SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Gross Domestic Happiness
รอยยิ้มและสุขนิยมของ จินา โอสถศิลป์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ของค่ายหนังแห่งความสุข GDH
หากความสุขสามารถแปลออกมาเป็นภาพยนตร์ได้ ค่ายภาพยนตร์อย่าง GDH อาจเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความสุขให้กับผู้ชมชาวไทยได้ดีที่สุดเวลานี้ นี่ไม่ใช่แค่แนวคิดที่แฝงอยู่ในชื่อเต็มของค่ายที่ว่า Gross Domestic Happiness เท่านั้น แต่ยังสะท้อนมุมมองและความเชื่อส่วนตัวของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จินา โอสถศิลป์ อย่างแยกไม่ออก
จากเด็กกิจกรรมที่เลือกเรียนวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน จินาได้ปักหลักอยู่กับงานเบื้องหลังที่สนับสนุนการสร้างผลงานหลากหลายทั้งโฆษณา มิวสิควิดีโอ มาจนถึงภาพยนตร์อย่างช่ำชองในฐานะ ‘นักบริหารจัดการ’ ที่เพื่อนร่วมงานทุกคนล้วนให้การยอมรับและไว้วางใจ
และเหนืออื่นใดที่จินาไม่เคยลืมก็คือ การนำ ‘สุขนิยม’ มารวมกับ ‘ความสามารถนิยม’ เพื่อให้คนทำงานมีความสุขและปล่อยของกันเต็มที่ไม่มียั้งเพื่ออนาคตของค่ายหนังเเห่งความสุขนี้จะเดินต่อไปจนสู่ระดับโลก
คำของพ่อ
พี่เติบโตมากับครอบครัวคนจีน พ่อเป็นลูกชายคนโตของอาม่า เรียนที่อัสสัมชัญจบแล้วก็ไปทำงานบริษัทฝรั่งเพื่อหาเงินมาส่งเสียน้องๆ คุณพ่อเป็นไอดอลของพี่เลย เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นผู้บริหาร มีรถประจำตำแหน่ง เป็นนักการตลาดที่เก่ง ทำนมหนองโพ ทำไมโลโรงเรียน ทำน้ำมันกุ๊ก คุณพ่อสอนว่าคนเราจะทำอะไรต้องทำด้วยสองมือของเราเอง อย่าไปหวังว่าจะได้อะไรจากใครหรือไปเอามาจากคนอื่น แล้วก็สอนให้มองให้สูง อย่ามองต่ำ ให้มองคนที่สำเร็จว่าเขามีอะไร ทำไมเขาถึงทำสำเร็จ แต่อย่าไปเอาอย่างคนที่เขาอยู่สบายๆ เพราะบางคนเขาอาจจะแค่โชคดีมีวาสนาเกิดมาแล้วสบาย เราต้องรู้จักลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง
คุณพ่อสอนว่าคนเราจะทำอะไรต้องทำด้วยสองมือของเราเอง อย่าไปหวังว่าจะได้อะไรจากใครหรือไปเอามาจากคนอื่น แล้วสอนให้มองให้สูง อย่ามองต่ำ ให้มองคนที่สำเร็จว่าเขามีอะไร ทำไมเขาถึงทำสำเร็จ แต่อย่าไปเอาอย่างคนที่เขาอยู่สบายๆ เพราะบางคนเขาอาจจะแค่โชคดีมีวาสนาเกิดมาแล้วสบาย เราต้องรู้จักลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง
ครูแนะแนว
พี่เป็นเด็กสาธิตปทุมวัน คะแนนก็ไม่ได้ดีมาก เพราะเป็นเด็กกิจกรรมมากกว่า แต่ก็โชคดีว่าผ่านเข้าไปเรียนศิลป์ภาษาได้ แล้วตอนนั้นก็มีอาจารย์แนะแนวท่านหนึ่งถามว่าอยากเป็นอะไร พี่บอกอยากเป็นทนาย เพราะได้ยินคนเขาพูดกันว่าเป็นทนายแล้วรวย แล้วพี่คุยเก่ง ก็คิดว่าคนคุยเก่งก็เป็นทนายได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ทนายต้องมีความรู้ ต้องอ่านหนังสือเยอะ ครูเขาก็ดูเราแล้วเลยบอกว่า “จีน่า อาจารย์ว่ากฎหมายไม่น่าได้ เธอไม่อ่านหนังสือเลย แต่มันมีคณะนิเทศศาสตร์ที่เธอน่าจะชอบ และยังไม่โดดเด่นมาก เธอเป็นคนคิดเลขเร็ว ถ้าไปถอนวิชาภาษาแล้วไปเรียนเลขอย่างเดียวน่าจะมีโอกาส” พี่ก็ทำตามจนในที่สุดก็สอบเข้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แล้วเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต เพราะครูแนะแนวท่านนั้นเป็นคุณแม่ของพี่หมู (ชยพร บุญประกอบ) ผู้กำกับ ‘Suck Seed ห่วยขั้นเทพ’ กับ ‘Friend Zone ระวัง…สิ้นสุดทางเพื่อน’ ถ้าไม่ได้ครูท่านนั้นพี่คงไปเรียนนิติฯ หรือไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้
งานของพี่เป็นการบริหารจัดการคน ทำให้คนของเราทำงานออกมาดี การทำงานให้ออกมาดีต้องมีความสุข แล้วความสุขมาจากไหน ก็มาจากความรู้สึกว่าเขาอยู่สบาย ไม่มีความกังวล ตื่นเช้าแล้วอยากมาทำงาน ทำให้เขารู้สึกว่าออฟฟิศนี้ดี เป็นบ้านหลังที่สอง
เด็กนิเทศฯ
พอมาเรียนนิเทศศาสตร์รู้เลยว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ เพราะวิชาอ่านพี่ไม่ค่อยดีแต่อะไรที่เป็นวิชาตอบคำถามพี่ทำได้ดีมาก ปีสามมีเลือกภาควิชา มีโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ภาพยนตร์ พี่ก็คิดว่าเรียนวิทยุและโทรทัศน์ดีกว่า เพราะท่าทางไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ แค่ต้องสอบพิมพ์ดีด พี่ก็ไปเรียนพิมพ์ดีด 25 คำต่อนาทีจนผ่านฉิวเฉียด สนุกมากเพราะมันเป็นการทำงานหมดเลย ต้องเขียนสคริปต์ จัดรายการ ทำละคร ทำข่าว ได้ทำอะไรต่างๆ ที่เราชอบ แต่คุณพ่อกลัวว่าปิดเทอมพี่จะเอาแต่เที่ยวเล่นเลยฝากให้ไปฝึกงานพีอาร์กับพี่น้อย จันทนีย์ อูนากูล ที่โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แล้วพอปีสองอีกเทอมหนึ่งก็ได้ไปฝึกงานกับสยามสตูดิโอ เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เพราะเห็นคนเก่งๆ เต็มไปหมด บริษัทก็น่ารัก มีค่าข้าวกลางวันให้เด็กฝึกงานทุกคน เราก็รู้สึกว่าทำไมดีอย่างนี้ ก็คิดมาตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าเรามีบริษัทของเราเอง เราต้องทำให้ออกมาดีแบบนี้ให้ได้
ชีวิตคนเราเหมือนวิ่งมาราธอน เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่เราวิ่งคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีมกายภาพ มีหมอ มีคนคอยดูแล การทำหนังก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องวิ่งไปด้วยกันถึงจะเป็นพลัง
ชีวิตทำงาน
พอเรียนจบ พ่อพาพี่ไปฝากเพื่อนคือคุณประกิต (อภิสารธนรักษ์) เจ้าของบริษัทประกิต แอนด์ เอฟซีบี ทำโฆษณา ทำได้สามเดือน คุณประกิตก็มาบอกพี่ว่าอยากจะเปิดบริษัทเล็กๆ ทำวิดีโอ ชื่อ ‘อิมแพควิดีโอโปรดักชั่น’ เขาพูดกับพี่ว่า “จีน่าดูหน่วยก้านดีนะ ชอบเจรจาดี ให้ไปเป็นผู้จัดการก็แล้วกัน” ตอนนั้น พี่เพิ่งอายุ 21 แต่ได้เป็นผู้จัดการโปรดักชั่นเล็กๆ แล้ว ร่วมงานกับช่างภาพอายุ 40 กว่าๆ หลายคน ทำอยู่ประมาณปีครึ่ง คุณพ่อก็อยากให้ไปเรียนต่อ แล้วก็เหมือนเป็นโชคชะตาอีก ช่วงนั้นพี่ต้องตัดกรามและพักฟื้นพอดี เพื่อนที่เรียนด้วยกันจากนิเทศฯ จุฬาฯ เลยต้องนั่งรถไปถ่ายรายการที่ภาคใต้แทนพี่ รถที่เขานั่งไปเจออุบัติเหตุ นั่งกันไปแปดคน รอดสี่ เพื่อนพี่เขาไม่รอด พี่จำได้ว่าพี่ร้องไห้แล้วก็บอกพ่อว่าไม่ทำงานแล้ว เลยได้ไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก
ต่อยอดวิชา
พี่ไปเรียน Communication Arts ที่ NYIT (New York Institute of Technology) เพราะพี่แหม่ม (ยุพา เพ็ชรฤทธิ์) บอกพี่ว่าไม่ต้องเลือกมหาวิทยาลัยดังๆ หรอก เลือกเรียนที่ค่าเทอมไม่แพงแล้วเก็บเงินไว้ใช้จะดีกว่า วิชาชีพของพวกเรามันต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าเรียน พี่เห็นด้วยก็เลยไปเรียน โชคดีว่าได้เพื่อนๆ ช่วยกันเข็นจนผ่าน เพราะพี่ไม่ถนัดเขียนรายงาน ได้แต่ตอบแทนพี่ๆ น้องๆ คนไทยที่ช่วยพี่เรียนด้วยการพาพวกเขาเที่ยว พอกลับไทยมาคราวนี้พูดภาษาอังกฤษพอได้แล้ว เวลาเจอลูกค้าฝรั่งไม่กลัว เลยไปสมัครงานที่บริษัทลีโอเบอร์เนทท์ ตำแหน่งฟิล์มโปรดิวเซอร์ มีความสุขมาก ได้เรียนรู้งานจากพี่จิ๋ม-ภรณี เจตสมมา และพี่ภาณุ อิงคะวัต พี่จิ๋มเป็นคนสอนพี่เรื่องการทำงานแบบครอบครัวมืออาชีพ ทุกคนถ่อมตน ไม่มีหัวโขน ทำงานที่นี่สนุกมาก สิ่งดีๆ ระบบดีๆ ที่ลีโอเบอร์เนทท์พี่ก็เอาติดตัวมาใช้ทำงานภายหลัง
เริ่มต้นหับ โห้ หิ้น
เล่าก่อนว่าพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) เป็นรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พี่เก้งเคยให้พี่ช่วยบริหารจัดการมิวสิควิดีโอก่อนพี่ไปเรียนต่อ ตอนใกล้จบการเรียนที่อเมริกา พี่เก้งบอกว่าถ้าพี่กลับมาแล้วอยากจะเปิดบริษัทด้วยกันเพราะเขาเห็นว่าพี่เป็นคนคิดเลขเก่ง ชอบบริหารจัดการ ดังนั้น พอทำงานที่ลีโอเบอร์เนทท์ได้ปีหนึ่ง พี่เก้งก็มาตามให้ไปเปิดบริษัทด้วยกัน พี่เก้งอยากทำหนังไทยเพราะรักหนังไทยมาก แต่พี่บอกให้ทำโฆษณาเก็บเงินก่อน เลยเป็นที่มาของ ‘หับ โห้ หิ้น บางกอก’ เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ทำหนังโฆษณา ทำหนังโฆษณาทั้งในไทยและต่างประเทศเพราะเราพูดอังกฤษได้ เข้าปีที่แปดปีที่เก้า ทางไท เอนเตอร์เทนเมนต์ เขาจะทำหนังเรื่อง ‘สตรีเหล็ก’ ก็มาหาผู้กำกับ พี่เลยบอกพี่เก้งให้ลองไปกำกับเรื่องนี้ดู ปรากฏว่าสตรีเหล็กทำออกมาได้ดี เราได้ส่วนแบ่งรายได้ พี่เลยบอกพี่เก้งว่าถ้าอยากทำหนังของเราเอง เราต้องทำเป็นอาชีพ เลยแยกออกมาเป็น ‘หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม’
ความสำเร็จแรก
จังหวะนั้น คุณไพบูลย์ (ดำรงชัยธรรม) จากแกรมมี่ได้ยินว่าเราจะทำบริษัทหนัง ก็เลยมาพูดคุยและตกลงจะร่วมลงทุนกับจีเอ็มเอ็มพิคเจอร์ ตั้งเป้าว่าจะทำหนังสามเรื่องก่อน เรื่องแรกคือ ‘15 ค่ำเดือน 11’ เรื่องที่สองคือ ‘สตรีเหล็ก 2’ และเรื่องที่สามคือ ‘แฟนฉัน’ เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ใช้เงินไปพอควร รายได้ถือว่าเสมอตัว แต่ชื่อเสียงดีงาม กวาดทุกรางวัล พอมาสตรีเหล็ก 2 ได้เงินมาไม่มากเพราะเป็นภาคสองแล้ว เหลือแฟนฉัน คุยกับพี่เก้งว่าถ้าเรื่องนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องกลับไปทำงานโฆษณาเหมือนเดิม พี่เก้งก็ได้ลูกศิษย์หกคนมาเป็นผู้กำกับแฟนฉัน เราทำงานกันมุ่งมั่นมาก ไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะฉายเมื่อไหร่ เรื่องนี้ได้ทางแกรมมี่กับไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์มาร่วมลงทุนด้วย จำได้ว่าตอนทำงานสนุกมาก มีแพสชันกันสูงมาก พี่เก้งเชื่อในคนทำงาน เชื่อในลูกศิษย์ทั้งหกคน สุดท้ายแฟนฉันประสบความสำเร็จ ทำให้พวกเรามาคุยกันว่าทำไมเราไม่มารวมกันทำหนังออกมาหลายๆ เรื่อง เป็นที่มาของบริษัท GTH ที่มีชื่อย่อมาจาก Grammy, Tai Entertainment และ Hub Ho Hin
ความสุขมวลรวม
วันนี้เราเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น GDH ก่อนได้ชื่อนี้เคยคุยกับพี่เก้งว่าจะตั้งชื่อบริษัทใหม่ยังไง ตอนแรกเราคิดจะตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า G & H แต่อาจารย์ที่ดูฮวงจุ้ยให้บอกว่าทำไมไม่ตั้งชื่อเป็น GDH ล่ะ พี่เก้งได้ยินก็บอกว่าชื่อนี้ฟังดูดี เพราะเอามาเป็นคำย่อของ Gross Domestic Happiness ได้พอดี เเปลว่า ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติของคนในประเทศ’ สะท้อนความมุ่งมั่นของเราที่ต้องการทำหนังให้คนไทยทั้งประเทศได้ดู ทำให้พวกเขามีความสุข และยังสอดคล้องกับการทำงานของพวกเราที่เน้นความสุขในการทำงาน เพราะงานของพี่เป็นการบริหารจัดการคน ทำให้คนของเราทำงานออกมาดี การจะทำงานให้ออกมาดีต้องมีความสุข แล้วความสุขมาจากไหน ก็มาจากความรู้สึกว่าเขาอยู่สบาย ไม่มีความกังวล ตื่นเช้าแล้วอยากมาทำงาน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าออฟฟิศนี้ดี เป็นบ้านหลังที่สอง ทำให้พวกเขาเอาศักยภาพมาใช้กับบริษัท แบบนี้บริษัทของเราถึงจะมีผลงานที่ดีตามไปด้วย
พาณิชย์ศิลป์
เราอยากทำหนังให้เป็นมวลรวมความสุขของคนในโลกด้วย ช่วงปีที่ผ่านมาหนังของเราหลายเรื่องไปฉายในประเทศจีน เช่น ‘ฉลาดเกมส์โกง’ หรือเรื่อง ‘ร่างทรง’ ก็ร่วมทุนกับเกาหลีใต้ หนังเป็นภาษาสากล ถ้าเราสามารถทำหนังที่คนดูได้ทั่วโลก เราคงภูมิใจมากเหมือนที่เกาหลีเขาทำได้ แล้วตอนนี้ก็มีแพลตฟอร์มให้เรานำหนังไปฉาย ทั้งเน็ตฟลิกซ์ เอชบีโอ อะเมซอน แต่เขาจะเลือกดูเราหรือเปล่าคือโจทย์ เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้พาณิชย์กับศิลปะอยู่ด้วยกันได้เป็น ‘พาณิชย์ศิลป์’ ถ้าทำหนังแล้วได้แต่รางวัลก็ไม่ใช่ธุรกิจ แล้วยุคนี้มีเรื่องของเทคโนโลยีกับการเงินด้วย คนที่อยู่ในวงการการเงิน เทคโนโลยี เขาบอกว่าพี่โชคดีได้อยู่ในโลกของความคิดสร้างสรรค์ เพราะธุรกิจที่รวบรวมคนสร้างสรรค์มาอยู่ด้วยกันยังมีไม่มาก แต่เราต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัยด้วย ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวอาจจะไม่รอด พี่เลยผลักดันให้สร้างเหรียญโทเคนดิจิทัล เป็นที่มาของ ‘เหรียญบุพเพ 2’ (destiny token) รับหนัง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ จนสำเร็จ ขายเหรียญโทเคนได้หมด
วิ่งมาราธอน
ชีวิตคนเรามันเหมือนวิ่งมาราธอน จะวิ่งมาราธอนเราต้องมีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่เราวิ่งคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีม มีทีมกายภาพ มีหมอ มีคนคอยดูแล การทำหนังก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องวิ่งไปด้วยกันถึงจะเป็นพลัง พี่ยังใส่ชื่อแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัยในเครดิตของหนังเพราะทุกคนมีส่วนร่วมหมด การได้เป็นซีอีโอของบริษัททำหนังมันเหมือนย่างก้าวหนึ่งของชีวิต ตั้งแต่เป็นกรรมการผู้จัดการตอนทำหับ โห้ หิ้น บางกอก พี่ต้องคอยจัดการหลังบ้าน จัดการคน เติบโตมาเป็น ซีอีโอร่วม มาจนถึงซีอีโอของ GDH พี่มองว่าเราต้องพัฒนาตัวเองตลอด เพราะเราอยากทำหนังให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนทำได้ดีกว่า เราก็มีหน้าที่ต้องผลักดันให้เขาทำ เพราะเราอยากให้บริษัทนี้ก้าวเดินต่อไป ทำให้มั่นคง ยั่งยืน และมีสิ่งดีๆ เข้ามา อยากให้หนังไทยของ GDH มีออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดที่รุ่นเรา ■
รู้จักกับจินา โอสถศิลป์
จินา โอสถศิลป์ จบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ก่อนเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อปริญญาโทด้าน Communication Arts ที่ New York Institute of Technology ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด (GDH)