SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
A Cut Above
เบน เตชะอุบล นักลงทุน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผู้ใช้คำว่า ‘คุณภาพ’ เป็นสิ่งเอาชนะใจลูกค้า และฟันฝ่าวิกฤตโรคระบาดจนสำเร็จ
ความสำเร็จจากการพัฒนา ‘เจ้าพระยา เอสเตท’ โครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท จนเสร็จสมบูรณ์บนถนนเจริญกรุง นับเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงฝีมือและความสามารถของ เบน เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่มและดูแลโครงการนี้มาตลอดสิบปี
ด้วยทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงาม โครงการที่ผสมผสานโรงแรมระดับอัลตร้าลักชัวร์รี่สองแห่ง และคอนโดที่สวมแบรนด์หรูระดับโลกอีกหนึ่งแห่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าระดับไฮเอนด์ทั้งในและนอกประเทศ แม้แผนเปิดตัวที่วางไว้ในปี 2020 จะเจออุปสรรคจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผู้บริหารหนุ่มอย่างเบนก็ไม่ตื่นตระหนก และยังแก้ปัญหาจนสามารถผ่านพ้นช่วงยากลำบากที่สุดของวิกฤตโรคระบาด
ถึงหนทางข้างหน้าอาจยังไม่แน่นอนเพราะภาวะการระบาดยังไม่จบ แต่เบน เตชะอุบล ก็พร้อมเผชิญกับความท้าทายทุกรูปแบบ ตามที่เขาบอกว่า ‘ผู้นำ’ ในแบบของเขาต้องยืนอยู่ข้างหน้า และลุยแก้ปัญหาอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อทุกคน
แบบอย่างของการเติบโต
สมัยเป็นเด็ก ผมโตมาที่ออสเตรเลีย คุณพ่อ(สดาวุธ เตชะอุบล) ส่งผมไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่อายุ 3 ขวบร่วมกับพี่น้อง คุณแม่ (อรวรรณ เตชะอุบล) เป็นคนที่ตามมาอยู่ดูแลพวกเราและทำธุรกิจที่ออสเตรเลียไปด้วย พวกเราโตมาโดยการพึ่งพาตัวเอง เพราะเราไม่มีแม่บ้าน คุณแม่จะเป็นคนไปส่งพวกเราที่โรงเรียนเอง หลายๆ คนก็เลยมักถามว่าคุณแม่ทำได้อย่างไร ทำงานไปด้วย ดูแลลูก 4 คนด้วย คุณแม่ท่านเป็นแบบอย่างของความมุมานะหรือ perseverance ให้กับพวกเรา ส่วนคุณพ่อทำธุรกิจที่ไทยเป็นหลัก และจะบินมาเยี่ยมพวกเราเดือนละครั้ง ครั้งหนึ่งก็จะอยู่กับพวกเรา 4-5 วัน ช่วงเวลาแค่ไม่กี่วันก็ได้รับการสอนจากคุณพ่อเต็มๆ คุณพ่อจะสอนเรื่องกว้างๆ ตั้งแต่การทำธุรกิจ การเลือกคบเพื่อน สอนให้เข้าใจชีวิตแต่ละด้าน การแก้ปัญหา แต่คุณพ่อไม่ดุ บางคนอาจจะคิดว่าคุณพ่อเป็นคนจริงจัง แต่ความจริงเป็นเพราะท่านมีหลัก มีจุดยืนชัดเจน สำหรับผม คนที่มีหลักมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องต่างๆ เป็นคนที่เข้าใจง่าย
กรณีวิกฤตโควิด-19 สิ่งสำคัญที่ผมเรียนรู้คือ เราต้องเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อรับมือวิกฤตเสมอ และเราต้องไม่โยนปัญหาเพราะวิกฤตนี้ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ในฐานะผู้นำเราต้องแก้ไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์
ตระหนักถึงโอกาส
เรื่องหนึ่งที่คุณแม่สอนคือ พวกเราพี่น้องควรตระหนักว่าเราโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ลำบาก เราจึงควรจะรู้สึกขอบคุณกับความโชคดีนี้ คุณแม่จะย้ำเสมอว่า มีโอกาสที่ดีแล้ว ยิ่งต้องทำให้ดี และความที่โตมาในสังคมตะวันตกอย่างออสเตรเลีย ทำให้พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะการแข่งขันกับคนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การเล่นกีฬา เรื่องนี้ก็มีผลต่อครอบครัว คือพวกเรา 4 คนพี่น้องเป็นแรงผลักดันให้กันในความพยายาม เวลาเห็นคนหนึ่งเรียนเก่ง คนที่เหลือก็รู้สึกว่าต้องพยายามเรียนให้เก่งไม่แพ้กัน สมัยเป็นเด็กผมจะสนใจวิชาศิลปะกับธุรกิจ เคยคิดอยากเรียนด้านสถาปัตย์เหมือนกัน แต่สุดท้ายตอนเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เลือกเรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายกับการค้าควบคู่กันที่ University of New South Wales พี่น้องทุกคนก็เข้าเรียนที่นี่หมด เพราะถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลีย พอกลับไทยก็ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ของจุฬาฯ พอเรียนจบก็เข้าทำงานในธุรกิจอสังหาฯ ของครอบครัว
จุดเด่นของวัฒนธรรม
กลับมาไทยเพื่ออยู่ถาวรตอนอายุ 24 ปี ไม่คิดว่ามี culture shock เพราะว่าผมเองก็เรียนรู้ความเป็นไทยจากคุณพ่อคุณแม่มาเยอะ คุณแม่จะสอนให้พวกเรารู้จักความเป็นไทย รู้จักศาสนาพุทธ อย่างเรื่องการให้ความเคารพผู้ใหญ่ ไม่พูดจาเสียงดัง ผมก็พยายามเก็บเอาสิ่งดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สอนเรื่องสังคมไทยไว้ ผมชอบสิ่งที่สังคมไทยมีหลายอย่าง ก็เลยไม่แปลกใจที่ประเทศไทยจะมีธุรกิจการท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะคนไทยนิสัยน่ารัก เรียกว่าเป็นคาแรกเตอร์ของคนไทย ขณะที่สังคมออสเตรเลียก็ดีเรื่องการไม่มี hierarchy (ลำดับชั้น) ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกแยก โดยเฉพาะในเมืองซิดนีย์ เขามีความเท่าเทียมมาก ถ้าใครจะนับถือหรือชื่นชมใครก็เพราะเป็นเรื่องความสำเร็จของคนคนนั้น ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นส่วนดีของแต่ละวัฒนธรรม
ผมจะพูดเสมอว่า “There is always a market of quality” นั่นคือการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ เป็นคุณภาพในเชิงไลฟ์สไตล์ทุกองค์ประกอบ ถ้าเราทำได้จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแตกต่างและโดดเด่นในตลาด
ประยุกต์ความรู้
ก่อนเริ่มงานที่คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ ผมก็เคยช่วยงานของครอบครัวที่ออสเตรเลีย มาบ้าง แต่มาเริ่มงานในไทยจริงจังก็ตอนอายุ 27 ปี คุณพ่อเป็นคนให้โอกาสผมได้เริ่มโครงการของตัวเอง โดยท่านถอยไปเป็นคนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ผมพบว่าการทำงานที่นี่มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทำให้นึกถึงตอนเรียนกฎหมายอยู่ที่ออสเตรเลีย เขาจะผลักดันให้คนมีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องถกเถียง ต้องท้าทาย ผมว่านี่เป็นจุดบวกมากๆ คือเวลาเราเรียนกฎหมาย เราจะคิดยังไงก็ได้ แต่ต้องอธิบายจุดยืนของเราให้ได้ ตรงนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมที่ผมโตมา ถ้าพูดถึงความชัดเจนของโครงการที่เราทำ ถึงแม้ผมจะเป็นคนทำอยู่ข้างหน้า แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะทำได้คนเดียว คุณพ่อก็คอยให้คำแนะนำโครงการอยู่ตลอด ก็มีโอกาสได้ปรึกษา ว่าทำแบบนี้ดีไหมหรือว่าควรทำอย่างไร ก็เรียกว่าได้อิทธิพลจากคุณพ่อเยอะมาก เพราะตอนเริ่มทำโครงการแรกก็อายุแค่ยี่สิบปลายๆ ก็ต้องปรึกษาผู้ใหญ่
เรียนรู้ความท้าทาย
โครงการแรกของผมถือเป็นความท้าทาย ต้องเริ่มต้นใหม่ วางแนวคิดใหม่ เหมือนเราเริ่มบริษัทใหม่เลย คนอื่นเขาก็ถือว่าเราเป็นองค์กรใหม่ด้วย ไม่มีประวัติศาสตร์ของบริษัท และต้องสู้กับคู่แข่งในตลาดที่ใหญ่ อยู่มานาน และมีจุดเด่นทุกราย ดังนั้น โครงการแรกก็เลยท้าทายมาก คือโครงการ Elements Srinakarin เป็นคอนโดมิเนียม 8 อาคารที่ถนนศรีนครินทร์ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับห้างใหญ่ชื่อดังจนเป็นตำนานบนถนนศรีนครินทร์ ผมเลยต้องใช้เวลาเรียนรู้ เพราะในต่างประเทศการก่อสร้างจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ (knowledged-base) ความเข้าใจในผู้รับเหมาแต่ละราย และการทำงานที่อ้างอิงระบบสากล ส่วนในไทยนั้น การจะก่อสร้างเราต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม เรื่องของภาษาที่เราใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้รับเหมา และเรื่องคอนเนคชันต่างๆ ในการพัฒนาโครงการ แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ ในการพัฒนาโครงการทุกอย่างต้องมีอุปสรรค เราจึงต้องมีความอดทน มีจุดยืนในการทำงานเพื่อให้เราข้ามผ่านปัญหาไปได้
ความโชคดีในวิกฤต
วิกฤตโควิดเป็นปัญหาที่ท้าทายเรามาก เพราะโครงการ เจ้าพระยา เอสเตท ที่เราทำมาเกือบสิบปี มาเปิดตัวตอนมีโควิดพอดี ทำให้เราต้องเหนื่อยกันพอสมควร เพราะธุรกิจภาคบริการได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โครงการที่เราจะเปิดตัวมีสามส่วน สองส่วนเป็นโรงแรม และอีกหนึ่งส่วนเป็นคอนโด (โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ, โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ กรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ โฟร์ ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเด้นซ์) เป็นที่ทราบว่าธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่เราก็โชคดีมากที่โครงการคอนโดโฟร์ ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเด้นซ์ เป็นโครงการที่ขายดีมาก มีเเบ็คล็อกสูง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในตลาดไฮเอนด์ มีกำลังในการโอนเงินซื้อโครงการ แต่ถ้าพูดถึงอุปสรรคที่เราเจอจากโครงการเรสซิเด้นซ์คือมีลูกค้าต่างชาติเยอะ ทำให้พวกเขาบินมาโอนเงินให้เราลำบาก จุดนี้เราก็แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ลูกค้าทยอยกันโอนเงินเข้าโครงการ ข้อดีที่เราได้จากลูกค้าไฮเอนด์คือพวกเขาสามารถวางเงินดาวน์ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ พอโครงการเสร็จหลายคนเดินทางมาเยี่ยมชมเขาก็พอใจในโครงการของเรา ส่วนโรงแรมสองแห่งนั้น กลับกลายเป็นว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากไม่ว่าจะด้านยอดการใช้บริการโดยเฉพาะร้านอาหารและบาร์ที่กลายเป็นที่แฮงเอาท์สุดฮอตระดับลักชัวร์รี่แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกทั้งโรงแรมทั้งสองแห่งก็ได้กวาดรางวัลมากมายระดับโลกร่วมห้าสิบรางวัล ซึ่งรวมไปถึงรางวัลจาก ‘คอนเด นาสต์’ ‘ฟอร์บส์’ ‘แทรเวล แอนด์ ลีเชอร์’ และล่าสุด สองร้านอาหารก็ได้คว้า 2 ดาวมิชลินพ่วงอีก 1 รางวัลด้านการบริการแม้จะเพิ่งดำเนินธุรกิจมาไม่นานก็ตาม
ผู้นำต้องอยู่ข้างหน้า
สำหรับผม ความเป็นผู้นำคือสิ่งที่ต้องเห็นชัด ผมว่าคนเป็นผู้นำต้องกล้าออกไปเผชิญหน้ากับปัญหา ยืนอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่นำจากข้างหลัง ในองค์กรของผม สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือการมีวัฒนธรรมองค์กรที่นิ่งและอยู่ตัว ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรมีจุดยืน และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานทุกอย่าง ในการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตัวโครงการต้องมีจุดยืนว่าจะทำอย่างไร ต้องมีการตัดสินใจนับพันครั้ง และมีคนที่เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก เราจึงต้องชัดเจน เราไม่สามารถไปบอกพนักงาน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการว่าเราเจอปัญหา ขอให้ไปเคลียร์เอาด้วยตัวเอง เราต้องยกประเด็นปัญหาขึ้นมาและแก้ปัญหาให้พวกเขา อย่างกรณีวิกฤตโควิด-19 สิ่งสำคัญที่ผมเรียนรู้คือ เราต้องเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อรับมือวิกฤตเสมอ และเราต้องไม่โยนปัญหาให้กับคนอื่น เพราะวิกฤตนี้ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน มันเป็นการระบาดระดับโลกที่ในฐานะผู้นำเราต้องแก้ไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์
‘คุณภาพ’ คือสิ่งสำคัญ
จุดยืนของเราชัดเจน นั่นคือการสร้าง ‘คุณภาพ’ (quality) ผมจะพูดเสมอว่า “There is always a market of quality” นั่นคือการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ เป็นคุณภาพในเชิงไลฟ์สไตล์ทุกองค์ประกอบ ถ้าเราทำได้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแตกต่างและโดดเด่นในตลาด ถ้าเปรียบกับตลาดในต่างประเทศ ตลาดในต่างประเทศจะกระจายเพราะมีคนที่เลือกจะสร้างบ้านเองขายเองอยู่เยอะ แต่ในเมืองไทยไม่ได้เป็นไปในแนวทางนั้น คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อบ้านในหมู่บ้านหรือโครงการ ผู้พัฒนาในเมืองไทยจึงมีตำแหน่ง (Positioning) ที่ชัดเจนว่าจะเลือกพัฒนาสินค้าในเซกเมนต์ไหน สำหรับเรา เราพัฒนาทั้งอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย แต่ไม่ว่าเราจะเลือกพัฒนาอะไร เรามุ่งมั่นจะเป็นผู้นำตลาดด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงเสมอ อย่างธุรกิจ hospitality ปกติไม่ใช่ตลาดที่เราลงมาเล่น แต่เมื่อเราเลือกจะเข้ามาแล้ว เราก็ขอเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ที่เป็น the best in class เท่านั้น เพราะเราเชื่อว่ามันมีตลาดสำหรับคุณภาพ
คุณสมบัติของนักพัฒนา
ผมเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นคนที่รับผิดชอบการคิดคอนเซปต์ของโครงการ การลงทุน การสร้างสรรค์ลักษณะของโครงการ ส่วนการบริหาร เราจะหาโอเปอร์เรเตอร์ระดับโลกเข้ามา ผมจะหาพื้นที่ที่ทำให้โครงการมีความแตกต่าง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสร้างไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะการแข่งขันในธุรกิจบริการนั้นมีสูงมากกรุงเทพฯ เป็นตลาดที่อิ่มตัวมากๆ คือมีเกือบครบทุกแบรนด์ มีโรงแรมเยอะมากอยู่แล้ว เราจึงต้องแน่ใจว่าแตกต่าง ไม่งั้นยากมากที่จะมาเป็นคนสุดท้ายแล้วจะสามารถแข่งขันกับคนที่อยู่มานานแล้วได้ อย่างการพัฒนาโครงการริมน้ำ อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว เพราะตอนอยู่ซิดนีย์บ้านก็อยู่ใกล้กับซิดนีย์ฮาเบอร์ และหลายแห่งในโลกบ้านริมแม่น้ำก็ถือเป็นที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม พอกลับมาไทยพบว่าพวกโครงการริมน้ำมีไม่มากนักก็ค่อนข้างแปลกใจ เราก็หวังว่าโครงการของเราที่อยู่ริมแม่น้ำอาจช่วยเปลี่ยนความคิดของคนให้มานิยมบ้านริมแม่น้ำมากขึ้น
มองตลาดอสังหาฯ ไทย
ถ้าพูดกันตรงๆ สำหรับตลาดที่เป็นอยู่ เมืองไทยเราค่อนข้างเทไปทำผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน เช่น คอนโดติดรถไฟฟ้า ห้องเล็ก 2-3 ล้าน มีซัพพลายเต็มไปหมด ถึงขั้นสามห้องนอนก็ยังไม่มี มีแค่หนึ่งกับสองห้องนอน เนื่องจากขายง่าย ก็จะเทไปทำกัน ดังนั้น โอเวอร์ซัพพลายมีแน่นอน นั่นคือเหตุผลที่เราทำตลาดไม่เหมือนใครตั้งแต่ต้น ตอนแรกๆ โครงการโฟร์ ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเด้นซ์ เราขายเป็น leasehold แล้วห้องเราก็ใหญ่มาก ปีแรกๆ ตั้งราคาที่มีพารามีเตอร์สูงที่สุดในตลาดทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่สุขุมวิท หรือราชดำริ เพราะเราเชื่อว่าของเรามีคุณภาพ มีจุดขายที่โดดเด่น คนก็ตั้งคำถามว่าสุดท้ายจะเหมาะไหม คนอื่นทำเล็ก เราทำห้องใหญ่ ทำเลคนอยู่ตรงนั้น แต่เรามาอยู่ริมแม่น้ำ สุดท้ายผลตอบรับปีแรกออกมาดี นอกจากนั้น สิ่งที่จะขับเคลื่อนโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ก็อยู่ที่สถาบันการเงิน คือธนาคารมีความคิดว่าจะปล่อยเงินให้กับโครงการชนิดไหน ถ้าตลาดอิ่มตัวมากๆ ธนาคารเขาก็จะถอย นั่นคือเหตุผลที่เราต้องทำตลาดที่ไม่เหมือนใคร
ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น
ถ้ามีเวลากลับบ้าน ผมก็จะให้เวลากับครอบครัวเต็มที่ ตอนนี้น้องเตช (วรัตถ์ เตชะอุบล) อายุเจ็ดขวบย่างแปดขวบแล้ว เขาเป็นเด็กดี นิสัยน่ารัก ผมก็ค่อนข้างติดลูกจะใช้เวลากับเขาทุกวัน ในฐานะพ่อก็จะคอยสอนเขา แต่ก็ไม่ได้เน้นอะไรเป็นพิเศษ สิ่งที่สอนจะเน้นเรื่องว่าเขาต้องมีจิตใจที่ดี สอนให้เขาเลือกทำในสิ่งที่ถูก เพราะถ้าเขาได้เลือกวิถีชีวิตที่ถูกแล้ว เขาก็จะได้พบคนรอบข้างที่มีคุณสมบัติแบบนั้น แล้วตอนนี้เขายังเด็กมาก เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องทำอะไรในอนาคต ก็คุยกับภรรยาของผม (ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล) ว่าเขายังเด็กอยู่ ตอนนี้ก็เอาเรื่องพื้นฐานก่อน การที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีโอกาส เราก็พยายามสอนให้เขา down to earth ให้เขาเคารพคน ถึงจะกลัวบ้างบางทีว่าเขาจะเหงาเพราะเป็นลูกคนเดียว แต่ในเมื่อตอนนี้เขาให้มาคนเดียว เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี โชคดีว่าทางภรรยาของผมมีญาติเยอะ ทำให้เตซมีลูกพี่ลูกน้องหลายคน ส่วนภรรยาของผมเขาก็เป็นคนเก่ง ทำธุรกิจโรงแรม เขาจะมีไปดูโครงการในหลายพื้นที่ เราก็อาศัยเวลานี้พาลูกไปเที่ยวด้วยเสมอ
การพัฒนาในอนาคต
หลังจากโครงการเจ้าพระยา เอสเตทแล้วเราก็ยังมีโครงการอื่นให้ทำต่อไปอีก โครงการที่เรามีแผนจะทำเรามองที่ความหลากหลายเพราะเป็นปรัชญาของเราว่าจะไม่ทำแต่โครงการเดิมไปเรื่อยๆ และเราไม่อยากทำโครงการเล็กๆ เราจึงตั้งขนาดมาตรฐานของโครงการ (minimum scale) และมองหาโครงการ One-off Piece ที่ช่วยสร้างรายได้และมูลค่าให้เราได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นลักษณะโครงการที่เราชอบทำ ในกรุงเทพฯที่มีแผนจะทำตอนนี้คือโรงเรียนนานาชาติที่เป็นแบบมิกซ์ยูส (Mixed-use) ถ้าเป็นต่างจังหวัดเรามีที่อยู่ฉะเชิงเทรา อันนั้นกำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำอะไร แล้วก็ที่อังกฤษ เราซื้อที่ดินมาเพื่อปรับปรุงมูลค่า และมีโครงการโรงเรียนนานาชาติที่กำลังมองหาโอเปอร์เรเตอร์ระดับโลกมาช่วยบริหารโรงเรียน คือโดยส่วนตัวผมก็ชอบธุรกิจการศึกษาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคง ถ้าเราสามารถหาโอเปอร์เรเตอร์ระดับโลกมาได้ และมีหลักสูตรการศึกษาที่ดีรองรับก็จะเป็นโอกาสของเรา ■
รู้จักกับเบน เตชะอุบล
เบน เตชะอุบล เป็นบุตรชายคนที่สองของสดาวุธ-อรวรรณ เตชะอุบล จบการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมาย และด้านการค้า จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)