SECTION
ABOUTSERVING YOU
The Golden Opportunity
โครงการจัดทำหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy เพื่อฉลองการครบรอบ 50 ปีกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เคี่ยวอดีตอันเข้มข้นของประเทศ เพื่อตกผลึกถึงทางออกแห่งอนาคต
ในวันนี้ ถ้าเอ่ยคำว่า The Miracle of Thailand อาจมีคนไม่มากที่ทราบว่าคำนี้หมายถึงการเติบโต ‘ราวปาฎิหาริย์’ ของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ 80s ถึง 90s จนนำมาสู่ฉายาเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย และคงมีน้อยไปกว่านั้นที่จะรู้ว่าความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทยที่ว่า ไม่ได้ผุดขึ้นชั่วข้ามคืนแบบปาฎิหาริย์ แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และการปรับเปลี่ยนตามคลื่นความเปลี่ยนแปลงของโลกตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นับว่าเป็นจุดที่ระบบเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และเป็นเวลาไม่กี่สิบปีก่อนการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในปี 1972
การปล่อยให้ความทรงจำและประสบการณ์ทางเศรษฐกิจเกินกว่า 5 ทศวรรษของไทย ที่ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ เช่น ภัยคอมมิวนิสต์ในยุค 70s การลงทุนของญี่ปุ่นและความโชติช่วงชัชวาลในทศวรรษ 80s หรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เลือนหายไป คงนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย เหตุนี้ ในวาระครบรอบ 50 ปี กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จึงได้รวบรวมผู้รู้และผู้เห็นเศรษฐกิจไทยมากับตาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือนักวิชาการมาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 50 ปี ในหนังสือที่ชื่อว่า 50 Years: The Making of The Modern Thai Economy เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกำเนิดและอยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอดขององค์กร
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในโลกที่ไม่มีใครรู้อนาคต การได้ศึกษาอดีตคือของขวัญล้ำค่าที่สุดของกาลเวลา
จุดเริ่มต้น
“แนวคิดตั้งต้นของโครงการมาจากพี่เตา คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่อยากจะฉายภาพขององค์กรในกระแสของการพัฒนา 50 ปี และอยากเก็บรวบรวมพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพื่อกลั่นบทเรียนและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเอาไว้ด้วย” ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เกียรตินาคินภัทร บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการ
ดร.พิพัฒน์ เป็นหนึ่งในทีมบรรณาธิการของหนังสือ 50 Years: The Making of The Modern Thai Economy ซึ่งไม่เพียงประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดของเกียรตินาคินภัทร เช่น บรรยง พงษ์พานิช ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ธีระพงษ์ วชิรพงษ์ แต่ยังรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยอย่างดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ตลอดจนธนกร จ๋วงพานิช บรรณาธิการนิตยสาร Optimise และนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะ สแตนดาร์ด
“เราอยากทำผลิตผลที่จะให้ประโยชน์แก่สังคม และทำให้พวกเราได้ย้อนเวลากลับไปดูอดีตที่ผ่านมาพร้อมกัน โดยในการทำหนังสือ เรามีหัวข้อสำคัญที่อาจเปรียบเป็นแฮชเเท็กของโครงการ คือ #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และ #เราจะไปยังไงต่อ” ดร.พิพัฒน์ เสริมถึงความมุ่งหมายของหนังสือ
เราอยากทำผลิตผลที่จะให้ประโยชน์แก่สังคม และทำให้พวกเราได้ย้อนเวลากลับไปดูอดีตที่ผ่านมาพร้อมกัน โดยในการทำหนังสือเรามีหัวข้อสำคัญที่อาจเปรียบเป็นแฮชแท็กของโครงการ คือ #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และ #เราจะไปยังไงต่อ
แฮชแท็กที่ว่า ‘เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’ คือภาคย้อนทวนความทรงจำของเศรษฐกิจไทยตลอด 50 ปีตามความเปลี่ยนแปลงของแต่ละทศวรรษ โดยแต่ละทศวรรษแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นสามกระแสสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง กระแสการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมืองไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระแสที่สองคือการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือการเดินหน้าของประเทศ และกระแสที่สามคือพัฒนาการของภาคการเงินที่เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่แฮชแท็ก ‘เราจะไปยังไงต่อ’ คือการพิจารณาปัจจุบันเพื่อคาดการณ์ถึงทิศทางที่ประเทศไทยควรทำต่อไปในอนาคต
“สิ่งที่เราเห็นในช่วงหลังก็คือเศรษฐกิจไทยกำลังโตช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายมิติ เช่น การเติบโตของชนชั้นกลาง ปัญหาโครงสร้างประชากร การแข่งกับเพื่อนบ้านก็ยากขึ้น จากที่เคยเป็นจุดหมายในการลงทุนของอาเซียน วันนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เรามีเวียดนาม เรามีอินโดนีเซีย ถ้าเปรียบเป็นสมัยก่อนเราคือหญิงสาวที่สวยที่สุดในซอย แต่วันนี้เราเริ่มอายุมากขึ้น มีหญิงสาวใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วเราควรทำยังไง” ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงโจทย์ที่ครึ่งหลังของหนังสือมุ่งหมายจะตีให้แตกเพื่อสร้างความหวังใหม่ๆ ให้เศรษฐกิจไทย
บทสัมภาษณ์ทรงคุณค่า
เพื่อให้เส้นเรื่องประวัติศาสตร์ และการเสนอแนวทางการแก้ไขสู่ทศวรรษต่อจากนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางทีมบรรณาธิการเห็นว่า การมีแต่เพียงข้อมูลอ้างอิงจากตำราหรือเอกสารนั้นคงยังไม่เพียงพอ เพราะยังขาดความคิดและประสบการณ์ส่วนบุคคลที่จะช่วยประกอบภาพของประวัติศาสตร์ 50 ปี และภาพที่ควรเป็นของทศวรรษหน้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทีมงานของเกียรตินาคินภัทรจึงติดต่อหลากผู้เล่นคนสำคัญในหน้าเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือนักวิชาการ เพื่อขอให้ทุกคนช่วยแบ่งปันข้อมูลแห่งยุคสมัยที่กักเก็บอยู่ในความทรงจำ
“ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับคุณชายดิศ (หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล) พลเอกแป้ง (พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา) และดร.สุเมธ (ตันติเวชกุล) ทั้งสามท่านเล่าถึงประวัติตอนสู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างสนุกมาก ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘พงศาวดารกระซิบ’ คือสิ่งที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่เกิดขึ้นจริง และจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อไปคุยกับเจ้าตัว พอต่อมาได้พูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ก็ฉุกคิดได้ว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศก็เต็มไปด้วยเรื่องราวเหล่านี้เหมือนกัน และการรวบรวมสิ่งที่แต่ละท่านได้พบได้เห็นจะทำให้ปะติดปะต่อและเห็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศได้ลึกกว่าหรือมีมุมที่ต่างไปจากที่เคยได้ยินได้ฟัง” บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และหนึ่งในผู้ถูกสัมภาษณ์ในฐานะวานิชธนกรผู้มากประสบการณ์ในตลาดทุนไทยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการหนังสือนี้
‘พงศาวดารกระซิบ’ คือสิ่งที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่เกิดขึ้นจริง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศเต็มไปด้วยเรื่องราวเหล่านี้ และการรวบรวมสิ่งที่แต่ละท่านได้พบได้เห็นจะทำให้ปะติดปะต่อและเห็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศได้ลึกกว่า
“เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลสำคัญของเศรษฐกิจไทยหลายคน เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งถือว่าเป็นการสัมภาษณ์ชุดท้ายๆ ก่อนท่านจะถึงแก่อนิจกรรม สิ่งที่เราประทับใจในการสัมภาษณ์คนรุ่นก่อนก็คือ บ่อยครั้งพวกท่านสามารถเล่าเรื่องจากประสบการณ์และความทรงจำได้หมด กระทั่งรายละเอียดตัวเลขวันที่และปีพ.ศ. และชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เห็นได้ชัดว่าพวกท่านใส่ใจอย่างยิ่งกับเรื่องการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง เรารับรู้ได้ถึงความจริงใจ ความตั้งใจ และความเข้าใจผ่านการสัมภาษณ์คนละหลายชั่วโมง และคนที่เราเลือกมาสัมภาษณ์ก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดของยุคสมัยแล้ว ทั้งวิธีคิดและตรรกะในการเล่าเรื่อง” ดร.พิพัฒน์ พูดถึงความประทับใจ
รายชื่อของผู้ที่ได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์นับว่าไม่ธรรมดาอย่างที่ดร.พิพัฒน์กล่าว ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่าง ดร.เสนาะ อูนากูล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและที่ปรึกษาของรัฐบาลอย่างดร.วีรพงษ์ รามางกูร และดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นักวิชาการรุ่นใหญ่อย่างดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ไปจนถึงนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทยอย่างคีรี กาญจนพาสน์ แห่งกลุ่มบีทีเอส สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล และธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์
ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนตั้งแต่ราวกลางปี 2021 จนถึงธันวาคมปีเดียวกัน ทีมบรรณาธิการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญทางเศรษฐกิจไทยร่วมสมัยไปได้มากกว่า 20 คนแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยระบบการประชุมออนไลน์ก็ทำให้ทีมบรรณาธิการสามารถจัดสรรเวลาสัมภาษณ์ที่ทั้งลงตัว และยาวนานจุใจ
เล่าเรื่องด้วยประเด็น
50 Years: The Making of the Modern Thai Economy อาจเป็นหนังสือที่ร่ำรวยด้วยข้อมูล แต่คณะบรรณาธิการไม่ต้องการให้หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในรูปของตำราเรียนแสนน่าเบื่อ จึงได้ทำงานร่วมกับทีมงานจากเดอะ สแตนดาร์ด เพื่อเรียบเรียงถ้อยความจากเอกสาร การวิเคราะห์ของบรรณาธิการ และบทสัมภาษณ์ของบุคคลสำคัญทุกคนให้ออกมาเป็นหนังสือที่อ่านได้โดยไม่หนักจนเกินไปและในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม
“ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เราต้องคิดอยู่ตลอดว่าจะเล่าเรื่องยังไงไม่ให้คนหลงประเด็นจนเลิกอ่านกลางคัน เราจึงวางกรอบคิดเป็นตัวตั้งในการเล่าเรื่อง ไม่ใช่แค่เอาข้อเท็จจริงมาต่อๆ กัน เพื่อที่คนอ่านจะได้องค์ความรู้สำหรับมองไปสู่อนาคต” ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of California San Diego และอดีตผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการทาบทามจากเกียรตินาคินภัทรให้มาร่วมเป็นทีมบรรณาธิการ กล่าวถึงแนวทางการเขียนหนังสือเล่มนี้ให้มีอรรถรส
เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือเราเล่าเรื่องของเศรษฐกิจไทย ภายใต้มุมมองของหลายกระแสที่เข้ามากระทบในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าเศรษฐกิจและการเมืองโลก การเมืองในประเทศ สิ่งเหล่านี้กระทบกับไทยและเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร และในมุมกลับกัน เศรษฐกิจของไทยส่งผลอะไรต่อการเมือง ภาพความเชื่อมโยงของปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้คิดอะไรออกได้หลายอย่าง
คุณค่าความรู้เพื่อสังคม
ไม่บ่อยนักที่สถาบันการเงินจะลุกขึ้นมาทำหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีความยาวถึง 300 หน้าในโอกาสครบรอบการก่อตั้งองค์กร มาร่วม 5 ทศวรรษ แต่ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรมองว่าในฐานะที่กลุ่มธุรกิจฯ คือผู้เล่นคนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ การพยายามรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย นอกเหนือไปจากประวัติศาสตร์ขององค์กร ในโอกาสของการเฉลิมฉลอง น่าจะให้ประโยชน์ที่มีความหมายและยั่งยืนยิ่งกว่า
“หนังสือเล่มนี้อาจถือได้ว่าเป็นสถานีแรกให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาได้แวะพักเพื่อเติมความรู้รอบด้าน และถ้าใครสนใจเพิ่มเติมก็สามารถเดินทางไปสถานีถัดไปเพื่อศึกษาเจาะลึกเป็นเรื่องๆ ได้ ผู้บริหารบอกกับทีมบรรณาธิการเสมอว่า อยากให้ทำหนังสือออกมาให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องพยายามพูดถึงองค์กร เพราะอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์กับสังคมไทย โดยทางผู้บริหารคอยสนับสนุนทรัพยากรในการทำ และช่วยติดต่อประสานผู้ใหญ่ที่เราอยากจะสัมภาษณ์ทุกคน ส่วนตัวคิดว่าเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือเราเล่าเรื่องของเศรษฐกิจไทย ภายใต้มุมมองของหลายกระแสที่เข้ามากระทบในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าเศรษฐกิจและการเมืองโลก การเมืองในประเทศ สิ่งเหล่านี้กระทบกับไทยและเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร และในมุมกลับกัน เศรษฐกิจของไทยส่งผลอะไรต่อการเมือง ภาพความเชื่อมโยงของปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้คิดอะไรออกได้หลายอย่าง” ดร.กฤษฎ์เลิศ กล่าว
ขณะที่ดร.พิพัฒน์ในฐานะหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธุรกิจฯ กล่าวถึงความมุ่งหวังที่งานชิ้นนี้จะมอบให้กับสังคมว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คนได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่ผ่านมาของประเทศ และทิศทางต่อไปที่ไทยควรเดิน
“เราหวังว่าเราจะสามารถชี้ให้เห็นว่าปัญหาปัจจุบันมันมีอะไรบ้าง ถ้างานของเราสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมได้ ผู้คนก็จะเข้าใจว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของเราอยู่ตรงไหน และจะมีประโยชน์ต่อคนที่วางแผนนโยบายของประเทศหรือรัฐบาลด้วยว่าพวกเขาควรออกนโยบายอะไร และควรทำอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหา”
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพื่อมอบให้ลูกค้า และคู่ค้าของเกียรตินาคินภัทร ในโอกาสต่างๆ แต่เพื่อเป็นการขยายผลองค์ความรู้ให้กระจายออกไปในวงกว้าง เกียรตินาคินภัทรยังได้ร่วมกับเดอะ สแตนดาร์ด เพื่อหยิบยกเอาประเด็นสำคัญในหนังสือมาร้อยเรียงและเล่าต่อในรูปแบบของซีรีส์สารคดีสั้นหรือพอดแคสต์ 6 ตอน ในชื่อ 50 Years: The Making of the Thai Modern Economy ที่จะเผยแพร่ผ่านช่องทางของเดอะ สแตนดาร์ด อีกด้วย
ภายใต้โลกที่เปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ยากจะมีใครบอกได้ว่าอีก 5 ทศวรรษถัดไปประเทศไทยจะต้องผ่านทะเลเรียบหรือมรสุมอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อย การได้ทบทวนความรู้ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาจากหนังสือ 50 Years: The Making of The Modern Thai Economy เล่มนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่อาจทำให้ไทยสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีวิกฤตเกิดขึ้นเหมือนในอดีต
เพราะประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมมากหรือน้อยแค่ไหน ย่อมเป็นทางเลือกของเราเสมอ ■