SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Wind of Change
จากเคยเป็นดินแดนซบเซาที่คนหนุ่มสาวล้วนหนีหาย มาวันนี้ อุบลราชธานีกำลังเปลี่ยนโฉมเป็นเมืองแห่งโอกาสอันน่าตื่นเต้นจากพลังของคนอีสานคืนถิ่นผู้ล้นด้วยฝีมือและความรู้จริง
เมื่อพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี หลายคนมักนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวแนวธรรมชาติที่อยู่นอกเขตเมือง เช่น ‘อุทยานแห่งชาติผาแต้ม’ ซึ่งมีชื่อเสียงจากภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาริมฝั่งแม่น้ำโขง ‘สามพันโบก’ แก่งหินที่มีแอ่งน้ำกว่า 3000 หลุมซึ่งเผยความงามยามน้ำโขงลด ‘แก่งสะพือ’ แก่งหินกลางสายน้ำมูลช่วงที่ไหลเชี่ยว และ ‘เขื่อนสิรินธร’ ซึ่งคราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยวชายหาดหน้าแล้งที่ชวนกันมาชิมรสกุ้งเต้น เมนูอาหารที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือน
ขณะที่ในตัวเมืองอุบลราชธานี จุดเด่นที่สุดดูจะเป็นวัดเก่าแก่ให้ผู้ศรัทธาได้มาเยี่ยมชมและสักการะ เช่น ‘วัดทุ่งศรีเมือง’ ซึ่งมีศาสนาสถานสำคัญ ได้แก่ หอพระพุทธบาทที่ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายนิทานชาดกต่างๆ อายุราว 150 ปี และหอไตรซึ่งสร้างจากไม้ทั้งหลังกลางสระบัว นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวบางส่วนก็นิยมเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจัดนิทรรศการด้านศิลปะวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นได้สมบูรณ์เมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑ์ของรัฐทั่วไป
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นภาพสะท้อนความเรียบง่ายไม่หวือหวาของจังหวัดอุบลราชธานีในสายตาของคนนอกมาช้านาน จนมาถึง ‘จุดเปลี่ยน’ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งกำลังสร้างภาพลักษณ์สดใหม่ให้แก่จังหวัด เมื่อคนอุบลฯ รุ่นใหม่แห่แหนกันหวนคืนถิ่นเกิดหลังจบการศึกษาหรือลาออกจากงานที่เคยทำ ไม่ว่าจะจากในกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ และยังพกเอามุมมองจากโลกภายนอกเข้ามาผสมผสานกับรากฐานความเป็นอีสานในถิ่นเกิดอย่างพลิกความคาดหมาย
ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่คึกคักมากที่สุดในตัวเมืองอุบลฯ ส่วนหนึ่งเพราะความยืดหยุ่นในการตกแต่งร้านให้เข้ากับตึกเก่าแก่ได้อย่างกลมกลืน
อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ คือหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของปรากฏการณ์นี้ เธอร่วมก่อตั้งและดำเนินงาน Foundisan โครงการไม่แสวงหากำไรที่ช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุนงานออกแบบท้องถิ่นโดยการตีความงานให้ร่วมสมัยมากขึ้นเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ อีฟจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และเคยทำงานเป็นอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในกรุงเทพฯ เดิมทีเธอไม่ต้องการกลับไปอยู่บ้านที่อุบลฯ อย่างถาวร จนกระทั่งเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว คุณแม่ได้ขอร้องให้เธอย้ายกลับบ้านเกิดไปอยู่กับครอบครัว
ในช่วงแรกที่กลับไปอยู่อุบลฯ อีฟเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการขายรถเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว และรถไถนา ให้กลุ่มผู้ประกอบการทางการเกษตรรายใหญ่ในจังหวัด
“เราขายดีจนไปเที่ยวและปาร์ตี้ในกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศได้บ่อยๆ แต่เราก็ยังไม่มีความสุข เราอยากทำอะไรบางอย่างที่มันมีความหมายมากกว่านี้ อยากทำอะไรที่เราจะได้ใช้ความสามารถสนับสนุนคนท้องถิ่น” อีฟกล่าว
อีฟตัดสินใจออกจากงานที่ทำและไปร่วมงานกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) เพื่อช่วยกระตุ้นและสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนปรับปรุงคุณภาพและการตลาดของสินค้าท้องถิ่น การทำงานในโครงการนี้เปิดโอกาสให้เธอได้เดินทางไปยังหลายหมู่บ้านทั่วอีสานใต้เป็นเวลา 2 เดือนเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของสินค้าโอทอปต่างๆ
“นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำความรู้จักภาคอีสานจริงๆ แม้เราจะเป็นคนที่นี่ก็ตาม เราเริ่มเห็นความมหัศจรรย์ของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะผ้าและสิ่งทอต่างๆ สมัยก่อนเวลาอยากได้ผ้าลายใหม่ๆ เราจะบินไปปารีสหรือไม่ก็โตเกียว พอมาเจอความพิเศษในการสร้างสรรค์ผ้าทอที่หลากหลายของคนที่นี่แล้ว เราก็ตัดสินใจเลยว่าจะใช้สิ่งที่ตัวเองรู้สนับสนุนและเผยแพร่ฝีมือของกลุ่มผู้ทอผ้าของที่นี่” อีฟบอกความรู้สึกของตัวเองในตอนนั้น
หลังจากนั้นไม่นาน เธอยังบังเอิญได้รับรู้เรื่องราวของผ้าผืนหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นอีกตัวแปรที่ยิ่งทำให้เป้าหมายในชีวิตของเธอชัดเจนยิ่งขึ้น
“เราได้เจอคุณป้าคนหนึ่งซึ่งเอาผ้าขิดอายุประมาณ 40 ปีมาให้เราดู บนผ้านั้นมีข้อความว่า ‘ฉันยังคงรอเธอเสมอ’ คุณป้าเล่าว่าตอนอายุ 18 คนรักของเธอตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อหางานทำ เธอเลยทอผ้าขิดผืนนี้ให้เขา แต่ในที่สุดเขาก็ไม่กลับมาอีกพอได้เห็นผ้าทอผืนนี้ เราเลยบอกคุณป้าว่าจะช่วยทำให้ผ้าทอของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” อีฟเล่า
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนำมาสู่การร่วมงานระหว่างอีฟและโครงการ Foundisan ซึ่งจำหน่ายผ้าทอ เสื่อ และเครื่องแขวนผนังหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นปักข้อความเดียวกันกับผ้าของคุณป้าที่อีฟได้พบ รวมไปถึงข้อความอื่นๆ เช่น ‘อย่าโกหกฉัน” และ ‘รักเธอเหลือเกิน’ ในภาษาลาวท้องถิ่น
นอกจากผ้าทอแล้ว อีฟได้ก้าวเข้าสู่วงการอาหารท้องถิ่นด้วย โดยเปิดร้านอาหารอีสานชื่อว่า ‘ซาวอุบล’ (Zao) ซึ่งเน้นวิธีการทำอาหารแบบคนอุบลของแท้ดั้งเดิม สูตรอาหารส่วนใหญ่มาจาก ‘ยายจุย’ แม่นมที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่เกิด ลูกค้าจะไม่เจอน้ำปลาของคนภาคกลาง เพราะมีเพียง ‘ปลาร้า’ ท้องถิ่นเท่านั้นในร้านอาหารแห่งนี้ ซึ่งรสชาติแซ่บนัวดั้งเดิมดูจะสามารถชนะใจทุกคนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนกรุงเทพฯ ที่รังเกียจเดียดฉันท์ปลาร้า โดยเฉพาะเมื่อนำไปผสมในเมนูอาหารต่างๆ ของร้าน เช่น ‘ตำแตงโม’ ที่ราดน้ำปลาร้าพร้อมโรยข้าวคั่วและพริกป่นก่อนเสิร์ฟ หรือ ‘หลามปลาปึ่ง’ ที่ใช้กระบอกไม้ไผ่แทนใบตองในการเผา เพื่อให้รสเยื่อไม้ไผ่ซึมเข้าไปในเนื้อปลา เร่งรสชาติและความหอมมากยิ่งขึ้น ปิดท้ายด้วยแกงเห็ด จาก ‘เห็ดขอน’ ที่เกิดจากขอนไม้ ปรุงรสและเติมความหอมด้วยผักอีตู่ (แมงลัก)
ช่วงที่ผ่านมา ชาวอุบลฯ ที่กลับบ้านเกิดจำนวนมากเริ่มย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเมืองเก่าบริเวณทุ่งศรีเมืองและริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งสมัยก่อนเฟื่องฟูไปด้วยตลาดเทศบาล ห้างทอง ร้านตัดเสื้อ และร้านขายของชำทว่าเมื่อตัวเมืองอุบลฯ เริ่มขยายตัวและเกิดซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้ารอบนอกตัวเมือง ตึกรามบ้านช่องในเขตเมืองเก่าที่มีอายุกว่า 50-100 ปีก็เริ่มถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรม และเข้าสู่จุดย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทศบาลนครอุบลราชธานีย้ายสถานีรถโดยสารประจำทางข้ามจังหวัดจากใจกลางเมืองไปอยู่บริเวณถนนเลี่ยงเมืองแทน
กระนั้นอาคารที่ถูกทิ้งร้างและชำรุดทรุดโทรมเหล่านี้กลับเป็นโอกาสให้ชาวอุบลฯรุ่นใหม่ที่เพิ่งย้ายกลับมาเข้าไปอยู่อาศัย เพราะค่าเช่าถูก อีกทั้งร่องรอยความเก่าแก่ที่ทิ้งไว้ตามตึกต่างๆ นั้นก็เชื้อเชิญให้พวกเขาแปลงโฉมมันให้เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และสตูอิโองานศิลปะ ยกตัวอย่างเช่น Impression Sunrise ที่เช่าตึกร้าง 4 ชั้นพร้อมพื้นที่ว่างด้านหน้าบนถนนพโลชัย แล้วพลิกโฉมให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาจากคาเฟ่ ร้านอาหาร 2 แห่ง บาร์ค็อกเทล และสตูดิโอศิลปะกึ่งแกลเลอรีที่จัดนิทรรศการและเวิร์กชอปศิลปะมากมาย
Impression Sunrise ดูแลและบริหารงานโดยเพื่อนรัก 3 คน ได้แก่ โจ๊ะ–ปกรณ์พศ คณานุรักษ์ มิ้น–กิ่งกาญจน์ รองทอง และอ้วน–วัชราภรณ์ สมบูรณ์ พวกเขามีรายได้หลักจาก ‘กู๋หว่าไจ๋’ บาร์ที่ตกแต่งในธีมจีนยุคทศวรรษ 1990’s และตั้งชื่อตามหนังฮ่องกงชื่อเดียวกัน (ส่วนชื่อภาษาอังกฤษคือ Young and Dangerous) ซึ่งทุกคืนมักคราคร่ำไปด้วยกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ส่วนสวนขนาดกว้างด้านล่างคือพื้นที่สำหรับกิจกรรมพิเศษ เช่น การแสดงหมอลำ การอ่านบทกวี และตลาดนัดงานสร้างสรรค์
ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่คึกคักมากที่สุดในตัวเมืองอุบลฯ ส่วนหนึ่งเพราะความยืดหยุ่นในการตกแต่งร้านให้เข้ากับตึกเก่าแก่ได้อย่างกลมกลืน บางร้านยังโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์จีนฝรั่งเศส ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม เจ้าของคาเฟ่แห่งหนึ่งเล่าว่าทุกๆ เดือนจะมีคาเฟ่เปิดใหม่อย่างน้อย 1-2 แห่งในเขตเมืองเก่า ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ร้านกาแฟส่วนใหญ่ในเขตเมืองเก่าของอุบลฯ นั้นมักนำเสนอร้านในรูปแบบที่ดูได้อารมณ์โดยไม่ต้องพยายาม เช่น การตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกย้อนยุคคละแบบ ภาพถ่ายเก่า รูปวาดสีน้ำขนาดเล็ก ของสะสมยุคโบราณ พร้อมฉากหลังเป็นผนังที่เปลือยให้เห็นลายอิฐ คล้ายตึกเก่าที่ปูนฉาบผนังหลุดร่อนแล้ว
‘ส่งสาร’ (Songsarn) เป็นหนึ่งในคาเฟ่น้องใหม่ที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ตั้งอยู่ในตรอกแคบๆ ที่ขนาบไปด้วยกำแพงที่เพนต์ด้วยภาพวาดแนวสตรีทกราฟฟิตี้ และทุกวันจะเนืองแน่นไปด้วยลูกค้าที่จับจองที่นั่งที่กระจายตัวเต็มพื้นที่ขนาด 2 คูหาของร้านรวมไปถึงโต๊ะเล็กๆ ที่ตั้งบริเวณทางเดินหน้าร้าน นอกจากกาแฟและขนมต่างๆ แล้ว ส่งสารยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้จัดแสดงงานศิลปะ งานดนตรี และเสวนาอีกด้วย
นอกจากนั้น จริงๆ แล้วอุบลราชธานีมีวัฒนธรรมกาแฟท้องถิ่นเป็นของตัวเองมายาวนานก่อนที่คาเฟ่ฮิปๆ ยุคใหม่จะถือกำเนิดขึ้น คนในเมืองสามารถหาซื้อกาแฟถุงหรือกาแฟโบราณได้ตามตลาดทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าต้องชงด้วยวิธีคลาสสิกอย่างการเทน้ำร้อนลงในถุงกรองกาแฟที่ใส่เมล็ดโรบัสต้าก่อนจะเทลงในแก้วกาแฟขนาดเล็ก เพื่อรอหยอดนมข้นหวานเพิ่มความหวานมัน
กาแฟดั้งเดิมแบบนี้หาซื้อได้ตามร้านกาแฟโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพที่เปิดมานานหลายสิบปีแล้ว โดยกาแฟโบราณที่ถือกันว่าคุณภาพดีที่สุดในย่านนี้คือ ‘ฮะฮง’ ร้านกาแฟโบราณสไตล์ฮกเกี้ยนที่เก่าแก่ที่สุดในอุบลฯ เมนูมื้อเช้าของที่นี่ประกอบไปด้วยไข่ลวกในแก้วกาแฟ และปาท่องโก๋ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ขนมคู่’ ในภาษาลาว
ปกรณ์ แก้ววงษา เป็นวล็อกเกอร์ชาวอุบลฯ ที่สร้างสรรค์คลิปสั้นๆ เกี่ยวกับธุรกิจร้านกาแฟในจังหวัดนี้เพื่อเผยแพร่ในช่องยูทูบชื่อดัง ‘ประเทดอุบล’ หรือที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า Ubonland ซึ่งรวบรวมคอนเทนต์ต่างๆ เช่น ดีไซเนอร์ชาวอีสาน วัฒนธรรมลูกชิ้นยืนกิน การเล่นสเก็ตบอร์ดบริเวณทุ่งศรีเมือง และผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อชีวิตคนอุบลฯ
ปกรณ์ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอะเดย์ว่า “เราอยากจะเล่าเรื่องราวธรรมดาๆ ที่ใกล้ตัวจนคนมองข้ามไป เรามักออกไปเที่ยวและชื่นชมของดีของที่อื่น แต่กลับหลงลืมสิ่งพิเศษในจังหวัดของเราเอง”
ในวิดีโอสัมภาษณ์ชาวไทยที่เป็นทายาทรุ่นที่สามและสี่ของชาวอินเดียอพยพที่มาตั้งรกรากในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์เป็นชายไทยเชื้อสายซิกข์ผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารอินเดียหนึ่งเดียวในจังหวัดชื่อ ‘บ้านข้าวหอม’ ซึ่งข้าวหมกบิรยานีของที่นี่รสชาติดีสู้ร้านอาหารอินเดียในกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งที่มุมไบ ประเทศอินเดียได้สบายๆ เมนูแนะนำอื่นๆของร้านบ้านข้าวหอมยังมี ไก่มาซาล่า ทิกก้าเคบับ และแผ่นแป้งนานอบด้วยเตาทันดูร์
ชาวไทยซิกข์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตเมืองเก่ายังประกอบธุรกิจอีกหลายอย่าง เช่น ร้านขายผ้าและร้านขายยา โดยบนถนนอุบลกิตติ์ในย่านดังกล่าว เป็นที่ตั้งของคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา หรือวัดซิกข์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเปิดให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาซิกข์เข้าเยี่ยมชมทุกวันศุกร์ และแจกอาหารมังสวิรัติฟรีแก่ผู้มาเยือนทุกคนด้วย
อุบลราชธานียังเป็นที่รู้จักทั่วประเทศไทยผ่าน ‘ลาบเป็ด’ อันโด่งดัง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศลาว แม้ปัจจุบันคนในท้องถิ่นยังเถียงกันอยู่ว่าร้านไหนที่ทำลาบเป็ดได้อร่อยที่สุด แต่คนส่วนใหญ่ต่างยอมรับในรสชาติของร้าน ‘ลาบเป็ดคนลือ’ ซึ่งเปิดให้บริการ 2 สาขาสาขาแรกตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล และอีกสาขาอยู่ที่โนนหงษ์ทอง ซึ่งขึ้นไปทางเหนือจากใจกลางเมือง
ส่วนอาหารเวียดนามนั้นเรียกได้ว่าเป็นอาหารที่สามารถหากินได้ทั่วไป โดยเฉพาะ ‘ก๋วยจั๊บญวน’ และ ‘ปากหม้อญวน’ (หรือ Bánh cuốn ในภาษาเวียดนาม) ซึ่งหาซื้อได้ตามตลาดสด ขณะที่ร้านอาหารเล็กๆ ใจกลางเมืองชื่อ ‘ร้านอาหารเวียดนามอินโดจีน’ ที่เปิดให้บริการมาอย่างยาวนานนับเป็นหนึ่งร้านโปรดของคนอุบลฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเมนูเด็ดอย่าง‘บั๊ญข็อต’ หรือขนมครกเวียดนามที่ส่วนใหญ่มักโรยหน้าด้วยกุ้ง ภายใต้บรรยากาศโล่งโปร่งสบายของห้องอาหารสไตล์โอเพ่นแอร์ที่มักแน่นไปด้วยผู้หลงใหลการกิน
ความตั้งใจในการพัฒนาและเผยแพร่อาหารท้องถิ่นของชาวอุบลฯ ค่อยๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ของจังหวัดให้กลายเป็นเมืองแห่งอาหาร ที่คนรุ่นใหม่สนุกกับการเอาอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมของจังหวัดมาตีความใหม่อย่างพิถีพิถันและใช้วัตถุดิบท้องถิ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากร้านซาวอุบลที่พูดถึงไปแล้ว ยังมีร้าน ‘หมก’ ที่นำเสนออาหารในรูปแบบไฟน์ไดนิ่งที่ผสมผสานกันระหว่างอาหารภาคกลางและภาคอีสาน ด้วยรสมือของฝ้าย-ศิโรรัตน์ เถาว์โท เชฟมากความสามารถผู้เคยทำงานในห้องอาหารโรงแรมในกรุงเทพฯ มาแล้ว ในบางโอกาสที่เหมาะ เธอยังสร้างสรรค์อาหาร Tasting Menu ที่ดีเยี่ยมด้วยรสชาติและเรื่องราว ได้ในแบบที่น่าตื่นตาไม่แพ้ร้านลับจองข้ามเดือนในกรุงเทพ ล่าสุดกับเมนู ‘เล่าเรื่องเมืองอุบล’ แขกผู้โชคดีจะได้ชิมอาหารประณีตแปลกใหม่ อย่าง ‘ทุ่งนาในหน้าหนาว’ (เอสคาโกต์หอยโข่ง) หรือ ‘ก้อนคำญวณ’ (แหนมเนืองซอสฟัวกราส์) ท่ามกลางโต๊ะที่พร่างไปด้วยดอกและใบบัวตัดสดราวกับเวทีการแสดง
คลื่นลูกใหม่ในธุรกิจโรงแรมก็เข้ามาร่วมขบวนในกระแสคาเฟ่และร้านอาหารที่กำลังไปได้ดีในอุบลฯ เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘เวฬาวาริน’ บูติกโฮเท็ล ในอำเภอวารินชำราบ ซึ่งแรกเริ่มเป็นโกดังขนาดความสูง 3 ชั้น สร้างโดยครอบครัวพ่อค้าชาวจีนใน พ.ศ. 2480 เพื่อเก็บสินค้าที่เตรียมจัดส่งไปหรือรับมาจากตัวเมืองอุบลฯ ผ่านแม่น้ำมูล หลังจากนั้นทางครอบครัวได้เปลี่ยนอาคารนี้เป็น ‘โรงแรมสากล’ ซึ่งให้บริการห้องพักนานกว่า 20 ปีก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็นโกดังเก็บสินค้าอีกครั้ง กระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อน อภิวัชร์ ศุภากร ทายาทรุ่นที่ 3 ได้ตัดสินใจแปลงโฉมให้กลับเป็นโรงแรมอีกคำรบถึงปัจจุบัน
ด้วยความช่วยเหลือจากวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกจากซูเปอร์กรีนสตูดิโอ (SuperGreen Studio) ในกรุงเทพฯ อภิวัชร์ใช้เวลา 1 ปีในการแปลงโฉมอาคารแห่งนี้ให้เป็นอาคารสมัยใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างเดิมของเสาและคานไม้ที่เชื่อมระหว่างพื้นกับหลังคา แต่เสริมความแข็งแรงเข้าไปด้วยเหล็ก I-beam
โรงแรมแห่งนี้มีห้องพักทั้งหมด 11 ห้อง โดยมีห้องขนาดใหญ่พร้อมวิวสวนอยู่บริเวณชั้นล่างจำนวน 2 ห้อง ส่วนอีก 9 ห้องนั้นกระจายตัวกันไปตามชั้นบนของอาคาร ทุกห้องเท่ได้อารมณ์เฉพาะตัวด้วยส่วนผสมระหว่างร่องรอยอดีตในโครงไม้เก่าหรือปูนเปลือยหยาบ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้บรรยากาศโปร่งโล่งที่ชวนให้สบายใจในการพัก ห้องพักของที่นี่มาพร้อมบริการอาหารเช้าสไตล์พื้นถิ่น ไม่ว่าก๋วยจั๊บญวณ หรือไข่กระทะ เสิร์ฟคู่กับกาแฟท้องถิ่นคุณภาพดี แถมด้วย ‘เวฬาบาร์’ ร้านอาหารของโรงแรมที่ให้บริการอาหาร รวมถึงกาแฟและค็อกเทลต่างๆ ตลอดทั้งวัน
จากที่ครั้งหนึ่ง กรุงเทพฯ เคยเป็นเมืองในฝันที่คนอุบลฯ รุ่นใหม่เฝ้าฝันจะเดินทางไปทำงานหรือธุรกิจ มาวันนี้ คนรุ่นใหม่เหล่านั้นเริ่มเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ สวนทางกับอุบลราชธานีถิ่นเกิดที่ดูจะมีแต่รุ่งเรืองขึ้นทุกวันจนพวกเขาไม่อยากจะย้ายไปไหน
ความอิ่มใจนี้อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุบลฯ ไปในแบบที่เราจำไม่ได้เลยทีเดียว ■