใหญ่เวลาคิดอะไรผมจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ชอบเผด็จการ เลยทะเลาะกันบ่อย แต่วันนี้ใครทำอะไรได้เอาเลย ไม่ต้องทะเลาะกัน ความจริงหลายคนช่วยกันทำงานดีกว่าอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือถ้าไม่ได้ช่วยกันทำจริง ผมก็ต้องคุมเอง เพลงของคาราบาวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ ผมเป็นคนเปิดเกมแล้วปิดเกม นั่งคนแรกและคนสุดท้าย คนอื่นทำส่วนของเขาจบแล้วก็กลับบ้านไป ผมก็จัดการปัดกวาดให้จบตามความสามารถที่เรามี เล่นดนตรีเป็นวงมันต้องใช้ความสามารถของเพื่อนๆ ในวง นั่งทำอยู่คนเดียวมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เราต้องรู้ว่าความสามารถของลูกวงแต่ละคนเป็นยังไง ต้องมีคนหนึ่งคอยนำ ตรงนี้ร้องอย่างนี้นะ เล่นอย่างนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ผม ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย”
เคล็ดเรียน
แม้งานสร้างสรรค์อย่างการแต่งเพลงจะมีธรรมชาติเป็นเรื่องเฉพาะกาลและเฉพาะตัว และแอ๊ดได้ตอบแล้วว่า เคล็ดลับของเขามีเพียงการฝึกฝนให้มาก ประสิทธิ์ หาญกลาง อดีตคนขับรถ ผู้รู้ใจของแอ๊ดเล่าให้ฟังว่าเขาต้องตรวจดูเศษกระดาษทุกชิ้นในรถก่อนที่จะหยิบไปทิ้ง เพราะเป็นไปได้ว่ามุมซองหรือหลังการ์ดอาจมีถ้อยคำที่ถูกบันทึกไว้ฉับพลันขณะเกิดแรงบันดาลใจของแอ๊ดที่อาจพัฒนาต่อเป็นบทเพลง อย่างไรก็ตาม สำหรับขุนพลเพลงเพื่อชีวิตที่ผลิตงานทั้งในนามคาราบาวและส่วนตัวมาแล้วกว่า 57 อัลบั้ม รวมเป็นกว่าพันเพลง วิธีการทำงานของเขาห่างไกลจากการอาศัยเพียงเหตุบังเอิญ แอ๊ดไม่มีเคล็ดลับ แต่เขาอาจมีเคล็ดเรียน
“ในศาสตร์ทุกศาสตร์เราต้องมองภาพรวมให้ออกก่อน ทางพุทธเขาเรียก ‘ปฏิสัมภิทา 4’ คือวิธีคิดแบบ พระพุทธเจ้า ถ้าเอาไปให้นักเรียนได้เรียนกันตั้งแต่ประถม นักเรียนจะรู้หลักว่าต้องเรียนอย่างไร อันดับแรก ‘อรรถปฏิสัมภิทา’ อรรถคือรายละเอียด เวลาครูอธิบายอะไร ก็จำในรายละเอียดได้หมด เห็นภาพรวม ขยายความได้ แล้วต่อมาก็ ‘ธรรมปฏิสัมภิทา’ คือสามารถบันทึกแล้วนำไปเล่าต่อ สรุปได้ แล้วก็ ‘นิรุตติปฏิสัมภิทา’ นิรุตติก็คือการใช้ภาษาสื่อความหมาย มีศิลปะที่จะสื่อสารให้พุ่งไปถึงใจคนฟัง ไม่ใช่ตะกุกตะกัก จับต้นชนปลายไม่ถูก ครูบาอาจารย์หลายคนพูดสองสามชั่วโมงแต่ฟังแล้วจับอะไรไม่ได้ เขาพูดแต่สิ่งที่อยู่ในหัวเขาไม่รู้จักที่จะไล่เรียง และอันสุดท้ายก็คือ ‘ปฏิภาณปฏิสัมภิทา’ คือมีปฏิภาณ มีไหวพริบ เอาไปขยายดอกออกผล ความรู้โยนมาสู่คุณแล้ว คุณไปสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นต่อไปอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมเรียนจากพุทธศาสนา เมื่อ 5-6 ปีที่ แล้ว ตอนนั้นผมหยุดเหล้าหยุดอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้บวชก็เหมือนบวช ศึกษาแต่ธรรมะอย่างเดียว ทั้งกลางวันกลาง คืนเวลามีใครมาหาก็จะแนะนำว่ามีคาถาของพระพุทธเจ้าบทนี้อยู่น่าเอาไปให้ลูกๆ อ่าน ให้รู้จักจำเรื่องหลักๆ ให้ได้ ก่อนแล้วค่อยมาเรียนเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย
จะแต่งเพลงให้ดี ต้องค้นคว้าเยอะๆ จดเอาไว้ในหัวสมอง เวลามีอะไรมาสัมผัสก็ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘โยนิโส มนสิการ’ คือกระทำอยู่ในใจ คิดในใจอย่างแยบยลก่อนแล้วค่อยเขียน ต้องมีข้อมูล ต้องศึกษาค้นคว้า อ่านหนังสือบ้าง ฟังบทสัมภาษณ์หรือดูยูทูบบ้าง และอันดับแรกต้องเลือกครูให้ถูก ถ้าเลือกครูผิด หลงทิศผิดทาง
...ผมทั้งอ่าน ทั้งซื้อหนังสือ ท่านพุทธทาสน่าจะมีเป็นร้อยเล่ม ซื้อหนังสือของท่านสมเด็จป.อ. ปยุตฺโต แล้วก็ศึกษาเรื่องนั่งวิปัสสนาตามแนวทางหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ชา สุภัทฺโท พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ฉลาดมากๆ ปัญหาของผมคือเป็นพุทธแต่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ทิ้งเวลาไปเยอะมาก เพราะยุ่งแต่การเมือง อ่านแต่หนังสือการเมือง อ่านแต่คอมมิวนิสต์ หนังสือปฏิวัติ พวกสรรนิพนธ์ วัตถุนิยมวิภาษอะไรอย่างนี้ จนมาตอนหลังได้ไปเล่นหนังกับเล็ก (ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์) เรื่องลูกผู้ชายหัวใจเพชร ได้คุยกันแล้วผมก็เอ๊ะ---ทำไมเด็กคนนี้มันฉลาด พูดเรื่องอะไรมันรู้หมดเลย พูดเรื่องอิสลามก็รู้ พูดเรื่องพระคริสต์ก็รู้ เรื่องนั้นเรื่องนี้มันก็รู้ไปหมด ต่อมาค่อยรู้ว่าอ๋อ---แม่เขาเป็นปราชญ์ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ท่านเป็นปราชญ์และทำหนังสือขาย เล็กได้นิสัยนี้มาจากแม่ ตั้งแต่นั้นมาเป็นยี่สิบปีมาแล้ว ผมเลยใช้เล็กเป็นแรงบันดาลใจ ผมต้องรู้ให้มาก ต้องฉลาดให้ได้ อะไรที่ผมไม่รู้ ผมจะต้องรู้ ผมก็เริ่มศึกษามาตลอด
...จะแต่งเพลงให้ดี ต้องค้นคว้าเยอะๆ จดเอาไว้ในหัวสมอง เวลามีอะไรมาสัมผัสก็ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘โยนิโส มนสิการ’ คือกระทำอยู่ในใจ คิดในใจอย่างแยบยลก่อนแล้วค่อยเขียน ต้องมีข้อมูล ต้องศึกษาค้นคว้า จะแต่งเพลงเกี่ยวกับพระนเรศวรก็ต้องศึกษาเรื่องพระนเรศวรให้ลึกซึ้งถึงจะแต่งได้ดี อ่านหนังสือบ้าง ฟังบทสัมภาษณ์หรือดูยูทูบบ้าง และอันดับแรกต้องเลือกครูให้ถูก ถ้าเลือกครูผิด หลงทิศผิดทาง อย่างเรื่องพุทธศาสนา ผมเลือกพระสามองค์เป็นครูคือ ท่านพุทธทาส ท่านสมเด็จป.อ. ปยุตฺโต และท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ ผมเลือกท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์ ธิดา สาระยา
...ของพี่สุจิตต์ผมฟังเอามัน เพราะท่านใส่ความคิดส่วนตัวเยอะ ส่วนอาจารย์ศรีศักรท่านไม่ได้เป็นนักโบราณคดี ท่านเรียนมาทางมานุษยวิทยา ไม่ได้ลงไปขุด แต่เป็นคนที่ไปดูพื้นที่แบบองค์รวม ดูแม่น้ำ ภูเขา ดูการตั้งถิ่นฐาน คนจะตั้งบ้านเมืองได้ แม่น้ำ ภูเขา แล้วก็ที่ราบ สามอย่างนี้สำคัญ ดังนั้น คนอีสานจะตั้งแบบนี้ คนภาคใต้จะตั้งยังไง ภาคเหนือจะตั้งยังไง เขาต้องศึกษา ส่วนของอาจารย์ธิดาบอกว่าการพบปะกันของคนในสมัยโบราณของบ้านเราไม่ใช่ว่าพบปะแล้วก็ฆ่ากันอย่างเดียว มันเป็นการปะทะสังสรรค์ คือมีการติดต่อถึงกันและกันด้วยเรื่อง ของการแต่งงาน เรื่องการค้าขาย หรือบางครั้งขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ก็ตีกันสักทีหนึ่งแล้วเลิกรากันไป แต่ไม่ใช่แบบกรีก โรมัน หรืออียิปต์ที่ยกทัพกันมาทีมืดฟ้ามัวดิน เราเลยไม่ค่อยจะเหมือนกับทางตะวันตก
...ยกตัวอย่างเพื่อจะบอกว่าเวลาเราศึกษาอะไร เราต้องเลือกครูให้ถูก เพราะถ้าเลือกครูไม่ถูกก็ไปเลย ยิ่งทุกวันนี้ทุกคนตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์กันหมด ถ้าเราฟังไปเชื่อไปหมด ตายเลย จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ถามว่าสุดท้ายจะเชื่อใคร เราต้องเชื่อตัวเราเอง เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์ เราไม่ได้ต้องการฟันธง คนที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์พอมาฟัง ก็จะบอกให้สรุปเลยดีกว่า เช่นตกลงประเทศไทยเดิมอยู่ที่ไหนแน่ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การต้องมาหาคำตอบเหมือนวิชากฎหมายที่จะตัดสินกันไปเลยจะจำคุกกี่ปี มันอยู่ที่เหตุที่ผล แล้วเหตุผลเหล่านี้ อีกสิบปีข้างหน้าไปเจอหลักฐานใหม่ มันก็ต้องเปลี่ยนไป เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเราเรียนหนังสือว่าพระเจ้า อู่ทองมาจากเมืองอู่ทอง หนีโรคห่ามา ก็เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพูด แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว หลักฐานบอกว่าเราไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไตแล้ว เราอยู่ตรงนี้มาตลอดแค่มันมีคนที่อื่นลงมาเติมมาปน ไทย-ลาว เพิ่งลงมาจากกวางสี เมื่อพันปีมานี้ แต่เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ที่นี่มีคนอยู่อยู่แล้ว”
แมวหลากสี
แอ๊ด คาราบาว เคยเปิดเผยกับสื่อนานแล้วว่าตัวเขานั้นไม่ได้ทำงานเพื่อค่ายอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง มากเท่ากับการ ‘หาอยู่หากิน’ แต่ด้วยความที่ภาพจำของสาธารณะเกี่ยวกับแอ๊ดคือการเป็นศิลปินเพื่อชีวิต และประวัติศาสตร์ไม่น้อยของวงดนตรีคาราบาวเองก็ผูกโยงกับการเป็นปากเสียงให้ชนใช้แรงงานและผู้ถูกมองข้าม แน่นอนว่าสังคมยากจะลดราความคาดหวังให้แอ๊ดเป็นมากกว่าคนทำมาหากิน และตั้งคำถามต่อเขาอยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องหยุมหยิมอย่างการที่เขานิยมผลิตภัณฑ์ที่อาจไม่ได้ผลิตในไทยอย่างรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์หรือกางเกงยีนส์ ไปจนกระทั่งการที่เขาผลิตงานเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจหรือการเมืองอย่างไม่จำกัดสีของแมว
“ทุกค่ายก็จ้างผมแต่งเพลงหมด ไทยรักไทยก็จ้างผมแต่งเพลง ประชาธิปัตย์ก็จ้างผมแต่งเพลง ผมไม่เคยทะเลาะกับพวกนักการเมือง ไม่ดีกูก็ด่ามึงเท่านั้นแหละ แล้วก็ลืมไป เจอกันวันหลังก็เซย์ไฮ---จบ อยากเขียนก็เขียน ไม่อยากเขียนก็ไม่เขียน อย่างเมื่อเช้าทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทำน้ำตกพุม่วง อยากเชิญให้แต่งเพลง ผมบอกผมไม่ไปเพราะผมไม่ชอบที่รัฐมนตรีของเขาสั่งปลดอี่ (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร) เขาคนดี ไปปลดเขาได้ยังไง ถ้าปลดคน อย่างนี้แล้วจะมีใครทำเพื่อประเทศชาติ ผมมองว่าคนที่ทำความดีให้แก่ชาติบ้านเมืองเราต้องปกป้อง
...ผมรักความยุติธรรม อาจจะเป็นวิธีคิดของนักเลงโบราณ แต่ผมเป็นอย่างนั้น ชีวิตผมวุ่นอยู่แต่กับเรื่องแบบนี้ ไม่งั้นก็ไม่ได้มีอะไร ตั้งแต่มนูญ รูปขจร จำลอง ศรีเมือง ฉลาด วรฉัตร ไปยุ่งไปช่วยเขา เมื่อก่อนเป็นเรื่องของผู้คนประชาชน แต่วันนี้ผมพอแล้ว เพราะคนที่จะลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนประชาชนจุดติดแล้ว ก็ให้เขาทำกันไป ตอนนี้ มันเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เพราะเป็นอะไรที่ยังไม่มีใครพูดจริงจัง อย่างเรื่องบางกลอยกะเหรี่ยงกะหร่างแถวนั้นเป็นคนดี อยู่มานมนาน ส่วนพวกขบวนการล่าช้างเป็นพวกไม่ดี เราก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า แต่รัฐบาลก็เฉยจนมีอี่คนเดียวที่ลงไปลุยแล้วสุดท้ายต้องรับกรรมถูกปลดออก มีคนบอกจะมายิงผม กรณีที่ไปปกป้องอี่-- ชัยวัฒน์ ผมก็ฟังไปอย่างนั้น กลัวอะไรคนเรา จะมายิงก็มายิงสิ มาพูดทำไม มาเตือนเหรอ
เคล็ดลับไม่มี มีแค่ทำซ้ำๆ กัน แล้วก็แก้สิ่งที่ผิดพลาด ประธานเหมา เจ๋อตงเขาบอกแบบนี้ ซึ่งประธานเหมาก็เอามาจาก คาร์ล มาร์กซ์ การกระทำซ้ำๆ กันทำให้เกิดความชำนาญ เมื่อมีความชำนาญแล้ว ความผิดพลาดก็น้อยลง”
...ผมถือว่าสิ่งที่ผมทำออกไปคือความสุขของผมเอง ใครจะสุขด้วยไม่สุขด้วยก็ช่าง ใครจะฟังไม่ฟังก็ช่าง เพราะผมผ่านตรงนั้นมาหมดแล้ว เพลงมันมีเวลา มันมียุคสมัยของมัน เวลานี้ไม่ใช่เวลาของผมแล้ว มันเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ ที่มีสำเนียงของเขาเอง เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่กำลังตายไป หรือเพลงลูกกรุงที่หายไป มันหมดยุค ของมันแล้ว ตูน บอดี้สแลมกับผมยังร้องเพลงต่างกัน ให้ผมไปร้องเพลงตูนผมก็ร้องไม่ได้ กระแสเพลงเปลี่ยน เราไปทวนกระแสไม่ได้ สังคมก็ต่างกัน ถ้าให้ผมเขียนถึงปัจจุบัน ผมก็เขียนไม่ค่อยออก เพราะเราก็ติดอยู่แต่กับภาพเก่าๆ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คุณเดินท่าไหน คุณจะต้องเดินท่านั้นไปตลอดชีวิต พอคุณไปเปลี่ยนตัวเอง คนเขาก็ไม่รับด้วย บ็อบ ดีแลนเล่นกีตาร์โปร่งคนเดียวกับเมาธ์ออร์แกน พอเปลี่ยนมาเป็นกีตาร์ไฟฟ้าแล้วก็คนด่า ไม่ฟังเลย
...ผมเห็นคนที่เขาขยันมากเลยคือนีล ยัง ทุกวันนี้ยังทำอัลบั้มอยู่เลย แต่สิ่งที่เขาทำตอนนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เลย ทำให้ผมคิดได้ว่า โห---ระดับคนอย่างนีล ยัง ที่อยู่ในโลกที่หนึ่งแล้วมีนักดนตรีเก่งๆ อยู่รอบข้าง มีเทคโนโลยีรอบข้าง เขายังหนีข้ามตัวเองไม่พ้น เพลงที่ออกมาทุกวันนี้ไม่ได้ดีกว่าเพลงในอดีต ยุคของเขาจบแล้ว ทุกคนก็เป็นแบบนี้ ทั้งเอริก แคลปตัน ทั้งซานตาน่า ตั้งแต่เพลง Corazon Espinado มา ซานตาน่าไม่เคยมีดังเลยสักเพลง ผมเคยเล่นกับเขาสองครั้ง เขามาเล่นกับผม ผมบอกผมจะเล่น Black Magic Woman ผมร้องได้มาตั้งแต่เล็กๆ เราจะได้โซโล่กัน เขาบอกไม่เอา จะเอาเพลงคาราบาว จะเอาบัวลอย เอาวณิพก คือเขาก็เบื่อของเขา ดังนั้น มันต้องจบตัวเองต้องเข้าใจตัวเองแล้วก็หาวิธีลง อย่างผมมาทำเพลง 77 จังหวัด ผมก็ทำแจกฟรี
...พระพุทธเจ้าท่านฉลาดจริงๆ อริยสัจแห่งจิตคิดได้ยังไง ความทุกข์เกิดในจิต ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย เราก็ต้องดับที่จิต อาจารย์ว. วชิรเมธี เคยทักว่าเพลง ‘ทะเลใจ’ มันหมายถึงนิพพาน จริงๆ ผมเขียนก่อนตั้งแต่ยังไม่รู้จักศาสนาพุทธ บวชแล้ว แต่ไม่เคยรู้จักศาสนาพุทธ แต่พอหลังจากอาจารย์ ว. พูดแล้วผมมาพิจารณาดู เออ---ใช่ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข พระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้เลยนะ ค้นให้พบตัวเอง เมื่อพบเจอตัวเองเราก็จะเป็นสุข เรารู้แล้วว่าเราเป็นใคร มาจากไหน แล้วก็ขณะนี้เราเป็นอะไรอยู่ กลุ้มใจเพราะอะไร หรือดีใจเพราะอะไร”
ถูกและดี
นอกเหนือจากผลงานเพลง อีกสิ่งหนึ่งที่ร้อยชื่อของคาราบาวไว้ในชีวิตของผู้คนฐานรากของสังคมจำนวนไม่น้อยก็คือเครื่องดื่มชูกำลัง ‘คาราบาวแดง’ ที่วันนี้ประสบความสำเร็จขายดีมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองของประเทศไทยในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง อีกทั้งพรรคพวกผู้ถือหุ้นนำโดยเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ยังขยายผลความสำเร็จนี้ไปสู่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ที่มีแผนเปิดสาขารวม 30,000 แห่งภายในปีนี้ แอ๊ดยอมรับว่าการก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจคือจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เขาทำงานเพลงได้โดยปราศจากความกังวลเรื่องปากท้อง ในขณะที่มีคำวิจารณ์ว่าการทำธุรกิจขายเครื่องดื่มชูกำลังขัดกับการต่อสู้เพื่อคนจน การพิพากษาว่าธุรกิจของแอ๊ดเป็นสิ่งผิด อาจเป็นการมองข้ามความตั้งใจของเขาในอีกหลายมิติ
“มันสบช่องทำมาหากินได้ก็ทำ เหมือนเพลง ‘คนล่าฝัน’ ชีวิตมีอะไรตั้งเยอะแยะ มีเกิดแก่เจ็บตายคล้ายๆ กัน เราก็ต้องสู้ เพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ในอนาคตข้างหน้า ไม่มีใครไม่อยากรวย ปัญหาคือผมทำแล้วดันทำเป็น ถ้าทำแล้วเจ๊ง คงไม่มีใครว่า เพราะดาราส่วนใหญ่ทำธุรกิจแล้วมักจะเจ๊ง แต่ผมไม่เคยใช้เงินที่ได้จากทำคาราบาวแดงเลย ผมใช้เงินจากเล่นดนตรี เพิ่งจะมีช่วงนี้โควิดที่ผมต้องเอาเงินคาราบาวแดงมาเลี้ยงลูกน้อง เมื่อก่อนนี้ไม่เคยเลย เดินมาถึงวันนี้ ผมก็โอเค สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ บอกต่อๆ กันไปเลยว่า คือ คิดแต่เรื่องดีๆ ทำแต่สิ่งดีๆ ให้คนอื่น ถ้าเราไม่ทำเรื่องดีๆ ให้คนอื่น วันหนึ่งเรื่องดีๆ ก็คงไม่มาหาเรา
...เริ่มต้นคือคุณเสถียรไปซื้อผับตะวันแดงต่อจากพวกของเราที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ก็ไปมาหาสู่กันจนวันหนึ่งพลเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำกองพันรัฐฉานภาคใต้ ชวนไปเที่ยวฐานที่มั่น เราก็เลยชวนพวกมิตรสหายที่เคยเข้า ป่าด้วยกันไป มีแดง สมประสงค์ อยู่อุ้มผาง มีปรีดา ข้าวบ่อ อยู่อีสานใต้ แล้วได้มีโอกาสคุยกันจริงจังว่าดนตรีมันมาถึงทางตันแล้วจะทำอะไรกันดี ก็เลยออกมากลายเป็น ‘คาราบาวแดง’ ส่วนธุรกิจมาร์ท ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ เราก็ต้องทำเพราะพอเรามาทำน้ำดื่มทำเหล้าทำเบียร์ เราก็ต้องมีร้านไว้ลงของของเราเอง เพราะเจ้าของพื้นที่เดิมเขาไม่ยอมให้เราเอาของไปลงร้านเอเย่นต์ของเขา
...เราก็เลยถือเป็นโอกาสใช้นโยบายช่วยเหลือคนไปด้วย ที่เห็นชัดเจนก็คือร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็นการลงไป ช่วยสังคมเหมือนสมัยก่อนที่เราคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นเจตนาเดิมที่พี่เถียร (เสถียร เศรษฐสิทธิ์) อยาก ให้ประชาชนลืมตาอ้าปากช่วยเหลือตัวเองได้ ธุรกิจของคาราบาวแดงจึงเป็นธุรกิจที่เห็นสังคม เห็นผู้คน เห็นพื้นที่ เราเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีร้อยหรือสองร้อยหลังคาเรือนเราก็เริ่มต้นได้ ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของธุรกิจแล้วเราเข้าไปสนับสนุน ได้กำไรก็แบ่งกัน กำไรสุทธิ คุณเอาไป 85% เราเอาแค่ 15% ทั้งที่ความจริงร้านหนึ่งร้านบางทีเราต้องลงทุนหมดเป็นล้านสองล้าน มีคนมาบอกว่ามีคนคิดทำธุรกิจแข่งกับพี่แล้วนะ ผมบอกให้เขาทำไปเลย ถ้ามีใครจะทำแล้วทำอย่างเราได้ เพราะคุณต้องเริ่มจากหัวจิตหัวใจที่จะไม่เอาเปรียบ ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของนักธุรกิจไทย ดังนั้นใครอยากทำก็มาทำเลย แล้วมาลองดูว่าใครจะสำเร็จ
ผมผ่านตรงนั้นมาหมดแล้ว เพลงมันมีเวลา มันมียุคสมัยของมัน เวลานี้ไม่ใช่เวลาของผมแล้ว มันเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ ที่มีสำเนียงของเขาเอง เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่กำลังตายไป หรือเพลงลูกกรุงที่หายไป มันหมดยุคของมันแล้ว ถ้าให้ผมเขียนถึงปัจจุบัน ผมก็เขียนไม่ค่อยออกเพราะเราก็ติดอยู่แต่กับภาพเก่าๆ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คุณเดินท่าไหน คุณจะต้องเดินท่านั้นไปตลอดชีวิต
...สำหรับผม การมาเจอพี่เถียรแล้วทำคาราบาวแดงคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ทำให้ผมไม่ต้องไปกังวลอะไรมากกับเรื่องเพลง เพราะสำหรับคาราบาว เรื่องเพลงมันเดินทางมาสู่จุดสูงสุดของมันแล้ว วงรุ่นใหม่มันก็จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ของคาราบาวเหลือแค่คนรุ่นเก่าที่ฟัง คนรุ่นใหม่ถึงมาฟังบ้างก็ไม่มาก ถ้าเป็นธุรกิจคงไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น ตอบได้เฉพาะเวลาไปเล่นคอนเสิร์ต แต่พวกธุรกิจ ซีดี เทปจบไปแล้ว ดังนั้นนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ก่อนหน้านั้นผมก็แค่แต่งเพลงสู้กับปัญหาบ้านเมืองไปวันๆ ถามว่ากลัวล้มเหลวหรือกลัวพลาดโอกาส ไม่รู้จะตอบยังไง ไม่ค่อยได้คิดแบบนี้ คิดอะไรก็ทำเลย ล้มเหลวก็ไปใหม่ ทำเรื่องอื่นใหม่”
คนเป็นคน
เมื่อการสัมภาษณ์ใกล้สิ้นสุด แอ๊ดได้ลุกขึ้นไปหยิบเอาพระเครื่องมาแจกทีมงาน ชวนให้นึกถึง ‘หลวงพ่อคูณ’ อีก หนึ่งเพลงดังซึ่งเขาแต่งร่วมกับพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ในปี 2537 แอ๊ดเคยให้ สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาเห็นว่าเรื่องเครื่องรางของขลังนี้เป็นลัทธิผี มากกว่าพุทธ แต่ในเมื่อคนส่วนใหญ่ตลอดจนเพื่อนฝูงยังถือคติ เขาจึงไม่ปฏิเสธการทำเพลงนี้และยังใช้ในการโปรโมตงานจัดทำพระเครื่องหลวงพ่อคูณรุ่นเพื่อชีวิต ในปี 2539 กระนั้น เพลงโปรโมตพระเครื่องนี้ไม่วายสอดแทรกไว้ด้วยมุมมองเสียดสีพฤติกรรมเชื่อเครื่องรางของขลังมากกว่าการเอาหลักธรรมมาปฎิบัติในชีวิตของชาวพุทธไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่มักวนเวียนเข้าหาพระเกจิ แต่ก็ยังโกงกินว่า “หลวงพ่อ ท่านเบื่อ จะตาย สร้างรุ่น สุดท้าย รุ่นแช่ น้ำมนต์ ถ้าจะให้ขลัง มีประสิทธิผล ต้องเตะตูด (สส) ทีละคน ไล่เสนียด จัญไร”
บางคนอาจใช้คำวิจารณ์ว่าย้อนแย้ง แต่นี่นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างว่าความพยายามจับแอ๊ด คาราบาวเข้ากล่องความคิดหรืออุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ในวันนี้ที่ หลังการแจกพระ แอ๊ด คาราบาวยังชวนทีมงานไปดูส่วนหลังบ้านของเขาที่ปลูกกัญชา และกระท่อมไว้เป็นหย่อมๆ รองรับการเปิดเสรี “ต้นนี้เรียกขาวแตงกวา ต้นนั้นเรียกก้านแดง” เขาชี้ชวนให้ทีมงานดูต้นกระท่อมที่ปลูกไว้ก่อนเด็ดใบหนึ่งจากต้นมาเคี้ยวสาธิตกลางแดดบ่าย และให้สัมภาษณ์ต่อว่าเขารู้สึกพอใจกับชีวิตทุกวันนี้ เว้นเสียแต่เรื่องนิสัยการกินเหล้าของตัวเอง
“เมื่อก่อนที่ทำเพลงหลวงพ่อคูณ ก็ตอนที่มีการสร้างพระพอดี แต่งกับพี่พยัพ คำพันธุ์ หลวงพ่อคูณเป็นคนตลก ตอนไปจัดคอนเสิร์ตที่วัดบ้านไร่ ท่านยังขึ้นมานั่งบนเวที บอกมึงร้องเลยๆ สองรอบ เอาสองรอบเลย แต่ว่าพระที่ผมเอามาแจกเป็นสมเด็จวัดระฆังอนุสรณ์ ครบรอบ 150 ปี คิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่จะทำพระแล้ว ไม่เอาแล้ว เหนื่อยครั้งนี้ได้มายี่สิบห้าล้าน ก็ให้โรงพยาบาลทุ่งสงไปสิบล้าน และก็อีกสิบห้าล้านให้วัดระฆังไปเลย เขาเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่
... ชีวิตก็ดีอยู่แล้วทุกวันนี้ ที่ไม่ชอบเรื่องเดียวก็คือพยายามที่จะไม่กินเหล้าเยอะ เพราะเป็นคนกินเหล้าเยอะ เหล้าเราทำเองแล้วเหล้าเราดี กินแล้วไม่เมา หอม อร่อย และถูก ก็เลยไปกันใหญ่ ส่วนใหญ่หลังจากชิมเสร็จก็กินต่อเลย เป็นคนที่ไม่ชอบกินเหล้ากับคนอื่น ถ้าไปพบเพื่อนฝูงแล้วกินเหล้า มันก็ได้แต่เรื่องเก่าๆ เดิมๆ แต่เราชอบกินคนเดียว ไม่ใช่กินแล้วก็นั่งเมากับตัวเอง เรากินแล้วก็ศึกษาหาความรู้ นั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งแต่งเพลงอะไรไป ครีเอทีฟดี แต่ไม่กินก็ได้ ผ่านมาหมดแล้ว เวลากินก็กินทุกวัน แล้วพอจะเลิก ก็เลิกเลย บอกเพื่อน เฮ้ย---พรุ่งนี้กูเลิกแล้ว เพื่อนตอนแรกก็บอกไม่มีทาง---เดี๋ยวมึงก็ต้องกิน แต่ผมทำให้เห็นแล้ว 5 ปี มันบอกยอมรับเลย นั่งอยู่กับเพื่อนยันสว่างแต่ไม่กิน แต่วันใดที่ผมกลับมากิน ผมก็กินปกติ ผมหยุดแบบหักดิบตลอด เพราะผมเป็นคนไม่หักดิบไม่ได้ กินน้อยลงไม่ได้ ต้องหยุดอย่างเดียว
...ผมเคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปลพบุรี แล้วขี่จากลพบุรีไปปากช่อง ตากฝนตลอดทางเลยสามชั่วโมง มองอะไรไม่เห็นเลย แล้วผมก็กระดกเหล้าตลอดทาง เพราะมันหนาว ไปถึงปากช่องเมื่อไหร่ ผมไม่รู้เรื่องเลย แล้ววันนั้นมันเป็นงาน ผมขึ้นไปร้องเพลง หรือทำอะไร ผมไม่รู้เรื่องทั้งนั้น ผมยังถามเพื่อนว่าใครเอารถกูมาวะเนี่ย พอทุกคนบอกว่าผมไม่น่าขี่มาเลย อันตรายมาก ผมเลยบอกว่าที่ขี่มาได้ก็เพราะเมา ถ้าไม่เมาคงไม่กล้าขี่ เพราะฝนตกตลอดทาง มองอะไรไม่เห็นเลย พอถึงที่งาน จากที่เปียกโชกทั้งตัวผมก็นั่งจนแห้ง แล้วก็กลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมาผมเลยหยุดเหล้าเลย ไม่ไหว---กินจนจำไม่ได้”
ในฐานะดารานักร้อง อาจมีอีกหลายคำตอบที่ฟังดูดีกว่าการยอมรับถึงจุดอ่อนเรื่องการดื่มของตัวเอง แต่ความเป็นผู้รักประวัติศาสตร์ ดูจะทำให้แอ๊ดเลือกบันทึกข้อเท็จจริงไว้อย่างพร้อมมูล ไม่ว่าอภินิหารหรือความผิดพลาด “คนเป็นคนย่อมปะปนด้วยชั่วดี ในศักดิ์ศรีมีทั้งจนและร่ำรวย มีความรักเป็นเรื่องราวอันสดสวย ความผิดหวัง เป็นแค่เรื่องธรรมดา” เส้นทางของผู้แต่งเพลง ‘คนล่าฝัน’ ไม่ได้ต่างไปจากอีกหลายชีวิตที่เป็นผู้ฟังของเขา
“ไม่รู้จะบรรยายชีวิตยังไง ก็เป็นคนที่เกิดมาแล้วเป็นศิลปิน และพยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม เหมือนพ่อ เป็นทั้งศิลปิน นักกีฬา นักประวัติศาสตร์ แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตอนนี้ตั้งใจทำเพลง ประจำจังหวัดในบริบทของประวัติศาสตร์ของ 77 จังหวัดให้ครบ ขาดแค่ 3 จังหวัดภาคใต้ คิดว่าปลดล็อคโควิดคงได้ลงใต้ไปหาข้อมูลเพิ่มแล้วก็จะเสร็จ งานที่ตั้งใจจะทำต่อเเต่ยังไม่ได้ทำคือทำเพลงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสังคม ทั้งจากตำนานเเละประวัติศาสตร์สังคม-โบราณคดี เช่น เล่าถึงขุนเจืองราชาธิราชสองฝั่งโขงที่เเผ่อิทธิพลถึงเวียดนาม หรือเรื่องพระเจ้าอู่ทองมิใช่ท้าวอู่ทองจากสุวรรณภูมิ หรือพ่อขุนรามเป็นชู้กับราชเทวีของพ่อขุนงามเมือง หรือเรื่องพระเจ้าตากไม่ได้ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ ฯลฯ ผมคิดว่าควรทำอย่างยิ่ง จะได้เป็นการชำระประวัติศาสตร์ไทยเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด อย่างน้อยก็ในฉบับแอ๊ด คาราบาว นักโบราณคดีเขาแนะนำมาว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์-โบราณคดี ถ้าได้เครื่องมืออย่าง ละคร ภาพยนต์ หรือบทเพลง จะช่วยให้ดึงความสนใจของคนได้มากกว่า”
เมื่อสัมภาษณ์เสร็จและออกมาที่ลานจอดรถ เราได้ยินเสียงลำโพงดังขึ้นในสนามหญ้าหน้าบ้าน ประสิทธิ์ อดีตคนขับรถผู้รู้ใจของแอ๊ดอธิบายให้ฟังว่าทุกวันเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง แอ๊ดจะต้องออกมาวิ่งรอบสนามและบริเวณภายในบ้าน โดยเขามักเอารายการประวัติศาสตร์มาเปิดเข้าลำโพงที่สนาม เพื่อฟังไประหว่างวิ่งโดยไม่ต้องใช้หูฟัง
เห็นได้ชัดว่าสำหรับแอ๊ด ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่จบไปแล้ว
แต่เป็นสิ่งที่เขายังรับฟังอย่าง ‘อัพเดต’ ด้วยหัวใจและเลือดลมที่สูบฉีดในแต่ละวัน ■